Thursday, October 27, 2005

ตำรวจที่ดี มีคุณภาพที่ประชาชนต้องการ

ด้วยวันนี้บุพการีทวงค่าน้ำนมโดยมีบัญชาให้ผมเขียนบทความสั้นๆขึ้นชิ้นหนึ่ง ทำนองจะให้เข้ากับบรรยากาศของ "เดือนตำรวจ" เพราะเพิ่งจะผ่านพ้นวันตำรวจไปไม่กี่วันเท่านั้น

ไหนๆก็ไหนๆ อย่ากระนั้นเลย เอามาลงบล็อกด้วยดีกว่า หากินไปได้อีกงาน

ขออนุญาตนำข้อเขียนดังกล่าวมาให้อ่านกันเพื่อรำลึกวันตำรวจย้อนหลังหน่อยนะครับ


“ตำรวจที่ดี มีคุณภาพที่ประชาชนต้องการ”

ถ้าถามว่า “ตำรวจที่ดี มีคุณภาพที่ประชาชนต้องการ” นั้น เป็นอย่างไร ก็คงต้องตอบในฐานะเป็นประชาชนหรือพลเรือนทั่วไป มิใช่ในฐานะตำรวจ เพราะการสมมติตนเองเป็นพลเรือน และใช้สายตาเช่นพลเรือนมองย้อนกลับเข้ามาน่าจะทำให้เห็นภาพของตำรวจ “ที่ดี” และ “มีคุณภาพ” ดังที่ประชาชนต้องการได้ชัดเจน และรอบด้านมากกว่าที่จะมองด้วยสายตาของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วยกันเอง

ถ้าข้าพเจ้าเป็นพลเรือน ข้าพเจ้าต้องการตำรวจที่มีความเป็น “มืออาชีพ” คำว่ามืออาชีพในนิยามของข้าพเจ้าคือ ต้องเป็นผู้เอาใจใส่ต่องานในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ต้องทุ่มเทจริงจังในการทำงาน และต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพตนเอง ปฏิบัติราชการโดยปราศจากอคติทั้งสี่ประการ อันได้แก่ ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะรัก เพราะรู้จัก ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะความกลัว เกรงเพราะเขาคือผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ โทสาคติ คือ ลำเอียงเพราะความโกรธ และโมหาคติ คือ ลำเอียงเพราะความไม่รู้ ขลาดเขลา

รวมทั้งต้องเข้าใจบทบาท อำนาจหน้าที่ และภาระความรับผิดชอบของตนเองอย่างถ่องแท้ด้วย นั่นย่อมหมายความว่าตำรวจควรที่จะได้รับการฝึกฝน และพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ทั้งทางด้านการศึกษา ฝึกอบรมและดูงาน ซึ่งหนทางนี้จะเป็นส่วนที่บรรเทาเบาบางปัญหาเรื่อง “โมหาคติ” ข้างต้น รวมทั้งการติดต่อประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่มีขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำงานสอดประสานกันด้วย

ถ้าข้าพเจ้าเป็นพลเรือน ข้าพเจ้าต้องการตำรวจที่มีเข้าใจ และเข้าถึงความรู้สึกความทุกข์ร้อนของประชาชน เสมือนหนึ่งเป็นความทุกข์ร้อนของตนเอง ข้าพเจ้าต้องการให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นคนแรกที่ประชาชนนึกถึงในเวลาที่เขาเดือดร้อนและต้องการความเชื่อเหลือ ด้วยความรู้สึกเชื่อมั่นว่าท่านจะ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่เขาได้ อย่าได้คิดว่าธุระไม่ใช่และรู้สึกน้อยอกน้อยใจคิดว่ายามทุกข์โศกเท่านั้นที่ประชาชนจะคิดถึงตำรวจ แต่นั่นเป็นเพราะท่านได้เข้าไปอยู่ในใจของประชาชนแล้วต่างหาก ประชาชนที่หนีร้อนมาพึ่งท่านหาใช่นำเอาความเดือดร้อนมาให้ท่าน หากแต่เขาเหล่านั้นมาทำให้ท่านเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่สมบูรณ์ต่างหาก เปรียบเสมือนคนไข้พยุงสังขารมาหาแพทย์นั้นก็เพื่อทำให้แพทย์เป็นแพทย์ที่สมบูรณ์นั่นเอง

ถ้าข้าพเจ้าเป็นพลเรือน ข้าพเจ้าต้องการให้ตำรวจ “ใจกว้าง” นอกจากจะรับฟังความคิดความเห็นของประชาชน และหน่วยงานอื่นภายนอกแล้ว ตำรวจต้องกล้าที่จะให้มีการถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจของตนด้วยความยินดีและเต็มใจ การตรวจสอบหาใช่การจับผิด หากแต่เป็นการช่วยกันสอดส่องและกระตุ้นเตือน ตำรวจเองต้องยอมรับว่ามือของตนข้างหนึ่งถือกฎหมายในแง่ของการใช้อำนาจ ในขณะที่มืออีกข้างท่านถืออาวุธร้ายแรงเช่นปืน การใช้อำนาจของท่านในบางครั้งบางคราอาจเกิดความผิดพลาด ทั้งที่โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ การเปิดโอกาสให้มีการถ่วงดุลตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นภายนอกอย่างเต็มใจ เท่ากับเป็นการเพิ่มระดับความระมัดระวัง และลดโอกาสในการที่จะเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมายด้วย ในขณะเดียวกันการเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นสามารถตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจของตำรวจ ย่อมก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความโปร่งใส” ขึ้นด้วย ซึ่งความโปร่งใสนี้เองที่จะนำสิ่งที่เรียกว่า “ศรัทธา” ให้เกิดขึ้นในหมู่มวลประชาชน

ถ้าข้าพเจ้าเป็นพลเรือน ข้าพเจ้าต้องการเห็นตำรวจไทยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเมตตา ทั้งต่อผู้เดือดร้อนเสียหาย และรวมไปถึงผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดด้วย ท่านต้องระลึกไว้เสมอว่า เขาเหล่านั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเขาได้กระทำความผิด เหมือนแสงจันทร์ย่อมสาดส่องไปในทุกที่ทางแม้กระทั่งบ้านของคนชั่ว ความยุติธรรมก็ควรต้องสาดส่องไปในทุกทิศทางเช่นกัน แม้กระทั่งต่อผู้กระทำผิด

ถ้าข้าพเจ้าเป็นพลเรือน ข้าพเจ้าต้องการเห็นตำรวจไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เพราะข้าพเจ้าตระหนักได้ว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าคาดหวังจะเห็นข้างต้นทั้งหลายจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง หากตำรวจไทยยังต้องพะว้าพะวังกับการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เพราะในด้านหนึ่งของคำว่า “วิชาชีพ” นั้นคือคำว่า “อาชีพ” ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่บุคคลใช้หาเลี้ยงชีพ จุนเจือครอบครัว และเพื่อความมั่นคงในภายหน้าของชีวิต

เช่นเดียวกับเมื่อเราต้องการมองดูเงาจันทร์ที่ปรากฏอยู่บนผิวน้ำ เราจะมองเห็นเงาจันทร์นั้นได้ชัดได้อย่างไร หากผิวน้ำยังกระเพื่อมขึ้นลงไม่สิ้นสุด

กำลังใจแด่ข้าราชการตำรวจ ผู้"บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ทุกท่านครับ

Tuesday, October 18, 2005

อาลัยสามัญชน ผู้ยิ่งใหญ่



"ชีวิต ปลิดปลิว ง่ายนัก
รู้จัก เพียงครู่ จู่หาย
เดี๋ยวอยู่ เดี๋ยวลับ วางวาย
กลับกลาย คืนสู่ ผืนดิน


อำลา ลาลับ ลาแล้ว
เรือแจว ลำน้อย คอยฝั่ง
ลาลับ อับปาง ลำพัง
ความหลัง ฝังอยู่ ในใจ


น้อมส่ง วิญญาณ พานพบ
ประสบ ร่มเย็น เห็นวิถี
สมค่า คุณงาม ความดี
ทวี พรทอง คำใบ"


วันนี้เป็นอีกวันที่ผมรู้สึกหดหู่กับข่าวร้ายรับยามเย็นเมื่อก้าวเข้าประตูบ้าน เปิดอินเทอร์เน็ต พร้อมดูข่าวยามเย็นกับหญิงผู้เป็นแม่

เสียงผู้ประกาศข่าวกำลังนำสาร สู่ผม…สารที่ผมไม่อยากให้เกิด ถึงเกิดก็ยากที่จะยอมรับ
ข่าวการจากไปของอาจารย์ที่เคารพรักท่านหนึ่ง

แม้ผมจะเคยได้สนทนากับท่านนับคำได้ เจอท่านนับครั้งได้

และแม้ท่านจะใช้เวลาอยู่นานในการนึกถึงชื่อของผม ยามเมื่อได้เจอกันครั้งสุดท้าย ในงานวันรับปริญญาของผมที่ธรรมศาสตร์ ต้นสิงหาปีนี้

อาจารย์จากไปด้วยความปัจจุบันทันด่วน เกินกว่าที่ญาติสนิทมิตรสหาย รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหา ไม่ว่าจะชั้นใกล้ หรือไกลห่างอย่างผมจะทำใจรับได้…ด้วยวัยเพียงห้าสิบห้าปี

ความสมถะ เรียบง่าย รอยยิ้มที่เป็นกันเอง หัวจิตหัวใจของศิลปิน ความมุ่งมั่นมาดมั่นในงานที่รับผิดชอบ และผลงานที่ประจักษ์ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจ และชื่นชมในตัวท่านนับแต่ครั้งแรกที่ได้สัมผัส

ท่านจากไปด้วยอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของผู้ที่อยู่หลังพวงมาลัย

พวงมาลัยที่บังคับรถขนส่งประจำทางสายสามสิบ…ที่เบรคแตก

ตรงแยกเกียกกาย

เขาคงไม่รู้หรอกว่า ความไม่ระมัดระวังในการตรวจสอบสภาพรถก่อนนำออกปฏิบัติงาน เพียงแค่ครั้งเดียวของเขา…ได้พรากอะไรไปจากโลกใบนี้บ้าง

แม้ว่าความตายจะเป็นสัจจะข้อหนึ่งที่มนุษย์ต้องยอมรับ แต่อาการจากไปของอาจารย์ก็ยากยิ่งที่จะทำใจรับได้ อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ใน “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”ว่า ท่านไม่อยากตายแบบโง่ๆ และหนึ่งในการแบบโง่ๆของท่านคือ “อุบัติเหตุรถยนต์” ความตายแบบโง่ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมนี้


แต่จะเรียกร้องอะไรได้เล่า…

แม้อาจารย์จะจากไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ แต่ผลงานของอาจารย์จะยังอยู่คู่ปฐพีดินเมืองไทยไปตราบนานเท่านาน

ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายปวง ในสากลโลก โปรดนำพาดวงวิญญาณของอาจารย์ไปสู่สัมปรายภพ ด้วยอาการสุข สงบ สดใส สมกับคุณงามความดี และผลงานที่ท่านได้สะสมมาตลอดชีวิตอันเรียบง่ายของท่าน

อีกหนึ่งในนิยามสามัญชน ผู้ยิ่งใหญ่ของผม

“ทวีพร ทองคำใบ”

Saturday, October 15, 2005

สวัสดีดากานดา




ผมไม่รู้ว่าสัตว์ชนิดอื่น เผ่าพันธุ์อื่น ในบรรณพิภพแห่งนี้ จะมีความคิดอย่างผมตอนนี้หรือไม่ และแม้แต่มนุษย์ด้วยกันเองผมก็ยังไม่มั่นใจ

ผมว่ามนุษย์มีมิติแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันเองที่หลากหลายและมากมาย ซับซ้อนเกินกว่าที่ปรากฏและมีในสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ผมคงไม่ได้ด่วนสรุปด้วยฐานะที่ตัวเองสังกัดเผ่าพันธุ์นี้หรอกนะครับ (ไม่รู้สิเพราะผมก็ไม่เคยเป็นสัตว์สายพันธุ์อื่นด้วย เว้นแต่เมื่อชาติกาลเก่าก่อนที่ผมก็จนปัญญาเพราะไม่อาจระลึกชาติอะไรกับเค้าได้)

แต่ในบางครั้งความสัมพันธ์ที่มีมากมาย ซับซ้อนร้อยพัน ที่มันรายล้อมตัวเราอยู่มันอาจจะทำให้เราลืมที่จะสังเกต ลืมที่จะตั้งคำถาม กระทั่ง ลืมที่จะเรียนรู้และเข้าใจมัน

ความสัมพันธ์ ซึ่งส่วนหนึ่งแสดงออกมาในรูปของความรัก มิตรภาพ แม้แต่ความเกลียดชังจึงเป็นเรื่องที่คนพูดถึง กล่าวถึง อ้างถึง และแม้แต่สบถถึง มากมายที่สุดเรื่องหนึ่ง ในบรรดาหลายร้อยหลายพันหน่วยที่วิวาทะผ่านรอยหยักและกาลเวลา

หลายคนอาจกำลังตั้งคำถาม ว่าอาจเป็นเพราะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวใกล้เดือนสิบสองอย่างนี้ ฮอร์โมนในร่างกายผมทำงานผิดปกติกระมัง จึงทำให้อยู่ๆก็ลุกขึ้นมานั่งเขียนบล็อกในอารมณ์นี้

มีส่วนครับ…

ผมเป็นคนของหน้าหนาว แม้ว่าจะเกิดหน้าร้อน

แปลกแต่จริง ตั้งแต่เด็กยันโต เมื่อลมฝนกำลังจะพัดผ่านไป และลมหนาวกำลังมาเยือน ช่วงเวลานี้แหล่ะครับ ที่ผมจะรู้สึกมีความสุขอย่างประหลาด เป็นประจำทุกปี แบบที่ไม่ต้องมีเหตุผลหรือตรรกะใดๆมาข้องแวะ

เมื่อประกอบกับกลิ่นอายแห่งความรักและมิตรภาพที่ฟุ้งตลบอยู่ตามบล็อก และโรงภาพยนตร์ ในช่วงนี้ ใช่ครับผมกำลังพูดหนังเรื่อง “เพื่อนสนิท” ที่ผมไปดู เมื่อสองวันก่อน

ไม่ยากเลยครับที่สิ่งเหล่านั้นจะฉุด ดึง ลาก ผลัก ให้ผมต้องร่วมวงแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องความสัมพันธ์ที่ปรากฏในรูปแบบของ “ความรัก มิตรภาพ” และบางส่วนอาจต้องก้าวก่ายไปถึง “ความเกลียดชัง” ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดากานดา ไข่ย้อย และนุ้ย เป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงออกให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ทั้งที่เรียกว่า “ความรัก” และ “มิตรภาพ”

อาจจะเป็นแบบที่ “จตุรัสมิ้ม” ว่าไว้ในบล็อกของเธอว่า ความรักที่เกิดจากมิตรภาพนั้นเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุด เพราะเมื่อใดก็ตามที่ความรักจากไป อาจจะยังหลงเหลือมิตรภาพให้ดื่มด่ำต่อ อีกทั้งมิตรภาพยังเป็นน้ำเลี้ยงที่ดีในการหล่อเลี้ยงอุ้มชูให้ความรักเบ่งบานอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

แต่บางครั้งมิติที่เกิดขึ้นระหว่าง “ความรัก” และ “มิตรภาพ” มันเป็นมิติของการ “แทนที่” หาใช่ “มิติเชิงซ้อน” เหมือนในอุดมคติ นั่นหมายถึง ในบางคราเมื่อเกิดความรักขึ้นแล้ว ก็ยากเหลือเกินที่จะค้นหาร่องรอยของมิตรภาพยามเมื่อความรักสลายหายไป เพราะความรักได้มาแทนที่มิตรภาพเสียแล้ว

ผมเชื่อว่าด้วยความกลัวที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้นี่เอง ทำให้ดากานดาที่เป็นตัวแทนของเพื่อนสนิทที่ “ถูกรัก” และ “ถูกบอกรัก” กระอักกระอ่วนใจที่จะเปลี่ยนสถานะของไข่ย้อย จากเพื่อนสนิทมาเป็นคนรัก เพราะกลัวจะเกิดการแทนที่ขึ้นในความสัมพันธ์ และยากจะเรียกกลับคืนมา หากสถานะใหม่ มันเดินไปได้ไม่ไกล

และคงไม่ต่างจากไข่ย้อย ยามเมื่อถูกนุ้ย เพื่อนสนิทของตัวเอง “บอกรัก” เช่นกัน เพราะไข่ย้อยเองผ่านสถานการณ์เช่นนั้นมาก่อนหน้าแล้ว ดากานดารู้สึกอย่างไร ไข่ย้อยก็รู้สึกเช่นเดียวกัน

ผมยังคงยืนยันเหมือนครั้งที่ได้ไปทิ้งความเห็นไว้ในบล็อกของ “จตุรัสมิ้ม” ว่าความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ของมนุษย์น่าจะมีองค์ประกอบอย่างน้อยส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำว่า “ระยะ”

ให้คิดใหม่เขียนใหม่ คงไม่ได้เหมือนเดิม ขอวิสาสะหยิบยืมและยกมาไว้ในบล็อกของผมตอนนี้เลยแล้วกันครับ (ข้ออ้างของคนขี้เกียจ)

“…สำหรับผม ความรัก และมิตรภาพ มันคือ "ความสัมพันธ์" ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ"ระยะ"

ที่วัดไม่ได้ตามหลักเมตริก หรือมาตราวัดใดๆในโลกผมเชื่อว่าทุกความสัมพันธ์ต่างมี "ระยะ" ของมันเอง

ไม่มีทางที่เราจะใกล้หรือสัมพันธ์กับใครคนอื่นโดยที่ไม่มี "ระยะ" เลย แม้กระทั่งพ่อแม่พี่น้องของเราเองก็ตาม

แต่ระยะของแต่ละความสัมพันธ์ และของแต่ละคนนั้น"ไม่เท่ากัน"

บางครั้ง เราพอใจ เรารู้สึกดีกับใครสักคน เป็นเพราะเรามองและสัมผัสเค้าได้จาก "ระยะ" ที่เหมาะสมและพอดีระหว่างเรากับเค้า

แต่เมื่อเรา หรือเค้าเอง ก้าวข้ามผ่าน "ระยะ" ที่เหมาะสมอันนั้นแล้ว ผลที่จะเกิดขึ้น คงมีสองอย่าง

1. เห็นเค้าได้ชัดเจนขึ้น และมั่นใจในตัวเค้ามากขึ้นว่าเค้าเป็นอย่างที่เราเคยเห็นและสัมผัสมาก่อนหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้เรา "ต้องการ" หรือ "เรียกร้อง" อะไรบางอย่างต่อเค้ามากขึ้น

2. ยิ่งชัดยิ่งเห็นว่าไม่เป็นอย่างที่เราคิดไว้เลย ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้เรา "ผลัก" "ถอย" ออกจากการมองเค้าจากระยะนั้น และ ไม่แน่ว่าเมื่อเราห่างออกมาแล้วแม้จะอยู่ในระยะเดิมๆ เราจะรู้สึกต่อเค้าเหมือนเดิมหรือไม่ ก็เหมือนกับเมื่อเรามองผ้าขาวสะอาดทั้งผืน เราอาจไม่สังเกตเห็นถึงจุดดำๆเล็กที่ชายผ้าได้ แต่หากเรามองเห็นมันแล้ว ต่อให้มองเพียงผ่าน เราก็จะจดจำรอยดำๆรอยนั้นได้ติดตา

เมื่อจะก้าวข้ามผ่าน "ระยะ" นั้น ก็ต้อง ยอมรับให้ได้กับผลทั้งสองข้างต้นและถ้าจะให้ดี ต้องพร้อมที่จะถอยกลับมาอยู่ใน "ระยะ" ที่เหมาะสมในก่อนหน้านั้นให้ได้

แต่ความซับซ้อนที่จะทำให้เราเข้าใจและปรับ "ระยะ" นั้นให้ได้เหมาะสมกับความสัมพันธ์นั้นก็คือ"ระยะ" ของคนสองคน อาจไม่เท่ากัน บางครั้งฝ่ายที่ก้าวผ่าน "ระยะ" เข้ามาก่อนอาจไม่ใช่เรา แต่กลับต้องเป็นเราเองที่ต้อง "ปรับ" "ระยะ" นั้น และบางครั้ง แม้เราจะพยายามปรับระยะ เข้าหาใครสักคน เพราะรู้สึกว่าเค้าใช่ และเราอยากกระชับระยะของเราให้ใกล้กันมากขึ้น แต่อีกฝ่ายกลับไม่ สำหรับเค้า ระยะระหว่างเรากลับเท่าเดิม และไม่พร้อมที่จะปรับให้เท่ากับระยะที่เรามีต่อเค้า

…แล้วโลกนี้จะหวังอุดมคติ ที่คนสองคนจะมีระยะที่เท่ากัน และต่างพึงพอใจกับระยะระหว่างกันนั้น จึงเป็นอุดมคติที่หาได้ยากยิ่ง จริงๆ…”

แต่ทั้งนี้ ไอ้ระยะที่ผมว่าไว้ใช่ว่าจะคงที่และไม่เปลี่ยนแปลง ตรงกันข้าม มันอาจเปลี่ยนแปลงบ่อยกว่าจำนวนครั้งที่มนุษย์หายใจในแต่ละวันด้วยซ้ำไป

ด้วยเหตุนี้เราถึงจำเป็นต้อง “ปรับระยะ” ของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างเสมอ มากบ้างน้อยบ้างก็สุดแท้แต่

ปัญหาที่สำคัญคือ ระยะที่ปรับได้นั้น มันเกิดจากตัวเราเองที่จะต้องปรับ การเรียกร้องให้ผู้อื่นปรับเป็นการเรียกร้องที่เปล่าประโยชน์ เว้นเสียแต่เขาเองก็เข้าใจในระยะ และพร้อมที่จะปรับระยะในส่วนของเขาด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายถอยออกไปจนตกขอบ หรือร้างไปซึ่งความสัมพันธ์เสียเลย

เหมือนที่ไข่ย้อย ได้พยายามปลีกตัวออกมาไกลถึงพงัน หลังจากที่ได้สารภาพรักกับดากานดาแล้ว…หรือจะเรียกว่าหนีก็ได้ (ซึ่งก็คงเหมือนกับประโยคที่นุ้ยพูดกับไข่ย้อยยามเมื่อทั้งคู่นั่งชิงช้าสวรรค์ในคืนหนึ่งที่พงันว่า “คนมาทะเลถ้าไม่หนีร้อน ก็หนีรักมา”)

และคงเหมือนการที่ไข่ย้อยตัดสินใจลาพงัน ก็เพราะอาจเป็นการที่ไข่ย้อยพยายามจะปรับระยะ (ในความหมายนี้คือการ “รักษา” ระยะ) เพื่อรักษามิตรภาพระหว่างเขาและนุ้ยไว้ เช่นกัน

นอกจากระยะแล้ว สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นองค์ประกอบในทางเนื้อหาของความสัมพันธ์อีกประการหนึ่งก็คือ “เวลา”

มิติของกาลเวลาที่มีผลต่อความสัมพันธ์ อาจมีหลากหลาย ระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอ อาจทำให้ความสัมพันธ์ถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือแม้แต่จุดของเวลาบางเวลา ก็ส่งผลให้ความสัมพันธ์ก่อตัวขึ้น เหมือนวันแรกในฐานะนักศึกษาปีหนึ่ง ที่ดากานดาก้มตัวมาจ้องหน้าและทักทายไข่ย้อยที่กำลังก้มดูรองเท้าของตัวเอง เพราะไม่กล้าสบสายตาและขอชื่อของบรรดาเพื่อนใหม่ อันเป็นกิจกรรมที่คณะจัดขึ้น

และก็เหมือนกับแวบแรกที่พยาบาลสาวยิ้มสวยอย่างนุ้ย ได้เจอคนไข้หน้าตางุนงง อย่างไข่ย้อยที่ทะลึ่งคิดว่าตัวเองเป็นแจ็ค ณ ไททานิค ปีนไปเดินเล่นบนดาดฟ้าเรือ แล้วตกลงมาขาหัก

จุดของเวลาเหล่านั้น มีผลต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองคู่ ในมิติของการก่อกำเนิด

แต่บางครั้ง สิ่งที่เรียกว่า “จังหวะ” ที่เหมาะสมก็มีผลไม่น้อยต่อการกำหนดจุดของเวลาเพื่อก่อเกิดความสัมพันธ์เหมือนกัน

ในวันที่ไข่ย้อยบอกรักเพื่อนสนิทของตัวเองได้ต้นชงโค ดากานดาได้ทิ้งประโยคที่ทำให้คนดูอย่างผมกลับมาตีความได้เป็นวรรคเป็นเวร นั่นก็คือ “แกมาบอกอะไรป่านนี้”

มาบอกอะไรป่านนี้…

มาบอกทำไมในวันที่ฉันมีคนอื่นอยู่แล้ว…

และก็คงเหมือนกับ จดหมายของดากานดาที่เดินทางกว่า 1,500 กิโล จากเชียงใหม่ ถึงเกาะพงัน ที่ส่งมาถึงไข่ย้อย เพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของเพื่อน เมื่ออยู่ๆมันก็หายไปเฉยๆ และมารู้ข่าวจากรุ่นพี่คนหนึ่งที่บังเอิญไปพบชายขาหักนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์พยาบาล พร้อมด้วยอุปกรณ์วาดรูปไปชายหาดทุกวันๆ

ในจดหมายฉบับนั้นลงท้ายว่า

“เออนี่ ฉันจะบอกว่า ฉันเลิกกับโก้แล้วนะ”

เมื่อไข่ย้อยอ่านจบ…ผมเข้าใจว่ามันน่าจะกระโดดตัวลอยแล้วรีบแจ้นจับรถจับเรือไปหาดากานดาถึงเชียงใหม่ ในเมื่อมันมีโอกาสสานสัมพันธ์เพื่อเปลี่ยนสถานะกับเธอได้อีกครั้งแล้ว

ผิดคาด…สีหน้ามันกลับเหมือนดากานดาเมื่อวันใต้ต้นชงโค

“แกมาบอกอะไรป่านนี้วะ”

มาบอกในวันที่หัวใจฉันก็มีใครอีกคนมาอยู่แทนที่แกแล้ว

การบอกกล่าวของดากานดาทั้งสองครั้งสองครา เป็นหลักฐานของสิ่งที่เรียกว่า “การผิดเวลา” ความสัมพันธ์บางอย่างจึงไม่อาจก่อกำเนิดเกิดขึ้นได้…ทำนองเดียวกับ คำว่า “สายเกินไป”

นักดูหนังสมัครเล่นอย่างผมได้แต่ตีความไปคนเดียวว่า แท้จริงแล้วดากานดาก็คงมีความรู้สึกที่ดีกับไข่ย้อยอยู่มากไม่ว่าจะเรียกมันว่า ความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิทหรือคนรักก็ตาม แต่มันก็น่าจะเป็นฐานที่จะทำให้ไปถึงความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “คนรัก” ได้

เส้นบางๆที่กั้นความรู้สึกของทั้งสองคนอยู่ คือ ความกลัว กลัวการแทนที่ และการสูญเสียมิตรภาพในฐานะเพื่อนสนิทไป โดยเฉพาะทางฝ่ายดากานดา

แต่ความรู้สึกกลัวนั้น อาจจะเบาบางลง จนถึงมลายหายไปก็ได้ หากไข่ย้อยบอกความในใจในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง และอีกครั้งหากจดหมายของดากานดาส่งถึงไข่ย้อยก่อนที่เขาจะเจอนุ้ย

ด้วยเหตุนี้เองกระมังครับ ที่ผมไม่เคยเห็นและรู้สึกว่าคำว่า “กาลเทศะ” มีความหมายแค่เพียงในมิติของ “มารยาท” เท่านั้น

Monday, October 10, 2005

Zoophilia


ผมขอคั่นกลิ่นอายแห่งประวัติศาสตร์กฎหมายไว้ก่อน เพราะรู้สึกว่าหยิบเรื่องนี้มาเขียนแล้วเกิดความยากลำบากเหลือเกินในการโพส และมักจะมีเหตุเภทภัย อันตรายมารบกวนบล็อกผมเสมอ ลองดูครับ เผื่อมันจะบรรเทาเบาบางลง

วันนี้มาว่ากันถึงข่าวเบาๆ แปลกๆ กันหน่อยดีกว่า

เพื่อนรักส่งลิงก์ (มิใช่ลิงค์ แน่ๆครับ ฮ่าๆ ใครใคร่รู้ความหมายของ ลิงก์ และลิงค์ ก็เชิญที่บล็อกคุณ ปิ่น ปรเมศวร์ ครับ) ข่าวนี้มาให้ครับ

พิลึกคนข่มขืนหมูสาว

หลายคนแสดงความเห็นประหลาดชวนหัว เหลือเกิน ทำนอง ไปรู้ได้ไงว่าเป็นการข่มขืนมัน ดูหน้าแม่หมูออกจะพริ้มเพราปานนั้น มันอาจสมยอมก็ได้ (โห คิดไปได้ครับท่านผู้ชม นี่มันข้อแก้ตัวหลักของบรรดาหื่นกามทั้งหลาย ยามอยู่ในห้องพิจารณาของศาล เมื่อโดนข้อหาข่มขืนกระทำชำเรานี่หว่า)

นายแพทย์หลายท่านลงความเห็นว่าหมอนี่เป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง เนื่องจากได้รับข้อมูลจากเพื่อนบ้านละแวกนั้น ว่าไอ้หมอนี่ ชอบมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น วัว ควาย หรือสุกร โอ้ แม่เจ้า

แต่ต้องทำความเข้าใจกันนิดนึงนะครับว่า ที่หมอแกว่าเป็นโรคจิตนี่ คนละเรื่อง คนละอย่างกับ คุณจิตรลดา มือมีดที่เข้าไปจ้วงแทงเด็กหญิงในโรงเรียนเซ็นต์โยฯ นะครับ รายนั้นแกเป็น “จิตเภท” หรือ Schizophrenia (อาศัยความรู้ทางนิติจิตเวชอันน้อยนิดของผม จำได้เลาๆว่า มันมาจากคำว่า “จิตใจ” และ “การแยก” นั่นก็คือ ภาวะจิตแยกนั่นเองครับ อาการพื้นฐานคือ หูแว่ว ประสาทหลอน เห็นภาพ หรือได้ยินเสียงที่ไม่มีจริง และมีอาการหวาดกลัว เหมือนพวกเมายาน่ะครับ …จริงๆผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในบล็อกตอนหนึ่งของผมที่นานมากแล้ว ยังไงใครสนใจลองจิ้มไปอ่านกัน ที่นี่ ครับ) ซึ่งอาการเช่นนี้ ถือได้ว่า เป็น “โรคจิต” หรือ “จิตบกพร่อง” ทำให้สำนึกความรู้ผิดชอบชั่วดี การตัดสินใจกระทำความผิดบกพร่อง (ในความหมายของ “ความชั่ว” ที่ผมเคยเกริ่นๆไว้ ในตอน “คุณจะเลือกทางไหน”)

ซึ่งผู้กระทำผิดในขณะที่จิตบกพร่องแบบนี้ กฎหมายยกเว้นโทษ หรือ ไม่เอาโทษครับ เพราะไร้ประโยชน์อันใด ให้ส่งไปรักษาตามกระบวนการดีกว่า แต่ถ้ายังมีความรู้ผิดชอบอยู่บ้างขณะกระทำ (ก็แบบคุณจิตรลดานั่นแหล่ะครับ) อันนี้กฎหมายไม่ได้ยกเว้นโทษเลยนะครับ เพียงแต่ให้ศาลท่านลดโทษให้แล้วแต่จะเห็นควร โดยต้องให้ไปรักษาตัวก่อนจนกว่าจะมีความสามารถเพียงพอที่จะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมได้

สำหรับไอ้หนุ่มวิตถารนี้ อาการไม่ได้อยู่ในข่ายของการยกเว้นโทษแต่อย่างใดนะครับ ไม่ใช่ โรคจิต หรือ จิตฟั่นเฟือนตามความหมายของ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 แต่อย่างใด

พฤติกรรมแบบนี้เข้าเรียกว่า “พวกพฤติกรรมเบี่ยงเบน” เช่นเดียวกับพวก ชอบมีเพศสัมพันธ์แบบวิตถารทั่วไป พวกชอบโชว์ ชอบสะสมชุดชั้นใน

อาการชอบเสพสังวาสกับสัตว์นี้ เรียกว่า พวก Zoophilia

แต่แม้จะไม่อยู่ในข่ายที่จะยกเว้นโทษ หรือไม่ต้องรับโทษ แต่การปล่อยให้เขายังเป็นเช่นนั้นต่อไปไม่ได้ส่งผลดีอะไรต่อตัวเขาและสังคมเลยครับ ยังไงก็ต้องบำบัดรักษา แต่ที่ยังเป็นปัญหาคือ กระบวนการรักษานั้นจะทำอย่างไร หากต้องใช้ระบบสมัครใจในการเข้ารับการรักษา เพราะบ้านเรายังไม่มีกฎหมายอย่างประเทศอังกฤษ รู้สึกจะเป็น Mental Health Act ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครอง (ถ้าจำไม่ผิด) สามารถที่จะจับกุม ควบคุมตัวผู้มีความผิดปกติทางจิต และมีพฤติการณ์เบี่ยงเบนที่อาจก่ออันตรายให้แก่สังคมและคนรอบข้าง

เพื่อเอามารักษาน่ะครับ

แต่ที่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีในประเทศไทย แม้ว่าจะมีแนวคิดผลักดันให้มีก็ตาม ก็เพราะ ผมว่าบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมเองที่มีความรู้ขนาดสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างถูกต้องในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีความผิดปกติทางจิต หรือมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจน “น่าจะเป็นอันตรายแก่สังคมและคนรอบข้าง” นั้น น่าเป็นห่วงว่าเราจะพร้อมแค่ไหนในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคคลากรของเรา เพื่อเป็นหลักประกันมิให้เกิดการบิดเบือนการใช้อำนาจที่มีในการไปจับกุม ควบคุมตัวบุคคลใดโดยไม่สุจริต หรือ อย่างน้อยก็ประมาทล่ะ

แต่ในอนาคตอาจจะต้องหยิบมาพิจารณาอย่างจริงๆจังๆแล้วล่ะมั๊งครับ

แหม พอเห็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนเช่นนี้พาลให้นึกถึงไอ้เพื่อนรักของผมจริงๆ

แม้มันจะไม่มีพฤติกรรมชอบสัตว์อย่างหนุ่มกลัดมันในข่าว แต่ผมว่าอาการมันก็น่าห่วงว่าอาจจะเป็นพวก

“Pedophilia” ได้เหมือนกัน

พวก “ชอบเด็ก” น่ะครับ ฮ่าๆๆๆ

Saturday, October 08, 2005

เบื่อบล็อก

ผมพยายามจะทำตัวเป็นลูกหนี้ที่ดีในการ ขยับนิ้วมาอัพบล็อก แต่ไม่เชื่อว่าผีบล็อกจะหลอกหลอนผม เช้าค่ำ ทุกวันคืนเช่นนี้

ผมโพส "ฉบับใช้หนี้" ตอนแรกไปแล้ว แต่ประสบพบอาการเหมือนเดิม คือ

1. ไม่สามารถทิ้งความเห็นได้

2. ในเวลาไม่นาน บล็อกตอนนี้ก็จะหายไปจากสาระบบ เหมือนไม่ได้รับการโพสไว้แต่อย่างใด ไร้ร่องรอย

เอาเป็นว่า...

ผมคงเขียนๆเก็บไว้ในเครื่องของผมแล้วกันครับ

ไว้วันหน้าฟ้าใหม่ มีโอกาสได้ เล่าสู่กันฟังไม่ว่าช่องทางไหน ค่อยว่ากันอีกทีครับ

เหมือนสนธิโดนถอดจาก โมเดิร์นไนน์ แล้วต้องระเห็จไปใช้หอเล็กธรรมศาสตร์ยังไงไม่รู้

ไว้เจอกันครับพี่น้อง

Monday, October 03, 2005

โกร๋นบาร์เบอร์

"ช่างทำรุนแรงเหลือเกิน เกินใจของคนจะทนนนนนนนนน…” เสียงร้องโหยหวน เหมือนสุนัขปัสสาวะรดสังกะสี ของหนุ่มใหญ่เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ ดังขึ้น ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรปราการ เล่นเอา ร้อยเวรที่ประจำการแทบสำรอกของเก่าออกมาไม่ทัน หลังจากที่เสียงโหยหวนนั้นเริ่มสงบลง

ร้อยเวรก็เริ่มสอบถามความเป็นมาของการเดินต้อยๆขึ้นโรงพักมาโก่งคอขัน เอ๊ย ครวญเพลงทำลายโสตประสาทของตำรวจและบรรดาประชาชีตาดำๆบนโรงพัก ได้ความว่าเสี่ยเจ้าของอู่รถยนต์ นาม “ฟูเจริญยนต์” ที่ตอนนี้อาจต้องเปลี่ยนชื่อร้านใหม่เป็น “โล้นเจริญยนต์” เพื่อให้เข้ากับทรงผมทิดสึกใหม่ ได้เข้าไปใช้บริการร้านตัดผมที่ได้ฝากกบาลไว้เป็นประจำเป็นเวลากว่าสี่ปีเข้าให้แล้ว พร้อมกับพูดเล่นกับเพื่อนเจ้าของร้านและเป็นช่างประจำตัวว่า ทำนองให้โกนหัว เจ้าตัวคงไม่คิดว่าอีตาช่างจะจัดการอุปสมบทโดยไม่มีการแห่ และเข้าโบสถ์ห่มผ้าเหลืองแต่อย่างใด ด้วยความเพลีย เมื่อนั่งเก้าอี้ตัดผมแล้ว ไม่นานก็ขอตัวไปเฝ้าพระอินทร์ ครั้นตื่นลืมตาขึ้นมาอีกที แทนที่จะได้เห็นทรงผมสุดเดิ้น (ไอ้ทรงประจำแกจริงๆแล้วก็ไม่ได้ต่างจากทรงที่เจ้าของร้านโกร๋นบาร์เบอร์ประเคนให้ท่าไหร่หรอกความจริง ก็ไอ้ทรง รองหวี เหมือนสมัยที่ผมเรียน ร.ด. นั่นแหล่ะ) กลับได้เห็นทรงทิดสึกใหม่

ทันใดนั้น อารมณ์เดือดก็พลุ่งพล่าน ประหนึ่งเด็กหนุ่มกลัดมันไว้สิบแปด และบริภาษด่าว่าเพื่อนต่างวัยผู้จัดการโกนหัวซะเกลี้ยงเกลา อย่างกับไข่ปลอก

เมื่อเจ้าของร้านโกร๋นบาร์เบอร์ ได้ทราบถึงเจตนาอันแท้จริงของลูกค้าขาประจำ แล้วระลึกได้ว่า ตัวเองประเคนผิดทรงให้หนุ่มใหญ่ ก็พลันระเบิดเสียงหัวเราะออกมา โดยเจ้าตัวบอกว่า ขำตัวเองเพราะดันตัดผิดทรง แต่หนุ่มใหญ่ผู้ได้ทรงผมใหม่ กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะไอ้เสียงหัวเราะพร้อมละอองฟองน้ำลาย ได้ฟุ้งกระจาย ฉาบหัวเหม่งของแกจนเป็นคราบเงามัน ยิ่งเท่ากับเป็นการราดน้ำมันลงบนกองไฟที่สุมในอกและลามขึ้นหัวของหนุ่มใหญ่ จนถึงกับกล่าวอาฆาตและแสดงเจตนาจะเอาเรื่องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

แล้วแกก็หอบเอาความแค้น พร้อมมือกุมหัวอันโล่งเตียน เดินขึ้นมาแจ้งความที่โรงพักนี่แหล่ะ

ไม่น่าเชื่อนะครับว่า คดีเล็กๆ ทำนองสัพเพเหระ หรือ “มโนสาเร่” (ไว้มีเวลาคราวหลังผมจะมาเล่าเกี่ยวกับที่มาที่ไปของคำว่า “คดีมโนสาเร่” ตามการตีความแบบนักประวัติศาสตร์ให้ฟังครับ จำเค้ามาอีกทีจากการไปร่วมประชุมประจำเดือนโครงการวิจัยกฎหมายตราสามดวงน่ะ ขออนุญาตไปค้นรายงานการประชุมด้วยครับ ไม่รู้ไปอยู่ตรงไหนของกองหนังสือและชีทที่นับวันจะท่วมหัวผมตาย ไม่ต่างจากดินที่พอกหางผมอยู่ในทุกวันนี้)

จะขโมยซีนข่าวใหญ่ทั้งข่าวศึกหมอเจ็บในกระทรวงสาธารณะสุข ฆ่ารายวันในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือแม้แต่การผุดมาตรการประชานิยมในนาม “มาตรการชักดาบแห่งชาติ” ที่มีแนวคิดจะให้ลูกหนี้สามารถยื่นขอให้ตัวเองล้มละลายได้ และสามารถปลดจากการล้มละลายด้วยระยะเวลาอันแสนสั้นเพียงปีเดียว ทำเอาเจ้าหนี้ผู้ที่เป็นยอดหญ้าอกสั่นขวัญหายกันทั่วหน้า ของท่านผู้นำและกุนชือรายล้อมผู้มีสมองอันแสนบรรเจิดทำนอง “คิดไปได้” และ “ทำไปได้”

ลองมามองปรากฏการณ์นี้ผ่านแว่นแห่งกฎหมายกันสนุกๆดีกว่าครับ ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายได้อย่างไร ทั้งนี้ผมขอแสดงจุดยืนก่อนนะครับว่า ไม่ต้องการให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินคดีเป็นเรื่องเป็นราวกันจนถึงโรงถึงศาล เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจริง แม้จะมีผู้ชนะตามคำพิพากษา แต่แท้จริงแล้ว แพ้ทั้งสองฝ่ายแหล่ะครับ สูญเสียทั้งเวลา สูญเสียทั้งความสัมพันธ์อันดี สูญเสียเงินทองและความรู้สึก

กว่าคนเราจะได้ร้านตัดผมพร้อมทั้งช่างตัดผมที่รู้ใจจนกระทั่งฝากฝังกบาลให้อยู่ในความดูแลได้เป็นระยะเวลากว่าสี่ปีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ

ผมเฝ้าตระเวน ตัดร้านนั้นร้านนี้มาก็ยังไม่เคยคิดจะฝากกบาลไว้ที่ร้านไหนจริงจัง เพราะยังไม่มีร้านไหนตัดผมได้อย่าง “โดนใจ” ในราคาที่ “ยอมรับได้“ สักกะที

ฉะนั้นเมื่อคุณเจอร้านในดวงใจ ร้านที่คุณจะฝากชีวิต ฝากราศี ฝากกบาลไว้ได้ จงอย่าปล่อยให้หลุดมือไปครับ จงอย่าลืมว่า หากเป็นการแพ้เพราะไม่ได้ลงแข่ง มันน่าเสียดาย…น่าเสียยยยย ดายยยยย

ฉะนั้นการเขียนบล็อกในวันนี้ของผม ก็มีเจตนาแค่เพียงจะลองนำเอาเกร็ดหรือแง่มุมในทางกฎหมาย มาปรับเข้ากับเรื่องราวดังกล่าว ไว้เตือนใจใครหลายคนที่อาจเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ไอ้เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้แหล่ะครับที่เป็นเหมือนน้ำผึ้งหยดเดียว ทำความสัมพันธ์ร้าวรอนมาแล้วมากต่อมาก

โดยเราสามารถแบ่งข้อพิพาทจากเรื่องราวดังกล่าวได้ออกเป็นสองเส้นทางใหญ่ๆครับ นั่นคือ ทางแพ่งและทางอาญา

ทางแพ่งนั้น แน่นอนครับ การไปจ้างเขาตัดผมนั่นถือเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็น่าจะปรับได้เข้ากับ “สัญญาจ้างทำของ” โดยที่ผู้ว่าจ้างมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จของผลงานเป็นหลัก มันต้องอาศัยฝีมือ และความไว้ใจของผู้รับจ้างด้วยในระดับหนึ่ง
สัญญาเกิดหรือยังครับ ? เกิดนานแล้วครับ มันเกิดตั้งแต่เมื่อพี่คนโชคร้าย เดินก้าวเข้าไปนั่งที่เก้าอี้ ทำท่าเตรียมพร้อมจะขึ้นเขียงให้ช่างละเลงกรรไกรและแบตตาเลี่ยนบนกบาลนั่นแหล่ะครับ (ถือว่ามีการเสนอสนองต้องตรงกันแล้ว แม้จะยังไม่มีการเอื้อนเอ่ยวาจาอะไร เพราะหากดูถึงเจตนาในการก้าวเท้าเข้าไปนั่งบน “เก้าอี้ตัดผม” แล้วยังเป็นลูกค้าประจำกัน เมื่อช่างตัดผมเริ่มลงมือสนองตอบคำกิริยาอันเป็นคำเสนอนั้นแล้ว สัญญาก็เกิดแล้วล่ะครับ)

คราวนี้จะถือว่า อีตาบาร์เบอร์เซ่อซ่าคนนี้ทำผิดสัญญาหรือไม่? อันนี้ก็ต้องแปลความสัญญา หรือแปลความเจตนากันหน่อย สัญญาจะตีความอย่างไร ก็ควรต้องเคารพเจตนาของคู่สัญญาเป็นหลักครับ เพราะเขามีสุภาษิตกฎหมาย (ซึ่งเป็นภาษาลาตินแต่ตอนนี้ผมจำไม่ได้ ใครจำได้ช่วยกรุณาทิ้งความเห็นไว้หน่อยครับ…ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ) กล่าวไว้ว่า “สัญญานั้นถือได้ว่าเป็นกฎหมายของคู่สัญญา” มันศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายอีกขอรับ

เพราะหากตัดสินตามกฎหมายเป๊ะๆ แต่มันขัดต่อทั้งเจตนาของคู่สัญญาทั้งสอง มันจะมีประโยชน์อันใดเล่าครับ เมื่อคู่สัญญาเขาประสงค์จะเรียกปลาวาฬว่าปลาทู แล้วทำสัญญาซื้อขายปลาทูที่เป็นปลาวาฬกัน แล้วศาลจะไปพิพากษาให้การส่งมอบปลาวาฬที่ไม่ใช่ปลาทูนั้นผิดสัญญาไม่ได้ล่ะครับ ในเมื่อเขาเข้าใจตรงกันว่า ไอ้ที่เรียกว่าปลาทูน่ะ หมายถึงปลาวาฬแล้วเขาก็ค้าขายอย่างนี้กันมาหลายสิบปีแล้ว

ทำนองเดียวกันครับ สำหรับความเห็นส่วนตัวผม ผมมองว่า ไอ้การที่ช่างตัดผมในข่าว จับมีดโกนไปกระซวกผมบนหนังศรีษะของลูกค้า โดยอาศัยแค่เพียงพฤติการณ์ที่ลูกค้าตะโกนถามว่า “เฮ้ย โกนหัวนี่คิดเท่าไหร่” แค่นั้น ไม่น่าจะพอนะครับ ถ้าเราลองพิจารณาจากการที่เขาตัดกันมาตั้งสี่ปีแล้ว ไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยครั้งแล้ว และตัดทรงเดิมกันมาตลอด การที่อยู่ๆจะเปลี่ยนทรง และไม่ได้เปลี่ยนกันธรรมดานะครับ

พ่อคุณเล่นจะโกนกันเลย ในวัยก็ปาเข้าไปจะห้าสิบแล้วเนี่ย ไอ้ครั้นคิดว่าต้องการจะเลียนแบบพระเอกหนุ่มวิน ดีเซล หรือ ต้องการเปลี่ยนลุคส์ให้ละม้ายคล้าย กรุง ศิวิไล ก็ไม่น่าจะคิดไปได้ขนาดนั้น

ถ้าเป็นงั้นจริง ช่างตัดผมก็ควรจะต้องไต่ถาม สืบสวนทวนความให้ได้ความสัจความจริงอันเที่ยงแท้แน่นอนกันก่อน ว่า “เฮ้ย เอาจริงนะ” เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และประกอบกับการที่ หนุ่มใหญ่ลูกค้าได้นั่งลงบนเก้าอี้ตัดผม และลั่นวาจาว่า “งั้นเหมือนเดิม” ก็น่าจะเป็นที่รู้กันแล้วล่ะครับว่า ต้องการทรง ร.ด. ที่ตามข่าวเรียกว่าทรง “รองหวี” เหมือนเดิม ไม่ใช่ทิดเพิ่งสึกอย่างนี้

ดังนั้นผมเห็นว่าการกระทำของช่างตัดผมรายนี้ เป็นการกระทำที่ผิดสัญญาจ้างทำของ (จ้างตัดผม) ซึ่งฝ่ายผิดสัญญาจำต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาให้แก่ฝ่ายผู้ว่าจ้าง
แต่จะคิดค่าเสียหายกันอย่างไร อันนี้จนด้วยเกล้าครับ จะไปให้เข้าร้านสเวนสันแฮร์เซ็นเตอร์เพื่อปลูกผมใหม่ ก็คงเกินไป ไม่แน่เจ้าของร้านตัดผมมันอาจจะเถียงได้ว่า “นี่อั๊วโกนให้ดีซะอีก ลื้อไม่ต้องตัดอีกตั้งหลายเดือน” (ผมว่าไม่ใช่แค่หลายเดือนหรอกครับ มีหวังมันเค้าไม่เหยียบเข้าร้านแกทั้งชาติครับทำกันอย่างนี้)

นอกจากเรื่องผิดสัญญานั่นแล้ว อีกมูลหนึ่งที่หนุ่มใหญ่โชคร้าย พอจะเรียกร้องค่าเสียหายจากการนี้ได้ ก็น่าจะเป็นเรื่อง “ละเมิด” หลายคนมองว่า เรื่องละเมิดกับสัญญาเป็นคนละเรื่องกัน แต่แท้จริงมันเป็นเรื่องเดียวกันได้ครับ ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะฟ้องได้ทั้งสองมูล ถ้าเข้าเงื่อนไขและองค์ประกอบของกฎหมายทั้งเรื่องผิดสัญญาและเรื่องละเมิด แล้วก็สามารถเลือกฟ้องมูลในมูลที่ให้ประโยชน์แก่ผู้เสียหายมากที่สุดครับ ผมไปเจอคำพิพากษาบางฉบับศาลท่านเลือกให้เองเลยก็มีนะครับ

งานนี้ผมว่าเรียกมูลละเมิดมีประโยชน์กว่า (โปรดอย่าเห็นว่าผมชี้ช่องเหมือนหนังสือพิมพ์กีฬาเสนอความเห็นว่าต่อ รอง ป.ป. (ไม่ใช่ปิ่น ปรเมศวร์แต่อย่างใด ฮา) น้ำจ้งน้ำจิ้มอะไรเลยครับ)

อย่างที่ผมว่าไว้แหล่ะครับ การคำนวณ หรือเรียกร้องความเสียหายในฐานของสัญญาค่อนข้างจะลำบาก เพราะจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขนี่ไม่รู้จะเอาฐานไหนมาวัด แต่ถ้าเป็นละเมิดล่ะ

กฎหมายเขากำหนดให้ การคำนวณค่าเสียหายนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่ “พฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด” อันนี้เป็นหลักการกว้างๆทั่วไปครับ แล้วแต่ดุลพินิจท่านเปาท่าน ซึ่งค่อนข้างกว้าง สามารถปรับได้อย่างยืดหยุ่น

นอกจากนั้น กรณีความเสียหายเกิดต่อร่างกาย ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน (ไม่มีตัวทองต่อท้ายนะจ๊ะ) อีกก็ได้ครับ อะไรล่ะที่ไม่ใช่ตัวเงิน ก็เอาเป็นพวกเงินค่าทำขวัญทั้งหลายแหล่นั่นแหล่ะครับ กรณีนี้ก็ทำให้ศาลท่านใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายได้อีกทางหนึ่งด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงไม่เกินสมควรจนกลายเป็น “การแสวงหากำไร” จากการถูกทำละเมิดน่ะครับ ไม่งั้นเดี๋ยวจะโกนหัวกันทั่วประเทศ ยิ่งยุคน้ำมันพ่นพิษอยู่ด้วย

หันกลับมาดูบริบททางกฎหมายอาญาบ้าง

ไอ้การโกนหัวเนี่ย เป็นความผิดฐานอะไรได้มั่งครับ

ทำร้ายร่างกาย?

สำหรับผมมันน่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย แต่เป็นบทเบาที่อยู่ในภาคลหุโทษ โทษไม่มากน่ะครับ ปรับไม่เกินพันบาท จำคุกไม่เกินเดือน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจำกันหรอกครับ เปรียบเทียบปรับได้ในชั้นพนักงานสอบสวนเลย คดีอาญาระงับไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลให้ท่านๆปวดกบาลกันอีก) เค้าเรียกว่า “ทำร้ายร่างกายไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ” น่ะครับ พวกฟกช้ำนิดหน่อย ตบหน้ากันเล็กๆน้อยๆ

โกนหัวก็น่าจะเข้าฐานนี้เหมือนกันนะ

ปัญหาคือ เอ…นี่ถือว่าเป็นการทำร้ายเพราะเกิดจากความ “ยินยอม” ของผู้เสียหายหรือเปล่า เพราะตามแนวปฏิบัติทั้งทางตำรา และทางศาลนั้น ยอมรับให้ความยินยอมของผู้เสียหาย เป็นบ่อเกิดที่ทำให้ผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำการอันเป็นการทำร้ายร่างกายผู้ที่ยินยอมได้ (แต่มีเงื่อนไขเพื่อสร้าง “ความชอบธรรม” ในการทำร้ายนั้นมากมายครับ ไว้จะขยายความให้ฟังกัน ที่สำคัญก็ได้แก่การวางหลักว่าความยินยอมนั้นต้องไม่ขัดต่อสำนึกทางศีลธรรม ฯลฯ)

ในมุมของผู้เสียหาย แน่ๆครับ “ใครจะไปยอม” เค้าคงไม่ยอมให้โกนหัวหรอกครับ
แต่สำหรับ กัลบกนั่นล่ะครับ จะอ้างว่า “สำคัญผิด คิดว่าผู้เสียหายให้ความยินยอม” ได้หรือเปล่า??

ถ้าสำคัญผิดจริง กฎหมายก็เห็นใจนะครับ แต่งานนี้จากข้อเท็จจริงผมว่าคงยากที่จะอ้างว่าสำคัญผิดน่ะครับ

นอกจากนั้น ไอ้การหัวเราะเยาะ จนน้ำลายกระเด็นไปเปรอะเปื้อนหัวโล้นโกนเหม่งดังกล่าว ท่าทีเยาะเย้ย ยั่วยวนดังกล่าว ทำให้กัลบกหนุ่มใหญ่มาก ถูกปรับในความผิดฐาน “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” ซึ่งเป็นความผิดที่อยู่ในภาค “ลหุโทษ” ซึ่งถ้าผู้ถูกกล่าวหายอมที่จะจ่ายค่าปรับในจำนวนสูงที่สุด (พันนึงนั่นแหล่ะ) คดีอาญาก็ระงับไปครับ เดินลงโรงพักกันไป

ล่าสุดวันนี้ผมรู้สึกโล่งอกโล่งใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรู้ว่า คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตกลงยอมความจูบปากกันแล้วอย่างชื่นมื่น นี่แหล่ะครับ อย่างที่ผมบอก กว่าเราจะหาช่างรู้ใจ รู้จักผมทุกเส้น รูขุมขนทุกรู ขวัญทุกขวัญ รังแคทุกเม็ด เห็บเหาทุกตัวบนกบาลเรา และรังสรรค์งานศิลป์บนหัวเราได้อย่างถูกอกถูกใจเรานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จะปล่อยให้เรื่องขี้ผงนี้ทำลายความสัมพันธ์อันลึกซึ้งนี้ไป มันน่าเสียดายครับ

แต่ถ้าคราวหน้าไปใช้บริการอีก แล้วอีตานี่ยังทะลึ่งโกนหัวล้านเตียนเหม่งให้ พี่เจ้าของอู่ “ฟูเจริญยนต์” อีกล่ะก็

สงสัยพี่แกต้องครวญเพลง “ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลยยยยยยยยยยยยยยย” ขึ้นโรงพักอีกทีแล้วล่ะครับ แล้วเชื่อว่าวันนั้นคงไม่ชื่นมื่นอย่างวันนี้แน่ๆ เตรียมห้องพิจารณาคดีไว้เลยครับ ท่าจะให้ดี เอาห้องข้างๆ คดี”สนธิบาทเดียว” นะครับ คงมันส์พิลึก

Saturday, October 01, 2005

คุณจะเลือกทางไหน?


เนื่องในโอกาสที่บล็อกเกอร์หลายคนหวนกลับคืนสู่ ชุมชนอีกครั้ง

วันนี้ผมจึงไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ และคิดว่าต้องขยับนิ้ว มาอัพเดทบล็อกกับเขาบ้าง ถือเป็นการต้อนรับหลายท่าน และในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นการกระตุ้น แหย่ บีบ และอีกหลายกิริยาในทำนองอาการเดียวกัน ให้บรรดาบล็อกเกอร์อีกหลายหน่วย ที่ยังคง “นิ่งสนิท” เกิดอาการคันไม้คันมือ กลับคืนสู่ยุทธจักรกันบ้าง (ไม่มากก็น้อย)

ปัญหาของผมคือ ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร และที่สำคัญ เมื่อคิดออกว่าจะเขียนเรื่องอะไร ก็ไม่รู้ว่าจะเขียนออกมาอย่างไร

เหมือนการกลับมาเดินใหม่หลังจากที่นั่งนานๆ แม้จะเป็นการเดินในเส้นทางเดิมๆที่คุ้นเคยก็ตาม แต่การเดินแต่ละก้าวย่างกับรู้สึกแปลกๆและแปร่งๆ พาลจะล้ม นิ้วจะพัน
บล็อกของผมในวันนี้จึงขอเริ่มด้วย การนำเอา Forward Mail ที่เคยได้รับมาเมื่อหลายปีก่อนมาให้อ่านกันครับ (นอกจากจะหากินกับของเก่าแล้ว ยังไม่ลงทุนว่างั้นเถอะ)
ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้อ่านเรื่องราวในเมลฉบับนี้มาแล้ว แต่ก็เชื่อว่าอีกหลายคนก็คงยัง

มาถึงบรรทัดนี้ไม่ว่าคุณจะเคยหรือยังไม่เคย ไม่ทันแล้วล่ะครับ

เริ่มนะครับ

…………………………………………………………………

“คุณจะเลือกทางไหน”มีเด็กกลุ่มหนึ่งเล่นกันใกล้รางรถไฟ 2 รางรางหนึ่งอยู่ในระหว่างการใช้งาน ในขณะที่อีกรางหนึ่งไม่ได้ใช้งานแล้วมีเพียงเด็กคนเดียวเท่านั้นที่เล่นบนรางที่ไม่ได้ใช้งานส่วนเด็กที่เหลือนั่งเล่นอยู่บนรางที่ยังใช้งานอยู่เมื่อรถไฟแล่นมา คุณอยู่ใกล้ๆที่สับรางรถไฟคุณสามารถเปลี่ยนทางรถไฟไปยังรางที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อช่วยชีวิตเด็กส่วนใหญ่แต่นั่นหมายถึงการเสียสละชีวิตของเด็กคนที่เล่นอยู่บนรางที่ไม่ได้ใช้งานหรือคุณเลือกจะปล่อยให้รถไฟวิ่งทางเดิม?

ลองหยุดคิดสักนิด

มีทางเลือกใดที่เราสามารถตัดสินใจได้คุณต้องทำการตัดสินใจก่อนที่จะอ่านต่อไปรถไฟไม่สามารถหยุดรอให้คุณไตร่ตรองได้คนส่วนมากอาจเลือกที่จะเปลี่ยนทางรถไฟ และยอมสละชีวิตของเด็กคนนั้น

ผมคิดว่า คุณก็อาจจะคิดเช่นเดียวกันแน่นอน ตอนแรกผมก็คิดเช่นนี้เพราะการช่วยชีวิตเด็กส่วนมากด้วยการเสียสละชีวิตเด็กหนึ่งคนนั้นดูสมเหตุผลทั้งทางศีลธรรมและความรู้สึก

แต่คุณเคยคิดบ้างไหมว่าเด็กที่เลือกเล่นบนรางที่ไม่ได้ใช้งานแล้วที่จริงเขาได้ตัดสินใจถูกต้อง ที่จะเล่นในสถานที่ๆปลอดภัยแล้วต่างหากแต่ทว่า เขากลับต้องเสียสละชีวิตให้กับเพื่อนที่ไม่ใส่ใจ

และเลือกที่จะเล่นในที่อันตรายสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นรอบตัวเราทุกวันในสถานที่ทำงาน ย่านชุมชน การเมืองโดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยคนกลุ่มน้อยมักจะถูกเสียสละให้กับผลประโยชน์ของคนหมู่มากแม้ว่าคนกลุ่มน้อยจะฉลาด มองการณ์ไกล และคนหมู่มากจะโง่เง่า ไม่ใส่ใจก็ตาม

เด็กคนที่เลือกที่จะไม่เล่นบนรางที่อยู่ในการใช้งานตามเพื่อนๆของเขาและคงไม่มีใครเสียน้ำตาให้หากเขาต้องสละชีวิตก็ตาม

เพื่อนที่ส่งต่อเรื่องนี้มาบอกว่า เขาจะไม่พยายามเปลี่ยนเส้นทางรถไฟเพราะเขาเชื่อว่าเด็กที่เล่นอยู่บนรางที่อยู่ในการใช้งานย่อมรู้ดีว่ารางนั้นยังอยู่ในระหว่างการใช้งานและพวกเขาควรจะหลบออกมาเมื่อพวกเขาได้ยินเสียงหวูดรถไฟถ้าทางรถไฟถูกเปลี่ยน เด็กหนึ่งคนนั้นต้องตายอย่างแน่นอนเพราะเขาไม่เคยคิดว่ารถไฟจะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางนั้นนอกจากนั้น รางที่ไม่ได้ถูกใช้งานอาจเป็นเพราะรางนั้นไม่ปลอดภัยถ้ารถไฟถูกเปลี่ยนเส้นทางมาที่รางนี้เราทำให้ชีวิตของผู้โดยสารทั้งหมดตกอยู่ในอันตรายในขณะที่คุณพยายามช่วยชีวิตเด็กจำนวนหนึ่งโดยการสละชีวิตเด็กหนึ่งคนอาจกลายเป็นการสังเวยชีวิตผู้คนนับร้อยก็เป็นได้เรารู้ว่าชีวิตเต็มไปด้วยการตัดสินใจอันยากลำบาก บางครั้งเราอาจลืมไปว่าการตัดสินใจอันรวดเร็วใช่จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป

จำไว้ว่า สิ่งที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่นิยมปฎิบัติและสิ่งที่เป็นที่นิยม ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป ทุกๆคนสามารถทำสิ่งผิดพลาดได้ และนั่นคือเหตุผลที่เขาใส่ยางลบไว้ที่ปลายของดินสอ

………………………………………………..

พลันผมอ่านเรื่องดังกล่าวจบ นอกจากอารมณ์ครุ่นคิดตาม ต่อเนื่องจากเนื้อหาสาระของเรื่องราวดังกล่าวแล้ว ต่อมสักต่อมในสมอง (น้อยๆ) ของผม ก็ได้แหวกว่าย แทรกตัวขึ้นท่ามกลางกอง “ขี้เลื่อย” ที่ฟูฟ่อง ล่องลอยอยู่เต็มกบาลในขณะนี้ เพื่อเคาะประตูกะโหลก และได้ตั้งคำถามตามสันดานคนเรียนกฎหมาย ว่าหากเหตุการณ์ข้างต้นดันเกิดขึ้นจริง แล้วหากองคาพยพทั้งหมดทั้งมวลในกระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดอาญา แก่ผู้ทำหน้าที่สับรางรถไฟ

ไม่ว่าจะเป็นการสับเพื่อเปลี่ยนเส้นทางให้รถไฟสายมรณะ แล่นทะลุทะลวงวิ่งเข้าไปบดขยี้ร่างเด็กน้อยที่เล่นอยู่บนรางรถไฟสายเก่า หรือไม่ว่าจะการ “งดเว้น” ไม่สับรางเพื่อเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ โดยปล่อยให้เด็กน้อยแต่กลุ่มใหญ่ ได้เผชิญหน้าท้าทายมฤตยู โดยไม่ทราบชะตากรรม

หากเกิดความสูญเสียขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนูน้อยรายไหน ในการกระทำ ด้วยการตัดสินใจครั้งนั้น

เราผู้อ่านเรื่องราวนี้ รวมทั้งผม จะทำอย่างไร จะคิดอย่างไร

เพื่อการปกป้องชีวิต เรามีอำนาจที่จะทำลายอีกชีวิตได้หรือไม่ อย่างไร?

จำนวนของชีวิต มีผลต่อการพิจารณาหรือไม่? ชีวิตของคนหลายคน มีค่ามากกว่าของคนๆเดียว?

โอกาสรอดของชีวิตที่มีมากกว่า ใช้เป็นเหตุอ้างที่จะทำลายชีวิตของคนอื่นที่มีโอกาสรอดในชีวิตน้อยกว่าหรือไม่?

………………ฯลฯ……………………..

เพลาเดียวกันหน่วยความจำที่ยังทำงานได้ของผม ก็เตือนสติให้ผมย้อนวันวานกลับไป สมัยนั่งเรียนคอร์สเวิร์ค ครั้งยังคลุกฝุ่นอยู่กับยุทธการทำโท

กฎหมายยอมให้คนกระทำการอันเป็นการทำร้ายหรือทำลาย คุณค่าของการอยู่ร่วมกันได้ ในบางสถานการณ์ เพราะการเรียกร้องให้คนไม่ทำลายสิ่งเหล่านั้นเลย เป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายเพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนเองหรือผู้อื่น เพื่อให้พ้นแก่ภัยหรือภยันตรายอันบังเกิดอยู่ตรงหน้า และไม่มีมนุษย์หน้าไหนจะมาช่วยเราจากสถานการณ์นั้นได้ นอกจากตัวเราเอง หรือที่เราคุ้นชินกันในนาม “การป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย”

จริงๆจะว่ากฎหมายยอมรับ หรืออนุญาตก็ไม่ใคร่จะถูกสักเท่าไหร่ ในความคิดของผม เหตุเพราะผมเชื่อว่าที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะมันสอดคล้องกับมโนสำนึก หรือเหตุผลทางศีลธรรมอันเป็นคุณสมบัติอันประเสริฐสุดของ สิ่งที่เรียกว่า ”มนุษย์” กฎหมายแค่ทำหน้าที่ของมัน ที่จะร้อยเรียง ผูกเงื่อนแห่งเหตุผลเหล่านั้น ให้เป็นระบบระเบียบ มีวิธีคิด วิธีพิจารณาที่ชัดเจนแน่นอนในระดับที่ยอมรับได้ และสอดคล้องต้องกับบรรดามโนสำนึกเหล่านั้น โดยไม่ขาดซึ่งความชัดเจนแน่นอนไป แค่นั้น

กลับมาที่เรื่องข้างต้น

หลายคนอาจต้องการเปลี่ยนโจทย์ โดยสมมติให้ตนเป็น “คนขับรถไฟ” ขบวนมรณะนั้น แทนที่จะเป็นเพียง “คนสับราง” เท่านั้น เพราะเข้าใจว่า การที่เป็นคนขับ น่าจะช่วยหยุดรถไฟขบวนนั้นได้ทันเวลา และไม่เกิดการสูญเสียขึ้นทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มไหน คนไหนก็ตาม

นั่นย่อมเป็นทางออกที่สวยงามที่สุด

แต่โลกในความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น หากเราสามารถสมมติให้เหตุการณ์ทุกอย่างยุติได้โดยไม่เสียอะไรไปเลยนั่นย่อมเป็นอุดมคติอันสูงส่งที่พึงมีและพึงกระทำ และถ้าเป็นได้อย่างใจจริง ผมคงสมมติให้ตัวเองเป็นซุปเปอร์แมน เหาะไปยกขบวนรถไฟนั้น เพื่อมิให้ใครต้องสูญเสีย ซะเลยดีกว่า

ฉะนั้นในเบื้องต้น คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทุกบรรทัดต่อจากนี้เป็นต้นไป เป็นมุมมองของผม ผ่านแว่นที่ประดิษฐ์ขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย จ้องพินิจไปยังเนื้อหาที่มีปริมณฑลจำกัดเพียงข้อเท็จจริงตามเรื่องราวดังกล่าวเท่านั้นนะครับ

ผมเห็นภาพนั้นอย่างไร ยามมองมันผ่านแว่นแห่งกฎหมายของผม…

มีทฤษฎีทางอาญาอยู่ทฤษฎีหนึ่งที่ถูกคิดค้นและออกแบบ โดยนักกฎหมายชาวเยอรมัน ที่ผมคิดว่ามัน (ดูเหมือน) น่าจะใช้เป็นฐานอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ ทฤษฎีๆนั้นเรียกว่า “ความจำเป็นที่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งสารัตถะของทฤษฎีดังกล่าวคือการเลือกที่จะทำลายสิ่งๆหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งอีกสิ่งหนึ่ง โดยการทำลายนั้นเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะรักษาสิ่งนั้นไว้ได้

เขาเลือกที่จะทำลายหรือรักษาบนพื้นฐานของอะไร

การชั่งครับ…

“ชั่งน้ำหนักประโยชน์” ระหว่างสิ่งสองสิ่ง

ความชอบธรรมของการกระทำอันเป็นการทำลายนั้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เป็นการทำลายสิ่งที่มีค่าน้อยกว่า เพื่อรักษาสิ่งที่มีค่าสูงกว่า

คราวนี้มาถึงปัญหาที่เคยโปรยไว้แล้วล่ะครับ

การจะวัดว่าสิ่งใดมีค่าสูงกว่าหรือต่ำกว่า เอาเกณฑ์อะไรมาชี้วัด? และมั่นใจได้อย่างไรว่าเกณฑ์เหล่านั้นถูกต้อง ชอบด้วยเหตุด้วยผล ใครตัดสิน?

โดยเฉพาะกรณีนี้นั้น จำนวนชีวิตที่เลือกทำลายหรือเลือกที่จะรักษา มีผล มีอิทธิพล ต่อการให้ค่าหรือไม่?

ในส่วนตัวผม แม้จะค่อนข้างชื่นชอบในแนวคิดของทฤษฎีดังกล่าว แต่ก็เห็นว่า การปรับใช้ทฤษฎีดังกล่าวด้วยการปล่อยให้มีการให้ค่า หรือ ชั่งน้ำหนักประโยชน์ โดยขาดความชัดเจนและไร้ขอบเขตนั้น อาจเป็นอันตรายมากว่าประโยชน์สุขที่จะได้รับ

โดยเฉพาะการวัดหรือชั่งน้ำหนักระหว่าง ชีวิตของมนุษย์ด้วยกันเอง โดยเอาจำนวนหรือปริมาณเป็นที่ตั้ง เพราะสภาพการณ์มันคงไม่ต่างจากระบอบการปกครองแบบประชาธิไปไตยเสียงข้างมากที่ไม่ไยดีเสียงข้างน้อย และยิ่งหากพิจารณาว่าบรรดาเด็กเหล่านั้นเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ลูกนักการเมือง หรือลูกชาวไร่ชาวนา และเอนเอียงที่จะช่วยเหลือเด็กสมบูรณ์ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ย่อมยิ่งเป็นสิ่งที่ผมยอมรับได้ยากยิ่ง เหมือนกับกรณี 11 ล้านเสียงนั่นแหล่ะ

เพราะแท้จริงแล้ว แก่นของทฤษฎีดังกล่าว หาได้กว้างขวางดั่งมหาสมุทรไม่ และมิใช่เป็นเพียงการชั่ง ตวง วัด ไปซะตะพึดตะพือแค่นั้น

ทฤษฎีนี้ ถูกสร้างขึ้น และปรากฏตัวอยู่ในสารบบของกฎหมาย ครั้งแรกในเยอรมัน โดยคำพิพากษาของศาลสูงสุดของอาณาจักรไรช์ (Reichsgericht) โดยคดีดังกล่าวเป็นคดีที่แพทย์ได้ทำแท้งให้แก่หญิงคนหนึ่ง ซึ่งประสบอันตรายจากการตั้งครรภ์นั้นเอง กล่าวคือ หากปล่อยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป ชีวิตของหญิงนั้นย่อมตกอยู่ในอันตราย และมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตลง ดังนั้น แพทย์ในคดีดังกล่าวจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ “จำเป็นต้องเลือก” เลือกที่จะรักษาชีวิตใดชีวิตหนึ่งเอาไว้ นั่นคือ ชีวิตของมารดา หรือชีวิตน้อยๆในครรภ์ของมารดานั้น

แพทย์ไตร่ตรองแล้ว และตัดสินใจเลือกรักษาชีวิตมารดาไว้ โดยหนทางเดียวที่จะรักษาได้ นั่นคือต้องยุติการมีชีวิต และขัดขวางกระบวนการคลอดเพื่อเป็นมนุษย์อย่างบริบูรณ์ของชีวิตในครรภ์มารดานั้น

หลังจากตัดสินใจและลงมือกระทำการยุติชีวิตน้อยๆนั้นแล้ว แพทย์ผู้นั้นก็ถูกจับดำเนินคดี ในฐานทำให้หญิงแท้งลูก แม้ว่าหญิงผู้นั้นจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดของอาณาจักรไรช์แห่งนั้น ก็ได้วางหลักอันถือเป็นการสร้าง และพัฒนาแนวคิดในเรื่อง “อำนาจกระทำ” หรือ “สิทธิอันชอบธรรม” ของบุคคล คนหนึ่งที่สามารถทำลายคุณค่าบางอย่างได้ ภายใต้สถานการณ์อันจำเป็นที่กฎหมายยอมรับ โดยได้วางหลักไว้ว่า

“เมื่อกรณีทำแท้งเป็นกรณีที่คุณธรรมทางกฎหมายสองอันเกิดขัดแย้งกัน ทำให้บุคคลจำเป็นต้องทำลายคุณธรรมทางกฎหมายที่ด้อยกว่า คือ ชีวิตลูกในครรภ์ เพื่อรักษาคุณธรรมทางกฎหมายที่สูงค่ากว่า คือ ชีวิตมารดา และเป็นกรณีที่ผู้กระทำไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว การกระทำนั้นเป็น ความจำเป็นที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำไม่มีความผิด”

ในทางตำรานิติศาสตร์ ส่วนใหญ่ (ที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดจากทฤษฎีกฎหมายเยอรมัน) สรุป แก่นของหลักที่สกัดได้จากคำพิพากษาดังกล่าว และนำไปปรับใช้กับกรณีอื่นอย่างแพร่หลาย โดยไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะกรณีทำแท้งเท่านั้น

โดยสิ่งที่จะทำให้การทำลายคุณค่า หรือคุณธรรมทางกฎหมาย ในกรณีดังกล่าวได้นั้น เกิดความชอบธรรมขึ้นมาได้ ต้องเป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้ข้อบ่งชี้ หรือสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้

1. ต้องเป็นกรณีคุณค่า หรือประโยชน์สองอย่างเกิดขัดแย้งกัน กล่าวคือ การมีอยู่ของสิ่งหนึ่งเป็นการขัดขวางหรือทำลายการมีอยู่หรือการดำรงอยู่ของอีกสิ่งหนึ่งนั่นแหล่ะครับ

2. ผู้กระทำ จำเป็นต้องกระทำการอันเป็นการทำลายคุณค่า หรือประโยชน์อย่างหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางให้ประโยชน์ที่เหลือคงอยู่ต่อไปได้ โดยไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการ “ทำลาย” อีกแล้ว

3. การตัดสินใจที่จะทำลาย หรือรักษาคุณค่าหรือประโยชน์ใดนั้น ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักว่า สิ่งใดมีคุณค่าสูงกว่ากัน ในการณ์นั้น สิ่งที่มีคุณค่าสูงกว่าย่อมได้รับการพิทักษ์รักษา สำหรับสิ่งที่ถูกทำลายย่อมต้องเป็นสิ่งที่ด้อยค่ากว่านั่นเอง

แต่สำหรับความเข้าใจของผม ผมว่ามันไม่พอ

การที่วางความชอบธรรมแห่งการทำลายอะไรบางอย่าง ไว้บนตาชั่งวัดคุณค่าว่าสิ่งใดสูงกว่าด้อยกว่า แล้วเอาปืนเล็งยิงไปที่คุณค่าที่ห้อยอยู่ในตาชั่งข้างที่ลอยเด่นขึ้นนั้น ไม่น่าจะเป็นวิธีคิดทั้งหมดที่สกัดได้จากหลักคำพิพากษาดังกล่าว

เหตุเพราะหากเราพิจารณาย้อนกลับไปที่แหล่งกำเนิดของทฤษฎีดังกล่าว เราจะพบว่า บรรดาคุณธรรม หรือคุณค่า หรือประโยชน์ทั้งหลายแหล่ ทั้งที่เราเลือกที่จะรักษามัน และเลือกที่จะทำลายมันนั้น ต่างสถิตย์อยู่ในร่างกาย หรือล้วนเป็นของ “ผู้ทรง” หรือ “เจ้าของ” เดียวกัน

ชีวิตในครรภ์มารดา ก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมารดา การทำแท้งจึงถือเป็นการทำร้ายร่างกายหญิงผู้ (กำลังจะ) เป็นมารดาด้วยในอีกโสดหนึ่งด้วยเสมอ

การทำร้ายหญิงนั้น (การทำแท้ง) ก็เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อรักษาชีวิตของหญิงนั้นเอง กล่าวโดยง่ายคือ ทำร้ายเขาก็เพื่อรักษาเขานั่นเอง ไม่ต่างจากการที่คุณหมอทำการตัดขาของทหารนายหนึ่งทิ้ง เนื่องจากเกรงว่าบาดแผลจะติดเชื้อและลุกลามไปกัดกินส่วนอื่นของร่างกายทำให้ยากต่อการเยียวยาและส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่ของทหารหาญผู้นั้น หรือแม้แต่การที่คุณหมอเจี๋ยนไส้ติ่ง ที่กำลังจะกลายเป็นไส้แตก เพื่อรักษาสุขภาพ และในบางกรณีอาจหมายถึงชีวิตของผู้ป่วยนั้นด้วย

ผมเชื่อ (ของผมเอง) ว่าข้อเท็จจริงที่ถูกละเลย ไม่ได้รับการสกัดให้เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบในการสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำดังกล่าวนั้น เป็นสารัตถะที่สำคัญประการหนึ่ง ของทฤษฎีดังกล่าวด้วย

ไม่ต่างจากวิธีคิดของหลักการป้องกันสิทธิโดยชอบ ที่ยอมรับให้ ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้ภยันตรายสักอย่างที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อ หรือโดยที่เราไม่จำเป็นต้องยอมรับ ซึ่งโดยมากก็มักเป็นภยันตราย หรืออันตราย ที่เกิดจากการที่มีผู้อื่นก่อขึ้นโดยผิดกฎหมายนั่นเองครับ

“ธรรมะย่อมไม่อ่อนข้อต่ออธรรมฉันใด เราก็ไม่จำเป็นต้องยอมให้ผู้อื่นคุกคามเราโดยเราไม่ยอมที่จะลุกขึ้นปัดป้องหรือตอบโต้ฉันนั้น” นั่นเอง

การตอบโต้ หรือป้องกัน เพื่อให้ตนพ้นจากอันตรายที่เกิดจากการคุกคามที่ละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นการตอบโต้ไปยังผู้ที่เป็นต้นเหตุของภัยนั้น ย่อมเป็นแกนหลักอันทำให้การกระทำอันเป็นการป้องกันนั้น มีความชอบธรรมตามกฎหมาย

ผู้กระทำการดังกล่าวย่อมไม่มีความผิด เนื่องจากสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ “ชอบด้วยกฎหมาย หรือชอบธรรม” เสียแล้ว

แล้วถามว่า การที่ผู้สับราง ตัดสินใจที่จะสับหรือไม่สับ และการกระทำนั้นก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ขึ้น การกระทำนั้น ผู้สับรางมี “ความชอบธรรม” ที่จะสับหรือไม่สับรางหรือไม่

ไม่ว่าจะพินิจพิเคราะห์ จากทั้งทฤษฎีความจำเป็นชอบด้วยกฎหมาย หรือ การป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นแล้ว

อ้างไม่ได้สักกะทฤษฎีเดียว

เหตุเพราะ ไม่ว่าจะสับเพื่อให้เด็กน้อยที่เล่นอยู่บนรางเก่าๆเพียงผู้เดียว หรือ ไม่สับราง เพื่อให้หนูๆทั้งหลายที่กำลังเพลิดเพลินกับการละเล่นบนรางรถไฟที่ยังใช้งานอยู่ ไปพบยมบาลก่อนเวลาอันควร ก็ล้วนแต่ไม่มีความชอบธรรมในการกระทำทั้งสองกรณีทั้งสิ้น เหตุเพราะไม่ควรมีเด็กคนไหน บนรางรถไฟรางไหน จำต้องยอมรับความตายโดยดุษณีทั้งสิ้น มิพักต้องกล่าวถึงปัญหาว่าชีวิตมนุษย์แต่ละคนจะชั่งตวงวัดกันอย่างไร หรือการวัดจากปริมาณมากน้อย ซึ่งประเด็นนี้ผมเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ “วัด” กันไม่ได้อีกต่างหาก
แล้วจะอย่างไรครับ จับยัดเข้าซังเต ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาดอกหรือ (การสับหรือไม่สับ เราถือว่ามีการกระทำ แล้วและการที่รู้อยู่ว่าการสับหรือไม่สับนั้นย่อมก่อให้เกิดผลคือความตายเกิดขึ้น และยังกระทำการนั้นต่อไป ก็ย่อมครบองค์ประกอบฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแล้วขอรับ…เอ่อ มาถึงบรรทัดนี้ผมขอละเมิดกติกาที่ผมเองทำความตกลงกับทุกท่านไว้ตั้งแต่ตอนต้นครับ ผมขอเพิ่มเป็นว่า ไอ้หมอนี่คือ เจ้าพนักงานสับราง อันมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องสับรางรถไฟ เพื่อป้องกันอันตราย หรือเพื่อให้เป็นไปตามแผนการเดินรถน่ะครับ เพราะการมีหน้าที่ของไอ้หมอนี่ส่งผลอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยความผิดตามกฎหมายน่ะครับ การที่จะถือว่าการ “ไม่สับราง” นั้นเป็นการกระทำอันเป็นการฆ่าได้นั้น จำกัดเฉพาะกรณีที่ไอ้หมอนั่นต้องมีหน้าที่พิเศษในการสับรางด้วยน่ะครับ ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ผ่านเหตุการณ์มาเห็น แม้เขาจะไม่กระโดดไปสับราง ก็คงไม่ถือว่าเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันถือเป็นการฆ่าน่ะครับ)

ทั้งๆที่ไม่ว่าหมอนี่จะสับ หรือไม่สับ ผลก็เท่ากัน นั่นคือ ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาอยู่ดี

อะไรมันจะซวยอย่างนั้นครับ

“แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม” หมอนั่นคงรำพึงเป็นเพลงสามสาวซาซ่า หรืออาจจะเป็น “อย่าเลย อย่าบอกให้ฉันเลือกเลย เพราะฉันไม่เคยรู้เลย ไม่รู้ว่าจะเลือกใคร” เพลงของสาวดูมๆ ผู้ซึ่งชีวิตนี้ไม่คิดจะมีระเบียบ (รัตน์) อะไรกับใครเขา

จริงอยู่แม้ไอ้หนุ่มดวงซวย จะไม่มี “อำนาจ” หรือ ไม่มี “ความชอบธรรม” ใดๆที่จะสับหรือไม่สับรางรถไฟ เพื่อไปทับหัวลูกชาวบ้านรายใดได้ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ใช่ว่า ที่เขาตัดสินใจสับ หรือไม่สับ เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนความเป็นอิสระแห่งการคิดและการเลือก

บ่อยครั้งไปครับ ที่เราตัดสินใจเลือกที่จะกระทำผิด ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าผิด แต่เป็นเพราะสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้ามันบีบบังคับ เช่น

การที่ปี๊ดตีกบาลปื๊ด ตามคำสั่งของปู๊ดที่ถือลูกซองแฝด จ่ออยู่ที่กบาลของปี๊ด โดยขู่ว่า หากปี๊ด ไม่ยอมตีกบาลปื๊ด แล้ว สมองน้อยๆของปี๊ดจะต้องกระเด็นกระดอน สาดกระจาย เปรอะเสื้อเวอร์ซาเช่ราคาหลายหมื่นกีบของปี๊ดจนซักไม่ออกแน่ๆ

ด้วยความที่ปี๊ดกลัวว่าเปาเอ็มวอชจะไม่สามารถซักคราบมันสมองของตัวเองที่สาดกระจายอยู่บนเสื้อสุดหรูได้ ปี๊ดจึงจำใจต้องหยิบเอาหน้าสามตีไปที่กบาลของปื๊ด พอเลือดอาบแก้ม เย็บสักเจ็ดแปดเข็ม ท้วมๆ

ถามว่าการกระทำของปี๊ด มีความชอบธรรมหรือไม่ครับ การเอาตัวรอดโดยโยนความซวยไปให้คนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะเรียกว่าเป็นความชอบธรรมก็คงไม่ถนัดปากนัก (ในทางกลับกันรถน้อยคล่องตัว หากปี๊ดใจกล้าสักนิด อาศัยจังหวะที่ปู๊ดเผลอ เอาหน้าสามที่อยู่ในมือนั่นแหล่ะ กระแทกไปที่กล่องดวงใจของปู๊ดแทน การกระทำของปี๊ดย่อมถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนจากอันตรายที่ปู๊ดก่อ และเป็นการกระทำต่อผู้ที่เป็นต้นเหตุแห่งอันตรายนั้นเอง ย่อมทำให้การกระทำของปี๊ดต่อปู๊ดนั้น มีความชอบธรรมที่จะทำได้ตามกฎหมายโดยไม่เป็นความผิดขึ้นมาทันที)

ใช่ครับ ผมกำลังจะบอกว่าการกระทำของปี๊ดนั้น เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเต็มๆครับ

แต่การที่ปี๊ดตีกบาลปื๊ดนั้น ไม่ได้เกิดจากเจตจำนงอิสระของปี๊ดเอง พูดแบบบ้านๆก็คือ ปี๊ดไม่ได้เต็มใจ ที่จะตีกบาลปื๊ด แต่เป็นเพราะอันตรายจากปืนลูกซองบีบบังคับให้เขาต้องทำเช่นนั้น

ในทางทฤษฎีเยอรมันเรียกว่า การกระทำดังกล่าวนั้น ขาดสิ่งที่เรียกว่า “ความชั่ว” (ไว้ผมจะมาขยายความ “ความชั่ว” นี้อีกทีครับ ติดไว้ก่อน แต่เกริ่นไว้หน่อยว่า “ความชั่ว” ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องของสำนึกชั่วดีที่เป็นอัตตะวิสัยของคนแต่ละคนที่มีระดับหรือปริมาณไม่เท่ากันแต่อย่างใดนะครับ แต่มันเป็นเรื่อง เงื่อนไขหรือข้อจำกัดของจิตมนุษย์ที่ในบางครั้งการที่เขาทำผิดไปเพราะเขาไม่มีโอกาสได้เลือก หรือเพราะความบกพร่องหรือผิดพลาดของการทำงานจิตทำให้เขาไม่สามารถที่จะเลือกที่จะทำความผิดได้อย่างเสรีนัก…ดูกรณีจิตรลดาครับ)

และ “ความชั่ว” นี้เองครับ ที่เป็นเนื้อหาสาระประการหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่า “อาชญากรรม” ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับการบังคับใช้โทษทางอาญากับผู้กระทำ
การลงโทษบุคคลที่ขาดซึ่งความชั่ว ย่อมเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์และไร้ค่า แถมอาจจะส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อบุคคลนั้น และอาจลามไปถึงความสงบสุขของสังคมอีกต่างหาก (ด้วยเหตุนี้จึงมีนักกฎหมายไม่น้อย เหมาเอาว่า กรณีที่ผู้กระทำไม่มีความชั่วดังกล่าว เป็นเหตุที่กฎหมาย “ยกเว้นโทษ” ให้นั่นเอง กล่าวคือ ไอ้ที่ทำน่ะผิดนะ แต่กฎหมายไม่เอาโทษแค่นั้น )

ดังนั้นเมื่อขาดซึ่งความชั่วแล้ว การกระทำนั้นย่อมไม่สามารถเรียกได้ว่า เป็นอาชญากรรม และเมื่อไม่เป็นอาชญากรรมแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถลงโทษอาญากับบุคคลนั้นได้นั่นเอง
ย้อนกลับมาดู กรณีเจ้าพนักงานสับรางดวงซวยรายนี้กันครับ

แม้การกระทำของเขาจะไม่มีความชอบธรรม แต่ก็ไม่อาจพูดได้ว่าการกระทำของเขานั้นเป็น “อาชญากรรม” หรืออาจกล่าวได้ว่า การกระทำของเขาขาดซึ่ง “ความชั่ว” ไม่ต่างจากการกระทำของปี๊ดดังกล่าว การบังคับใช้โทษทางอาญาที่มีลักษณะของโทษที่ค่อนข้างรุนแรง รวมทั้งการนำตัวเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันเหน็บหนาว จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเท่าใดนัก

เพราะชีวิตมันไม่ใช่ดินสอครับ ที่จะมียางลบติดอยู่ ณ ปลายสุด

และไม่ใช่เปาเอ็มวอชที่จะฟอกผ้าให้กลับขาวใสดังเดิมยามเมื่อมีรอยมลทินเปื้อนปื้น