Monday, July 25, 2005

หดหู่

ใจจริงตั้งใจจะอัพบล็อกสักเรื่อง เรื่องเบาๆไปให้ไกลจากประเด็นร้อน ณ เวลานี้ และอยากจะเล่าเรื่องราวในชีวิตของผมให้อ่านกัน

เสมือนจะเป็นการพักสมอง และพักใจ ให้สดชื่น คืนจากเหนื่อยล้า

หมดอารมณ์จริงๆครับ แต่สัญญาว่าไม่นาน ไม่เกินอาทิตย์นี้ ผมจะนำเรื่องราวใหม่ๆ มาอัพบล็อกให้ได้อ่านกัน (มีใครอยากอ่านเรอะ)

แต่วันนี้ ช่วงนี้ขอพักใจก่อนครับ

เพราะผมกำลังหดหู่ กับศรัทธาในสิ่งที่ผมเชื่อ

ผมกำลังตั้งคำถามกับสิ่งที่ผมเชื่อมาตลอด

ผมกำลังให้ค่ากับสิ่งที่ผมเคารพนับถือเหนือสิ่งอื่นใด

ผมอยากจะมั่นใจว่าศรัทธาของผมมันไม่ใช่เรื่องไร้สาระ

ไม่มีอะไรมากหรอกครับ

แค่อารมณ์ธรรมดาของมนุษย์ขี้เหม็นคนหนึ่ง ที่แม้จะเคยเชื่อ แม้จะเคยศรัทธาสิ่งหนึ่งมาตลอดทั้งชีวิต แต่เมื่อเจอลมพายุ พัดปะทะ "ศรัทธา"ของผม ก็โยกคลอนได้ไม่น้อยไปกว่า "ศิลาแปดศอก" หลักนั้นเหมือนกัน

ขอเวลาคิด ขอเวลาฟื้นศรัทธากลับมาอีกครั้ง

หวังว่ามันจะแข็งแรงขึ้น มั่นคงขึ้น

เสมือนว่าพายุลูกนี้ กำลังทดสอบศรัทธาของผม ต่อสิ่งที่ผมรัก สิ่งที่ผมเชื่อ เมื่อมันผ่านพ้นไปแล้ว

ผมเชื่อว่าศรัทธาของผมมันจะแข็งแกร่ง และมั่นคงขึ้นอีก

และผมเชื่อว่าผมคงจะยังไม่ละจากศรัทธาต่อสิ่งนั้น กลับกันมันจะไม่ทำให้ผมลังเลและตั้งคำถามต่อศรัทธาของผมง่ายๆอีก

ผมเชื่อ...

Monday, July 18, 2005

ตามกระแสพระราชกำหนดฉุกเฉินสักหน่อย

ใจจริง วันนี้ผมตั้งใจจะชำระหนี้น้องๆคณะทำงานหนังสือรพีปี 48 ด้วยการเขียนบทความเชิงสังคมกฎหมายสักเรื่อง ตามคอนเซปที่น้องๆ ที่ทำหนังสือวางไว้ ส่วนเพื่อนรักของผมมันก็เขียน แต่มันเขียนเกี่ยวกับการเมืองยุโรป

จริงๆผมสับสนมากมาย เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกเรื่องไหนมาเขียน เพราะมันฟุ้งอยู่เต็มกบาลไปหมด ฟุ้งนี่ไม่ใช่เพราะมันเยอะนะครับ ฟุ้งซ่านต่างหาก

โดยสันดานของผม ผมเป็นคนเข้าใจอะไรได้ลำบากยากยิ่งนัก หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นคน “หัวช้า” กว่าจะเขียนอะไรได้สักเรื่อง อ่านแล้วอ่านอีก คิดแล้วคิดอีก เพราะถ้าไม่มีอะไรเป็นขวัญถุงในหัว มันมักจะเขียนไม่ออก เขียนก็ไม่ลื่น แถมไอ้ที่เขียนน่ะ กลัวมันจะผิดให้คนอื่นเค้าด่าได้อีกต่างหาก

กลับมาเรื่องในวันนี้กัน ผมขอคั่นเวลาสมองในการคิดประเด็นในการเขียนบทความลงหนังสือรพีไปเป็นกลางดึกคืนนี้ และขออนุญาตพูดถึงข่าวเด่นประเด็นร้อนในวงการเมือง และวงการกฎหมายตอนนี้ก่อนดีกว่า

นั่นก็คือ…

การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ในฐานะผู้อยู่ในแวดวงกฎหมาย และในฐานะนักเรียนกฎหมายคนหนึ่ง ผมคงจะละไม่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ แม้จะเป็นแสงหรี่ๆที่ฉายให้เห็นบางด้าน ซึ่งมันอาจจะไม่สามารถทัดทานแสงตะวัน แสงอาทิตย์อันใหญ่โต เจิดจ้าถึงสองดวงที่อยู่ภายใต้รัฐบาลนี้ก็ตามที (แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ดวงอาทิตย์สระอะ หรือดวงอาทิตย์สระอา ที่กำลังร่อแร่...ที่ดวงนึงดับไปแล้ว แต่อีกดวงยังเหนียวอยู่ แต่อย่างใดนะครับ)

ผมพร้อมจะโดนด่า และวิจารณ์ เฉกเช่นเดียวกับนักวิชาการ และผู้วิจารณ์คนอื่นๆ ที่มักจะโดนกระแนะกระแหน และก่นด่าว่า เป็นพวกอยู่ในหอคอยงาช้าง ไม่ได้ปฏิบัติในพื้นที่จริง และไม่รู้จักปัญหาจริงๆ

ก็เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบของผม คงทำได้แค่เขียนและพูด แค่นี้แหล่ะครับ ถ้าเรารู้จักเคารพบทบาทหน้าที่กันและกัน ก็คงเป็นเรื่องง่ายที่จะทดสอบได้ว่าใครกำลัง “บกพร่อง” ต่อหน้าที่ตนเองอยู่ อย่าเอาหน้าที่ตัวเอง ไปวัดและวิจารณ์คนอื่นเลยครับ ไร้ประโยชน์ ได้แค่การกระแนะกระแหนไปวันๆ

อีกอย่างการเขียนบล็อกในวันนี้ของผม ผมต้องขออภัยเพราะผมไม่มีฐานข้อมูลในการเขียนอื่นใด นอกจากข้อมูลที่ได้จากสื่อ เหมือนๆกับที่ทุกท่านได้รับเช่นกัน ผมไม่มีเวลาเตรียมตัวทำการบ้าน โดยไปอ่านหนังสือวิชาการที่เกี่ยวกับอำนาจของรัฐในการตราพระราชกำหนด แม้จะมีหนังสือที่เกี่ยวข้องดังกล่าวอยู่ในมือ และต้องน้อมรับต่อความผิดพลาดในเชิงวิชาการที่อาจจะเกิดขึ้นจากข้อเขียนของผมในวันนี้ เพราะเกรงว่าหากไปนั่งอ่านก่อน ก็จะเข้าอีหรอบเหมือนกับอีกหลายๆงานที่ผมอยากเขียนแต่ไม่ได้เขียนเพราะมัวแต่ไปจมกับข้อมูลมหาศาล ซึ่งเมื่อบวกกับความไม่รับผิดชอบส่วนตัวแล้ว มันจะหายไปตามสายลมและกาลเวลา โดยที่ไม่ได้เริ่มเขียนเลยแม้แต่ตัวอักษรเดียว

สู้เขียนซะก่อน แล้วไปถามหาความสมบูรณ์ภายหลังดีกว่า อย่างน้อยยังได้จัดระบบความคิดตัวเอง ผ่านตัวหนังสือ ได้บ้าง และอาจจะได้ประเด็นอะไรผ่านปลายปากกา และปลายนิ้ว เพิ่มเติมได้

เริ่มกันดีกว่านะครับ ลากยาวเกินไปแล้ว

เนื้อหาในพระราชกำหนดดังกล่าว คงได้ผ่านหูผ่านตาทุกท่านไปบ้างในการนำเสนอข่าวของทุกช่อง ทุกชนิด ของสื่อสารมวลชนภายใต้ฟ้าเมืองไทยแล้ว ในวานก่อน พร้อมทั้งประเด็นถกเถียงมากมายจากผู้เห็นด้วย และผู้ไม่เห็นด้วย (ขาประจำและฝ่ายค้าน) ครั้นผมจะเขียนซ้ำ เล่าข้อมูลซ้ำก็คงไม่มีอะไรใหม่ ผมเอาแต่เฉพาะด้านที่ผมสนใจจะพูดถึงดีกว่า

ผมเข้าใจว่า ตามหลักกฎหมายมหาชนแล้ว เราถือว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” นั่นหมายถึง มาตรการใดๆก็ตามที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะบังคับใช้กับประชาชน อันอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของเขา ต้องมีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ให้กระทำการนั้นๆได้เท่านั้น และกฎหมายดังกล่าว หนีไม่พ้นต้องอยู่ในชั้นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด อันถือได้ว่า เป็นกฎหมายระดับ “ปฏิบัติการ” ที่มียศถาบันดาศักดิ์สูงที่สุด (รองจากกฎหมายระดับ “หลักการ” อย่างรัฐธรรมนูญ)

ความถูกต้องชอบธรรมของรัฐในการตราพระราชกำหนดนั้น ไว้ให้เป็นหน้าที่ของเหล่านักกฎหมายมหาชนประจำบล็อกมาเล่าให้ฟังดีกว่าครับ ไม่แม่นจริงๆอันนี้

ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงจำเป็นต้องรีบหา “ที่มา” หรือ “ความชอบธรรม” ของมาตรการต่างๆนาๆ ที่จะบังคับใช้กับประชาชนในพื้นที่อันตราย หรือพื้นที่ฉุกเฉิน แล้วแต่คำท่านจะประดิษฐ์ ด้วยการตราพระราชกำหนด โดยถือเป็นอำนาจ “ทางลัด” ไม่ต้อง อ้อมไปเข้าสภาก่อนเหมือนการตราพระราชบัญญัติ เพียงแต่เมื่อประกาศใช้แล้ว ค่อยเอาเข้าไปถกเถียงกันในสภาอีกครั้งเท่านั้น

ผมไม่ปฏิเสธว่าการควบคุมสถานการณ์ หรือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น รัฐจำต้องกระทำการอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ มาตรการตามพระราชกำหนดดังกล่าว กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ แน่นอนมันต้องกระทบอยู่แล้ว แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า กระทบนั้น กระทบแค่ไหน เพียงไร มีกรอบหรือมาตรวัดในการพิจารณาหรือไม่ ที่สำคัญ มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจที่เพียงพอหรือไม่

หรือที่พวกเราเหล่านักเรียนกฎหมายคุ้นหูกันดีใน การเรียนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการค้น หรือจับ ควบคุมตัว และสอบสวน ผู้ต้องหา หรือจำเลย อันต้องกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือที่พวกเราเรียกด้านนี้ของกฎหมายดังกล่าวว่า “การควบคุมอาชญากรรม” (crime control) แต่อาจารย์ที่เคารพของผมสั่งสอนผมตลอดมาว่า กฎหมายวิธีพิจารณาอาญานั้นหาได้มีด้านนี้ด้านเดียว แต่ยังมีอีกด้านที่สำคัญไม่น้อยกว่า นั่นคือ กระบวนการควบคุมอาชญากรรมดังกล่าว ต้องกระทำด้วยความถูกต้อง และต้องมีการตรวจสอบถึงความโปร่งใส และดุลของอำนาจเสมอที่เรียกว่า “due process”

ดุลอำนาจนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากอำนาจในการควบคุมและปราบปรามอาชญากรรมนั้นตกอยู่ภายใต้มือของคนใดคนหนึ่ง ในกระบวนการยุติธรรมจึงต้องมีหลากหลายองค์กรร่วมกันใช้อำนาจ และดำเนินบทบาททั้งเกื้อกูลช่วยเหลือ และตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน (check and balance) เพราะการตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความโปร่งใส” (transparency) ยิ่งเป็นมาตรการที่รุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพมากเท่าใด ยิ่งต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ เพื่อให้เห็นถึงความโปร่งใสในการใช้อำนาจมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ ในขั้นตอน “ก่อนใช้” อำนาจ เช่น การให้องค์กรตุลาการ (ผู้เป็นฟันเฟืองหลักในระบบนิติรัฐอย่างที่ etat de droit พยายามพูดถึงตลอด) ออกหมายอาญาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหมายจับ หรือหมายค้น หรือแม้แต่มาตรการที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อการนี้ หลายมาตรการ เช่น การดักฟัง การห้ามมิให้ประชาชนออกจากอาคารบ้านเรือน การอพยพผู้คน การเนรเทศชาวต่างชาติ ฯลฯ

หรือ หาก “จำเป็น” หรือ “ฉุกเฉิน” อย่างยิ่งที่จะต้องกระทำการนั้นๆก่อน มิฉะนั้นอาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในการควบคุมสถานการณ์หรือป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด ก็อาจจะหยวนให้ใช้มาตรการนั้นๆก่อน แล้วหลังจากนั้น เป็นหน้าที่ที่จะต้องเร่งให้มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลต่อไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น เมื่อจับมาแล้ว จะควบคุมตัวผู้นั้นอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ก็ต้องขออนุญาตต่อศาล ทำนองนั้น

สิ่งเหล่านี้ถูกบัญญัติรับรองไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งในส่วนตัวผมถือว่าเป็น “แม่บท” ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านการควบคุมอาชญากรรม หรือในด้านการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจ
หรืออาจจะถือได้ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานี่แหล่ะ ที่เป็น กฎหมายระดับ “ปฏิบัติการ” บทหลัก หรือ “ธรรมนูญ” ของการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่

เป็น “ศิลาแปดศอกตอกเป็นหลัก” ของทั้งอำนาจ และการควบคุมการใช้อำนาจ ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม

แต่ในปัจจุบัน ในยุคที่อำนาจนิติบัญญัติ เป็นแค่สาขาย่อยของ อำนาจบริหารของรัฐบาลนั้น “ศิลาแปดศอก” ดังกล่าว กำลังถูกผลักให้โยกคลอน และมันก็กำลังโยกคลอนจริงๆ

ทำให้ผมคิดถึงประโยคนี้ครับ “ศิลาแปดศอกตอกเป็นหลัก คนมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว”

ผมสังเกตพบว่า บรรดากฎหมายใหม่ๆที่เกี่ยวกับการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำต่อประชาชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมดั้งเดิม ที่ปรากฏในวิฯอาญา (ชื่อเล่นของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาน่ะครับ) เช่น การค้น จับ ควบคุมตัว หรือ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การดักฟัง การยึดอายัดสิ่งของ การห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย การเนรเทศบุคคลต่างด้าว ฯลฯ ล้วนแต่พยายามจะหลีกเลี่ยง มาตรฐานในการถ่วงดุลที่ปรากฏไว้ในวิฯอาญาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ปรากฏอยู่ใน กฎหมายศุลกากร สรรพสามิต ฟอกเงิน คดีพิเศษ ฯลฯ รวมถึงพระราชกำหนดเจ้าปัญหาที่เรากำลังพิจารณากันอยู่นี้ด้วย ซึ่งมักจะมีมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิที่หย่อนยานกว่าในวิฯอาญา

การค้นการจับ ไม่จำเป็นต้องขอหมายต่อศาลก่อน เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ดาษดื่น ในกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เต็มที่คือการให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำการตามกฎหมาย แสดงแค่บัตรประจำตัว แก่ผู้ถูกกระทำแค่นั้น (แมวน้ำที่ไหนจะรู้ว่าจริงหรือปลอมครับ ต่อให้รายละเอียดและตัวอย่างของบัตรจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็เถอะ)

อาจจะอ้างว่า รอขอหมายก็ไม่ทันรับประทาน ใช่ครับ ผมเห็นด้วย ในสถานการณ์บางสถานการณ์เราไม่อาจรอ หมายจากศาลก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการได้ วิฯอาญาก็คิดอย่างนั้นครับ ดังนั้นในวิฯอาญาเอง จึงมีการกำหนดข้อยกเว้นของการค้น และจับได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมาย ซึ่งผมเห็นว่า บทบัญญัติในวิฯอาญาดังกล่าวน่าจะเป็นมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิขั้นต่ำของประชาชนที่เกี่ยวข้อง และเป็นมาตรฐานการใช้อำนาจขั้นสูง ของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายแล้ว

ถ้อยคำที่ปรากฏในวิฯอาญา เกี่ยวกับข้อยกเว้นการค้นและจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจากศาลนั้น ค่อนข้างจะครบถ้วน และผมเห็นว่า มันปรับใช้ได้ในสถานการณ์พิเศษได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น การให้จับบุคคลผู้กระทำความผิดได้ ในกรณีที่ ไม่มีข้อสงสัยใดๆว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิด เช่น เมื่อบุคคลผู้ถูกจับได้กระทำความผิดลงต่อหน้าต่อตา เจ้าหน้าที่ผู้จับกุม หรือที่กว้างขวางตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้คือ เมื่อมี “เหตุอันควรสงสัย” ว่าผู้ถูกจับได้กระทำความผิดมา ทั้งนี้ไม่ว่าเพราะ การสังเกตจากพฤติการณ์ หรือจากการครอบครองอาวุธหรือวัตถุที่สามารถใช้กระทำความผิดที่ปรากฏต่อหน้าเจ้าหน้าที่

แม้กระทั่งจับตามคำขอของใครสักคนที่อ้างว่า บุคคลผู้ถูกจับนั้นได้กระทำความผิด โดยมีการร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว ซึ่งผมถือได้ว่า เหตุจับโดยไม่ต้องมีหมายเหตุนี้ “กว้างขวาง” เพียงพอที่จะเบียดบัง ดินแดนแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วล่ะครับ

สำหรับการค้นโดยไม่มีหมายนั้น วิฯอาญาก็มีมาตรฐานในการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำการค้น สามารถค้นในที่ “รโหฐาน” (สำหรับคำๆนี้ มีประเด็นครับ “ที่รโหฐาน” นั้น ไม่มีนิยามชัดเจนแต่อย่างใด กฎหมายเพียงแต่ให้ความหมายว่า “ที่รโหฐาน” หมายถึง ที่ต่างๆซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานดังบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา (กฎหมายอาญาปัจจุบันนี่แหล่ะครับ กฎหมายลักษณะอาญายกเลิกพ้นการบังคับใช้ไปตั้งแต่ พ.ศ.2500 แล้วครับ)” พอไปเปิดในดูใน ประมวลกฎหมายอาญา (สืบทอดมรดกมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 นั่นแหล่ะครับ) ก็พบว่า คำว่า “สาธารณสถานนั้น หมายถึง สถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้” ฉะนั้นจึงให้ความหมายของ “ที่รโหฐาน” ได้ว่า สถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชน “ไม่” มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้นั่นเองครับ กำปั้นทุบดินดีมั๊ยครับ คำนี้)

เอาเป็นว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นบ้าน หรืออาคารที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน สุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่มีหมายค้นไม่ได้ ทะเล่อทะล่าเข้าไป อาจเจอข้อหา “บุกรุก” ได้รับ เพราะว่า “เข้าไปโดยไม่มีอำนาจ” แต่วิฯอาญาก็ไม่ใจร้ายและเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ขนาดนั้นหรอกครับ เพราะวิฯอาญา กำหนดเหตุ หรือสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ผู้ค้นนั้นสามารถเข้าทำการค้นใน “ที่รโหฐาน” โดยไม่ต้องรอหมายศาลได้ โดยกำหนดเหตุไว้ไม่ว่าจะเป็น

เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน , เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดลงต่อหน้าซี่งได้กระทำในที่รโหฐานนี่แหล่ะ , รวมทั้งการติดตามไล่ล่าอย่างกระชั้นชิด (hot pursuit) คนร้ายที่ทำผิดต่อหน้าตำรวจแล้ววิ่งหนีไปในบ้านของชาวบ้านเค้า อันนี้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องลงทุนนั่งรอจนกว่ามันจะหิวโซเซออกจากบ้านมาเอง เข้าไปได้ครับ , หรือเมื่อไอ้คนที่จะจับน่ะ เป็นเจ้าของบ้านเอง แล้วเจ้าหน้าที่สามารถจับได้โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งนี้ไม่ว่าจะเพราะมีหมายจับไอ้หมอนั่นแล้ว หรือจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติ เห็นได้ว่าวิฯอาญาเอง ก็ไม่ได้คุ้มครองสิทธิอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือเฟ้ออะไรขนาดนั้น ไม่ได้เรียกร้องให้มีหมายถึงสองใบ ทั้งค้นทั้งจับ หากเป็นกรณีที่ไอ้คนที่จะถูกจับมันอยู่ในบ้านมันเอง

และที่กว้างขวางพอตัวในการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย ก็คือ เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ค้นมีความสงสัยตามสมควรว่า สิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน

พูดง่ายๆ ช้าไม่ได้ เดี๋ยวหลักฐานจะหายไปหมด

จะเห็นได้ว่า ทั้งมาตรการค้นและจับโดยไม่ต้องรอหมายศาลนั้น จะต้องมีเหตุอยู่เหตุหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ด้วยถ้อยคำครอบจักรวาลว่า “เหตุอันควรสงสัยตามสมควร” ซึ่งผมถือว่านี่คือกฎหมายที่ให้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาตามสถานการณ์ได้ และยืดหยุ่นไม่เคร่งครัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินบทบาทของการ “ควบคุมอาชญากรรม” ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ลำพังแค่นี้ ก็งงกันเป็นไก่ตาแตกกันแล้วครับ ว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่า “เหตุอันควรสงสัยตามสมควร”

ศาลครับศาล ศาลจะต้องเป็นผู้ทดสอบ หรือตรวจสอบ การใช้ดุลพินิจให้ความหมายตามถ้อยคำดังกล่าว เพื่อวางเป็นบรรทัดฐานในการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต่อไป ว่าไอ้ถ้อยคำที่กว้างขวางดังมหาสมุทรนั้น มีขอบเขตเพียงใด

แต่กว่าเรื่องจะถึงมือศาลครับ…

ผมถึงมีความคิดอคติไว้ก่อนกับบรรดากฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายสามารถค้น หรือจับ บุคคลโดยไม่ต้องกระทำการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในวิฯอาญา เพราะผมคิดว่า ส่วนใหญ่ มักจะถือฤกษ์ “สะดวก” มากกว่าที่จะ “จำเป็น” จริงๆ ที่ไม่สามารถใช้มาตรฐานที่กำหนดไว้ในวิฯอาญาได้

สังเกตได้ว่าข้างต้น ผมจะพูดถึงแต่มาตรการค้นและจับ แต่กฎหมายพิเศษอื่นๆ รวมทั้งพระราชกำหนดฉบับเจ้าปัญหานี้ด้วย ไม่ได้มีแค่การค้นและจับเท่านั้น แต่มีนวัตกรรมทางอำนาจอื่นๆมากมายที่มันสมองของนักกฎหมายในรัฐบาลจะคิดค้นประดิษฐ์ออกมาได้ ไม่ว่าจะด้วยภูมิปัญญาตัวเอง หรือลอกเลียนภูมิปัญญาชาวบ้านเค้ามา

ผมไม่เถียงครับ ว่าในบางสถานการณ์อาจมีความจำเป็นพิเศษที่จะปรับใช้วิฯอาญาได้ไม่ถนัดนัก และการตีความขยายอำนาจของตัว ไม่เป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่จะคิดนวัตกรรมอะไรให้มันบรรเจิดมากมาย เราควรต้องย้อนกลับมามองสิ่งที่มีอยู่ก่อนว่าสามารถปรับใช้ได้เพียงพอหรือไม่ หากมันไม่เพียงพอจริงๆ (พอไม่พอ ผมเห็นว่า ไปเถียงกันในสภาครับ ให้ประชาชนรับฟังจากการถ่ายทอดด้วย ไม่ใช่ นั่งซุบซิบในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเท่านั้น) จะคลอดมันออกมาก็คงไม่มีใครว่าอะไรมั๊งครับ สำหรับการถกเถียงกันก่อนคลอดมาตรการใดๆออกมาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ว่า มาตรการเหล่านั้นมัน “จำเป็น” มากน้อยแค่ไหน “สัดส่วนระหว่างผลประโยชน์จากการบังคับใช้ตามมาตรการนั้น กับสิทธิและเสรีภาพหรือประโยชน์ของปัจเจกชนนั้น ได้ดุลกันหรือไม่” “เป็นหนทางอันสุดท้ายจริงๆหรือไม่” หรือมีแต่ไม่ถึงใจ ไม่ทันใจ พระเดช พระคุณท่าน

และที่สำคัญ “ได้มีการวางมาตรการในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจในการใช้มาตรการนั้นๆไว้อย่างเหมาะสมหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะการยึดโยงกับอำนาจตุลาการ”

มากไปกว่านั้นครับ

ไอ้ที่เขียนๆไว้ในพระราชกำหนดดังกล่าว ล้วนแต่เป็น มาตรการที่มีผลกระทบอันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ ในรัฐธรรมนูญ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย เสรีภาพในการอยู่อาศัยในเคหสถานโดยปกติสุขไร้การรบกวนจากอำนาจรัฐ เสรีภาพในการเดินทาง ออกจากบ้านไปไหนมาไหน เสรีภาพในการเสนอข่าว แสดงความคิดเห็น ซึ่งย่อมหมายรวมถึง “สิทธิและเสรีภาพในการได้รับข่าวสารของประชาชน” และเสรีภาพในการชุมนุมกันอย่างสันติ

เรียกได้ว่า กระทบแทบทุกมิติของสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญกันเลยทีเดียว สนุกดีนะครับ ไม่ได้เห็นฉบับเต็มๆของพระราชกำหนดดังกล่าว เพราะคงต้องอ้างถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่กฎหมายฉบับนี้ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพมายาวเหยียดเป็นหางว่าวแน่ๆ (หรือไม่ได้อ้างวะ)

แล้วบังเอิญกฎหมายรัฐธรรมนูญ เองก็ได้เปิดช่องให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้ หากมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐไว้ คราวนี้ก็สบช่องสิครับ เพียงแค่ออกกฎหมายมาใช้ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถกระทำการอันเป็นการกระทบสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้เลย มันง่ายขนาดนั้นเลยหรือครับ

ถ้าเล่นกันตามเนื้อหากติกา ก็ไม่ง่ายเช่นนั้นหรอกครับ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดในมาตรา 29 ว่า การออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนจะกระทำได้ “เท่าที่จำเป็น” และ “จะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ได้” นอกจากนั้นเหตุผลในการออกมาตรการที่จัดสิทธิและเสรีภาพทั้งหลาย ส่วนใหญ่รัฐธรรมนูญยังเรียกร้องให้ต้องมีเหตุผลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย

แต่จะว่าง่ายมันก็ง่าย โดยเฉพาะหากพิจารณาจากอำนาจของรัฐบาลภายใต้ท่านผู้นำ ณ นาทีนี้ เพราะไอ้ถ้อยคำที่ว่า “จำเป็น” เอย “สาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ” เอย และ “เหตุผลที่ออกเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี” เอย มันช่างกว้างขวาง ปานมหาสมุทร หย่อนมาตรการอะไรออกไป ก็ไม่แคล้ว “เหมาะเจาะพอดี” ไปหมดล่ะครับ

ผมเองไม่ค่อยไว้วางใจ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหาร ณ เพลานี้มากนัก

ผมเห็นว่า แม้มาตรวัดที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ อาจถูกบิดเบือนและบิดเบี้ยว ยังไง แต่ในสติปัญญาผมที่พอมี ผมเห็นว่า เราอาจทดสอบน้ำหนักของมาตรการดังกล่าว ด้วยไม้บรรทัดที่วิฯอาญาสร้างไว้นั่นแหล่ะครับ น้ำหนักแห่งการละเมิดสิทธิ และน้ำหนักของการคุ้มครองสิทธิ ก็ควรจะไม่หย่อนกว่ากันให้มันมากมาย จนน่าเกลียดน่าชังนัก หรือง่ายๆ เราควรต้องรักษาน้ำหนัก ในไลน์เดิมๆ ไว้ไม่ให้มันกระโดดไปมากนัก จนไร้บรรทัดฐาน จนนึกจะออกอะไรก็ออก กลายเป็นสำนักปฏิฐานนิยม ที่เห็นอำนาจนิติบัญญัติยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด
เรื่องของดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชกำหนดฉบับนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่น้อยเช่นกันครับ ไม่ใช่ว่าผมไม่ไว้วางใจ หรือดูถูกดูหมิ่นอะไรท่านนะครับ แต่ประวัติศาสตร์ และประสบการณ์แห่งชาติไทย มันชวนให้คิดตลอดมาว่า ไอ้กฎหมายที่มักกำหนดถ้อยคำอันกว้างขวางในการให้อำนาจไว้นั้น มันเสี่ยงต่อการถูกบิดเบือนได้โดยง่าย โดยเฉพาะไอ้เหตุอันควรสงสัยเนี่ย เพราะทุกวันนี้ก็สงสัยกันให้รึ่มอยู่แล้ว

รวมทั้งอำนาจในการควบคุมตัว ตาม มาตรา 12 ด้วย เพราะเห็นว่าเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุม ตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกิน 7 วัน (มากกว่าในวิฯอาญา หลายเท่า เพราะวิฯอาญากำหนดให้ควบคุมตัวผู้ถูกจับขั้นต้นได้เพียงไม่เกิน 48 ชั่วโมง ก่อนจะต้องส่งให้ศาลตรวจสอบและฝากขังต่อศาลต่อไป) หลังจากนั้นหากต้องการควบคุมตัวให้นานมากกว่า 7 วัน ก็ต้องขออนุญาตศาลครับ โดยขอขยายได้ อีกครั้งละไม่เกิน 7 วัน รวมแล้วจะกี่ครั้ง ต้องไม่เกิน 30 วัน

ปัญหามันอย่างนี้ครับ

คือ หลังจากที่ควบคุมไว้เต็มปรี่ 30 วันแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้ ควบคุมตัวไว้ต่อได้ โดยเลี่ยงให้ใช้ไปใช้การขอฝากขังตามวิฯอาญา แทน แล้วไอ้วิฯอาญาที่ว่าเนี่ย มันฝากขังได้หลายผลัดๆละ ไม่เกิน 12 วัน รวมได้สูงสุดไม่เกิน 84 วัน

คราวนี้ปัญหาคือ ไอ้ที่ว่า ควบคุมได้ 30 วันก่อนหน้าจะมาเข้าช่องวิฯอาญาเนี่ย มันไม่นับรวมน่ะสิครับ หมายความว่า หากควบคุมมา 30 วันแล้ว ยังไม่หนำใจ ก็ใช้ช่องวิฯอาญาต่อ ได้อีก 84 วัน รวมแล้ว 1 2 3 4 …

114 วันเข้าให้แล้วครับ

ไม่แน่ใจว่า ไอ้ที่อยู่ในการควบคุมตัว 30 วัน ก่อนเข้าช่องวิฯอาญา สิทธิที่กำหนดไว้ในวิฯอาญาจะได้นำมาใช้ด้วยหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการที่จะมีทนาย หรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย หรือจะเลี่ยงไปว่ายังไม่มีการสอบสวนตามวิฯอาญา ดังนั้นไอ้สิทธิทั้งหลายในวิฯอาญาจึงไม่นำมาใช้??

นั่นหมายความว่า 30 วัน ตั้งแต่ถูกจับ ผู้ถูกจับจะอยู่ใน “ห้วงสุญญากาศ” แห่งกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่รู้ว่ามันจะถูกจัดไปอยู่ตรงไหน ของกระบวนการยุติธรรม ?? หลายคนในรัฐบาลอาจคำรามว่า “พุทโธ่! เอ็งน่ะคิดมากเกินไป ไอ้เด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม (วัว) ไม่มีใครเค้าคิดร้ายหรอกน่า ทำไปเพราะรักชาติทั้งนั้น เอ๊ะ พูดอย่างนี้ไม่รักชาตินี่หว่าเอ็งอ่ะ เดี๋ยวปั๊ดเหนี่ยว”

คร๊าบ ผมกลัวแล้วคร๊าบ เพราะผมเองเคยได้ยินอาจารย์พูดบ่อยๆว่า “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น นักกฎหมายก็นั่งลง” เพราะคงพูดจากันด้วยเหตุผลไม่ได้แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ดังนี่ครับ ไว้ดังใกล้ๆบ้านผม เดี๋ยวผมเงียบเองแหล่ะ ผมเป็นคนว่านอนสอนง่ายครับ

เหนือสิ่งอื่นใด ที่ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพราะ

ห่วงน่ะครับ กลัวจะอยู่ไม่ครบ 8 ปี

สุดท้ายนี้ผมขอยกประโยคของ Benhard Rehfeld ที่ผมคิดว่ามันน่าจะเข้ากับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี เค้าว่าไว้อย่างนี้ครับ “การค้นพบการนิติบัญญัติเป็นการค้นพบที่น่ากลัวยิ่งกว่าการค้นพบไฟหรือดินปืนเสียอีก เพราะเท่ากับเป็นการมอบชะตากรรมของมนุษย์ไว้กับมนุษย์ด้วยกันเอง”

ผมเอามาจากหนังสือ “นิติปรัชญา” ของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ปรมาจารย์ทางกฎหมายอีกท่านของเมืองไทยครับ

อำนาจนิติบัญญัตินี่น่ากลัวนะครับ เพราะเราเพิ่งค้นพบมันได้ไม่นาน ประสบการณ์ของเรายังไม่สามารถสั่งสอนเราได้ทั้งหมดว่า อะไรที่เราบัญญัติได้ และอะไรที่เราบัญญัติไม่ได้ หรือไม่ควรบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผมตอนนี้ ผมว่าอำนาจนิติบัญญัติที่ใช้โดยคน 500 คน (อาจจะบวกอีก 200 เป็น 700) ยังไงก็น่ากลัวสู้อำนาจนิติบัญญัติที่บัญญัติโดยคนเพียง 36 คนไม่ได้หรอกครับ

แต่เอ๊ะ…

เดี๋ยวนี้เค้าไม่ต้องถึง 36 แล้วนี่หว่า แค่นายกกับรัฐมนตรีผู้รู้ใจอีกหน่อ ก็เทียบเท่าคน 36 คนแล้วนี่

ยิ่งน่ากลัวใหญ่เลยครับคราวนี้

ตัวใครตัวมันครับท่านผู้อ่าน

Thursday, July 14, 2005

ผมกับลูกกลมๆ



หากใครรู้จักผมดีและนาน จะรู้ว่าผมเป็นพวกบ้ากีฬาพอสมควร แม้จะไม่ถึงขั้นแฟนพันธุ์แท้ แต่ผมก็ทั้งเล่นและติดตามทุกครั้งที่โอกาสอำนวย

พูดถึงในฐานะผู้เล่น ผมมักจะถูกโฉลกกับกีฬาประเภทที่ต้องใช้อุปกรณ์ลูกกลมๆ เว้นแต่ บาสเกตบอล และวอลเล่ย์บอล ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ ความสูงของผมมักเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงเสมอ

ฟุตบอล แน่ล่ะคือกีฬาอันดับหนึ่งที่รักทั้งดูและเล่นเอง

ความสามารถในเชิงลูกหนังของผม อยู่ในระดับ "เล่นได้" ไม่ถึงกับเป็นนักกีฬาโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เต็มที่ก็แค่นักบอลคณะสมัยเล่นกีฬาเฟรชชี่ตอนหนุ่มๆอยู่ปีหนึ่ง นอกจากนั้น ก็มักออกลูกบอลวัดเสียมากกว่า ประเภทเอารองเท้าวางเป็นเสาประตู หรือที่เรามักเรียกกันว่า "รูหนู"

สมัยมัธยมผมเป็นพวกบ้าเตะบอลมาก เรียกได้ว่าทุกครั้งที่มีโอกาส จะมาโรงเรียนแต่เช้า เพื่อเตะบอลก่อนเคารพธงชาติ พร้อมกับเข้าห้องเรียนในสภาพเหงื่อโทรมกาย เมื่อเรียนได้สองคาบ ก็จะถึงเวลาพักเบรคระหว่างชั่วโมง พวกผมก็จะรีบแจ้นลงมาหาของกินกันก่อน เพื่อที่ตอนกลางวันเราจะได้มีเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็มๆในการเตะบอลด้วยกัน ไม่ต้องเสียเวลากินข้าว ไม่รวมช่วงเวลาหลังเลิกเรียน ที่พวกผมจะเตะจนกว่าแสงอาทิตย์จะหมด

กระทั่งมิสและมาสเตอร์เริ่มสงสัย จึงได้ออกมาตรการ "ห้าม" กินอาหารกลางวันก่อนเวลาเที่ยง!! ซึ่งก็ห้ามเรามิได้หรอกครับ จนกระทั่งนั่นแหล่ะ ทางโรงเรียนออกกฎเหล็กกับบรรดาพ่อค้าแม่ขายในโรงเรียน ว่าห้ามขายอาหารก่อนเวลาเที่ยง เอากะเค้าสิ

แต่เราก็ไม่ลดละหรอกครับ เพราะเพียงแค่ปีนรั้วโรงเรียน ชะเง้อหน้าไปนอกรั้วเราก็สามารถสั่งข้าวกล่องมานั่งกินกันอย่างอิ่มหนำกันแล้ว พร้อมสำหรับการวิ่งปุเลงๆไล่เตะลูกหนังกันต่อไป ปล่อยให้มิสและมาสเตอร์เกากบาลแกรกๆ

ในยามที่สนามฟุตบอลปิดซ่อม เราจำเป็นต้องหาสังเวียนแข้งแห่งใหม่ ซึ่งเราได้ลองกันทั่วพื้นที่โรงเรียนกว่า 80 ไร่แล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นระเบียงหน้าชั้นเรียน พร้อมกับอุปกรณ์แทนลูกฟุตบอล อันได้แก่ กระดาษขยำหนาเส้นผ่าศูนย์กลางราว 15-20 เซนติเมตร และพันด้วยเทปกาว ประตูก็ได้แก่ขาเก้าอี้เลคเชอร์นั่นแหล่ะครับ

เมื่อระเบียงมันโจ๋งครึ่มเกินไป เราก็ย้ายไปเตะในห้องเรียน ห้องเรียนของพวกพี่มอหกที่เค้าปิดเทอมเพื่อเตรียมตัวเอนทรานซ์กันไปก่อนหน้าพวกผมประมาณสองเดือน เราจัดแจงให้มันเป็นสนามบอลที่มีกำแพงทั้งสี่ด้าน สนุกสนานกันมากครับ สังเวียนฟุตบอลติดแอร์เนี่ย

เมื่อยามมิสหรือมาสเตอร์เดินผ่าน เราจะมีพวก "ต้นหน" คอยดูต้นทาง ส่งสัญญาณเตือนภัย เมื่อภัยใกล้เข้ามาแล้วเราก็จะจัดแจงเอาเก้าอี้มานั่งกันครบคน แล้วเปิดทีวีในห้องทำทีเป็นติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างเอาใจใส่ หากมิสหรือมาสเตอร์ไม่ใส่ใจก็จะเดินเลยไป แต่บางท่านไม่ครับ เพราะอาจจะได้กลิ่นแปลกๆจากไอ้ทะโมนที่ทำทีเป็นผู้ทรงศีล ซึ่งปิดไงก็ไม่มิด ก็เล่นนั่งหอบกันแฮ่กๆ แถมเหงื่อท่วม ฝุ่นฟุ้งกันเยี่ยงนั้น จับได้ก็อาจจะโดนคาดโทษกันด้วยสายตา หรือวาจา แค่นั้นแหล่ะครับ ไม่มีมากกว่านั้น น่ารักจริงๆ

เมื่อครั้งพ้นรั้วแดงขาวแถบฝั่งธน ก้าวสู่รั้วเหลืองแดงสาขารังสิต ผมคิดว่าชีวิตคงเงียบเหงาและต้องห่างหายจากการวิ่งไล่เตะลูกกลมๆเสียแล้ว เพราะไม่รู้ว่าบรรยากาศในมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร จะมีใครบ้ามานั่งเตะบอลกับผมอย่างหามรุ่งหามค่ำแบบนี้อีกหรือไม่ หรือจะนั่งคร่ำเคร่งอ่านตำหรับตำรากันหน้านิ่ว

ผิดคาดครับ เด็กธรรมศาสตร์โดยเฉพาะคณะผม แม่งบ้าเตะบอลมาก แม้ว่าสมัยตอนที่ผมอยู่รังสิตจะไม่มีพื้นที่สำหรับการเล่นกีฬามากนัก แต่พวกผมก็ยึดเอาบริเวณสนามหญ้าข้างตึกบรรยายรวมหนึ่ง อันเป็นนิวาสถานของโต๊ะเด็กคณะนิติที่รายล้อมกันอยู่อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นสังเวียนผืนหญ้า ทั้งๆที่จริงๆแล้ว แถบนั้นเค้าจัดวางให้เป็นสวนสาธารณะ ไว้พักผ่อนหย่อนใจสำหรับนักศึกษา ซึ่งในช่วงนั้นหากมีใครทะลึ่งมานั่งใกล้ๆอาจเกิดโรควูบแบบไม่ทันตั้งตัว ก็เพราะไอ้ลูกกลมๆจากปลายเกือกของพวกผมนี่แหล่ะ

วีรเวรอันไม่อาจลืมได้ของผม ในการเตะบอลตอนอยู่ปีหนึ่ง นอกจากการยิงจุดโทษพลาดทำให้ทีมได้แค่รองแชมป์ ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลเฟรชชี่ ซึ่งจะว่าไปแล้วพวกผมถือว่าเป็นเจ้าบ้านเพราะว่านัดชิงจัดที่ท่าพระจันทร์ (ซึ่งสาบานได้ว่า ณ เวลานั้นสนามฟุตบอลที่ท่าพระจันทร์มีพื้นสนามที่มีคุณภาพมาก เรียกได้ว่าคลิ้นซ์มันสามารถมาถลาได้โดยไม่ต้องเกรงสวัสดิภาพของปอดแต่อย่างใด) ในขณะที่คู่ชิงของผมนั้นคือคณะวิทยาศาสตร์...ก็เห็นจะเป็นเรื่องนี้ครับ

ใครอยู่รังสิตในช่วงเดียวกับผม หรืออาจจะหย่อนบวกลบไปไม่มาก จะนึกภาพออกว่าด้านหน้าอาคารบรรยายรวมหนึ่ง (บร.1) จะเป็นสนามหญ้าซึ่งมีคูระบายน้ำล้อมรอบ ในเย็นวันหนึ่งหลังเปิดเทอมไม่นาน พวกผมได้ยึดที่แห่งนั้น (ก่อนจะย้ายฟากไปสนามหญ้าหลังอาคารแทน ซึ่ก็อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ในวันนั้นนี่แหล่ะครับ) เป็นสังเวียนแข้ง ประมาณว่าจะเตะโชว์หญิงด้วย เพราะมันติดถนน และใกล้อาคารโรงอาหารคนพลุกพล่านมากมาย ปัญหาที่พวกผมประสบบ่อยๆสำหรับการใช้บริการสนามแห่งนี้คือ การที่ลูกชอบตกไปในคูระบายน้ำทำให้ต้องตามเก็บ เสียอารมณ์หลายครั้งหลายคราว ดังนั้นพวกเราจึงมักทำทุกวิถีทางเพื่อตามวิถีบอลให้ทันก่อนที่มันจะตกน้ำ

ขณะกำลังบรรเลงเพลงเข้งอย่างเมามัน ลูกฟุตบอลเจ้ากรรมดันไม่วิ่งไปในทิศทางที่ควร มันมุ่งหน้าสู่คูระบายน้ำ ในฐานะนักบอลมีจรรยาบรรณอย่างผม แน่ครับ อยู่ใกล้สุดก็ต้องวิ่งตามลูกเพื่อทำยังไงก็ได้ไม่ให้มันตกคู ในหุ่นเพรียวลมน้ำหนักห้าสิบต้นๆตอนนั้น ผมยังมีความเร็วพอที่จะวิ่งทันและหยุดลูกไว้ได้ก่อนที่มันจะตกคูไป

ครับ...บอลหยุด แต่คนม่ายยยหยุด

ผมถลาลงคูระบายน้ำ แบบที่นักกระโดดน้ำยังต้องอายม้วน เพราะมันลงแบบสองขาคู่ ดังตูมสนั่น

แรกก็คิดว่ามันไม่ลึกหรอก เพราะขนาดมันก็แค่กว้างเมตรกว่าๆ

ครับ ทีแรกมันไม่ลึกครับ เพราะมันหยุดแค่ต้นขาของผม แต่ข้างล่างสิครับ มันเป็นเลน มันค่อยๆยวบ

ไอ้เพื่อนของผมมันน่ารัก ทุกคนแทนที่จะกุลีกุจอช่วยผม มันกลับช่วยกันยืนหัวเราะเหมือนกลัวจะไม่มีใครเห็น

มันยวบครับ มันยวบ ยิ่งพยายามก้าวขาตะกุยตะกาย มันยิ่งยวบครับ

ช่วยด้วย เลนดูด

มันเล่นดูดยันคางผมเลยครับ เรียกได้ว่าหากผมไม่เงยหน้านี่ เข้าปากเข้าจมูกแน่ๆ

สุดท้ายเมื่อพวกมันทนความอุบาทว์ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าไม่ไหว ก็ช่วยกันฉุดดึงผมให้พ้นจากโคลนตม (ซึ้งว่ะไอ้พวกเวรรรร) พอผมพ้นเปลือกตมขึ้นมาได้ ก็รีบหลบหลังพุ่มไม้ พร้อมกับถอดเสื้อ รองเท้าและถุงเท้า แต่ยังคงเหลือกางเกงกับกางเกงในไว้หน่อย

ผมพยามจะเรียกร้องให้เพื่อนที่พักอยู่หอใน ซึ่งใกล้กับจุดเกิดเหตุที่สุดพาผมไปล้างโคลนเลน ก่อนกลับมาโซ้ยกันต่อ แต่พวกมันกลับเฉยเมยและเล่นบอลกันต่อ แบบไม่สนใจใยดี

ผ่านไปสักสิบนาที เมื่อผมเห็นว่ามันไม่ช่วยผมแน่ๆ ผมก็เลย...

ผมไม่บ้าเดินกลับหอในสภาพนี้หรอกครับ แต่ตัดสินใจลงไปเล่นใหม่ทั้งอย่างนั้นแหล่ะครับ

ดีเสียอีก ไม่มีใครกล้าแย่งบอลจากผมเลย 555 เละและเหม็นซะขนาดนั้นหนิ

ขากลับผมนั่งซ้อนจักรยาน ของผมซึ่งเพื่อนร่วมห้องผมเป็นคนขี่ ในสภาพท๊อปเลส มือขวาหิ้วรองเท้าอันแสนเละ (เสื้อถอดโยนทิ้งไว้หลังพุ่มไม้ เพราะมันเละเกินเยียวยา ซึ่งจากนั้นอีกอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ผมยังคงเห็นมันสงบนิ่งอยู่ตรงนั้นแหล่ะ ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะเก็บไปทิ้งเลยว่ะ) เหม็นก็เหม็น เหนื่อยก็เหนื่อย อยากจะกลับถึงห้องไวๆ ไอ้เพื่อนร่วมห้องเวรของผม กลับขี่แบบกินลมชมวิว อวดร่างเปลือยท่อนบนของผมต่อสายตาประชาชีโดยเฉพาะเพศตรงข้าม

หอพักของผมแยกระหว่างหอชายและหญิงโดยที่จะต้องผ่านหอหญิงซึ่งชั้นล่างจะเป็นโรงอาหารด้วย ก่อนที่จะถึงหอชาย นั่นหมายความว่า จะยังไง แม่งต้องขี่จักรยานผ่านหอหญิง และโรงอาหาร ขณะที่ผมอยู่ในสภาพนั้น พระเจ้าผมพยายามภาวนาให้มันขี่ด้วยความเร็วปานสายฟ้าฟาด เพื่อให้อุจาดแก่สายตาผู้ที่กำลังรับมื้อเย็นกันอยู่น้อยที่สุด

แต่เหมือนมันรู้ ยิ่งใกล้หอหญิงมันยิ่งลดความเร็ว แถมที่เลวร้ายที่สุดคือมันเล่นจอดหน้าหอหญิง พร้อมกับกดกริ่งประจำยานพาหนะเสียอีก ได้ผลด้วยครับ สายตาหลายสิบคู่จ้องมองผมเป็นตาเดียว

ไอ้เพื่อนเวร

กว่าจะลากสังขารขึ้นห้องพร้อมกับต้องซักล้างคราบปฏิกูลทั้งหลาย ก็เพลียแทบแย่

ทั้งเหนื่อย ทั้งเหม็น ทั้งอายว่ะ

กลับมาถึงเหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผมเกริ่นไว้เมื่อตะกี้นี่

เหตุการณ์อัปยศประจำตัวผมเลย

ผมขอนำทุกท่านสู่สนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สาขาท่าพระจันทร์ ในปี 2540 เกมส์นัดชิงชนะเลิศฟุตบอลเฟรชชี่ ระหว่างคณะนิติศาสตร์เจ้าบ้าน และคณะวิทยาศาสตร์ผู้เปรียบเสมือนทีมเยือน

ขณะที่ในเวลาแข่งขันปกติ ทั้งสองทีมเสมอกันด้วยสกอร์สองศูนย์ (0-0) และต้องยิงจุดโทษหาแชมป์โดยไม่มีการต่อเวลาพิเศษไม่ว่าจะเป็นระบบโกลเด้นโกล หรือซิลเวอร์โกล

เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีเพื่อนร่วมทีมของผมยิงจุดโทษพลาดไปก่อนหน้าผมถึงสองคน แต่ไม่มีใครจำได้เลย ทุกคนในคณะจำได้แต่ว่า ผมยิงจุดโทษพลาดและทำให้ทีมแพ้ โอ้เศร้า ผมอยากจะแก้ผ้าเอ๊ยแก้ตัวว่า มันไม่ใช่เพราะผมแต่อย่างใดที่ทำให้ทีมแพ้ ผมคงยิงจุดโทษไม่พลาดหากไอ้เจน เพื่อนร่วมคณะที่มานั่งเชียร์ข้างสนาม ไม่วิ่งลงมากลางสนามเพื่อเอาตะกรุดมาให้ผมใส่ก่อนยิง ทำนองจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของผม ท่ามกลางความตะลึงแกมขบขันของผมชมรายล้อม

ผมถนัดการยิงมุมขวาของตัวเอง เนื่องจากเป็นการแปข้างเท้าด้านใน มุมฝืนของคนถนัดขวาเพราะ เมื่อยิงมุมฝืนแล้ว ลูกมักจะไม่หลุดกรอบ แต่พลันที่ลังเลใจอยู่ เสียงของรุ่นพี่สตาฟโค้ช ก็กลับก้องในหูว่า "ไอ้น้องเอ็งยิงมุมช้อนซ้ายมือ ยังไงโกลก็ไม่มีทางรับได้" ด้วยความเป็นคนเชื่อคนง่ายเสมอมา ผมจึงเปลี่ยนใจกระทันหัน

วินาทีที่สตั๊ดคู่ใจสัมผัสลูกฟุตบอล ผมรู้เลยว่า มันกินพื้นที่น้อยไป นั่นหมายความว่า แทนที่มันจะช้อนและโค้งเข้าสู่พื้นที่ที่ควรจะเป็น มันกลับพุ่งเลียดโค้งเข้าเสา ซึ่งผมได้แต่ลุ้นฉี่แทบราดให้มันมุดๆเสาไป แต่พระเจ้า มันโค้งไปอ่ะ หลุดเสาออกไปโดยที่ทวารฝ่ายนู้นไม่ได้ขยับ แม้แต่นิดเดียว

ผมลงไปนอนก้มหน้ากับฟอร์หญ้า

ก่อนที่สมาชิกคนต่อไปของอีกฝ่ายจะซัดนิ่มๆ เข้าไป แย่งแชมป์ไปจากมือ

ปวดร้าวนัก

ผมพยายามหาเหตุผลให้กับตัวเองว่าทำไมผมจึงเปลี่ยนใจ และยิงหลุดกรอบไป...

พลันผมคว้าตะกรุดขึ้นมาดู ผมก็ได้คำตอบ

ตะกรุดแม่งเอียงซ้าย

เพราะมึงคนเดียวเลย

ไอ้ห่าเจน

(อย่างน้ำขุ่นคลั่ก)

Tuesday, July 12, 2005

ว่าด้วยกฎหมายตราสามดวง (อันเต็มไปด้วยการโฆษณา)

วันนี้เป็นอีกวันที่วิ่งวุ่นครับ

ไม่ได้ไปทำงาน แต่ต้องไปช่วยโครงการฯ เตรียมสถานที่ และนิทรรศการ เพื่อให้พร้อมสำหรับวันพรุ่งนี้

โครงการฯ อะไรหรือครับ…

เล่าย้อนหลังให้ฟังกันหน่อย

เมื่อราวปี 2545 ขณะที่ผมเป็นนักศึกษาอาชีพ อยู่ในปีที่สองของการเรียนปริญญาโท ในวันหนึ่งที่ผมเสร็จจากการทำธุระที่คณะ และกำลังมุ่งหน้ากลับบ้าน ก่อนที่จะลงจากอาคารเรียน ผมได้พบอาจารย์ท่านหนึ่ง ผู้ได้สอนผมในขวบปีแรก ซึ่งต่อมาท่านได้กลายเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผม และนำผมเข้าสู่โลกแห่งงานวิชาการและงานวิจัยอีกนานัปการ

หนึ่งในนั้นคือ การที่อาจารย์ผลักดันให้ผมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “กฎหมายตราสามดวงในฐานะมรดกโลก” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสกว. โดยมีดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส ของสกว. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

ความพิเศษของโครงการดังกล่าว คือ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นศึกษากฎหมายตราสามดวง อย่างจริงจัง และแบบสหสาขาวิชา โดยรวมเอานักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ (ไม่รู้นิยามโดยอะไร) จากหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอักษรศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และกฎหมาย (ไม่ต้องเอ่ยนะครับว่าผมไปอยู่ในโหมดไหน) นอกจากนั้น โครงการนี้ยังได้รับความกรุณาจากบรรดาเกจิอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นหนึ่งในตองอูในสายวิชาต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษาประจำโครงการ ซึ่งผมคิดว่าโครงการฯนี้น่าจะเป็นโครงการที่มีที่ปรึกษาโครงการมากที่สุด

ช่วงรุ่งๆ ปีแรกๆ นับดูแล้ว น่าจะอยู่ที่ 13 ถึง 15 ท่าน ในขณะที่นักวิจัยมีอยู่ไม่ถึง 20 คน เรียกได้ว่าประกบกันตัวต่อตัวยังได้

นักวิจัยส่วนใหญ่ ล้วนเป็นศิษย์เก่าจากรั้วศิลปากรเกือบจะทั้งนั้น บรรยากาศในการประชุมความก้าวหน้าประจำเดือน จึงเปรียบเสมือนการรวมรุ่นศิษย์เก่า

ส่วนผมก็อาศัย เออ ออ ห่อหมกไปกับเค้าด้วย ทั้งๆที่ไม่ได้รู้จักมักจี่อะไรกับใครเค้าเลย

ไปใหม่ๆที่มีเซ็งครับ จะคุยกับใครก็ไม่มีใครรู้จัก และที่สำคัญ ผมเป็นนักวิจัยที่มาจากสายกฎหมายคนเดียว (ถ้าไม่นับคุณกฤษฎา บุณยสมิต อัยการผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ท่านดำรงฐานะทั้งที่ปรึกษาและนักวิจัยในโครงการนี้ด้วย ซึ่งสำหรับคุณกฤษฎา หรือที่ผมเรียกติดปากว่าอาจารย์กฤษฎา ผมไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีคนแบบนี้อยู่ในโลก ในขณะที่ท่านมีภารกิจประจำในฐานะทนายของแผ่นดินอยู่แล้ว แต่ท่านสามารถจัดสรรทั้งสมองและเวลาในการศึกษาอย่างทุ่มเทให้กับกฎหมายตราสามดวง ขนาดที่ว่าท่านน่าจะเป็นดัชนีค้นคำเคลื่อนที่ได้เลย เพียงแค่บอกศัพท์ยากในตราสามดวง ท่านสามารถอ้างอิงถึงตัวพระอัยการที่เกี่ยวข้องที่ปรากฏศัพท์คำนั้นได้อย่างแม่นยำ…โอ้ จอร์จ )

และเป็นผมคนเดียวอีกแหล่ะครับ ที่มาจากรั้วท่าพระจันทร์

ช่วงแรกๆ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวของผมในโครงการนี้อย่างแท้จริง (ทุกวันนี้ยังต้องปรับอยู่เลยครับ) นี่ถ้าไม่เป็นเพราะฝีมือการทำกับข้าวของแม่ครัวประจำบ้านท่านผู้หญิง วรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หนึ่งในที่ปรึกษาประจำโครงการ ที่โครงการผูกปิ่นโตไว้กับท่านทุกวันที่มีประชุม ผมคงเผชิญความลำบากในการดำรงชีวิตอยู่ในโครงการฯ มากกว่านี้แน่เชียว

โครงการนี้วิจัยอะไรครับ…

แน่ครับ ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบหน้า (ผม) ก็คงต้องตอบว่า ก็วิจัยกฎหมายตราสามดวง สิครับ

หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อของ “กฎหมายตราสามดวง” มาตั้งแต่ครั้งเรียนประถม มัธยมขาสั้นกันแล้ว ในฐานะกฎหมายเก่าแก่โบราณที่ไม่มีผลใช้บังคับแล้วในปัจจุบัน หากแต่เป็นประมวล หรือเรียกได้ว่าคัมภีร์ในการปกครองบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา (หรืออาจเก่ากว่านั้น) กระทั่งถึงยุคปฏิรูปกฎหมายให้เป็นสมัยใหม่อย่างตะวันตกในยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าและหก

หน้าที่ของพวกเราในคณะวิจัย ในระยะเวลาสามปีเต็มของการทำวิจัยกฎหมายตราสามดวงคือ ทำอย่างไรให้คนทั่วไปอ่านกฎหมายตราสามดวงเข้าใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยากลำบากแรกสุดของการวิจัยคัมภีร์เก่าแก่เล่มนี้คือ “ภาษา” ที่ไม่เพียงแต่เก่า และยาก หากแต่เพราะมันพ้นกาละไปแล้วครับ แม้แต่ล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าท่านยังเคยทรงปรารภถึงความยาก ในการอ่านกฎหมายตราสามดวงนี้เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว แล้วมาถึงรุ่นเราจะเหลือหรือครับ

ตรงนี้ครับที่เราต้องพึ่งนักภาษาศาสตร์ทั้งหลาย มาช่วยไขคำให้กระจ่าง รวมทั้งนักบาลีศึกษาทั้งหลาย เนื่องจากในแต่บทพระอัยการที่สืบแต่คัมภีร์พระธรรมศาสตร์นั้น ล้วนแต่อ้างบาลีมาเป็นคาถานำเป็นปรารภ ก่อนเข้าสู่เนื้อหาของกฎหมายนั้นๆเสมอครับ

นอกจากนั้น คัมภีร์ดังกล่าว ยังมีส่วนของขนบจารีตประเพณีมากมาย ทั้งในระดับองค์พระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏเนื้อหาหลักอยู่ใน “กฎมณเทียรบาล” และในระดับสามัญชนอย่างเราๆ

ผมเองก็ได้รับความรู้มากมายจากประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น การอยู่ไฟแบบโบราณ ประเพณีการละเล่น รวมไปถึงศิลปะทั้งจิตรกรรม และปฏิมากรรม โดยเฉพาะคราวที่พวกเราได้รับความรู้จาก “ภูมิสถานอยุธยา” ซึ่งเป็นการนำพวกเรากลับสู่พระราชวังโบราณสมัยยุคทองรองเรืองที่สุดแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย

แต่สำหรับผมคงไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจมากไปกว่าการได้ศึกษาและรับรู้ถึงภูมิปัญญาคนโบราณในการระงับข้อพิพาท ให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบและสันติ ทั้งสิทธิหน้าที่ผ่านตัวบทกฎหมาย และการบริหารกระบวนการยุติธรรมแบบโบราณๆ ไว้มีเวลาคงมาเล่ารายละเอียดสนุกๆให้ฟังกันครับ

นอกจากการแปลศัพท์ยากๆ เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจและกระตุ้นต่อมอยากให้ผู้ที่ได้เข้ามาอ่านงานวิจัยเหล่านี้ ได้ศึกษาและเรียนรู้ ต่อยอดคัมภีร์โบราณเล่มนี้ต่อไปแล้ว ภารกิจอีกประการในสามขวบแรกของเราคือ การสกัดประเด็นที่น่าสนใจที่ได้จากการอ่าน พระอัยการแต่ละบท มาวิเคราะห์วิจารณ์กัน เท่าที่เวลาและความสามารถจะอำนวย หรือที่หัวหน้าโครงการท่านเรียกว่ากระบวนการ “สารัตถะวิพากษ์”

แน่นอนครับ ของยากขนาดนี้ ไม่มีทางที่พวกเราจะทำมันได้เสร็จสิ้นกระแสความอย่างสมบูรณ์ได้ภายในสามปี ในส่วนตัวผมเอง หากเราต้องการศึกษาสังคมไทยผ่านแว่นกฎหมายตราสามดวงฉบับนี้อย่างสมบูรณ์ ผมเชื่อว่าต้องใช้เวลา “ทั้งชีวิต” แม้ว่าเนื้อหาของกฎหมายตราสามดวงที่ตกทอดสู่มือของเราจะเหลือเพียง แค่ 1 ใน 10 ของ กฎหมายเก่าสมัยกรุงเก่า แต่ผมก็ยังยืนยันว่า ต้อง “ทั้งชีวิต” ครับ

ไม่อยากคิดว่า หากเอกสารกฎหมายไม่ถูกทำลายครั้งเสียกรุง และเราได้รับมรดกทางปัญญานี้ตกทอดมาทั้งสิบส่วน เราจะเห็นสังคมไทยในสมัยนั้น ได้ “ชัด” และ “สมบูรณ์” เพียงใด ไม่อยากจะคิดว่ากฎหมายตราสามดวงของเรา กับประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งอาณาจักรโรมัน ใครจะยิ่งหย่อนกว่ากัน ในฐานะคัมภีร์แห่งปัญญา

เสียดายครับ เสียดาย

ดังนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี (?) ที่สกว. จะสนับสนุนโครงการนี้ต่อไปอีก สามปี!!! แต่ด้วยความจำเป็นจึงต้องลดการสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ ลงเหลือ ร้อยละ 50 และผมเองยังต้องผูกพันอยู่กับโครงการนี้ต่อไปอีกสามปี……..

วันพรุ่งนี้มีอะไรหรือครับ…

แม้ว่ากฎหมายตราสามดวงจะมีเนื้อหาของกฎหมายดั้งเดิมที่ยืนยาวมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองปฐมบรมกษัตริย์ของอาณาจักรกรุงศรีอธุยา แต่คำว่า “ตราสามดวง” ที่ใช้เรียกชื่อกฎหมายดังกล่าวนี้ ปรากฏอยู่ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 ซึ่งทรงโปรดให้ชำระตัวบทกฎหมายเก่าๆที่หลงเหลือซากจากการเผาทำลายของอริราชศัตรูตลอดกาลของเรา โดยสอบกับคาถาบาลี เพราะทรงเห็นว่า ตัวบทเก่าที่ลอกกันมาแต่ครั้งตอนเสียกรุงนั้น มีส่วนที่วิปลาศคลาดเคลื่อนไปมาก เมื่อชำระเสร็จ (ใช้เวลาเพียง 11 เดือนเศษเท่านั้น) ก็ทรงประกาศใช้กฎหมายที่ทรงโปรดให้ชำระขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2348 และทรงโปรดให้นำตราคชสีห์ ราชสีห์ และบัวแก้ว มาประทับอยู่ ณ ปกของกฎหมายฉบับดังกล่าว และโปรดให้นายอาลักษณ์คัดลอกเป็นสามฉบับ แยกเก็บไว้ที่ ห้องเครื่อง หอหลวง และศาลหลวง โดยเมื่อมีอรรถคดีเกิดขึ้น ให้ผู้พิพากษาตระลาการทั้งหลาย นำเอากฎหมายดังกล่าว ออกมาพลิกตัดสิน โดยหากลูกขุนสังเกตเห็นว่า กฎหมายที่เชิญมาไม่มีตราทั้งสามประทับ ก็ให้รู้ว่านั่นของเก๊ อย่าเชื่อฟังแต่อย่างใด

กฎหมายฉบับชำระแล้วนี้ จึงได้รับการขนานนามมาตลอดจากอดีตครั้งนั้น ถึงปัจจุบันว่า “กฎหมายตราสามดวง” ครับ

ใช่แล้วครับ ปีนี้ พ.ศ. 2548 นั่นก็เท่ากับว่า กฎหมายตราสามดวงฉบับนี้มีอายุครบรอบสองร้อยขวบเข้าให้แล้ว ประกอบกับปีนี้เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันท่านทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 60 ด้วย ทางโครงการวิจัยจึงได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้น โดยใช้ชื่อการสัมมนาว่า

“กฎหมายตราสามดวง : แว่นส่องสังคมไทย ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในโอกาสที่กฎหมายตราสามดวงมีอายุครบ 200 ปี และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นที่ที่ 60 ใน พ.ศ.2548”

งานครั้งนี้จัดขึ้น ณ โรงแรมตวันนารามาดา บริเวณ ถนนสุรวงศ์ ครับ ในวันพรุ่งนี้แล้วครับ (13 กรกฎาคม 2548) โดยสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จพระดำเนินเป็นประธานในพิธี

ในงานจะมีทั้งการเปิดตัวหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ หนังสือ “กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งผมเห็นมาแล้วครับ…

ขอบอกว่าสวยมาก ทั้งภาพและเนื้อหา เราจะได้เห็นภาพพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งขนบธรรมเนียมที่ใช้ในพระราชวัง การรักษาปราสาทราชมณเทียร รวมทั้งวาทะกรรม ต่างๆที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ

รวมทั้งการบรรยายพิเศษ ที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น “พระราชประเพณี พิธีกรรม และขนบประเพณีไทยในกฎมณเทียรบาล” โดยอาจารย์ จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ นี่ก็ที่ปรึกษาในโครงการวิจัย หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจอยู่ครับ

โปรแกรมต่อเนื่องยังไม่จบครับ

ปลายเดือนนี้ (28 – 29 กรกฎาคม 2548) จะมีการสัมมนาและรายงานความก้าวหน้าของนักวิจัยในโครงการ ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการวิจัยนี้ในเฟสสามขวบแรก (ชาวบ้านชาวช่องเค้าขึ้นเวทีเล่าความก้าวหน้ากันแค่ปีละหน แต่โครงการนี้โดยท่านผู้นำที่ฟิตปั๋ง ท่านเล่นให้นักวิจัยขึ้นเวทีกันครึ่งปีครั้ง หรือปีละสองครั้ง มากกว่าคนอื่นสองเท่า ครั้งนี้เลยเป็นครั้งที่หกแล้วครับ…แต่ครั้งนี้ผมยังไม่ได้โอกาสขึ้นครับ เนื่องจากหนีทัพไปจัดการวิทยานิพนธ์ของตัวเองซะหกเดือน งานการในโครงการเลยพอกหางผมอยู่ ไม่มีสิทธิขึ้นล่ะครับ เพราะไม่มีความก้าวหน้าใดๆ หลังจากที่ได้ขึ้นไปหนแรกเมื่อปีมะโว้แล้ว)

มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมายครับ ในการสัมมนาซึ่งเป็นการรายงานความก้าวหน้าของงานวิจัยดังกล่าว โดยเฉพาะกลิ่นของงานครั้งนี้ ดูจะมีโทนที่ทันสมัยเข้ากับยุคคอรัปชั่นเบ่งบานเสียจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของ “พระไอยการกระบดศึก” ซึ่งว่าถึงฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร ที่น่าสนใจสุดๆคือ โทษที่ปรากฏในพระอัยการดังกล่าวครับ ผมเคยเกริ่นๆไปแล้วในบล็อกพี่ปริเยศ เกี่ยวกับ โทษที่เรียกว่า “ทวดึงษะกรรมกร 32 สถาน” เป็นโทษที่เลียนแบบมาจากโทษในไตรภูมิกถา หรือโทษที่จะใช้ลงกับสัตว์นรกนั่นแหล่ะครับ ได้อ่านแล้วสยองกินข้าวไม่ลงไปหลายวันทีเดียว

รวมทั้งพระไอยการอาชญาหลวงและพระไอยการอาชญาราษฎร์ จะว่าไปก็เกี่ยวกับการประพฤติมิชอบในวงราชการ บิดเบือนอำนาจหน้าที่ของบรรดาเจ้าขุนมูลนายทั้งหลาย รวมทั้งความผิดว่าด้วยการละเมิดพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์นั่นแหล่ะครับ และตบท้ายด้วยการอภิปรายพิเศษ เรื่อง “การฉ้อราษฎร์บังหลวงในสังคมไทย อดีต - ปัจจุบัน” โดย คุณกล้าณรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. และดำเนินรายการโดยที่ปรึกษาผมเองครับ รศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส รายละเอียดอุบไว้ดีกว่า ใครสนใจไปในงานเองครับ จัดที่ตวันนารามาดาเช่นเดิม นอกจากนั้นนิทรรศการที่จัดไว้ในงานพรุ่งนี้ ก็ยังคงอยู่โยงให้ท่านได้ยลในวันที่ 28 – 29 ด้วยครับ

ไว้จะนำรายละเอียดมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ

วันนี้ขอตัวไปพักผ่อนเตรียมตัวให้พร้อมกับภารกิจอันใหญ่หลวง (สำหรับผม) ก่อนนะครับ ไว้จะนำบรรยากาศในงานมาเล่าให้ฟัง ได้ข่าวว่า มีการนำเอาต้นฉบับตราสามดวงฉบับพิมพ์ ของหมอบรัดเล เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วมาแสดงไว้ด้วย และยังมีตำราเก่าๆทั้งฉบับพิมพ์ ฉบับเขียนมากมาย ที่เกี่ยวกับกฎหมายตราสามดวงอีกต่างหาก

…………………….

เอ๊ะ นี่ผมติดเขียนบล็อกแฝงโฆษณาประชาสัมพันธ์มาจากใครเนี่ย (ฮา)

Thursday, July 07, 2005

โศกนาฎกรรมแห่งกรุงลอนดอน

จริงๆที่หายไปนี่เพราะผมกำลังสับสนว่าจะหาเรื่องไหนมาเขียนลงบล็อกดี เนื่องจาก ณ นาทีมีหลากหลายเรื่องที่น่าสนใจเหลือเกินในมุมมองทางกฎหมายที่อยากจะเขียนและถ่ายทอดเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาคมบล็อกเกอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตนายแพทย์วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ที่ถูกข้อหาฆ่าหั่นแพทย์หญิงผัสพร ภรรยาตนเอง ซึ่งเป็นคดีโด่งดังเมื่อ ประมาณ 4 ปีก่อน หรือว่าจะเป็นประเด็นที่ได้จากการถกเถียงแลกเปลี่ยนผ่านหัวข้อ “นักเรียนหนีทุน” ของพี่ปริเยศ เกี่ยวกับประเด็นขอบเขตของกฎหมายอาญา ที่ผมมักจะมีแนวคิดโอนเอียงในการ “จำกัด” บริบทของกฎหมายอาญา โดยเฉพาะการจะบัญญัติให้การกระทำใดการกระทำหนึ่งเป็นความผิดอาญานั้น ผมมีแนวคิดในการ “ปฏิเสธ” ไว้ก่อน เพราะผมมีสมมติฐานที่ว่า โลกในยุคปัจจุบันควรจำกัดบริบทของกฎหมายอาญาให้มากที่สุด และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากมันผลิดอกออกผลออกมาในรูปของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เด็กหนีทุน” ข้างต้น หรือประเด็นการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กเมื่อปี 2546 ในการเอาโทษผู้ปกครองที่ “เลี้ยงลูกไม่ดี” หรือปล่อยปละละเลยบุตรของตน ซึ่งผมขออนุญาตตั้งคำถามว่า ปัจจุบันการเลี้ยงลูกไม่ดีเป็นความผิดอาญาไปแล้วหรืออย่างไร

หรืออาจจะเป็นเรื่องการจับแม่ชีเบญจวรรณ เสมาชัยในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชทายาท” ซึ่งผมคาดว่าน่าจะเป็นข้อหาใน มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญานี่แหล่ะ น่าคิดครับว่า การแสดงตนว่าเป็นทายาท หรือเป็นพระราชวงศ์เบื้องสูง ตามข่าวนี่ จะถือว่าเป็นการ “ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” หรือไม่ อย่างไร

หรือว่า ข้อหาดังกล่าวจะกลายเป็น “หลุมดำ” ของประมวลกฎหมายอาญา เหมือนกับ คดี “สติ๊กเกอร์” อันโด่งดังในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นี่ยังไม่รวมปัญหาที่ปวดกระโหลกผมและผองเพื่อนในสำนักงานกฎหมาย เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองในเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบละเมิดเจ้าหน้าที่ ที่ผมและเพื่อนๆไม่เข้าใจว่าทำไมเมื่อหัวหน้าส่วนราชการถูกร้องเรียนและได้รับการชี้มูลจากสตง.ว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนทางละเมิด กฎหมายดันกำหนดให้เฉพาะหัวหน้าส่วนราชการนั้นเป็นคนตั้ง แล้วแมวน้ำที่ไหนจะตั้งกรรมการสอบตัวเองล่ะครับ แค่คิดก็ผิดแล้ว เมื่อสตง.แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้กำกับดูแลเหนือ หัวหน้าส่วนราชการที่ถูกร้องเรียน และมีการตั้งกรรมการโดยผู้บังคับบัญชาหมอนั่นแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ศาลท่านกลับพิพากษาให้การตั้งกรรมการโดยผู้บังคับบัญชานั้นไม่ชอบ ซึ่งส่งผลถึงคำสั่งเรียกเงินคืนทางละเมิดต่อหัวหน้าส่วนราชการคนนั้นไม่ชอบไปด้วย ไว้จะมาเขียนให้อ่านให้ฟังกันครับ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องหลีกทางให้เรื่องนี้ก่อนครับ

โศกนาฎกรรมแห่งกรุงลอนดอน

วันนี้ทั้งวันผมไม่ได้เข้าอินเตอร์เนต ไม่ได้เปิดวิทยุ และไม่ได้ดูทีวีแต่อย่างใด

หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจในการลงสนามปูนเตะฟุตบอล กับพรรคพวกที่ทำงาน ผมก็ขับรถกลับบ้าน ยังไม่ทันเดินผ่านประตูบ้านเลย ก็ได้ยินเสียงรายงานข่าวจากทีวี อื้ออึงไปหมด อารมณ์คล้ายกับการสัมภาษณ์สดรายงานจากที่เกิดเหตุ ครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

หลังจากได้สอบถามกับผู้เป็นมารดาว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น ก็ได้คำตอบกลับมาว่า มีการก่อการร้ายโดยการระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน ถึง 7 แห่ง และที่สำคัญมีการสูญเสียมากมายทั้งเจ็บและตาย

ทั้งๆที่เมื่อวานก่อนยังเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิค ในปี 2012 รวมทั้งการจัดคอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อยู่กลิ่นยังไม่ทันจาง

ที่ผมวิตกมากกว่าปกติเพราะว่าในกรุงลอนดอนมีคนใกล้ชิดของผมร่ำเรียนวิชาอยู่ที่นั่น ผมรีบเปิดคอมพิวเตอร์และออนไลน์ เมื่อได้พบว่าเธอได้ออนไลน์อยู่ และปลอดภัยดี ก็คลายกังวล เราคุยกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสักพัก พร้อมกับความรู้สึกว่าอย่างน้อยช่างเป็นโชคดีของเธอจริงๆที่เมื่อวานเธอเม้าท์กับเพื่อนเพลินไปหน่อย จึงทำให้ตื่นสายและไม่สามารถออกไปทำธุระอย่างที่วางแผนได้ในเช้าวันต่อมา ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดเมื่อเวลา 8.50 น. และสองในเจ็ดจุดที่เกิดเหตุนั้น ห่างจากที่เรียนและที่พักอาศัยของเธอเพียงสองป้ายรถเมล์

ไม่รู้ว่าหากวันนี้เธอแอ๊คทีฟออกไปทำธุระตามแผน ซึ่งน่าจะราว เก้าโมงแล้ว ป่านนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ไม่อยากจะคิด

ไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์ กลุ่มอัลไกดาในยุโรปก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งผมก็ยังติดใจเช่นเดียวกับหลายๆคนที่เคยตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว มันต้องมีคนออกมาแสดงหรืออ้าง “ความรับผิดชอบ” วะ อารมณ์มันเหมือนแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะแก้ไขเยียวยาความเสียหายยังไงไม่รู้

เป็นธรรมดาเมื่อ “หมู่บ้านโลก” แห่งนี้ ถูกรุกราน แม้เป็นเพียงการโจมตี “บ้าน” หลังหนึ่ง ในจำนวนเป็นร้อยๆ ก็ตาม แต่ก็ย่อมกระเทือนถึงความสงบสุขของบรรดาบ้านหลังอื่นๆ ในหมู่บ้านด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวัดจาก “ขนาด” ของบ้านหลังนี้

มิพักต้องกล่าวถึง (สำนวนติดนิ้วของนิติรัฐ) “บ้านเรา” ซึ่งเป็นสมาชิกอันเหนียวแน่นของประชาคมหมู่บ้านโลกแห่งนี้เหมือนกัน ต้องจับตาดูครับว่าหลังจากนี้ คลื่นทุกข์โศก คับแค้น และเกลียดชังลูกนี้ จะกระทบบ้านเราอย่างไร

และจะเกิดอะไรขึ้นกับ บ้านใหญ่หลังนี้ต่อไป พ่อบ้านจะลุกมาตอบโต้การกระทำดังกล่าวหรือไม่ และในรูปแบบใด แต่หากลองไปเคาะประตูเพื่อนบ้านแสนสนิทหลังใหญ่ (กว่า) ผู้มีประสบการณ์ช่ำชองต่อเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อน คงไม่ต้องเดาให้เมื่อยครับว่าจะได้รับคำตอบแบบใด