Thursday, February 22, 2007

ดูโอไม้กอล์ฟ!


ใครเป็นแฟน "หงส์แดง" ลิเวอร์พูล อย่างผมเมื่อวานคงหลับสบาย และตื่นไปทำงานตอนเช้าแบบอิ่มอกอิ่มใจ (แม้จะได้นอนไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม)


ก่อนหน้าบิ๊กแมตซ์แห่งรอบ 16 ทีมสุดท้ายของถ้วยหูยานจะบังเกิดขึ้น ไม่มีใครคิดว่าน้องหงส์ของผมจะรอดสันดอนออกมาจากคัมป์ นู โดยเฉพาะเมื่อเทียบฟอร์มล่าสุดของทั้งสองทีม


แถมก่อนเกมส์สื่อโปรตุเกสยังกระพือข่าวความแตกร้าวระหว่างผู้เล่นหงส์แดง อย่าง "เคร็ก เบลลามี่" กองหน้าหนูถีบจักร ตัวป่วน กับ "ยอห์น อาร์เน รีเซ่" แบ็กซ้ายตีนผี โดยเต้าข่าวว่าเบลลามี่ เอาไม้กอล์ฟหวดหลังรีเซ่ ยามที่สติสตังไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเพราะร่ำแอลกอฮอลล์มากไปหน่อย ระหว่างทีมเก็บตัวอยู่ ณ เมืองฝอยทอง


แฟนหงส์อย่างผม บอกได้คำเดียวว่า อย่าเละกลับมาก็พอแล้ว


เกมเริ่มไป 10 นาที น้องหงส์ดูดีกว่าที่คาด ตัดบอล ต่อบอล และครองบอล เหนือกว่าทีมเทพจุติอย่างบาร์ซ่า แต่นาทีที่ 14 ทั้งสองทีมก็เข้าฟอร์ม หงส์แดงยืนตำแหน่งกันสะเปะสะปะ เชื่องช้า เข้าหาบอลช้ากว่าผู้เล่นบาร์ซ่าก้าวนึงเสมอ หลังจากนวดเพียงสองสามหมัด ประตูแรกของเกม ก็เกิดขึ้น เดโก้ โขกเหน่งๆ เสียบเสาแรกไปอย่างเฉียบขาด จากลูกเปิดอย่างพอดิบพอดีด้วยอีซ้ายของซามบรอตต้า แบคซ้ายทีมแชมป์โลก (แถมก่อนเปิด พวกหลอกสตีวี่ซะหลังหักอีกตะหาก)


จากนั้นหงส์แดงก็เป๋ไปเป๋มา ผ่านไปสามสิบนาที บาร์ซ่าคิดว่าสกอร์จะไหล จึงเล่นติดประมาท ผ่อนเกมและปล่อยให้หงส์แดงเริ่มจับจังหวะเกมของตัวเองได้เรื่อยๆ นาทีที่ 43 หายนะก็เกิดขึ้นกับทีมแห่งแคว้นคาตาลัน เมื่อบิคตอร์ เบาเดส ประตูน้ำ ทีมเจ้าถิ่น รับลูกโขกที่เหมือนจะแรงของเบลลามี่ เข้าซอง แต่พ่อคุณดันหลักไม่ดี กระโดดรับลูกเข้าซองได้แล้วเชียว แต่ตัวกำลังไถลเข้าไปในเขตประตู จึงรีบปล่อยลูกออกมาจากการครอบครอง มัจจุราชดัชต์ผมทอง เดิร์ค เค้าท์ แปซ้ำเข้าไปไม่เหลือ


แต่เมื่อรีเพลย์จากภาพช้าแล้ว บอลมันข้ามเส้นตั้งแต่ลูกโขกของกองหน้าหนูถีบจักรไปแล้น


แถมเบลลามี่ผู้ทำสกอร์ได้ งัดเอาท่าสวิงกอล์ฟสุดสวย มาเย้ยข่าวฉาวอีกตะหาก พ่อเจ้าประคุณ การได้ประตูตีเสมอ ก็เหมือนกับการปลุกลิเวอร์พูลออกจากภวังค์ เนื่องจากถ้วยใหญ่ที่สุดแห่งยุโรปในเกมเหย้าเยือนนั้น นับลูกอะเวย์ โกลล์ด้วย (ไม่เหมือนบอลอาเซี่ยนคัพแถวบ้านเรา) ใครยิงประตูนอกบ้านได้ ก็ได้เปรียบ


นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะจริงๆที่ได้ประตูช่วงท้ายเกม ไม่เปิดโอกาสให้บาร์ซ่า ทวงคืนได้ในครึ่งแรก ต้องไปรอต่อไปในครึ่งหลัง เกมใน


ครึ่งหลังเหมือนหนังคนละม้วน เพราะตัวละครเอกอย่าง "เหยินน้อย" โรนัลดิญโญ่ "ต่ายน้อย" ซาบิโอล่า และ "หนูน้อยมหัศจรรย์" (ไม่ใช่ทาทายังแน่นอน) ลีโอเนล เมสซี่ พร้อมใจกันไปเปิดวงแชร์ หายไปจากเกม


อันนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับกุนซือหัวใส หุ่นนกเพนกวิน เอล ราฟา โยกเอาอาร์เบลัว ที่ถนัดขวามายืนซ้ายเพื่อประกบ เมสซี่ สลับเอาเจอร์ราร์ดมาปิดโรนัลดิญโญ่ และใช้แผนดักล้ำหน้าเล่นงานต่ายน้อย ส่วนกองกลางพันธุ์ระห่ำ อย่างซิสโซโก้ ก็เล่นแบบถึงลูกถึงคน แทนนสรยุทธ จนซาบี เฮอร์นันเดซ และอินนิเอสต้า แขยงขยาด


เมื่อเกมรุกบาร์ซ่า เดินหน้าไม่ได้ ทีมเทพจุติ ก็เหมือนกับทารกน้อยแรกเกิด ยิ่งธรรมชาติของทีมที่ชอบเกมรุกมักมีจุดอ่อนอยู่ที่เกมรับด้วยแล้ว หงส์แดงเหมือนซื้อหวยใต้ดิน ถูกทั้งเต็งและโต๊ด เมื่อกองหลังบาร์ซ่าเฟอะฟะอีก ในจังหวะที่เจอร์ราร์ด ตักบอลเข้าไปในเขตโทษ เดิร์ค เค้าท์ โฉบหน้ากองหลัง แตะบอลเพื่อหาจังหวะยิง แม้จะยิงติดเบาเดส ลูกลอยเด่นเป็นสง่า แต่มาเกส ที่ปกติเหนียวแน่นทนนาน ยิ่งกว่ายิปซั่มบอร์ดตราช้าง แต่ช็อตนี้เสียราคา เป็นเพียงกระดาษชำระเซลลอค เมื่อโหม่งด้วยความแรงประมาณปัสสาวะเด็กห้าขวบ


ลูกลอยมาเข้าทางเบลลามี่ ที่วันนี้ฟ้ากำกับให้เล่นบทพระเอก ตาไว เห็นคู่หูดูโอไม้กอล์ฟ ยืนกางมุ้งรอ อยู่เสาสอง จึงเปิดถวายใส่พานทองแท้ ไปให้ รีเซ่ก็มั่นใจ ทั้งๆที่มีเวลาแต่งบอลให้เข้าเท้าซ้ายข้างถนัด เผื่อจะได้ยิงตาข่ายให้กระจุย แต่กลับยิงด้วยขวา ถ้าเป็นเกมอื่นมันต้องแป๊ก ลูกค่อยๆเลื้อยออกหลังแน่นอน แต่วันนี้คนมันจะดัง ลูกออกจากเท้าขวาข้างไม่ถนัด แต่ความแรงไม่ต่างจากอีซ้าย พุ่งวาบเสียบคานไปอย่างสวยงาม ทำให้หงส์แดงกระพือตีปีกขึ้นนำ 1 - 2 ทำไปได้


ช่วงท้ายเกมบาร์ซ่าทดสอบเกมรับหงส์แดงอย่างหนัก แต่ก็ได้แค่เฉี่ยวไปมา จากลูกหลุดเดี่ยวของต่ายน้อย ซาบิโอล่า แต่เรน่า ออกมาไวตัดไว้ได้ และลูกเปิดไซด์โค้งลักไก่ ของเดโก้เจ้าเก่า ลูกชนเสาสองจังเบ้อเร่อ ก็ได้แค่เกือบ หงส์แดงจึงออกจากคัมป์ นู ด้วยชัยชนะที่หลายคนทำหน้าตาไม่เชื่อ พร้อมกับพกความได้เปรียบในอีกนัดข้างหน้าที่แอนฟิลด์ เพราะว่าแม้จะแพ้ 0 - 1 ก็ยังได้เข้ารอบอยู่ดี


ยังจำนัดที่บาร์ซ่ามาเยือนหงส์แดงเมื่อหลายปีก่อนในถ้วยใบเดียวกันนี้ได้ แพทริค ไคต์เวิร์ต ให้ของขวัญหงส์แดงเมื่ออยู่ดีๆ ก็เอามือไปปะทะลูกฟุตบอลขณะกำลังเทคตัวขึ้นโหม่งในเขตโทษตัวเองซะงั้น ขออีกสักลูกเถอะ อีแบบนี้

Saturday, February 17, 2007

ทัศนะศึกษา แบบพุทธศิลป์ (แบบฉบับมือใหม่) ตอน ๑ (ขออีกที)

เนื่องจากครั้งที่ผมโพสไปเมื่อคราวก่อนนั้น น่าจะอยู่ในช่วงสุกดิบของการปรับเปลี่ยนของ blogspot จึงทำให้เกิดความผิดพลาด

บล็อกตอนที่แล้วของผมจึงอันตรธานหมายไปอย่างไร้สาเหตุ คราวนี้จึงขอมาโพสใหม่ครับ
สำหรับตอนสอง ขอติดไว้ก่อน ยังไร้พลังครับ ฮ่าๆ (ข้ออ้างเดิมๆ)
........................
ท่าทางศกนี้ผมจะถูกโฉลกกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพิเศษ พ้นมาเพียงเดือนเศษของปีหมูไฟ ผมไปเยือนกรุงเก่ามาแล้วสองหน

เป็นสองครั้งสองคราที่ได้อรรถรสแตกต่างกันจริงๆ

ครั้งแรกผมและผองเพื่อน ไปทำบุญไหว้พระเก้าวัด (นับจริงๆคือแปดวัดครึ่ง เพราะไหว้บนรถซะหนึ่งวัด)

อรรถรสที่ได้คือ การได้เวียนทำบุญ (แบบทำเวลา) ได้บุญ ได้เที่ยว บรรยากาศสนุกสนานเพราะไปกับเพื่อน ...สบายใจ ได้บุญ

ครั้งที่สอง นี่สาระล้วนๆครับ ผมมีโอกาสไปอยุธยาแบบ “ทัศนะศึกษา” แท้ๆ ยิ่งกว่าช่วงวัยเรียนช่วงใดในชีวิตผม

ครั้งนี้ผมมีโอกาสติดตามน้องๆคณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร ไปทัศนะศึกษาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นความคุ้มที่ยิ่งกว่าคุ้ม (นอกจากพักฟรี และนั่งรถฟรี...ด้วยความอนุเคราะห์จากโครงการวิจัยกฎหมายตราสามดวงเช่นเดิม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มีโอกาสรับความรู้จากไกด์กิติมาศักดิ์ ว่าที่ด๊อกเตอร์ จากโปรตุเกส ผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถในการบรรยายถ่ายทอด ให้เรื่องราวที่หลายคนส่ายหน้ายามอยู่ในห้องเรียนอย่างวิชาประวัติศาสตร์ เท่านั้นยังไม่พอ ดันเป็น “ประวัติศาสตร์” สนธิกับ “พุทธศิลป์”

ถ้าจำต้องเรียนวิชาพรรค์นี้ ผมคงง่วงตั้งแต่เห็นชื่อวิชาแล้วครับ พร้อมกับเตรียมหมอนมุ้ง เข้าไปในห้องบรรยายด้วยแน่นอน

แต่อาจารย์ท่านนี้สามารถบรรยายให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์อยุธยาผสมพุทธศิลป์ เป็นเรื่องราวที่น่าสนุก น่าติดตาม และน่าตื่นเต้น ไม่แพ้การดูซีรี่ย์อเมริกาอย่าง CSI อย่างไรอย่างนั้น

บล็อกตอนนี้ของผม วัตถุประสงค์แรกคือ พยายามเก็บเอาความรู้และความทรงจำในการไปทัศนะศึกษาครั้งนี้ไว้ ด้วยเกรงว่ามันจะเลือนหายไปตามกาลเวลา และผมคงรู้สึกเสียดายอย่างมาก หากมันต้องเป็นเช่นนั้น ดังนั้นตอนนี้จึงไม่จำกัดความยาวครับ และถ้าเป็นไปได้ ผมจะพยายามเขียนอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่ความทรงจำ และการบันทึกในสมุดโน้ตเล็กๆตลอดสองวันเต็มๆ จะช่วยได้

ประกอบกับการเอารูปมาลงให้เยอะที่สุด งวดนี้ผมถ่ายรูปไปเยอะเลย แต่เป็นการถ่ายแบบมีวัตถุประสงค์ หรือมีจุดมุ่งหมาย หากเป็นก่อนหน้านี้ผมคงแปลกใจตัวเองไม่น้อย เพราะรูปบางรูปนี่ผมจะถ่ายมาทำอาวุธด้ามยาวใช้แทงทำไม ดูไม่เห็นจะรู้เรื่อง

แต่ ณ วันนี้ จุดเล็กๆ บางจุด ร่องรอยบางรอย แม้แต่เศษปูนเศษอิฐ บางรูป มันสื่ออะไรให้เห็นได้เยอะเชียวครับ

ภาพรวมของการไปทัศนะศึกษาครั้งนี้ พวกเราเดินย้อนรอยตามคำให้การของ “ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ครับ ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา นอกจากการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีอยู่มากมายดาษดื่น ทำนอง พงศาวดาร หลายเวอร์ชั่น หลายสำนัก หลายผู้แต่ง หรือเอกสารของชาวต่างชาติที่มีโอกาสเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเก่าของเราร่วมสมัยนั้น ซึ่งฝรั่งตาน้ำข้าวพวกนี้ช่างจด ช่างจำ และช่างบันทึก (แต่ถูกผิด เชื่อถือได้ไม่ได้ ว่ากันอีกเรื่อง) แล้ว ยังมีเอกสารบางประเภทที่เราเรียกหรือเราได้ยินกันทำนอง “คำให้การ” ต่างๆ ซึ่งเท่าที่ผมคุ้นชื่อ ก็มี “คำให้การชาวกรุงเก่า” “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” “คำให้การขุนหลวงหาวัด”

สำหรับเที่ยวนี้แล้ว เราตามรอยตามคำให้การ “ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” หรือ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” กันครับ

คำให้การฉบับดังกล่าว (ออกตัวดังเอี๊ยดดดด ว่าผมยังไม่ได้อ่านเอกสารฉบับนี้เลย) ส่วนใหญ่จะเป็นการอธิบายถึง “ภูมิสถาน” หรือ “ตำแหน่งแห่งที่” สถานที่สำคัญๆ ทั้งหลาย ในสมัยอยุธยา ซึ่งน่าจะรวมไปถึง วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนชาวอโยธยาในสมัยนั้นด้วย

สำหรับผมแล้ว แน่นอนครับ ผมยังถือว่าเป็นมือใหม่ในทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง!! ดังนั้นข้อมูลทั้งหลายที่ผมนำมาเขียนลงบล็อกนั้น จึงเป็นความรู้ที่ผมพยายามเก็บ จากผู้รู้ทั้งหลายที่อยู่ในคณะ ดังนั้นจึงอาจจะมีการตกหล่น ถูกๆผิดๆ อยู่บ้าง เพราะผมเองก็เป็นพยานบอกเล่ามาอีกทอด ไม่มีเวลาและความสามารถพอที่จะไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมด้วยน่ะครับ ดังนั้นอย่าถือเป็นข้อมูลเชิงวิชาการเลยนะครับ เอาแค่เล่าสู่กันฟัง สนุกๆ

เริ่มกันเลยดีกว่าครับ

หลังจากที่รถบัสขนาดย่อม ล้อหมุนออกจากหน้ากรมศิลปากร สนามหลวง คณะของเราก็มุ่งหน้าไปรับเหล่าอนาคตของชาติในทางภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาศิลปากร ทับแก้ว จังหวัดนครปฐม ก่อนจะมุ่งหน้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สถานที่แรกที่เรามุ่งมาขุดความรู้กัน ณ กรุงเก่า คือ “วัดมเหยงคณ์” ครับ ลำพังที่แรก ก็จดกันกระดาษปลิวนับหน้าไม่ถ้วนแล้ว

ใครจะทราบครับ ว่าในสมัยนั้น ชื่อเก่าของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาของเรานั้น ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะปรากฏเป็นชื่อ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ...แปลกตรงไหน อยุธยา กับ อโยธา ก็น่าจะเหมือนๆกันแหล่ะ (คือแปลว่า เมืองที่ไม่มีทางเอาชนะได้ หรือไม่มีวันแตก ทำนองนั้น ) มันมาแปลกตรงการออกเสียงที่ผมได้ยินจากปากของไกด์กิติมาศักดิ์ของผมน่ะสิครับ

ได้ยินถึงสามคำรบ จึงต้องเชื่อว่ามันออกเสียงว่า “อะ – โยด – ทะ – ยา” ครับ (ถ้าท่านอำก็ถือว่าผมหลงเชื่อมาเต็มๆแล้วกันครับ)

การตั้งชื่อดังกล่าวสันนิษฐานว่าน่าจะสัมพันธ์กับอินเดียในทางใดทางหนึ่ง (แต่ทางใดไม่รู้)

ชื่อวัดก็น่าสนใจครับ มเหยงคณ์ มาจาก “มหิยังคณะ” (ไม่รู้ว่าสะกดถูกหรือเปล่านะครับ ถอดจากเสียงมา) ซึ่งน่าจะผูกกับทางลังกาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณพระเจดีย์องค์ใหญ่นั้น ฐานจะล้อมรอบด้วยรูปปั้น “ช้าง” ซึ่งถือเป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อชาวลังกา

ก้าวแรกก่อนที่จะย่างเข้าสู่บริเวณกำแพงแก้วของวัดนั้น ประตูวัดก็มีความรู้ให้เราขุดอีกแล้ว ประตูวัดแบบนี้เค้าเรียกกันว่าเป็นทรง “คฤห” ออกเสียงว่า “ครึ” ครับ ซึ่งมีความหมายว่า “ลด” ตามลักษณะประตูที่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ คล้ายกับศิลปะสมัยพระนารายณ์ หลายท่านอาจจะมองไม่เห็นภาพว่า แล้วส่วนยอดของประตูหน้าตาเป็นอย่างไร


โชคดีที่ทางหลังวัดยังมีประตูที่คล้ายกันอีกที่ และยังสมบูรณ์อยู่ จึงทำให้เราเทียบเคียงลักษณะของส่วนยอดประตูได้ว่า คงจะมีลักษณะคล้ายกันครับ


ขนาดของประตู ก็มีนัยนะครับ เพราะจะต้องสร้างให้มีขนาดช้างหนึ่งเชือกผ่าน ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็คงต้องสร้างพอที่รถจะเข้าออกได้นั่นเองครับ

เมื่อเราลอดประตูไปแล้ว สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ประการต่อไปก็คือ “ฉนวนทางเดิน” และ “การเรียงอิฐ” ครับ

วัดนี้เป็นวัดใหญ่ เป็นวัดสำคัญ ขนาดเป็นอารามหลวง ซึ่งจะมีการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์มาประกอบพิธีทางพุทธศาสนาอยู่เป็นนิจ ดังนั้นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน จึงมีร่องรอยของธรรมเนียมการถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์ครับ


ที่เห็นคือ “พระฉนวน” ซึ่งก็คือ “ทางเดินนั่นเองครับ เป็นทางเดินพิเศษสร้างขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ ฉนวนจะมีแนวกำแพงก่อกำแพงเป็นแนวทางเดิน ขนาดสูงท่วมหัว แต่แนวกำแพงดังกล่าว จะต้องเปิดช่องไว้ตอนหัวและท้าย ทั้งนี้สำหรับให้บรรดาขุนทหารองครักษ์ทั้งหลาย แยกดำเนินซ้ายขวา นอกแนวกำแพง ถวายอารักขา ก่อนที่จะเดินเข้ามาบรรจบเป็นรูปขบวนอีกครั้ง ในตอนท้ายแนวกำแพงครับ


การเสด็จพระราชดำเนิน นั้นลำดับการเสด็จก็น่าสนใจ บ้านเราเน้นระบบอาวุโสครับ การจัดวางตำแหน่งของคณะ จะเรียงลำดับก่อนหลังตามสิ่งที่เรียกว่า “โปเจียม”

คำว่า “โปเจียม” นั้น ยังไม่อาจสันนิษฐานได้ว่ามาจากรากศัพท์ หรือมีความเป็นมาทาง “นิรุกติประวัติ” อย่างไร อาจจะมาจากคำเขมรก็เป็นได้ แต่ใช้ในความหมายว่า “ลำดับ” ไม่ว่าจะเป็นการเดินทัพ การจัดเครื่องยศ หรือการเข้าเฝ้า ก็ต้องเป็นไปตาม “โปเจียม” ครับ

การก่อเรียงอิฐเป็นทางเดินสมัยอยุธยาก็น่าสนใจครับ การเรียงอิฐหรือปูอิฐ ไม่เหมือนสมัยปัจจุบันครับ การเรียงอิฐสมัยนั้น เป็นการเอาสันอิฐตั้งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้อิฐรับน้ำหนักได้มากขึ้น มีความทนทานมากกว่า การเรียงอิฐแบบเอาด้านกว้าง หรือด้านป้าน รองรับน้ำหนัก แบบที่ปูแผ่นซีแพคโมเนีย อย่างสมัยปัจจุบัน ที่เรียงแล้วแตก แตกแล้วของบประมาณมาเรียงใหม่ ทุกๆสิ้นปีนั่นแหล่ะครับ


การเรียงก็จะเรียงเป็นแนวเฉียงหรือเรียกว่า “ก้างปลา” มีบ้างเหมือนกัน ที่เรียกตรงๆสลับกัน แบบ “ลายสาน” ที่ผมพบที่วัดมงคลบพิตร

การเรียงอิฐแบบนี้ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลหรือแนวคิดมาจากทาง “เปอร์เซีย” ครับ

เมื่อพ้นแนวฉนวนแล้ว เบื้องหน้าเราจะพบกับ พระอุโบสถขนาดใหญ่ หลังหนึ่ง ถึงตรงนี้ไกด์กิติมาศักดิ์ของเรายิงคำถาม แบบที่คนนับถือพุทธตามบัตรประชาชนอย่างผม ต้องคิดคิ้วขมวด

ท่านถามว่า “โบสถ์” หรือ “อุโบสถ” กับ “พระวิหาร” ต่างกันอย่างไร

พอจะมีเค้าความจำอยู่บ้าง เลยตอบไปอย่างแผ่วเบาว่า โบสถ์ต้องมีขอบขัณฑ์พัทธสีมากั้นล้อมรอบ

ก็พอถูกล่ะครับ แต่ดูไม่ค่อยมีความรู้อะไร เลยต้องฟังไกด์ท่านอธิบายต่อ

เหตุที่ต้องมีแนวเขตพัทธเสมา หรือพัทธสีมาล้อมรอบก็เพราะ เป็นเครื่องบ่งบอกว่า บริเวณนี้นั้น เป็นบริเวณที่สงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งต้องกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนและแน่นอน

ใครจะเชื่อว่า (ผมคนหนึ่งล่ะ) จริงๆแล้ว ใบพัทธสีมาน่ะ ไมได้มีความสำคัญหรอก ที่สำคัญคือสิ่งที่อยู่ใต้ใบพัทธสีมานั่นต่างหาก เหตุด้วยข้างล่างจะเป็นที่บรรจุสิ่งที่เราเรียกว่า “ลูกนิมิต” ส่วนใบพัทธสีมานั้น เป็นเพียงเครื่องบ่งบอกว่า “ข้างล่างน่ะมีลูกนิมิตนะ”

หลักเขตที่เราเรียกว่าพัทธสีมานั้น อย่างน้อยต้องมี 4 ทิศ ครับ แต่สำหรับอุโบสถที่มีบริเวณกว้างมาก อาจจะเพิ่มทิศย่อยอีก 4 ทิศ เป็น 8 ทิศ ก็ได้ครับ

ในชั้นต้นนั้น โบสถ์ หรือ อุโบสถ ไม่ใช่สถานที่สลักสำคัญมากนัก เหตุเพราะ เป็นสถานที่ที่สงฆ์ใช้ประกอบพิธีทางสังฆกรรมเท่านั้น โบสถ์จะตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งใด ของวัดก็ได้ จะมีขนาดเท่าไหร่ก็ได้ ขอเพียงมีขนาดแค่พระภิกษุ 5 รูปนั่งขัดสมาธิแล้วก้มเอาศอกต่อกันได้ ก็พอ ในช่วงต่อมา โบสถ์จึงถูกยกให้มีความสำคัญขึ้น (ลองนึกภาพวัดตามต่างจังหวัด ที่มักปรากฏในฉากละครน้ำเน่าดู ที่พระเอกมักเข้าไปไหว้พระขอพร ตอนอกหัก หรือมีเรื่องราวเลวร้ายกระทบต่อชีวิต นั่นแหล่ะครับ )

บริเวณฐานพัทธสีมาที่ใบหายไปตามกฎไตรลักษณ์แล้วนั้น มีเศษกระเบื้องอยู่มากมาย ทันใดนั้น ไกด์ของผมก็หยิบเอาวัตถุเล็กๆ ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง พร้อมกับตั้งคำถามต่อมาว่า “มันคืออะไร”


โธ่พ่อคุณ ลำพังมันมาเต็มๆ ผมยังไม่รู้จัก แล้วนี่มันเหลือแค่เศษ

สุดท้ายทนไม่ไหว ท่านก็ต้องเฉลยล่ะครับ

มันคือ “ขอของกระเบื้อง” ครับ กระเบื้องวัดนี่แหล่ะ เราเรียกกระเบื้องประเภทนี้ว่า “กระเบื้องขอ” ซึ่งการปูกระเบื้องนั้น คนโบราณจะเอาส่วนที่เรียกว่า “ขอ” ไว้เกี่ยวกับแนวจาก ปูกระเบื้องซ้อนๆกันครับ ดูจากขนาดของขอแล้ว ก็สันนิษฐานได้ว่า ตัวกระเบื้องคงมีขนาด และรูปร่างประมาณ ใบจอบขุดดินนั่นล่ะ

ถัดจากเขตพัทธสีมาเข้าไป เราจะพบ มุขหน้าที่ยื่นออกมา เรียกว่า “มุขประเจิด” ที่ทำยื่นออกมาก็เพื่อเป็นที่ที่พระมหากษัตริย์จะทรงโปรยทานให้แก่บรรดาพสกนิกรที่มาเข้าเฝ้า


เดินเลยขึ้นไปนิดนึงก็จะพบตัวโบสถ์แล้วครับ ถึงตรงนี้ ไกด์ท่านก็ชี้ให้เราเห็นลักษณะศิลปะของอยุธยาในการสร้างโบสถ์ ก็คือ ช่างสมัยนั้นจะสร้างโบสถ์ให้มีลักษณะ “ตกท้องช้าง” “ตกท้องม้า” หรือ “ท้องสำเภา” นั่นคือ มีลักษณะแอ่น เหมือนท้องช้าง ท้องมา หรือเรือสำเภานั่นเอง ไม่ได้เกิดจากอาการทรุดตัวอย่างที่สมองน้อยๆของผมคิดแต่อย่างใด โดยมีความเชื่อที่ว่า “เรือ” จะเป็นพาหนะ ที่พาเราเหล่าหมู่มวลมนุษย์ข้ามพ้นวัฏสงสารนั่นเอง


ฐานของพัทธสีมา ก็มีสิ่งที่น่าสนใจครับ ฐานดังกล่าว เราเรียกว่า “ฐานสิงห์” ถ้าสังเกตดูดีๆ ก็จะพบว่า มันเหมือน “ขาสิงห์” จริงๆ ฐานสิงห์ จะประกอบด้วยสามส่วนครับ ได้แก่ ฐาน หรือเท้าสิงห์ น่องสิงห์ และนมสิงห์ โดยเฉพาะ “นม” นี่ บ่งบอกอายุได้ด้วยนะครับ

ถ้านมสั้นอายุก็ประมาณต้นอยุธยา ถ้านมยาว หรือนมยาน ก็จะประมาณปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ครับ นมนี่ยานมาจดฐานเลยครับ สังเกตดูครับ สามเหลี่ยมแหลมๆ ที่ "ยาน" มาจนจดกับเส้นฐานนั่นแหล่ะครับ เรียกว่า "นมสิงห์" อันนี้ยานมาจนจดฐาน จึงน่าจะเป็นวัดที่สร้างหรือบูรณะสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำนองนั้นครับ

การวัดขนาดของวิหารหรือโบสถ์ เราจะนับหน่วยเป็น “ห้อง” ครับ ช่องระหว่างเสา 1 ช่อง เราเรียกว่า 1 ห้อง ครับ สำหรับวัดมเหยงคณ์แห่งนี้ นับได้ 9 ห้อง ถือว่าใหญ่พอตัวครับ


ถัดจากนั้น ไกด์ท่านก็มาอธิบายต่อในส่วนของ “เจดีย์”

ส่วนประกอบของเจดีย์นั้น มี 3 ส่วน ได้แก่ ชั้นฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอด


โดยส่วนที่เหนือเรือนธาตุขึ้นไปก่อนจะถึงส่วนยอดนั้น เราเรียกกันว่า “บัลลังก์” เหนือ “บัลลังก์” จะมีเสาที่เรียกว่า “แกนฉัตร” และเหนือ “แกนฉัตร” จะมีส่วนที่เรียกว่า “ปล้องไฉน” ซึ่งถ้าให้ผมวาดภาพเจดีย์จากความทรงจำของผม แน่นอนครับ ผมจะวาดรูประฆังคว่ำ ก่อนที่จะขีดคาดวงรีๆหลายๆวงซ้อนๆกันขึ้นไป แคบขี้นๆ ก่อนที่จะวาดส่วนยอดแบบสามเหลี่ยมแหลมเปี๊ยบ ไอ้วงๆซ้อนๆกันไป นั่นแหล่ะครับ เรียกว่า “ปล้องไฉน”

และปิดท้ายส่วนยอดด้วย ลูกกลมๆ ที่เรียกว่า “หยาดน้ำค้าง” (ไม่ใช่หยาดทิพย์แต่อย่างใด)

เลยผ่านอุโบสถแล้ว เราก็จะพบพระเจดีย์องค์ใหญ่องค์หนึ่ง ซึ่งยกพื้นสูง ทันทีที่เราก้าวขึ้นบันไดความสูงสี่ห้าขั้นก็จะพบกับ “ปล้องไฉน” ขนาดใหญ่ ที่ร่วงลงมาแอ้งแม้ง อยู่เบื้องหน้าเรา (จริงๆถ้าตาไม่บอด คงมองเห็นตั้งแต่ไกลแล้วล่ะครับ ก็ปล้องมันใหญ่ขนาด)




บริเวณฐานเจดีย์ เราพบสิ่งที่เรียกว่า “ซุ้มหน้านาง” ซึ่งรายล้อมด้วยพระพุทธรูป นั่งล้อมรอบฐานพระเจดีย์องค์ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์แล้วครับ แต่สิ่งที่ไกด์ท่านชี้ให้เห็นก็คือ รอยสีที่ยังเห็นได้ชัดเจนว่า ต้องมีการทาสีแดงหรือที่เรียกว่า “สีชาด” อยู่ แม้ว่าจะซีดๆลงไปบ้างแล้วตามเวลา


เหตุที่ต้องทาสีชาดก็เพราะ สีชาดนี้จะขับให้สีทองขององค์พระ หรือองค์พระเจดีย์เหลืองอร่ามขึ้น พลันให้นึกถึงบรรดาร้านทองตามเยาวราช ว่าทำไมถึงต้องจัดตู้ใส่ทอง และเฟอร์นิเจอร์ในร้านเป็นสีแดงสด มิน่าล่ะ

เหตุที่สีชาดติดแน่นทนนานขนาดนี้ ก็เพราะช่างสมัยโบราณ ท่านทาสีชาดในขณะที่ปูนยังไม่แห้ง ทำให้สีนั้นแทรกเข้าไปในเนื้อปูน เป็นเหตุผลที่ทำให้สีติดแน่นทนนานแบบนี้นั่นเองครับ

ก่อนที่จะเราจะเวียนทักษิณาไปยังด้านหลังองค์พระเจดีย์ ไกด์ก็พาเราม้วนมาดูด้านป้านของปล้องไฉน พร้อมตั้งคำถาม (อีกแล้ว) ว่า ทำไมปล้องไฉน ถึง “มีรู” มันไม่ใช่โดนัทสักหน่อย


รอเวลาสักพัก เมื่อเห็นว่า ไม่มีใครตอบได้ ท่านก็เฉลยว่า สมัยโบราณการก่อสร้างเจดีย์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ปั้นๆไปประกบกัน แต่ต้องสร้างโครงขึ้นมาก่อน นั่นก็คือ ตั้งไม้สูงชึ้นไปแล้วค่อยประกอบปูนปั้นต่างๆเป็นองค์พระเจดีย์ ในส่วนของปล้องไฉนก็เช่นกัน ก็เป็นการก่ออิฐถือปูน โปะๆๆๆ แกนที่เป็นไม้นั่นแหล่ะครับ ไม้จึงเป็นแกนกลาง หรือไส้กลางของเจดีย์ เวลาปล้องไฉนร่วงลงมา เลยปรากฏรูที่เป็นแกนกลางของไม้นั่นเองครับ (เหมือนไอติมแท่งเลยแฮะ)

พูดถึงปูนสมัยอยุธยา ก็มีลักษณะพิเศษ ที่ไม่ง่ายเหมือนผสมสำเร็จแบบโทรสั่งจากซีแพคได้ดังในปัจจุบัน แต่กรรมวิธีทำปูนของช่างอยุธยานั้น น่าทึ่งนัก

ช่างโบราณมีการนำเอาวัสดุบางอย่างที่เราคาดไม่ถึงมาเป็นส่วนผสมของปูน เช่น เปลือกหอยแครง โดยการนำเอาเปลือกหอยแครงมาเผาไฟให้ร้อน แล้วแช่น้ำทันที เปลือกหอยจะแตกสลาย แช่น้ำไปเรื่อยๆก็จะยุ่ย เมื่อนำมาผสมกับหนังควาย หญ้าแห้ง ฟางแห้ง ก็จะได้ปูนที่เหนียวแน่น ทนทาน

ลักษณะของปูนอยุธยาจึงมีความแข็งแกร่ง ต่างจากปูนทางแถบสุพรรณ ที่อ่อนตัวกว่า

ปูนจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ หายเค็มแล้ว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามันหายเค็ม เอาลิ้นเลีย?

ม่ายช่ายๆ

วิธีทดสอบว่าปูนหายเค็มหรือยัง คนโบราณเค้าใช้ ขมิ้น (ไม่รู้ว่าอ่อนหรือแก่นะ ฮ่าๆ) ขีดไปที่ปูน หากปูนยังเค็มอยู่ จะเกิดสีแดงตามรอยขีด (หรือนี่จะเป็นที่มาของคำเปรียบเปรยว่า “ขมิ้นกับปูน” ก็ไม่รู้แฮะ)

วิธีแก้ปูนเค็ม ภูมิปัญญาโบราณ เค้าใช้ ใบขี้เหล็กต้มน้ำ แล้วซัดใส่ปูน ซัดเข้าไป ซัดไปเรื่อยๆ ปูนมันจะหายเค็มเอง ... ว้าววว

ช่างโบราณจะมีกรรมวิธีการทำปูนเป็นเอกลักษณ์ของเอกบุรุษของใครของมัน แล้วมักจะโขลกปูน ทำปูนสด กันบริเวณ สถานที่ที่ก่อสร้างหรือบูรณะเลย ตามภูมิสถานทั่วไปของกรุงเก่าเราจึงอาจจะพบเห็นหลุมขนาดย่อมที่ช่างปูนใช้โขลกปูนอยู่ และพบเศษปูนเกรอะกรังอยู่บริเวณหลุมโขลกปูนด้วยครับ

คำถามมาอีกแล้วครับ รู้หรือไม่ ทำไมเวียนเทียนต้องเวียนขวามือ

การเวียนก็มีอยู่แค่สองทางเท่านั้นล่ะครับ ไม่เวียนขวาก็เวียนซ้าย การเวียนขวา เราเรียกว่า “ทักษิณาวัตร” เวียนซ้าย เราเรียกวา “อุตราวัตร”

แล้วการเวียนขวามันไปเกี่ยวอะไรกับ “ทักษิณ” ทั้งๆที่ทักษิณแปลว่าทิศใต้ ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับ “ขวา” สักหน่อย

เฉลยครับ

เวลาเราจะกำหนดทิศการเดินทางของเรา ทิศที่เราใช้เป็นหลักแล้วดูง่ายที่สุดก็เห็นจะเป็นทิศตะวันออกใช้มั๊ยครับ เมื่อเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้ว หากเราเลี้ยวขวา ทิศที่เราจะเจอเป็นทิศแรกก็คือ “ทิศใต้” ไงครับ ฉะนั้นหากเราต้องการจะเดินไปทิศใต้ ก็ควรต้องตั้งต้นจากทิศตะวันออกก่อน แล้วค่อยเลี้ยวขวา ทำนองใช้ทิศตะวันออกเป็นจุดตั้งต้นน่ะครับ การเวียนขวาจึงเรียกว่า “ทักษิณาวัตร” ด้วยประการฉะนี้

แล้วตามธรรมเนียมเราจะเดินให้สิ่งที่เราเคารพ เป็นมงคลอยู่ทางขวาของเรา ส่วนการเวียนซ้าย มักเป็นการเวียนเอาสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นมงคลอยู่ทางซ้าย เช่น การเวียนนำศพขึ้นเมรุครับ การเวียนขวาก็ทำนองเดียวกัน หันหน้าทางทิศตะวันออก แล้วเวียนทางซ้าย ก็จะเจอทิศเหนือครับ ที่เรียกว่า “อุดร” เราก็เลยเรียกการเวียนซ้ายว่า “อุตราวัตร” แล้วเราก็จะใส่แขนทุกข์ในงานศพ ทางแขนซ้ายด้วยนั่นเอง

เมื่อเราเดินเวียนครบรอบองค์พระเจดีย์แล้ว ก็มาถึงส่วนหลังวัดแล้วครับ ลงบันไดมาก็จะเจอรูปปั้นช้าง เรียงรายล้อมรอบฐานพระเจดีย์อยู่


ตอนแรกไม่คิดว่าเป็นช้างครับ ก็มันไม่มีงวง ไม่มีงานี่หว่า แต่ดูไปดูมา ช้างครับ ช้าง แต่งวงงาหักไปหมดแล้ว หากสังเกตให้ดี เรายังเห็นรอยสีชาติ เขียนลายอยู่ตามตัวช้างอยู่ครับ ท่าทางอดีตคงสวยงามน่าดูชมเลย


กำลังจะเดินกลับขึ้นรถเพื่อไปวัดประดู่ทรงธรรมต่อ ไกด์ตาไวก็หยิบเศษวัตถุขึ้นมา พร้อมกับคำถามว่า นี่คือารายยยย?

ตามฟอร์ม ไม่มีใครตอบได้ สุดท้ายก็ต้องเหนื่อยแรงเฉลยเอง ว่ามันคือ “ไห” พร้อมกับคำถามข้างเคียง ภาชนะทรงแบบใดจึงเรียกไห ท่านบอกว่า ไหนั้นปากต้องกว้างพอที่จะเอามือล้วงลงไปได้ ถ้าปากจู๋เล็กๆ แบบไว้ใส่น้ำปลา ใช้เหยาะๆ ไม่เรียกว่า “ไห” แต่เรียกว่า “จู๋” อันนี้จริงๆนะ คงเรียกตามลักษณะของปากมันที่ “จู๋ๆ”

ไหที่ดีต้องมีหู มีสี่หูได้ยิ่งดี ทำนอง คำเปรยที่ว่า “สาวไม่มีนม ขนมไม่มีไส้ ไหไม่มีหู” ทำนองนั้น พวกนี้ไม่ไหวๆ (จริงๆมีอีกยาวเลย แต่ผมจำคำไกด์แกมาได้แค่นี้จริงๆ)

คราวหน้ามาต่อวัดประดู่ทรงธรรมกันครับ

ค่ำคืนสีแดง

เมื่อวานฟุตบอลอังกฤษมีการแข่งขันก็จริง
แต่ไม่ยักกะมียอดทีมสีแดงแรงฤทธิ์ สองทีมจากเกาะอังกฤษโคจรมาเจอกัน
ดังนั้นจึงไม่อาจเรียกค่ำคืนที่ผ่านมาว่า "วันแดงเดือด" หรือ "ศึกแดงเดือด" ได้
แต่ทำไม ตามท้องถนนเมื่อวาน จึงมีแต่ แดง แดง แดง


นี่ก็แดง


นอกจากแดงแล้ว ยังหมวยอีก ฮ่าๆ

เริ่มจะไม่ได้บุญแล้วล่ะ

ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี้ ฮวดไช้ ครับ

สุขสันต์วันตรุษจีน และสวัสดีปีใหม่ทุกท่าน

เฮง เฮง เฮง./ (เพื่อเป็นการป้องกันใครมาเติมคำอื่นต่อท้ายลงไป แล้วความหมายมันจะเปลี่ยน)