Friday, May 06, 2005

ว่าด้วยเรื่องหญิงๆ

เมื่อวานผม กับเพื่อนตัวดีของผม และรุ่นน้องอีกคน (สามคนเดียวกับที่ไอ้เพื่อนผมมันอ้างถึงคราวมันเขียนบล็อกรับอรุณเช้าวันใหม่อะไรของมันนั่นแหล่ะครับ ผมอยากจะเปรียบเทียบให้เราสามคนเหมือนรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ผมยกให้มันเป็นสรยุทธ ประเภทวิพากษ์เจ็บแสบ ถามตรงจุด ขุดขึ้นมากระซวก รุ่นน้องคนนั้นคงต้องเป็นอรปรียา เพราะว่าโดนมันโขลกสับเหลือเกิน เหมือนสรยุทธบี้อรปรียาช่วงมาใหม่ๆ ส่วนผม…แหะๆๆ เอกราช เก่งบางอย่างครับ ไม่ดุเดือด นิ่มนวลชวนฝัน จะเหมือนอีกอย่างก็เรื่องสีผิวนี่แหล่ะครับ)

เราคุยกันไปสัพเพเหระ หาหัวข้อไม่ค่อยจะได้ จนกระทั่งไอ้เพื่อนตัวดีของผม ดันเกริ่นออกมาว่า เท่าที่มันสังเกตไม่ค่อยจะเห็นนักวิพากษ์สังคม เป็นผู้หญิงเท่าไร มันตั้งสมมติฐานว่า (ผิดถูกก็ไว้กับมันล่ะครับ เข้ามาแก้เองแล้วกันวะ) ผู้หญิงที่เรียนเก่งๆ มักจะอยู่ในสูตรสำเร็จเด็กเรียน คือ ไปไม่พ้นหนังสือและตำรา พอเจอะเรื่องนอกตำราแล้วไปไม่ค่อยจะเป็น อีกอย่าง ชีวิตหญิงมักจะสิ้นสุดหลังกำแพงแห่งการมีครอบครัว ทำนองนั้นนะครับ

คราวนี้อรปรียาก็ตะหงิดๆ ตามประสา หญิงเก่ง พยายามจะหาช่องเถียง แต่ก็ไม่ทันสรยุทธอยู่ดี (ตามฟอร์ม) ก็ได้แต่ปล่อยสรยุทธแสดงความเห็นต่อไป และแล้วก็เข้าสู่หัวเรื่อง สิทธิสตรีเข้าจนได้ มันทิ้งความเห็นไว้น่าฟังดีครับ ประมาณว่า “กูว่าการต่อสู้ของนักสิทธิสตรีแค่เริ่มก็ผิดแล้ว ทำไมต้องเรียกร้องสิทธิเท่าชาย ชายทำได้หญิงก็ต้องทำได้ นั่นก็เท่ากับยอมรับบรรทัดฐานของชาย เอาบรรทัดฐานของชายเป็นตัวตั้ง แล้วเรียกร้องให้หญิงไปสู่บรรทัดฐานเดียวกัน” เออ ผมว่ามันก็จริงของมัน ผมเองก็เมียงมองประเด็นสิทธิสตรีมาพอสมควร แต่ส่วนใหญ่มองในมุมแคบๆ ว่ากันเป็นเรื่องๆ ไอ้หมอนี่มันแหลมกว่าผมเยอะ ในทัศนะของผม ผมมองว่าสิทธิสตรีมันก็แตกลูกแตกหน่อมาจากสิทธิมนุษยชนนั่นแหล่ะ แล้วค่อยมาแบ่งลูกหลานออกมาเป็นสิทธิพลเมือง สิทธิสตรี สิทธิ…ไปจนถึง สิทธิสัตว์!

สิทธิสตรีที่แท้จริงก็คือการทำให้หญิงเป็นหญิงที่สมบูรณ์ หาได้เป็นการทำให้ชายเป็นหญิง หรือหญิงมาเป็นชายแต่ใดไม่

แล้วยังไงล่ะหญิงที่สมบูรณ์?

คำถามนี้อรปรียารุกไล่สรยุทธของผม

สรยุทธจีบปากจีบคอตอบว่า “ก็หน้าที่แม่ไง เป็นแม่ที่สมบูรณ์ให้ได้ดิ” อรปรียาวันนี้ท๊อปฟอร์มไม่ยอมเอาหลังพิงเชือกเหมือนทุกวันที่ผ่านมา สวนหมัดเด็ดกลับไปอีกว่า “แล้วถ้ามันโสดล่ะ จะเหลือหน้าที่อะไรของหญิงที่สมบูรณ์อีก”

หมัดนี้ทำสรยุทธซึมออกอาการไปนิด โปรโมเตอร์อย่างผม ได้แต่นั่งอมยิ้ม

เพื่อทลายบรรยากาศ ผมแหย่ขาไปกลางเวที พร้อมกับสะเออะ แสดงทัศนะว่า ผมเคยมองหลายมุม แต่ไม่ยักกะมองมุมของมัน ที่ว่า หญิงมักเรียกร้องให้ตัวเองยืนอยู่บนบรรทัดฐานของชาย ทำไมไม่ยืนอยู่บนฐานของตัวเอง แล้วสร้างบรรทัดฐานนี้ให้แกร่ง มันจะโตได้ ไม่งั้นสุดท้าย ก็ต้องผูกติดอยู่กับบรรทัดฐานของชายอยู่ดี แล้วอันตรายหากไม่เปิดตาดูว่า แท้จริงไอ้ที่ชายมันทำได้อยู่ของมัน เป็นเรื่องดีหรือชั่ว จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมอดขำไม่ได้ ขณะเดินทางไปทำธุระผมเปิดวิทยุฟัง ปกติจะฟังแต่รายการเพลง พอดีมีเบรคช่วงข่าว ไม่อยากเปลี่ยนคลื่นเลยปล่อยให้ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่ตัวเองไป วันนั้นมีอยู่ข่าวนึงครับ นักข่าวเล่าเสียงเจื้อยแจ้ว ความว่า ข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งของส่วนราชการหนึ่ง ออกมารณรงค์ เรียกร้องให้ข้าราชการและลูกจ้างส่วนราชการนั้น สามารถใส่กางเกงมาทำงานได้ โดยอ้างว่าเป็นสิทธิสตรี

ผมได้ยินแล้วน้ำตาเล็ด พลางไม่เข้าใจว่า การได้ใส่กางเกงมาทำงาน เกี่ยวกับสิทธิสตรีตรงไหน (ฟะ)

สำหรับประเด็นหน้าที่ของหญิงที่สมบูรณ์ พอมันพูดถึงหน้าที่ของความเป็นแม่ปุ๊ป ไอเดียผมก็บรรเจิด ผมเลยโพล่งออกไปว่า “เออใช่ ถ้าคิดจากฐานของความเป็นแม่ หรือหน้าที่แห่งความเป็นแม่แล้ว ปัญหาเรื่องทำแท้งก็น่าจะใช้ตรรกะนี้อธิบายได้” มันรีบออกตัวกลับมาเลยว่า “เฮ้ย ประเด็นนี้กูเห็นต่างจากมึง” มันว่าต่อว่า “เพราะตอนหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่ได้เป็นแม่” บ๊ะไอ้นี่ “ถ้าไม่พร้อมจริง คลอดออกมาแล้วเป็นปัญหาก็น่าจะให้เอาออกได้” มันว่าต่อ

แต่สำหรับผม ผมคิดคนละฐาน ผมคิดว่า ปัญหาเรื่องพร้อมไม่พร้อม ในการมีบุตร ไม่ใช่เหตุผลโดยตรงที่จะทำลายชีวิตในครรภ์มารดา พูดง่ายๆคือ มีตังค์ไม่มีตังค์เลี้ยงลูก ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการฆ่าเด็ก ไม่มีตังค์เลี้ยงลูก ทางแก้คือ ก็หาตังค์มาเลี้ยงลูก หาเองไม่ได้ รัฐก็ต้องรับไป อย่างน้อยในฐานะ ล้มเหลวในการรณรงค์ให้ความรู้ด้านการคุมกำเนิด และการวางแผนครอบครัว และแท้จริงปัญหามันพันกับเรื่องอื่นจนกลายเป็น “วงกลม” หมดแล้วน่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา การอ้างสิทธิในการทำแท้ง เท่ากับโยนบาปปัญหาเหล่านั้น ให้เด็กในครรภ์เป็นแพะ

ผมล่ะแปลกใจ กรณีการทำแท้ง และการค้าประเวณี นักสิทธิสตรีกลับเรียกร้องให้ ทำได้อย่างเสรี โดยอ้างสิทธิสตรี (จริงๆก็โยงไปถึงสิทธิในการจัดการตนเอง และสิทธิในชีวิตร่างกายด้วยน่ะครับ) แทนที่จะต่อต้านการทำแท้ง เพราะรู้สึกว่านี่คือการปฏิเสธหน้าที่อันสมบูรณ์ของหญิง และต่อต้านการค้าประเวณี เพราะรู้สึกว่านี่คือการทารุณกรรมทางเพศ และการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของหญิง ให้เป็นเพียง เครื่องจักรระบายความใคร่

แท้จริงแล้วมันเป็นสิทธิจริงๆหรือครับ

เรามีสิทธิในชีวิตร่างกาย ขนาดไหนกันเชียวครับ? ผมมองงี้ครับ สิทธิทั้งหลาย แม้ว่าจะดูเป็นสิทธิเด็ดขาดขนาดไหน (เช่น สิทธิในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ใครจะละเมิดไม่ได้) มันก็เป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น ท่านปยุตฺโต ให้ความหมายว่า สมมติ คือ ความจริงที่เห็นร่วมกัน มาจากคำว่า สะมะ ที่แปลว่า ร่วมกัน และ มติ ที่แปลว่า ความเห็น เพราะฉะนั้นมันจะจริงตราบที่ยังเห็นร่วมกัน เมื่อไม่เห็นร่วมกันแล้ว สมมตินั้นก็จะมิใช่ความจริงอีกต่อไป ชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง รวมทั้งสิทธิทั้งหลายที่เราอ้างกัน ก็อยู่ในความหมายของสมมติทั้งสิ้น ไม่งั้นหากเดินเข้าป่าเจอเสือจะหม่ำเรา เราก็ต้องอ้างสิทธิในชีวิตที่ห้ามละเมิดกับมันได้ดิครับ แล้วมันฟังไหมครับ

ต่างจากสัจจะ ซึ่งเป็นความจริงแท้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของใครที่จะเห็นร่วมกัน หรือตกลงร่วมกันหรือไม่

ปัญหาของมนุษย์คือ จะสมมติยังไงให้มันสอดคล้องกับสัจจะ เพราะสมมติอะไรที่มันไม่เป็นไปตามสัจจะสักวันมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

สิทธิของมนุษย์น่ะมีครับ แต่ใช่ว่าเราจะใช้สมมติยังไงก็ได้โดยไร้ขอบเขต เมื่ออาวุธวิเศษของมนุษย์คือสมมติ การจัดการเรียนรู้ และใช้สมมติให้เท่าทันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่มัวแต่ “หลง” สมมติ

ผมมองว่า การที่นักต่อสู้บางคนอ้างว่า นี่คือสิทธิในร่างกายของหญิง ที่หญิงจะสามารถอนุญาตให้ทารกนั้นใช้ร่างกาย หรืออาศัยร่างกายตน ได้หรือไม่ แค่ไหนอย่างไรก็ได้ มองเพียงว่า มันเป็นก้อนเนื้อที่อาศัยอยู่ในตัวหญิงไม่ต่างจากไส้ติ่ง ที่หญิงจะยินยอมให้หมอผ่าทิ้งเสียเมื่อไรก็ได้ เป็นการสร้าง “วาทกรรม” เพียงด้านเดียว มองแต่ความต้องการของหญิง ในการจัดการตนเอง

ผมมีให้มองอีกหลายด้าน

1. หลายกรณีหญิงไม่ได้ทำแท้งด้วยตนเอง แต่กลับใช้ผู้ประกอบวิชาชีพ คือ แพทย์เป็นผู้ทำให้ คราวนี้ มองในมุมของแพทย์ เค้าต้องยอมกระทำตามที่หญิงท้องร้องขอ โดยดุษณีหรือไม่ ถ้าใช่ แล้วหน้าที่แห่งความเป็นผู้ประกอบวิชาชีพล่ะ อยู่ตรงไหน หน้าที่ของแพทย์ คือรักษา ไม่ใช่ทำลาย คือการกอบกู้ ไม่ใช่การฆ่า (ทำนองเดียวกับ การกระทำการุณยฆาต หรือ euthanasia ที่ไว้วันหลังคงจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอีก)

2. มองในด้านกลับของหญิงเอง นั่นคือ ฐานของหน้าที่ เราคุ้นชินกับการมองอะไรในแง่ของสิทธิ ตามอย่างตะวันตก ที่รักษาสมดุลของสังคม ด้วยการให้สิทธิ แต่ในโลกตะวันออกอย่างเรา ผมเข้าใจว่า เรารักษาสมดุลของสังคมด้วย การปฏิบัติตามหน้าที่ หน้าที่ของความเป็นแม่น่ะครับ บางคนเถียงผมโดยบอกว่า หน้าที่ของความเป็นแม่ มันขึ้นอยู่กับหญิงนั้นเค้าจะรับหรือไม่รับโว๊ย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ถ้าหญิงนั้นรับ หน้าที่ของความเป็นแม่จึงเกิด ผมล่ะก็งง ถ้าไม่รับแล้วมันจะป่องได้ไง (ฟะ) แล้วทำไมไม่ปฏิเสธตั้งแต่มันยังไม่จิ้มเข้าไปในไข่ล่ะ

ผมว่าหน้าที่ของความเป็นแม่มันเกิดขึ้น ตั้งแต่ชีวิตในครรภ์มารดาถือกำเนิดแล้วล่ะครับ

กฎหมายในปัจจุบันของไทย ก็เดินตามแนวคิดนี้

หลักกฎหมายคือ ห้ามทำแท้งทุกกรณี นั่นหมายความว่า ไม่ว่าหญิงจะทำแท้งด้วยตัวเอง หรือ ให้ผู้อื่นทำแท้งให้ หรือแม้แต่การที่หญิงถูกทำแท้งโดยไม่ยินยอม ทุกกรณีผิดหมด แต่กฎหมายเปิดช่องให้มีการทำแท้งได้ โดยไม่ผิดกฎหมายใน 2 กรณี

1. การตั้งครรภ์ต่อไปจะส่งผลร้ายต่อชีวิตของหญิงนั้นเอง เช่น ครรภ์เป็นพิษ ทางเดียวที่จะรักษาชีวิตมารดาได้ คือ ต้องสละชีวิตเด็กนั้นซะ จะเห็นได้ว่า เรื่องนี้มันมีชีวิตสองชีวิตที่ขัดกัน หากจะรักษาชีวิตหนึ่ง ทางเดียวคือ ต้องทำลายอีกชีวิตหนึ่ง กฎหมายเห็นว่า ผู้กระทำ ไม่สมควรมีความผิด การทำแท้งครานั้นก็เพื่อช่วยชีวิตหญิง ซึ่ง เป็นมารดา โดยมองว่า หากเลือกที่จะชั่งน้ำหนักประโยชน์แล้ว ชีวิตของมารดา มีค่ามากกว่าชีวิตของทารกในครรภ์มารดา การทำแท้งหญิงนั้น ก็เพื่อช่วยชีวิตหญิงนั้นเอง โดยกฎหมายมีหลักประกันความปลอดภัยให้หญิงด้วยว่า ผู้ทำแท้งให้หญิง ต้องเป็นแพทย์ด้วย และหญิงนั้นต้องยอม (แต่ผมมองว่า การยอมไม่ยอมนี่ยังเป็นประเด็นรอง หากจะมองการช่วยชีวิตหญิงนั้นเป็นหลักครับ ไว้มาว่าต่อ เรื่องความยินยอมนี้โดยเฉพาะ)

2. กรณีทำแท้ง ด้วยเหตุที่ การตั้งครรภ์นั้น เกิดจากการละเมิดกฎหมายอาญา เช่น การพรากผู้เยาว์ การข่มขืนกระทำชำเรา คนกระทำต้องเป็นแพทย์ และหญิงก็ต้องยอมตามสูตรข้างบนด้วยครับ อันนี้ผมมองว่า น่าจะเป็นเส้นแบ่งที่ใกล้ที่สุดที่กฎหมายจะยอม ให้ ความต้องการ หรือไม่ต้องการทารกในครรภ์ของหญิง อย่างน้อยชัดเจนว่า กระบวนการก่อให้เกิดเด็ก หญิงหาได้ยินยอมแต่อย่างใด และผมมองว่าการข่มขืน เป็นอะไรที่หนักหนาสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งมาก ซึ่งต่างจาก กระบวนการกำเนิดเด็ก ที่ยินยอมพร้อมใจกันทั้งคู่

จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ความจำเป็น ที่แวดล้อมการทำแท้ง ได้ตามกฎหมายนั้น เป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากไปกว่า การพิจารณาว่าหญิงนั้น จะอ้างสิทธิในร่างกายตน เนรเทศลูกออกไปอยู่นอกไส้ และผมก็ไม่คิดว่า จะมีหญิงคนใด ตั้งท้องเพื่อจะทำแท้ง โดยอ้างเหตุเพียงเพราะความเป็นเจ้าของร่างกาย เช่นเจ้าของบ้านไม่ต้องการให้ใครอาศัยแล้วก็ไล่ออกไปเท่านั้น

ผมกลับมองว่าสถานการณ์ที่บีบบังคับ ให้ต้องมีการทำแท้งนั้นต่างหากที่มีน้ำหนักมากกว่า เมื่อเราเน้นน้ำหนักที่ตรงจุดนี้แล้ว มันจะทำให้เราไปต่อได้โดยตรรกะ คือ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดๆ ที่เราควรจะให้เกิดการทำแท้งขึ้นได้ มันเป็นภาวะวิสัย แล้วออกแบบได้ง่ายกว่าผมว่า นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้เอาองค์ความรู้ต่างๆในสังคม เช่น ศาสนา วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา มาช่วยกันวิเคราะห์และหาทางออกที่เหมาะสม และยอมรับได้

ตัวอย่างเช่น หากจะมีกรณีที่หญิงสามารถทำแท้งได้ต่อไป ก็น่าจะคิดจากตรรกะดังกล่าว เช่น ความรู้ทางการแพทย์สามารถวิเคราะห์และทำนายได้ว่า เด็กที่อยู่ในครรภ์หญิงนั้น จะต้องมีกายพิการแน่นอน (แน่นอน นี่คือ ต้อง 100 เปอร์เซนต์นะครับ ความกังวลและความทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่จำนวนมากน้อยของโอกาสที่จะเกิด จำนวนโอกาสน้อยเท่าไร ก็ยังทุกข์ครับ หากเอาออกแล้วปรากฏว่าไม่เป็น แม้เปอร์เซนต์จะน้อยแค่ไหน หมอรับผิดชอบไม่ไหวหรอกครับ) อย่างนี้ก็มีน้ำหนักพอจะยอมรับให้เกิดการทำแท้งต่อไปได้

อาจาารย์ปยุตฺโตท่านกล่าวไว้ว่า บนเส้นทางแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ล้วนต้องอยู่กับสิ่งที่ต้องเลือกทั้งสิ้น ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่า เราเลือกอะไร แค่นั้น มันอยู่ที่ว่า เราเลือกเพราะอะไร และเราคิดดีแล้วหรือยัง เรารับผิดชอบสิ่งที่เราเลือก ตอบคำถามให้ตัวเองและผู้อื่นได้หรือไม่ ว่าเราเลือกเพราะอะไร หากเราคิดดีแล้ว รอบคอบที่สุดแล้ว ในปัญญาที่เรามีอยู่ขณะนั้น แล้วลงมือกระทำไป แม้สิ่งนั้นจะเป็นบาป ก็เป็นบาปที่ยอมรับได้ หรือที่ท่านบอกว่า เป็นบาปที่จำเป็น นั่นเอง แต่เรายังต้องระลึกไว้เสมอว่า ที่ทำน่ะยังบาป เพราะเหตุใด ตราบใดที่เรายังคิดว่ามันเป็นบาป เราจะกระทำด้วยความระวัง และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ และพยายามหาทางออกที่ไม่ต้องทำบาปอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาก็เกิด จนกระทั่ง การหาทางออกได้โดยไม่ต้องทำลายชีวิต นั่นย่อมเป็นการพัฒนาอย่างแท้จริง

เพื่อนผมมันยังยกประเด็นต่อไปว่า แล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อ แม้กฎหมายจะเอาผิดกับการทำแท้ง แต่สถิติการทำแท้งเถื่อนในประเทศไทยกลับพุ่งสูงปรี๊ด ปีละ 300000 ราย ในขณะที่ฮอลแลนด์ เปิดให้ทำแท้งได้เสรี กลับมีสถิติการทำแท้งถื่อนน้อยที่สุดในโลก

เอ้า ก็แน่ดิวะ ถ้ามันทำได้โดยไม่ผิด สถิติการทำแท้งที่ผิดมันก็ต้องน้อยลงอยู่แล้ว (อันนี้ผมคิดในใจ) มันยกตัวอย่างว่า เหมือนกับ เรื่องโสเภณี บ่อน ยา
มันชั่วอยู่ในตัว แต่ที่ต้องทำให้ถูกเพราะนิตินโยบาย (นี่แหล่ะรัฐศาสตร์ในนิติศาสตร์ล่ะครับ…ฮา) ผมกลับมองว่า นี่มันตรรกะเดียวกับที่นายกเหลี่ยม ขุดเอาของใต้ดินมาหายใจบนดินนั่นแหล่ะ ชนะมันไม่ได้ ก็เป็นพวกกะมันซะเลย

ถ้าแก้ปัญหายาไม่ได้ ก็ทำยาขายเองเลย ให้องค์การเภสัชทำ รับรอง ความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดลดลงฮวบฮาบ เพราะรัฐขายถูกกว่า ใครๆก็จะกลายมาเป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ของรัฐ เหมือนกับขายหวยบนดิน

ผมมองว่า วิธีคิดอย่างนี้มันยังแปลกๆอยู่ การจับไม่ได้ ปราบปรามไม่ได้ มันเป็นปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด ชอบหรือไม่ ปัญหาเกิดตรงไหนคงต้องตามไปแก้ตรงนั้นน่ะครับ บังคับใช้กฎหมายยังไงดีล่ะ ตรงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคิด ต้องพิจารณา และต้องหาทางออก ไม่ใช่ เหนื่อยกับการบังคับกฎหมายที่ไม่ได้ผล แล้วพาลไปยกเลิกความผิดนั้นซะ นอกจากนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์ความรู้ด้านกฎหมายเท่านั้น ดังที่ผมว่าไว้แล้วว่าตอนนี้ปัญหามันบรรจบกันเป็นวงกลมเรียบร้อยแล้ว จะแก้มันต้องแก้ทุกภาคส่วน การแก้ไขปัญหาโดยการยกเลิกความผิดฐานทำแท้ง เป็นแค่เพียง การหารูระบายปัญหา จากภาคส่วนอื่นแค่นั้น

อันนี้ต่างจาก กรณีผัวขโมยเงินเมีย เมียขโมยเงินผัว นี่ก็นิตินโยบาย หรือรัฐศาสตร์ในนิติศาสตร์เหมือนกัน กฎหมายไม่เอาโทษ (แต่ยังผิดอยู่นะครับ) เพราะเป็นเรื่องในครอบครัว ขืนจับติดคุกล่ะแย่อีก ลูกไม่รู้จะอยู่กับใคร

ผมพามาไกลจากเรื่องที่เราคุยกันมามากมาย

สรุปได้ว่า ผมน่ะไม่คัดค้าน และไม่ได้เป็นปรปักษ์กับสิทธิสตรีแต่อย่างใด ผมกลับนิยมยกย่องและพร้อมจะร่วมด้วยช่วยกันเสมอ ผมเพียงแต่ต้องการให้การต่อสู้เรียกร้อง ในเรื่องต่างๆ มันเดินทางให้ถูก ยิงให้ตรงประเด็น ไม่ใช่ไปต่อสู้เรื่องโน่นเรื่องนี้ ที่มันไม่ใช่เรื่อง แทนที่จะสร้างน้ำหนัก กลับเป็นเป้าโจมตี ดูคล้ายเป็นตัวตลกเสียเอง (ดูเจ๊เบียบ)

ผมเกิดมาในครอบครัวที่แม่เป็นใหญ่ รักแม่ ย่า และยาย ทำนองครอบครัวขยายสมัยก่อน ผมเชื่อว่า เชื้อมันก็ไม่น่าจะทิ้งแถวไปไหน หากผมมีเมีย ก็ไม่แคล้ว เข้าสมาคมเดียวกับพ่อผมแน่ๆ สมาคมเกรงใจภรรเมีย

จ๊ะ แม่จ๋า ……………………………………………………….. แป๊ปเดียวจ๊ะ…………

ไปก่อนนะครับ แม่เรียกกินข้าวหลายรอบ ตะหลิวจะลอยแล้ว

7 Comments:

Blogger suthita said...

อ่านเรื่องทำแท้ง และยานี้แล้ว นึกถึง " หวยบนดิน" อย่างที่พี่ว่าเนอะ....

( วันนี้มีผู้หญิงมาคอมเม้นก่อนนะ อิอิ )

อรปรียา มารายงายตัวค่า

8:06 AM

 
Blogger Etat de droit said...

ไว้กูคิดได้ตกผลึกเมื่อไรตะมาตอบโต้ด้วยในประเด็นนี้

โดยเฉพาะเรื่อง legalize การทำแท้งและการุณยฆาต

ผมยืนยันอีกคนครับว่าเพื่อนผมคนนี้เป็นเฟมินิสต์ของแท้ และเป็นเฟมินิสต์ที่สมเหตุสมผลด้วย

เพื่อนผมคนนี้มันให้เกียรติผู้หญิงมาก ไม่ดูถูกผู้หญิง ยกย่องผู้หญิง บางทีเห็นผู้หญิงเป็นใหญ่เสียอีก

ผมเคยถามมันว่าถ้าอั้ม พัชราภานุ่งผ้าขนหนูมาหามึงที่ห้อง ขอนอนด้วยจะทำไง

มันตอบว่ามันให้นอน ส่วนมันจะไปนอนพื้น

ผมถามมันต่อว่าถ้าเค้าบอกว่าหนาวล่ะ

มันตอบว่า มันจะลุกไปหาผ้าห่มหนาๆมาห่มให้โดยไม่ทำอะไรให้เค้าเสียหาย

โอ้ พระเจ้าจอร์จ เห็นมั้ยครับว่ามันให้เกียรติผู้หญิงขนาดไหน

แล้วอย่างนี้สาวที่มันเมียงมองไว้จะไม่ใจอ่อนให้มันสักนิดเหรอครับ

ส่วนที่มันบอกว่าผมเป็นสรยุทธอะไรนั้น ผมขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิงด้วยเหตุผลห้าประการ

หนึ่ง ผมเป็นคนอ่อนโยนต่อเพศแม่มากๆ

สอง ผมไม่อ้วนเท่าสรยุทธ

สาม ผมใส่คอนแทกเลนส์แล้ว

สี่ ผมไม่ขยันบ้างานเท่ากับสรยุทธ

และห้า ผมไม่ได้เงินเดือนเป็นล้านอย่างเค้าครับ

4:40 PM

 
Anonymous Anonymous said...

แวะมาอ่านครับ ไม่มีความเห็นเรื่องสิทธิสตรีเพราะผมเป็นบุรุษ 555 แต่ชอบเข้าใกล้สตรี

7:46 PM

 
Blogger ratioscripta said...

ขอบคุณคร่าบ ที่แวะเวียนมาอ่าน

สำหรับมึง กูรอความเห็นของมึงอยู่ (ด้วยจิตหฤหรรษ์...ฮา) ความเห็นมึงคงทำให้กูมองอะไรรอบขึ้น และคงส่งผลดีต่อวิทยานิพนธ์กูต่อไป (ถ้ากูมีเวลาแก้นะ...อาจารย์ยังไม่เรียกสอบเลยว่ะ)

กูว่ายังไงมึงก็เป็นสรยุทธด้วยเหตุผล 5 ข้อ

1. สรยุทธก็รักแม่ และอ่อนโยนต่อเพศแม่เหมือนกัน และน่าจะมากกว่ามึงอีก เพราะเค้าไม่เลือกที่จะอ่อนโยนกับเฉพาะบางคน .... ไม่เหมือนมึงงงงงงงง

2. มึงกำลังจะอ้วนเท่าสรยุทธ

3. ซักวันสรยุทธอาจจะพิศมัย บอลช แอนด์ ลอมบ์ หรือ แอคิวิว ก็ได้ใครจะรู้

4. ถ้ามึงรายได้เท่าสรยุทธ มึงจะขยันและบ้างานเท่าเค้าเองแหล่ะ โดยเฉพาะ นั่งอ่านข่าว เขียนข่าว และเล่าข่าว ซึ่งมึงเองก็ทำทุกวันอยู่แล้ว

5. ตามข้อ 4 ล่ะวะ

สำหรับคุณปริเยศ ขอบคุณครับที่แวะเวียนมาสม่ำเสมอ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นเหมือนคุณ

แต่ยังไม่ยักกะมีใครให้ใกล้ซะที...แหะๆๆ

8:19 PM

 
Blogger Etat de droit said...

อ่านละเอียดๆอีกทีมีประเด็นหนึ่งที่มึงเข้าใจผิดไป

ท่อนนี้...

"เพื่อนผมมันยังยกประเด็นต่อไปว่า แล้วจะทำอย่างไร ในเมื่อ แม้กฎหมายจะเอาผิดกับการทำแท้ง แต่สถิติการทำแท้งเถื่อนในประเทศไทยกลับพุ่งสูงปรี๊ด ปีละ 300000 ราย ในขณะที่ฮอลแลนด์ เปิดให้ทำแท้งได้เสรี กลับมีสถิติการทำแท้งถื่อนน้อยที่สุดในโลก

เอ้า ก็แน่ดิวะ ถ้ามันทำได้โดยไม่ผิด สถิติการทำแท้งที่ผิดมันก็ต้องน้อยลงอยู่แล้ว (อันนี้ผมคิดในใจ"

กูหมายถึงว่าฮอลแลนด์อนุญาตให้ทำแท้งเสรี แต่อัตราการทำแท้งน้อยที่สุด หมายถึงอัตราทำแท้งทั้งหมดน่ะ ไม่ใช่ทำแท้งเถื่อน

เอาเข้าจริงระยะเวลาที่ให้ทำแท้งนานขนาดนั้นคงไม่จำเป็นต้องไปทำแท้งเถื่อนอยู่แล้ว

อัตราทำแท้งมากหรือน้อยไม่น่าจะขึ้นกับกฎหมายให้ทำแท้งเสรีหรือไม่ กูว่านะ

หลายประเทศให้ทำแท้ง แต่คนทำแท้งยังน้อยเลย

แต่บ้านเราไม่ให้ทำ ยังเยอะ

แสดงว่า กฎหมายที่กำหนดโทษอาญาสูงๆไม่ได้ขู่ให้คนกลัวได้เลย ก็คนมันคิดว่าจำเป็นแล้วในขณะนั้น มันไม่แคร์แล้วว่ากฎหมายไม่ให้มันทำ

แล้วของที่เราว่า "ชั่ว" มันก็ต้องชั่ววันยังค่ำ กฎหมายจะว่าผิดหรือไม่ผิด มันก็ต้อง "ชั่ว" ในตัวมันเองอยู่ดี แม้กฎหมายจะให้เสพกัญชาเสรี (แค่กัญชานะ ไม่ใช่ยาเสพติดทุกชนิด เดี๋ยวจะหาว่าผมสนับสนุนให้ยาบ้าอยู่บนดินซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกยอมหรอกครับ)แต่แน่นอนคงไม่มีพ่อแม่คนไหนสนับสนุนให้ลูกสูบ

บ่อน หวย เราว่า "ชั่ว" ศีลธรรมก็กำกับเราอยู่ในใจแล้วว่า "ชั่ว" แน่ๆ แม้เราเอามาบนดิน ก็คงไม่มีใครบอกให้ลูกตัวเองเข้าบ่อน พ่อกะแม่สนับสนุน

ในทางกลับกัน ถ้าเรา legalize ของพวกนี้ก็เป็นการตัดตอน มาเฟียและผู้ที่ได้ประโยชน์กับกระบวนการขายของพวกนี้

คือ ดูจากจำนวนที่พุ่งสูงปรี๊ดในเรื่องที่เราว่า "ชั่ว" ในบ้านเราแล้ว มันก็น่าคิดจะกำหนดโทษสูงยังไงก็ป้องกันไม่อยู่ ยิ่งกว่านั้นพอโทษสูง ของยิ่งแพง คนยิ่งอยากเข้ามาเสี่ยงร่วมขบวนการ เพราะผลประโยชน์มันเยอะดี

ขอเวลาอีกสักระยะจะมาแลกเปลี่ยนใหม่

2:32 PM

 
Blogger ratioscripta said...

ขอโทษอย่างแรงว่ะ กูเข้าใจผิดจริงๆ

เห็นด้วยนะว่า การแก้ปัญหาด้วยการกำหนดโทษสูงๆมันไม่มีประโยชน์ตราบใดที่เรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถปราบปรามและบังคับใช้ตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การแก้ปัญหาโดยการบัญญัติโทษสูงๆ รังแต่จะก่อให้เกิดผลร้าย และเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมิจฉาชีพอื่นใช้ความรุนแรงของโทษหาผลประโยชน์ได้ด้วย

ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงไม่ได้อยู่ที่บริบทของกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะบัญญัติเป็นความผิดหรือไม่ มันก็ไม่ได้มีผลทำให้สถานการณ์การทำแท้งมันดีขึ้นมา

แม้จะแก้ไข ยกเลิกความผิดเกี่ยวกับการทำแท้ง ก็เช่นกัน

ข้อดีที่จะเกิดขึ้นหากยอมรับให้มีการทำแท้งเสรี ก็คือ สาธารณสุข สามารถวางหลักเกณฑ์และควบคุมให้สถานพยาบาลต่างๆ ให้บริการการทำแท้งด้วยความปลอดภัยต่อหญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่ต้องแอบๆซ่อนๆทำ

เหมือนที่ใช้ตรรกะนี้คิดในเรื่องทำให้หวย และบ่อนมาหายใจบนดิน แต่นั่นมีแรงจูงใจเรื่อง "รายได้" ที่จะเข้ารัฐ อีกประการหนึ่งด้วย

ผมยังคงมองว่า การกระทำดังกล่าวมันก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะพึงประสงค์อยู่ดี การที่เราจะยอมรับบาป หรือ การทำชั่ว ให้มันเกิดขึ้นได้ในสังคม

มันต้องเป็นกรณียกเว้นจริงๆ หมดหนทางเยียวยาแก้ไข ซึ่งผมยังไม่เห็นว่าเรื่องการท้องก่อนเวลาในสังคมไทย จะไร้ทางแก้ไขเยียวยาแต่อย่างใด และมันก็คงไม่ได้อยู่ในบริบทของกฎหมายเท่านั้นที่จะโอบอุ้มปัญหานี้ได้

ผมไม่ปิดกั้นหากหญิงคนใดจะทำแท้ง นอกจากที่เขาต้องระลึกว่ามันผิด มันต้องแสดงผลได้ด้วยว่ามันผิด ผู้ใช้ ตัวการ ผู้สนับสนุน ให้หญิงทำแท้งก็จะได้ผิดด้วย ไม่ใช่ คนที่ขู่เข็ญบังคับ สนับสนุนให้หญิงไปทำแท้ง ก็สบายแฮ เพราะการกระทำนั้นมันไม่ผิดเสียแล้ว

ช่องทางที่สังคมยอมรับให้เกิดการทำแท้งได้ ก็ต้องพิเคราะห์ให้ถ้วนทั่ว ไม่ใช่เปิดก็เปิดหมด นอกจากเรื่องอายุครรภ์และความปลอดภัยของหญิงแล้ว ก็ควรต้องดูสาเหตุที่หญิงจะทำแท้งด้วย ความจำเป็นที่ต่างไป ย่อมมีน้ำหนักให้พิจารณาให้ผลต่างออกไปเช่นกัน

เพราะผมเชื่อว่าหญิงที่จะทำแท้ง...จำเป็นเหมือนกันหมด

ไม่มีใครยิ้มร่าเข้าไปขึ้นขาหย่างให้หมอทำแท้งตัวแน่

แต่สิ่งที่เราต้องการปกปักรักษา มันไม่ใช่แค่สิทธิของหญิง หรือ ชีวิตในครรภ์ของเธอ

แต่หมายรวมถึงคุณค่าอื่น ที่ทำให้สังคมมันเป็นสังคมทุกวันนี้

สิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม

แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมนี้ จะมองมันลอยๆอยู่ในอากาศก็ตาม

แต่นั่นคือยาดำ และเลือดเนื้อ ของ "กฎหมาย"

8:31 AM

 
Blogger ratioscripta said...

พอพูดถึงเรื่องศีลธรรมกับกฎหมาย

หลายคนมองว่ามันเลื่อนลอย และเป็นข้อต่อสู้ลอยๆที่นักอนุรักษ์นิยมชอบยกมาเป็นข้อโต้แย้ง เวลาที่เกิดปรากฏการณ์ล่อแหลมในสังคมทุกที

แต่ผมได้อ่านบทความของ รศ.ดร.ทวีเกียรติฯ เรื่อง "ทางออกของแพทย์ในกรณีการปลูกถ่ายอวัยวะ" ในหน้าท้ายๆแล้ว เห็นภาพ และเห็นด้วยกับข้อความคิดของท่าน ดังนี้ครับ

"สำนึกทางศีลธรรมอันดีเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสรรพสิ่งในโลก ศีลธรรมบางครั้งอาจเป็นเครื่องถ่วงความเจริญ หรือความก้าวหน้าทางวิทยาการ แต่ศีลธรรมไม่เคยลดคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ลงเลย แต่กลับให้ยอมรับผลตามธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นอย่างสงบโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น"

และ

"ศีลธรรมอันดีไม่อาจแยกออกจากกฎหมายได้อย่างเด็ดขาด ศีลธรรมที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองก็จะอ่อนแอและไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ได้นาน ในทางตรงกันข้ามถ้ากฎหมายไม่มีศีลธรรมกำกับ กฎหมายนั้นก็จะแข็งกระด้าง และไม่ได้อำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมตามจุดมุ่งหมายเลย"

อย่างน้อย หากเราคิดจะสร้างมาตรการอะไรขึ้นมาสักอย่าง ควรใคร่ครวญ ถึงสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรมไว้บ้างก้ดี ศีลธรรมไม่ใช่เรื่องของคนหัวเก่า ที่เลื่อนลอย แต่อย่างน้อยมันเป็นตัวกำกับ ให้การคิดของเรารอบคอบ และละเอียดมากขึ้น เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ต่อต้านน้อยลง และยังสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นได้ในระบบกฎหมาย

การทำผิดศีลธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ บางครั้งเรายอมรับให้เกิดการกระทำบางอย่างที่มันละเมิดข้อห้ามทางศีลธรรมได้

แต่มันต้องมีเหตุผลรองรับอย่างหนักแน่นเพียงพอ

และ มันควรต้องเป็นสิ่งจำเป็นหาทางออกอื่นใด ไม่ได้แล้ว

ศีลธรรมเสมือนเป็นกำแพงด่านสุดท้ายของความเป็นมนุษย์ เมื่อหลังชนกำแพงแล้ว และทางเดียวที่จะเอาชีวิตรอด ก็อาจยอมให้ปีนกำแพงหนีได้ แต่ถ้าไม่ คิดแต่เอาสะดวก แล้วโดดข้ามกำแพงนี้ข้ามไปข้ามมา

ศีลธรรมที่แกร่งดั่งกำแพงเมืองจีน ก็คงเหลือค่าเป็นแค่รั้วต้นตำลึง ที่พันเกี่ยว รอวันแห้งเหี่ยวตาย

12:05 AM

 

Post a Comment

<< Home