Monday, May 07, 2007

สวัสดีครับ

ผมหายหน้าไป ยิ่งกว่าประจำเดือนของสาววัยทอง เพราะไม่ใช่แค่มาๆหายๆ แต่หายขาดไปเลยกว่าสองเดือน

อะไรที่เราไม่ได้ทำมาเป็นเวลานานๆ พอกลับมาทำอีก ต้องยอมรับครับว่า “สนิม” มันเกาะเกรอะกรังไปหมด เหมือนงานเขียน พอไม่ได้คิด ไม่ได้เขียนนานๆ แล้วมันฝืด ซึ่งปกติแล้วก็ใช่ว่าจะรื่นนัก

ด้วยหน้าที่ใหม่ การปรับตัวใหม่ ของผมยังไม่ค่อยจะดำเนินไปด้วยดีนัก มันทำให้ผมไม่มีสมาธิพอที่จะทำอย่างอื่นเลย เหมือนคนกำลังหัดว่ายน้ำ ขั้นแรกจะทำยังไงให้ไม่ตายก่อนดีกว่า อย่าเพิ่งไปคิดเลยว่า จะออกสเต็ปว่ายท่าไหน ทำเวลาเท่าไหร่ ลำพังแค่พยุงตัวให้จมูก ปาก ลอยเหนือน้ำก็แย่แล้ว

แต่มันก็ต้องกระเสือกกระสนครับ ถ้ายอมปล่อยตัวนิ่งๆ ก็รังแต่จะรอเวลาจมสู่ก้นบึ้ง ตายเปล่า วันนี้ถือเป็นฤกษ์ดีที่ผมจะทุรนทุรายขึ้นเหนือน้ำเพื่อหายใจสักเฮือกหนึ่ง

แต่ผมจะเขียนเรื่องอะไรดี

คราวที่แล้วตั้งใจอย่างยิ่ง ที่จะเขียนแง่มุมกฎหมายของ ปรากฏการณ์ “น้องเปกะหมอเผ่า” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจของศาลในการไต่สวนเพื่อปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผมยังคลางแคลงใจในกระบวนการขั้นตอน รวมทั้งอำนาจของศาลบางประการ แต่ก็เข้าอีหรอบเดิม จมข้อมูล สมมติฐานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนต้นเริ่มตีบตันไปทีละด้านๆ จนครบทั้งแปดด้านแล้ว เลยคิดว่าหยุดดีกว่า ก็ได้แต่หวังว่า คงจะมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นไม่มาก เพราะถ้าใครที่คิดว่าตนถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วมาขอศาลไต่สวนอย่างนี้ทุกราย ก็น่าสงสัยว่า เรามีตำรวจไว้ทำไม โดยเฉพาะในกรณีของความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว ที่เป็นความผิดอาญาอยู่แล้ว ใครก็ได้ ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษกับตำรวจ ตำรวจก็สืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐาน หากเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดจริง ก็เสนอพยานหลักฐานนั้นขอศาลเพื่อออกหมายค้นเพื่อเข้าช่วยบุคคลดังกล่าวได้อยู่แล้ว ไฉนเลยต้องวิ่งมาขอศาลเพื่อไต่สวน ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเร็วกว่านะครับ โดยเฉพาะหากเป็นกรณีใหญ่ๆแบบนี้ แล้วศาลท่านอาจจะต้องใช้เวลาหลายวันในการพิจารณา ซึ่งก็ต้องใช้เวลาไต่สวนหลายนัด กินเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

แล้วปัญหาต่อไปที่ผมเคยตั้งสมมติฐานไว้ก็คือ ศาลท่านมีอำนาจขนาดไหนที่จะสั่งให้นำผู้ที่อ้างว่าถูกคุมขังโดยมิชอบ (กรณีนี้คือหมอประกิตเผ่า) ไปควบคุมไว้ในสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ระหว่างที่มีการไต่สวน

ผมอาจจะเข้าใจผิด แต่อำนาจที่จะสั่งให้ใครไปอยู่ในความควบคุมดูแลในสถานที่ใดๆ หรือของบุคคลใด มันก็น่าจะมีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งเท่าที่ผมรู้ กฎหมายให้อำนาจศาลหรือพนักงานสอบสวน ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้แพทย์ตรวจสภาพทางจิตได้หากสงสัยว่าผู้นั้นมีปัญหาทางจิต ซึ่งอาจจะไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ หากรายงานของแพทย์ปรากฏว่า ผู้นั้นมีอาการผิดปกติทางจิตจนไม่อาจต่อสู้คดีได้ ก็อาจจะต้องงดการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีแล้วส่งตัวบุคคลนั้นไปบำบัดรักษา จนกว่าจะหาย หรือ จนกว่าจะสามารถต่อสู้คดีได้ แล้วมาว่ากันใหม่

แต่เคสของคุณหมอไม่ใช่ คุณหมอไม่ใช่ผู้ป่วยคดี ไม่ใช่ผู้ต้องหา ไม่ใช่จำเลย คุณหมอเป็นผู้ป่วย

แล้วกฎหมายเกี่ยวกับสุขภาพจิต ที่จะให้อำนาจรัฐ เอาตัวบุคคลที่เชื่อว่ามีอาการผิดปกติทางจิตแล้วอาจจะทำอันตรายต่อผู้อื่น ไปถูกควบคุมไว้ในสถาบันหรือหน่วยงานทางการแพทย์เพื่อรักษา บำบัด ทั้งนี้ไม่ว่าจะแบบ สมัครใจหรือบังคับ ก็ยังไม่ออก (ในอังกฤษมีกฎหมายประเภทนี้เรียกว่า Mental Health Act)

ผมก็เลยไม่แน่ใจว่า การที่ศาลสั่งให้หมอประกิตเผ่าไปอยู่ในความดูแลของสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ท่านสั่งโดยอาศัยกฎหมายข้อไหน

ตอนแรกเลย ผมตั้งข้อสงสัยว่า การร้องขอให้ปล่อยตัวบุคคลที่อ้างว่าถูกควบคุมตัวโดยมิชอบนั้น น่าจะจำกัดปริมณฑลอยู่แค่เพียง “การถูกควบคุมตัวโดยอำนาจรัฐ” อย่างที่ประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้มันดำเนินมา แต่ผมเข้าใจผิด เพราะไม่ว่าจะเป็นหลักกฎหมายต่างประเทศที่เรานำมาใช้ในเรื่อง Habeas Corpus หรือ แม้กระทั่งในคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลไทยเอง ก็ยอมรับว่า การร้องขอดังกล่าว ไม่จำกัดอยู่แค่เพียงการถูกควบคุมตัวโดยอ้างอำนาจรัฐเท่านั้น แม้เป็นกรณีเอกชนกระทำต่อเอกชนด้วยกันก็สามารถมาร้องขอต่อศาลก็ได้ ดังเช่น กรณีหมอประกิตเผ่านี่เอง

ความกว้างขวางของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยหลายประการ ดังที่เขียนไว้ข้างต้นแล้ว

ผมไม่แน่ใจว่า หากทุกคดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการกักขังหน่วงเหนี่ยว ใช้วิธีนี้กันหมด ศาลจะมีเวลาไปพิจารณาคดีอื่นๆหรือไม่ ทั้งๆที่เรามีกระบวนการยุติธรรมที่สามารถจัดการเกี่ยวกับทุกฐานความผิดอยู่แล้ว ก็คือ แจ้งความต่อตำรวจ ตำรวจก็รวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลออกหมายค้น เข้าไปช่วยเหลือ แล้วก็จับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี

หรือคิดว่านี่คือทางลัด

อย่าลืมว่าทางลัด ใช้กันบ่อยๆมันก็ไม่ลัดนะครับ

หรือคิดว่ายุคนี้ ถ้าถึงมือศาลแล้ววางใจได้ (สังเกตจากปฏิกิริยาของผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายของหนูเปมิกา หรือทางครอบครัวทมทิตชงค์เอง ที่น้อมรับคำสั่งศาลทุกรูปแบบ)

ผมไม่ใช่พวกอำนาจนิยม ไม่สนใจต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกคุมขังนะครับ แต่ผมคิดว่าเราน่าจะมีระบบจัดการที่มันชัดเจน บางทีกว้างเกินไปจนหาขอบเขตไม่ได้ มันก็ไม่ใช่จะมีแต่ข้อดี

ลองคิดเล่นๆนะครับ หากศาลไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยบุคคลที่ถูกคุมขังโดยอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วศาลบอกว่า เฮ้ย ชอบแล้ว มีอำนาจที่จะควบคุมได้ เท่ากับว่าศาลได้ตัดสินไปเลยหรือเปล่าว่า การกระทำของผู้ที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ ไม่เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลอื่นให้เสื่อมเสียเสรีภาพ

ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็น่าแปลก เพราะเท่ากับศาลตัดสินคดีโดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และไม่ต้องผ่านดุลพินิจสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ จะเห็นได้ว่า นี่คือทางลัดของแท้เลย

ก็หวังว่า คดีหน่วงเหนี่ยวกักขังทั้งหลาย วิ่งมาใช้ทางลัดทางนี้หมดนะครับ

เดี๋ยวศาลไม่มีเวลาไปสรรหาองค์กรอิสระกับแก้วิกฤตชาติกันพอดี

พยายามจะกระตุ้นตัวเองอยู่เหมือนกันครับ ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน อะไรๆที่ตั้งใจจะทำมักไม่เคยได้ทำ คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามจังหวะครับ แต่ก็มีเรื่องคิดๆไว้ว่าจะเขียนสักเรื่องสองเรื่อง ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน

หัดเดิน หัดว่ายกันใหม่ครับ

2 Comments:

Anonymous Anonymous said...

"ผมหายหน้าไป ยิ่งกว่าประจำเดือนของสาววัยทอง ..."
แหม! พ่อคุณ ช่างเข้าใจเปรียบเปรยจริงนะ (ขอยืมไปใช้บ้าง คงไม่ว่ากระไรนะคะ) มาเจอ blog นี้เข้าโดยบังเอิญค่ะ ถ้ามีเวลาแวะไปเยี่ยมกันบ้างที่ http://supermadlady.blogspot.com/

10:07 PM

 
Blogger Selfless said...

Does not aching to bandy a few additional accounts for accidental occurrences about boondocks right? - runescape gold sellers of 2019

We currently have...

#1 Corrupt Scarabs - footfall on these for Slayer XP, baby majority of rep. Awards coins and casual baby bxp star. Rep and xp goes
after assertive bulk of scarabs. dispatch on scarab does dmg.

#2 Soul Obelisk - RC and Prayer xp. 20k rep limitation. Does accident over time.

#3 City-limits quests - accidental requirements to perform (combat, skilling, casual things).

11:15 PM

 

Post a Comment

<< Home