Sunday, April 30, 2006

ที่สุดในรอบปี

ต้องยอมรับครับว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา การเขียนบล็อกถือเป็นงานอดิเรกของผมอย่างจริงจังและแท้จริง หลังจากที่เอาเวล่ำเวลาไปทิ้งน้ำเสียโขอยู่ ซึ่งคนที่ถือว่ามีบุญคุณกับผม ด้วยการชักนำผมให้พบกับไอ้นวัตกรรมบนโลกไซเบอร์นี้ก็หนีไม่พ้น คุณปิ่น ปรเมศวร์ ที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับชายหนุ่มร่างใหญ่คนหนึ่ง คือคุณนิติรัฐ และคุณนิติรัฐก็ส่งผ่านแรงบันดาลใจนั้นมาให้ผมอีกทอดหนึ่ง

ตั้งแต่วันที่เริ่มส่งตัวอักษรตัวแรกสู่โลกแห่งบล็อกเกอร์ จนถึงวันนี้ก็นับได้เป็นเวลาหนึ่งปีเต็มในวันนี้พอดี (1 พฤษภาคม)

ด้วยความเห็นพ้องกับไอเดียสุดบรรเจิดของสหายรัก ที่ประสงค์จะรวบรวมเอาบล็อกครั้งเก่าก่อนในรอบปีที่ผ่านมา นำมารวมตัวไว้ในหน้าแรกอีกครั้ง ทำนองเพื่อระลึกถึงความทรงจำ และได้ย้อนกลับไปอ่านงานเก่าๆ รวมทั้งร่องรอยแห่งการเยี่ยมเยือนของ ทั้งผู้ปรากฏนาม และไม่ประสงค์จะออกนาม

ผมจึงเขียนบล็อกตอนนี้ขึ้น แต่เพื่อไม่ให้เป็นการลอกความคิดของสหายรักแบบโจ๋งครึ่ม จึงขอทำในแนวของ “รวมฮิต” แบบที่เค้าทำๆกันแถวจอทีวี ยามเมื่อโอกาสครบรอบอายุรายการ หรือวาระดิถีขึ้นปีใหม่

มาดูกันดีกว่าครับ ว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ในความคิดของผม บล็อกตอนไหนที่จะจัดได้ว่า “ที่สุด” ในเรื่องใดบ้าง

ระเบิดระเบ้อที่สุด

งานนี้คงต้องยกให้กับบล็อกตอนพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่วายเว้นแม้กระทั่งชุมชนสมมติออนไลน์ของพวกเราด้วย บล็อกแทบระเบิดด้วยบรรดาความเห็นที่น่าสนใจ เต็มไปด้วยหลักการและแง่คิดของแต่ละบุคคล รวมไปถึงอารมณ์ด้วยพอเป็นกระสายยาซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการถกเถียงครับ

ตัวประกันกำมะลอ

Saturday, April 29, 2006

ลมหายใจรวยรินของร้านหนังสือเล็กๆ ร้านหนึ่ง

ตามปกติผมเป็นพวกวงจรชีวิตซ้ำเดิม ทำอะไรก็จะทำแบบเดิม เที่ยวที่ไหนก็เที่ยวที่เดิม เดินทางเส้นไหน ก็จะใช้เส้นเดิม กินร้านไหนก็จะกินร้านเดิม

แลดูเป็นพฤติกรรมชีวิตที่น่าเบื่อ แต่สำหรับผม…มันก็น่าเบื่อจริงๆครับ

แต่ในความน่าเบื่อดังกล่าว หากมองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นความท้าทายนะครับ

นี่ผมบ้าหรือเพี้ยน ไอ้สิ่งที่ทำๆข้างต้นไม่เห็นมันจะน่าท้าทายตรงไหน

ก็เพราะไอ้วิถีชีวิตซ้ำเดิมนี่แหล่ะครับ หากวันใดขยับออกนอกวงรอบเดิมนิดเดียว มันก็ท้าทายแล้วนี่หน่า ถูกไหมครับ แล้วไอ้คนพรรค์อย่างผม หากลองจะก้าวเท้าออกนอกวงรอบซ้ำเดิมของตัวเอง แม้แต่เพียงเล็กน้อย มันก็คงต้องใช้ความกล้าหาญ มากกว่าคนอื่นๆ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่าท้าทายได้อย่างไรครับ

สถานที่บันเทิงใจ หรือพักผ่อนหย่อนใจของผม ก็คงหนีไม่พ้นสถานที่เดียวกันกับบรรดามนุษย์กระป๋อง ไร้ทางเลือก ไอ้พวกชอบสั่งเมนู “ข้าวผัดสิ้นคิด” หรือ “บะหมี่หมดหนทาง” หรือไม่ก็ไอ้พวก “เหมือนเดิมที่นึง” และ ไอ้พวก “เหมือนกัน” นี่แหล่ะ

นั่นก็คือ

ห้างสรรพสินค้าครับ โธ่ จะไม่ให้สิ้นคิดได้อย่างไร ก็มีทุกสิ่งให้คุณเลือกสรรนี่ แถมประหยัดไฟไม่ต้องเสียค่าแอร์ที่บ้าน ยามอากาศร้อนระเบิดระเบ้อขนาดนี้

กิจกรรมประจำที่ผมมักทำเสมอเวลาไปเยี่ยมเยือนเมกกะสโตร์อย่างเซ็นทรัลพระรามสอง (ห้างดังที่ตั้งตัวเองใกล้กับนิวาสถานของผมที่สุด) ก็หนีไม่พ้น กินข้าว (ที่ร้านเดิมๆ) ดูหนัง (โรงหนังเดิมๆ – มีอยู่โรงเดียว ) ซื้อของ (อันนี้เป็นข้อยกเว้นที่ไม่ค่อยซื้อร้านเดิม และไม่เคยซื้อชิ้นเดิม ฮ่าๆ) และที่ขาดไม่ได้คือ ซื้อหนังสือ และซีดีเพลง

ความผูกพันระหว่างผมกับหนังสือ ไม่ได้ลึกซึ้งยาวนานอะไร จึงไม่สามารถเรียกตัวเองได้ว่า “นักอ่าน” แค่ คน“ชอบอ่าน” เท่านั้น จำความได้ว่า สมัยเด็กๆ ผมชอบนั่งรถ (บัดนี้ก็ยังชอบอยู่ และพัฒนามาเป็นชอบขับรถด้วย) และก็ชอบมองป้ายโฆษณา แม่กับพ่อเล่าให้ฟังว่าผมชอบนั่งอ่านออกเสียงถึงบรรดาข้อความที่บรรจุอยู่ตามป้ายโฆษณาที่อยู่ตามข้างทางยามเราเดินทางผ่านมัน

หนังสือในวัยเด็กของผม ก็หนีไม่พ้นการ์ตูน จำพวกดาร์ก้อนบอล โดเรมอน อ่อ ที่ผมอ่านแบบจริงจัง คือ ขายหัวเราะ มหาสนุก เบบี้ และหนูจ๋าครับ สำหรับขายหัวเราะและมหาสนุก ผมจำได้ว่า ต้องอ้อนขอเงินพ่อปีละ 400 เพื่อสมัครเป็นสมาชิกของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นเลยทีเดียว เพียงเพราะต้องการเสื้อยืดสมาชิกที่เป็นลายเส้นของบรรดานักเขียนที่ผมชื่นชอบไม่ว่าจะเป็น นิค ต่าย ต้อม หมู นินจา เดีย เฟน อาวัฒน์ ฯลฯ จำได้ว่าเป็นสมาชิกรายปีเหนียวแน่นได้ประมาณสี่ปีจึงเลิกไป

เมื่อครั้นรู้เดียงสา ผมกับหนังสือก็เป็นอันแยกทางกันไป ผมจำไม่ได้ว่าผมอ่านหนังสือเล่มไหน หรือซี่รี่ย์ไหนจริงๆจังๆ อีกเลย หลังจากวัยประถมล่วงเลยมา วันๆผมใช้ชีวิตเล่นซนกับหมู่เพื่อน และลูกหนังกลมๆ มากกว่าที่จะมาจ่อมจมอยู่กับหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือเรียนของผม ขอโทษครับ กลีบโง้งทุกเล่ม ไม่เคยเปิดเลยสักหน้า

หนังสือที่อยู่ในความทรงจำของผมก่อนจบมัธยมปลาย มีอยู่เพียงไม่กี่เล่ม เช่น ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน แดร็กคิวล่า ของ บราม สโตร้กเกอร์ และบรรดาซีรีย์ของ “อีแร้ง” ในนาม “บินแหลก” อีกประมาณสองสามเล่มเท่านั้น นอกจากนั้นไม่อยู่ในความทรงจำของผมเลยครับ

ผมรู้สึกว่าโลกของหนังสือกับผมได้เวียนมาบรรจบกันอีกครั้ง เมื่อผมเรียนชั้นปริญญาตรี จุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ผมได้มีโอกาสเรียนวิชา “สหวิทยาการมนุษยศาสตร์” โอ้ พระเจ้า ชื่อวิชาไม่สามารถทำให้ผมคาดเดารูปโฉมโนมพรรณ หรือสารัตถะของวิชาดังกล่าวได้เลย

แต่เป็นวิชาดังกล่าว ที่พาให้ผมรู้จักกับ “เจ้าชายน้อย” และ “โลกของโซฟี” โดยเฉพาะเล่มหลัง น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมหลงเสน่ห์ของตัวอักษรบนกระดาษ

หลังจากนั้นผมก็ได้ก้าวเท้าเข้าสู่ศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตมากขึ้น บ่อยขึ้น ในช่วงเวลาต่างๆของแต่ละวัน แม้จะเป็นร้านหนังสือขนาดไม่ใหญ่มาก ปริมาณหนังสือยังไม่มากนักและการจัดชั้น หมวดหมู่หนังสือจะยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าไหร่ แต่แอร์ที่เย็น และหนังสือมากหน้าหลายตา ก็ได้ตรึงความสนใจให้ผมแวะเวียนไปรู้จักเพื่อนใหม่ และกระชากเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ผมได้ไม่น้อย

แต่ที่แอบอ่านฟรี แล้วไม่ได้ซื้อก็มีนะครับ ผมจำได้ว่าเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเซนเล่มหนึ่ง ทำนองนิทานภาพ เล่มไม่หนาไม่บาง อ่านจนจบเล่มเลย น่าจะเป็นเล่มแรกและเล่มเดียวที่ผมสามารถอ่านจบในร้านหนังสือโดยไม่หยิบฉวยออกมา

“เจ้าว่าพระจันทร์กับพระอาทิตย์ อะไรสำคัญต่อมนุษย์อย่างเรากว่ากัน” อาจารย์เซนถามศิษย์น้อย

“พระอาทิตย์สิครับอาจารย์ ในเมื่อทั้งเรา สรรพสิ่งในโลกล้วนอาศัยแสงจากอาทิตย์ ในการดำรงอยู่ทั้งนั้น” ศิษย์น้อยเอื้อนเอ่ยตอบคำถาม

“เจ้าผิดแล้ว” อาจารย์กระชากอารมณ์ “พระจันทร์ต่างหากเจ้าศิษย์น้อยเอ๋ย” อาจารย์เฉลยเอ่ยคำ

“เหตุใดขอรับอาจารย์” ศิษย์วิงวอนขอคำตอบ

“ก็เพราะเราต้องการแสงสว่างในยามค่ำคืนน่ะสิ” อาจารย์ตอบ แล้วหันหลังเดินไป

ตัวอย่างเดียวที่ติดหัวผมจากวันที่ยืนอ่าน จนถึงวันนี้

หลังจากวันนั้นชีวิตของผมก็มีโอกาสได้ต้อนรับหนังสือเล่มเล็กเล่มน้อย ยันไปถึงเล่มยักษ์ อยู่เสมอๆ แล้วแต่กำลังทรัพย์จะเอื้ออำนวย

งานสัปดาห์หนังสือ จึงเป็นอีกมหกรรมหนึ่งที่ผมมักไม่พลาด (แต่ปีนี้พลาดไปแล้ว)

แต่เดิมผมเคยมองญาติผู้พี่ ด้วยสายตาแห่งความสงสัยและไม่เข้าใจ ยามที่เห็นเขาเฝ้าคอยวิ่งตามหาแสตมป์ และเหรียญกษาปณ์ ลายแปลกๆ และหายาก มาสะสมอยู่เสมอๆ เก็บไปก็นั่งยิ้มนอนยิ้ม ลูบๆคลำๆ ไป รวมทั้งร้องไห้สะอึกสะอื้นจะเป็นจะตาย ยามสมุดสะสมของรักหายไปอย่างลึกลับ

ณ วันนี้ผมเข้าใจอาการเหล่านั้นแล้วครับ เมื่อยามที่ผมนั่งมองหนังสือที่อยู่ในตู้ ในชั้น บนโต๊ะทำงาน โต๊ะคอมพิวเตอร์ มุมห้อง ใต้โต๊ะรับแขก ในห้องน้ำ (ผมพกขายหัวเราะ มหาสนุกเล่มเก่าๆในอดีตไว้ในห้องน้ำครับ อ่านเป็นยาระบายอ่อนๆ) ความรู้สึกของผมคงไม่ต่างจากญาติผู้พี่คนนั้น

ดังนั้น ยามที่ผมเดินทางไปเยี่ยมเยือนห้างใหญ่ จึงไม่มีสักครั้งที่ผมจะไม่แวะเวียนไปผลุบโผล่ตามร้านหนังสือต่างๆที่มีอยู่ราว สี่ถึงห้าร้าน แม้ร้านนายอินทร์ จะเป็นร้านที่ผมคิดว่ามีหนังสือเยอะ และน่าสนใจที่สุด (ในบรรดาสี่ห้าร้านนั้น) แต่ร้านที่ผมแวะไปเยี่ยมบ่อยที่สุดกลับเป็นร้าน “Book Club” ซึ่งเป็นร้านหนังสือขนาดกระทัดรัด ปริมาณหนังสือไม่มากนัก แต่ที่นี่เป็นที่แรกและที่เดียวที่เชื้อเชิญให้ผมเป็นสมาชิก พร้อมมอบบัตรสมาชิกรายปีให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แม้บัตรจะหมดอายุไปแล้ว พี่เจ้าของร้านก็ต่ออายุให้อีกหนึ่งปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดิม

ครั้งละเล่ม สองเล่ม จึงมีให้เห็นประจำยามผมแวะไปเยี่ยมร้านนี้

วันนี้ก็เช่นกันครับ ผมแวะไปทำธุระเล็กน้อยที่ห้างใหญ่ และก็ไม่ลืมชวนตัวเองไปเยี่ยมเยือนร้านหนังสือเล็กๆ ร้านนี้เช่นเคย แวบแรกที่เห็น รู้สึกได้ถึงความไม่ปกติ เพราะมีกองหนังสือระเกะ ไร้ระเบียบมากมาย ในใจก็คิดแต่เพียงว่า พี่ๆน่าจะกำลังจัดหนังสือ หรือเช็คสต๊อกหนังสือ แต่เมื่อเดินเลือกหนังสือได้ไม่นาน ก็ได้ยินเสียงพี่เจ้าของร้านเชื้อเชิญแขกผู้มาเยี่ยมเยียนรีบหยิบฉวยหนังสือจากร้านในราคาพิเศษสุด พร้อมกับการกล่าวว่านี่คือ “โอกาสสุดท้าย” แล้วที่ท่านจะหาซื้อหนังสือจากร้านหนังสือเล็กๆแห่งนี้

ได้โอกาสก็เลยเดินเข้าไปสอบถามพูดคุยกับพี่เจ้าของร้าน ได้ความว่า สู้ค่าเช่าของห้างใหญ่ไม่ไหว รายรับแต่ละเดือนน้อยลงอย่างมาก ฟางเส้นสุดท้ายก็คืองานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา เพราะคนแห่ไปซื้อ หรือรอเพื่อที่จะซื้อหนังสือจากงานสัปดาห์หนังสือ โดยปล่อยให้ร้านเล็กๆนี้แห้งเหี่ยวอยู่ในห้างใหญ่เพียงลำพัง

ยอมรับว่าเสียดายนะครับ (เสียดายเพราะบัตรเพิ่งต่ออายุไปไม่กี่เดือน ฮ่าๆ – แม้ร้านหนังสือดังกล่าวจะเหลือสาขาอีกสาขาหนึ่ง และเป็นสาขาเดียว แต่โน่นครับ เซ็นทรัลลาดพร้าว คนละทิศคนละทางกับที่พักผมเลยครับ) แม้จะไม่ได้ผูกพันกันอย่างนับญาติ แต่การยุบตัว ปิดตัวไปของร้านหนังสือ มันแสดงให้เห็นถึงอะไรบางอย่าง ผมไม่ใช่คนทำหนังสือเป็นอาชีพจึงไม่อาจรับรู้ถึงเหตุผล อารมณ์และความรู้สึกของคนทำหนังสือและคนขายหนังสือ รวมทั้งความจำเป็นของการต่อสู้ เพื่อดำรงตนให้อยู่รอดได้ในบรรณพิภพ แต่เมื่อมองจากคนนอกแล้วก็รู้สึกเหี่ยวใจชอบกล

ความใฝ่ฝันของผมอย่างหนึ่ง ก็คือการเปิดร้านหนังสือเล็กๆของตัวเอง (ตอนแรกไม่เจียมตัวอยากเปิดโรงพิมพ์เลยครับ ฮ่าๆ แต่ท่าทางจะไปไม่รอด) ไม่ได้ทำเพื่อเน้นผลทางธุรกิจ โดยอาจจะเลือกหนังสือเฉพาะแนวที่ผมเองสนใจ หนังสือที่ดี (เนื้อหาดีไม่ดีนี้วัดยากเอาเป็นว่าแนวที่ผมชอบ ฮ่าๆ แต่ผมชอบรูปเล่มที่ดี ทน สวย เก็บไว้ได้นานๆ) โดยอาจจะเอาหนังสือที่ตัวเองสะสมมาตลอดชีวิต (จนถึงเวลานั้น) มาไว้อีกมุม ให้อ่านกันฟรี แต่คงไม่ถึงกับทำระบบยืมหนังสือหรอกครับ ไม่อยากปวดหัว

อาจจะมีคอฟฟี่ชอปเล็กๆ สักมุม ไว้ให้คอกาแฟ (ผมเชื่อเล็กๆว่า คอหนังสือมักเป็นคอกาแฟด้วย ไม่มากก็น้อยล่ะ) หรืออาจจะมีมุมดูหนังฟังเพลง อีกสักมุม ก็คงเหมือนกัน คือแนวที่ผมชอบ ฮ่าๆ เรียกได้ว่าจัดร้านตามใจเจ้าของร้านเป็นหลัก ไม่ง้อลูกค้า ผมเพียงต้องการเมื่อยามแก่ตัวแล้ว เราได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบ ได้คุยกับคนคอเดียวกัน เงียบๆ เล็กๆ ง่ายๆ ไม่ต้องทำกำไร แค่ดูแลตัวเองได้ก็พอ และผมสามารถเฝ้าร้านได้ทั้งวัน (เช่นเดียวกับลูกค้าผมก็คงนั่งอ่านได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องกลัวอาโกถือไม้ปัดแมงวันมาไล่) โดยไม่อนาทรร้อนใจเร่งรีบ เหมือนเปิดตึกทำการค้าอาหารตามสั่ง และไม่ต้องใช้ลูกจ้างมากมาย

กลับมาสู่โลกแห่งความจริงกันก่อนครับ

ตอนนี้ผมมีปัญหาหนักๆเกี่ยวกับการอ่านหนังสือหลายประการ

1. ผมอ่านหนังสือไม่ค่อยจะจบ ไม่ว่าจะเล่มเล็ก บาง ขนาดไหนก็ตาม
2. ผมอ่านหนังสือไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ทำนองขาดสมาธิอย่างสิ้นเชิง แม้จะพ้นจากข้อแรกมาแล้ว ก็มาเผชิญข้อสองนี่แหล่ะ
3. ผมไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ นอกจากไม่มีเวลาจริงๆแล้ว ผมว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ผมทำตัวให้ตัวเองไม่มีเวลามากกว่า เป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ แต่ผมก็ใช้มันตลอดมา
4. พักหลังผมอ่านหนังสือแบบจำเป็นต้องอ่าน มากกว่าเพราะอยากอ่าน
5. ผมซื้อหนังสือมากกว่าผมอ่านหนังสือ จนทุกวันนี้มีหนังสือที่นอนนิ่งอยู่ในห้องผมโดยที่ผมยังไม่เคยเปิดอ่านมันเลย อยู่เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของปริมาณหนังสือทั้งหมดที่ผมมีอยู่ แต่ผมก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า ผมอาจจะได้อ่านมันยามที่ผมมีเวลาว่างในชีวิตจริงๆ นั่นก็คือ 1) ตอนบวช กับ 2) หลังเกษียณ ข้อนี้น่าจะเป็นเหมือนคนอื่นๆที่ชอบหนังสือก็คือ ซื้อไว้ก่อน จะหาเวลาอ่านเมื่อไหร่อีกเรื่อง ทำนองมีแล้วอุ่นใจ เพราะกฎทองของการซื้อหนังสือข้อหนึ่ง ก็คือเมื่อผ่านมันไปแล้ว เวลาจะกลับมาหาอีก ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร

ว่าแต่ว่า เมื่อได้เวลาหง่อมกันแล้ว จะมีใครไม่กลัวลำบากตอนแก่หลวมตัวเป็นหุ้นส่วนกับผมบ้างล่ะเนี่ย

Saturday, April 08, 2006

อารยะขัดขืน ขัดขืนอย่างอารยะ


ได้อ่านหลักการเกี่ยวกับการ “ดื้อแพ่ง” หรือ “อารยะขัดขืน” ของคุณ tanusz แล้ว น่าสนใจทีเดียวครับ เลยเก็บมาคิด และลองนำแว่น “กฎหมายอาญา” ที่ผมมีอยู่แว่นเดียวในทางกฎหมาย ฮ่าๆ มาส่องดู ก็พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับการ “วินิจฉัยความผิดอาญา” ของ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์หนุ่มใหญ่มาดศิลปินแห่งรั้วสิงห์ดำจามจุรี


ผมแค่ลองคาดการณ์ หรือเรียกตามศัพท์วิชาการว่า “เดา” ดูน่ะครับ ว่าในการพิจารณาวินิจฉัยความผิดอาญาในศาลนั้น ศาลท่านจะมีความเห็นเป็นประการใด


ลองเดาๆไปพร้อมๆผมมั๊ยครับ


ผมเห็นว่าเมื่อคดีผ่านจากอัยการแล้ว (โดยสันนิษฐานว่าอัยการท่านมีความเห็น “สั่งฟ้อง” นะครับ แต่งานนี้ไม่แน่อาจจะมีเซอร์ไพรซ์ขโมยซีนศาลด้วยการที่อัยการท่านอาจใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง – ยืนยันว่าอัยการบ้านเรามีดุลพินิจตามกฎหมายที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีเพื่อความยุติธรรมได้นะครับ ) เมื่อมาถึงศาลแล้ว ศาลท่านจะวางแนวในการพิจารณาคดีนี้อย่างไร ลองดูครับ


เมื่อการกระทำ "ดื้อแพ่ง" คือการ "จงใจ" หรือ "เจตนา" กระทำผิดกฎหมาย เพื่อประท้วงอำนาจรัฐที่ตนเห็นว่าไม่ชอบธรรม องค์ประกอบแรกคือต้องมีการ "กระทำผิด" กฎหมายเสียก่อน


และบังเอิญไอ้กฎหมายการเลือกตั้ง สส สว มันดันมีข้อห้ามเกี่ยวกับการทำลายบัตรเลือกตั้งด้วย และบังเอิญข้อห้ามนั้น กำหนด "โทษทางอาญา" ไว้


มันก็เลยหนีไม่พ้นการวินิจฉัย "ความผิดอาญา" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การกระทำของผู้กระทำ เป็น "ความผิดอาญา" หรือไม่


เรื่ององค์ประกอบความผิดอาญาทั้งภายนอกภายใน ผมว่าน่าจะชัดเจน คือ ผิดครับ เพราะอาจารย์ท่านได้กระทำการอันเป็นการทำลายบัตรเลือกตั้ง โดยเจตนาโดยรู้อยู่ว่าบัตรนั้นเป็นบัตรเลือกตั้ง รู้อยู่ว่าการ "ฉีก" คือการทำลาย และมุ่งหวังโดยแท้ให้ผลเสียหาย (บัตรฉีกขาด ถูกทำลาย) นั้นเกิดขึ้น และพอใจที่จะยอมรับผลเช่นนั้น


คราวนี้ต้องมาดูว่า การกระทำดังกล่าวของอาจารย์ ท่านมี "ความชอบธรรม" หรือ "อำนาจกระทำ" แค่ไหนเพียงไรในการกระทำครั้งนี้


ประเด็นนี้นี่แหล่ะครับ ที่ดื้อแพ่ง หรืออารยะขัดขืน ขัดขืนอย่างมีอารยะจะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน


คำถามก็คือ


แนวคิดในเรื่อง "อารยะขัดขืน" หรือ ดื้อแพ่งดังกล่าวข้างต้นนั้น ถือเป็นที่มาของ "อำนาจกระทำ" ของอาจารย์ไชยันต์หรือไม่


ตามปกติที่มาของอำนาจกระทำ หรือ สิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดนั้น มักจะมีที่มาจากตัวบทกฎหมายเอง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความใดๆ


สรุปก็คือ กฎหมายมักรองรับอำนาจกระทำของผู้กระทำไว้ผ่านตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษร


แล้วถามว่ากฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรล่ะ เป็นที่มาของอำนาจกระทำ หรือสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำได้หรือไม่


คำตอบก็คือ


ได้ครับ เพราะข้อเรียกร้องทางกฎหมายอาญาที่ต้องให้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น จำกัดแต่เฉพาะกฎหมายที่จะ "เอาผิด" ผู้กระทำเท่านั้น หาได้เรียกร้องรวมไปถึงกฎหมายที่จะ "ให้อำนาจ" แก่ผู้กระทำด้วยไม่


ดังนั้นบุคคลจึงอาจยกเอา "จารีตประเพณี" หรือแม้แต่ "หลักกฎหมาย" มาเป็นข้ออ้างแห่งอำนาจกระทำของตนเองได้ ซึ่งเท่ากับจะทำให้การกระทำนั้น "ไม่เป็นความผิด" ไปเลย


คำถามสองข้อหลักเกี่ยวกับกรณีที่เรากำลังพิจารณากันอยู่เท่าที่ผมจะคิดออกก็คือ


1. ฐานะทางกฎหมายของหลัก “ดื้อแพ่ง” งานนี้ทีมทนายของอาจารย์ไชยันต์ ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า ดื้อแพ่งนั้นอยู่ในฐานะใดของ “ระบบกฎหมาย” ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาตราใดหรือไม่ หลายคนหยิบยกมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ขึ้นมา ถ้าหยิบยกเอามาตรา 65 มา ก็ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการกระทำของอาจารย์ไชยันต์นั้น ครบตามองค์ประกอบที่ มาตรา 65 เรียกร้อง นั่นก็คือ การกระทำของอาจารย์ต้องทำไปเพื่อ “ต่อต้าน” “การกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”


ข้อนี้ผมเห็นว่างานช้างครับ ง่ายๆคือ อาจารย์ไชยันต์และทีมทนาย ต้องแสดงให้ศาลเห็นด้วยว่า การจัดการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ เป็น “การกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” ปาดเหงื่อกันทีเดียวครับ


แต่ถ้าไม่ยกเอา “กรอบ” ของมาตรา 65 มาต่อสู้ อีกหนทางหนึ่ง อาจารย์และทีมทนายก็ต้องยกเอา “หลักกฎหมาย” ที่ยืนยงอยู่ “หลัง” กรอบ หรือ “ตัวบทลายลักษณ์อักษร” ของมาตรา 65 มาต่อสู้ครับ นั่นก็คือพระเอกของเรา หลัก “ดื้อแพ่ง” หรือ “อารยะขัดขืน” นั่นเอง คราวนี้งานหนักที่ต้องทำก็คือ อาจารย์ต้อง “สกัด” หลักที่อยู่หลังตัวอักษรเหล่านั้น ออกมาให้ศาลเห็น จะทำอย่างไร จะเป็นอย่างไร สุดปัญญาของผมครับ เอาเป็นว่า ผมขอยกตัวอย่างจริงที่มีในประมวลกฎหมายอาญาให้ท่านทั้งหลายพิจารณาประกอบก็แล้วกัน


ในกฎหมายอาญามีบทบัญญัติที่ให้ “อำนาจกระทำ” แก่แพทย์ในการทำแท้งหญิง โดยไม่เป็นความผิดฐานทำแท้ง โดยมีข้อเรียกร้องหลักคือ การทำแท้งของแพทย์นั้น แพทย์ต้องทำไปเพื่อ “รักษาชีวิต” ของแม่ เหตุเพราะการตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงแก่สุขภาพ หรือชีวิตของแม่


แต่หากคดีที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่กรณีที่แพทย์ทำแท้งหญิงล่ะครับ แต่เป็นการที่แพทย์ตัดขาคนไข้เพื่อรักษาชีวิตของเขา เนื่องจากแผลติดเชื้อ หากไม่ตัดขา พิษจะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้คนไข้ถึงแก่ชีวิต หมอตัดสินใจตัดขาคนไข้ไป ถามว่าการกระทำของหมอเป็นการทำร้ายร่างกายหรือไม่ ครบแน่นอนทุกประการครับ


แล้วการกระทำของหมอ หมอมีสิทธิอันชอบธรรม หรือมีอำนาจกระทำหรือไม่ (ขอออกตัวก่อนนะครับงานนี้ผมก้าวพ้นหลัก “ความยินยอมยกเว้นความผิด” หรือ volunti non fit injuria ไปแล้วนะครับ เพราะผมไม่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว เหตุผลเป็นอย่างไรนั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง)


กรณีนี้ไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายอาญารับรองไว้โดยชัดแจ้งเลย แต่หากเราลองค้นลงไปในหลักการเบื้องหลังของ บทบัญญัติที่ให้อำนาจแพทย์ทำแท้งหญิงข้างต้นจะพบว่านั่นเป็นกรณีเดียวกันครับ


นั่นก็คือ “การทำร้ายสิ่งที่ด้อยค่ากว่า เพื่อรักษาสิ่งที่สูงกว่า”


หลักที่ว่าข้างต้น ทางกฎหมายอาญาเรียกว่า หลัก “ความจำเป็นที่กฎหมายยอมรับ” หรือ “ความจำเป็นที่ชอบด้วยกฎหมาย” นั่นเอง


กรณีทำแท้งนั้นน่าสนใจตรงที่ ในเยอรมันก่อนปี ค.ศ. 1927 ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่แพทย์ในการทำแท้งหญิงเพื่อรักษาชีวิตหญิงไว้ เหมือนดังปัจจุบันนี้ และครั้งนั้นได้มีแพทย์ถูกจับกุมเพื่อดำเนินคดีจากการกระทำดังกล่าว น่าสนใจตรงที่ศาลท่านงัดหลัก “ความจำเป็นที่กฎหมายยอมรับ” นี้ออกมา จะเรียกว่า ท่านสร้างหลักกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อยกเว้นความผิด หรือ เพื่อบ่งว่าการกระทำของแพทย์ ไม่เป็นความผิด หรือไม่ใช่อาชญากรรมก็ได้


ลูกในครรภ์มีค่าน้อยกว่าชีวิตแม่ฉันใด ขาหรือเพียงอวัยวะของคนไข้ ย่อมมีค่าน้อยกว่าชีวิตของคนไข้ฉันนั้น และเหนือสิ่งอื่นใด การทำร้าย “หญิง” (คือการทำแท้ง - การทำต่อร่างกายหญิงให้บาดเจ็บ) และการทำร้าย “คนไข้” (การตัดขา) ก็เพื่อ “รักษาไว้ซึ่งชีวิต” ของเขาทั้งคู่นั้นเอง


ถือเป็นความกล้าหาญในการใช้กฎหมายอย่างยิ่งที่ศาลสูงสุดแห่งอาณาจักรไรช์ (Reichsgericht) ที่กล้าในการพิพากษาเอา “หลักกฎหมาย” ที่ไม่ได้มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรใดรองรับไว้ มายกเว้น “ความผิดอาญา”


และหลักกฎหมายดังกล่าวได้รับการพัฒนาต่อในทางทฤษฎีกระทั่งนำไปใช้กับการวินิจฉัยความผิดอื่นอย่างกว้างขวางมิใช่แค่เรื่องทำแท้งเท่านั้น และสุดท้ายหลักความจำเป็นที่ชอบด้วยกฎหมายก็ได้รับการบัญญัติรับรองอย่างชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญาของเยอรมัน เมื่อ ค.ศ. 1975


คราวนี้ก็น่าคิดว่า ศาลไทยเราจะตัดสินอย่างไรครับ ในส่วนตัวผม ผมเห็นว่ามีโอกาสไม่มาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีนะครับ เพราะในอดีตเราเคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1403/2508 ได้นำ “หลักกฎหมาย” มายกเว้นความผิดอาญา ให้เห็นเหมือนกัน และหลักนั้นก็ยืนยงมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็คือ “หลักความยินยอมยกเว้นความผิด หากความยินยอมนั้นได้มาโดยบริสุทธิ์ ได้มาในขณะกระทำผิด และไม่ขัดต่อสำนึกทางศีลธรรมอันดี” (แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับ “เนื้อหา” ของหลักกฎหมายดังกล่าวก็ตาม…แต่ผมจะเห็นด้วยกับหลักดังกล่าวมากน้อยเพียงไรนั้นไม่สำคัญ หรอกครับ…สำคัญแต่เพียงผมเห็นความกล้าหาญของศาลครับ)


แต่ครั้งนั้นผู้พิพากษาที่ตัดสินวางหลักดังกล่าว ชื่อว่า “จิตติ ติงศภัทิย์” ครับ ครั้งนี้ไม่รู้ครับ ตัวใครตัวมัน ฮ่าๆ


2. การกระทำที่เป็นการ “ดื้อแพ่ง” มีน้ำหนักถึงขนาดจะทำให้การกระทำที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดนั้น ไม่เป็น “ความผิด” เลยหรือไม่ ตัวอย่างครับ การฆ่าคนแม้จะผิดกฎหมาย แต่การฆ่าเพื่อรักษาชีวิตของตนเอง กฎหมายถือเป็นการ “ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งย่อมไม่เป็น “ความผิด” แต่อย่างใด เพราะผู้กระทำ (ผู้ที่ฆ่าเพราะป้องกันตัว) นั้นมี “อำนาจ” ที่จะกระทำ


การป้องกันตัว ย่อมมีน้ำหนักที่จะทำให้การ “ฆ่า” ไม่เป็น “ความผิด”


แล้วการ “ดื้อแพ่ง” จะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้การกระทำ “ไม่เป็นความผิด” ด้วยหรือไม่ อันนี้เป็นหน้าที่ของทีมทนายโดยอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ต้องแสดงให้ศาลเห็นเช่นนั้น


แม้จะยากแต่ก็ต้องรอลุ้นกันครับ


ในส่วนตัวผมเองนะครับ ผมว่าคดีนี้น่าจะจบลงด้วยการ “รอลงอาญา” นั่นหมายถึง ผมเห็นว่าในเคสแรกนี้ ศาลท่านคงไม่สามารถที่จะวางหลัก “ดื้อแพ่ง” ตามที่จำเลยต่อสู้มาได้ ผมคิดว่าแนวคิดนี้ต้องพัฒนาต่อไปอีกมากในสังคมไทย แรกเริ่มอาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับนัก แต่หากเราพัฒนาองค์ความรู้ (ซึ่งหน้าที่หลักก็ควรจะเป็นมหาวิทยาลัยโดยคณะนิติศาสตร์ด้วย) อย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าวันหนึ่งกระบวนการยุติธรรมไทยจะยอมรับหลักการดังกล่าว (อย่างมีองค์ประกอบและมีเงื่อนไขที่ชัดเจนตามกฎหมายที่เกิดจากการตกผลึกแล้วทางทฤษฎี) และไปกว่านั้น ผมเชื่อว่าเราจะมีการบัญญัติรองรับหลักกฎหมายดังกล่าวไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” และ “ประมวลกฎหมายอาญา” ของเราทีเดียว

.....................................


แต่ทั้งนี้ไม่รู้ว่าผมจะอยู่เห็นวันนั้นหรือเปล่า


Friday, April 07, 2006

แมวสีอะไรให้จับหนูได้เป็นพอ



วาทะอมตะของ “เติ้ง” ข้างต้น ถูกใช้ อ้างอิง ทำซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน ในหลายกาละและเทศะ ต้องสารภาพตามตรงอย่างไม่อาย (ไม่รู้ว่าทำไมต้องอาย) ว่าผมมาได้ยินประโยคข้างต้นจริงๆเมื่ออ่านหนังสือ “วาทะเติ้ง” เมื่อสักประมาณหกเจ็ดปีที่ผ่านมานี้เอง อ่านแล้วก็อ่านเลย ผ่านตาไปแล้วก็มลายหายไปกับสายลมและกาลเวลา

มาสะดุดตา และหัวอีกครั้งเมื่อได้อ่านหนังสือของคุณประภาส ชลศรานนท์ ผมจำชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว และผมไม่ได้เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ด้วย เพราะขโมยเพื่อนมาอ่าน อ่านเสร็จก็คืน ไม่ได้ติดตามไปซื้อหาไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองแต่อย่างใด

แม้จะคืนเพื่อนไปนานหลายปีแล้ว และแม้รูปร่างหน้าตาของหนังสือดังกล่าวจะเริ่มจางหายไปจากความทรงจำของผมไปมากแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวเกี่ยวกับ “วาทะเติ้ง” ดังกล่าว ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนั้นกลับไม่ได้จางหายตามไปด้วย มันกลับเด่นชัด และตอกย้ำถึงความคิดเกี่ยวกับการ “ให้ความหมาย” หรือจะเรียกตามภาษานักกฎหมายว่าการ “ตีความ” วาทะดังกล่าวอยู่เสมอมา และมาช่วงหลังๆผมได้ยินการกล่าวอ้างถึงวาทะดังกล่าว พร้อมกับการสำทับความหมาย บ่อยครั้งขึ้น รวมถึงวันนี้ (๗ เม.ย. ๔๙) ด้วย

การตอกย้ำถึงความหมายของวาทะดังกล่าวอีกครั้งในวันนี้ทำให้ผมตัดสินใจเขียนบล็อกตอนนี้ขึ้น เพื่อหวังว่าจะเป็นการเก็บบันทึกความทรงจำส่วนตัว ประกอบกับได้ทำการแลกเปลี่ยนความเห็นกับชุมชนบล็อกเกอร์แห่งนี้ และผู้มาเยี่ยมเยือนไม่ว่าจะเปิดเผยนามหรือไม่ก็ตาม (อันเป็นธรรมชาติและธรรมดาของสังคมอินเตอร์เน็ต) เกี่ยวกับความหมายของวาทะเติ้งดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าเมื่อครั้งที่พูด เติ้ง เสี่ยว ผิง จะตั้งใจให้ความหมายไว้อย่างไรก็ตาม

ครั้งแรกที่ผมสัมผัสถึงการแปลความ หรือตีความ หรือการให้ความหมายของวาทะดังกล่าวนั้น ก็เมื่อตอนที่ผมได้อ่านหนังสือของคุณประภาส ข้างต้นนั่นแหล่ะครับ ผมจำได้ว่าในหนังสือเล่มนั้นได้รวบรวมเอาบทสนทนาผ่านจดหมายระหว่างคุณประภาส กับแฟนคลับของเขาไว้ ซึ่งในจดหมายฉบับหนึ่งได้เขียนมาถามทัศนคติของคุณประภาสเกี่ยวกับความหมายของวาทะดังกล่าว

จำได้เลาๆอีกเช่นกันว่าคุณประภาสตอบเจ้าของจดหมายกลับไปประมาณนี้

“ประโยคที่ว่าแมวสีอะไรขอให้จับหนูได้เป็นพอ นั้นหมายถึง การกระทำใดๆที่มุ่งต่อเป้าหมายเป็นสำคัญ โดยไม่จำกัดหรือไม่สนใจวิธีการ” โดยถ้าความจำผมดีพอ ผมจำได้ว่าคุณประภาสได้ยกตัวอย่างเทียบเคียงให้ความหมายวาทะดังกล่าวว่า

“เหมือนคุณอยากเก็บมะม่วง คุณสามารถหาวิธีในการเก็บมะม่วงได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การปีนไปเก็บ การใช้ตระกร้อสอย เอาหินเขวี้ยง หรือแม้แต่เอาระเบิดนิวเคลียร์ยิง ทุกวิธีสามารถทำให้มะม่วงร่วงหล่นจากต้นได้ทั้งหมด” แต่ผมจำไม่ได้ว่าคุณประภาสมีความเห็นในความหมายที่ตัวตีความ รวมทั้งการยกตัวอย่างดังกล่าวต่อไปเป็นประการใดอีก เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใด

ผมจำได้ว่าหลังจากปิดหนังสือเล่มนั้นลง ความคิดผมมันระส่ำ วิ่งไปทางซ้ายที วิ่งกลับมาทางขวาที อาการแบบนี้ผมนิยามว่า “สับสน” ซึ่งผมมักมีอาการแบบนี้ทุกครั้งเมื่อได้เจอ ได้ยิน และได้เห็นอะไรที่มันยังไม่สามารถยัดเข้าหัวได้อย่างสนิทเข้ารูปเข้ารอย ทำนองต้องเขย่าหลังบริโภคเสียก่อน

นอกจากหนังสือดังกล่าว วันนี้ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการในวาระครบรอบ ๘ ปีของศาลรัฐธรรมนูญ เนื้อหาทางวิชาการไม่มีอะไรติดหัวผมออกมาเลยครับ สิ่งเดียวที่ติดออกมาก็คือการกล่าวอ้างถึงและการให้ความหมายของวาทะอมตะดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งในระหว่างการอภิปราย

นอกจากจะเห็นเป็นทำนองเดียวกับความหมายสากลโลกข้างต้นแล้ว ท่านยังก้าวไปไกลกว่านั้นครับ โดยท่านกล่าวว่าในทำนองว่า สีของแมวก็มีนัยต่อวาทะดังกล่าว การใช้แมวสีขาวยังหมายถึง “วิธีการที่ขาวสะอาด” การใช้แมวสีดำหมายถึง “วิธีการที่สกปรก” ด้วยครับ แล้วท่านก็แปลต่อไปว่า ภายใต้หลัก “นิติรัฐ” แล้ว ถ้าจะใช้แมวจับหนูต้องเลือกสีขาวเท่านั้น

เข้าทำนองเดียวกันกับหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า “The end does not justify the mean” หรือ สิ่งที่ได้มานั้นมิได้พิสูจน์ถึงความถูกต้องของวิธีการที่ได้มาด้วย

เช่น การค้นบ้านผู้ต้องสงสัยแล้วเจอยาเสพติด ไม่ได้หมายความว่า การค้นบ้านนั้นถูกต้องตามกฎหมาย (เช่นตำรวจอาจค้นบ้านผู้ต้องสงสัยนั้นโดยไม่มีหมายค้น และไม่มีเหตุแห่งการค้นโดยไม่มีหมายค้นตามที่กฎหมายอนุญาตด้วย)

หลังจากใช้เวลาคิดนานพอสมควร (ตามแรงม้าของสมองที่ค่อนข้างต่ำ) ผมสรุปกับตัวเองว่า ผมไม่เห็นด้วย (ทั้งหมด) กับการให้ความหมายทั้งสองดังกล่าวข้างต้น

ในห้วงคำนึงของผม ผมว่า (ถ้าตรรกะของผมไม่เพี้ยน) มันน่าจะหมายถึง

“ไม่สำคัญว่าท่านจะเป็นใคร (ผิวสีอะไร ลูกเต้าเหล่าใคร ฐานะอย่างไร) ขอเพียงท่านปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นคนให้ถูกต้องได้ก็พอ" แมวจะสีอะไรไม่สำคัญขอให้จับหนูได้ คนจะเป็นใครไม่สำคัญขอให้ทำหน้าที่ของตนได้ แค่นี้ก็น่าจะพอ วาทะอมตะดังกล่าว จึงไม่ได้หมายถึง "วิธีการ" แต่หมายถึง "ตัวผู้กระทำ" มากกว่า

ที่ออกมาข้างต้นนั้น ผมคิดจากพื้นฐานของการเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกัน คือท่านเปรียบเทียบระหว่าง “ความเป็นแมว” กับ “การจับหนู” เมื่อการ “จับหนู” คือ “หน้าที่ของแมว” ผมจึงไม่เห็นว่ามันจะเป็นเรื่องของเป้าหมายกับวิธีการแต่อย่างใด

ถ้าจะให้หมายถึงเป้าหมายและวิธีการ ควรจะเป็นอย่างนี้ เช่น “จะเป็นหมาหรือแมวก็ไม่สำคัญขอให้จับหนูได้เป็นพอ

เพียงเพื่อการจับหนู อาจใช้ “หมา” หรือ “แมว” ก็ย่อมได้ ไม่ได้แตกต่างกัน หรือแม้แต่ใช้คนก็ได้นะครับ เพราะมุ่งเน้นให้ได้หนู ไม่สนวิธีการ ทำนองเดียวกับการสอยมะม่วงตามตัวอย่างของคุณประภาสข้างต้นด้วย

ดังนั้นสำหรับผมในภารกิจของการจับหนู ต่อให้เป็นแมวแต่ไม่สามารถจับหนูได้ มันก็สู้หมา (ที่จับหนูได้) ไม่ได้ครับ ทั้งนี้ไม่ว่าแมวตัวนั้นมันจะชาติตระกูลสูงส่ง ขนสลวยสวยงามเพียงใดก็ตาม

เมื่อมันจับหนูไม่ได้มันก็เป็น “แมวที่ดี” ไม่ได้ครับ

ลองแลกเปลี่ยนกันดูครับ เผื่อจะเป็นการชี้วัดว่าผม “เพี้ยน” ไปเพราะเสพข่าวการเมืองช่วงนี้มากเกินไปหรือเปล่า ฮาๆๆ