Wednesday, January 03, 2007

ลอยอังคาร


๑ มกราคม ๒๕๕๐ หลังจากการนับถอยหลังด้วยเสียงระเบิดทั่วกรุงไม่กี่ชั่วโมง ผมและบรรดาญาติพี่น้อง อยู่ในอาการนิ่งสงบเหนือปากอ่าวไทย บนเรือตรวจการณ์ของกองบังคับการตำรวจน้ำ

พวกเรามาชุมนุมพร้อมกัน เพื่อทำพิธีลอยอังคารของแม่แก่

หลังจากที่เราอยู่เหนือจุดคลื่นลมสงบ น้ำนิ่งไม่ไหวติงแล้ว พี่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจน้ำ ก็เริ่มทำพิธี โดยให้ลูกหลานตั้งจิตภวานา กล่าวฝากอังคารไว้กับเจ้าแม่นที - ท้าวสีทันดร ดังนี้

พวกเราท่อง นะโม 3 จบ และต่อด้วย

"นะมัตถุ อิสะสะสัง มะหานะทียา อะธิวัคถานัง สุระกะชันตานัง สัพพะเทวานัง อิมินาสักกาเรนะ สัพพะเทวา ปูเชมะ

ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมไหว้บูชาเจ้าแม่นที - ท้าวสีทันดร และเทพยดาทั้งหลายผู้สถิตคุ้มครองทะเล ด้วยเครื่องสักการะนี้ ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลายได้ประกอบกุศลกิจ อุทิศส่วนบุญให้แก่ (ชื่อผู้ตาย) ผู้วายชมน์ และ ณ บัดนี้ จักได้ประกอบพิธีลอยอัฐิและลอยอังคารของ (ชื่อผู้ตาย) พร้อมกับขอฝากไว้ในความอภิบาลของเจ้าแม่นที - ท้าวสีทันดร เจ้าแห่งทะเลและเหล่าทวยเทพทั้งปวง ขอเจ้าแม่นที - ท้าวสีทันดร แม่ย่านางเรือ และเทพยดาทั้งหลาย ได้โปรดอนุโมทนาดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของ (ชื่อผู้ตาย) จงเข้าถึงสุคติ ในสัมปรายภพประกอบสุขในทิพยวิมานชั่วนิจนิรันดร์กาล ... เทอญ"

ถึงตรงนี้ หลายคนคงนึกสงสัยในคำว่า "ท้าวสีทันดร" ว่าคือใคร

ผมลองไปเปิดในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต 2542 ดู ไม่พบคำว่า "ท้าวสีทันดร" โดยตรง แต่พบคำว่า "สีทันดร" โดย ในพจนานุกรมฯ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

หมายถึง "ชื่อทะเล ๗ แห่ง อยู่ระหว่างภูเขาพระสุเมรุกับภูเขายุคนธร ๑, ระหว่างภูเขายุคนธรกับภูเขาอิสินธร ๑, ระหว่างภูเขาอิสินธรกับภูเขากรวิก ๑, ระหว่างภูเขากรวิกกับภูเขาสุทัสนะ ๑, ระหว่างภูเขาสุทัสนะกับภูเขาเนมินธร ๑, ระหว่างภูเขาเนมินธรกับภูเขาวินตกะ ๑, ระหว่างภูเขาวินตกะกับภูเขาอิสกัณ ๑

โดยภูเขาทั้ง ๗ นั้น รวมเรียกว่า "สัตบริภัณฑ์ หรือ สัตภัณฑ์" คือ ภูเขาที่ล้อมเป็นวงกลมรอบภูเขาพระสุเมรุเป็นชั้นๆ

หลังจากเสร็จพิธีดังกล่าว ก็พาลให้ผมนึกสงสัย ถึงความหมายและที่มาที่ไปของพิธีดังกล่าว จึงพยายามที่จะค้นหาข้อมูลเท่าที่โอกาสและเวลาจะเอื้ออำนวย ทำให้พอทราบความหมายของพิธีดังกล่าวเล็กๆน้อยๆครับ

คำว่า “อังคาร” นั้น หมายถึง ถ่านไม้ ถ่านเผา ถ่านไฟที่กำลังปะทุอยู่

ในคำวัดหมายถึงเถ้าถ่านของศพ ที่เผาแล้ว แต่มักเข้าใจกันว่าหมายถึงอัฐิหรือกระดูกของคนตายที่เผาแล้ว และเมื่อทำพิธีเก็บอัฐิและทำบุญเสร็จแล้วนิยมรวบรวมอังคารห่อด้วยผ้าขาวหรือใส่โถแล้ว ห่อด้วยผ้าขาวนำไปทิ้งแม่น้ำหรือทะเลตอนที่มีร่องน้ำลึก โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ตายได้อยู่ในสถานที่เย็นๆ โดยไม่มีใครรบกวน เรียกการกระทำอย่างนั้นว่า ลอยอังคาร

พิธีการลอยอังคารนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับคตินิยมมาจากอินเดีย เหตุเพราะคนอินเดียถือว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ชำระบาปได้ ด้วยเหตุนี้การเผาศพจึงชอบที่จะมาเผากันที่ริมแม่น้ำคงคากันมาก ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อจะได้นำกระดูกและเถ้าถ่านทิ้งลงแม่น้ำแห่งนี้ เพราะถ้าไม่ได้สัมผัสกับน้ำในแม่น้ำคงคาแล้วก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ หรือไม่หมดบาปนั่นเอง

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการบันทึกในพงศาวดารกล่าวถึงพิธีการลอยอังคาร โดยเฉพาะการลอยพระอังคารของบรรดาเจ้านายต่างๆไว้อย่างชัดเจน และสืบเนื่องมากระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พิธีการลอยอังคารนั้นน่าจะมีที่มาจากอินเดีย ก็ยังคงมีความซับซ้อนไปอีกชั้นนึง โดยเชื่อว่าน่าจะมาจากอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก เหตุเพราะถ้าเป็นคติทางพุทธแล้ว มักจะนิยมเผาศพแล้วเอาอัฐิธาตุ (กระดูก) ฝังและก่อกองดินหรือกองหินตรงที่ฝัง ซึ่งเรียกกันว่า “สถูป”

ดังเช่นอังคาร ที่เป็นเถ้าถ่านจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า โมริยกษัตริย์ได้นำไปบรรจุไว้ในสถูปที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสักการบูชาที่เมืองปิปผลิวัน เรียกว่า “อังคารสถูป”

ดังนั้นประเทศไทยจึงรับเอาวัฒนธรรม ประเพณีนี้มาทั้งสองทาง คือ ทั้งฮินดู และพุทธ กล่าวคือสำหรับทางพุทธ ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็จะก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุ ถ้าเป็นคนชั้นล่างก็เป็นแต่เพียงฝังอัฐิธาตุหรือเอาไปกองทิ้งไว้โคนต้น ส่วนพระอังคารหรือถ่านที่เผาพระศพ ก็จะเชิญไปลอยปล่อยไปในแม่น้ำตามคติทางฮินดู เพิ่งมาเลิกลอยพระอังคาร เปลี่ยนเป็นบรรจุเมื่อ รัชกาลที่ ๕ มานี้เอง

สำหรับผม การลอยอังคารไม่เพียงแต่เป็นการฝากคนที่เรารักไว้กับแม่พระคงคา เทพยดาผู้รักษาน้ำ เพื่ออภิบาลดวงวิญญาณของผู้นั้น เท่านั้น แต่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการละวางทั้งปวง ร่างกาย สังขาร ทั้งหลาย เมื่อแตกดับ กลับคือสู่ธาตุต่างๆที่มาประชุมกัน เหลือเพียงผงธุลี ฝากไว้ในอากาศ ในดิน ในน้ำ

กลับคืนสู่ ... บ้าน อันนิรันดร์และแท้จริงของสรรพสิ่งทั้งมวล

-----------------------------------

หมายเหตุ – เกร็ดความรู้ต่างๆเกี่ยวกับ “พิธีลอยอังคาร” นี้ ผมนำมาจาก หนังสือ “ปกิณกะประเพณีไทย” ของ ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์ช้างทองครับ

2 Comments:

Anonymous Anonymous said...

ได้รับเกร็ดความรู้ดีๆ จากสหายเดชอีกแล้ว

12:11 AM

 
Anonymous Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

8:28 AM

 

Post a Comment

<< Home