Thursday, May 12, 2005

เรื่องยุ่งๆเกี่ยวกับความตาย

ผมขออนุญาตเอางานที่เคยโพสไว้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ มาปัดฝุ่น เอามาให้อ่านกันเล่นๆน่ะครับ

กรุณาอย่าเพิ่งคิดว่า เอ ไอ้นี่มันคิดสั้นแล้วเหรอ หลังจากวันหม่นๆของมัน

มิได้ครับ...ยังไม่มีเมีย ยังไม่ยอมตายหรอกครับ

ความตายแม้เป็นความจริงแห่งชีวิตที่ทุกคนหลีกหนีไม่ได้ แต่ตอนเรามีชีวิตอยู่ เรามักไม่เรียนรู้เกี่ยวกับความตายไว้บ้างเลย บางครั้ง จึงละเลย การเตรียมตัวที่จะตายไป ลืมไปว่า การมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ การเตรียมตัวที่จะตายนั่นเอง

เมื่อก่อนเราถือเอาการตาย แบบ ตายทั้งหมดเป็นเกณฑ์ แบบที่เรียกว่า somatic death คือ หยุดนิ่งทุกระบบ ไร้การเคลื่อนไหว ไม่มีการหายใจ และการเต้นของหัวใจ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดๆ และมีการเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพของร่างกาย เช่น อุณหภูมิลดต่ำ เนื้อตัวแข็ง สุดๆ ก็คือ เริ่มเน่าอืด นั่นตายแน่นอน

แต่ตอนหลังเราค้นพบระบบการทำงานที่ถือได้ว่าเป็นแกนหลักแห่งการ "มีชีวิต" นั่นคือ ระบบการหายใจ การทำงานของก้านสมอง และการเต้นของหัวใจ สามระบบที่ประสานกัน โดยย่อคือ สมองควบคุมการหายใจ แต่ไม่ได้คุมให้หัวใจเต้นหรือไม่เต้น แต่ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจเท่านั้น (หัวใจเป็นอวัยวะอัตโนมัติ เต้นเอง แต่อัตราเต้นขึ้นกับปริมาณ คาร์บอนได้ออกไซด์ในเลือด )

ระบบทั้งสามมีก้านสมองเท่านั้น ที่ถ้าหยุดทำงานแล้ว จะกระตุ้น หรือทำให้ฟื้นคืนได้ยาก แม้แต่ซ่อมแซมก็ยากยิ่งหรือไม่ได้เลย แต่สำหรับ ระบบการหายใจ เราทำให้หยุด ในขณะเดียวกัน เราทำให้ฟื้นคืนได้ ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ และยา มากมาย เช่นเดียวกับการเต้นของหัวใจ (มิฉะนั้นเราไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้ หากเราไม่ตัดหัวใจเดิมออก ซึ่งนั่นก็เท่ากับทำให้ร่างกายไม่มีหัวใจ แต่ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ใช้หัวใจและปอดเทียมไปพลางก่อน)

แสดงให้เห็นได้ว่า ตายถาวร ไม่สามารถฟื้นได้แน่ คือก้านสมอง หรือแกนสมองตาย ส่วนอีกสองระบบ แก้ไข และรักษาได้ครับ

หลังจากนั้นทั่วโลกจึงยึดแนวก้านสมองตาย

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยก้านสมองตาย ดูเหมือนจะผูกพันกับเรื่องปลูกถ่ายอวัยวะอย่างยิ่ง หากผู้ที่อยู่ในภาวะก้านสมองตาย ไม่สามารถเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้แล้ว เช่น ไม่ได้แสดงเจตนาไว้ หรือญาติไม่ยินยอม หรือเป็นโรคที่ไม่สามารถเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องวินิจฉัยแกนสมองตายก็ได้ครับ เพราะว่า ปล่อยไว้ในเครื่องช่วยหายใจ ไม่นานหัวใจ และระบบการหายใจจะหยุดทำงานเองครับ ไม่สามารถยื้อได้

อันนี้ต้องระมัดระวังอย่าเอาไปปะปน สับสนกับ ภาวะผักมนุษย์ หรือที่เราคุ้นชินในกรณี "เจ้าชายนิทรา" อันนั้น แค่เปลือกสมองตาย ก้านสมองไม่ได้ตาย ยังสามารถหายใจได้เอง เพราะก้านสมองที่ควบคุมการหายใจยังไม่ตาย เปลือกสมองเป็นเรื่องของความคิด ความทรงจำ สติปัญญา สัมปชัญญะ ฯลฯ คือ ความเฉลียวฉลาดนั่นเองครับ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม บิ๊กดีทูบี และอโณเชาวน์ ยังอยู่ได้หลายปี หรือเป็นสิบปี แต่ถ้าสมองตาย ไม่กี่ชั่วโมงครับ

พูดถึงเรื่องเจ้าชายนิทรา ทำเอาผมนึกถึงประโยคที่อาจารย์ผมท่านว่าไว้ในห้อง เมื่อประมาณ ห้าหกปีมาแล้ว ภาวะเช่นนี้ ท่านถือว่า "ฟื้นไม่ได้ ตายไม่ลง" ท่านพูดมาประโยค ทำเอาผมเข้าใจผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้จริงๆ ท่านบอกว่า "ลมหายใจแสดงถึงการมีชีวิต แต่ลมหายใจที่มีความคิด แสดงถึงชีวิตที่เป็นมนุษย์"

คนไข้ผักมนุษย์ ยังไม่ถือว่า ก้านสมองตาย ก็ยังไม่ถือว่าตายเมื่อไม่ตาย จะยุติภาวะการมีชีวิต ก็จะกลายเป็นประเด็นเรื่อง euthanasia ครับ ไม่เกี่ยวกับ ภาวะแกนสมองตาย ที่ถือว่าตายแล้ว ไม่จำเป็นต้อง euthanasia

แต่อย่างใดความตายเป็นความจริงแห่งชีวิตหลีกเลี่ยงไม่ได้ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะกำหนดว่า ใครเป็นหรือตายอันนี้ยากมาก ผมมองว่า ในภาวะปัจจุบัน สังคมอาจจะยังสับสน โดยเฉพาะญาติคนไข้ที่อยู่ในภาวะแกนสมองตาย เพราะเห็นได้ชัดว่าหัวใจลูกเขายังเต้นอยู่(แต่เต้น เพราะเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการที่สมองสั่งงาน)ทำใจไม่ได้ หากหมอจะบอกว่าลูกคุณตายแล้ว แล้วเอาอวัยวะออกจากร่างกายผู้ป่วยสมองตายนั้นไปปลูกถ่ายให้ผู้อื่น

ผมมองว่า ภาวะสมองตาย กับการปลูกถ่ายอวัยวะแยกจากกันไม่ออก ตราบใดที่การปลูกถ่ายอวัยวะในบ้านเรายังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการรักษาแบบสามัญ เหมือนการผ่าตัดทั่วไป การบริจาคก็จะยังคงกระปริบกระปรอย โดยเฉพาะแหล่งอวัยวะใหญ่ที่สุดคือ ผู้ป่วยสมองตายนี่แหล่ะครับ ซึ่งก็จะทำให้การยอมรับนิยามการตายแบบใหม่นี้ถูกกระทบไปด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากวิทยาการดังกล่าว เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ผมมองว่า การยอมรับเรื่องสมองตายก็จะมากขึ้นไปด้วยครับ

เหตุที่เราต้องนำอวัยวะออกจากผู้ป่วยสมองตาย ขณะที่หัวใจเค้ายังเต้นอยู่ เพราะเราต้องการรักษาสภาพอวัยวะ อวัยวะภายในแต่ละชนิดมีภาวะการทนทานต่อสภาพนอกร่างกายไม่นานครับ การนำออกมาอยู่ภายนอกร่างกายนานๆ ย่อมกระทบต่อคุณภาพในการปลูกถ่ายและผลสำเร็จด้วยน่ะครับผมว่าศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับรู้ข้อมูล และความก้าวหน้ารวมทั้งความสำเร็จในการผ่าตัด อันเป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ ฯลฯ ที่มักอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แต่หลังการผ่าตัด พวกเขาเหล่านั้น สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีก เป็นสิบๆปี คนไข้เปลี่ยนหัวใจคนแรก ยังมีชีวิตอยู่เลยครับเราตายหนึ่งคน สามารถช่วยชีวิตคนได้มากมาย ผมมองว่า เมื่อไรตาย คงไม่มีความสำคัญกว่า การตายของเราสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มากแค่ไหนความดีไม่สิ้นสุด คือ การบริจาคอวัยวะเมื่อยามสิ้นสูญครับ


ในการประชุมโต๊ะกลม แพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ ที่จุฬา เรื่อง การตายทางการแพทย์กับการตายทางกฎหมาย ครั้งนั้นได้ข้อสรุปข้อสำคัญข้อหนึ่งคือการตาย เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ศาลหรือองค์กรผู้ใช้กฎหมายจะตีความวินิจฉัยได้เมื่อเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ก็ย่อมต้องว่ากันตามพยานหลักฐาน ซึ่งที่สำคัญคือ ความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เพราะงานนี้เป็นความรู้ทางการแพทย์ ไม่ใช่ความรู้ทางนิติศาสตร์เมื่อไรตาย หรือการตาย กฎหมายไม่เคยมีนิยามไว้ในกฎหมายฉบับใดและคงจะไม่เหมาะหากกฎหมายจะนิยามมันไว้ เพราะความหมายแห่งการตาย สมควรจะได้รับการพัฒนาและศึกษาโดยพรมแดนแห่งวิทยาศาสตร์การแพทย์ คงไม่ใช่พรมแดนแห่งนิติศาสตร์น่ะครับ

ใครสนใจอ่านรายงานการประชุมโต๊ะกลมดังกล่าว หาอ่านได้ตามห้องสมุด น่าจะมีทั้งในคณะแพทย์ และคณะนิติศาสตร์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงมีแน่นอนครับ เค้าพิมพ์รวมเป็นเล่มไว้ ดีจังครับ ไม่หายไปตามกาลเวลา

2 Comments:

Anonymous Anonymous said...

การประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์สำคัญครั้งหนึ่งในวงการกฎหมายแพ่งไทย

สมัยผมยังชอบทางแพ่ง (ตอนนี้ก็ยังไม่เลิกชอบ)

ผมสนใจมาก สถานะของศพ และความตาย

ผมนึกอะไรรู้ไหม

บิ๊ก ดีทูบี ที่วัยรุ่นเป็นล้าน ภวณาเยื้อชีวิตเขาไว้

วันนี้เขาเป็นอย่างไรแล้ว
มีใครไปเยี่ยมเขาอยู่หรือไม่...

นอกจากพ่อแม่ของเขาแล้ว
มีใครช่วยพยาบาลเขาหรือเปล่า
เฮียฮ้อที่บอกว่า จะจ่ายค่ารักษาพยาบาล จนกว่าบิ๊กจะหาย

ยังจ่ายอยู่ไหม

ชอบจังเลยประโยคนี้..."ลมหายใจแสดงถึงการมีชีวิต แต่ลมหายใจที่มีความคิด แสดงถึงชีวิตที่เป็นมนุษย์"

11:16 PM

 
Blogger ratioscripta said...

ดีจังครับพี่ ผมเองก็สนใจประเด็นเรื่องสถานะกฎหมายของศพ และอวัยวะ รวมไปถึงผลิตผลจากร่างกายมนุษย์ด้วยน่ะครับ

เคยเขียนประเด็นพวกนี้ลงไปในวิทยานิพนธ์

แต่...

โดนตัดทิ้งไปแล้วเรียบร้อยครับ โทษฐาน "ไม่ใหม่" แม้จะคิดต่าง เสนอต่าง และสรุปต่าง ก็ไม่ใหม่อยู่ดี

ไม่เป็นไรครับ

มาว่ากันในบล็อกดีกว่าเนอะ

8:37 AM

 

Post a Comment

<< Home