Monday, May 23, 2005

เรื่องบ้าๆบอๆกับอาชญากรรม

กลัวจะร้างไปหลายวัน วันนี้เลยเอาเรื่องเก่าๆที่เคยโพสๆไว้ในบอร์ดมาหากินอีกครั้ง

เมื่อเกือบสองเดือนก่อน หลายคนคงมีโอกาสได้อ่านข่าวอาชญากรรมข่าวหนึ่งจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวของลูกละเมอฆ่าพ่อ นี่คือส่วนหนึ่งของรายละเอียดในข่าวครับ

“จูลส์ โลว์ วัย 32 ปีสารภาพกับตำรวจว่าเมื่อเดือนตุลาคมปี 2003 เขาได้ลงมือฆ่าเอ็ดดี้ ผู้เป็นบิดาอายุ 82 ปี ขณะที่พ่อกำลังหลับอยู่โดยที่เขาจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย

ดร.เออชาด อิบราฮิม ผู้อำนวยการศูนย์การนอนหลับแห่งกรุงลอนดอน ถูกเรียกตัวเข้าไปพิสูจน์ว่าสิ่งที่นายโลว์กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งเขากับทีมงานได้ศึกษาพฤติกรรมการนอนหลับของโลว์ก่อนที่จะถูกพิจารณาคดี การทดสอบที่ดร.อิบราฮิมใช้เรียกว่า “โพลีซอมโนกราฟฟี” (Polysomnography) เป็นการวินิจฉัยโรคโดยใช้การวัดแบบต่างๆ ได้แก่ การวัดคลื่นสมอง การทำงานของกล้ามเนื้อ และการหายใจขณะนอนหลับ นอกจากนั้นยังศึกษาปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดการละเมอของมนุษย์ซึ่งได้แก่ แอลกอฮอล์และความเครียด

"โลว์เคยมีประวัติการละเมอมาก่อน และก็ยิ่งแย่ไปกันใหญ่เมื่อเขาดื่มเหล้าเข้าไปด้วย ก่อนคืนเกิดเหตุเขาไม่เคยมีพฤติกรรมรุนแรงมาก่อน ... อย่างไรก็ตาม แม่เลี้ยงของเขาเพิ่งเสียชีวิตไป นอกจากนั้นก็มีปัจจัยก่อความเครียดอื่นๆ อีกหลายอย่างเกิดขึ้น สุดท้ายเขาก็ละเมอฆ่าพ่อของเขา"

ดร.อิบราฮิมเผยกับสำนักข่าวบีบีซีนิวส์พร้อมย้ำว่าพ่อลูกคู่นี้สนิทกันมาก ดร. อิบราฮิมเผยว่า ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนั้นโลว์กำลังละเมออยู่จริง ซึ่งเรียกสภาวะดังกล่าวว่า “ภาวะอัตโนมัติ”

ในทางกฎหมายการกระทำภายใต้ภาวะอัตโนมัติ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจ โดยแบ่งออกเป็นสองชนิด คือภาวะอัตโนมัติโดยวิปลาส ซึ่งจัดว่าเป็นอาการป่วยทางจิต กับภาวะอัตโนมัติโดยไม่วิปลาสที่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง กรณีของโลว์ถือเป็นภาวะอัตโนมัติโดยวิปลาส เขาจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ได้ทุบตีพ่อจนถึงแก่ความตาย แต่ถูกส่งไปรักษายังโรงพยาบาลโรคจิตอย่างไม่มีกำหนดแทน

ดร.อิบราฮิมกล่าวว่า กรณีของโลว์ไม่ใช่คดีแรกที่เคยเกิดขึ้น แต่เคยมีปรากฏมาแล้วประมาณ 68 ครั้งทั่วโลก อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่าคดีนี้น่าจะเป็นคดีฆาตกรรมที่เกิดจากการละเมอแท้ๆ ครั้งแรกในอังกฤษ ดร.อิบราฮิมกล่าวด้วยว่าอัตราส่วนของเด็กที่ละเมอประมาณ 7% - 8% จะลดลงเหลือเพียงแค่ไม่ถึง 1% เมื่อพวกเขาโตขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ชาย แต่ก็จะไม่ค่อยพบคนที่ละเมอแล้วก่อเหตุรุนแรงมากนัก

ก่อนหน้านี้มีคดีลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในอังกฤษ โดยเมื่อปี 1998 ดีน โซเกล พ่อครัววัย 27 ปี ถูกจำคุกตลอดชีวิตหลังทำร้ายภรรยาจนเสียชีวิตที่บ้านในเมืองเดวอน เขาเริ่มทุบตีภรรยาขณะที่เขากำลังหลับอยู่ แต่ยอมรับว่าเขาทำร้ายเธอต่อไปแม้ตื่นขึ้นและรู้ตัวแล้วว่ากำลังใช้ค้อนทุบภรรยาอยู่ และสุดท้ายก็จ้วงแทงเพื่อให้เธอเงียบเสียงลง

อีกคดีซึ่งเป็นที่โจษจันกันมาก คือเรื่องราวในปี 2002 เมื่อ ปีเตอร์ บั๊ก มือกีตาร์ของวงอาร์.อี.เอ็ม.พ้นผิดจากการทำร้ายพนักงานของสายการบินบริติชแอร์เวย์ส ซึ่งศาลยอมรับข้อกล่าวอ้างของบั๊กที่ว่าเขาจำเหตุการณ์นั้นไม่ได้เพราะขณะที่เกิดเหตุเขาอยู่ในภาวะอัตโนมัติโดยไม่วิปลาส บวกกับฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และยานอนหลับที่กินหลังจากขึ้นเครื่อง ส่วนที่ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ มีคดีละเมอทำร้ายผู้อื่นเมื่อปีที่แล้ว โดยชายวัย 28 ปีคนหนึ่งอ้างว่าเขาฝันว่าถูกทำร้ายจึงละเมอฆ่าคู่รัก สุดท้ายฆาตกรรายนี้ก็ถูกจำคุกเป็นเวลา 26 ปี โดยศาลตัดสินว่าเขามีสติครบถ้วนขณะที่โยนกระถางต้นไม้ใส่ศีรษะของแฟนสาวแล้วยังแทงเธอจนเสียชีวิต ทั้งนี้ ดร.อิบราฮิมแนะนำให้ผู้ที่เคยมีประวัติความรุนแรงขณะละเมอให้เข้าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อจะได้ทำการรักษาต่อไป"


กรณีดังกล่าวเป็นสภาวะที่ผู้กระทำความผิดไม่อยู่ในภาวะที่รู้สึกตัว หรืออาจจะเรียกว่า “ไร้สำนึก” ซึ่งผลของการกระทำที่ไร้สำนึกนั้น ทางกฎหมายอาญาถือได้ว่า ผู้กระทำ “ไม่มีการกระทำ” ทั้งนี้เนื่องจาก การกระทำในทางกฎหมายอาญานั้น นอกจากจะมีการเคลื่อนไหว (หรือบางกรณีคือการไม่เคลื่อนไหว เช่นการงดเว้นในการกระทำการ ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำได้เช่นกัน ) เหตุเพราะ สิ่งที่จะถือได้ว่าเป็น “การกระทำ” ทางกฎหมายอาญา ที่จะพิจารณาต่อไปได้ว่า การกระทำของผู้กระทำนั้น เป็น “ความผิดอาญา” หรือ “อาชญากรรม” หรือไม่ ต้องเป็นการกระทำที่รู้สำนึก

รู้สำนึก ก็คือ เป็นการกระทำที่ผู้กระทำได้มีกระบวนการตัดสินใจในการกระทำจากภายใน คือ มีการคิด ตกลงใจที่จะกระทำการ และได้กระทำการไปตามที่คิดและตกลงใจนั้น ดังนั้น ผู้ที่กระทำโดยละเมอ หรือ โดยปฏิกริยาตอบสนองอัตโนมัติ จึงไม่ถือว่ามีการกระทำ อันจะพิจารณาต่อไปว่า การกระทำนั้นจะเป็นความผิดอาญา หรืออาชญากรรมหรือไม่

แต่จริงๆวันนี้ผมตั้งใจจะว่าถึง สภาวะแห่งจิตของผู้กระทำ อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งกรณีที่จะว่าถึงนี้ต่างออกไปจากตัวอย่างของการละเมอข้างต้น เนื่องจากสิ่งที่ผมจะกล่าวถึงวันนี้ เป็นกรณีที่ผู้กระทำลงมือกระทำโดย “รู้สำนึก” แต่ที่ทำลงไปนั้น เป็นเพราะเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของจิตใจ (แท้จริงคือสมองต่างหาก ประหลาดเหมือนกันนะครับ คนเรามักจะมีความสัมพันธ์ และมักจะกำหนดความรู้สึกและอารมณ์เรากับอวัยวะที่เรียกว่า “ใจ” มากกว่า “สมอง” อาจจะเป็นเพราะหัวใจ ดูเหมือนจะเป็นตัวแทนของอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ไปเสียแล้ว เช่น เวลาเราไปเจอเหตุการณ์อะไรมาที่ทำให้เราลืมไม่ลง เรามักจะบอกว่า “ประทับใจ” หรือ ได้รู้ได้สัมพันธ์สิ่งที่ยากจะลืมเลือนมา ก็มักจะเป็นอาการ “ติดใจ” หรือ “ติดตา” กระทั่ง “ติดหู หรือ ติดปาก” จนบางคนอยากลืมภาพนั้นยังต้อง ใช้วิธี “ลืมตาในน้ำ” เหมือนพี่ปั๊ป วงโปเตโต้)

ภาวะผิดปกติของการทำงานดังกล่าว ภาษาทางหมอเขาเรียกว่า "จิตเภท" ซึ่งอาการเหมือนคนปกติอย่างเรานี่แหล่ะ บางคนมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตก็มี มีตัวอย่างที่แถวๆปริมณฑลที่เป็นข่าวครึกโครมไม่กี่ปีที่ผ่านมา รายนั้นเป็นถึงอัยการเลยครับ นั่งสมาธิกรรมฐานวิปัสนา จนเกิดนิมิตภาพหลอน เห็นตัวเองและครอบครัวมีร่างกายใหญ่ขึ้นทุกวันๆๆๆๆ จนกระทั่งคับโลกไปหมด ด้วยเหตุนี้ทางเดียวที่จะช่วยรักษาโลกนี้ไว้ได้คือ ต้องฆ่าตนเองและครอบครัว แม้ภรรยาจะเริ่มรู้ตัวล่วงหน้า พยายามเก็บของในบ้านที่จะใช้เป็นอาวุธดีขนาดไหนก็พลาดครับ พลาดเพราะปลอกผลไม้แล้วลืมเก็บมีดปลอกผลไม้ ก็เกิดเป็นเหตุเศร้าสลดขึ้นครับ (รายละเอียดของคดีผมจำได้ลางๆแค่นี้แหล่ะครับ ใครรู้มากกว่านี้จะแจ้งแถลงไขก็เป็นพระคุณครับ)

โรคจิตประเภทนี้ นี่เองครับที่เป็นเหตุหนึ่งที่ถือว่าผู้กระทำไม่มีความชั่ว ทำให้การกระทำของเค้ายังไม่เป็นความผิดอาญา (เรื่อง “ความชั่ว” นี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอดู ทั้งในการเรียนการสอนกฎหมายอาญาเองก็ยังให้ความสำคัญกันน้อย มาก หลายคนคิดว่า สิ่งที่เรียกว่า “ความชั่ว” ในกฎหมายอาญา นั้นก็เป็นเรื่องเดียวกันกับ ความชั่วตามนัยแห่งศีลธรรม การน่าตำหนิ แท้จริงแล้วต่างกันน่ะครับ เพราะว่า ความชั่วทางศีลธรรมนั้น ได้ถูกแปรเปลี่ยน และเปลี่ยนรูปออกมากลายเป็นหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายทั้งหมดแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและแน่นอนในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษ และมีกระบวนการที่ค่อนข้างเป็นผลร้ายต่อผู้ถูกกล่าวหา อย่างยิ่ง ความชั่วในการที่จะบอกว่าการกระทำใดเป็นความผิดอาญา หรืออาชญากรรม จึงหมายถึง “ความน่าตำหนิ ในการตัดสินใจ “เลือก” ที่จะกระทำความผิดของผู้กระทำ” หรืออาจกล่าวได้ว่า อาชญากรรม คือ การที่ผู้กระทำตัดสินใจที่จะเลือกกระทำในสิ่งที่เขาเองก็รู้อยู่ว่าเป็นสิ่งเลวร้าย ด้วยเจตจำนงเสรีของเขา ดังนั้น การกระทำผิดของเด็ก (ไม่เกิน 7 ปี) และคนผิดปกติทางสมอง หรือจิตใจ จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอาชญากรรม เพราะ การตัดสินใจเข้ากระทำความผิดของเขาไม่ได้เกิดจากเจตจำนงอันเสรีแต่อย่างใด เนื่องจากถูกความไม่รู้ผิดชอบ และความไร้เดียงสา ครอบงำอยู่ ตรรกะนี้เอง ใช้ได้กับ ผู้กระทำผิดโดยความจำเป็น ที่จะต้องเอาชีวิตตน หรือผู้อื่นให้พ้นจากอันตรายด้วย และยังมีอีกหลายกรณีครับ )

กฎหมายจึงไม่สามารถลงโทษอาญากับเขาได้ จับได้ก็ต้องมาบำบัดรักษากันครับ การขังคุกไม่ได้ช่วยอะไร ไม่หายบ้าแถมอาจจะทำให้คนในคุกบ้าตามกันไปอีก

แล้วจะมีมาตรการอย่างไรดีครับ ในต่างประเทศ คาดว่าน่าจะเป็นอังกฤษได้ข่าวมาว่าเขามีพระราชบัญญัติชื่อประมาณว่า (จำได้แค่นี้อีกแหล่ะครับ) Mental Health Act ทำนองนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือตำรวจสามารถจับและควบคุมคนที่สติสตังไม่ดี และมีพฤติกรรมก้าวร้าว น่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นไว้ได้ และส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลโรคจิตได้ครับ เคยมีแนวคิดจะนำกฎหมายประเภทนี้มาใช้ในบ้านเราเหมือนกัน แต่อย่างที่บอกครับ องค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในชั้นปฏิบัติของเรายังไม่แน่นพอ เกรงว่าจะนำมาใช้จนกระทั่งไม่รู้ใครดีใครบ้า แค่ลำพัง ข้อหาอั้งยี่ กับซ่องโจรก็ใช้กันเป็นว่าเล่นแล้วครับ เพราะว่าความผิดพวกนี้ยังไม่ต้องรอให้ลงมือกระทำก็จับได้ แค่สมคบกันเฉยๆ อันนี้ก็เล่นไม่ยาก จับมาคนนึงก่อน แล้วตั้งข้อหาอั้งยี่หรือซ่องโจรซะ อย่างน้อยก็ควบคุมตัวได้ 48 ชั่วโมงแล้ว หาคนอื่นไม่ได้ก็ปล่อยไป เพราะจับไม่ครบจำนวนคนตามที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ผมได้มีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาสมัยเรียนปริญญาตรีวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาที่ โรงพยาบาลนิติจิตเวช อยู่แถวๆพุทธมลฑล ที่เท่าไรไม่รู้ลืมหมดแล้ว นานมากแล้วล่ะครับ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณพี่อยู่คนที่เค้าเป็นโรคนี้ น่าสนใจมากครับ เคสนี้

พี่คนนี้เดิมท่านบวชเป็นพระอยู่แถบภาคอีสาน ค่อนข้างเคร่งครับ นั่งวิปัสนากรรมฐานเช่นกัน และนั่งไปเรื่อย นั่งแล้วหลงครับ ไม่ยอมกินข้าวกินปลา ไม่ได้พักผ่อน จนเกิดอาการหูแว่ว และภาพหลอน (เป็นอาการหลักของผู้ที่เป็นโรคนี้ครับ) แต่ยังรู้ตัวนะครับ มันค่อยแรงขึ้นๆๆๆ จนควบคุมตัวเองไม่ได้ เจ้าอาวาสแนะนำให้ทำสมาธิและนั่งฟังเสียงน้ำไหล (เพื่อให้เกิดสมาธิจดจ่อกับการไหลของน้ำ มากกว่าเสียงแว่วน่ะครับ) แต่ไม่ได้ผล จนเริ่มหนักขึ้น ชาวบ้านครับก็ตามสูตร เห็นว่าหลวงพี่เพี้ยน ก็จับสึก เอาเสื้อผ้ามาใส่ให้ แล้วจับขึ้นรถทัวร์บขส ส่งกลับมาที่หมอชิต (ดูเค้าทำ)

ทิดใหม่มารู้สึกตัวก็ถึงหมอชิตแล้ว (คาดว่าขณะจับสึกคงต้องมีอาการก้าวร้าวอยู่บ้าง และตามสูตรเช่นกัน ต้องมีสหบาทามาบ้างไม่มากก็น้อย) ซึ่งก็ประมาณรุ่งสาง เดินมาตามทางเรื่อยโดยไม่มีจุดหมาย พลันทันใด อาการหูแว่วก็ดังขึ้นมา ตอนที่คุณพี่ท่านนี้เห็นรถบรรทุกคันหนึ่งจอดอยู่ข้างทาง (พร้อมคนขับที่หลับเอาแรงอยู่แถวนั้น) หูที่แว่วบอกคุณพี่ว่า "ขึ้นไปเลย รถของเราเอง ขับไป ไม่มีใครว่าหรอก" แต่ช่วงแรกคุณพี่เขาเองยังมีสตินะครับ พยายามต่อสู้กับตัวเอง สุดท้าย ก็หูแว่วแรงขึ้นๆๆๆ ก้าวร้าวขึ้นๆๆๆๆ จนทนไม่ไหว คุณพี่คนนั้นก็เลยกระโดดขึ้นรถแล้วขับออกไป

ขับไปได้ไม่เท่าไร ก็ไปติดหล่ม ชาวบ้านและเจ้าของรถตามมาทัน ก็ตามสูตร สหบาทาไปอีกหนึ่งชุดแล้วจับส่งตำรวจ

เรื่องมาถึงศาล (จริงๆถ้าปรากฏว่าเป็นโรคจิตตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ก็ส่งไปโรงพยาบาลตั้งแต่ตอนนั้นได้แล้วครับ แต่ท่าทางจะไม่มีอาการ หรือไม่ตำรวจก็ทำคดีเร็วจัง) เรื่องถึงศาล ศาลชั้นต้นท่านตัดสินว่า (แม้จะนำผู้เชี่ยวชาญไปนำสืบพิสูจน์แล้วว่า เป็นโรคจิตเภทซึ่งเข้าข่ายตามมาตรา 65 ซึ่งกฎหมายไม่เอาโทษ จริงๆถ้าจะกล่าวให้ถูก เพราะการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอาญา จึงไม่อาจบังคับใช้โทษทางอาญากับเขาได้มากกว่า)

แต่ศาลท่านฟังได้ว่า จำเลยขับรถไปได้ระยะทางพอสมควรเท่ากับยังมีสติดีอยู่ ศาลท่านลงให้จำคุก ซึ่งตรงนี้ด้วยความเคารพท่านยังเข้าใจคลาดเคลื่อนครับ เพราะว่า การเป็นจิตเภทไม่ใช่คนปัญญาอ่อนที่จะไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่เค้ามีช่วงเวลาที่จริตวิกล เหมือนถ้อยคำที่มาตรา 30 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ท่านได้ให้ไว้น่ะครับว่า "การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่..." แสดงว่าต้องมีขณะที่ "จริตไม่วิกล" ด้วยน่ะครับ

แต่เดชะบุญศาลอุทธรณ์กลับและเห็นว่าคุณพี่เป็นผู้ป่วยจิตเภทจริง เลยได้ส่งตัวมาอยู่ในโรงพยาบาลนิติจิตเวช ตอนที่ผมได้ไปสัมภาษณ์พี่เค้าอาการเกือบปกติแล้วครับ และปฏิกิริยาคำพูดคำจา คนปกติอย่างผมอายเลยครับ

ผมได้มีโอกาสถามคุณหมอว่า ไอ้โรคประเภทนี้มันเกิดจากอะไร เกิดจากความทรงจำวัยเยาว์หรือเปล่า หรือเกิดจากพยาธิสภาพที่สมอง หรือเกิดจากการใช้ยาเสพติด ฯลฯ หมอท่านตอบคำถามได้แบบ เคลียร์ (คา) ใจมาก ท่านตอบว่า “เหมือนเป็นหวัด มีเป็นร้อยสาเหตุ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรตายตัว” ผมนี่งง และกลัวว่าไอ้หวัดแบบนี้มันจะมาเกิดที่เราได้บ้างสักวัน

ส่วนอีกราย นี่ดมกาวมากครับ หลอน และแว่วตามสูตร ว่ามีคนจ้องทำร้าย และหูแว่วจนขนาดสั่งให้เอามีดไล่ฟันเพื่อนบ้านที่รู้จักกันมานานเกือบตายครับ

ใส่ใจคนรอบข้างให้ดีครับ อาจารย์ที่สอนผม ท่านบอกว่า คนจะนั่งวิปัสสนา ต้องไม่นั่งสุ่มสี่สุ่มห้า การนั่งต้องมีครู ต้องนั่งตามหลักการ (ผมไม่เคยลองเหมือนกัน แค่นั่งสมาธิยังไม่ไหวเลยครับ) หากคิดจะนั่งเองล่ะก็ ต้องระวังครับ โดยเฉพาะพวกนั่งแล้ว เห็นนิมิตรนู่นนี่ เห็นลูกก้ง ลูกแก้ว รู้สึกว่าตัวลอยได้ อันนี้ต้องระวังครับ

3 Comments:

Anonymous Anonymous said...

น้องต้อง ถ้านั่งสมาธิ แล้วเห็น “น้องลูกแก้ว” แล้วตัวลอยเข้าไปหา “ลูกแก้ว” นั้น ต้องทำอย่างไรละ แนะนำหน่อย

P'Pol@U.S.A.

5:12 PM

 
Blogger ratioscripta said...

อันนี้ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ แต่เท่าที่เคยได้ฟังมาจากอาจารย์แสวงว่า ต้องแก้ครับ ต้องหาอาจารย์ท่านแก้ อาจารย์ที่นั่งวิปัสนากรรมฐานเก่งๆ พระอาจารย์ก็ได้ครับ

เหมือนครั้งที่หลวงพ่อสดท่านเกิดนิมิตรแล้วท่านก็ให้เกจิฯ ท่านหนึ่งผมจำชื่อท่านไม่ได้มาแก้ไขให้ การแก้ แก้อย่างไรอันนี้ ไม่แน่ใจขอรับ คงต้องศึกษาต่อไปครับผม

6:37 PM

 
Anonymous Anonymous said...

ไม่รู้จะเม้นอะไรเพราะไม่ดูบอล
แวะมาทักทายอ่ะค่ะ ขอบคุณที่แวะไปไดเรา ^ ^

5:13 PM

 

Post a Comment

<< Home