Monday, May 02, 2005

นิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ (อีกแล้ว)

ผมหวังจะเริ่มเว็บบล็อกของผมด้วยบรรยากาศ สบายๆ ไปให้พ้นพรมแดนแห่งกฎหมายเสียก่อน จวบจนเริ่มจวนตัวแล้ว คิดมุขใหม่ๆไม่ออก จึงจะวนกลับเข้ามาหาของรักของหวง และของตาย ในการเขียนเรื่องลงบล็อก นั่นคือ เรื่องในวงการกฎหมาย แต่เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง ไอ้เพื่อนตัวดีคนเดิม แนะนำแกมบังคับ และมัดมือชกผมให้เขียนประเด็นปัญหาประเด็นหนึ่ง

มันไม่ใช่แค่เรื่องของพรมแดนนิติศาสตร์ หรือในวงการกฎหมายเพียงเท่านั้นน่ะสิครับ ที่มันบังคับให้ผมเขียนถึง แต่เรื่องของเรื่องมันไปปฏิสัมพันธ์ กับศาสตร์คู่เคียงอีกศาสตร์หนึ่ง นั่นคือ รัฐศาสตร์

ประโยคแสลงหูที่ผมได้ยินมานานแสนนาน และไม่ทราบว่าจะได้ยินอีกนานแค่ไหนคือ “ในบางกรณี เราต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ นำหลักนิติศาสตร์” ผมแค่รู้สึกตะหงิดๆ และอยากถามคนที่ชอบพูด ว่าคุณเข้าใจแล้วเหรอครับว่าอะไรคือ หลัก "รัฐศาสตร์" และอะไรคือ หลัก "นิติศาสตร์" อย่ามาถามผมกลับเลยครับว่าผมรู้หรือเปล่า แน่นอนครับ ... ผมก็ไม่รู้ ผมแค่รู้สึกว่าเวลาคนพูดประโยคนี้มักจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก สถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับกระแส ทำให้การใช้กฎหมายดูเหมือนจะสวนกระแส ดังนั้นบรรดาปราชญ์หลายคนถึงหล่นประโยคทองประโยคนี้ออกมา นั่นหมายถึงต้องการยกเว้นหลักกฎหมายเพราะไม่อยากสวนกระแส

บางท่านเข้าใจไปว่า หลักนิติศาสตร์ เป็นหลักที่เคร่งครัดตายตัว ว่ากันไปตามตัวบทกฎหมาย ลายลักษณ์อักษร แปลความกันตรงๆ โต้งๆ อย่างนั้น และถ้าเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว ย่อมหมดทางเยียวยา แม้ผู้กระทำผิดกฎหมายจะมีเหตุผล แห่งความจำเป็นในการฝ่าฝืนกฎหมายนั้นก็ตาม อันจะทำให้สังคม และสาธารณชน รู้สึกเคลือบแคลงระแวงสงสัยว่า เอ กฎหมายนี่ยุติธรรมจริงไหมหนอ จริงๆหลักนิติศาสตร์หรือหลักกฎหมายมันมีความยืดหยุ่นในการปรับใช้การตีความอยู่แล้วครับ มีบทหลักมีบทยกเว้น มีหลักการใช้การตีความกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม หากไม่รู้ไม่ถึงหลักนิติศาสตร์จริงๆ ไม่สามารถปรับใช้ได้ แล้วเอาหลักรัฐศาสตร์มาอ้างนั่นเท่ากับเป็นการทำลายทั้ง หลัก"รัฐศาสตร์" และ หลัก "นิติศาสตร์" ครับ

ตัวอย่างที่ผมอยากจะยกเพื่อประกอบการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ก็เช่น กรณีที่เด็กขโมยซาลาเปาไปให้แม่ที่ป่วยนอนอยู่บ้านกิน ถามว่าครบองค์ประกอบฐานลักทรัพย์ไหม ตรงเป๊ะครับ แต่ก็ยังไม่จบแค่นั้น เพราะถ้าเด็กอายุ ไม่เกิน 7 ขวบกฎหมายไม่เอาโทษ (แม้จะยังเป็นความผิดอยู่ เพราะเด็กอายุเท่านั้นยังไม่รู้ผิดชอบ หรือพูดง่ายๆ มันยังไม่"ชั่ว" น่ะครับ) แล้วถ้าเกิน 7 ปีล่ะ แม้จะเกิน 7 ปี แต่ถ้าไม่เกิน 14 ก็ยังไม่ต้องรับโทษอยู่ดีครับ แต่ศาลท่านอาจจะใช้วิธีการสำหรับเด็กได้แล้ว เช่น การว่ากล่าวตักเตือน หรืออาจใช้วิธีการคุมประพฤติเด็กได้ กว่ากฎหมายจะให้ใช้โทษอาญาสำหรับเด็กที่กระทำผิดจริงๆ ก็นั่นแหล่ะครับ 17 ปี โน่น โดยศาลก็ยังสามารถลดส่วนลงโทษที่จะลงได้ เห็นได้ว่า ประสบการณ์ชีวิต ความรู้ผิดชอบชั่วดี ของผู้กระทำผิด เป็นสิ่งที่กฎหมายให้ความสำคัญในการกำหนด โทษ หรือวิธีการอันจะส่งผลร้ายต่อเค้า แม้ผู้นั้นจะกระทำการอันเป็นความผิดก็ตาม

คนเมาและคนวิกลจริตก็เช่นกัน แม้จะทำผิด แต่ถ้าได้ความแก่ศาลท่านว่า ผู้กระทำนั้น อยู่ในภาวะมึนเมาครองสติไม่ได้ โดยการเมาไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ เช่น ไม่รู้ว่าไอ้ที่กินน่ะเหล้า กินแล้วเมาก็ต้องเดินโซเซ หรือ ถูกเค้ามอมบังคับขืนใจ (ซึ่งกรณีนี้ใช้กับไอ้เพื่อนตัวดีของผมไม่ได้ ถ้ามันอ้างข้อนี้ ก็จับมันยัดซังเตได้เลย แน่นอน ว่ามันตอแหล) ตามสุภาษิตโบราณเลยครับ "อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา"

ถ้าการกระทำผิดของผู้ใดเกิดจากความไม่สมัครใจของเค้า ที่ทำไปเพราะความจำเป็น อยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย ไม่ว่าจะต่อตัวเอง หรือคนอื่น การที่เค้าตัดสินใจกระทำความผิดเพราะเกิดจากความกดดันนั้นๆ กฎหมายก็เห็นใจ และไม่เอาโทษครับ รวมไปถึงการป้องกันตัว และป้องกันคนอื่นด้วย

เห็นได้ชัดครับว่า แม้การกระทำของผู้ใดจะถือว่าเป็นความผิดและก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายขึ้น แต่หากการกระทำนั้นมีเหตุอันควรเห็นใจ หรือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยเหตุและผลแล้ว กฎหมายก็ย่อมไม่ปล่อยให้ผู้กระทำต้องได้รับผลร้าย จากการกระทำเหล่านั้นหรอกครับ การลงโทษผู้กระทำต่อการกระทำดังกล่าวรังแต่จะก่อให้เกิดผลร้าย ทั้งต่อตัวผู้กระทำเอง ต่อสังคม และที่สำคัญต่อระบบกฎหมาย และความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อกฎหมายและองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยครับ

นอกจากนั้น แม้การกระทำของเค้าจะเป็นความผิดซึ่งต้องถูกลงโทษอย่างแน่แท้ แต่หากผู้กระทำทำไปเพราะความกดดันในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้วยความจน เขลา หรือแม้แต่เป็นผู้มีคุณความดีมาก่อน ก็เป็นเหตุบรรเทาโทษได้ตามมาตรา 78 (ถ้าจำไม่ผิด) กฎหมายเปิดช่องให้นำเอาพฤติการณ์อันน่าเห็นใจ ทำไปเพราะความยากแค้น ฯลฯ เหล่านั้นมาลดโทษ เพราะอะไรถึงแค่ลด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำของเค้ายังคงเป็นความผิดอยู่ ถ้าไม่ผิด แล้วสำหรับผู้เสียหายใครจะคุ้มครอง ทุกคนก็อ้างความยากจนขโมยของคนอื่นได้อย่างนั้นหรือ เพราะฉะนั้นมันยังเป็นความผิดอยู่แต่ก็ลดหรือบรรเทาโทษได้ รวมทั้งความไม่รู้กฎหมายก็อาจอ้างได้เช่นกัน แต่อย่างว่าครับ อะไรที่เป็นกฎหมายต้องชัดเจนแน่นอน ไม่ชัดเจนแน่นอนสิ่งนั้นไม่เรียกว่ากฎหมาย กฎหมายได้กำหนดองค์ประกอบ หรือเนื้อหาของบรรดาเหตุต่างๆที่ผมว่าไว้ อย่างชัดเจน ว่าเมื่อไรเข้าเหตุ และอ้างได้ ขอบเขตแค่ไหน ไม่ใช่บุชถล่มอิรักเพราะเกรงว่าปล่อยเอาไว้จะเป็นอันตรายคุกคามตัวเอง จะเป็นโดยชอบธรรม โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

ยิ่งกว่านั้น ถ้าถึงขั้นตอนของอัยการ อัยการมีดุลพินิจที่จะสั่งไม่ฟ้องได้ แม้จะเป็นความผิดก็ตาม บ้านเราใช้ระบบการสั่งฟ้องโดยดุลพินิจครับไม่ใช่สั่งฟ้องตามกฎหมาย(ซึ่งหมายความว่าถ้าผิดกฎหมายต้องฟ้องเท่านั้น) อัยการบ้านเรามีดุลพินิจ(แต่จะใช้หรือเปล่าในทางปฏิบัติไม่รู้) ที่จะสั่งไม่ฟ้องถ้าการดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ใดๆเลย ทั้งต่อตัวผู้กระทำ ผู้เสียหาย และสังคมโดยรวม (ยังมีอีกหลายกรณีเช่น พ่อแม่กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ลูกตัวเองตาย แค่ลูกเค้าตายหัวใจก็สลายและเป็นการลงโทษที่สุดแสนทรมานมากกว่าโทษทางอาญาแล้วล่ะครับ ถ้าทำให้ลูกเค้าฟื้นได้เค้าคงยอมทุกอย่าง แม้กระทั่งแลกด้วยชีวิตตัวเอง บุคคลเหล่านี้เอาเข้าตารางไปก็ไร้ประโยชน์ครับ การต้องโทษ ไม่ได้ช่วยแก้ไขฟื้นฟู พฤติกรรมอันเป็นอาชญากรของเค้าใดๆเลย หรืออาจกล่าวได้ว่า การบังคับใช้โทษทางอาญาไม่ได้ส่งผลตามประสงค์ของโทษกับบุคคลเหล่านี้ แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเพื่อแก้แค้น ใครครับที่แค้น ดั่งไฟสุมอก ก็ตัวเค้าเองแหล่ะครับ โทษตัวเองที่เป็นเหตุให้ลูกของตนตาย เช้าเย็น หรือ แก้ไขฟื้นฟู ก็ด้วยจิตใจที่มิได้เป็นอาชญากร การทำลูกตัวเองตายเพราะความเลินเล่อของตัวเอง ผมว่า มันคงทำให้เค้านอนผวาไปทั้งชาติ หากขับรถทับลูก ชาตินี้คงไม่กล้านั่งหลังพวงมาลัยอีกเลย แม้กระทั่ง ให้นั่งรถเฉยๆ ก็คงไม่ไหว งานนี้ไม่ได้แก้ไขให้กลับตัวกลับใจเป็นคนดีแต่อย่างใดเลย )

หากอัยการยังไม่ฉลาดฟ้องไปอีก ถามว่าหมดทางเยียวยาหรือเปล่าตามหลักนิติศาสตร์ก็ไม่ครับ เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์ในฐานะเป็นเหตุบรรเทาโทษแล้ว ยังอาจเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ศาลรอลงอาญาได้

ข้อความคิดเหล่านี้ เป็นหลักรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ครับ

และยิ่งปัจจุบันดูเหมือน คดีอาญา ที่เป็นเสมือนเขาวงกต และดินแดนพิศวง งงงวย และลี้ลับสนธยา ก็ได้ผ่อนคลายความ “กระด้าง” ลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะ “อ่อนนุ่ม” ลงอีกมากในอนาคต ตัวอย่างเช่น ที่ฮอตฮิตกันอย่างมากตอนนี้ก็คือ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ที่จะนำมาใช้ในกรณีเด็กและเยาวชนกระทำความผิดเล็กน้อย โดยเฉพาะ เช่น คดีเจ๊เล้ง เป็นต้น ซึ่งหากเป็นกระบวนการยุติธรรมแบบเดิมๆ การกระทำของเด็กย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ก็ต้องดำเนินคดีไปตามสายพานของกระบวนการยุติธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอ้ความผิดฐานลักทรัพย์นี่ มันเป็นอาญาแผ่นดิน ยอมความกันไม่ได้ ก็เท่ากับว่ามันไม่มีกระบวนการใดจะสกัดมิให้คดีดังกล่าว ไปตามสายพานจนสิ้นกระแสความได้

อาจจะลงเอยด้วยการพิพากษาให้จำคุกแต่รอลงอาญา หรือไม่รอก็แล้วแต่ หรือ อาจจะต้องย้ายสำมะโนครัว ไปอยู่บ้านเอื้ออาทร เอ้ย บ้านพรหมวิหารสี่ทั้งหลาย ประวัติอาชญากรรมของเด็กติดตัวจนตาย ไม่เพียงแต่ผู้เสียหายที่สูญเสีย ครอบครัวผู้กระทำผิดก็สูญเสีย สังคมก็สูญเสีย ทุกฝ่ายแพ้หมด ไม่มีใครชนะ
การมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ก็เพื่อให้ทุกฝ่าย “ชนะ” คดีด้วยกันทั้งหมด โดยไม่ต้องไปส่งเด็กเข้าตามสายพานกระบวนการยุติธรรมเส้นเดิมๆ โดยนำเด็กผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้แทนชุมชน ตำรวจ รวมไปถึงอัยการ เข้ามานั่งประชุม หาทางออกในปัญหาดังกล่าว เพราะในบางครั้ง ผู้เสียหายก็ไม่ประสงค์ขนาดจะให้เด็กต้องเสียอนาคต แต่เค้าก็ไม่มีทางเลือกเช่นกันในการดำเนินคดีเป็นอย่างอื่น ครั้นจะไม่เอาเรื่องเสียเลย ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับตัวเอง และเด็กเองก็ไม่ได้รับผลร้ายจากการกระทำใดเป็นการตอบแทนสั่งสอน เขาอาจจะต้องการแค่ คำว่า “ขอโทษครับ ผมผิดไปแล้ว คราวหน้าผมจะไม่ทำอีก” เมื่อหาข้อยุติกันได้ อัยการก็จะสั่งไม่ฟ้อง โดยอาจคุมประพฤติเด็กผู้นั้น ด้วยวิธีใดๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของเด็กผู้นั้นด้วย

เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง เด็กก็จะไม่มีประวัติอาชญากรรม ไม่ต้องขึ้นศาล และไม่ต้องถูกควบคุมตัวในสถานพินิจแต่อย่างใด ผู้เสียหายได้รับการชดเชย อย่างน้อยอาจจะเป็นทางใจ นอกเหนือจากการฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง บางทีอาจจะรู้สึกว่าตนได้รับความยุติธรรมมากไปกว่าช่องทางแบบเดิมที่ผู้เสียหายอย่างเก่งก็เป็นพยานของอัยการผู้ฟ้องคดีเท่านั้น หากไม่มุ่งมั่นไปฟ้องคดีเอง การมีส่วนร่วมของผู้เสียหายมีน้อยมากและมีทางเลือกจำกัดเหลือเกินในสายพานเส้นเดิมๆ สังคมหรือชุมชน ก็ได้รับการเยียวยา ตัวแทนชุมชนมีบทบาทในการดูแลกำกับกันเอง ใส่ใจสารทุกข์ รวมทั้งรวมกันกำหนดชะตากรรมของผู้กระทำได้เท่าที่ควร เพราะต้องยอมรับว่า สังคมหรือชุมชนเหล่านั้น น่าจะถือว่าเป็น “ผู้เสียหายที่ 2” เพราะเมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้น ความสงบสุขและความปลอดภัยของชุมชนนั้นเองที่ถูกพรากไป และได้ทิ้งความหวาดระแวง เอาไว้ให้ดูต่างหน้า

การระงับคดีด้วยสายพานเส้นใหม่ๆ นี้ จะมองว่าเป็น รัฐศาสตร์ หรือ นิติศาสตร์ ดีครับ

นอกจากกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แล้ว แนวความคิดที่จะผันคดีออกนอกสายพานเส้นเก่า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น เป็นธรรม ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยังมีอีกมากมาย แต่คงต้องขออนุญาตยกยอดไว้คราวหน้า รวมทั้งอุปสรรคขัดขวางที่ทำให้หลักการสวยหรูดังกล่าว กลายเป็นของที่เลื่อนลอย ต้องแหงนหน้ามองดูตาละห้อยต่อไป

ผมไม่ได้บอกว่าหลักนิติศาสตร์แก้ปัญหาได้ทุกอย่างแต่บางครั้งก่อนที่เราจะไปหาหลักอะไรมากมายมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม เราควรเพ่งในหลักการของนิติศาสตร์ให้ถ้วนทั่วเสียก่อนว่ามีอะไรสามารถผดุงความยุติธรรมได้ตามหลักการหรือไม่ เราเข้าใจและใช้หลักของเราได้ดีเพียงพอแล้วหรือไม่ หากพอแล้ว ก็อาจจะต้องสรรหาหลักการอื่นมาเยียวยา (เช่นพวกค่าชดเชย ค่าทดแทนกรณีติดคุกฟรี เพราะความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม หรือการช่วยโดยสินน้ำใจ เช่นพวกเงินจากกองสลาก) ไม่ใช่เอะอะก็ไปสรรหาหลักการอะไรมากมายนอกมายกเว้นกฎหมาย ทั้งๆที่ไม่ดูว่าในกระบวนการทางกฎหมายเองก็มีมาตรการที่รองรับไว้แล้ว

แต่ก็มีเหมือนกันที่หลักกฎหมายนั้นหาทางออกไม่ได้ ตอนนั้นผมมีโอกาสได้ฟังการบรรยายของ ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ท่านบอกว่ามีอยู่คดีหนึ่งสมัย ร.5 ยายอยู่กับหลานชายแค่สองคน (หมายถึงยาย 1 คน และ หลานชาย 1 คน ) ยายมีที่นาและควายอยู่ 50 ตัว พอเห็นหลานชายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตัวเองก็เริ่มแก่ตัวลงเรื่อยๆเช่นกัน ก็เลยตัดสินใจยกควายที่มีอยู่รวมทั้งที่นาทั้งหมดให้หลาน เพราะหวังว่าหลานจะได้ทำมาหากินและเลี้ยงดูยายต่อไป ต่อมาปรากฏว่าหลานแต่งงานมีเมียมีลูก ปัญหามันเกิดที่หลานชายต้องตายจากไปเสียก่อน คราวนี้ทำไงครับ ตามกฎหมายเรื่องมรดก เมียกับลูกได้ทั้งหมดครับ (เพราะเป็นทายาทลำดับต้น ตัดยายที่เป็นทายาทลำดับต่ำกว่า) แล้วหลานสะใภ้ดันไม่ถูกกับยาย ไม่ยอมส่งเสียเลี้ยงดูใดๆ ยายมาฟ้องขอให้คืนที่นากับควายให้ตัว ศาลก็งง เพราะไม่รู้จะช่วยไง จะว่าเข้าเหตุเรียกคืนการให้เพราะประพฤติชั่วก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้รับการให้โดยตรง ศาลก็ต้องยกฟ้อง โชคดีที่ตอนนั้นยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระราชอำนาจยังคงเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นในทางตุลาการด้วย ยายถวายฎีกา พระองค์จึงทรงตัดสินให้ยายได้แบ่งควายไปบ้าง (จำไม่ได้ว่าเท่าไร) อันเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่เหลือต่อไป ส่วนหลานสะใภ้ตัวดีได้เยอะหน่อยเพราะมีสองชีวิต คิดไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเกิดสมัยนี้จะตัดสินกันอย่างไร บางท่านก็บอกว่า ก็ต้องยกฟ้อง แต่พอออกจากศาลแล้วจะควักตังค์ให้ยาย ซึ่งนั่นก็เป็นการช่วยแต่ไม่ได้ช่วยโดยหลักกฎหมายแต่อย่างใด บางครั้งสังคมสงเคราะห์หรือความเป็นรัฐสวัสดิการต้องมาช่วยบรรเทารองรับปัญหานี้แทนกฎหมายล่ะครับ

ซึ่งการเยียวยาดังกล่าว จะเป็นไปตามหลักรัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ดีครับ

นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ โดยเฉพาะกรณีมีสิทธิแต่ไม่รู้จักใช้ หรือใช้ไม่เป็นก็อาจก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ในทางคดีเช่นกัน เช่น กู้ยืมเงินเกิน 50 บาท แต่คุณดันไม่ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ แม้คุณจะมีสิทธิเป็นเจ้าหนี้หนี้คุณก็ไม่เป็นโมฆะ แต่คุณกลับบังคับตามสิทธิไม่ได้ เพราะอะไร เพราะกฎหมายไม่ยุติธรรมหรือไม่

อันนี้ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์นำไหมครับ

กฎหมายไม่ได้เพิกเฉยต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของเอกชน แต่การใช้สิทธิ การดำเนินการเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง ด้วยตนเองก่อนเป็นอันดับแรก ผมได้รับเรื่องราวมากมายทำนองว่าโดนคู่สัญญาเอาเปรียบหรือโกง แต่ดันไม่มีหลักฐาน ไม่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับคู่สัญญาเลย ไม่รู้จะเอาอะไรไปฟ้อง จะบอกว่ากฎหมายไม่ยุติธรรมเลย คงไม่ใช่มั๊งครับ ผมเลยต้องอธิบายไปว่า นักกฎหมายก็เหมือนหมอ ไม่ใช่เทวดาที่จะรักษาได้ทุกโรค และไม่ใช่จะทำให้ชนะเป็นไปตามสิทธิได้ทุกอย่าง มันขึ้นอยู่กับคนไข้ หรือคดีนั้นๆ หลักฐานดี ผู้พิพากษาดี ทนายดี ชนะแน่ แต่ถ้าไม่ก็อาจจะแพ้ และสุดท้ายคุณต้องย้อนกลับไปถามตัวเองว่า ตอนทำสัญญาคุณไม่ดูคู่สัญญาคุณให้ดีใช่ไหม ไม่ยอมทำหลักฐานอะไรเพราะรู้สึกว่าเป็นสัญญาลูกผู้ชายใช่ไหม คราวหน้าระวังหน่อยนะครับ เหมือนคุณกินอาหารไม่เลือก นอนดึก กินเหล้า เดินตากฝน พอไม่สบายก็ให้หมอรักษา หมอรักษาไม่หายก็ด่าหมอ

อาจารย์จิตติ บอกว่า เวลาจะปรับใช้กฎหมายนั้นให้ดู "เทศกาลบ้านเมือง" (คำนี้เป็นคำเก่าในกฎหมายตราสามดวงน่าจะอยู่ในส่วนของพระธรรมศาสตร์ ครับ เป็นการสอนบรรดาตุลาการและผู้พิพากษาทั้งหลายเวลาจะปรับใช้หรือตัดสินความ ให้พิจารณาถึงความเป็นไป คุณค่า และค่านิยมของสังคม ณ เวลานั้นด้วย ยังทันสมัยอยู่นะครับ) ไม่ใช่หลับหูหลับตาตัดสิน เดินมันตามแต่ตัวบท ลายลักษณ์อักษรแล้วก่อให้เกิดผลประหลาดที่ชาวบ้านชาวช่องเค้าไม่ยอมรับ หรือแม้แต่ตัวคู่ความก็ไม่ยอมรับ ฝ่ายชนะยังอยากจะอุทธรณ์เลยประมาณนั้นนอกจากนั้น กฎหมายเองมีย่อมมีความยุติธรรมเป็นอุดมคติอยู่แล้ว และยังมีพื้นฐานอันแข็งแกร่งจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งคุณค่าต่างๆที่มีอยู่ในสังคม (ซึ่งก็น่าจะถือว่าเป็นเทศกาลบ้านเมืองเช่นกัน) ศ. ปรีดี เคยบอกว่า กฎหมายนั้นมีลักษณะพิเศษคือความสม่ำเสมอ และความชัดเจนแน่นอน (ขืนกฎหมายไม่ชัดเจน ไม่แน่นอนและไม่สม่ำเสมอ บ้านเมืองวุ่นวายแน่ๆ ข้อเท็จจริงเหมือนกันแต่ผลในทางคดีต่างกันสุดขั้นงี้คงวุ่นพิลึก)

แต่อย่างไรก็ตามท่านว่าไว้ว่า แม้กฎหมายจะต้องรักษาเอกลักษณ์หรือคุณลักษณ์แห่งความชัดเจนแน่นอน (จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นความแข็งกระด้าง) แต่หากระบบกฎหมายใดสามารถเปิดช่องให้ผู้ปรับใช้นำเอาคุณค่าของสังคมอื่นๆ เช่น ศีลธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของสังคม หรือเทศกาลบ้านเมืองนั่นแหล่ะ มาปรับใช้ได้โดยไม่เสียความชัดเจนแน่นอนและความสม่ำเสมอของกฎหมายได้ ระบบกฎหมายนั่นย่อมเรียกได้ว่า เป็นระบบกฎหมายที่เจริญแล้ว (mature law) และนักกฎหมายที่สามารถปรับใช้กฎหมายได้ตามหลักนิติวิธี รักษาความชัดเจนและความสม่ำเสมอของกฎหมายได้ แต่ก็สามารถนำเอาหลักศีลธรรม ความยุติธรรมเข้ามาปรับใช้ได้ด้วย ย่อมถือได้ว่าเป็นนักกฎหมายที่เจริญแล้วเช่นกัน

ดังนั้นสิ่งที่ผมนำเสนอแค่อยากจะบอกว่า ผมไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับประโยคที่ว่า ให้นำหลักรัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์มาใช้ในกระบวนการยุติธรมหรือการพิพากษาตัดสินคดี ผมแค่รู้สึกว่าผู้ที่ออกมาพูดเช่นนี้ ไม่ได้ออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ หากแต่ต้องการเอากระแสสังคมมากดดันองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ หรือองค์กรผู้มีหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินข้อพิพาททั้งหลาย ลองดูคดีซุกหุ้น 8 ต่อ 7 อันบรรลือโลกสิครับ

โชคดีที่ผมมีโอกาสสนทนากับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ผ่านตัวอักษรในกระทู้เกี่ยวกับหัวเรื่องนี้แหล่ะ เค้าอธิบายงี้ครับ (อันนี้ผิดถูกไว้แต่ผู้กล่าว…อิอิ) รัฐศาสตร์ศึกษาการเกิดขึ้นของปรากฎการณ์ การดำรงอยู่ และการสลายไปของปรากฎการณ์ โดยศึกษา สถาบันการเมือง แนวคิดทางการเมือง ปรัชญาทางการเมือง ศึกษา ลักษณะของอำนาจ ความสัมพันธ์ทาง"การเมือง" เรื่อง "Justice" ก็ศึกษา แต่ไม่ใช่บริบทของนิติศาสตร์ เป็นบริบทของ "ปรากฎการณ์" เอาเป็นว่า รัฐศาสตร์ไม่ได้ศึกษา วิธีการตีความ และการปรับใช้กฎหมาย

ผมจึงอาจสรุปด้วยหางอึ่งของผมได้ว่า รัฐศาสตร์นั้นเน้นศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงและทิศทางความน่าจะเป็นในอนาคต แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการพิจารณาตัดสินคดี รัฐศาสตร์ไม่ได้เข้าไปตัดสินว่าสิ่งใดดีชั่ว หรือยุติธรรมหรืออยุติธรรมแต่เข้าไปอธิบายว่ามันคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร รูปแบบไหน และมันจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ผลสุดท้ายมันจะเป็นเช่นไร

แต่ผมเองก็ยังยืนยัน เหมือนที่ อาจารย์นิธิท่านว่า ในมติชนว่า “หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มิได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด จะพูดว่าเป็นเรื่องเดียวกันยังได้ เพราะต่างมุ่งประโยชน์สุขของสังคมทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคตเป็นที่ตั้ง ” และ “รัฐศาสตร์ที่แท้จริงไม่ได้ยืนอยู่ได้โดยปราศจากหลักนิติศาสตร์ เช่นเดียวกับนิติศาสตร์ก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้โดยปราศจากรัฐศาสตร์”

บางครั้งก็อาจเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์จิตติกล่าวไว้ อย่างนี้ครับ “ระหว่างรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์อะไรจะมีความสำคัญกว่ากัน ในเรื่องนี้ต้องเข้าใจให้ดีว่าศาสตร์ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ การที่จะบอกว่าศาสตร์ใดควรมีความสำคัญมากกว่าขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณาในเรื่องใด ฉะนั้นการที่รัฐศาสตร์จะนำนิติศาสตร์ก็ต้องใช้ให้ถูกต้อง คือ ในช่วงเวลาใดรัฐศาสตร์มีความสำคัญที่จะต้องใช้ก่อนก็ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ ซึ่งก็คือก่อนที่จะออกกฎหมายก็ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ แต่เมื่อเป็นกฎหมายแล้วจะใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ไม่ได้ ต้องเป็น justice under law”

ดังนั้นก่อนที่เราจะมีรัฐบัญญัติอะไรออกมา ก็คงต้องศึกษาให้รอบด้านถึงผลดีผลเสีย ฯลฯ และนี่น่าจะเป็นช่องทางที่รัฐศาสตร์จะเข้ามามีส่วน นอกจากนั้น ความรู้ทางรัฐศาสตร์น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความแนบแน่นกับกฎหมายอย่างยิ่ง (อย่างน้อยก็เรื่องสภานิติบัญญัติในการออกกฎหมายล่ะครับ เขาผู้ทรงเกียรติเหล่านั้นก็เป็นนักการเมืองทั้งนั้น)

อีกประการหนึ่งที่รัฐศาสตร์จะมีบทบาทอย่างมากในการใช้กฎหมายคือ การที่รัฐศาสตร์จะอธิบายปรากฏการณ์ทางกฎหมายให้ประชาชนหรือสังคมเข้าใจได้ในรูปของปรากฏการณ์น่ะครับ เพราะบางครั้งการอธิบายในเชิงนิติศาสตร์คนจะไม่ค่อยเข้าใจเพราะมันมีเรื่องเทคนิคการใช้การตีความกฎหมายมาก บางครั้งเรื่องบางเรื่องเป็นการตัดสินที่เทคนิคแท้ๆ

สำหรับหลักความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่เข้ามาปรับใช้โดยตรงกับนิติศาสตร์ก็น่าจะมีครับ แต่น่าจะมาในรูปของเหตุผลในการตีความและการปรับใช้กฎหมายตามที่นิติวิธี (juristic method) เปิดช่องไว้น่ะครับ โดยเฉพาะการตีความรัฐธรรมนูญ ข้อความคิดทางการเมือง อำนาจการต่อรองทางการเมือง การจัดสรรอำนาจ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเหตุผลเบื้องหลังตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น นอกจากจะเป็นฐานความรู้ก่อนที่จะบัญญัติกฎหมายแล้ว รัฐศาสตร์ก็อาจเข้ามาช่วยตีความและใช้เท่าที่นิติวิธีทางกฎหมายจะเปิดไว้ด้วยครับ

2 Comments:

Blogger Etat de droit said...

แวะมาชมครับ

ส่วนประเด็นแลกเปลี่ยนคงไม่มีอะไรเท่าไร เพราะเห็นตรงกัน

ประเด็นเพิ่มเติมอาจจะมี แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออก และความขยันยังไม่เกิด

พรุ่งนี้เอาเรื่องมันๆอีกนะเฟ้ย...

อ่านบล็อกขอฃมันจบแล้วเชิญชวนไปอ่านบทความของ อ. นิธิ ในมติชนวันจันทร์ที่ผ่านมา

ตามนี้เลยครับ
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01act03020548&show=1§ionid=0130&day=2005/05/02

แกไม่เคยเรียนกฎหมาย ไม่เคยเรียนรัฐศาสตร์ แต่เขียนแบบนัก ก.ม.อายไปเลย

สุดยอดสหวิทยาการขนานแท้

ส่วนประธานศาล รธน.กระมล ทองธรรมชาติ บอกว่า จะใช้หลักรัฐศาสตร์ตัดสินคดีนั้น เอาอีกแล้วครับ แบบนี้ทุกที ผมอึ้ง ไม่มีไรพูดเลย

ลองดู รธน.สักมาตรามั้ยครับ

มาตรา ๒๓๓ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

เดี๋ยวจะชวนคนมาอ่าน

4:18 PM

 
Anonymous Anonymous said...

ใครบอกว่าจะชวนตูมาอ่านว่ะ

นี่หาเองเลยเจอ

เสียดาย มาเจอช้าไปหน่อย แต่ถูกใจครับ...

แต่นี่ผมง่วง ขอเวลามาอ่านละเอียดอีกครั้งหนึ่ง...

เรื่องประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์อ้ะ...

อย่าคิดมากครับ

สมัยคดีนายก
คำว่า "หลักรัฐศาสตร์" หมายถึง "ปล่อย (ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป)"
"หลักรัฐศาสตร์" หมายถึง "หลุด (จากตำแหน่ง)"

คันโว้ย ไม่น่าพูดถึงเลย

ผมแพ้ประโยคนี้ว่ะ...

10:47 PM

 

Post a Comment

<< Home