Saturday, January 20, 2007

"ชมพูงามแข่ง เหลืองแดงพริ้วเคียงใกล้"



วันนี้อยากจะบันทึกไว้สักหน่อยว่า เป็นวันแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา – ธรรมศาสตร์ (เอ...ธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพต้องเปลี่ยนเป็น ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ – จุฬา หรือเปล่า อันนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน??) ซึ่งจัดกันมาอย่างยาวนานกว่า 70 ปี แล้ว โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 63 ครับ

ความทรงจำของผมเกี่ยวกับฟุตบอลประเพณีที่เก่าแก่รายการหนึ่งของประเทศไทย รายการนี้ ไม่ค่อยแจ่มชัดนักในวัยเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากในบรรดาวงศาคณาญาติโกโหติกาของผมไม่มีใครเรียนจุฬา หรือ ธรรมศาสตร์เลย ดังนั้นการรับชมฟุตบอลประเพณีของทั้งสองสถาบันของผม จึงไม่ค่อยจะต่างจากการดูฟุตบอลรายการอื่นๆที่มีการถ่ายทอดทางทีวีเท่าไหร่นัก

แถมยังแอบหมั่นไส้อยู่เล็กๆ ว่าทำไมถึงมีอภิสิทธิ์ถ่ายออกทีวีด้วยฟะ

แม้จะไม่มีส่วนได้เสียในทั้งสองสถาบันแต่อย่างใดในเวลานั้น แต่ไม่รู้เป็นไร ผมมักเลือกข้างเชียร์ธรรมศาสตร์มากกว่าจุฬา อยู่หน่อยๆ เสมอ

ฟุตบอลประเพณีฯ ได้เข้ามาในชีวิตผม (หรือผมเข้าไปในชีวิตของมัน?) อย่างแจ่มชัด ก็เมื่อผมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะนักศึกษา เมื่อ ปี พ.ศ. 2540 นั่นแหล่ะ (รู้รุ่นรู้อายุกันโหม้ดดด)

คราวนี้ชัดเจนเลย ว่าจะเลือกเชียร์ข้างไหน ยามที่ทั้งสองสถาบันต้องเผชิญหน้ากัน

ตลอดเวลาสี่ปีของผมในธรรมศาสตร์ ผมมีส่วนร่วมกับฟุตบอลประเพณีมากที่สุด แค่เพียงเป็นผู้ชม (แต่มีอยู่ปีนึง ไม่แน่ใจว่าปีอะไร ระหว่าง ปี 42 หรือ 43 ที่ผมมีโอกาสเข้าไปใกล้ชิดวงในงานบอลฯ มากที่สุด ด้วยการไปช่วยน้องๆชุมนุมบอลฯ คิดคำขวัญเขียนป้ายผ้าขนาดยาว ซึ่งจะเอาไปผูกตรงบริเวณสแตนด์เชียร์ฝั่งธรรมศาสตร์ ... แต่จำข้อความไม่ได้แล้วแฮะ )

จำได้ว่า ในช่วงสี่ปีแห่งชีวิตนักศึกษา ผมไม่เคยพลาดการไปดูบอล ที่สนามศุภชลาศัยเลยแม้แต่ปีเดียว

นั่นไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่หรอก ใครๆเค้าก็ทำกันอย่างนี้

แต่สี่ปีแห่งการเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ของผม ธรรมศาสตร์ไม่เคยชนะจุฬาเลยแม้แต่ครั้งเดียว อย่างดีทำได้แค่เสมอ นอกจากนั้น หลังจากที่ผมจบมาแล้วก็ยังอาการไม่ดีขึ้น สถิติมันบ่งบอกว่า ธรรมศาสตร์สามารถเอาชนะจุฬาได้เพียงแค่ครั้งเดียว คือในการแข่งขันครั้งที่ 61 เมื่อปี 2548 นอกจากนั้นไม่เสมอก็แพ้

แม้สถิติโดยรวมธรรมศาสตร์จะถือว่าเหนือกว่าจุฬาค่อนข้างมาก

แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอดีต ผมไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน ทำไม เวลาที่ผมเลือกที่จะเชียร์ฟุตบอลสักทีม ทีมนั้นมักจะมีอดีตที่ยิ่งใหญ่ ต่างจากฟอร์มในปัจจุบันเสมอ

ใจจริงวันนี้ผมตั้งใจว่าจะไปชมฟุตบอลประเพณี สดๆที่สนามศุภฯ ครั้งแรกในรอบ 6 ปี แต่สุดท้ายก็อีหรอบเดิม คือ นอนดูทีวีอยู่บ้านเหมียนเดิม เมื่อไม่สามารถต้านทานความขี้เกียจของตนเองได้

ดูจบได้ครึ่งนึง ก็มานั่งเขียนบล็อกด้วยอารมณ์ ไม่เชิงเซ็ง แต่ไม่ค่อยสบอารมณ์เท่าไหร่ กับฟอร์มการเล่นของทีมลูกโดมทั้งหลาย เป็นฟอร์มเดิมๆที่ผมเห็นมาตลอดในช่วงหลายปีหลังสุด เล่นเหมือนไม่ค่อยได้ซ้อมด้วยกัน ทีมเวิร์คนี่สู้จุฬาไม่ได้เลยมาหลายปีแล้ว แม้บางที (หลายปีด้วย) ในกระดาษธรรมศาสตร์จะดูเป็นต่อ เมื่อผมเห็นรายชื่อนักฟุตบอลทีมชาติเรียงรายอยู่เต็มพรืดไปหมด แต่ถึงเวลาแข่งจริง ไม่รู้เข่าอ่อนให้กับความจิ้มลิ้มของเชียร์ลีดเดอร์ฝั่งจามจุรีหรือเปล่า ฟอร์มการเล่นเลยไปตกคาอยู่แถมริมสนามซะหมด ไม่เอาลงไปด้วยเลย

หรืออาจจะเป็นเพราะความเอาจริงเอาจัง (มากถึงมากที่สุด) ของบรรดาสตาฟฟ์โค้ชฝั่งสีชมพู ที่มีหัวเรือใหญ่ อย่าง ดร.จุฑา ติงศภัทิย์ ฮะแฮ่ม “ครับ...ตามสูตรครับ ไปถึงเส้นหลังแล้วหักเข้ากลาง โอกาสได้ประตูมากครับ...ถ้าจะโหม่งต้องกดลงพื้นครับ...กองหน้าที่ดีต้องยิงทุกจังหวะครับ... “รวมไปถึง “โอ้ว ลูกตรงกรอบครับ ถ้าประตูไม่ปัดนี่เข้าแน่นอนครับ” คนนั้นแหล่ะ

โดยมีอยู่ปีนึง ผมเห็นแกระเบิดอารมณ์ข้างสนามเลย แถมตะโกนด่าธรรมศาสตร์โกงอีกตะหาก เมื่อตอนที่นักฟุตบอลฝั่งธรรมศาสตร์เข้าทำฟลาว์ผู้เล่นฝั่งจุฬาอย่างรุนแรง จนเป็นใบเหลืองที่สอง กรรมการเลยชักใบแดงให้ด้วยความเคยชิน โดยกรรมการน่าจะลืมข้อตกลงของฟุตบอลประเพณีฯ ว่าจะไม่มีการให้ใบแดงผู้เล่น นั่นก็คือจะไม่มีการไล่ผู้เล่นออกจากสนาม หากแต่ถ้ากรรมการเห็นว่าผู้เล่นคนใดทำฟลาว์รุนแรง และเล่นฟุตบอลโดยไม่คำนึงถึง “มิตรภาพ” ตาม “ประเพณี” ที่ดีงามของทั้งสองสถาบัน ก็จะมาปรึกษาบรรดาผู้จัดการทีมหรือหัวหน้าโค้ชทีมนั้น ให้เปลี่ยนผู้เล่นคนนั้นออกซะ

กรรมการอาจจะตัดสินด้วยความเคยชินสักหน่อย แต่เมื่อให้ใบแดงไปแล้วก็ต้องถือว่าแดง ถ้าผมจำไม่ผิด ดร.เหลือง แกฉุนมาก โวยวายน่าดูเลย สุดท้าย ธรรมศาสตร์เหลือสิบคนหรือเปล่าอันนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน

ท่าทางปีนี้ สถิติในช่อง “ชนะ” ก็ของจุฬาก็คงเพิ่มอีกปี ปล่อยให้ศิษย์เก่าอย่างผมต้องไปรอลุ้นใหม่ปีหน้าอีกแล้ว

สิ่งที่แน่นอนไม่แพ้การที่ปีหน้าจะเป็นการแข่งครั้งที่ 64 ก็คือ ปีหน้าจะไม่มีนักฟุตบอลที่ชื่อ “ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล” เล่นให้กับทีมธรรมศาสตร์อีกแล้ว หลังจากที่รับใช้มหาวิทยาลัยมายาวนานกว่า 12 ปี (ครั้ง) โดย “เจ้าวัง” ธวัชชัย เล่นบอลประเพณีครั้งแรก ในฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 49 ครับ

แม้ในเวทีบอลประเพณี พี่แกจะไม่ค่อยโชว์ฟอร์มจนติดตาติดใจอะไรก็ตาม

แต่ในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ไม่มีใครลืมภาพที่ธวัชชัยกดฟรีคิก ระยะ 30 หลา ฟุ่งวาบเสียบคาน ทำให้ทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ ยักษ์ใหญ่แห่งฟุตบอลเอเชียไปอย่างช็อกอารมณ์คนเกาหลีทั้งประเทศ ทั้งที่ทีมชาติไทยมีผู้เล่นเหลือในสนามแค่ 9 คนเท่านั้น (โดนใบแดงไล่ออกไปสองหน่อ)

สาธุ... ขออีกสักลูกก่อนลาเหอะพี่

ก่อนจบ ผมขออนุญาตนำเนื้อเพลงเชียร์ เพลงหนึ่งในบรรดาหลายเพลงของงานบอลฯ มาแปะไว้ โดยส่วนตัวเพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่ผมชอบมากครับ

“ชั่วดินฟ้า”

ธรรมศาสตร์ – จุฬา เราสามัคคี
เราต่างผูกไมตรีกันมั่นไว้
เช่นพี่ เช่นน้อง เราร้องเริงใจ
เรารักกันไว้ ชั่วดินฟ้า

ใครอาจ มาหยาม ความสามัคคีเรา
เรายืน เคียงเข้า ร่วมฟันฝ่า
เกียรติเรา เชิดชู ให้รู้กันทั่วหน้า
ธรรมศาสตร์ – จุฬา ลือชื่อไกล

เราคล้องแขนมั่น รักกันเหมือนน้องพี่
รักษาไมตรี กันมั่นไว้
ชมพูงามแข่ง เหลืองแดง พริ้วเคียงใกล้
ธงชัย พาใจ เราคู่กัน

ปล. เหมือน “เฮียวัง” แกจะได้ยินเสียงแป้นพิมพ์ผม นาทีที่ 80 กว่าๆ ตะกี้นี้ ธรรมศาสตร์ได้จุดโทษ “เฮียวัง” ธวัชชัย ดำรงอ่องฯ ด้วยฉันทามติจากเพื่อนๆน้องๆในทีม ลุกมายิงจุดโทษไม่พลาด ทำให้ธรรมศาสตร์ตีเสมอจุฬาแว้ววว

เป็นการอำลาสนามฟุตบอลประเพณีที่น่าจดจำครับ

Saturday, January 06, 2007

blog tag ของ Ratio Scripta

ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยจะพิสมัยบรรดาจดหมายลูกโซ่ ทำนองพระครูธรรมโชติ มากนัก

ประเภท ถ้าขึ้นต้น หรือลงท้ายว่า “หากท่านอ่านจดหมายฉบับนี้จบแล้ว ให้ส่งต่อให้ญาติสนิท มิตรสหาย อีกสี่ส้าห้าคน มิฉะนั้นจะนอนไม่หลับ กระส่ายกระสับ ตับพิการ อาหารไม่ย่อย ลิ้นก็กร่อย ฟันก็ปวด แถมเป็นปรวดในกระเพาะ ลมหายใจเหม้นนน เหม็น เช้าเย็นอาเจียน” อะไรทำนองนี้

ถ้าเจออีหรอบนี้ขึ้นต้น ก็เป็นอันว่าเลิกอ่าน ถือว่ายังอ่านไม่จบ ไม่ต้องทำตามคำบังคับท้ายจดหมาย

ถ้าเจออีหรอบนี้ลงท้าย ก็เลิกอ่านมันตั้งแต่วินาทีนั้น ถือว่ายังอ่านไม่จบเช่นกัน เป็นอันสบายไป

ไม่นึกว่าจะมาพลาดตอนอายุยี่สิบกว่าๆ (ฮ่าๆ กว่ามานิดหน่อยเอง)

แถมยังเจอสองฉบับในเวลาใกล้เคียงกันอีกด้วย

ก็ถ้าลำพังมากันโต้งๆ แบบที่เคยเจอมา ผมก็คงไม่พลาดหรอกครับ

ดั๊นนนนน มาในรูปแบบใหม่ ไอ้เราก็ใสซื่อ

จากจดหมายลูกโซ่ ตามแบบฉบับของพระครูธรรมโชติ ดันแปลงร่างแปลงชื่อมาเป็น “blog tag” ซะงั้น ใครมันจะไปตั้งตัวถูก

ผู้น่ารักที่ส่งมาให้ผมสองฉบับสองคนก็ไม่ใช่ใครอื่น พี่ป้อง (ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการคนเก่งของ โอเพ่นออนไลน์นั่นแหล่ะครับ) อีกคนก็พี่หญิง (ยอดมนุษย์หญิง) ซึ่งทั้งสองคนก็โดนกันมาอีกทอดเหมือนกัน อยากอ่าน blog tag ของ ทั้งสองคน ก็จิ้มเอาเลย

เอาเป็นว่าผมต้องเขียนถึงตัวเองใน 5 ข้อ ตามกฎ กติกา และมารยาทของกลเกม blog tag หลายเรื่องผมเองก็ไม่เคยรู้เหมือนกันครับ กระทั่งมานั่งจิ้มแป้นอยู่นี่แหล่ะ

1. ผมเกิดมาในครอบครัวข้าราชการ ดังนั้นในวัยเด็กของผม ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้ อาชีพที่ผมอยากทำมากที่สุดก็คือ “ตำรวจ” แบบฉบับของคุณพ่อและคุณแม่ ความฝันนี้ติดตัวผมตลอดเวลาวัยเด็ก กระทั่งถึงวัยเยาวชน (ไม่เกิน 18 ปี) ของผม

มันมาจางหายไป พร้อมกับการสอบ “เตรียมทหาร” ไม่ติด ในเวลาที่ผมมีอายุได้ 17 ปี

ถือเป็นความผิดหวังและเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตผมด้วย จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมต้องลงสนามเอนทรานซ์ สนามที่เด็กมัธยมเกือบทุกคนในประเทศนี้ต้องเผชิญ ซึ่งตอนนั้นไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพใหม่ที่ผมต้องใช้เลี้ยงชีพอยู่ทุกวันนี้

2. ผมเป็นคนเรียนรู้อะไรยาก และช้า รวมทั้งการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ก็มักเป็นปัญหาของผมเสมอๆ

หลายคนไม่เชื่อ เพราะจะติดภาพความเป็นคนช่างคุย สนุกสนาน ลามไปถึงตลกโปกฮาของผม ซึ่งนั่นก็เป็นตัวตนของผมจริงๆนั่นแหล่ะ ไม่ได้ตอแหล

แต่ในด้านของการเรียนรู้อะไรสักอย่าง ผมเชื่องช้ายิ่งนัก ผมต้องนั่ง นอน คลุกคลีอยู่กับมันเป็นเวลายาวนาน เริ่มนับตั้งแต่ 1 , 2 , 3 ... แล้วค่อยย้อนกลับมานับ 10 , 9 , 8 ... ใหม่ แล้วมาทบทวน 4, 5, 6 ... อีกสักครั้ง ลองงี้สักสี่ห้ารอบ ถึงจะเข้าใจ ในขณะที่ คนอื่น ใช้เวลากับมันแค่รอบเดียว หรือ เห็นแค่เพียงบางส่วนก็สามารถต่อภาพได้หมด แต่ไม่ใช่ผม

ฉะนั้น เวลาเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่ใหม่ รวมไปถึงยามที่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ มักเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของผมเสมอ

3. ผมเป็นคนโชคดี เปล่านะครับ ผมไม่เคยได้รับทรัพย์ หรือลาภลอยจากการเสี่ยงโชคเลย (เท่าที่จำความได้) แต่ผมมักโชคดีเรื่อง “คน” หรือ “สัตว์สองเท้า” นี่แหล่ะ

ไม่ว่าผมจะไปใช้ชีวิตอยู่ ณ มุมใด ในแต่ละช่วงชีวิตของผม สิ่งที่ผมไม่เคยขาดแคลนเลยคือ “เพื่อน” ไม่ว่าจะวัยเดียวกันหรือต่างวัย

ผมมักเจอเพื่อนดีๆ พี่ดีๆ รวมไปถึงน้องนุ่ง (ปกติก็จะเห็นนุ่งตลอด ไม่เคยเจอตอนน้องไม่นุ่งนะ) ดีๆเสมอ และบางครั้งอาจรวมไปถึงผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือด้วยเช่นกัน

ไม่วายเว้นแม้กระทั่งอยู่บนโลกเสมือนจริงอย่างอินเตอร์เน็ต ผมก็ไม่ขาดแคลนเพื่อนและพี่ดีๆมากมาย (ยิ้มกันใหญ่ ... ล้อเล่นน่า)

เมื่อพระเจ้าสร้างจุดอ่อนให้ผมปรับตัวได้ยาก ท่านก็คงเห็นใจสร้างเพื่อนมาให้ผมในทุกที่ เผื่อจะทำให้อาการข้างต้นของผมทุเลาเบาบางลงได้ และดูเหมือนท่านจะคิดถูกทีเดียวแฮะ

4. ผมเป็นคนขี้โรค ตั้งแต่จำความได้ ผมเข้าออกโรงพยาบาลจนชาชิน มีหมอและพยาบาลเป็นญาติ มีห้องพักฟื้นเป็นห้องนอน มียาเป็นอาหาร มีสายระโยงระยางเป็นเครื่องประดับ แต่ผมไม่ใช่คนมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ปวกเปียกนะครับ ประเภทอะไรนิดอะไรหน่อยก็ล้มหมอนนอนเสื่อ ผมเป็นพวกมีขาประจำครับ โรคประจำตัวนั่นแหล่ะ

ผมเป็นภูมิแพ้อากาศครับ หรือเราจะรู้จักกันดีในนามของโรคหอบ รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ รู้จักคุณปอดบวมก่อน แล้วค่อยมารู้จักเพื่อนแท้อย่างคุณหอบ

หอบทำให้ผมใช้ชีวิตได้ต่างจากเด็กคนอื่นๆ โดยเฉพาะผมเป็นเด็กที่กินน้ำแข็งกับไอติมไม่ได้ (เรื่องใหญ่มากนะนั่น)

นอกจากแพ้อากาศแล้ว ผมยังแพ้อาหารบางชนิดด้วย

กุ้ง กับ ปู ครับ พระเจ้า อาหารสวรรค์ของใครหลายคน แต่มันคือซาตานสำหรับผม ทุกครั้งที่ผมเอามันเข้าปาก ผมจะมีอาการ “คัน” เริ่มจากบริเวณคอหอย ลามขึ้นเพดานปาก แล้วก็ออกหู แต่ไม่มีผื่นขึ้นหรือชักตาตั้งนะครับ

เมื่อก่อนอาการหนักครับ แค่ได้กลิ่นบางทีของก็ขึ้นแล้ว แต่เดี๋ยวนี้พัฒนาแล้วครับ ประเภทเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกงได้ครับ

เพื่อนๆจึงนึกถึงผม และชอบจริงๆที่จะชวนผมไปทานอาหารทะเลอยู่เสมอ ... เวร

5. ผมเป็นคนชอบกีฬา พระเจ้าใจดีเหมือนในข้อ 3 เมื่อประทานจุดอ่อนในเรื่องสุขภาพมาให้ผม ท่านคงเกรงว่า ผมจะมีชีวิตอยู่ดูโลกที่ท่านสร้างมากับมือไม่นาน เลยกรุณาสร้างให้ผมชอบกีฬาด้วย

โดยกีฬาสุดโปรดยอดนิยมของผม ก็คงคล้ายกับเด็กผู้ชายหลายคนบนโลกนี้ “ฟุตบอล” ครับ

กีฬาที่ผมใช้ต่อรองกับคุณหมอผู้มีพระคุณของผม ตอนแรกท่านเสนอให้ผม “ว่ายน้ำ” แต่ผมเกรงว่าผมจะไม่ตายเพราะหอบ จะตายเพราะจมน้ำนี่แหล่ะ เลยขอต่อรองเล่นบอลแทน ท่านก็ตัดรำคาญพยักหน้ารับ...เสร็จเรา

ฟุตบอลทำให้ผมได้เพื่อนมากมาย นอกจากได้เพื่อน ได้สุขภาพแล้ว ยังได้ตังค์เวลาทีมรักชนะด้วย (เฮ้ย ไม่ล่ะ ล้อเล่นน่า บอกแล้วว่าผมไร้วาสนาในการเสี่ยงโชคทั้งหลาย) เรื่องราวในความทรงจำของผม หลายเรื่อง เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล (และพื้นที่ที่พวกผมติ๊งต่างว่าเป็นสนามฟุตบอล) เช่นเรื่องนี้

ยืดยาวเลยครับ

ว่าไป ก็หนุกดีเหมือนกันนะ ไอ้ blog tag เนี่ย ขอทำตามกติกาข้อสุดท้ายของเกม คือการส่งไม้ต่อให้พรรคพวก พี่น้อง อีก 5 ราย ดังต่อไปนี้ครับ

ไม่ได้อ่านเรื่องราวของมิ้มมานาน Carre de mim ไปเลย
แม้จะรู้เรื่องราวผ่านของพี่หลายเรื่องแล้ว แต่ขออีกหน สำหรับ พี่พล POL_US และ พี่โต Crazy Cloud
ต่อด้วยสาวน้อย (?) นักประวัติศาสตร์ในฐานะที่ผมชักชวนเธอมาเขียนบล็อกอีกคน sweet - nefertari
และ บล็อกเกอร์หน้าใหม่ ทนายหนุ่มกรุ้มกริ่ม อย่าง neo - humanism

ย้ำกันอีกครั้ง (หรือโปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง) เกมนี้ผมแค่ผู้ร่วมเล่น ไม่ได้ร่วมคิดแต่อย่างใด ฮาๆ

Wednesday, January 03, 2007

ลอยอังคาร


๑ มกราคม ๒๕๕๐ หลังจากการนับถอยหลังด้วยเสียงระเบิดทั่วกรุงไม่กี่ชั่วโมง ผมและบรรดาญาติพี่น้อง อยู่ในอาการนิ่งสงบเหนือปากอ่าวไทย บนเรือตรวจการณ์ของกองบังคับการตำรวจน้ำ

พวกเรามาชุมนุมพร้อมกัน เพื่อทำพิธีลอยอังคารของแม่แก่

หลังจากที่เราอยู่เหนือจุดคลื่นลมสงบ น้ำนิ่งไม่ไหวติงแล้ว พี่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจน้ำ ก็เริ่มทำพิธี โดยให้ลูกหลานตั้งจิตภวานา กล่าวฝากอังคารไว้กับเจ้าแม่นที - ท้าวสีทันดร ดังนี้

พวกเราท่อง นะโม 3 จบ และต่อด้วย

"นะมัตถุ อิสะสะสัง มะหานะทียา อะธิวัคถานัง สุระกะชันตานัง สัพพะเทวานัง อิมินาสักกาเรนะ สัพพะเทวา ปูเชมะ

ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมไหว้บูชาเจ้าแม่นที - ท้าวสีทันดร และเทพยดาทั้งหลายผู้สถิตคุ้มครองทะเล ด้วยเครื่องสักการะนี้ ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลายได้ประกอบกุศลกิจ อุทิศส่วนบุญให้แก่ (ชื่อผู้ตาย) ผู้วายชมน์ และ ณ บัดนี้ จักได้ประกอบพิธีลอยอัฐิและลอยอังคารของ (ชื่อผู้ตาย) พร้อมกับขอฝากไว้ในความอภิบาลของเจ้าแม่นที - ท้าวสีทันดร เจ้าแห่งทะเลและเหล่าทวยเทพทั้งปวง ขอเจ้าแม่นที - ท้าวสีทันดร แม่ย่านางเรือ และเทพยดาทั้งหลาย ได้โปรดอนุโมทนาดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของ (ชื่อผู้ตาย) จงเข้าถึงสุคติ ในสัมปรายภพประกอบสุขในทิพยวิมานชั่วนิจนิรันดร์กาล ... เทอญ"

ถึงตรงนี้ หลายคนคงนึกสงสัยในคำว่า "ท้าวสีทันดร" ว่าคือใคร

ผมลองไปเปิดในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต 2542 ดู ไม่พบคำว่า "ท้าวสีทันดร" โดยตรง แต่พบคำว่า "สีทันดร" โดย ในพจนานุกรมฯ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

หมายถึง "ชื่อทะเล ๗ แห่ง อยู่ระหว่างภูเขาพระสุเมรุกับภูเขายุคนธร ๑, ระหว่างภูเขายุคนธรกับภูเขาอิสินธร ๑, ระหว่างภูเขาอิสินธรกับภูเขากรวิก ๑, ระหว่างภูเขากรวิกกับภูเขาสุทัสนะ ๑, ระหว่างภูเขาสุทัสนะกับภูเขาเนมินธร ๑, ระหว่างภูเขาเนมินธรกับภูเขาวินตกะ ๑, ระหว่างภูเขาวินตกะกับภูเขาอิสกัณ ๑

โดยภูเขาทั้ง ๗ นั้น รวมเรียกว่า "สัตบริภัณฑ์ หรือ สัตภัณฑ์" คือ ภูเขาที่ล้อมเป็นวงกลมรอบภูเขาพระสุเมรุเป็นชั้นๆ

หลังจากเสร็จพิธีดังกล่าว ก็พาลให้ผมนึกสงสัย ถึงความหมายและที่มาที่ไปของพิธีดังกล่าว จึงพยายามที่จะค้นหาข้อมูลเท่าที่โอกาสและเวลาจะเอื้ออำนวย ทำให้พอทราบความหมายของพิธีดังกล่าวเล็กๆน้อยๆครับ

คำว่า “อังคาร” นั้น หมายถึง ถ่านไม้ ถ่านเผา ถ่านไฟที่กำลังปะทุอยู่

ในคำวัดหมายถึงเถ้าถ่านของศพ ที่เผาแล้ว แต่มักเข้าใจกันว่าหมายถึงอัฐิหรือกระดูกของคนตายที่เผาแล้ว และเมื่อทำพิธีเก็บอัฐิและทำบุญเสร็จแล้วนิยมรวบรวมอังคารห่อด้วยผ้าขาวหรือใส่โถแล้ว ห่อด้วยผ้าขาวนำไปทิ้งแม่น้ำหรือทะเลตอนที่มีร่องน้ำลึก โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ตายได้อยู่ในสถานที่เย็นๆ โดยไม่มีใครรบกวน เรียกการกระทำอย่างนั้นว่า ลอยอังคาร

พิธีการลอยอังคารนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับคตินิยมมาจากอินเดีย เหตุเพราะคนอินเดียถือว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ชำระบาปได้ ด้วยเหตุนี้การเผาศพจึงชอบที่จะมาเผากันที่ริมแม่น้ำคงคากันมาก ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อจะได้นำกระดูกและเถ้าถ่านทิ้งลงแม่น้ำแห่งนี้ เพราะถ้าไม่ได้สัมผัสกับน้ำในแม่น้ำคงคาแล้วก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ หรือไม่หมดบาปนั่นเอง

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการบันทึกในพงศาวดารกล่าวถึงพิธีการลอยอังคาร โดยเฉพาะการลอยพระอังคารของบรรดาเจ้านายต่างๆไว้อย่างชัดเจน และสืบเนื่องมากระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พิธีการลอยอังคารนั้นน่าจะมีที่มาจากอินเดีย ก็ยังคงมีความซับซ้อนไปอีกชั้นนึง โดยเชื่อว่าน่าจะมาจากอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก เหตุเพราะถ้าเป็นคติทางพุทธแล้ว มักจะนิยมเผาศพแล้วเอาอัฐิธาตุ (กระดูก) ฝังและก่อกองดินหรือกองหินตรงที่ฝัง ซึ่งเรียกกันว่า “สถูป”

ดังเช่นอังคาร ที่เป็นเถ้าถ่านจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า โมริยกษัตริย์ได้นำไปบรรจุไว้ในสถูปที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสักการบูชาที่เมืองปิปผลิวัน เรียกว่า “อังคารสถูป”

ดังนั้นประเทศไทยจึงรับเอาวัฒนธรรม ประเพณีนี้มาทั้งสองทาง คือ ทั้งฮินดู และพุทธ กล่าวคือสำหรับทางพุทธ ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็จะก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุ ถ้าเป็นคนชั้นล่างก็เป็นแต่เพียงฝังอัฐิธาตุหรือเอาไปกองทิ้งไว้โคนต้น ส่วนพระอังคารหรือถ่านที่เผาพระศพ ก็จะเชิญไปลอยปล่อยไปในแม่น้ำตามคติทางฮินดู เพิ่งมาเลิกลอยพระอังคาร เปลี่ยนเป็นบรรจุเมื่อ รัชกาลที่ ๕ มานี้เอง

สำหรับผม การลอยอังคารไม่เพียงแต่เป็นการฝากคนที่เรารักไว้กับแม่พระคงคา เทพยดาผู้รักษาน้ำ เพื่ออภิบาลดวงวิญญาณของผู้นั้น เท่านั้น แต่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการละวางทั้งปวง ร่างกาย สังขาร ทั้งหลาย เมื่อแตกดับ กลับคือสู่ธาตุต่างๆที่มาประชุมกัน เหลือเพียงผงธุลี ฝากไว้ในอากาศ ในดิน ในน้ำ

กลับคืนสู่ ... บ้าน อันนิรันดร์และแท้จริงของสรรพสิ่งทั้งมวล

-----------------------------------

หมายเหตุ – เกร็ดความรู้ต่างๆเกี่ยวกับ “พิธีลอยอังคาร” นี้ ผมนำมาจาก หนังสือ “ปกิณกะประเพณีไทย” ของ ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์ช้างทองครับ