Wednesday, May 25, 2005

เทพนิยาย ปาฏิหารย์ และน้ำตา

ผมไม่ได้ร้องไห้สะอึกสะอื้น มานานหลายปี

และจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าครั้งสุดท้ายน่ะเมื่อไหร่

แต่วันนี้ ผมร้องไห้สะอึกสะอื้น และน่าแปลกใจ ที่สิ่งที่ทำให้ผมร้องไห้เหมือนเด็กเล็กๆ คือ เรื่องฟุตบอล ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายในโลกนี้ที่จะทำให้ผมเสียน้ำตา

โดยเฉพาะน้ำตาแห่งความปิติยินดี

วันนี้ทั้งวัน ทั้งๆที่น่าจะเป็นวันที่สำคัญที่สุดของแฟนบอลคนหนึ่ง ในการที่ทีมรักของตนเองจะเข้าชิงแชมป์ถ้วยสโมสรใบใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป แต่ผมกลับรู้สึกเฉยๆ บอกไม่ถูกว่าเป็นเพราะอะไร

ทั้งๆที่ตามปกติ ถ้าทีมรักผมแข่งวันไหน ผมจะต้องตื่นเต้นและเตรียมตัวที่จะนั่งลุ้นเกมส์หน้าจอตู้ ไม่ต่ำกว่าครึ่งวัน

ผมตื่นมาดูอย่างงัวเงีย เพราะเพิ่งงีบไปได้ชั่วโมงนิดๆ หลังจากที่ฟังเฮียสอนั่งถกประเด็นเรียบเรียงเพลงชาติใหม่ของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ โดยไม่ได้ใส่ใจมากนัก

ทันทีที่กดรีโมตเปิดทีวี ภาพบาดตาก็เกิดขึ้น

กระเด้าลมของผม หงายเก๋ง เมื่อลูกฮาล์ฟวอลเลย์ด้วยเท้าไม่ถนัดของคุณอามัลดินี่ ส่งบอลผ่านทวารด่านสุดท้ายไปนอนใต้ตาข่าย แถมเกมส์ยังตุปั๊ดตุเป๋ ฟอร์มเหมือนเล่นนอกบ้านในลีก

ก่อนที่เฮอร์นันจะบวกประตูที่สองสาม

หมดหวัง เตรียมปิดทีวีเข้านอน พร้อมกับกดรีโมตเปลี่ยนไปดูรายการแสดงสินค้าลดส่วนสัดกระชับสัดส่วน ก่อนนอนด้วยความเซ็ง

แม้จะเซ็งแต่ก็ไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจอะไร เพราะเปรียบเทียบชื่อชั้นและฟอร์มการเล่นแล้ว...ได้ชิงนี่แหล่ะฝันแล้ว และที่สำคัญ ผมคิดว่าทีมรักผมมันใช้ดวงเปลืองจริงๆ ใช้มาตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม นัดกับโอลิมเปียกอส แถมมาใช้ต่อในรอบก่อนรองและรอบรองที่ผ่านมา

มันน่าจะหมดตูดไปนานแล้ว

แต่คิดไปคิดมา ดูต่ออีกหน่อย อย่างน้อยมันก็นัดชิง ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนต่อจากนี้ไปที่ผมจะได้เป็นส่วนหนึ่งในบรรยากาศแห่งการชิงแชมป์แบบนี้อีก (เพราะตอนมันได้แชมป์ครั้งสุดท้ายผมยังไม่สามารถสะกดคำว่าฟุตบอลได้เลย)

แล้วปาฏิหารย์ก็เกิด

เจอร์ราร์ดโหม่งตีไข่แตก จากลูกเปิดอันพอดิบพอดีของอีซ้ายตีนระเบิด ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ทั้งเกมส์ มันไม่เคยโยนได้อย่างมีพลังและแม่นยำเลย ก่อนที่อีกสองนาทีวลาดี้ จะยิงไกล โดยบารอสมีส่วนร่วมด้วยการเอี้ยวตัวหลบได้อย่างฉิวเฉียด ตีตื้นมาเป็นสองสาม ตอนนั้นตื่นเต็มตาเรียบร้อย คิดว่า เออ แพ้สกอร์เท่านี้ ไม่น่าเกลียดแล้ววุ้ย

หกนาทีต่อมา ลูกที่สามก็ตามมา จากการยิงจังหวะที่สองหลังจากกดจุดโทษจังหวะแรกไม่เข้าโดย อลอนโซ ทั้งสองจังหวะ

.............................. พูดไม่ออก.......................

หลังจากนั้นก็เข้าสู่เขตแดนแห่งความ "เกร็ง" และ ความ "เสียว"

ถ้าพลาดล่ะก็จบ

เจ้าเริ่มลงองค์ ประทับลงที่ตัวผม ทั้งสั่นทั้งเกร็งทั้งเสียว และยิ่งมองถึงการดวลจุดโทษ ยิ่งเกร็ง ยิ่งเสียว โดยเฉพาะนึกถึงคำสัมภาษณ์ของเอล ราฟา ที่ไม่ได้ให้ลูกศิษย์ทั้งหลายซ้อมจุดโทษเลย

ผมเริ่มรู้สึกว่าทีมโปรดผมคงมีโอกาสได้ร่ำเรียนการบริหารจัดการดวงมาพอสมควร เพราะมันมีดวงก๊อกสองและสาม (สวนทางกลับเรี่ยวแรงของพลพรรคหงส์แดงทั้งหลายที่ทยอยๆกันเป็นตะคริว) ยิ่งท้ายเกมส์เจียนอยู่เจียนไปเหลือเกิน ก็เล่นรับซะเต็มตัวขนาดเอาเจอร์ราร์ดลงมายืนแบ๊คขวา และถอยรีเซ่ที่วันนี้เป็นมิดฟิลด์กราบซ้ายลงมาช่วย ตราโอเร่ ที่วันนี้ทั้งรักทั้งเกลียด โดยเฉพาะลูกโหม่งและซ้ำของเชว่า แบบที่เรียกว่าผมหยุดหายใจไปแล้วจังหวะนั้น พร้อมจินตนาการไปแล้วว่า ลูกมันวิ่งไปกระทบตาข่ายยังไง พาลไปถึงจังหวะรับถ้วยใบเขื่องของคุณอามัลดินี่โน่นเลย แต่ดูเด็คปราการด่านสุดท้ายของท่านชาย สวมวิญญาณน้องปื๊ด นักวิ่งสี่คูณสร้อยแถวคลองหลอด เซฟทั้งสองจังหวะในระยะแค่ไม่ถึงหลา

ผมเริ่มรู้สึกว่า หงส์แดงใช้สิทธิเบิกดวงเกินบัญชี มาสำรองใช้เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเริ่มมองโลกในแง่ดีหากต้องดวลจุดโทษกัน

ถึงเวลาดวลจุดโทษ ซึ่งให้ตาย ผมปิดตาเมื่อนักเตะหงส์แดงยิงลูกโทษทุกคน (รวมทั้งลูกในเกมส์ของอลอนโซ่ด้วย) ไม่กล้าดูครับ ไม่กล้าจริงๆ ยิ่งกว่าครั้งไปดูผ่าศพวิชานิติเวชซะอีก

ผลปรากฏ ดูเด็คคนเดิมสลัดวิญญาณน้องปื๊ด มาสวมวิญญาณ น้องเปิ้ล นักเต้นรูดเสาแถวพัฒน์พงษ์ ยั่วกิเลสนักแม่นเป้าทีมมิลาน ยิงนกตกปลาไปทีละคนสองคน โดยเฉพาะลูกตัดสิน เมื่อเชว่า มือปืนเบอร์หนึ่งก้าวเท้าออกมายิง เพื่อรักษาสิทธิในการดวลถึงฎีกาคนที่ห้า

ด้วยท่าทางที่ยั่วยวน (ยียวน) ของดูเด็คหรือไม่ ไม่ทราบ เชว่า ก็เอาบ้างถอดวิญญาณ เจ้าเอ๊กซ์ จักรกฤษณ์ ผณิตผาติกรรม ไปสวมวิญญาณของ ไอ้เปี๊ยกเด็กสามขวบแถวบางปะกอก ที่เพิ่งหัดยิงหนังกะติ๊ก และดีดลูกแก้ว ยิงไปเกือบกลางประตู ด้วยความเร็วและความแรงประหนึ่งเต่าคลานกัดล้อทัน ผลคือดูเด็คเซฟไว้ได้อีกแล้วครับ

นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้พลพรรคหงส์แดง ร่วมกันขีดเขียนประวัติศาสตร์อีกหน้าให้แก่สโมสรอันเก่าแก่แห่งนี้

ผมยังสะอึกสะอื้น หลังจากเกมส์จบไปอีกนาน กว่าจะหายก็โน่นแหน่ะ แห่ถ้วยขอบคุณแฟนบอลที่แสนวิเศษรอบๆสนามแล้ว และลงมาเขียนบล็อกอยู่นี่แทนที่จะไปนอนเตรียมตัวตื่นไปทำงานต่อ

ใครหลายคนคงกล่าวขวัญถึงเกมส์วันนี้ในฐานะเป็นหลักฐานว่า ปาฏิหารย์มีจริง (ชนกับ พี่กบ ทรงสิทธิ์ เต็มๆ) แต่สำหรับผมปาฏิหารย์มันเกิดมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ ค่ำคืนในแอน ฟิลด์ นัดกับโอลิมเปียกอส

ค่ำคืนนี้ป็นตำนานอีกบทหนึ่งแห่งเทพนิยายแห่งเกมส์ลูกหนัง

เทพนิยายที่ผมว่ายิ่งใหญ่และคลาสสิคกว่า เมื่อครั้งที่กรีซต้นตำรับเทพนิยายได้แชมป์ยุโรปเมื่อปีกลาย เสียอีก

Monday, May 23, 2005

เรื่องบ้าๆบอๆกับอาชญากรรม

กลัวจะร้างไปหลายวัน วันนี้เลยเอาเรื่องเก่าๆที่เคยโพสๆไว้ในบอร์ดมาหากินอีกครั้ง

เมื่อเกือบสองเดือนก่อน หลายคนคงมีโอกาสได้อ่านข่าวอาชญากรรมข่าวหนึ่งจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวของลูกละเมอฆ่าพ่อ นี่คือส่วนหนึ่งของรายละเอียดในข่าวครับ

“จูลส์ โลว์ วัย 32 ปีสารภาพกับตำรวจว่าเมื่อเดือนตุลาคมปี 2003 เขาได้ลงมือฆ่าเอ็ดดี้ ผู้เป็นบิดาอายุ 82 ปี ขณะที่พ่อกำลังหลับอยู่โดยที่เขาจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย

ดร.เออชาด อิบราฮิม ผู้อำนวยการศูนย์การนอนหลับแห่งกรุงลอนดอน ถูกเรียกตัวเข้าไปพิสูจน์ว่าสิ่งที่นายโลว์กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งเขากับทีมงานได้ศึกษาพฤติกรรมการนอนหลับของโลว์ก่อนที่จะถูกพิจารณาคดี การทดสอบที่ดร.อิบราฮิมใช้เรียกว่า “โพลีซอมโนกราฟฟี” (Polysomnography) เป็นการวินิจฉัยโรคโดยใช้การวัดแบบต่างๆ ได้แก่ การวัดคลื่นสมอง การทำงานของกล้ามเนื้อ และการหายใจขณะนอนหลับ นอกจากนั้นยังศึกษาปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดการละเมอของมนุษย์ซึ่งได้แก่ แอลกอฮอล์และความเครียด

"โลว์เคยมีประวัติการละเมอมาก่อน และก็ยิ่งแย่ไปกันใหญ่เมื่อเขาดื่มเหล้าเข้าไปด้วย ก่อนคืนเกิดเหตุเขาไม่เคยมีพฤติกรรมรุนแรงมาก่อน ... อย่างไรก็ตาม แม่เลี้ยงของเขาเพิ่งเสียชีวิตไป นอกจากนั้นก็มีปัจจัยก่อความเครียดอื่นๆ อีกหลายอย่างเกิดขึ้น สุดท้ายเขาก็ละเมอฆ่าพ่อของเขา"

ดร.อิบราฮิมเผยกับสำนักข่าวบีบีซีนิวส์พร้อมย้ำว่าพ่อลูกคู่นี้สนิทกันมาก ดร. อิบราฮิมเผยว่า ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนั้นโลว์กำลังละเมออยู่จริง ซึ่งเรียกสภาวะดังกล่าวว่า “ภาวะอัตโนมัติ”

ในทางกฎหมายการกระทำภายใต้ภาวะอัตโนมัติ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจ โดยแบ่งออกเป็นสองชนิด คือภาวะอัตโนมัติโดยวิปลาส ซึ่งจัดว่าเป็นอาการป่วยทางจิต กับภาวะอัตโนมัติโดยไม่วิปลาสที่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง กรณีของโลว์ถือเป็นภาวะอัตโนมัติโดยวิปลาส เขาจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ได้ทุบตีพ่อจนถึงแก่ความตาย แต่ถูกส่งไปรักษายังโรงพยาบาลโรคจิตอย่างไม่มีกำหนดแทน

ดร.อิบราฮิมกล่าวว่า กรณีของโลว์ไม่ใช่คดีแรกที่เคยเกิดขึ้น แต่เคยมีปรากฏมาแล้วประมาณ 68 ครั้งทั่วโลก อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่าคดีนี้น่าจะเป็นคดีฆาตกรรมที่เกิดจากการละเมอแท้ๆ ครั้งแรกในอังกฤษ ดร.อิบราฮิมกล่าวด้วยว่าอัตราส่วนของเด็กที่ละเมอประมาณ 7% - 8% จะลดลงเหลือเพียงแค่ไม่ถึง 1% เมื่อพวกเขาโตขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ชาย แต่ก็จะไม่ค่อยพบคนที่ละเมอแล้วก่อเหตุรุนแรงมากนัก

ก่อนหน้านี้มีคดีลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในอังกฤษ โดยเมื่อปี 1998 ดีน โซเกล พ่อครัววัย 27 ปี ถูกจำคุกตลอดชีวิตหลังทำร้ายภรรยาจนเสียชีวิตที่บ้านในเมืองเดวอน เขาเริ่มทุบตีภรรยาขณะที่เขากำลังหลับอยู่ แต่ยอมรับว่าเขาทำร้ายเธอต่อไปแม้ตื่นขึ้นและรู้ตัวแล้วว่ากำลังใช้ค้อนทุบภรรยาอยู่ และสุดท้ายก็จ้วงแทงเพื่อให้เธอเงียบเสียงลง

อีกคดีซึ่งเป็นที่โจษจันกันมาก คือเรื่องราวในปี 2002 เมื่อ ปีเตอร์ บั๊ก มือกีตาร์ของวงอาร์.อี.เอ็ม.พ้นผิดจากการทำร้ายพนักงานของสายการบินบริติชแอร์เวย์ส ซึ่งศาลยอมรับข้อกล่าวอ้างของบั๊กที่ว่าเขาจำเหตุการณ์นั้นไม่ได้เพราะขณะที่เกิดเหตุเขาอยู่ในภาวะอัตโนมัติโดยไม่วิปลาส บวกกับฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และยานอนหลับที่กินหลังจากขึ้นเครื่อง ส่วนที่ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ มีคดีละเมอทำร้ายผู้อื่นเมื่อปีที่แล้ว โดยชายวัย 28 ปีคนหนึ่งอ้างว่าเขาฝันว่าถูกทำร้ายจึงละเมอฆ่าคู่รัก สุดท้ายฆาตกรรายนี้ก็ถูกจำคุกเป็นเวลา 26 ปี โดยศาลตัดสินว่าเขามีสติครบถ้วนขณะที่โยนกระถางต้นไม้ใส่ศีรษะของแฟนสาวแล้วยังแทงเธอจนเสียชีวิต ทั้งนี้ ดร.อิบราฮิมแนะนำให้ผู้ที่เคยมีประวัติความรุนแรงขณะละเมอให้เข้าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อจะได้ทำการรักษาต่อไป"


กรณีดังกล่าวเป็นสภาวะที่ผู้กระทำความผิดไม่อยู่ในภาวะที่รู้สึกตัว หรืออาจจะเรียกว่า “ไร้สำนึก” ซึ่งผลของการกระทำที่ไร้สำนึกนั้น ทางกฎหมายอาญาถือได้ว่า ผู้กระทำ “ไม่มีการกระทำ” ทั้งนี้เนื่องจาก การกระทำในทางกฎหมายอาญานั้น นอกจากจะมีการเคลื่อนไหว (หรือบางกรณีคือการไม่เคลื่อนไหว เช่นการงดเว้นในการกระทำการ ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำได้เช่นกัน ) เหตุเพราะ สิ่งที่จะถือได้ว่าเป็น “การกระทำ” ทางกฎหมายอาญา ที่จะพิจารณาต่อไปได้ว่า การกระทำของผู้กระทำนั้น เป็น “ความผิดอาญา” หรือ “อาชญากรรม” หรือไม่ ต้องเป็นการกระทำที่รู้สำนึก

รู้สำนึก ก็คือ เป็นการกระทำที่ผู้กระทำได้มีกระบวนการตัดสินใจในการกระทำจากภายใน คือ มีการคิด ตกลงใจที่จะกระทำการ และได้กระทำการไปตามที่คิดและตกลงใจนั้น ดังนั้น ผู้ที่กระทำโดยละเมอ หรือ โดยปฏิกริยาตอบสนองอัตโนมัติ จึงไม่ถือว่ามีการกระทำ อันจะพิจารณาต่อไปว่า การกระทำนั้นจะเป็นความผิดอาญา หรืออาชญากรรมหรือไม่

แต่จริงๆวันนี้ผมตั้งใจจะว่าถึง สภาวะแห่งจิตของผู้กระทำ อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งกรณีที่จะว่าถึงนี้ต่างออกไปจากตัวอย่างของการละเมอข้างต้น เนื่องจากสิ่งที่ผมจะกล่าวถึงวันนี้ เป็นกรณีที่ผู้กระทำลงมือกระทำโดย “รู้สำนึก” แต่ที่ทำลงไปนั้น เป็นเพราะเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของจิตใจ (แท้จริงคือสมองต่างหาก ประหลาดเหมือนกันนะครับ คนเรามักจะมีความสัมพันธ์ และมักจะกำหนดความรู้สึกและอารมณ์เรากับอวัยวะที่เรียกว่า “ใจ” มากกว่า “สมอง” อาจจะเป็นเพราะหัวใจ ดูเหมือนจะเป็นตัวแทนของอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ไปเสียแล้ว เช่น เวลาเราไปเจอเหตุการณ์อะไรมาที่ทำให้เราลืมไม่ลง เรามักจะบอกว่า “ประทับใจ” หรือ ได้รู้ได้สัมพันธ์สิ่งที่ยากจะลืมเลือนมา ก็มักจะเป็นอาการ “ติดใจ” หรือ “ติดตา” กระทั่ง “ติดหู หรือ ติดปาก” จนบางคนอยากลืมภาพนั้นยังต้อง ใช้วิธี “ลืมตาในน้ำ” เหมือนพี่ปั๊ป วงโปเตโต้)

ภาวะผิดปกติของการทำงานดังกล่าว ภาษาทางหมอเขาเรียกว่า "จิตเภท" ซึ่งอาการเหมือนคนปกติอย่างเรานี่แหล่ะ บางคนมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตก็มี มีตัวอย่างที่แถวๆปริมณฑลที่เป็นข่าวครึกโครมไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายนั้นเป็นถึงอัยการเลยครับ นั่งสมาธิกรรมฐานวิปัสนา จนเกิดนิมิตภาพหลอน เห็นตัวเองและครอบครัวมีร่างกายใหญ่ขึ้นทุกวันๆๆๆๆ จนกระทั่งคับโลกไปหมด ด้วยเหตุนี้ทางเดียวที่จะช่วยรักษาโลกนี้ไว้ได้คือ ต้องฆ่าตนเองและครอบครัว แม้ภรรยาจะเริ่มรู้ตัวล่วงหน้า พยายามเก็บของในบ้านที่จะใช้เป็นอาวุธดีขนาดไหนก็พลาดครับ พลาดเพราะปลอกผลไม้แล้วลืมเก็บมีดปลอกผลไม้ ก็เกิดเป็นเหตุเศร้าสลดขึ้นครับ (รายละเอียดของคดีผมจำได้ลางๆแค่นี้แหล่ะครับ ใครรู้มากกว่านี้จะแจ้งแถลงไขก็เป็นพระคุณครับ)

โรคจิตประเภทนี้ นี่เองครับที่เป็นเหตุหนึ่งที่ถือว่าผู้กระทำไม่มีความชั่ว ทำให้การกระทำของเค้ายังไม่เป็นความผิดอาญา (เรื่อง “ความชั่ว” นี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอดู ทั้งในการเรียนการสอนกฎหมายอาญาเองก็ยังให้ความสำคัญกันน้อย มาก หลายคนคิดว่า สิ่งที่เรียกว่า “ความชั่ว” ในกฎหมายอาญา นั้นก็เป็นเรื่องเดียวกันกับ ความชั่วตามนัยแห่งศีลธรรม การน่าตำหนิ แท้จริงแล้วต่างกันน่ะครับ เพราะว่า ความชั่วทางศีลธรรมนั้น ได้ถูกแปรเปลี่ยน และเปลี่ยนรูปออกมากลายเป็นหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายทั้งหมดแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและแน่นอนในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษ และมีกระบวนการที่ค่อนข้างเป็นผลร้ายต่อผู้ถูกกล่าวหา อย่างยิ่ง ความชั่วในการที่จะบอกว่าการกระทำใดเป็นความผิดอาญา หรืออาชญากรรม จึงหมายถึง “ความน่าตำหนิ ในการตัดสินใจ “เลือก” ที่จะกระทำความผิดของผู้กระทำ” หรืออาจกล่าวได้ว่า อาชญากรรม คือ การที่ผู้กระทำตัดสินใจที่จะเลือกกระทำในสิ่งที่เขาเองก็รู้อยู่ว่าเป็นสิ่งเลวร้าย ด้วยเจตจำนงเสรีของเขา ดังนั้น การกระทำผิดของเด็ก (ไม่เกิน 7 ปี) และคนผิดปกติทางสมอง หรือจิตใจ จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอาชญากรรม เพราะ การตัดสินใจเข้ากระทำความผิดของเขาไม่ได้เกิดจากเจตจำนงอันเสรีแต่อย่างใด เนื่องจากถูกความไม่รู้ผิดชอบ และความไร้เดียงสา ครอบงำอยู่ ตรรกะนี้เอง ใช้ได้กับ ผู้กระทำผิดโดยความจำเป็น ที่จะต้องเอาชีวิตตน หรือผู้อื่นให้พ้นจากอันตรายด้วย และยังมีอีกหลายกรณีครับ )

กฎหมายจึงไม่สามารถลงโทษอาญากับเขาได้ จับได้ก็ต้องมาบำบัดรักษากันครับ การขังคุกไม่ได้ช่วยอะไร ไม่หายบ้าแถมอาจจะทำให้คนในคุกบ้าตามกันไปอีก

แล้วจะมีมาตรการอย่างไรดีครับ ในต่างประเทศ คาดว่าน่าจะเป็นอังกฤษได้ข่าวมาว่าเขามีพระราชบัญญัติชื่อประมาณว่า (จำได้แค่นี้อีกแหล่ะครับ) Mental Health Act ทำนองนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือตำรวจสามารถจับและควบคุมคนที่สติสตังไม่ดี และมีพฤติกรรมก้าวร้าว น่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นไว้ได้ และส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลโรคจิตได้ครับ เคยมีแนวคิดจะนำกฎหมายประเภทนี้มาใช้ในบ้านเราเหมือนกัน แต่อย่างที่บอกครับ องค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในชั้นปฏิบัติของเรายังไม่แน่นพอ เกรงว่าจะนำมาใช้จนกระทั่งไม่รู้ใครดีใครบ้า แค่ลำพัง ข้อหาอั้งยี่ กับซ่องโจรก็ใช้กันเป็นว่าเล่นแล้วครับ เพราะว่าความผิดพวกนี้ยังไม่ต้องรอให้ลงมือกระทำก็จับได้ แค่สมคบกันเฉยๆ อันนี้ก็เล่นไม่ยาก จับมาคนนึงก่อน แล้วตั้งข้อหาอั้งยี่หรือซ่องโจรซะ อย่างน้อยก็ควบคุมตัวได้ 48 ชั่วโมงแล้ว หาคนอื่นไม่ได้ก็ปล่อยไป เพราะจับไม่ครบจำนวนคนตามที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ผมได้มีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาสมัยเรียนปริญญาตรีวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาที่ โรงพยาบาลนิติจิตเวช อยู่แถวๆพุทธมลฑล ที่เท่าไรไม่รู้ลืมหมดแล้ว นานมากแล้วล่ะครับ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณพี่อยู่คนที่เค้าเป็นโรคนี้ น่าสนใจมากครับ เคสนี้

พี่คนนี้เดิมท่านบวชเป็นพระอยู่แถบภาคอีสาน ค่อนข้างเคร่งครับ นั่งวิปัสนากรรมฐานเช่นกัน และนั่งไปเรื่อย นั่งแล้วหลงครับ ไม่ยอมกินข้าวกินปลา ไม่ได้พักผ่อน จนเกิดอาการหูแว่ว และภาพหลอน (เป็นอาการหลักของผู้ที่เป็นโรคนี้ครับ) แต่ยังรู้ตัวนะครับ มันค่อยแรงขึ้นๆๆๆ จนควบคุมตัวเองไม่ได้ เจ้าอาวาสแนะนำให้ทำสมาธิและนั่งฟังเสียงน้ำไหล (เพื่อให้เกิดสมาธิจดจ่อกับการไหลของน้ำ มากกว่าเสียงแว่วน่ะครับ) แต่ไม่ได้ผล จนเริ่มหนักขึ้น ชาวบ้านครับก็ตามสูตร เห็นว่าหลวงพี่เพี้ยน ก็จับสึก เอาเสื้อผ้ามาใส่ให้ แล้วจับขึ้นรถทัวร์บขส ส่งกลับมาที่หมอชิต (ดูเค้าทำ)

ทิดใหม่มารู้สึกตัวก็ถึงหมอชิตแล้ว (คาดว่าขณะจับสึกคงต้องมีอาการก้าวร้าวอยู่บ้าง และตามสูตรเช่นกัน ต้องมีสหบาทามาบ้างไม่มากก็น้อย) ซึ่งก็ประมาณรุ่งสาง เดินมาตามทางเรื่อยโดยไม่มีจุดหมาย พลันทันใด อาการหูแว่วก็ดังขึ้นมา ตอนที่คุณพี่ท่านนี้เห็นรถบรรทุกคันหนึ่งจอดอยู่ข้างทาง (พร้อมคนขับที่หลับเอาแรงอยู่แถวนั้น) หูที่แว่วบอกคุณพี่ว่า "ขึ้นไปเลย รถของเราเอง ขับไป ไม่มีใครว่าหรอก" แต่ช่วงแรกคุณพี่เขาเองยังมีสตินะครับ พยายามต่อสู้กับตัวเอง สุดท้าย ก็หูแว่วแรงขึ้นๆๆๆ ก้าวร้าวขึ้นๆๆๆๆ จนทนไม่ไหว คุณพี่คนนั้นก็เลยกระโดดขึ้นรถแล้วขับออกไป

ขับไปได้ไม่เท่าไร ก็ไปติดหล่ม ชาวบ้านและเจ้าของรถตามมาทัน ก็ตามสูตร สหบาทาไปอีกหนึ่งชุดแล้วจับส่งตำรวจ

เรื่องมาถึงศาล (จริงๆถ้าปรากฏว่าเป็นโรคจิตตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ก็ส่งไปโรงพยาบาลตั้งแต่ตอนนั้นได้แล้วครับ แต่ท่าทางจะไม่มีอาการ หรือไม่ตำรวจก็ทำคดีเร็วจัง) เรื่องถึงศาล ศาลชั้นต้นท่านตัดสินว่า (แม้จะนำผู้เชี่ยวชาญไปนำสืบพิสูจน์แล้วว่า เป็นโรคจิตเภทซึ่งเข้าข่ายตามมาตรา 65 ซึ่งกฎหมายไม่เอาโทษ จริงๆถ้าจะกล่าวให้ถูก เพราะการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอาญา จึงไม่อาจบังคับใช้โทษทางอาญากับเขาได้มากกว่า)

แต่ศาลท่านฟังได้ว่า จำเลยขับรถไปได้ระยะทางพอสมควรเท่ากับยังมีสติดีอยู่ ศาลท่านลงให้จำคุก ซึ่งตรงนี้ด้วยความเคารพท่านยังเข้าใจคลาดเคลื่อนครับ เพราะว่า การเป็นจิตเภทไม่ใช่คนปัญญาอ่อนที่จะไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่เค้ามีช่วงเวลาที่จริตวิกล เหมือนถ้อยคำที่มาตรา 30 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ท่านได้ให้ไว้น่ะครับว่า "การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่..." แสดงว่าต้องมีขณะที่ "จริตไม่วิกล" ด้วยน่ะครับ

แต่เดชะบุญศาลอุทธรณ์กลับและเห็นว่าคุณพี่เป็นผู้ป่วยจิตเภทจริง เลยได้ส่งตัวมาอยู่ในโรงพยาบาลนิติจิตเวช ตอนที่ผมได้ไปสัมภาษณ์พี่เค้าอาการเกือบปกติแล้วครับ และปฏิกิริยาคำพูดคำจา คนปกติอย่างผมอายเลยครับ

ผมได้มีโอกาสถามคุณหมอว่า ไอ้โรคประเภทนี้มันเกิดจากอะไร เกิดจากความทรงจำวัยเยาว์หรือเปล่า หรือเกิดจากพยาธิสภาพที่สมอง หรือเกิดจากการใช้ยาเสพติด ฯลฯ หมอท่านตอบคำถามได้แบบ เคลียร์ (คา) ใจมาก ท่านตอบว่า “เหมือนเป็นหวัด มีเป็นร้อยสาเหตุ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรตายตัว” ผมนี่งง และกลัวว่าไอ้หวัดแบบนี้มันจะมาเกิดที่เราได้บ้างสักวัน

ส่วนอีกราย นี่ดมกาวมากครับ หลอน และแว่วตามสูตร ว่ามีคนจ้องทำร้าย และหูแว่วจนขนาดสั่งให้เอามีดไล่ฟันเพื่อนบ้านที่รู้จักกันมานานเกือบตายครับ

ใส่ใจคนรอบข้างให้ดีครับ อาจารย์ที่สอนผม ท่านบอกว่า คนจะนั่งวิปัสสนา ต้องไม่นั่งสุ่มสี่สุ่มห้า การนั่งต้องมีครู ต้องนั่งตามหลักการ (ผมไม่เคยลองเหมือนกัน แค่นั่งสมาธิยังไม่ไหวเลยครับ) หากคิดจะนั่งเองล่ะก็ ต้องระวังครับ โดยเฉพาะพวกนั่งแล้ว เห็นนิมิตรนู่นนี่ เห็นลูกก้ง ลูกแก้ว รู้สึกว่าตัวลอยได้ อันนี้ต้องระวังครับ

Thursday, May 19, 2005

อาลัยท่านอาจารย์พลประสิทธิ์

เมื่อวานเป็นอีกวันหนึ่งที่ผมปรับอารมณ์ไม่ถูก เพราะตอนเย็นต้องเดินทางไปงานพระราชทานเพลิงศพกับที่บ้าน เสร็จจากงานศพก็ต้องบึ่งไปงานแต่งงานที่ประตูน้ำ
งานพระราชทานเพลิงศพดังกล่าว เป็นงานของอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง แม้จะไม่ได้มีโอกาสได้รับความรู้จากการนั่งเรียนกับท่านโดยตรง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นศิษย์ทางอ้อมของท่าน ไม่ว่าจะเป็นการผ่านการอ่านตำราที่ท่านรวบรวมและแต่งไว้บ้าง หรือจากการได้ปรึกษาพูดคุยกับท่านยามที่แวะไปเยี่ยมเยียนท่านที่บ้าน

และที่สำคัญ ท่านเป็นอาจารย์สอนกฎหมายของพ่อและแม่ผมทั้งคู่ เมื่อสิบกว่าปีก่อน เมื่อครั้งที่พ่อและแม่ของผมลงทะเบียนเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่ท่านเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายให้

ความสนิทสนมชอบพอของระหว่างพ่อแม่ผมและท่านขยายวงจากในฐานะลูกศิษย์ ไปกระทั่งถึงในฐานะคนคุ้นเคย เสมือนท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ของบ้านผมคนหนึ่ง ทุกปีไม่ว่าจะจบมานานแล้วแค่ไหน พ่อแม่และผมจะต้องไปสวัสดีปีใหม่ที่บ้านท่านแถวพุทธมณฑลสายสองไม่เคยขาด ไปทุกครั้งได้ของติดไม้ติดมือมาทุกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นหนังสือและตำราที่ท่านแต่งหรือรวบรวมขึ้นใหม่เสมอๆ รวมทั้งประมวลกฎหมายที่เป็นเครื่องมือหากินของผมทุกวันนี้ด้วย

ครอบครัวของผมสนิทกับท่านมากขึ้น เมื่อผมได้มีโอกาสได้เข้ามาเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ ประกอบกับ ลูกชายคนกลางของท่านก็เป็นศิษย์รุ่นพี่สำนักเดียวกับผมด้วย ทำให้วงจรชีวิตระหว่างบ้านสองหลัง สองครอบครัว มีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงมากขึ้น

นอกจากตำรับตำราที่มักจะได้ติดไม้ติดมือจากบ้านท่านแล้ว ผมยังสัมผัสถึงความเป็นครอบครัวตัวอย่างของบ้านหลังนี้ด้วย คุณนายป้า เป็นผู้หญิงเก่งและเป็นแม่บ้านที่สมบูรณ์แบบมาก ดูแลลูกๆและสามีเป็นอย่างดี ทำให้ ท่านอาจารย์สามารถทำงานที่ท่านรักได้อย่างสะดวกราบรื่น และมีกำลังใจตลอด ประกอบกับการที่คุณนายป้าท่านเป็นพยาบาล จึงสามารถดูแลท่านอาจารย์ได้เป็นอย่างดี ยามที่ท่านเจ็บไข้ได้ป่วย จวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตด้วย

หลักฐานที่พิสูจน์ได้ดีที่สุดแห่งการเป็นพ่อแม่ตัวอย่างของท่านคือความสำเร็จของลูกทั้งสาม แม้ผมจะไม่ได้สนิทสนมกับพี่ๆทั้งสามก็ตาม และมักจะเจอพี่ๆที่บ้านของท่านน้อยครั้งมาก ส่วนใหญ่จะเจอแต่พี่โอ๊ตลูกคนเล็กของท่าน พี่อ้อมซึ่งเป็นลูกสาวคนโต ก็มีครอบครัวที่อบอุ่น หมดห่วงสำหรับผู้เป็นพ่อและแม่

พี่โอมลูกชายคนรอง เดินตามรอยเท้าพอเป๊ะ ด้วยการสอบบรรจุและรับราชการในสายงานแห่งการเป็นข้าราชการตุลาการเช่นเดียวกับพ่อ และน่าจะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไป ไม่ผิดพ่อ

พี่โอ๊ตลูกชายคนเล็กเป็นคนที่ผมเจอบ่อยที่สุดยามไปเยี่ยมเยียนบ้านท่าน พี่โอ๊ตเป็นสุภาพบุรุษอย่างแท้จริง นิยามคำว่าสุภาพบุรุษของผม ไม่ใช่ว่าต้องหล่อ เข้ม มาดดี แต่หมายความว่า ต้องสุภาพ อ่อนโยน และดูแลพ่อแม่และคนใกล้ชิดได้เป็นอย่างดี ทุกครั้งที่ผมไปที่บ้านท่าน จะพบที่โอ๊ต ง่วนอยู่กับการช่วยงานบ้าน ผมว่าพี่โอ๊ตนี่แหล่ะที่ถอดแบบของท่านอาจารย์พลประสิทธิ์ มามากที่สุด แม้กระทั่งยามที่ท่านเจ็บป่วยครั้งสุดท้าย ก็เป็นพี่โอ๊ตและคุณนายป้าที่อยู่ปรนนิบัติ อยู่ข้างกายมิได้ขาด และด้วยเลือดพ่อแรง ทำให้พี่โอ๊ตตัดสินใจเรียนต่อกฎหมาย ทั้งๆที่จบปริญญาตรีในสาขาอื่นมาแล้วใบนึง ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นครับ

แม้ท่านอาจารย์จะเป็นผู้พิพากษาอาชีพ (ตำแหน่งในวิชาชีพสูงสุดของท่านคือ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดนครปฐมแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเป็นตำแหน่งสุดท้าย) แต่ท่านมีความเป็นนักวิชาการสูงมาก เรียกว่าเป็นนักวิชาการในสายเลือด แม้ท่านจะไม่ได้ไปเรียนต่อเมืองนอกเมืองนา แต่การใผ่รู้ใผ่เรียนของท่าน รวมทั้งความเป็นนักคิดนักเขียนของท่าน ทำให้ท่านทุ่มเทกับงานสอน และงานเขียน อย่างหนัก (ซึ่งก็ได้ลูกชายสองคนนี่แหล่ะเป็นหัวเรี่ยว หัวแรงในการค้นคว้า รวบรวม จนกระทั่งจัดพิมพ์ ให้ท่านอาจารย์เสมอมา ผลงานของสี่คนพ่อลูกที่ทำให้คุณนายป้าผู้เป็นแม่ ทำให้ผมประทับใจมาก เพราะสี่คนช่วยกันทำหนังสือ “คุณแม่ยิ่งสาวคราวเกษียณ” เป็นที่ระลึกให้คุณนายป้าคราวที่ท่านเกษียณอายุ น่ารักจังเลยครับ ผมล่ะอยากทำมั่ง)

หนักจนกระทั่ง ทำให้สุขภาพของท่านทรุดโทรมลงมากกว่า คนที่อายุหกสิบต้นๆจะประสบ ผมก็สังเกตดูในช่วงปีหลังที่ไปมาหาสู่ท่าน รู้สึกว่าท่านจะโรยลงมาก สีหน้าแววตาและร่างกายที่ผ่ายผอมลง ทำให้ผมอดห่วงสุขภาพท่านไม่ได้ แม้ว่าท่านจะยังพูดคุย และเล่าเรื่องราวในชีวิตของท่านได้ดีดังเดิมก็ตาม

กระทั่งต้นปีที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปสวัสดีปีใหม่ท่านที่บ้านท่านเช่นเคย คราวนี้ลางบอกเหตุแห่งข่าวร้ายเริ่มเกิด เมื่อไปถึงแล้วคุณนายป้าแจ้งข่าวกับเราว่า เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ท่านอาจารย์ล้มป่วยลงอย่างหนัก และเพิ่งออกจากโรงพยาบาลก่อนที่เราจะไปสวัสดีปีใหม่ท่าน ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย หากจะสังเกตสีหน้าท่าทางอันอิดโรยของคุณนายป้า ที่คงวิ่งวุ่น คอยดูแลท่านขณะที่ยังพักอยู่ที่โรงพยาบาล

ทราบว่าท่านมีเนื้องอกที่ท่อน้ำดี ไม่ทราบว่าดีหรือร้าย ในขณะนั้น ตอนแรกคุณนายป้าเล่าให้ฟังว่า หมอเองก็ไม่กล้าผ่า เพราะมันอยู่ใกล้ตับเกินไปเกรงว่าจะเกิดอันตราย แต่สุดท้าย ด้วยความเป็นท่าน ท่านอาจารย์แสดงความจำนงยืนยันให้ผ่าตัด การผ่าตัดก็ดำเนินผ่านไปด้วยดี ท่านอาจารย์พักฟื้นและกลับพักผ่อนที่บ้านได้ และเริ่มทานอาหาร เดินเหินได้นิดหน่อย แต่สังเกตได้อย่างชัดเจน ว่าท่านซูบผอม และโรยราไปมาก

วันนั้นนอกจากหนังสือที่เราได้ติดไม้ติดมือกลับมาเช่นเคย เรายังแบกเอาความวิตก และห่วงใยในสุขภาพของท่านกลับมาด้วย พ่อและแม่ผมใจคอไม่ดีทุกครั้ง หากคุณนายป้าโทรมาหา พูดคุยที่บ้าน เราเกรงจะได้รับข่าวร้าย

และก็เป็นจริง ปลายเดือนมกราคม และต้นกุมภาพันธ์ ปีนี้ ครอบครัวของผมได้รับข่าวจากที่บ้านท่านว่า ท่านป่วยหนัก เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ หลังจากได้รับข่าวแล้ว ก็รีบรุดไปเยี่ยมทันที คราวนี้ ท่านอาการหนักจริงๆ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ท่านได้แต่นอนรับอาหารผ่านสายยางบนเตียง โดยมีคุณนายป้า และพี่โอ๊ตคอยดูแลอย่างใกล้ชิด คอยพลิกตัวให้ท่าน อยู่ตลอดเพราะเกรงแผลกดทับ

เมื่อเราไปถึง ท่านอาจารย์ยังไม่รู้สึกตัว จนสักพัก เมื่อเรากำลังขอตัวกลับ ท่านอาจารย์ได้ลืมตาขึ้นมา แม้ท่านจะพูดไม่ได้ แต่ท่านก็ต้อนรับเราด้วยสายตา ทั้งกล่าวต้อนรับเรา และแสดงออกถึงการขอบอกขอบใจ คุยกันด้วยสายตาสักพัก เราก็ขอตัวกลับ เพราะไม่อยากรบกวนเวลาพักผ่อนท่านนานกว่านี้ คุณนายป้ากับคุณแม่ของผมออกมาคุย ถามไถ่ถึงอาการของท่าน หน้าห้องพัก แม้จะคุยกันไม่กี่ประโยค แต่แม่ของผมก็ปลอบคุณนายป้าด้วยการจับมือ และร้องไห้ไปพร้อมกัน ผมก็อดไม่ได้
จนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราได้รับข่าวว่าท่านสิ้นแล้วอย่างสงบ

ในพิธีศพของท่าน การจากไปของท่าน ได้รับการตอบแทนอย่างสมเกียรติ ในการที่ท่านปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระปรมาภิไธยมาตลอดอายุราชการตุลาการของท่าน ด้วยการได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 18 ที่ผ่านมา

ถือเป็นเกียรติสูงสุดที่ท่านมอบไว้ให้แก่ผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องสู้ชีวิตต่อไป

หากดวงวิญญาณของท่านรับรู้ด้วยญาณวิถีใดๆ ผมในฐานะลูกศิษย์ท่านคนหนึ่ง ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย โปรดดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของท่าน ไปสู่สุคติ สู่สัมปรายภพหน้าด้วยความสงบ สว่าง และสดใส สมกับคุณความดีที่ท่านได้กระทำ ประพฤติปฏิบัติ มาตลอดชีวิตของท่าน

อาลัยท่านอาจารย์พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา ผู้พิพากษานักวิชาการที่เรียบง่าย และสมถะ

Tuesday, May 17, 2005

ป้าจ๋า

วันนี้ผมขอเริ่มเรื่องด้วยอาการออดอ้อน น่ารัก น่าตบ นิดๆ

ป้าเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อผมในการทำงานประจำทุกวันนี้ คนหนึ่งทีเดียว หากขาดป้าไปผมไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีแรงทำงาน (ทุกวันนี้ก็อู้ตลอด) ได้อีกนานแค่ไหน

แม้ภารกิจของป้าจะเป็นเพียงผู้รับคำสั่ง และทำตามสั่งเท่านั้น แต่ภารกิจนั้นสำคัญยิ่งยวดต่อ การปฏิบัติหน้าที่ของบรรดาข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการที่อยู่บริเวณกระทรวงการคลัง รวมตลอดถึง บริเวณด้านหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ตรงซอยอารีย์สัมพันธ์ ด้านติดกับถนนพระรามหก

ดังคำกล่าวยอดฮิตที่ว่า “กองทัพ ต้องเดินด้วยท้อง”

ครับ ป้าของผมวันนี้ แกเป็นตะหลิวมือหนึ่ง แห่งการทำอาหารตามสั่ง

ร้านของป้า ไม่มีป้ายหน้าร้านใหญ่โต ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่า จริงๆแล้ว ร้านป้าแกชื่อว่าอะไร

แต่สำหรับพวกผม พี่ๆน้องๆ ในสำนักงานกฎหมาย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมใจกันในสมญานามแก่ร้านแกว่า “ป้าฟาสต์ฟู้ด”

เดี๋ยวก่อนครับ แกไม่ได้ขายอาหาร “ด่วนแดก” เหมือนที่เปิดกันเกร่อตามดีพาร์ทเมนต์ สโตว์ แต่อย่างใด สมญานามนี้ ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ได้มาจาก ลีลาการสะบัดตะหลิวของแกนั่นเอง

ผมรับประกัน ให้ฟ้าผ่าหัวหมาแถวกระทรวงการคลังได้ ว่าเมื่อคุณสั่งเมนูที่คุณต้องการแล้ว และเริ่มที่จะละสายตาจากป้าไป หันไปเมียงมองหาโต๊ะว่างในร้านเล็กๆ เก่าๆ ขนาดตึกสองคูหาติดกัน และเดินไปยังที่หมาย กำลังจะหย่อนตูดลงนั่ง ณ วินาทีนั้น เมนูที่สั่งไว้ เมื่อตะกี๋นี้ จะมาเสิร์ฟกรุ่นๆ อยู่ตรงหน้าคุณเรียบร้อยแล้ว

ไม่ได้เสิร์ฟผิดแต่ประการใด...มันเสร็จแล้วจริงๆ

ในยามที่ป้าท๊อปฟอร์ม คุณอาจจะได้มันในจังหวะเดียวกับ ขณะที่คุณกำลังมองหาที่นั่ง

แต่ก็มีหลายครา ที่ป้ามือตก อาจจะด้วยเมนูกวนโอ๊ย ที่พวกผมตั้งใจประดิษฐ์ขึ้น เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้แก่ชีวิตการทำงานของป้า เช่น สุกี้แห้ง แต่ใช้เส้นมาม่า ใส่กุนเชียง หมูกรอบ ปลาหมึก ไม่ใส่ผักบางชนิด หรือ กระเพราไก่ไข่ดาว ไม่ใส่พริก และเมื่อผัดเสร็จให้เขี่ยกระเพราออกให้ด้วย หรืออาจจะเป็นเพราะจำนวนลูกค้าที่หลั่งไหลมาตอนเที่ยงตรง

แม้ในร้านขนาดสองคูหานั้นจะมีเพื่อนบ้าน นอกจากอาณาจักรตะหลิวของป้า เช่น ร้านขายข้าวหน้าเป็ดและข้าวหมูแดง ซึ่งนับแต่เกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติ หรือคลื่นยักษ์สึนามิ เราก็ไม่พบพาน เจ้าของร้าน ซึ่งเป็นหญิงหนึ่งชายหนึ่งคู่นั้นอีกเลย หรือ ร้านข้าวมันไก่ และข้าวขาหมู ซึ่งสามารถทำให้คนกิน สองคนสามารถตัดสินให้คะแนนความอร่อย ได้ต่างกันสุดขั้ว ได้ใจมาก เหมือนกับที่ภาพยนตร์เรื่อง “สัตว์ประหลาด” เอาชนะใจกรรมการด้วยวิธีนี้เช่นกัน

แต่ร้านของป้าดูจะมีชีวิตชีวา และลูกค้าติดมากที่สุด

ผมกับพรรคพวกฝากท้องที่ร้านป้าเป็นส่วนใหญ่ในวันทำงานในหนึ่งสัปดาห์ และในบางโอกาสที่ผมขี้เกียจคิดเมนู ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้พวกผมเปลืองเนื้อที่ใส่แกลบในสมองมากที่สุดในแต่ละวัน ผมกับพรรคพวกฝากท้องไว้กับร้านป้าฟาสต์ฟู้ด ห้าวันทำการในหนึ่งสัปดาห์

เป็นเวลาปีกว่าแล้ว ขณะนี้ผมและพรรคพวก ได้รับการยอมรับให้เป็น “ขาประจำ” ของป้าไปเรียบร้อย โดยไม่จำเป็นต้องมีบัตรสมาชิกใดๆ

ความเป็นสมาชิกขาประจำทำให้เราอดเกรงใจป้าไม่ได้ ทุกครั้งเมื่อเราคิดจะกบฏ คิดกินเมนูใหม่ๆที่ร้านอื่นบ้าง และหากวันนั้นต้องเดินผ่านร้านป้า ... ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ป้าจะเงยหน้าจากเตา และส่งค้อนให้ผ่านทางสายตา พร้อมกับคำถามแทงใจ “วันนี้จะไปไหนกัน” พวกผมได้แต่ยิ้มแห้งๆ และรีบจ้ำอ้าวไป

แล้ววันหนึ่งเมื่อผมกับพวกตัดสินใจเป็นกบฏฟาสต์ฟู้ดอีกครั้ง ขณะเดินผ่านร้านป้ารับค้อนกันไปคนละหนึ่งหน่วย ตามพิธี เพื่อจะไปลิ้มรสส้มตำ ไก่ย่างที่วางแผนจะเปิบมาหลายวัน คุณพระช่วย ร้านมันปิด ทำไงวะเนี่ย กลับไปโดนป้าถากถางด้วยสายตาแน่ๆ ต้องหาอะไรกินเอาดาบหน้าแล้ว ก็พลันคิดถึงร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด ร้านอร่อย ตรงมุมตึก อย่างน้อยก็ไว้ลายกบฏหน่อยวะ

นรกเป็นพยาน ก๋วยเตี๋ยวเป็ดกู้หน้าของผม ก็ปิดซะอีก ขืนเดินต่อไป ไม่ได้กินแน่ๆ มองหน้ากับสมัครพรรคพวกแล้ว ก็ยอมถอดลายกบฏทิ้งไว้หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดนั่นแหล่ะ เดินกลับไปพึ่งบารมีร้านป้าเหมือนเคย

ทันทีที่เดินเข้าสูร้านป้า ป้าหันมามอง แบบสายตาของผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าเชลซีเถลิงแชมป์ลีกในรอบห้าสิบปี และยิ่งกว่าเวสต์บรอมฯ รอดตกชั้นอย่างปาฏิหารย์

แต่หลังจากนั้น รอยยิ้มและคำพูดทักทายเดิมๆ ที่คุ้นเคย ก็กระทบหู “จะกินอะไร” เราก็สั่งเมนู สาหัสคนทำให้ป้าเหมือนเคย

เมื่อวานนี้ผมกับพรรคพวก กะจะไปฝากท้องที่ร้านป้าเช่นเคย แต่พอเดินถึงหน้าร้านป้า ก็ต้องชะงัก เพราะเป็นครั้งแรกในรอบปีครึ่งที่ผ่านมาที่ผมเห็นร้านป้าหยุดกิจการ ยังไม่ทันจะจินตนาการต่อไป สายตาก็เหลือบไปเห็นพี่วินมอเตอร์ไซค์ที่ มักจะช่วยงานที่ร้านป้าเป็นเด็กเสิร์ฟคนหนึ่ง จึงได้คำตอบจากพี่คนนั้นว่า

“เซเว่นข้างๆเค้าจะขยายห้อง กินที่มาอีกหนึ่งคูหา เหลือคูหาเดียวให้ป้าแกขายของ” เมื่อถามถึงกำหนดเวลาว่าเมื่อไรผมจะได้ลิ้มฝีมือตะหลิวป้าอีก แกก็บอกว่าประมาณ 2 อาทิตย์

2 อาทิตย์แห่งความเศร้า

เศร้าเพราะคงจะไม่ได้ลิ้มรสตะหลิวป้าไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งพอจะทำให้ลงแดงได้

และเศร้าให้แก่ร้านเพื่อนบ้านป้า ได้แก่พี่หน้าเป็ด ซึ่งแม้ว่าหลังๆจะไม่เห็นมาขายเลย สงสัยจะเอาเงินไปใช้ และพี่มันไก่ขาหมู ที่อาศัยชายคาเดียวกับป้า ขายของ ซึ่งหากเหลืออยู่เพียงคูหาเดียวแล้ว ไม่รู้จะแบ่งโซนสีกันอย่างไร


คิดแล้วก็เซ็ง กับการขยายขนาดเซเว่น เจ้ากรรม เพราะเท่าที่ผมสังเกต สาขานี้ไม่มีคนซื้อเท่าไหร่ สู้อีกสาขาที่อยู่ ใจกลางตลาดนัดหลังกระทรวงการคลังไม่ได้

แต่จะทำอย่างไรได้ครับ ในเมื่อเจ้าของตึก ที่ให้ป้าแกอาศัยขายของอยู่ ทนกลิ่นหอมของเงินนายทุนไม่ได้

ไม่รู้ว่าต่อจากนี้ไป ป้าฟาสต์ฟู้ดที่ผมภูมิใจอย่างยิ่ง ในความอร่อย และความรวดเร็ว จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

2 อาทิตย์จะได้คำตอบครับ

Sunday, May 15, 2005

เรื่องยุ่งๆเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน

เริ่มต้นที่ "เรื่องยุ่งๆ" เหมือนเคยครับ


เรื่องราววันนี้ ผมเอาความเห็นที่โพสไว้ในบล็อกของ etat de droit มาปรับปรุงเล็กน้อย (เล็กน้อยจริงๆครับ เพราะไร้เวลาอย่างสิ้นเชิง) คือ รู้สึกเกรงใจเจ้าของบล็อกอย่างยิ่งที่ ความเห็นของผม และของพี่บุญชิตฯ ลากเอาเรื่องราวที่เจ้าของบล็อกต้องการสื่อสารออกไปหลายไมล์ทะเล เลยพยายามรวบรวม มาเขียนในบล็อกของตัวเอง เผื่อจะเป็นการเปิดประเด็นใหม่ ที่สืบเนื่องมาจากเรื่องเดิม ของคุณนิติรัฐ (ขออนุญาตเน้อ เพราะ พิมพ์ยากจริง ขี้เกียจแล้วว่ะ)

หลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาที่ปรากฏขึ้นในหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดของผม ( คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน องค์กรเดิมก่อนมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 คือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน การเปลี่ยนแปลงที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ การเพิ่มคำว่า “การ” เข้ามา หลัง สำนักงาน และ ก่อนหน้า ตรวจเงินแผ่นดิน…ฮา) ก็คือ ปัญหาสถานะของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คนแรกหลังจากที่เปลี่ยนแปลงองค์กรจากเดิมที่สังกัดภายใต้รัฐบาล มาเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่เดิมตำแหน่งสูงสุดในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินคือ “ผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดิน” ซึ่งเป็นองค์กรเดี่ยว หัวเดียวกระเทียมลีบ

องค์กรในการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 มีอยู่ 3 องค์กร คือ

1. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่ง เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เหมือนๆกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็น “องค์กรกลุ่ม” ทั้งสิ้น

2. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีสองฐานะ ก็คือ หนึ่ง เป็นเสมือนเลขาธิการของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

3. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก็เป็นส่วนราชการอิสระ คำว่าอิสระในที่นี้หมายถึง ไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง แต่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าการฯ ตามนโยบายการบริหารของ คณะกรรมการฯ

รายละเอียดพอสังเขปมีดังนี้ครับ

คณะกรรมการฯ เป็นองค์กรสูงสุดในการพิจารณาผลการตรวจสอบ ในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน (คำนี้มันกว้างน่ะครับ ไม่ลำพังเฉพาะเงินงบประมาณเท่านั้น แต่หมายรวมทั้งทรัพย์สินอื่นใดที่อยู่ในความครอบครองดูแลของหน่วยรับตรวจ ซึ่งก็คือส่วนราชการทั้งหลายด้วย) ผลการตรวจสอบจะออกมาในรูปแบบ 4 แบบ

1. พิจารณาผลในทางวินัย นั่นหมายถึง ชี้ว่าเจ้าหน้าที่รายใด ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่มีความบกพร่องผิดพลาดในการใช้จ่ายเงินตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ต้นสังกัด พิจารณาความผิดทางวินัยราชการ

2. พิจารณาผลในทางแพ่ง ซึ่งส่วนใหญ่คือ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ เป็นการเรียกเงินคืน หรือให้ชดใช้ความเสียหาย ซึ่งก็ต้องแจ้งไปให้หน่วยงานเจ้าของเงิน เค้าเป็นคนเรียก ตาม พระราชบัญญัติฯ ละเมิดเจ้าหน้าที่ 2539 และ ระเบียบสำนักนายกฯ เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องละเมิดดังกล่าว

3. พิจารณาผลในทางอาญา อันนี้กรณีเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ผิดกฎหมายอาญา กรณีนี้จะส่งไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

4. อันนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดของตัวบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้เงินแผ่นดิน แต่หมายถึงตัวกฎ ระเบียบที่ใช้บังคับในหน่วยงานนั้น มีช่องว่างช่องโหว่ หรือมีความไม่เหมาะสมในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน คตง.เองก็สามารถ ชี้ เสนอแนะ ให้มีการแก้ไขกฎหมาย หรือระเบียบที่บกพร่องผิดพลาดดังกล่าวได้

อำนาจหน้าที่ของคตง ส่วนใหญ่จะอยู่ที่การวางระเบียบ นโยบายในการตรวจเงินแผ่นดินน่ะครับ แต่ไม่ได้ลงมาใช้อำนาจตรวจสอบเอง ซึ่งนั่นเป็นอำนาจของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ภายใต้การบังคับบัญชาชองผู้ว่าการฯ

หากจะเทียบตำแหน่งผู้ว่าการฯ กับ เลขาธิการ ของหน่วยธุรการทั้งหลายขององค์กรอิสระอื่น ความซับซ้อนมันอยู่ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นองค์กรที่ต้องมีการสรรหา และได้รับการแต่งตั้ง เห็นชอบจากวุฒิฯ กระบวนการแทบจะไม่ต่างกันเลยระหว่างการให้ความเห็นชอบของวุฒิฯ ในการเลือก คตง กับ การให้ความเห็นชอบ ผู้ว่าการฯ จะต่างกันก็คือ องค์กรผู้ริเริ่มในการเสนอชื่อ ผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ให้วุฒิฯ คือ คตง. ซึ่งเค้าสามารถวางระเบียบฯว่าด้วยการสรรหาผู้ว่าการฯได้ แต่ตามกฎหมายแล้ว ระหว่างผู้ว่าการฯ และคตง ศักดิ์และสิทธิ์ เท่ากัน ตั้งแต่เงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นๆ (จะน้อยกว่า ก็แต่เฉพะประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน)

การเข้าสู่ตำแหน่ง และการออกจากตำแหน่งก็มีการกำหนดไว้ค่อนข้างชัด โดยให้โยงกับวุฒิฯ คือ ถ้าคตง จะให้ออก ต้องมติเอกฉันท์ ว่าประพฤติเสื่อมเสีย และนอกจากนั้นต้องส่งไปให้วุฒิให้ความเห็นชอบให้ออก โดยต้องใช้มติเสียงสามในสี่ของวุฒิด้วยการปฏิบัติงานผู้ว่าฯขึ้นตรงต่อ ประธานคตง.

ความสัมพันธ์ระหว่าง คตง กับ ผู้ว่าการฯ ไม่ใช่ในฐานะ ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด แต่มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่กันได้อย่างชัดเจน นั่นคือ คตง.เป็นผู้วางนโยบาย และคุมนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน และพิจารณาผลการตรวจสอบ ท่านไม่ได้ลงมาตรวจเอง แต่ จะพิจารณาผลการตรวจสอบ ของเจ้าหน้าที่ในสตง ตรวจเสร็จสิ้นมาแล้วการตรวจสอบทั้งหลาย เป็นเรื่องของ สตง.ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของ ผู้ว่าการฯ เท่านั้น คตง.จะลงมาสั่งในทางปฏิบัติ ให้ตรวจเรื่องนี้เรื่องนั้น ไม่ได้ หรือแทรกแซงการปฏิบัติในการตรวจสอบไม่ได้ครับ วางได้แค่นโยบายการตรวจสอบหรืออาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็น "กันชัน" ระหว่าง คตง.กับ สตง.ด้วย ไม่ใช่แค่รับผิดชอบงานธุรการแต่มีหน้าที่ถ่วงดุลและคานอำนาจการตรวจเงินแผ่นดินของ คตง.ด้วย

ฉะนี้กระมังครับ ที่ตำแหน่งผู้ว่าการฯ จึงมีความพิเศษและมีประเด็นเรื่องราวมากมาย ให้ถกเถียงกันนอกจากโครงสร้างดังกล่าวแล้ว ปัญหาภายในองค์กร ที่เป็นเรื่องระหว่างตัวบุคคลก็เป็นประเด็นมิใช่น้อย

การคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระของบ้านเรา ต้องยอมรับว่า จะให้ปลอดจากการเมืองเป็นเรื่องยากเหลือเกิน การที่อาจารย์อมร เคยวางโครงสร้างให้ผู้ว่าการฯเป็นอิสระ จากฝ่ายการเมือง และในขณะเดียวกันก็อิสระ (พอควร) จาก คตง.เองด้วย อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่ง ในการสร้าง "กันชน" ระหว่าง คตง.กับข้าราชการในสตง.ข้าราชการอย่างผม มีหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าการฯ ผลการตรวจสอบ เราส่งไปให้ คตง.ท่านพิจารณา เรียกว่า เป็นการแบ่งแยกองค์กรในการ "ตรวจสอบ" และ "พิจารณาผล" ออกจากกัน

และในชีวิตการทำงานที่นี่ของผม ปีกว่าๆ ผมก็เห็นบทบาทการเป็น "กันชน" ระหว่าง สตง.กับ คตง.ของคุณหญิงฯ มามากพอสมควร โดยเฉพาะกันชน ให้กับสตง. กับ คตง.บางคน ที่มีผลประโยชน์ขัดกัน ในการก่อสร้าง "หนองงูเห่า"

หากเปรียบเทียบกับ โครงสร้างขององค์กรอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะต่างกันมาก เพราะตัว ป.ป.ช.เอง มีอำนาจในการลงมาไต่สวน รวมทั้งสืบสวนสอบสวน (แสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ) เอง คือ "ลงมาเล่นเอง" นั่นแหล่ะครับ ไม่ได้ถูกแยกเช่นกับ โครงสร้างของ คตง และ สตง

โดยเฉพาะอำนาจของผู้ว่าการฯ ตาม มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ฯ ตรวจเงินแผ่นดิน 2542 และอำนาจในการ "ตรวจสอบ" ที่เป็นของ "สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน" ตาม มาตรา 39 ซึ่งการตรวจสอบ นั้นกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ โดยผู้ที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้นั้น ไม่ใช่ทุกคน แต่ต้องมีคุณสมบัติ และได้รับการแต่งตั้งจาก "ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน" อันนี้ต่างจากสำนักงานปปช ที่ไม่ได้มีอำนาจในการลงไปไต่สวนตรวจสอบเอง เป็นแค่ธุรการล้วนๆเมื่อตรวจเสร็จแล้ว ผู้ว่าการฯ จึงรายงานผลการตรวจสอบ (สำนวนในการตรวจสอบ) เสนอต่อ คตง.เพื่อพิจารณาลงมติ ซึ่งบางเรื่องคตง ก็จะมอบหมายมอบอำนาจให้ ผู้ว่าการฯ พิจารณาลงความเห็นเองได้ (มีเกณฑ์พิจารณาจาก จำนวนเงินเสียหาย และระดับของผู้กระทำผิด)

สำหรับการพิจารณาลงมติและแจ้งมติ เป็นอำนาจของ คตง.ซึ่งเป็นองค์กรกลุ่ม เพื่อให้ไปชนกับฝ่ายการเมือง หรือบรรดาหน่วยรับตรวจเอง ไม่ใช่ให้ผู้ว่าการฯ หรือ สตง ชน

ผมเองก็อยากเห็นหน่วยงานแห่งนี้เจริญก้าวหน้าและสามารถปฏิบัติภาระกิจลุล่วงดังที่รัฐธรรมนูญตั้งใจหวังไว้ ผมเชื่อว่า หากการตรวจเงินแผ่นดินมีประสิทธิภาพ ปปช จะมีงานทำน้อยลงมาก และโดยอำนาจหน้าที่ของ สตง เอง สามารถลงไปตรวจ หรือวางแผนก่อนที่จะเกิดความเสียหายได้ และไม่ได้ตรวจแค่การทุจริต แต่รวมไปถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินด้วย เรามีการตรวจสอบ หลายประเภทครับ เช่น ตรวจงบการเงิน อันนี้เป็นเรื่องทางบัญชี ตรวจจัดซื้อจัดจ้าง อันนี้พวกพัสดุ ตรวจสอบดำเนินงาน อันนี้ตรวจทางความคุ้มค่าคุ้มทุนในการดำเนินการของรัฐที่ต้องอาศัยเงินแผ่นดิน ตรวจสอบสืบสวน อันนี้เป็นการตรวจทุจริต โดยอาจจะเป็นการตรวจสอบต่อเนื่องจากการตรวจประเภทอื่นๆแล้วพบความไม่ชอบมาพากล

แต่อำนาจของ คตง และสตง ก็มีจำกัด คตง ไม่ได้มีอำนาจในการลงโทษ ให้คุณให้โทษด้วยตัวมันเอง (ยกเว้นเรื่องวินัยงบประมาณและการคลัง ที่ปัจจุบันก็ยังใช้ได้ไม่เต็มร้อยนัก) มีแต่เพียงแจ้งผลการตรวจสอบไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น วินัย ก็ต้องแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัด แพ่ง พวกเรียกเงินคืน ก็ต้องแจ้งไปยังเจ้าของเงิน เช่น หน่วยงานต้นสังกัดนั่นแหล่ะ หรือกระทรวงการคลัง และอาญา ก็แจ้งไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ปปช (ซึ่งเป็นง่อยอยู่) แล้วแต่กรณี

แต่โชคดีที่ยังมีอำนาจในการติดตามผลปฏิบัติตามการแจ้งผลด้วย โดยหากไม่คืบหน้า หรือมีการดำเนินการที่ไม่สมเหตุสมผลตามที่ตรวจไป ก็มีอำนาจแจ้งไปยังหน่วยงานกำกับที่สูงขึ้น จนกระทั่งถึง คณะรัฐมนตรี และสภา โดยเฉพาะกรรมาธิการทุจริต และ กรรมาธิการงบประมาณ เพื่อพิจารณาตัดงบของหน่วยงานนั้นๆ ในปีต่อไป

จะว่าเป็นเสือกระดาษ ก็กระดาษครับ แต่ตามกฎหมายปัจจุบัน ก็น่าจะเป็น กระดาษแข็ง ตีแล้วมันก็รู้สึกบ้าง

ไม่ใช่กระดาษสา หรือ ทิชชู่ ที่โดนน้ำก็ยุ่ย ตีไงก็ไม่เจ็บ ยกเว้นว่า กระดาษสา หรือ ทิชชู่นั้น มันจะ...

ห่อค้อน

ก่อนจะจบ ผมอยากจะขอความรู้จากพี่บุญชิตฯ และพี่ๆ เพื่อนๆ ทุกคนครับ

ผมคาใจอยู่ตลอดมาว่า ในกระบวนการสรรหา หรือแม้แต่การกระทำทางปกครอง การออกคำสั่งทางปกครอง ด้วยน่ะครับว่า ทุกขั้นตอนนี่มีผลเหมือน"เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" ทั้งหมดหรือไม่

กระบวนการพิจารณาของศาลที่ผิดพลาด ผิดหลง ผิดขั้นตอน ยังต้องมีการหยิบยกและเพิกถอนในเวลาที่กำหนด หรือต้องไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนที่ผิดพลาด ผิดหลงนั้น เสมือนกับการให้สัตยาบรรณ มันน่าจะเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายวิธีพิจารณา และกรณีอื่นๆ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27

ตรงนี้ผมยังไม่แน่ใจว่า กระบวนการนั้นมีสาระสำคัญถึงขนาดทำให้กระบวนการที่ชอบภายหลังจากนั้น ทลายลงหรือไม่

เหตุผลอีกอย่างคือ ผมมองว่า มันคือกระบวนการ หาใช่คุณสมบัติ


ส่วนประเด็นการทำงานของตุลาการเสียงส่วนใหญ่ ผมคง ไม่ก้าวล่วงในรายละเอียด รออ่านงานพี่บุญชิตฯ ดีกว่า เพราะอยากทราบทัศนะของพี่ (คนอื่นๆด้วยนะครับ) ตั้งแต่ กระบวนการเสนอญัตติของเสียงวุฒิฯเสียงข้างน้อย ต่อ คุณอุทัย ให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ การรับเรื่องของศาลฯ การวินิจฉัยตัดสิน และ ผลของคำวินิจฉัย โดยเฉพาะเรื่องของ มาตรา 266 ที่ท่านใช้เป็นช่องรับเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา

คงมีโอกาสได้อ่านงาน และได้แสดงความเห็นกันครับพี่

Friday, May 13, 2005

Madeliene

วันนี้ผมกลับบ้านพร้อมแผ่นหนังเกาหลีเรื่องเดิม...แต่คราวนี้แผ่นแท้ ดูได้อย่างไร้กังวลแน่ๆ

ผมตัดสินใจดูใหม่ทั้งเรื่องอีกรอบ ไม่เจาะจงดูเฉพาะฉากที่แผ่นเกิดกระตุก ชะงัก

ผมตัดสินใจถูก เพราะการดูครั้งนี้ของผม นอกจากจะได้อรรถรส แบบที่แผ่นละเมิดลิขสิทธิ์มอบให้ไม่ได้แล้ว ผมยังได้เสพรายละเอียดของหนัง อีกครั้ง ผมสังเกตเห็นว่า ผู้สร้าง สร้างหนังเรื่องนี้ด้วยความละเอียด ประโยคหลายประโยค ฉากหลายฉาก ไม่ได้ออกมาโลดแล่นเพียงผ่านแล้วจากไป แต่มันทิ้งประเด็น หรือ นัย ไว้เสมอ...ผมหลงรักในรายละเอียดของหนังเรื่องนี้จริงๆ

อย่างที่เคยบอก เขาและเธอต่างกัน จนแทบจะเข้ากันไม่ได้ แต่หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ความ "ต่าง" นี่แหล่ะ คือสิ่งที่ "เติม" ให้กันและกัน เขามีจังหวะชีวิตที่เอื่อยเฉื่อย เธอเข้ามาทำให้ชีวิตเขามีจังหวะ และมีสีสันมากขึ้น เช่นกันเธอมีจังหวะชีวิตที่รวดเร็ว และไม่คงที่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เขาเข้ามาทำให้จังหวะชีวิตเธอ ช้าลง และ "เหวี่ยง" น้อยลง

การที่ผมตัดสินใจดูใหม่ซ้ำอีกรอบ มันทำให้ผมเข้าใจเธอมากขึ้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เพียงเธอ "เคว้ง" จากคนรักเก่าเท่านั้น เธอ "กลัว" ที่จะเริ่มใหม่กับ เขา ด้วยต่างหาก เธอเกรงใจในความดี และความรักที่เขามีให้ เพราะเธอเริ่มที่จะรักเขาแล้วนั่นเอง

Madeliene เป็นชื่อขนม ที่เพื่อนเด็กส่งหนังสือพิมพ์ (ซึ่งเป็นจ๊อบของเขาด้วยเช่นกัน) ทำมาให้กิน ยามเมื่อส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านเสร็จสิ้น วันนั้นเธอตามไปส่งหนังสือพิมพ์กับเขาด้วย (อย่างน่ารัก) สามคนกินอาหารเช้าด้วยกันบนสะพานเดิม จุดนัดพบทุกเช้า ด้วยความที่เขาเป็นหนอนหนังสือตัวยง เขาเล่าว่า เคยอ่านหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ตัวเอกมีความผูกพันกับ ขนม Madeliene เมื่อได้กิน จะทำให้ตัวเองได้รำลึกถึงความทรงจำเมื่อวัยเยาว์เมื่อครั้งที่ลิ้มรสขนมแห่งความทรงจำนี้ครั้งแรก ... เขาพูดว่า อีกสิบปีข้างหน้า เมื่อเขาได้มีโอกาสกินมันอีก มันคงจะทำให้เขานึกถึงเช้าวันนี้บ้าง

และหนังเรื่องนี้ ก็ดำเนินเรื่องด้วย "ความทรงจำ"

รักแรกของเขา ไม่ใช่ใครที่ไหน เด็กสาวเพื่อนร่วมห้องของเขานั่นแหล่ะ (แน่นอนเด็กสาวคนนั้น ก็เป็นเพื่อนของเธอด้วยเช่นกัน) เขาเคยให้เพื่อนสาวน้อยคนนั้นยืมสมุดเลคเชอร์ ยามที่สาวน้อยคนนั้นขาดเรียน ความประทับใจมันเกิดตรงจุดนั้น (จีบสาวด้วยวิชาการนั่นเอง นึกแล้วก็น้อยใจ ตอนสมัยเรียนตรี ผมก็ให้เพื่อนยืมเลคเชอร์บ่อยๆ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นไอ้ทะโมนก็ตาม แต่ไม่ยักกะมีใครมาทำให้สยิวในใจอย่างนี้สักที) เมื่อสาวน้อยคนนั้นเอาสมุดมาคืน เขาเปิดดู ตัวหนังสือน่ะอยู่ครบ แต่ที่แปลกประหลาด เพิ่มขึ้นมาคือ "รอยจูบ" ที่หน้าสุดท้าย

ทำเอาไอ้หนุ่มน้อย ม.3 นอนไม่หลับ กระส่ายกระสับ ตับพิการ อาหารไม่ย่อย ลิ้นก็กร่อย ฟันก็ปวดและเป็นปรวดในกระเพาะ ลมหายใจเหม้น เหม็น เช้าเย็นอาเจียน นึกถึงแต่รอยจูบนั้น ต้องตื่นมากลางดึกเปิดดูอีกรอบ ให้สาแก่ลูกกะตาตัวเอง ว่าไม่ได้ฝันไป และแล้วก็อดใจไม่ไหว ต้องประทับจูบลงบนรอยจูบนั้นสักครั้ง

นั่นคือจูบแรกในชีวิตของเขา

หารู้ไม่ว่าจริงๆ แล้วรอยจูบนั้นหาใช่รอยจูบของสาวน้อยคนนั้นไม่ แต่เป็นสาวน้อยแสนซนอีกคนต่างหาก ใช่ เป็นของเธอนั่นแหล่ะ เธอแอบเอาลิปสติกมาทาเล่น แล้วลองสีลิปฯ ด้วยการเอาสมุดของเขา มาประทับจูบ อย่างบังเอิญ ... จูบแรกของเขา จึงไม่ใช่กับสาวน้อยผู้ยืมเลคเชอร์อย่างที่เขาฝัน แต่เป็นจูบแรกของเขาและเธอ

แล้ววันหนึ่งหลังจากที่เขาและเธอตกลงเป็นแฟนกันหนึ่งเดือน เพื่อนสาวน้อยรักแรกของเขาก็กลับเข้ามาในชีวิต ด้วยความตื่นเต้น เขาบอกเพื่อนสาว (ไม่น้อยแล้ว) คนนั้นว่า เขายังไม่มีแฟน นั่นคือการละเมิดข้อตกลงข้อแรกระหว่าง เขาและเธอ ที่ทั้งคู่ต้องจริงใจต่อกันและไม่โกหก ตลอดหนึ่งเดือนนี้ การละเมิดข้อตกลงข้อนี้ของเขา เหมือนหนามที่ทิ่มย้ำไปแผลเดิมในใจของเธอ ตอกย้ำความทรงจำอันเลวร้ายที่มีต่อสันดานผู้ชาย

เมื่อเขากำลังสับสน ในการเลือกที่จะเดินย้อนกลับไปในความทรงจำ สานต่อรักใสวัยมัธยมของเขา หรือจะเลือกเดินหน้าต่อในเส้นทางรักหนึ่งเดือนกับเธอ เขาก็มีคำตอบให้กับตัวเองว่า ความ "เหมือน" หลายๆอย่างระหว่างเขากับรักแรกนั้น มันไม่ยักกะ "เติม" เหมือนเช่นความ "ต่าง" ระหว่างเขากับเธอ เกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เธอทำให้เขากลายเป็นนักเล่นเกมส์มือสมัครเล่น ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ เขาคิดเสมอว่าการเล่นเกมส์คือการฆ่าเวลาที่ไร้สาระ และก็เป็นเขาที่ทำให้เธอทอนจังหวะชีวิตลงด้วยการหันมาเป็นหนอนสมัครเล่นอ่านหนังสือเล่มโปรดของเขาได้ร้อยหน้าในหนึ่งคืน

และแล้วก็มาถึงวันครบรอบหนึ่งเดือน วันนี้เขาและเธอต้องเลิกกันตามข้อตกลง คำพูดของเธอเป็นจริง เขาตอนนี้รักเธอเต็มหัวใจ แต่เธอแม้อยากจะเปิดใจรับแต่เธอมีอีกชีวิตที่ต้องดูแล และเลือกที่จะอยู่กับอดีต

แว่บแรกที่เธอบอกกับเพื่อนสนิทของเธอว่า จะเก็บเด็กในท้องไว้ เพื่อนผู้นั้นของเธออุทานออกมาว่า "จะบ้าเหรอ ประสาทหรือไง" แต่เธอกลับตอบไปว่า "คนที่เป็นแม่ เลือกที่จะรักษาชีวิตลูกไว้ บ้าและประสาทตรงไหน"

สวรรค์เล่นตลก แม้เธอตัดสินใจที่จะเก็บชีวิตในครรภ์เธอไว้ แต่คืนวันฝนตกคืนหนึ่ง (ผมเพิ่งสังเกตว่า หนังเรื่องนี้ก็ผูกพันกับฝนเยอะเหมือนกัน พอๆกับการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือระหว่างเขากับเธอ แม้ว่าจะนั่งอยู่ติดกันก็ตาม) หลังจากเธอทะเลาะอย่างรุนแรงกับพ่อของเด็กในท้อง และเดินซมซานตากฝนเป็นลมล้มพับอยู่ต่อหน้าเขา ขณะที่เขากำลังกุลีกุจอเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยการเอาหนังสือพิมพ์ใส่รถจักรยานคันเก่ง เตรียมปั่นไปส่งตามบ้าน เช่นเคยทุกวัน

เขาแบกเธอวิ่งฝ่าสายฝนไปโรงพยาบาล มีสองชีวิตฝากอยู่บนหลังของเขา

อาจจะสมใจสาววัยรุ่นท้องก่อนเวลาทั้งหลายในประเทศนี้ เธอเสียลูกไป เพื่อนสนิทของเธอ ปลอบว่า "ฉันคิดว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กดีนะ เขารู้ว่าตอนนี้แม่ของเขากำลังลำบาก เขาเลยเลือกที่จะไปอยู่ที่อื่นก่อน วันนึง เมื่อแม่ของเขาพร้อม และเจอคนที่รักแม่ของเขาอย่างจริงใจ วันนั้นเขาจะกลับมาอยู่กับแม่ของเขาใหม่อีกครั้ง"

หลังจากเสียลูกไป เธอปิดตัวเอง ตัดขาดจากเขา จมอยู่ในร้านเสริมสวย

สำหรับเขา ทุกครั้งที่มองฟ้า ก็นึกถึงเธอทุกครั้ง

วันนึงเขาปั่นจักรยานคู่ชีพกลับไปที่ร้านเสริมสวยของเธอ ขอร้องให้เธอเปลี่ยนสีผมให้กับเขาอีกครั้ง (หลังจากที่ตกลงเป็นแฟนกันไม่นาน เธอนี่แหล่ะจับเขาเปลี่ยนสีผมเป็นครั้งแรกในชีวิต แถมยังปลอบเขาอีกว่า ครั้งแรกก็เจ็บงี้แหล่ะ ครั้งต่อไปก็จะดีเอง...เปลี่ยนสีผมแน่เหรอฟะ) เขาบอกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว คงจะเจ็บน้อยลง แต่เธอกลับขู่ว่า ไม่แน่หรอก ครั้งที่สองอาจจะเจ็บกว่าเดิมก็ได้ (เปลี่ยนสีผม ครับ เปลี่ยนสีผม)

การเปลี่ยนสีผมกำลังดำเนินไป เขาขอเริ่มใหม่กับเธออีกครั้ง...

ไม่มีคำตอบ

มีแต่รอยยิ้ม

รอยยิ้มทั้งเขาและเธอ...และผม

สิ่งที่ทำให้ผมมีความรู้สึกร่วมกับหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงเนื้อหา และรายละเอียดของมัน แต่เป็นชีวิตผมเองด้วย

ระหว่างนั่งดูมัน ก็ย้อนคิดถึงเรื่องตัวเอง...เธอกับผมก็ต่างกันมาก เธอมีจังหวะชีวิต และอารมณ์ที่ "เหวี่ยง" ส่วนผม เป็นพวก "เฉื่อย" เธอเข้ามาเติมจังหวะชีวิตของผม สอนให้ผมทำหลายสิ่งที่ไม่เคยทำ คิดในสิ่งที่ผมเองไม่เคยคิด เห็นในสิ่งที่ผมเองไม่เคยเห็น เราสองคนเริ่มต้นด้วยความต่าง แต่ลงท้ายด้วยความเหมือน นับวันๆ ผมกับเธอจะเหมือนกันมากขึ้นทุกวัน

จังหวะชีวิตที่เหวี่ยงน้อยลงของเธอ ทำให้เธอรู้จักตัวเธอเอง และสิ่งที่อยู่รอบตัวเธอมากขึ้น มากขึ้น รวมทั้งเรื่องระหว่างเธอกับผม นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สี่ปีแล้วที่เรารู้จักกัน สี่ปีที่ผ่านมาเราเรียนรู้กันมากมาย เรียกได้ว่า สำหรับเธอ นอกจากพ่อของเธอแล้ว ผมเป็นผู้ชายที่รู้จักเธอดีที่สุด สำหรับผม นอกจากแม่ของผม เธอก็เป็นผู้หญิงที่รู้จักผมดีที่สุดเช่นกัน

และแล้วความเหมือนที่มีมากขึ้น ทำให้ผมและเธอ ต้องถอยออกมาคนละก้าว (แม้ว่าจะเป็นเธอที่ถอยออกมาก่อน) ใจผมอยากจะขยับก้าวตามไป แต่ก็คิดได้ว่า การทำอย่างนั้นจะยิ่งทำให้เธอถอยห่างออกไปมากกว่า ที่จะหยุดหรือก้าวกลับมาหาผม แต่ผมก็ยังทำใจไม่ได้จริงๆที่จะถอยออกมาจากเธอ วันนี้ผมจึงเลือกที่จะยืนอยู่กับที่ รอสักวันเธอจะพร้อมก้าวกลับมายืนตรงหน้าผมที่จุดเดิม

เหมือนตอนจบของหนังเรื่องนี้

แรกๆก็รู้สึกอิจฉาพระเอกในเรื่อง เพราะได้เจอเพื่อนหญิงเก่าๆสมัยมัธยมน่ารักๆถึงสองคน อยากเจอเพื่อนหญิงเก่าๆงี้บ้าง

แต่นึกอีกที ไม่ดีกว่า ก็ตอนมัธยมผมเรียนโรงเรียนชายล้วนนี่หว่า ... หากเจอพวกมันสวยล่ะก็ ....อึ๋ย สยอง

คงไม่เป็นการตัดหน้าคุณปิ่นฯ ในการเขียน "จดหมายรักของนักเศรษฐศาสตร์" นะครับ

รออ่านเช่นกันครับ

Thursday, May 12, 2005

เรื่องยุ่งๆเกี่ยวกับความตาย

ผมขออนุญาตเอางานที่เคยโพสไว้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ มาปัดฝุ่น เอามาให้อ่านกันเล่นๆน่ะครับ

กรุณาอย่าเพิ่งคิดว่า เอ ไอ้นี่มันคิดสั้นแล้วเหรอ หลังจากวันหม่นๆของมัน

มิได้ครับ...ยังไม่มีเมีย ยังไม่ยอมตายหรอกครับ

ความตายแม้เป็นความจริงแห่งชีวิตที่ทุกคนหลีกหนีไม่ได้ แต่ตอนเรามีชีวิตอยู่ เรามักไม่เรียนรู้เกี่ยวกับความตายไว้บ้างเลย บางครั้ง จึงละเลย การเตรียมตัวที่จะตายไป ลืมไปว่า การมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ การเตรียมตัวที่จะตายนั่นเอง

เมื่อก่อนเราถือเอาการตาย แบบ ตายทั้งหมดเป็นเกณฑ์ แบบที่เรียกว่า somatic death คือ หยุดนิ่งทุกระบบ ไร้การเคลื่อนไหว ไม่มีการหายใจ และการเต้นของหัวใจ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดๆ และมีการเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพของร่างกาย เช่น อุณหภูมิลดต่ำ เนื้อตัวแข็ง สุดๆ ก็คือ เริ่มเน่าอืด นั่นตายแน่นอน

แต่ตอนหลังเราค้นพบระบบการทำงานที่ถือได้ว่าเป็นแกนหลักแห่งการ "มีชีวิต" นั่นคือ ระบบการหายใจ การทำงานของก้านสมอง และการเต้นของหัวใจ สามระบบที่ประสานกัน โดยย่อคือ สมองควบคุมการหายใจ แต่ไม่ได้คุมให้หัวใจเต้นหรือไม่เต้น แต่ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจเท่านั้น (หัวใจเป็นอวัยวะอัตโนมัติ เต้นเอง แต่อัตราเต้นขึ้นกับปริมาณ คาร์บอนได้ออกไซด์ในเลือด )

ระบบทั้งสามมีก้านสมองเท่านั้น ที่ถ้าหยุดทำงานแล้ว จะกระตุ้น หรือทำให้ฟื้นคืนได้ยาก แม้แต่ซ่อมแซมก็ยากยิ่งหรือไม่ได้เลย แต่สำหรับ ระบบการหายใจ เราทำให้หยุด ในขณะเดียวกัน เราทำให้ฟื้นคืนได้ ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ และยา มากมาย เช่นเดียวกับการเต้นของหัวใจ (มิฉะนั้นเราไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้ หากเราไม่ตัดหัวใจเดิมออก ซึ่งนั่นก็เท่ากับทำให้ร่างกายไม่มีหัวใจ แต่ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ใช้หัวใจและปอดเทียมไปพลางก่อน)

แสดงให้เห็นได้ว่า ตายถาวร ไม่สามารถฟื้นได้แน่ คือก้านสมอง หรือแกนสมองตาย ส่วนอีกสองระบบ แก้ไข และรักษาได้ครับ

หลังจากนั้นทั่วโลกจึงยึดแนวก้านสมองตาย

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยก้านสมองตาย ดูเหมือนจะผูกพันกับเรื่องปลูกถ่ายอวัยวะอย่างยิ่ง หากผู้ที่อยู่ในภาวะก้านสมองตาย ไม่สามารถเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้แล้ว เช่น ไม่ได้แสดงเจตนาไว้ หรือญาติไม่ยินยอม หรือเป็นโรคที่ไม่สามารถเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องวินิจฉัยแกนสมองตายก็ได้ครับ เพราะว่า ปล่อยไว้ในเครื่องช่วยหายใจ ไม่นานหัวใจ และระบบการหายใจจะหยุดทำงานเองครับ ไม่สามารถยื้อได้

อันนี้ต้องระมัดระวังอย่าเอาไปปะปน สับสนกับ ภาวะผักมนุษย์ หรือที่เราคุ้นชินในกรณี "เจ้าชายนิทรา" อันนั้น แค่เปลือกสมองตาย ก้านสมองไม่ได้ตาย ยังสามารถหายใจได้เอง เพราะก้านสมองที่ควบคุมการหายใจยังไม่ตาย เปลือกสมองเป็นเรื่องของความคิด ความทรงจำ สติปัญญา สัมปชัญญะ ฯลฯ คือ ความเฉลียวฉลาดนั่นเองครับ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม บิ๊กดีทูบี และอโณเชาวน์ ยังอยู่ได้หลายปี หรือเป็นสิบปี แต่ถ้าสมองตาย ไม่กี่ชั่วโมงครับ

พูดถึงเรื่องเจ้าชายนิทรา ทำเอาผมนึกถึงประโยคที่อาจารย์ผมท่านว่าไว้ในห้อง เมื่อประมาณ ห้าหกปีมาแล้ว ภาวะเช่นนี้ ท่านถือว่า "ฟื้นไม่ได้ ตายไม่ลง" ท่านพูดมาประโยค ทำเอาผมเข้าใจผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้จริงๆ ท่านบอกว่า "ลมหายใจแสดงถึงการมีชีวิต แต่ลมหายใจที่มีความคิด แสดงถึงชีวิตที่เป็นมนุษย์"

คนไข้ผักมนุษย์ ยังไม่ถือว่า ก้านสมองตาย ก็ยังไม่ถือว่าตายเมื่อไม่ตาย จะยุติภาวะการมีชีวิต ก็จะกลายเป็นประเด็นเรื่อง euthanasia ครับ ไม่เกี่ยวกับ ภาวะแกนสมองตาย ที่ถือว่าตายแล้ว ไม่จำเป็นต้อง euthanasia

แต่อย่างใดความตายเป็นความจริงแห่งชีวิตหลีกเลี่ยงไม่ได้ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะกำหนดว่า ใครเป็นหรือตายอันนี้ยากมาก ผมมองว่า ในภาวะปัจจุบัน สังคมอาจจะยังสับสน โดยเฉพาะญาติคนไข้ที่อยู่ในภาวะแกนสมองตาย เพราะเห็นได้ชัดว่าหัวใจลูกเขายังเต้นอยู่(แต่เต้น เพราะเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการที่สมองสั่งงาน)ทำใจไม่ได้ หากหมอจะบอกว่าลูกคุณตายแล้ว แล้วเอาอวัยวะออกจากร่างกายผู้ป่วยสมองตายนั้นไปปลูกถ่ายให้ผู้อื่น

ผมมองว่า ภาวะสมองตาย กับการปลูกถ่ายอวัยวะแยกจากกันไม่ออก ตราบใดที่การปลูกถ่ายอวัยวะในบ้านเรายังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการรักษาแบบสามัญ เหมือนการผ่าตัดทั่วไป การบริจาคก็จะยังคงกระปริบกระปรอย โดยเฉพาะแหล่งอวัยวะใหญ่ที่สุดคือ ผู้ป่วยสมองตายนี่แหล่ะครับ ซึ่งก็จะทำให้การยอมรับนิยามการตายแบบใหม่นี้ถูกกระทบไปด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากวิทยาการดังกล่าว เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ผมมองว่า การยอมรับเรื่องสมองตายก็จะมากขึ้นไปด้วยครับ

เหตุที่เราต้องนำอวัยวะออกจากผู้ป่วยสมองตาย ขณะที่หัวใจเค้ายังเต้นอยู่ เพราะเราต้องการรักษาสภาพอวัยวะ อวัยวะภายในแต่ละชนิดมีภาวะการทนทานต่อสภาพนอกร่างกายไม่นานครับ การนำออกมาอยู่ภายนอกร่างกายนานๆ ย่อมกระทบต่อคุณภาพในการปลูกถ่ายและผลสำเร็จด้วยน่ะครับผมว่าศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับรู้ข้อมูล และความก้าวหน้ารวมทั้งความสำเร็จในการผ่าตัด อันเป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ ฯลฯ ที่มักอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แต่หลังการผ่าตัด พวกเขาเหล่านั้น สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีก เป็นสิบๆปี คนไข้เปลี่ยนหัวใจคนแรก ยังมีชีวิตอยู่เลยครับเราตายหนึ่งคน สามารถช่วยชีวิตคนได้มากมาย ผมมองว่า เมื่อไรตาย คงไม่มีความสำคัญกว่า การตายของเราสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มากแค่ไหนความดีไม่สิ้นสุด คือ การบริจาคอวัยวะเมื่อยามสิ้นสูญครับ


ในการประชุมโต๊ะกลม แพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ ที่จุฬา เรื่อง การตายทางการแพทย์กับการตายทางกฎหมาย ครั้งนั้นได้ข้อสรุปข้อสำคัญข้อหนึ่งคือการตาย เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ศาลหรือองค์กรผู้ใช้กฎหมายจะตีความวินิจฉัยได้เมื่อเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ก็ย่อมต้องว่ากันตามพยานหลักฐาน ซึ่งที่สำคัญคือ ความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เพราะงานนี้เป็นความรู้ทางการแพทย์ ไม่ใช่ความรู้ทางนิติศาสตร์เมื่อไรตาย หรือการตาย กฎหมายไม่เคยมีนิยามไว้ในกฎหมายฉบับใดและคงจะไม่เหมาะหากกฎหมายจะนิยามมันไว้ เพราะความหมายแห่งการตาย สมควรจะได้รับการพัฒนาและศึกษาโดยพรมแดนแห่งวิทยาศาสตร์การแพทย์ คงไม่ใช่พรมแดนแห่งนิติศาสตร์น่ะครับ

ใครสนใจอ่านรายงานการประชุมโต๊ะกลมดังกล่าว หาอ่านได้ตามห้องสมุด น่าจะมีทั้งในคณะแพทย์ และคณะนิติศาสตร์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงมีแน่นอนครับ เค้าพิมพ์รวมเป็นเล่มไว้ ดีจังครับ ไม่หายไปตามกาลเวลา

Wednesday, May 11, 2005

วันหม่นๆ

จริงๆวันนี้ไร้อารมณ์อย่างสิ้นเชิงในการเขียนบล็อก (และกิจกรรมอื่นๆ) เนื่องจากเมื่อวาน (จริงๆจะโพสตั้งแต่เมื่อวาน แต่ปัญหาขัดข้องระหว่างผมกับผู้ให้บริการทางอินเตอร์เนต ทำให้ผมไม่สามารถสมาคมกับสังคมออนไลน์ได้หนึ่งวัน)เป็นวัน “ขึ้นเขียง” ผ่าตัดวิทยานิพนธ์ของผม ที่มาราธอนยาวนานมากว่า 2 ปี (เฉพาะการทำเล่มเต็มวิทยานิพนธ์เพื่อการชำแหล่ะวันนี้) ลางสังหรณ์มันบอกในใจอยู่แล้วว่า งวดนี้ต้องโดนมิใช่น้อย โทษใครไม่ได้ นอกจากตัวเองล่ะครับ ที่ปล่อยให้อะไรๆมันเยิ่นเย้อยืดยาดอืดอาด จนล่วงเวลาที่เหมาะสมมานานขนาดนี้

รู้อยู่ว่าเนื้อหามันค่อนข้างสับสนและวุ่นวาย แต่ก็ไม่เอะใจอะไร เพราะว่าอุตสาห์ผ่านการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์มาแล้วเรียบร้อย แม้จะดูมากมายก่ายกองเกินกว่าจะเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ที่ควรจะต้องมีปัญหาและสมมติฐานที่ชัดเจน แต่ทำไงได้ เค้าโครงมันผ่านมาแบบนี้นี่หว่า (จริงๆ ผมเรียนสาขาอาญา แต่มีงาน “ฝาก” จากอาจารย์บังเกิดเกล้ามาเพิ่มให้อีก “เรื่อยๆ” ก็ต้องเขียนล่ะครับ) เขียนไปเขียนมามันชักเยอะ และชักเลอะ

แต่ด้วยเวลาอันมีอยู่จำกัด (เป็นแค่ข้ออ้างน่ะครับ คนอื่นเค้าก็เรียนกันเท่านี้ ทำไมจบวะ) และภาระหน้าที่ที่ไหลบ่ามาเหมือนภาวะ “รูทวารกรรแสง” (ยืมมาจากคุณแทนน่ะครับ) โดยที่ไร้ทางต้านทาน และหมดซึ่งความสามารถในการปฏิเสธ ก็ต้องก้มหน้าก้มตารับชะตาไปน่ะครับ…ผมทำได้แค่นี้จริงๆ

วินาทีที่เดินแบกหน้าเข้าไปหาบรรดากรรมการทั้งห้า แรกๆก็หลอกให้เราตายใจล่ะครับ ชวนคุยเรื่องอื่น เช่น “เฮ้ย! คุณเปลี่ยนชื่อนี่หว่า เปลี่ยนนานรึยัง ชื่อเดิมว่าไงนะ แปลว่าไงเหรอ อืม ก็ดีนิ เปลี่ยนทำไม เหรอ แม่ให้เปลี่ยนเหรอ อืม ผมก็มีรุ่นน้องที่มันเปลี่ยนชื่อ สุดท้ายมันก็ต้องกลับมาใช้ชื่อเดิม ฮ่าๆๆๆ ผมล้อเล่นน่ะ” (อย่าคิดว่ามึงเปลี่ยนแล้วกูจะให้มึงผ่านง่ายๆนะ…แกคงคิดยังงั้น)

จากนั้นก็เข้าเรื่อง …. สับ….เละ ฉากนี้ต้องเซ็นเซอร์ (ด้วยความเคารพความเห็นของท่านอาจารย์คณะกรรมการทุกท่าน)

……

ครับ

ทีแรกว่าจะหาหนังดูก่อนเข้าบ้าน

ทำใจดูไม่ได้จริงๆครับ

หม่น…

อีกประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา ถึงบ้านแถวฝั่งธน

นั่งเซ็งได้สักพัก เออ เพื่อนไรท์แผ่นหนังเกาหลีมาให้เรื่องนึง (ไม่แปลกใจที่วิชากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากับผมจึงเป็นเส้นขนาน ตั้งแต่ปริญญาตรี จนจบเนติฯ)เห็นมันเขียนหน้าแผ่นว่า madeliene หลายเดือนแล้ว ไม่เคยแม้แต่จะหยิบออกมาดู เพราะรับมันมาด้วยความเกรงใจงั้นแหล่ะ วันนี้นึกครึ้มไงไม่รู้ ดูซะหน่อย ฉลองให้กับความหม่น…

สนุกดี สนุกว่ะ สนุกจัง สนุกชิบ สนุกโว๊ยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยย

เขา พระเอก เกาหลี้ เกาหลี สไตล์หนังวัยรุ่น พี่หลีจริงๆ ประเภท เฉิ่ม ทื่อ ทึ่ม ไม่ประสีประสาเรื่องความรัก ชีวิตมีโทนเดียว ขี่จักรยานส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้าน รักการอ่าน ชีวิตอยู่ในห้องสมุด และฝันอยากเป็นนักเขียน

เธอ นางเอก ก็เกาหลี้ เกาหลี ใส น่ารัก ขี้เล่น ช่างคิด จินตนาการ ทำร้านเสริมสวยตามที่ฝันไว้ตั้งแต่เด็ก แต่มีอดีตที่ติดกับความรัก ที่ไม่ค่อยสดใส (ขั้นเลวร้ายเลยนี่แหล่ะ)

สองคนเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยม พบกันอีกทีตอนโต ที่น่าแปลกใจคือ เจอกันปุ๊ป เธอก็จีบเขาปั๊ป (ครับ นางเอกจีบพระเอกนั่นแหล่ะครับ) ทึ่มๆงี้ก็งงดิครับ สัญญากันว่าจะเป็นแฟนกัน 1 เดือน ภายใน 1 เดือนนี้ เธอบอกว่า เขาต้องหลงรักเธออย่างแน่นอน แล้วเมื่อถึงวันนั้น ถ้าเขาบอกรัก เธอจะขอเวลาคิดดูก่อน (เล่นตัวว่างั้น)

จริงๆมันไม่ได้เกิดขึ้นจากความรัก มันเกิดจากความ “เคว้ง” ของเธอ การถูกคนที่ตัวเองรัก ทิ้งไปอย่างไม่ไยดี พร้อมกับทิ้งลูกในท้องให้อีกหนึ่งคน ใครก็ทำใจยาก (ถึงตรงนี้ผมไม่เข้าใจจริงๆทำไม ผู้ชายเลวๆถึงได้ผูกมัดใจหญิงได้ขนาดนั้น หรือจะเป็นอย่างที่เค้าบอก ผู้หญิงชอบคบคนดี … รักคนเลว …แต่สุดท้ายก็ไปกับคนรวย)

แล้วคำของเธอก็เป็นจริง…ระหว่าง 1 เดือน เขาก็หลงรักเธอ ตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร ทั้งๆที่ วิถีชีวิต วิธีคิดสองคน ต่างกันมาก หรืออาจจะเรียกได้ว่าเข้ากันไม่ได้ด้วยซ้ำ สำหรับเขา เธอเข้ามาเติมเต็มชีวิตที่มันไร้จังหวะ ไร้สีสัน และไร้รสชาติ รู้ว่าเธอมีอดีต ที่ไม่ค่อยจะสวยนัก มีวิถีอะไรหลายอย่างที่เขาเคยคิดว่ามันไร้สาระ

สำหรับเธอ เขาเข้ามารองรับเรื่องราวหนักๆ รับได้ทุกอย่าง เคียงข้างเสมอ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เธอรู้สึกดี แบบที่เธอเองก็ไม่เคยได้รับจากคนรักคนก่อนๆ แต่ แม้เขาจะดีเท่าไร มันก็ยังมีกำแพงที่มองไม่เห็น กั้นกลางใจ ของเธอไม่ให้เดินเข้าไปหาเขา

ใกล้กันมากขึ้น ยิ่งเขาทำดี ห่วงใย มากมายแค่ไหน…เธอยิ่งรู้สึกผิด เหมือนกำลังหลอกใช้ความดี ความหวังดี และความรักจากเขา..เธอกำลังสับสน จะรัก จะหลอก จะตัด จะเลิก จะเดินต่อ หรือ…???

ไคลแม๊กซ์ของเรื่องดำเนินมาถึง (ด้วยความขลุกขลัก แผ่นก๊อปน่ะครับ เครื่องผมมันไม่ใช่อะโคเนติก หัวดี อ่านได้ทุกแผ่น) เธอตกเลือด เขากำลังแบกเธอวิ่งฝ่าสายฝน เพื่อรักษาชีวิตสองแม่ลูก คู่นี้

……

แผ่นกระตุก

หยุดนิ่ง ชะงัก และเล่นต่อไม่ได้

ยวน

(ขออนุญาตยืมจากพี่บุญชิตฯ และคุณแทน ครับ ชั่วคราวครับ เดี๋ยวเอาไปคืน)

ยังไงล่ะทีนี้ … ค้างสิครับ ต้องโทรให้เพื่อนเอาแผ่นแท้ มายืมไรท์ต่อ (ไม่สำนึก)

ไว้ดูจบแล้วจะมาต่อนะครับ วันนี้ขอแขวนไว้ก่อน

ชอบประโยคของนางเอกประโยคหนึ่ง เธอว่า "ฉันชอบท้องฟ้านะ เพราะเวลาที่เราไม่อยากเห็นมัน เราก็ไม่ต้องมองมัน แต่เวลาที่อยากเห็นมัน อยู่ตรงไหนก็มองเห็นมันได้"

ขอบคุณแผ่นหนังกลิ่นกิมจิ ที่ทำให้วานนี้ของผม มันไม่หม่นไปกว่านี้มากนัก

Friday, May 06, 2005

ว่าด้วยเรื่องหญิงๆ

เมื่อวานผม กับเพื่อนตัวดีของผม และรุ่นน้องอีกคน (สามคนเดียวกับที่ไอ้เพื่อนผมมันอ้างถึงคราวมันเขียนบล็อกรับอรุณเช้าวันใหม่อะไรของมันนั่นแหล่ะครับ ผมอยากจะเปรียบเทียบให้เราสามคนเหมือนรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ผมยกให้มันเป็นสรยุทธ ประเภทวิพากษ์เจ็บแสบ ถามตรงจุด ขุดขึ้นมากระซวก รุ่นน้องคนนั้นคงต้องเป็นอรปรียา เพราะว่าโดนมันโขลกสับเหลือเกิน เหมือนสรยุทธบี้อรปรียาช่วงมาใหม่ๆ ส่วนผม…แหะๆๆ เอกราช เก่งบางอย่างครับ ไม่ดุเดือด นิ่มนวลชวนฝัน จะเหมือนอีกอย่างก็เรื่องสีผิวนี่แหล่ะครับ)

เราคุยกันไปสัพเพเหระ หาหัวข้อไม่ค่อยจะได้ จนกระทั่งไอ้เพื่อนตัวดีของผม ดันเกริ่นออกมาว่า เท่าที่มันสังเกตไม่ค่อยจะเห็นนักวิพากษ์สังคม เป็นผู้หญิงเท่าไร มันตั้งสมมติฐานว่า (ผิดถูกก็ไว้กับมันล่ะครับ เข้ามาแก้เองแล้วกันวะ) ผู้หญิงที่เรียนเก่งๆ มักจะอยู่ในสูตรสำเร็จเด็กเรียน คือ ไปไม่พ้นหนังสือและตำรา พอเจอะเรื่องนอกตำราแล้วไปไม่ค่อยจะเป็น อีกอย่าง ชีวิตหญิงมักจะสิ้นสุดหลังกำแพงแห่งการมีครอบครัว ทำนองนั้นนะครับ

คราวนี้อรปรียาก็ตะหงิดๆ ตามประสา หญิงเก่ง พยายามจะหาช่องเถียง แต่ก็ไม่ทันสรยุทธอยู่ดี (ตามฟอร์ม) ก็ได้แต่ปล่อยสรยุทธแสดงความเห็นต่อไป และแล้วก็เข้าสู่หัวเรื่อง สิทธิสตรีเข้าจนได้ มันทิ้งความเห็นไว้น่าฟังดีครับ ประมาณว่า “กูว่าการต่อสู้ของนักสิทธิสตรีแค่เริ่มก็ผิดแล้ว ทำไมต้องเรียกร้องสิทธิเท่าชาย ชายทำได้หญิงก็ต้องทำได้ นั่นก็เท่ากับยอมรับบรรทัดฐานของชาย เอาบรรทัดฐานของชายเป็นตัวตั้ง แล้วเรียกร้องให้หญิงไปสู่บรรทัดฐานเดียวกัน” เออ ผมว่ามันก็จริงของมัน ผมเองก็เมียงมองประเด็นสิทธิสตรีมาพอสมควร แต่ส่วนใหญ่มองในมุมแคบๆ ว่ากันเป็นเรื่องๆ ไอ้หมอนี่มันแหลมกว่าผมเยอะ ในทัศนะของผม ผมมองว่าสิทธิสตรีมันก็แตกลูกแตกหน่อมาจากสิทธิมนุษยชนนั่นแหล่ะ แล้วค่อยมาแบ่งลูกหลานออกมาเป็นสิทธิพลเมือง สิทธิสตรี สิทธิ…ไปจนถึง สิทธิสัตว์!

สิทธิสตรีที่แท้จริงก็คือการทำให้หญิงเป็นหญิงที่สมบูรณ์ หาได้เป็นการทำให้ชายเป็นหญิง หรือหญิงมาเป็นชายแต่ใดไม่

แล้วยังไงล่ะหญิงที่สมบูรณ์?

คำถามนี้อรปรียารุกไล่สรยุทธของผม

สรยุทธจีบปากจีบคอตอบว่า “ก็หน้าที่แม่ไง เป็นแม่ที่สมบูรณ์ให้ได้ดิ” อรปรียาวันนี้ท๊อปฟอร์มไม่ยอมเอาหลังพิงเชือกเหมือนทุกวันที่ผ่านมา สวนหมัดเด็ดกลับไปอีกว่า “แล้วถ้ามันโสดล่ะ จะเหลือหน้าที่อะไรของหญิงที่สมบูรณ์อีก”

หมัดนี้ทำสรยุทธซึมออกอาการไปนิด โปรโมเตอร์อย่างผม ได้แต่นั่งอมยิ้ม

เพื่อทลายบรรยากาศ ผมแหย่ขาไปกลางเวที พร้อมกับสะเออะ แสดงทัศนะว่า ผมเคยมองหลายมุม แต่ไม่ยักกะมองมุมของมัน ที่ว่า หญิงมักเรียกร้องให้ตัวเองยืนอยู่บนบรรทัดฐานของชาย ทำไมไม่ยืนอยู่บนฐานของตัวเอง แล้วสร้างบรรทัดฐานนี้ให้แกร่ง มันจะโตได้ ไม่งั้นสุดท้าย ก็ต้องผูกติดอยู่กับบรรทัดฐานของชายอยู่ดี แล้วอันตรายหากไม่เปิดตาดูว่า แท้จริงไอ้ที่ชายมันทำได้อยู่ของมัน เป็นเรื่องดีหรือชั่ว จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมอดขำไม่ได้ ขณะเดินทางไปทำธุระผมเปิดวิทยุฟัง ปกติจะฟังแต่รายการเพลง พอดีมีเบรคช่วงข่าว ไม่อยากเปลี่ยนคลื่นเลยปล่อยให้ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่ตัวเองไป วันนั้นมีอยู่ข่าวนึงครับ นักข่าวเล่าเสียงเจื้อยแจ้ว ความว่า ข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งของส่วนราชการหนึ่ง ออกมารณรงค์ เรียกร้องให้ข้าราชการและลูกจ้างส่วนราชการนั้น สามารถใส่กางเกงมาทำงานได้ โดยอ้างว่าเป็นสิทธิสตรี

ผมได้ยินแล้วน้ำตาเล็ด พลางไม่เข้าใจว่า การได้ใส่กางเกงมาทำงาน เกี่ยวกับสิทธิสตรีตรงไหน (ฟะ)

สำหรับประเด็นหน้าที่ของหญิงที่สมบูรณ์ พอมันพูดถึงหน้าที่ของความเป็นแม่ปุ๊ป ไอเดียผมก็บรรเจิด ผมเลยโพล่งออกไปว่า “เออใช่ ถ้าคิดจากฐานของความเป็นแม่ หรือหน้าที่แห่งความเป็นแม่แล้ว ปัญหาเรื่องทำแท้งก็น่าจะใช้ตรรกะนี้อธิบายได้” มันรีบออกตัวกลับมาเลยว่า “เฮ้ย ประเด็นนี้กูเห็นต่างจากมึง” มันว่าต่อว่า “เพราะตอนหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่ได้เป็นแม่” บ๊ะไอ้นี่ “ถ้าไม่พร้อมจริง คลอดออกมาแล้วเป็นปัญหาก็น่าจะให้เอาออกได้” มันว่าต่อ

แต่สำหรับผม ผมคิดคนละฐาน ผมคิดว่า ปัญหาเรื่องพร้อมไม่พร้อม ในการมีบุตร ไม่ใช่เหตุผลโดยตรงที่จะทำลายชีวิตในครรภ์มารดา พูดง่ายๆคือ มีตังค์ไม่มีตังค์เลี้ยงลูก ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการฆ่าเด็ก ไม่มีตังค์เลี้ยงลูก ทางแก้คือ ก็หาตังค์มาเลี้ยงลูก หาเองไม่ได้ รัฐก็ต้องรับไป อย่างน้อยในฐานะ ล้มเหลวในการรณรงค์ให้ความรู้ด้านการคุมกำเนิด และการวางแผนครอบครัว และแท้จริงปัญหามันพันกับเรื่องอื่นจนกลายเป็น “วงกลม” หมดแล้วน่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา การอ้างสิทธิในการทำแท้ง เท่ากับโยนบาปปัญหาเหล่านั้น ให้เด็กในครรภ์เป็นแพะ

ผมล่ะแปลกใจ กรณีการทำแท้ง และการค้าประเวณี นักสิทธิสตรีกลับเรียกร้องให้ ทำได้อย่างเสรี โดยอ้างสิทธิสตรี (จริงๆก็โยงไปถึงสิทธิในการจัดการตนเอง และสิทธิในชีวิตร่างกายด้วยน่ะครับ) แทนที่จะต่อต้านการทำแท้ง เพราะรู้สึกว่านี่คือการปฏิเสธหน้าที่อันสมบูรณ์ของหญิง และต่อต้านการค้าประเวณี เพราะรู้สึกว่านี่คือการทารุณกรรมทางเพศ และการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของหญิง ให้เป็นเพียง เครื่องจักรระบายความใคร่

แท้จริงแล้วมันเป็นสิทธิจริงๆหรือครับ

เรามีสิทธิในชีวิตร่างกาย ขนาดไหนกันเชียวครับ? ผมมองงี้ครับ สิทธิทั้งหลาย แม้ว่าจะดูเป็นสิทธิเด็ดขาดขนาดไหน (เช่น สิทธิในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ใครจะละเมิดไม่ได้) มันก็เป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น ท่านปยุตฺโต ให้ความหมายว่า สมมติ คือ ความจริงที่เห็นร่วมกัน มาจากคำว่า สะมะ ที่แปลว่า ร่วมกัน และ มติ ที่แปลว่า ความเห็น เพราะฉะนั้นมันจะจริงตราบที่ยังเห็นร่วมกัน เมื่อไม่เห็นร่วมกันแล้ว สมมตินั้นก็จะมิใช่ความจริงอีกต่อไป ชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง รวมทั้งสิทธิทั้งหลายที่เราอ้างกัน ก็อยู่ในความหมายของสมมติทั้งสิ้น ไม่งั้นหากเดินเข้าป่าเจอเสือจะหม่ำเรา เราก็ต้องอ้างสิทธิในชีวิตที่ห้ามละเมิดกับมันได้ดิครับ แล้วมันฟังไหมครับ

ต่างจากสัจจะ ซึ่งเป็นความจริงแท้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของใครที่จะเห็นร่วมกัน หรือตกลงร่วมกันหรือไม่

ปัญหาของมนุษย์คือ จะสมมติยังไงให้มันสอดคล้องกับสัจจะ เพราะสมมติอะไรที่มันไม่เป็นไปตามสัจจะสักวันมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

สิทธิของมนุษย์น่ะมีครับ แต่ใช่ว่าเราจะใช้สมมติยังไงก็ได้โดยไร้ขอบเขต เมื่ออาวุธวิเศษของมนุษย์คือสมมติ การจัดการเรียนรู้ และใช้สมมติให้เท่าทันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่มัวแต่ “หลง” สมมติ

ผมมองว่า การที่นักต่อสู้บางคนอ้างว่า นี่คือสิทธิในร่างกายของหญิง ที่หญิงจะสามารถอนุญาตให้ทารกนั้นใช้ร่างกาย หรืออาศัยร่างกายตน ได้หรือไม่ แค่ไหนอย่างไรก็ได้ มองเพียงว่า มันเป็นก้อนเนื้อที่อาศัยอยู่ในตัวหญิงไม่ต่างจากไส้ติ่ง ที่หญิงจะยินยอมให้หมอผ่าทิ้งเสียเมื่อไรก็ได้ เป็นการสร้าง “วาทกรรม” เพียงด้านเดียว มองแต่ความต้องการของหญิง ในการจัดการตนเอง

ผมมีให้มองอีกหลายด้าน

1. หลายกรณีหญิงไม่ได้ทำแท้งด้วยตนเอง แต่กลับใช้ผู้ประกอบวิชาชีพ คือ แพทย์เป็นผู้ทำให้ คราวนี้ มองในมุมของแพทย์ เค้าต้องยอมกระทำตามที่หญิงท้องร้องขอ โดยดุษณีหรือไม่ ถ้าใช่ แล้วหน้าที่แห่งความเป็นผู้ประกอบวิชาชีพล่ะ อยู่ตรงไหน หน้าที่ของแพทย์ คือรักษา ไม่ใช่ทำลาย คือการกอบกู้ ไม่ใช่การฆ่า (ทำนองเดียวกับ การกระทำการุณยฆาต หรือ euthanasia ที่ไว้วันหลังคงจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอีก)

2. มองในด้านกลับของหญิงเอง นั่นคือ ฐานของหน้าที่ เราคุ้นชินกับการมองอะไรในแง่ของสิทธิ ตามอย่างตะวันตก ที่รักษาสมดุลของสังคม ด้วยการให้สิทธิ แต่ในโลกตะวันออกอย่างเรา ผมเข้าใจว่า เรารักษาสมดุลของสังคมด้วย การปฏิบัติตามหน้าที่ หน้าที่ของความเป็นแม่น่ะครับ บางคนเถียงผมโดยบอกว่า หน้าที่ของความเป็นแม่ มันขึ้นอยู่กับหญิงนั้นเค้าจะรับหรือไม่รับโว๊ย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ถ้าหญิงนั้นรับ หน้าที่ของความเป็นแม่จึงเกิด ผมล่ะก็งง ถ้าไม่รับแล้วมันจะป่องได้ไง (ฟะ) แล้วทำไมไม่ปฏิเสธตั้งแต่มันยังไม่จิ้มเข้าไปในไข่ล่ะ

ผมว่าหน้าที่ของความเป็นแม่มันเกิดขึ้น ตั้งแต่ชีวิตในครรภ์มารดาถือกำเนิดแล้วล่ะครับ

กฎหมายในปัจจุบันของไทย ก็เดินตามแนวคิดนี้

หลักกฎหมายคือ ห้ามทำแท้งทุกกรณี นั่นหมายความว่า ไม่ว่าหญิงจะทำแท้งด้วยตัวเอง หรือ ให้ผู้อื่นทำแท้งให้ หรือแม้แต่การที่หญิงถูกทำแท้งโดยไม่ยินยอม ทุกกรณีผิดหมด แต่กฎหมายเปิดช่องให้มีการทำแท้งได้ โดยไม่ผิดกฎหมายใน 2 กรณี

1. การตั้งครรภ์ต่อไปจะส่งผลร้ายต่อชีวิตของหญิงนั้นเอง เช่น ครรภ์เป็นพิษ ทางเดียวที่จะรักษาชีวิตมารดาได้ คือ ต้องสละชีวิตเด็กนั้นซะ จะเห็นได้ว่า เรื่องนี้มันมีชีวิตสองชีวิตที่ขัดกัน หากจะรักษาชีวิตหนึ่ง ทางเดียวคือ ต้องทำลายอีกชีวิตหนึ่ง กฎหมายเห็นว่า ผู้กระทำ ไม่สมควรมีความผิด การทำแท้งครานั้นก็เพื่อช่วยชีวิตหญิง ซึ่ง เป็นมารดา โดยมองว่า หากเลือกที่จะชั่งน้ำหนักประโยชน์แล้ว ชีวิตของมารดา มีค่ามากกว่าชีวิตของทารกในครรภ์มารดา การทำแท้งหญิงนั้น ก็เพื่อช่วยชีวิตหญิงนั้นเอง โดยกฎหมายมีหลักประกันความปลอดภัยให้หญิงด้วยว่า ผู้ทำแท้งให้หญิง ต้องเป็นแพทย์ด้วย และหญิงนั้นต้องยอม (แต่ผมมองว่า การยอมไม่ยอมนี่ยังเป็นประเด็นรอง หากจะมองการช่วยชีวิตหญิงนั้นเป็นหลักครับ ไว้มาว่าต่อ เรื่องความยินยอมนี้โดยเฉพาะ)

2. กรณีทำแท้ง ด้วยเหตุที่ การตั้งครรภ์นั้น เกิดจากการละเมิดกฎหมายอาญา เช่น การพรากผู้เยาว์ การข่มขืนกระทำชำเรา คนกระทำต้องเป็นแพทย์ และหญิงก็ต้องยอมตามสูตรข้างบนด้วยครับ อันนี้ผมมองว่า น่าจะเป็นเส้นแบ่งที่ใกล้ที่สุดที่กฎหมายจะยอม ให้ ความต้องการ หรือไม่ต้องการทารกในครรภ์ของหญิง อย่างน้อยชัดเจนว่า กระบวนการก่อให้เกิดเด็ก หญิงหาได้ยินยอมแต่อย่างใด และผมมองว่าการข่มขืน เป็นอะไรที่หนักหนาสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งมาก ซึ่งต่างจาก กระบวนการกำเนิดเด็ก ที่ยินยอมพร้อมใจกันทั้งคู่

จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ความจำเป็น ที่แวดล้อมการทำแท้ง ได้ตามกฎหมายนั้น เป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากไปกว่า การพิจารณาว่าหญิงนั้น จะอ้างสิทธิในร่างกายตน เนรเทศลูกออกไปอยู่นอกไส้ และผมก็ไม่คิดว่า จะมีหญิงคนใด ตั้งท้องเพื่อจะทำแท้ง โดยอ้างเหตุเพียงเพราะความเป็นเจ้าของร่างกาย เช่นเจ้าของบ้านไม่ต้องการให้ใครอาศัยแล้วก็ไล่ออกไปเท่านั้น

ผมกลับมองว่าสถานการณ์ที่บีบบังคับ ให้ต้องมีการทำแท้งนั้นต่างหากที่มีน้ำหนักมากกว่า เมื่อเราเน้นน้ำหนักที่ตรงจุดนี้แล้ว มันจะทำให้เราไปต่อได้โดยตรรกะ คือ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดๆ ที่เราควรจะให้เกิดการทำแท้งขึ้นได้ มันเป็นภาวะวิสัย แล้วออกแบบได้ง่ายกว่าผมว่า นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้เอาองค์ความรู้ต่างๆในสังคม เช่น ศาสนา วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา มาช่วยกันวิเคราะห์และหาทางออกที่เหมาะสม และยอมรับได้

ตัวอย่างเช่น หากจะมีกรณีที่หญิงสามารถทำแท้งได้ต่อไป ก็น่าจะคิดจากตรรกะดังกล่าว เช่น ความรู้ทางการแพทย์สามารถวิเคราะห์และทำนายได้ว่า เด็กที่อยู่ในครรภ์หญิงนั้น จะต้องมีกายพิการแน่นอน (แน่นอน นี่คือ ต้อง 100 เปอร์เซนต์นะครับ ความกังวลและความทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่จำนวนมากน้อยของโอกาสที่จะเกิด จำนวนโอกาสน้อยเท่าไร ก็ยังทุกข์ครับ หากเอาออกแล้วปรากฏว่าไม่เป็น แม้เปอร์เซนต์จะน้อยแค่ไหน หมอรับผิดชอบไม่ไหวหรอกครับ) อย่างนี้ก็มีน้ำหนักพอจะยอมรับให้เกิดการทำแท้งต่อไปได้

อาจาารย์ปยุตฺโตท่านกล่าวไว้ว่า บนเส้นทางแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ล้วนต้องอยู่กับสิ่งที่ต้องเลือกทั้งสิ้น ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่า เราเลือกอะไร แค่นั้น มันอยู่ที่ว่า เราเลือกเพราะอะไร และเราคิดดีแล้วหรือยัง เรารับผิดชอบสิ่งที่เราเลือก ตอบคำถามให้ตัวเองและผู้อื่นได้หรือไม่ ว่าเราเลือกเพราะอะไร หากเราคิดดีแล้ว รอบคอบที่สุดแล้ว ในปัญญาที่เรามีอยู่ขณะนั้น แล้วลงมือกระทำไป แม้สิ่งนั้นจะเป็นบาป ก็เป็นบาปที่ยอมรับได้ หรือที่ท่านบอกว่า เป็นบาปที่จำเป็น นั่นเอง แต่เรายังต้องระลึกไว้เสมอว่า ที่ทำน่ะยังบาป เพราะเหตุใด ตราบใดที่เรายังคิดว่ามันเป็นบาป เราจะกระทำด้วยความระวัง และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ และพยายามหาทางออกที่ไม่ต้องทำบาปอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาก็เกิด จนกระทั่ง การหาทางออกได้โดยไม่ต้องทำลายชีวิต นั่นย่อมเป็นการพัฒนาอย่างแท้จริง

เพื่อนผมมันยังยกประเด็นต่อไปว่า แล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อ แม้กฎหมายจะเอาผิดกับการทำแท้ง แต่สถิติการทำแท้งเถื่อนในประเทศไทยกลับพุ่งสูงปรี๊ด ปีละ 300000 ราย ในขณะที่ฮอลแลนด์ เปิดให้ทำแท้งได้เสรี กลับมีสถิติการทำแท้งถื่อนน้อยที่สุดในโลก

เอ้า ก็แน่ดิวะ ถ้ามันทำได้โดยไม่ผิด สถิติการทำแท้งที่ผิดมันก็ต้องน้อยลงอยู่แล้ว (อันนี้ผมคิดในใจ) มันยกตัวอย่างว่า เหมือนกับ เรื่องโสเภณี บ่อน ยา
มันชั่วอยู่ในตัว แต่ที่ต้องทำให้ถูกเพราะนิตินโยบาย (นี่แหล่ะรัฐศาสตร์ในนิติศาสตร์ล่ะครับ…ฮา) ผมกลับมองว่า นี่มันตรรกะเดียวกับที่นายกเหลี่ยม ขุดเอาของใต้ดินมาหายใจบนดินนั่นแหล่ะ ชนะมันไม่ได้ ก็เป็นพวกกะมันซะเลย

ถ้าแก้ปัญหายาไม่ได้ ก็ทำยาขายเองเลย ให้องค์การเภสัชทำ รับรอง ความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดลดลงฮวบฮาบ เพราะรัฐขายถูกกว่า ใครๆก็จะกลายมาเป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ของรัฐ เหมือนกับขายหวยบนดิน

ผมมองว่า วิธีคิดอย่างนี้มันยังแปลกๆอยู่ การจับไม่ได้ ปราบปรามไม่ได้ มันเป็นปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด ชอบหรือไม่ ปัญหาเกิดตรงไหนคงต้องตามไปแก้ตรงนั้นน่ะครับ บังคับใช้กฎหมายยังไงดีล่ะ ตรงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคิด ต้องพิจารณา และต้องหาทางออก ไม่ใช่ เหนื่อยกับการบังคับกฎหมายที่ไม่ได้ผล แล้วพาลไปยกเลิกความผิดนั้นซะ นอกจากนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์ความรู้ด้านกฎหมายเท่านั้น ดังที่ผมว่าไว้แล้วว่าตอนนี้ปัญหามันบรรจบกันเป็นวงกลมเรียบร้อยแล้ว จะแก้มันต้องแก้ทุกภาคส่วน การแก้ไขปัญหาโดยการยกเลิกความผิดฐานทำแท้ง เป็นแค่เพียง การหารูระบายปัญหา จากภาคส่วนอื่นแค่นั้น

อันนี้ต่างจาก กรณีผัวขโมยเงินเมีย เมียขโมยเงินผัว นี่ก็นิตินโยบาย หรือรัฐศาสตร์ในนิติศาสตร์เหมือนกัน กฎหมายไม่เอาโทษ (แต่ยังผิดอยู่นะครับ) เพราะเป็นเรื่องในครอบครัว ขืนจับติดคุกล่ะแย่อีก ลูกไม่รู้จะอยู่กับใคร

ผมพามาไกลจากเรื่องที่เราคุยกันมามากมาย

สรุปได้ว่า ผมน่ะไม่คัดค้าน และไม่ได้เป็นปรปักษ์กับสิทธิสตรีแต่อย่างใด ผมกลับนิยมยกย่องและพร้อมจะร่วมด้วยช่วยกันเสมอ ผมเพียงแต่ต้องการให้การต่อสู้เรียกร้อง ในเรื่องต่างๆ มันเดินทางให้ถูก ยิงให้ตรงประเด็น ไม่ใช่ไปต่อสู้เรื่องโน่นเรื่องนี้ ที่มันไม่ใช่เรื่อง แทนที่จะสร้างน้ำหนัก กลับเป็นเป้าโจมตี ดูคล้ายเป็นตัวตลกเสียเอง (ดูเจ๊เบียบ)

ผมเกิดมาในครอบครัวที่แม่เป็นใหญ่ รักแม่ ย่า และยาย ทำนองครอบครัวขยายสมัยก่อน ผมเชื่อว่า เชื้อมันก็ไม่น่าจะทิ้งแถวไปไหน หากผมมีเมีย ก็ไม่แคล้ว เข้าสมาคมเดียวกับพ่อผมแน่ๆ สมาคมเกรงใจภรรเมีย

จ๊ะ แม่จ๋า ……………………………………………………….. แป๊ปเดียวจ๊ะ…………

ไปก่อนนะครับ แม่เรียกกินข้าวหลายรอบ ตะหลิวจะลอยแล้ว

Wednesday, May 04, 2005

วันนี้ผมยืนอยู่บนโลกของความเป็นจริง

จริงๆสองวันที่ผ่านมานี้ ผมไปงานที่ไม่มีใครอยากจะไปถ้าทำได้ งานที่เจ้าของงานจริงๆ ได้แต่นอนเฉยๆ ญาติๆทั้งนั้นแหล่ะที่กุลีกุจอด้วยความเศร้า

ครับ สองวันที่ผ่านมาผมไปงานศพมา

เป็นงานพี่สาวของเพื่อนสมัยมัธยมของผม เธอเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขณะเดินทางไปทำธุระที่ต่างจังหวัด

การจากไปอย่างปัจจุบันทันด่วนอย่างนี้ เกิดกับคนใกล้ตัวใครก็ทำใจยากครับ โดยเฉพาะแม่มัน ใจแทบขาด

ผมไปมาสองวันแล้ว คืนเมื่อวานเป็นคืนสุดท้ายของการสวด เผาห้าโมงเย็นวันนี้ แต่ผมไม่ได้ไป

ไม่นึกว่างานศพจะเป็นงานรวมเพื่อนเก่าที่แตกกระสานซ่านเซ็น ไปคนละทิศคนละทาง ของเพื่อนร่วมชั้นของผมเมื่อเกือบสิบปีก่อน แม้แต่เพื่อนที่บ้านมันอยู่ใกล้ผมแค่เดินถึงกันไม่ทันเหนื่อย แต่วงจรชีวิตมันกับผมทำให้เราไม่ค่อยได้เจอหน้ากันสักเท่าไร ผมรู้จักหมอนี่ตั้งแต่ประถมต้น เรียนโรงเรียนเดียวกันมาตลอด (จริงๆตั้งแต่อนุบาลนั่นแหล่ะ แต่มาคุ้นเคยกันก็ประถมแล้ว) จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย จากนั้นก็นานๆจะเจอกันสักที แต่แปลก ไม่เจอนานยังไง มันกับผมก็ไม่เคยเปลี่ยน (แม้รูปร่างอาจจะดูแปลกตาไปจากเมื่อก่อน โดยเฉพาะผมที่ส่วนเว้าในร่างกายหายไปหมดแล้ว ยกเว้นบริเวณคอแค่นั้น)

คืนวานผมไม่มีสมาธิฟังพระท่านสวดเลย เพราะนั่งคุยกับมันตั้งแต่ในรถขณะเดินทาง ยันพระสวดเสร็จ เราพูดคุยกันหลายเรื่อง หลากหัวข้อ การงาน การใช้ชีวิต แม้แต่ความรัก ต่างหัวข้อ แต่เหมือนกันอยู่อย่าง คือเรารู้สึกว่าตอนนี้เรากำลังก้าวออกจากโลกแห่งความฝันแห่งวัยเด็กและวัยรุ่น เข้ามาสู่โลกแห่งความจริง

โลกแห่งความฝันของหลายๆคน ผมว่ามันก็คงคล้ายๆกัน เพราะเราคงเลือกจดจำ ประทับ หรือนึกถึงแต่ในสิ่งที่สวยงาม ในสิ่งที่เราต้องการ และสิ่งที่เรายังขาดอยู่ จะว่าไป โลกแห่งความฝันก็อาจเป็นเป้าหมายชีวิตของเรานั่นแหล่ะครับ

พอถึงวันที่ต้องเดินทางไกลตามฝันเข้าจริงๆ กลับฉุกละหุก เหมือนกำลังจะก้าวขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนในวันแรก สถานที่ใหม่ ถนนสายใหม่ ผู้คนหน้าใหม่ๆ แบบที่ไม่เคยได้เจอในโลกความฝัน แล้วจะเดินทางไปไงเนี่ย บางคนไม่ทันได้คิดหรอกครับ รู้ตัวอีกที ก็อยู่บนรถคันหนึ่งเสียแล้ว ครั้นจะรีบกระโดดลงจากรถไปก็ใช่ที่ เพราะไม่รู้ว่า หากลงไปแล้วจะไปต่อสายอะไร สู้นั่งๆมันไป สุดสายเมื่อไรก็เมื่อนั้น

บางคนก็นั่งมองข้างทาง ใบไม้ใบหญ้า บางคนนั่งก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือ บางคนชะเง้อคอคอย ว่าเมื่อไรรถจะผ่านหน้าสถานที่ที่อยู่ในใจ อยู่ในฝันเสียที บางคนก็นั่งหลับ

บางคนลงก่อน เพื่อไปต่อรถสายใหม่ หรือเลือกทางเดินเส้นใหม่ที่คิดว่าจะพาตัวเองไป ณ ที่นั้น ได้ดีกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า บางคนเลือกที่จะนั่งคันเดิมต่อไปไม่เปลี่ยนสาย แม้จะรู้สึกว่า ยิ่งนั่งก็ยิ่งหลง คิดแต่ว่า ไม่เป็นไร ไว้รอสุดสายหาก ไม่ใช่ ก็นั่งคันเดิมเนี่ยแหล่ะกลับมาได้ (โดยไม่รู้ว่าบางเส้นทางไม่วิ่งย้อนกลับ เพราะพวกเล่นวิ่งวันเวย์) บางคนตกรถตาย เพราะชอบเสี่ยง ยืนขอบบันไดเล่นกายกรรม บางคนโดนมิจฉาชีพบนรถสายนั้นแหล่ะ กระซวกไส้แตก ไม่ทันได้ถึงฝัน

นั่งรถให้ถูกสายและไปให้ถึงว่ายากแล้ว

ลงจากรถ บางคนอาจจะต้องเดินเท้าไปอีกหลายกิโล รู้ซึ้งซะทีว่า มันยากกว่าที่ฝันเยอะ ตอนนอนอยู่ เห็นแต่จุดหมายปลายทาง ไม่เคยคิดถึงวิธีการเดินทางไปหามันซะกะที พอต้องเดินทางเองแบบนี้ ถึงกับจุก พาลจะเลิกซะงั้น หันหลังกลับบ้าน ขึ้นไปนอนบนเตียง แล้วฝันต่อดีกว่า

อีกอย่าง เดินทางตอนฝันมันไม่เสียสตางค์ แต่เอาเข้าจริง จะไปถึงฝันได้ต้องแทบหมดตูด ใครมีต้นทุนเยอะกว่าก็แล้วไป ใครไม่มีอาจจะต้องหาเอาระหว่างทาง หากหาได้มาก จะพาลไม่ไปต่อแล้ว สู้อยู่โกยตังค์แถวนั้นดีกว่า

ร้ายกว่านั้น แม้จะถึงเสียทีความฝัน แต่ เอ… มันไม่ยักกะเหมือนที่ฝันไว้ เดินทางมาค่อนครึ่งชีวิต ลองผิดลองถูก ฝ่าคมหอกคมหนามมากมาย ถึงเสียทีแต่ไม่เห็นจะเหมือนกับที่มันอยู่ในฝัน

แล้วจะเสียแรงเดินทางมาทำไม

ไม่รู้ว่าไอ้ที่ไม่เหมือนในฝัน เพราะในความฝันของเรากับโลกความจริงมันต่างกัน หรือ เพราะประสบการณ์จากการเดินทางของเราทำให้เรามองมันเปลี่ยนไป ไม่เหมือนอย่างในฝันกันแน่

ถึงตรงนี้จะเหลือสักกี่คนครับ ที่มีชีวิตการเดินทาง และถึงเป้าหมาย “เหมือนฝัน”

เขียนถึงบรรทัดนี้ พาลให้นึกถึงสมัยผมเรียนปริญญาตรี ตอนภาคฤดูร้อน นานมาแล้ว อาจารย์ท่านหนึ่งสอนวิชากอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา วิชาว่าด้วยอาชญากรรม และการจัดการผู้กระทำผิดน่ะครับ ท่านเคยว่าไว้งี้ครับ

ในพฤติกรรมแห่งอาชญากรรม คนในสังคม มีอยู่ 5 จำพวก

1.พวกที่ยอมรับเป้าหมายของสังคม หรือเป็นพวกที่มีความฝัน เหมือนๆกับคนส่วนใหญ่ และยอมรับวิธีที่จะไปสู่เป้าหมาย หรือฝั่งฝันนั้น เหมือนๆกับคนส่วนใหญ่ เช่นกัน เช่น เป้าหมาย หรือความฝัน เหมือนกับชาวบ้าน คือ ต้องการมีฐานะ หน้าที่การงานที่มั่นคง วิธีทางไปสู่ฝันเช่นนั้น คือ การขยัน อดออม มัธยัสถ์

2. พวกที่ยอมรับเป้าหมายของสังคม หรือเป็นพวกที่มีความฝัน เหมือนๆกับคนส่วนใหญ่ เช่นกัน แต่ไม่ยักกะยอมรับวิธีทาง หรือ หนทางสู่เป้าหมาย หรือความฝันนั้น เหมือนพวกแรก แต่มักจะสร้างหนทางไปสู่ฝันด้วยตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นพวกชอบทางลัด เช่น พวกต้องการมีฐานะ หน้าที่การงานที่มั่นคง แทนที่จะขยัน อดออม เหมือนพวกแรก ก็หาทางลัด สูตรสำเร็จซะ เช่น ก่ออาชญากรรม ประเภทฉ้อโกง ลักทรัพย์ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป พวกหัวการค้า คิดวิธีการหารายได้ ใหม่ๆ บุกเบิกอะไรใหม่ๆ ก็อาจจะอยู่ในพวกนี้ได้เช่นกัน

3. พวกที่ไม่ยอมรับเป้าหมายของสังคม หรือเป็นพวกฝันไม่ตรงกับชาวบ้านชาวช่อง แต่แม้จะอย่างนั้น ก็ยังทนใช้ชีวิต หรือเลือกที่จะเดินบนเส้นทางเดียวกันกับคนอื่นที่ฝันต่างกัน พวกนี้ส่วนใหญ่ เป็นพวกเช้าชามเย็นชาม อาจไม่คิดที่จะรวย แต่ก็ยอมรับที่จะเดินเส้นทางเดียวกันกับพวกฝันเป็นเศรษฐีได้

4. พวกที่ไม่ยอมรับเป้าหมายของสังคม หรือฝันไม่ตรงกับชาวบ้าน ไม่พอ กลับปฏิเสธ ที่จะเดินบนเส้นทางเดียวกับคนส่วนใหญ่ด้วย พวกนี้อาจมองว่าฝันของคนส่วนใหญ่เพ้อเจ้อ และไม่ใช่สิ่งที่จีรัง ฝันของเค้าต่างหากที่นำไปสู่แสงสว่างอย่างแท้จริง คนส่วนใหญ่มันหลงจมอยู่ในห้วงอวิชชา แต่เค้าก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไร กับการที่คนส่วนใหญ่จะเดินทางสวนกับเค้า ไม่ทุกข์ร้อน เค้าก็เดินสวนทางไปอย่างสงบ หลายคนมองว่า พวกนี้ เป็นพวกล้าทางวัฒนธรรม ปรับตัวกับความฝัน และเส้นทางแห่งฝันของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ เลยปลีกตัว แปลกแยกจากสังคม คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าเค้าแปลก แม้กระทั่งมองว่าเพี้ยนว่าบ้าได้ แต่ในโลกแห่งฝันของเค้า เค้าอาจะมีความสุขก็ได้นะครับ เส้นทางเดินก็ไม่เบียดเสียดแออัด ไม่ต้องแก่งแย่ง ไปสู่ฝันสำเร็จรูปเหมือนคนอื่น

5. พวกสุดท้ายนี่ เหมือนพวกที่ 4 คือ ไม่ยอมรับฝัน และเส้นทางแห่งฝันของชาวบ้านเค้าไม่พอ แทนที่จะเดินสวนทางไปอย่างสงบ แต่กลับพยายามชักจูง โน้มน้าว แม้กระทั่งข่มขู่ ให้คนส่วนใหญ่ หันมาฝันเหมือนกัน และเดินไปในเส้นทางแห่งฝัน เส้นเดียวกัน พวกนี้เค้ามองว่า เป็นพวกนักปฏิวัติ เส้นแบ่งบางๆระหว่างฮีโร่ กับ คนบ้า น่ะครับ

เค้าบอกไว้ว่า พวกที่ 2 กับ 5 มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมได้มากที่สุด

ผมยังมองตัวเองไม่ออกเหมือนกันว่าเป็นจำพวกไหน รู้แต่ว่า ตอนนี้บางทีก็ฝันเหมือนๆกับชาวบ้านเค้านั่นแหล่ะ เดินก็อาจจะเดินบนเส้นทางเดียวกับหลายๆคน แต่อนาคตไม่รู้สิครับ อาจจะต้องยอมแพ้แล้วออกมายืนนอกเส้นทาง เพื่อหาอากาศหายใจ มีเวลาเดินเหยาะๆ แทนที่จะวิ่งสปีด ชมนกชมไม้ข้างทาง พักเหนื่อยเอาแรง แล้วอาจจะกลับไปวิ่งแข่งกับเค้าต่อก็ได้ หรือ…

อาจจะเจอเส้นทางใหม่ เมื่อได้ออกมาเดินทอดน่อง นอกเส้นทางแห่งฝัน ก็ได้ครับ

คุณล่ะครับ จำพวกไหน

Monday, May 02, 2005

นิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ (อีกแล้ว)

ผมหวังจะเริ่มเว็บบล็อกของผมด้วยบรรยากาศ สบายๆ ไปให้พ้นพรมแดนแห่งกฎหมายเสียก่อน จวบจนเริ่มจวนตัวแล้ว คิดมุขใหม่ๆไม่ออก จึงจะวนกลับเข้ามาหาของรักของหวง และของตาย ในการเขียนเรื่องลงบล็อก นั่นคือ เรื่องในวงการกฎหมาย แต่เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง ไอ้เพื่อนตัวดีคนเดิม แนะนำแกมบังคับ และมัดมือชกผมให้เขียนประเด็นปัญหาประเด็นหนึ่ง

มันไม่ใช่แค่เรื่องของพรมแดนนิติศาสตร์ หรือในวงการกฎหมายเพียงเท่านั้นน่ะสิครับ ที่มันบังคับให้ผมเขียนถึง แต่เรื่องของเรื่องมันไปปฏิสัมพันธ์ กับศาสตร์คู่เคียงอีกศาสตร์หนึ่ง นั่นคือ รัฐศาสตร์

ประโยคแสลงหูที่ผมได้ยินมานานแสนนาน และไม่ทราบว่าจะได้ยินอีกนานแค่ไหนคือ “ในบางกรณี เราต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ นำหลักนิติศาสตร์” ผมแค่รู้สึกตะหงิดๆ และอยากถามคนที่ชอบพูด ว่าคุณเข้าใจแล้วเหรอครับว่าอะไรคือ หลัก "รัฐศาสตร์" และอะไรคือ หลัก "นิติศาสตร์" อย่ามาถามผมกลับเลยครับว่าผมรู้หรือเปล่า แน่นอนครับ ... ผมก็ไม่รู้ ผมแค่รู้สึกว่าเวลาคนพูดประโยคนี้มักจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก สถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับกระแส ทำให้การใช้กฎหมายดูเหมือนจะสวนกระแส ดังนั้นบรรดาปราชญ์หลายคนถึงหล่นประโยคทองประโยคนี้ออกมา นั่นหมายถึงต้องการยกเว้นหลักกฎหมายเพราะไม่อยากสวนกระแส

บางท่านเข้าใจไปว่า หลักนิติศาสตร์ เป็นหลักที่เคร่งครัดตายตัว ว่ากันไปตามตัวบทกฎหมาย ลายลักษณ์อักษร แปลความกันตรงๆ โต้งๆ อย่างนั้น และถ้าเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว ย่อมหมดทางเยียวยา แม้ผู้กระทำผิดกฎหมายจะมีเหตุผล แห่งความจำเป็นในการฝ่าฝืนกฎหมายนั้นก็ตาม อันจะทำให้สังคม และสาธารณชน รู้สึกเคลือบแคลงระแวงสงสัยว่า เอ กฎหมายนี่ยุติธรรมจริงไหมหนอ จริงๆหลักนิติศาสตร์หรือหลักกฎหมายมันมีความยืดหยุ่นในการปรับใช้การตีความอยู่แล้วครับ มีบทหลักมีบทยกเว้น มีหลักการใช้การตีความกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม หากไม่รู้ไม่ถึงหลักนิติศาสตร์จริงๆ ไม่สามารถปรับใช้ได้ แล้วเอาหลักรัฐศาสตร์มาอ้างนั่นเท่ากับเป็นการทำลายทั้ง หลัก"รัฐศาสตร์" และ หลัก "นิติศาสตร์" ครับ

ตัวอย่างที่ผมอยากจะยกเพื่อประกอบการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ก็เช่น กรณีที่เด็กขโมยซาลาเปาไปให้แม่ที่ป่วยนอนอยู่บ้านกิน ถามว่าครบองค์ประกอบฐานลักทรัพย์ไหม ตรงเป๊ะครับ แต่ก็ยังไม่จบแค่นั้น เพราะถ้าเด็กอายุ ไม่เกิน 7 ขวบกฎหมายไม่เอาโทษ (แม้จะยังเป็นความผิดอยู่ เพราะเด็กอายุเท่านั้นยังไม่รู้ผิดชอบ หรือพูดง่ายๆ มันยังไม่"ชั่ว" น่ะครับ) แล้วถ้าเกิน 7 ปีล่ะ แม้จะเกิน 7 ปี แต่ถ้าไม่เกิน 14 ก็ยังไม่ต้องรับโทษอยู่ดีครับ แต่ศาลท่านอาจจะใช้วิธีการสำหรับเด็กได้แล้ว เช่น การว่ากล่าวตักเตือน หรืออาจใช้วิธีการคุมประพฤติเด็กได้ กว่ากฎหมายจะให้ใช้โทษอาญาสำหรับเด็กที่กระทำผิดจริงๆ ก็นั่นแหล่ะครับ 17 ปี โน่น โดยศาลก็ยังสามารถลดส่วนลงโทษที่จะลงได้ เห็นได้ว่า ประสบการณ์ชีวิต ความรู้ผิดชอบชั่วดี ของผู้กระทำผิด เป็นสิ่งที่กฎหมายให้ความสำคัญในการกำหนด โทษ หรือวิธีการอันจะส่งผลร้ายต่อเค้า แม้ผู้นั้นจะกระทำการอันเป็นความผิดก็ตาม

คนเมาและคนวิกลจริตก็เช่นกัน แม้จะทำผิด แต่ถ้าได้ความแก่ศาลท่านว่า ผู้กระทำนั้น อยู่ในภาวะมึนเมาครองสติไม่ได้ โดยการเมาไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ เช่น ไม่รู้ว่าไอ้ที่กินน่ะเหล้า กินแล้วเมาก็ต้องเดินโซเซ หรือ ถูกเค้ามอมบังคับขืนใจ (ซึ่งกรณีนี้ใช้กับไอ้เพื่อนตัวดีของผมไม่ได้ ถ้ามันอ้างข้อนี้ ก็จับมันยัดซังเตได้เลย แน่นอน ว่ามันตอแหล) ตามสุภาษิตโบราณเลยครับ "อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา"

ถ้าการกระทำผิดของผู้ใดเกิดจากความไม่สมัครใจของเค้า ที่ทำไปเพราะความจำเป็น อยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย ไม่ว่าจะต่อตัวเอง หรือคนอื่น การที่เค้าตัดสินใจกระทำความผิดเพราะเกิดจากความกดดันนั้นๆ กฎหมายก็เห็นใจ และไม่เอาโทษครับ รวมไปถึงการป้องกันตัว และป้องกันคนอื่นด้วย

เห็นได้ชัดครับว่า แม้การกระทำของผู้ใดจะถือว่าเป็นความผิดและก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายขึ้น แต่หากการกระทำนั้นมีเหตุอันควรเห็นใจ หรือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยเหตุและผลแล้ว กฎหมายก็ย่อมไม่ปล่อยให้ผู้กระทำต้องได้รับผลร้าย จากการกระทำเหล่านั้นหรอกครับ การลงโทษผู้กระทำต่อการกระทำดังกล่าวรังแต่จะก่อให้เกิดผลร้าย ทั้งต่อตัวผู้กระทำเอง ต่อสังคม และที่สำคัญต่อระบบกฎหมาย และความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อกฎหมายและองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยครับ

นอกจากนั้น แม้การกระทำของเค้าจะเป็นความผิดซึ่งต้องถูกลงโทษอย่างแน่แท้ แต่หากผู้กระทำทำไปเพราะความกดดันในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้วยความจน เขลา หรือแม้แต่เป็นผู้มีคุณความดีมาก่อน ก็เป็นเหตุบรรเทาโทษได้ตามมาตรา 78 (ถ้าจำไม่ผิด) กฎหมายเปิดช่องให้นำเอาพฤติการณ์อันน่าเห็นใจ ทำไปเพราะความยากแค้น ฯลฯ เหล่านั้นมาลดโทษ เพราะอะไรถึงแค่ลด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำของเค้ายังคงเป็นความผิดอยู่ ถ้าไม่ผิด แล้วสำหรับผู้เสียหายใครจะคุ้มครอง ทุกคนก็อ้างความยากจนขโมยของคนอื่นได้อย่างนั้นหรือ เพราะฉะนั้นมันยังเป็นความผิดอยู่แต่ก็ลดหรือบรรเทาโทษได้ รวมทั้งความไม่รู้กฎหมายก็อาจอ้างได้เช่นกัน แต่อย่างว่าครับ อะไรที่เป็นกฎหมายต้องชัดเจนแน่นอน ไม่ชัดเจนแน่นอนสิ่งนั้นไม่เรียกว่ากฎหมาย กฎหมายได้กำหนดองค์ประกอบ หรือเนื้อหาของบรรดาเหตุต่างๆที่ผมว่าไว้ อย่างชัดเจน ว่าเมื่อไรเข้าเหตุ และอ้างได้ ขอบเขตแค่ไหน ไม่ใช่บุชถล่มอิรักเพราะเกรงว่าปล่อยเอาไว้จะเป็นอันตรายคุกคามตัวเอง จะเป็นโดยชอบธรรม โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

ยิ่งกว่านั้น ถ้าถึงขั้นตอนของอัยการ อัยการมีดุลพินิจที่จะสั่งไม่ฟ้องได้ แม้จะเป็นความผิดก็ตาม บ้านเราใช้ระบบการสั่งฟ้องโดยดุลพินิจครับไม่ใช่สั่งฟ้องตามกฎหมาย(ซึ่งหมายความว่าถ้าผิดกฎหมายต้องฟ้องเท่านั้น) อัยการบ้านเรามีดุลพินิจ(แต่จะใช้หรือเปล่าในทางปฏิบัติไม่รู้) ที่จะสั่งไม่ฟ้องถ้าการดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ใดๆเลย ทั้งต่อตัวผู้กระทำ ผู้เสียหาย และสังคมโดยรวม (ยังมีอีกหลายกรณีเช่น พ่อแม่กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ลูกตัวเองตาย แค่ลูกเค้าตายหัวใจก็สลายและเป็นการลงโทษที่สุดแสนทรมานมากกว่าโทษทางอาญาแล้วล่ะครับ ถ้าทำให้ลูกเค้าฟื้นได้เค้าคงยอมทุกอย่าง แม้กระทั่งแลกด้วยชีวิตตัวเอง บุคคลเหล่านี้เอาเข้าตารางไปก็ไร้ประโยชน์ครับ การต้องโทษ ไม่ได้ช่วยแก้ไขฟื้นฟู พฤติกรรมอันเป็นอาชญากรของเค้าใดๆเลย หรืออาจกล่าวได้ว่า การบังคับใช้โทษทางอาญาไม่ได้ส่งผลตามประสงค์ของโทษกับบุคคลเหล่านี้ แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเพื่อแก้แค้น ใครครับที่แค้น ดั่งไฟสุมอก ก็ตัวเค้าเองแหล่ะครับ โทษตัวเองที่เป็นเหตุให้ลูกของตนตาย เช้าเย็น หรือ แก้ไขฟื้นฟู ก็ด้วยจิตใจที่มิได้เป็นอาชญากร การทำลูกตัวเองตายเพราะความเลินเล่อของตัวเอง ผมว่า มันคงทำให้เค้านอนผวาไปทั้งชาติ หากขับรถทับลูก ชาตินี้คงไม่กล้านั่งหลังพวงมาลัยอีกเลย แม้กระทั่ง ให้นั่งรถเฉยๆ ก็คงไม่ไหว งานนี้ไม่ได้แก้ไขให้กลับตัวกลับใจเป็นคนดีแต่อย่างใดเลย )

หากอัยการยังไม่ฉลาดฟ้องไปอีก ถามว่าหมดทางเยียวยาหรือเปล่าตามหลักนิติศาสตร์ก็ไม่ครับ เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์ในฐานะเป็นเหตุบรรเทาโทษแล้ว ยังอาจเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ศาลรอลงอาญาได้

ข้อความคิดเหล่านี้ เป็นหลักรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ครับ

และยิ่งปัจจุบันดูเหมือน คดีอาญา ที่เป็นเสมือนเขาวงกต และดินแดนพิศวง งงงวย และลี้ลับสนธยา ก็ได้ผ่อนคลายความ “กระด้าง” ลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะ “อ่อนนุ่ม” ลงอีกมากในอนาคต ตัวอย่างเช่น ที่ฮอตฮิตกันอย่างมากตอนนี้ก็คือ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ที่จะนำมาใช้ในกรณีเด็กและเยาวชนกระทำความผิดเล็กน้อย โดยเฉพาะ เช่น คดีเจ๊เล้ง เป็นต้น ซึ่งหากเป็นกระบวนการยุติธรรมแบบเดิมๆ การกระทำของเด็กย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ก็ต้องดำเนินคดีไปตามสายพานของกระบวนการยุติธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอ้ความผิดฐานลักทรัพย์นี่ มันเป็นอาญาแผ่นดิน ยอมความกันไม่ได้ ก็เท่ากับว่ามันไม่มีกระบวนการใดจะสกัดมิให้คดีดังกล่าว ไปตามสายพานจนสิ้นกระแสความได้

อาจจะลงเอยด้วยการพิพากษาให้จำคุกแต่รอลงอาญา หรือไม่รอก็แล้วแต่ หรือ อาจจะต้องย้ายสำมะโนครัว ไปอยู่บ้านเอื้ออาทร เอ้ย บ้านพรหมวิหารสี่ทั้งหลาย ประวัติอาชญากรรมของเด็กติดตัวจนตาย ไม่เพียงแต่ผู้เสียหายที่สูญเสีย ครอบครัวผู้กระทำผิดก็สูญเสีย สังคมก็สูญเสีย ทุกฝ่ายแพ้หมด ไม่มีใครชนะ
การมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ก็เพื่อให้ทุกฝ่าย “ชนะ” คดีด้วยกันทั้งหมด โดยไม่ต้องไปส่งเด็กเข้าตามสายพานกระบวนการยุติธรรมเส้นเดิมๆ โดยนำเด็กผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้แทนชุมชน ตำรวจ รวมไปถึงอัยการ เข้ามานั่งประชุม หาทางออกในปัญหาดังกล่าว เพราะในบางครั้ง ผู้เสียหายก็ไม่ประสงค์ขนาดจะให้เด็กต้องเสียอนาคต แต่เค้าก็ไม่มีทางเลือกเช่นกันในการดำเนินคดีเป็นอย่างอื่น ครั้นจะไม่เอาเรื่องเสียเลย ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับตัวเอง และเด็กเองก็ไม่ได้รับผลร้ายจากการกระทำใดเป็นการตอบแทนสั่งสอน เขาอาจจะต้องการแค่ คำว่า “ขอโทษครับ ผมผิดไปแล้ว คราวหน้าผมจะไม่ทำอีก” เมื่อหาข้อยุติกันได้ อัยการก็จะสั่งไม่ฟ้อง โดยอาจคุมประพฤติเด็กผู้นั้น ด้วยวิธีใดๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของเด็กผู้นั้นด้วย

เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง เด็กก็จะไม่มีประวัติอาชญากรรม ไม่ต้องขึ้นศาล และไม่ต้องถูกควบคุมตัวในสถานพินิจแต่อย่างใด ผู้เสียหายได้รับการชดเชย อย่างน้อยอาจจะเป็นทางใจ นอกเหนือจากการฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง บางทีอาจจะรู้สึกว่าตนได้รับความยุติธรรมมากไปกว่าช่องทางแบบเดิมที่ผู้เสียหายอย่างเก่งก็เป็นพยานของอัยการผู้ฟ้องคดีเท่านั้น หากไม่มุ่งมั่นไปฟ้องคดีเอง การมีส่วนร่วมของผู้เสียหายมีน้อยมากและมีทางเลือกจำกัดเหลือเกินในสายพานเส้นเดิมๆ สังคมหรือชุมชน ก็ได้รับการเยียวยา ตัวแทนชุมชนมีบทบาทในการดูแลกำกับกันเอง ใส่ใจสารทุกข์ รวมทั้งรวมกันกำหนดชะตากรรมของผู้กระทำได้เท่าที่ควร เพราะต้องยอมรับว่า สังคมหรือชุมชนเหล่านั้น น่าจะถือว่าเป็น “ผู้เสียหายที่ 2” เพราะเมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้น ความสงบสุขและความปลอดภัยของชุมชนนั้นเองที่ถูกพรากไป และได้ทิ้งความหวาดระแวง เอาไว้ให้ดูต่างหน้า

การระงับคดีด้วยสายพานเส้นใหม่ๆ นี้ จะมองว่าเป็น รัฐศาสตร์ หรือ นิติศาสตร์ ดีครับ

นอกจากกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แล้ว แนวความคิดที่จะผันคดีออกนอกสายพานเส้นเก่า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น เป็นธรรม ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยังมีอีกมากมาย แต่คงต้องขออนุญาตยกยอดไว้คราวหน้า รวมทั้งอุปสรรคขัดขวางที่ทำให้หลักการสวยหรูดังกล่าว กลายเป็นของที่เลื่อนลอย ต้องแหงนหน้ามองดูตาละห้อยต่อไป

ผมไม่ได้บอกว่าหลักนิติศาสตร์แก้ปัญหาได้ทุกอย่างแต่บางครั้งก่อนที่เราจะไปหาหลักอะไรมากมายมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม เราควรเพ่งในหลักการของนิติศาสตร์ให้ถ้วนทั่วเสียก่อนว่ามีอะไรสามารถผดุงความยุติธรรมได้ตามหลักการหรือไม่ เราเข้าใจและใช้หลักของเราได้ดีเพียงพอแล้วหรือไม่ หากพอแล้ว ก็อาจจะต้องสรรหาหลักการอื่นมาเยียวยา (เช่นพวกค่าชดเชย ค่าทดแทนกรณีติดคุกฟรี เพราะความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม หรือการช่วยโดยสินน้ำใจ เช่นพวกเงินจากกองสลาก) ไม่ใช่เอะอะก็ไปสรรหาหลักการอะไรมากมายนอกมายกเว้นกฎหมาย ทั้งๆที่ไม่ดูว่าในกระบวนการทางกฎหมายเองก็มีมาตรการที่รองรับไว้แล้ว

แต่ก็มีเหมือนกันที่หลักกฎหมายนั้นหาทางออกไม่ได้ ตอนนั้นผมมีโอกาสได้ฟังการบรรยายของ ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ท่านบอกว่ามีอยู่คดีหนึ่งสมัย ร.5 ยายอยู่กับหลานชายแค่สองคน (หมายถึงยาย 1 คน และ หลานชาย 1 คน ) ยายมีที่นาและควายอยู่ 50 ตัว พอเห็นหลานชายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตัวเองก็เริ่มแก่ตัวลงเรื่อยๆเช่นกัน ก็เลยตัดสินใจยกควายที่มีอยู่รวมทั้งที่นาทั้งหมดให้หลาน เพราะหวังว่าหลานจะได้ทำมาหากินและเลี้ยงดูยายต่อไป ต่อมาปรากฏว่าหลานแต่งงานมีเมียมีลูก ปัญหามันเกิดที่หลานชายต้องตายจากไปเสียก่อน คราวนี้ทำไงครับ ตามกฎหมายเรื่องมรดก เมียกับลูกได้ทั้งหมดครับ (เพราะเป็นทายาทลำดับต้น ตัดยายที่เป็นทายาทลำดับต่ำกว่า) แล้วหลานสะใภ้ดันไม่ถูกกับยาย ไม่ยอมส่งเสียเลี้ยงดูใดๆ ยายมาฟ้องขอให้คืนที่นากับควายให้ตัว ศาลก็งง เพราะไม่รู้จะช่วยไง จะว่าเข้าเหตุเรียกคืนการให้เพราะประพฤติชั่วก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้รับการให้โดยตรง ศาลก็ต้องยกฟ้อง โชคดีที่ตอนนั้นยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระราชอำนาจยังคงเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นในทางตุลาการด้วย ยายถวายฎีกา พระองค์จึงทรงตัดสินให้ยายได้แบ่งควายไปบ้าง (จำไม่ได้ว่าเท่าไร) อันเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่เหลือต่อไป ส่วนหลานสะใภ้ตัวดีได้เยอะหน่อยเพราะมีสองชีวิต คิดไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเกิดสมัยนี้จะตัดสินกันอย่างไร บางท่านก็บอกว่า ก็ต้องยกฟ้อง แต่พอออกจากศาลแล้วจะควักตังค์ให้ยาย ซึ่งนั่นก็เป็นการช่วยแต่ไม่ได้ช่วยโดยหลักกฎหมายแต่อย่างใด บางครั้งสังคมสงเคราะห์หรือความเป็นรัฐสวัสดิการต้องมาช่วยบรรเทารองรับปัญหานี้แทนกฎหมายล่ะครับ

ซึ่งการเยียวยาดังกล่าว จะเป็นไปตามหลักรัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ดีครับ

นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ โดยเฉพาะกรณีมีสิทธิแต่ไม่รู้จักใช้ หรือใช้ไม่เป็นก็อาจก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ในทางคดีเช่นกัน เช่น กู้ยืมเงินเกิน 50 บาท แต่คุณดันไม่ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ แม้คุณจะมีสิทธิเป็นเจ้าหนี้หนี้คุณก็ไม่เป็นโมฆะ แต่คุณกลับบังคับตามสิทธิไม่ได้ เพราะอะไร เพราะกฎหมายไม่ยุติธรรมหรือไม่

อันนี้ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์นำไหมครับ

กฎหมายไม่ได้เพิกเฉยต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของเอกชน แต่การใช้สิทธิ การดำเนินการเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง ด้วยตนเองก่อนเป็นอันดับแรก ผมได้รับเรื่องราวมากมายทำนองว่าโดนคู่สัญญาเอาเปรียบหรือโกง แต่ดันไม่มีหลักฐาน ไม่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับคู่สัญญาเลย ไม่รู้จะเอาอะไรไปฟ้อง จะบอกว่ากฎหมายไม่ยุติธรรมเลย คงไม่ใช่มั๊งครับ ผมเลยต้องอธิบายไปว่า นักกฎหมายก็เหมือนหมอ ไม่ใช่เทวดาที่จะรักษาได้ทุกโรค และไม่ใช่จะทำให้ชนะเป็นไปตามสิทธิได้ทุกอย่าง มันขึ้นอยู่กับคนไข้ หรือคดีนั้นๆ หลักฐานดี ผู้พิพากษาดี ทนายดี ชนะแน่ แต่ถ้าไม่ก็อาจจะแพ้ และสุดท้ายคุณต้องย้อนกลับไปถามตัวเองว่า ตอนทำสัญญาคุณไม่ดูคู่สัญญาคุณให้ดีใช่ไหม ไม่ยอมทำหลักฐานอะไรเพราะรู้สึกว่าเป็นสัญญาลูกผู้ชายใช่ไหม คราวหน้าระวังหน่อยนะครับ เหมือนคุณกินอาหารไม่เลือก นอนดึก กินเหล้า เดินตากฝน พอไม่สบายก็ให้หมอรักษา หมอรักษาไม่หายก็ด่าหมอ

อาจารย์จิตติ บอกว่า เวลาจะปรับใช้กฎหมายนั้นให้ดู "เทศกาลบ้านเมือง" (คำนี้เป็นคำเก่าในกฎหมายตราสามดวงน่าจะอยู่ในส่วนของพระธรรมศาสตร์ ครับ เป็นการสอนบรรดาตุลาการและผู้พิพากษาทั้งหลายเวลาจะปรับใช้หรือตัดสินความ ให้พิจารณาถึงความเป็นไป คุณค่า และค่านิยมของสังคม ณ เวลานั้นด้วย ยังทันสมัยอยู่นะครับ) ไม่ใช่หลับหูหลับตาตัดสิน เดินมันตามแต่ตัวบท ลายลักษณ์อักษรแล้วก่อให้เกิดผลประหลาดที่ชาวบ้านชาวช่องเค้าไม่ยอมรับ หรือแม้แต่ตัวคู่ความก็ไม่ยอมรับ ฝ่ายชนะยังอยากจะอุทธรณ์เลยประมาณนั้นนอกจากนั้น กฎหมายเองมีย่อมมีความยุติธรรมเป็นอุดมคติอยู่แล้ว และยังมีพื้นฐานอันแข็งแกร่งจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งคุณค่าต่างๆที่มีอยู่ในสังคม (ซึ่งก็น่าจะถือว่าเป็นเทศกาลบ้านเมืองเช่นกัน) ศ. ปรีดี เคยบอกว่า กฎหมายนั้นมีลักษณะพิเศษคือความสม่ำเสมอ และความชัดเจนแน่นอน (ขืนกฎหมายไม่ชัดเจน ไม่แน่นอนและไม่สม่ำเสมอ บ้านเมืองวุ่นวายแน่ๆ ข้อเท็จจริงเหมือนกันแต่ผลในทางคดีต่างกันสุดขั้นงี้คงวุ่นพิลึก)

แต่อย่างไรก็ตามท่านว่าไว้ว่า แม้กฎหมายจะต้องรักษาเอกลักษณ์หรือคุณลักษณ์แห่งความชัดเจนแน่นอน (จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นความแข็งกระด้าง) แต่หากระบบกฎหมายใดสามารถเปิดช่องให้ผู้ปรับใช้นำเอาคุณค่าของสังคมอื่นๆ เช่น ศีลธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของสังคม หรือเทศกาลบ้านเมืองนั่นแหล่ะ มาปรับใช้ได้โดยไม่เสียความชัดเจนแน่นอนและความสม่ำเสมอของกฎหมายได้ ระบบกฎหมายนั่นย่อมเรียกได้ว่า เป็นระบบกฎหมายที่เจริญแล้ว (mature law) และนักกฎหมายที่สามารถปรับใช้กฎหมายได้ตามหลักนิติวิธี รักษาความชัดเจนและความสม่ำเสมอของกฎหมายได้ แต่ก็สามารถนำเอาหลักศีลธรรม ความยุติธรรมเข้ามาปรับใช้ได้ด้วย ย่อมถือได้ว่าเป็นนักกฎหมายที่เจริญแล้วเช่นกัน

ดังนั้นสิ่งที่ผมนำเสนอแค่อยากจะบอกว่า ผมไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับประโยคที่ว่า ให้นำหลักรัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์มาใช้ในกระบวนการยุติธรมหรือการพิพากษาตัดสินคดี ผมแค่รู้สึกว่าผู้ที่ออกมาพูดเช่นนี้ ไม่ได้ออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ หากแต่ต้องการเอากระแสสังคมมากดดันองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ หรือองค์กรผู้มีหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินข้อพิพาททั้งหลาย ลองดูคดีซุกหุ้น 8 ต่อ 7 อันบรรลือโลกสิครับ

โชคดีที่ผมมีโอกาสสนทนากับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ผ่านตัวอักษรในกระทู้เกี่ยวกับหัวเรื่องนี้แหล่ะ เค้าอธิบายงี้ครับ (อันนี้ผิดถูกไว้แต่ผู้กล่าว…อิอิ) รัฐศาสตร์ศึกษาการเกิดขึ้นของปรากฎการณ์ การดำรงอยู่ และการสลายไปของปรากฎการณ์ โดยศึกษา สถาบันการเมือง แนวคิดทางการเมือง ปรัชญาทางการเมือง ศึกษา ลักษณะของอำนาจ ความสัมพันธ์ทาง"การเมือง" เรื่อง "Justice" ก็ศึกษา แต่ไม่ใช่บริบทของนิติศาสตร์ เป็นบริบทของ "ปรากฎการณ์" เอาเป็นว่า รัฐศาสตร์ไม่ได้ศึกษา วิธีการตีความ และการปรับใช้กฎหมาย

ผมจึงอาจสรุปด้วยหางอึ่งของผมได้ว่า รัฐศาสตร์นั้นเน้นศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงและทิศทางความน่าจะเป็นในอนาคต แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการพิจารณาตัดสินคดี รัฐศาสตร์ไม่ได้เข้าไปตัดสินว่าสิ่งใดดีชั่ว หรือยุติธรรมหรืออยุติธรรมแต่เข้าไปอธิบายว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร รูปแบบไหน และมันจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ผลสุดท้ายมันจะเป็นเช่นไร

แต่ผมเองก็ยังยืนยัน เหมือนที่ อาจารย์นิธิท่านว่า ในมติชนว่า “หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มิได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด จะพูดว่าเป็นเรื่องเดียวกันยังได้ เพราะต่างมุ่งประโยชน์สุขของสังคมทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคตเป็นที่ตั้ง ” และ “รัฐศาสตร์ที่แท้จริงไม่ได้ยืนอยู่ได้โดยปราศจากหลักนิติศาสตร์ เช่นเดียวกับนิติศาสตร์ก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้โดยปราศจากรัฐศาสตร์”

บางครั้งก็อาจเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์จิตติกล่าวไว้ อย่างนี้ครับ “ระหว่างรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์อะไรจะมีความสำคัญกว่ากัน ในเรื่องนี้ต้องเข้าใจให้ดีว่าศาสตร์ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ การที่จะบอกว่าศาสตร์ใดควรมีความสำคัญมากกว่าขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณาในเรื่องใด ฉะนั้นการที่รัฐศาสตร์จะนำนิติศาสตร์ก็ต้องใช้ให้ถูกต้อง คือ ในช่วงเวลาใดรัฐศาสตร์มีความสำคัญที่จะต้องใช้ก่อนก็ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ ซึ่งก็คือก่อนที่จะออกกฎหมายก็ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ แต่เมื่อเป็นกฎหมายแล้วจะใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ไม่ได้ ต้องเป็น justice under law”

ดังนั้นก่อนที่เราจะมีรัฐบัญญัติอะไรออกมา ก็คงต้องศึกษาให้รอบด้านถึงผลดีผลเสีย ฯลฯ และนี่น่าจะเป็นช่องทางที่รัฐศาสตร์จะเข้ามามีส่วน นอกจากนั้น ความรู้ทางรัฐศาสตร์น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความแนบแน่นกับกฎหมายอย่างยิ่ง (อย่างน้อยก็เรื่องสภานิติบัญญัติในการออกกฎหมายล่ะครับ เขาผู้ทรงเกียรติเหล่านั้นก็เป็นนักการเมืองทั้งนั้น)

อีกประการหนึ่งที่รัฐศาสตร์จะมีบทบาทอย่างมากในการใช้กฎหมายคือ การที่รัฐศาสตร์จะอธิบายปรากฏการณ์ทางกฎหมายให้ประชาชนหรือสังคมเข้าใจได้ในรูปของปรากฏการณ์น่ะครับ เพราะบางครั้งการอธิบายในเชิงนิติศาสตร์คนจะไม่ค่อยเข้าใจเพราะมันมีเรื่องเทคนิคการใช้การตีความกฎหมายมาก บางครั้งเรื่องบางเรื่องเป็นการตัดสินที่เทคนิคแท้ๆ

สำหรับหลักความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่เข้ามาปรับใช้โดยตรงกับนิติศาสตร์ก็น่าจะมีครับ แต่น่าจะมาในรูปของเหตุผลในการตีความและการปรับใช้กฎหมายตามที่นิติวิธี (juristic method) เปิดช่องไว้น่ะครับ โดยเฉพาะการตีความรัฐธรรมนูญ ข้อความคิดทางการเมือง อำนาจการต่อรองทางการเมือง การจัดสรรอำนาจ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเหตุผลเบื้องหลังตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น นอกจากจะเป็นฐานความรู้ก่อนที่จะบัญญัติกฎหมายแล้ว รัฐศาสตร์ก็อาจเข้ามาช่วยตีความและใช้เท่าที่นิติวิธีทางกฎหมายจะเปิดไว้ด้วยครับ

Sunday, May 01, 2005

อะไรกันเนี่ย

มารู้สึกตัวอีกที

ผมหลงอยู่ในโลกของเว็บบล็อกไปได้ ก่อนหน้านี้มีปิยมิตรของผมพยายามล่อลวงผมด้วยอุบายมากมาย เรียกว่าทั้งขู่ทั้งปลอบ ให้ผมมาเป็นบล็อกเกอร์น้องใหม่ให้ได้ ซึ่งผมก็บ่ายเบี่ยงตลอดมา

ก็โลกไซเบอร์กะผมมันเหมือนเด็กน้อย หลงอยู่มหานครใหญ่ คราคร่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา (ทั้งๆที่ไม่เคยจะได้เห็นหน้ากันซักกะคน) อะไรมันก็ใหม่ไปหมด ดูแล้วลายตา จะก้าวเท้าออกนอกบ้านที่อยู่ทีไรขามันสั่น กลัวไปหมด หากคิดจะออก ก็คงเดินถนนเส้นเดิมๆ ทำอะไรเดิมๆ กินอะไรเดิมๆ เดินเข้าร้านเดิมๆ แล้วก็กลับบ้านแบบเดิมๆ ... กลัวที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ

อย่าว่าแต่เว็บบล็อกเลย เว็บบอร์ดผมยังโผล่หน้าไปนับบอร์ดได้

ไม่อยากจะเล่าความเป็นมา (เล่าล่ะนะ) หลังจากที่เพื่อนตัวดีของผม หลอกล่อโดยการนำเอาบล็อกของคนโน้น คนนี้มาให้อ่านอยู่เสมอ พร้อมกับเปรยๆ (หลังๆเริ่มมีบ่น) ว่าอยากมีเป็นของตัวเองมั่ง แล้วทุกครั้งที่มันว่าถึงเรื่องนี้ มันก็ไม่ลืมที่จะชวนผมเข้าสมาคมกะมัน อารมณ์เด็กอยากเข้าห้องน้ำแต่ไม่กล้าขออนุญาตครูไปคนเดียว

ผมอ่านงานชาวบ้านมาได้ไม่กี่วัน พร้อมกับชั่งใจตัวเอง เอาดีไม่เอาดีวะๆๆๆๆๆ จนรู้สึกว่าพร้อมเมื่อไรมันก็เมื่อนั้น (นี่มันทำเว็บบล็อกหรือมันจะออกรบวะ..สงสัยตัวเอง ทำไมมันกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดนั้น แต่ผมก็ได้คำตอบของตัวเอง เมื่อย้อนกลับไปอ่านสองสามย่อหน้าแรก) วันนี้ก็อีกแหล่ะ มันมาอีก พร้อมกับเอางานของมันและชาวบ้านมาให้อ่านอีก (กะว่าจะยั่ว โธ่ ยั่วกูไม่สำเร็จหรอก ไอ้อ่อนเอ๊ย)

พอดีงานมัน ผมไปอ่าน (แล้วโดนบังคับให้คอมเมนต์ แม้ว่ามันจะบอกว่า "เพียงคุณแวะมาชม เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ" ก็เหอะ) แล้วเปิดโอกาสให้คนไร้นามอย่างผมลงความเห็นได้ เข้าทาง...นิรนามเนี่ยถนัดนัก

แต่กะงานอีกคนนึงที่มันเอามาให้อ่านเนี่ยดิ (จริงๆก็ไม่ใช่ใครที่ไหนรุ่นน้องผมที่อยู่โพ้นทะเลดินแดนแห่งเสรีภาพ) อ่านแล้ว ก็อยากหล่นความเห็นไว้ เดี๋ยวจะหาว่ามาเชยชมแล้วจากไป ไอ้เราก็พิมพ์อย่างเมามัน เสร็จล่ะ กำลังจะกดส่ง อ้าว ทำไมมันไม่ให้นิรนามอย่างผมทิ้งความเห็นฟะ แล้วไงเนี่ย พิมพ์มาด้วยความตั้งใจ (ซึ้งนะ) จะทิ้งเหรอ หรือเก็บไว้รอบูด เอาวะไหนๆก็ไหน ลองสักตั้ง สู้เพื่อแม่! ลงทะเบียนก็ลง กะว่าทำไปหากมันติดขัดตรงไหน แล้วไม่สามารถจัดหาเว็บบล็อกเป็นของตัวเองได้ในวันนี้ จะได้มีข้ออ้างกับตัวเองว่า...ไม่เป็นไร เราทำเต็มที่แล้วววววว

แต่มันง่ายกว่าที่คิด เผลอแป๊ปเดียว ผมมีเว็บบล็อกเป็นของตัวเองเรียบร้อย และสามารถทิ้งความเห็นไว้ให้รุ่นน้องเจ้าบ้านผู้นั้นได้

แล้วไงเนี่ย ผมต้องทำไงต่อ โพสเรื่องราวความเป็นมา หรือ ไดอารี่ชีวิตอย่างที่ชาวบ้านเค้าทำเหรอ

หน้าหยั่งงี้เนี่ยนะ โอย คิดแล้วอกอีแปกจะแต้น หะแรกกะว่าจะอ่านงานของชาวบ้านชาวช่องเค้าไปเรื่อย เข้าไปแจมในฐานะหนุ่มนิรนาม (หาใช่นิค นิรนามแต่อย่างใด) สักพัก พอปรับหัวตัวเอง ทำความคุ้นชินกับสถานที่ใหม่เสียก่อน แล้วค่อยลงเสาเข็ม แต่นี่ยังไม่ได้ปรับที่เลย บ้านผมโผล่โด่เด่มาแล้ว ทำไง แล้วผมจะรักษาดูแลบ้านหลังใหม่หลังนี้ผมได้ตลอดรอดฝั่งมั๊ยล่ะเนี่ย

เฮ่อ จะว่าไปก็เหมือนคุมกำเนิดไม่อยู่ ผมได้ลูกมาแล้วหนึ่งคน จะเลี้ยงยังไง เลี้ยงยังไม่เป็น เอาตัวยังไม่รอด แต่เมื่อมีแล้วนี่ครับ ก็คงต้องว่ากันไปตามยถากรรม แล้วแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย ผมยังใหม่มากทั้งในโลกไซเบอร์ และในโลกวิชาการ เป็นเด็กก็เตาะแตะ ไม่ประสีประสา วันข้างหน้าของบ้านหลังนี้ หรือลูกคนนี้ของผม ผมมองไม่ออกและคงไม่ได้ออกแบบไว้ล่ะครับว่ามันจะมีหน้าตายังไง คงต้องดูแล ค่อยๆตัดแต่ง ต่อเติม เลี้ยงดูกันต่อไป บางครั้งทำอะไรโดยที่เราไม่ได้คาดไว้ก่อน ก็เป็นความลับของชีวิตที่ท้าทายดีเหมือนกันนะครับ

ต่อจากนี้ชีวิตผมคงมีอะไรมากกว่าการเป็นสัมภเวสีในเว็บบอร์ดซะแล้ว

หวังว่าวันต่อๆไป ผมจะยังรักบ้านหลังนี้ และลูกคนนี้ของผม เลี้ยงดูไม่ให้เหี่ยวตาย และให้เค้าเติบโตขึ้น ไปพร้อมๆกับผมก็แล้วกันครับ