Tuesday, January 31, 2006

เรื่องแจ้งให้ทราบ (เอามั่ง)

เห็นเพื่อนรักมักอัพบล็อกด้วยหัวเรื่องเหมือนหนังสือราชการ "วาระแจ้งเพื่อทราบ" เลยขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันบ้าง

โดยเรื่องที่จะแจ้งให้แซ่บกันนั้น มีอยู่ด้วยกันสองเรื่องคือ

๑. "ฉันเป็นดั่งบูมเมอแรง ขว้างไปยิ่งแรงยิ่งกลับมาเร็ว (ขว้างไปยิ่งกลับมาเร็ว)" ... "กลับมายืนที่เดิม ที่ที่เคยคุ้นตา" การกลับมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของ "คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา" อย่างเต็มตัวอีกครั้ง หลังจากที่ถูกศาลรัด-ทำ-นูน วินิจฉัยว่าการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งคราวที่ได้คุณหญิงฯ มานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย (รายละเอียดผมได้เขียนไว้แล้วทั้งในบล็อกแห่งนี้ และในโอเพ่นอออนไลน์ แต่แนะนำให้อ่านในโอเพ่นดีกว่าครับ เพราะเป็นการปรับปรุงใหม่ให้อ่านง่ายกว่าเดิม)

การกลับมาครั้งนี้ ไว้มีเวลาจะเขียนเล่ารายละเอียดให้ฟังกันนะครับ รอเรื่องนิ่งๆก่อน แต่อาจสรุปได้ว่า

ตอนเอาออกสรรหาเหตุผลทางข้อกฎหมายสารพัด เพื่อสร้างความชอบธรรมในการตกเก้าอี้ ฉะนั้นการเอากลับเข้ามาจึงเป็นเรื่องที่ต้อง "ข้าม" กฎหมาย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำกล่าวที่ว่า "ใช้หลักรัฐศาสตร์ นำหลักนิติศาสตร์" เห็นจะจริงก็หนนี้

๒. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดรับสมัครบุคคลภายนอกเพื่อสอบแข่งขันเป็นข้าราชการ ในวุฒิต่างๆ ได้แก่ บัญชี เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย (นิติศาสตร์นั่นแหล่ะ เพราะเคยมีรุ่นน้องผมถามว่า "ผมจบนิติศาสตร์มาสอบได้มั๊ยพี่ เห็นในใบรับสมัครมีแต่ "วุฒิกฎหมาย"...หึ หึ หึ ... แต่ก็มีประเด็นนะครับ ที่เค้าเขียนว่า "วุฒิกฎหมาย" นั้น อาจเพราะต้องการเปิดกว้างให้แก่ผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้ตั้ง "คณะนิติศาสตร์" แต่เรียนอยู่ในภาควิชานิติศาสตร์ที่สิงอยู่ในคณะอื่นๆ เช่น รัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ เช่น มช. อะไรอย่างนี้ อันนั้นก็สอบได้นะครับ เพราะรุ่นน้องที่ทำงานด้วยกัน ก็จบจาก มช. ) และวิศวกรรม (โยธา...เท่านั้น) โดยเปิดขายใบสมัครและรับสมัคร (ต้องมาด้วยตนเอง) ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซอยอารีย์สัมพันธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐ โทร. ๐๒๒๗๓๙๖๗๔ - ๙๑ (มาไม่ถูกโพสถามได้ครับ) คร่าวๆ มาง่ายที่สุดคือ ใช้บริการบีทีเอสครับ มาลงที่สถานีอารีย์ ลงแล้วเดินมาที่ซอยอารีย์ เรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือสามล้อ บอกว่า "ไปสตง.เพ่"

ทั้งนี้ตั้งแต่วันนี้ (๑ กุมภาพันธ์ ) จนถึง วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ครับ โดยเปิดรับสมัครทั้งวัน ในเวลาราชการแต่กรุณาหลีกเลี่ยงยามพระอาทิตย์ตรงหัวเพราะเจ้าหน้าที่จะรับประทานอาหารกลางวันกัน

ส่วนรายละเอียดว่าต้องใช้อะไรบ้าง เสียตังค์มั๊ย การสอบเป็นไง

ตามอ่านได้ที่เว็บไซต์ของ สตง. ครับ www.oag.go.th ครับ

ป่าช้าแห่งความงาม



“มณเฑียรทเกือกแก้ว แถวทงัน
งามเงื้อนแมนมาสวรรค์ แต่งตั้ง
วิหารสมเด็จอิน โอภาษ
ทุกชั่วชนยลยั้ง อยู่เพี้ยงพิศวง
สรรญเพชญ์ปราสาทต้าน หวงหน
ชวยโชติบร้ายอำพล เพริศแพร้ว
มกุฎพิมานมน หิรเทพ เทียมฤา
โรงเรียนโรงคชแล้ว ถี่ถ้วนงามสม”





“เมื่อถึงเขตพระราชวัง แลเห็นปราสาทราชมณเฑียรล้วนปิดทองอร่าม...เจ้าพนักงานจึงนำทูตานุทูตเข้าไปในพระราชวังผ่านประตู ๒ ชั้น ที่ประตูประดับประดาด้วยสีทองและสีอื่นๆ เมื่อล่วงประตูชั้นที่สองเข้าไปก็ถึงพระที่นั่ง (สรรเพชญ์ปราสาท) สองข้างมุขเด็จพระที่นั่ง มีรูปภาพต่างๆ ตั้งไว้คือ รูปหมี รูปราชสีห์ รูปรากษส รูปโทวาริก รูปนาค รูปพิราวะยักษ์ รูปเหล่านี้ล้วนปิดทองตั้งอย่างละคู่ ตรงหมู่รูปขึ้นไปเป็น (มุขเด็จ) ราชบัลลังก์ สูงประมาณ ๑๐ คืบ ตั้งเครื่องสูงรอบ (มุขเด็จ) ราชบัลลังก์นั้นผูกม่านปักทองงามน่าพิศวง ฝาผนังพระที่นั่งก็ปิดทอง บนราชบัลลังก์ตั้งบุษบกที่ประทับ เสด็จออกที่บุษบกนั้น พวกทูตานุทูตที่เข้าเฝ้า ราชทูตถวายพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการเสร็จแล้ว พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงพระกรุณาพระราชทานอนุญาตให้พวกทูตานุทูตไปเที่ยวดูสถานที่ต่างๆในพระราชวังต่อไป”





“ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร ทุกถิ่นฐานบริบูรณหนักหนา
อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา เช้าค่ำอัตราทั้งราตรี
ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน เชยชื่นเป็นสุขเกษมศรี
................................. ......................................
แสนเสียดายภูมิพื้นกรุงศรี บริเวณอื้ออลด้วยชลธี
ประดุจเกาะอสุรีลงกา ....................................
................................ ......................................
คิดมาก็เป็นที่อนิจจัง ด้วยกรุงเป็นที่ตั้งพระศาสนา
ทั้งอารามเจดีย์ที่บูชา ปฏิมาฉลององค์พระทรงญาณ
ก็ทลายยับยุ่ยเป็นผุยผง เหมือนพระองค์เสด็จดับสังขาร
ยังไม่สิ้นศาสนามาร ทั้งเจดีย์วิหารก็สูญไป
เสียดายพระนิเวศน์บุรีวัง พระที่นั่งทั้งสามงามไสว
ตั้งเรียบระเบียงชั้นเป็นหลั่นไป อำไพวิจิตรรจนา
มุขโถงมุขเด็จมุขกระสัน เป็นเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา
เพดานในไว้ดวงดารา ผนังฝาดาดแก้วดังวิมาน
ที่ตั้งบัลลังก์แก้วทุกองค์ ทวารลงอัฒจันทร์หน้าฉาน
ปราบพื้นรื่นราบดังพระลาน มีโรงคชาธารตระการตา
ทีมดาบคดลดพื้นกำแพงแก้ว เป็นถ่องแถวยืดยาวกันหนักหนา
เป็นที่แขกเฝ้าเข้าวันทา ดังเทวานฤมิตประดิษฐ์ไว้
สืบราชวงศ์กษัตริย์มาช้านาน แต่บุราณแล้วไม่นับพระองค์ได้
พระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่ข้างใน มีสระชลาลัยชลธี
ชื่อที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ ที่ประพาสมัจฉาในพระศรี
ทางเสด็จเสร็จสิ้นสารพันมี เป็นที่กษัตริย์สืบมา
ก็สูญสิ้นศรีมลายหายหมด จะปรากฏสักสิ่งไม่มีว่า
อันถนนหนทางมรรคา คิดมาก็เสียดายทุกสิ่งอัน
ร้านเรียงเป็นระเบียบด้วยรุกขา ขายของนานาทุกสิ่งสรรค์
ทั้งพิธีปีเดือนทุกคืนวัน สารพันจะมีอยู่อัตรา
ฤดูใดก็ได้เล่นเกษมสุข แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา
ตั้งแต่นี้แลหนาอกอา อยุธยาจะสาบสูญไป
จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส
นับวันแต่จะยับนับไป ที่ไหนจะคืนคงมา”





“...เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปรุษย์จะแพ้แก่ทรชน มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า เพราะจันทานมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์ เพราะสมัคสมาคมด้วยมายา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลื่องฦชา พระธรรมาจะตกฦกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์ สัปรุษย์จะอับซึ่งน้ำใจ...”





“ปิ่นณรงค์ทรงขับช้าง ทอดพระเนตรเวียงร้าง
อีกทั้งวังโรย

ณ ซากตึกนึกน่าแค้น อิฐหักตากปูนแม้น
ป่าช้าแห่งความ งามแฮฯ

ปราสาทเคยผงาดฟ้า ยอดเยี่ยมเอี่ยมโอ่อ้า
ฟุบเฟี้ยมเทียมธุลีฯ

พระสถูปพุทธรูปล้วน หล่นสลายปลายด้วน
แม่นแม้นมารทำฯ

Saturday, January 28, 2006

มกราคม เดือนที่ "หมูคลุกฝุ่น"


หากใครได้ลองมาเดินแหล่งช้อปปิ้งบริเวณตลาดนัดที่ตั้งตัวเองอยู่หลังกระทรวงการคลัง ก็จะพบกับบรรดาแหล่งละลายทรัพย์มากมาย อันปรากฏกายในรูปแบบที่หลากหลายทั้งแบบแผงลอย (ผมเห็นภาพจริงๆว่าทำไมเค้าถึงเรียกว่า “แผงลอย” ก็อีตอนที่เทศกิจวิ่งไล่จับพ่อค้าแม่หาบทั้งหลายน่ะสิครับ ละลิ่วล่องลมกันเลยทีเดียว)ขายตั้งแต่ขนมขบเคี้ยว (โดยเฉพาะ “ปั้นสิบ” หลังกระทรวง “ของเค้าดีจริงๆค่ะ” ฮาๆๆ) เสื้อผ้า เทป ซีดี เครื่องใช้ไฟฟ้า กระทั่งเครื่องเพชร รวมทั้งร้านอาหารประเภทกางเต็นท์ขายก็มากมาย ทั้งก๋วยเตี๋ยวเรือน้าชู ที่ถูกบันทึกให้เป็นก๋วยเตี๋ยวเรือที่โอชารสที่สุดหนึ่งในห้าอันดับของกรุงเทพเมืองฟ้าอมร ไล่มาจนถึงก๋วยเตี๋ยวไก่และหมูตุ๋นมะระเจ้าประจำที่ผมและเพื่อนๆมาฝากท้องอยู่เสมอยามมาเยี่ยมเยือนหลังกระทรวง (เพราะถ้าวันไหนกินข้าวบริเวณหน้ากระทรวงก็หนีไม่พ้นต้องอุดหนุน “ป้าฟาสต์ฟู้ด” ของผมน่ะแหล่ะครับ เดี๋ยวแกโกรธเอา)

ประเภทเป็นร้านห้องแอร์ก็มีนะครับ แต่ไม่ค่อยได้กินเงินพวกผมเท่าไหร่ ยกเว้นวันไหนครึ้มอกครึ้มใจ และมักจะต้องเป็นวันที่อากาศร้อนเป็นพิเศษ และเหนือสิ่งอื่นใด

ต้องเป็นช่วงต้นเดือนด้วยครับ

บรรดาร้านประเภทนี้ มีอยู่ร้านนึงที่ผมและพรรคพวกเข้าไปใช้บริการบ่อยที่สุดกว่าเจ้าอื่น อันมีนามกรต้องกับวงดนตรีวงหนึ่งที่ชื่อว่า “มิสเตอร์ทีม” พิกัดของร้านก็ตั้งอยู่ติดเซเว่นฯ หลังกระทรวง (เอ ร้านประจำของผมทุกร้านจะต้องมีเวรมีกรรมกับเซเว่นฯ ทุกทีไปหรืออย่างไรกันนี่) การตกแต่งร้านก็สไตล์คันทรี มีของกระจุกกระจิกเก่าๆ คลาสสิกๆ น่ารักๆจัดวางอยู่ตามมุมต่างๆของร้าน พอให้สอดส่ายสายตาเพลินๆ ระหว่างรออาหารตามเมนูที่สั่งไป

รสชาติของอาหารก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว และเมนูที่พวกผมมักจะสั่งเป็นประจำที่ไปนั่งร้านนี้ก็คือ “หมูคลุกฝุ่น” มันคือ หมูชิ้นผัดกับพริกไทยดำนี่แหล่ะครับ แต่รู้สึกว่าจะใส่แป้งมันตีเข้าไปหน่อยมันเลยเยิ้มๆ น่ากินดี

แล้วบล็อกตอนนี้ของผมเกี่ยวอย่างไรกับเมนูข้างต้น จึงต้องตั้งชื่อบล็อกตอนนี้ว่า “หมูคลุกฝุ่น”

คำตอบคือมันไม่เกี่ยวอะไรกันเลยครับ

ก็แค่เห็นว่าชื่อเมนูมันคล้องจองกับสภาวะชีวิตของผมตอนนี้พอดี เลยหยิบยืมมาตั้งเป็นชื่อบล็อกตอนนี้ก็แค่นั้น ประมาณว่าอ่านแล้วมันเห็นภาพ ได้ยินแล้วมันนึกถึง
เดือนมกราคมที่กำลังจะผ่านไปนี้ ถือได้ว่าเป็นเดือนที่ผมอยู่ในสภาพ “คลุกฝุ่น” อีกครั้ง หลังจากที่เคยอยู่ในสภาพนี้มาแล้วช่วงผจญวิบากกรรมกับวิทยานิพนธ์ไปเมื่อกลางปีกลาย

เป็นวิบากกรรมที่ผมเป็นผู้ก่อขึ้นมาเอง ด้วยความขี้เกียจและไม่รับผิดชอบในหน้าที่การงานทั้งสองครั้งสองครา

ตามเซนเด้น (สันดาน) ของผม ผมเป็นพวก “วินาทีสุดท้าย” อย่าให้รู้ว่ามีเวลาเหลือเชียวนะครับ แม้หน่วยเป็นนาทีผมก็ยังนิ่งนอนใจอยู่ กระทั่งรู้ตัวว่ามันไม่ทันแน่ๆแล้ว นั่นแหล่ะจึงจะขยับกายมาปั่นงาน พร้อมกับบ่น ไม่ทันแล้วโว๊ย ๆ ไม่มีเวลาแล้วโว๊ยๆ เหนื่อยจังโว๊ยๆ… ทุเรศตัวเองชะมด

เดือนนี้ถือได้ว่า ผมเสวยวิบากจากการก่อกรรมคือกระทำกิริยา “สันหลังยาว”
(จริงๆอาจจะเป็นเพราะความฝังใจวัยเด็กที่ผมเป็นคนรูปร่างเล็ก มีความสูงค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย เมื่อได้ยินประโยคที่ว่า “ขี้เกียจสันหลังยาว” จึงพยายามจะทำตัวให้ขี้เกียจน่ะครับ เผื่อจะเพิ่มส่วนสูงได้บ้าง…ขุ่นขลั่ก)

วิบากกรรมแรกที่ผมต้องเผชิญ ไม่ใช่อื่นใด ก็โครงการกฎหมายตราสามดวงของผมนี่แหล่ะครับ โดยผมมีคิวที่ต้องส่งงานวิจัยที่ผมได้รับมาทั้งสิ้นสองชิ้น และได้ขึ้นเวทีรายงานผลการวิจัย เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคมที่ผ่านมา

ไม่ใช่ว่าหัวหน้าโครงการฯ จะโหดร้ายกับผมเลยนะครับ ที่ให้ผมทำงานรวดเดียวถึงสองชิ้น ก็ไอ้หนึ่งในสองนั้นผมได้รับมอบหมายมากว่าปีเข้าให้แล้ว! แต่ก็ยังนิ่งสนิทอยู่บนกองเอกสารบนโต๊ะทำงานผม ซึ่งเป็นหลักปักแน่น เขยื้อนได้ยากยิ่งกว่าเขาพระสุเมรุหลักแห่งโลกย์เสียอีก ส่วนอีกชิ้นมันก็มาตามวงรอบของมันล่ะครับ

ผมรู้ตัวล่วงหน้าว่าจะต้องขึ้นเวทีรายงานผลการวิจัยสักประมาณ ๓ เดือน ซึ่งระยะเวลาเพียงเท่านั้น ก็ถือว่าน้อยมากแล้วนะครับ สำหรับการทำงานหนึ่งชิ้น (ซึ่งควรจะมีเวลาสัก ๕ เดือนขึ้นไป) ฉะนั้นสำหรับงานสองชิ้น ก็น่าอยู่ราวเกือบๆปี

แต่พี่น้องครับ ไอ้ตัวขี้เกียจอย่างผม มาปั่นเอาอาทิตย์เดียวครับ

คำว่า “ลวก” ยังน้อยเกินไป

คำว่า “เผา” ยังห่างไกล

ไฟมันไม่ได้ลนทวารหนักผมหรอกครับ

มันสุมยัดเข้าไปเลยต่างหาก

ความเร่งรีบดังกล่าว ทำให้ผมต้องตัดบางส่วนที่ตั้งใจจะเขียน ตั้งใจจะหาข้อมูลในงานวิจัยทั้งสองชิ้นไปบ้างพอสมควร แถมยังต่อรองตัดเนื้อหาส่วนที่สามซึ่งเป็นการอธิบายศัพท์แสงในเอกสารวัตถุแห่งการวิจัยไปเสียอีก โดยสัญญาว่าจะจัดส่งให้ในภายหลัง
ความเร่งรีบดังกล่าวทำให้ผมต้องป่วย (การเมือง) หยุดงานที่ทำงานกว่าสี่วัน ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นการทำให้งานประจำของผมรวนเรไปอีก ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดวิบากลูกที่สองที่จะวิ่งมาชนผมในกาลภายหน้าอีกด้วย

ในช่วงนั้นผมมองไม่เห็นทางจริงๆที่จะทำงานสองชิ้นนี้ให้เสร็จ เสร็จแบบที่เอาไปรายงานให้ชาวบ้านเขาฟังแล้วไม่โดนโห่ไล่ลงจากเวทีน่ะครับ จะทำอย่างไรดี มืดสิบหกด้าน

แต่ไม่เสร็จมันก็ไม่ได้ คิดได้อย่างนั้นก็ก้มหน้าก้มตาเผชิญวิบากกันไป

ผมมีเวลานอนเฉลี่ยในช่วงคลุกฝุ่นลูกแรกนี้ ประมาณ ๒ ถึง ๓ ชั่วโมงต่อวัน หนึ่งในจำนวนวันหฤโหดดังกล่าว ผมจำได้ว่า ได้งีบตอน ๐๗.๐๐ น. เพราะร่างกายกำลังประท้วงและพังประตูทำเนียบเข้ามาแล้ว และต้องสะดุ้งตื่นด้วยความหวาดกลัวมาทำงานต่อตอน ๐๘.๓๐น.

ยอมรับว่าช่วงนั้นเครียดประหนึ่งต้องส่งวิทยานิพนธ์อีกเล่มจริงๆ

มันเป็นการสมควรและน่าสมน้ำหน้าแท้ๆครับ เพราะงานที่ควรเขียน ๑ ปี ผมมาย่นย่อเขียนเอา ๗ วัน เขียนวันละ ๒๔ ชั่วโมงไม่หยุดเลย ยังถือเป็นการชดใช้ที่ห่างไกลกับสิ่งที่สมควรจะทำตั้งแต่ต้นอยู่อีกโข แค่นี้ก็ถือว่าผมโชคดีมหาศาลแล้วครับ

และแล้วมันก็ผ่านไป ผมลงจากเวทีรายงานผลการวิจัยในวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคมที่ผ่านมา ด้วยอาการที่ปลอดโปร่ง โล่งเหมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย เหมือนยกภูเขาออกจากอกสามร้อยลูกพร้อมกัน การไปอยุธยาเที่ยวนี้ของผม จึงเป็นเหตุการณ์ที่ดีและน่าจดจำอีกช่วงหนึ่งในชีวิตของผม ตรงข้ามกับภาพ “ขุมนรกอเวจีทั้ง ๘ ขุม” รวมกัน ที่คาดเอาไว้ในวันก่อนออกเดินทาง

(ไว้จะนำภาพสองข้างทางริมฝั่งแม่น้ำป่าสักมาให้ชมกันนะครับ ไม่อยากจะนึกภาพสักสามสี่ร้อยปีก่อนเลยว่าอยุธยากรุงเก่าของเราจะมีหน้าตาอย่างไร เมื่อมีสถูปเจดีย์ วัดเป็นร้อยๆวัด เจดีย์ สถูปทองสถิตอยู่ทั่วปริมณฑล อร่ามเรื่องรองทั้งยามต้องแสงแดด และแสงจันทร์ ระยิบระยับแวววาว ด้วยเกล็ดกระเบื้องสีสวย เพชรนิลจินดา “เมืองทอง” แท้ๆ สังเกตได้จากสภาพโบราณสถานนั้นได้ผุดผาดขึ้นอยู่ท่ามกลางความเจริญของเมืองในยุคปัจจุบัน เรียกได้ว่ามีอยู่ทุกตารางนิ้ว อยู่ที่ว่าจะขุดเจอกันเมื่อไหร่)

เสร็จงานเขยื้อนภูผาหินลูกแรกไปแล้ว ลูกต่อมาก็ตระหง่านให้ผมทั้งผลักทั้งดัน ทั้งดุน ทำทุกวิถีทางอีกอย่างต่อเนื่อง

งานนี้งานประจำครับ โดยผมและทีมร่วมกันรับผิดชอบดูแลแก้ไข และยกร่าง “ข้อบังคับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการสืบสวนสอบสวน” ฉบับใหม่ แทนที่ฉบับเก่าที่ประกาศใช้เมื่อปี ๔๕ เพื่อให้มันเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถ้าข้อบังคับชิ้นนี้เปรียบได้ดั่งหญิงสาว ผมคงได้ลูกแฝดสามแล้วล่ะครับ ก็ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาผมกินนอนอยู่กับเธอมาตลอด ประชุมกันอย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์ แก้กลับไปกลับมา เพิ่มตรงนั้น ตัดตรงนี้ วุ่นวายแท้ๆ ตามประสาบรรยายกาศของการร่างกฎหมาย ถ้อยคำเพียงคำเดียว ก็ให้เราถกเถียงกันได้เป็นวันๆ

งานตรวจสอบสืบสวนถือได้ว่าเป็นภารกิจหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานตรวจเงินแผ่นดินเลยนะครับ แต่ตรงกันข้ามกลับไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเท่าไหร่ อาจเพราะแต่เดิมองค์กรตรวจเงินแผ่นดินนี้เน้นหนักไปที่ภารกิจในการตรวจงบดุลและบัญชี อาจเรียกได้ว่าองค์กรนี้แต่เดิมเป็นองค์กรของบรรดา “นักบัญชี” ซึ่งมีเครื่องมือในการตรวจอย่าง “นักบัญชี”

แม้กระทั่งงานตรวจสอบสืบสวน ที่มีแหล่งที่มาจากบรรดาเรื่องร้องเรียนนต่างๆ ต้องใช้เทคนิคในการเข้าถึงพยานหลักฐาน การสอบถ้อยคำผู้ที่เกี่ยวข้อง การลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล การเขียนรายงานสำนวน ซึ่งเหล่านี้มันเป็นเทคนิคของ “นักกฎหมาย” หรือ อย่างน้อยก็ต้อง “มีความรู้ทางกฎหมาย” อยู่บ้างพอสมควร

แถมยังเหนื่อยและเสี่ยงต่ออันตรายเพราะร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าๆๆๆๆๆๆๆๆๆ มันคือการร้องเรียนว่าทุจริต ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งบางครั้งก็เกี่ยวพันกับ “อิทธิพล” ท้องถิ่น และอาจระดับชาติด้วย

ในขณะที่เงินเดือนหรือค่าตอบแทนนั้น

ก็เท่ากับเจ้าหน้าที่ที่นั่งทำงานตรวจเอกสารเป็นหลักนั่นล่ะครับ

ไม่แปลกที่งานตรวจสอบสืบสวนจะมี “คนวัน” สำหรับทำงานน้อยมาก แถมยังมีแต่คนอยากวิ่งหนีเสียอีก สวนกับกระแสของการร้องเรียนมายังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้นๆ และเนื้อหาที่ร้องเรียนนั้น “ใหญ่” ขึ้นๆ

นี่จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินครับ โดยไม่นานนี้จะมีการ “ปรับโครงสร้าง” แบบพลิกโฉมหน้า ทั้งตัวองค์กรภายใน ในส่วนของสำนักงานย่อยทั้งหลายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งการขยายอัตรากำลังพล ทั้งข้าราชการและลูกจ้าง

และรวมถึง “ข้อบังคับฯ” นี้ที่สำนักงานกฎหมายของผมรับผิดชอบอยู่ด้วย

โดยหลังจากตรากตรำกับมัน จนออกมาเป็น “ร่าง” แล้ว เพื่อความรอบคอบ เราจำเป็นต้องส่งร่างข้อบังคับที่เราร่างขึ้นไปให้บรรดาพี่ๆเพื่อนๆที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริง ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นด้วย (ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการเวียนหนังสือให้แต่ละสำนักที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสืบสวนส่งตัวอย่างปัญหาจากการบังคับใช้ข้อบังคับเก่ามาแล้วหนึ่งครั้งเพื่อประกอบการยกร่างฯ)

โดยการจัดสัมมนาใหญ่ ที่ส่วนกลาง โดยรวมเอาข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในกลุ่มงานตรวจสอบสืบสวนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกว่าสามร้อยคน มาร่วมประชุมกันในวันที่ ๒๖ มกราคมที่ผ่านมา โดยผมมีส่วนต้องขึ้นนำเสนอร่างข้อบังคับด้วย

คิดดูครับ ต่อหน้าข้าราชการระดับ ๖ ถึง ๘ ที่ทำงานมาไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี เขี้ยวลากดิน ประสบการณ์ชั่วโมงบินสูง

แล้วผมใครครับ นิติกรที่เพิ่งได้ระดับ ๔ มาไม่ถึง ๔๘ ชั่วโมง ประสบการณ์ทำงานสั้นจู๋ แค่ ๒ ปีกับอีก ๒ เดือน และ ๒ วัน (ณ เวลานั้น) และที่สำคัญ

ไม่เคยออกตรวจ ลงพื้นที่เลยสักครั้งเดียว!

แต่ด้วยการประสบการณ์ของเจ้านายผม ที่ทำการบ้านสำรวจปัญหาที่ส่งกลับมาแต่เนิ่นๆ ก็ทำให้การสัมมนาในวันนั้นผ่านพ้นไปด้วยดี ด้วยบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่การมานั่งจับผิด และตั้งกำแพงกรอบความคิดว่า “คนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง” ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับ “นักวิชาการบนหอคอยงาช้าง” นั่นแหล่ะครับ

เมื่อปรับทัศนคติเข้าหากันได้ ทุกอย่างก็ง่ายและดูสร้างสรรค์

เรามาช่วยกันเติมเต็ม เพื่อประโยชน์ในงานตรวจสอบ ไม่ใช่การเสนอผลงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ที่ต้องมานั่งป้องกันงานของตัวเอง บางอย่างเราก็เขียนร่างไว้เพื่อขุดบ่อล่อปลา เปิดประเด็นให้ถกเถียง ก็รู้อยู่ว่าโดนแน่ แต่ก็ต้องเขียนทิ้งไว้ บางอย่างก็ต้องยัดเปลี่ยนหลักการแบบ ๑๘๐ องศา บางครั้งจำเป็นต้องเขียนเกินเพื่อให้ตัด ตั้งราคาเพื่อให้ต่อ เพราะนี่คือข้อบังคับ ไม่ใช่คู่มือปฏิบัติ ข้อบังคับมีส่วนของหลักการที่ต้องดำรงไว้ ไม่ใช่เพื่อความสะดวกเอาแต่ได้ของผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน ข้อบังคับก็ไม่ใช่หลักการที่สถิตบนหอคอยงาช้าง สวยหรู แต่ใช้บังคับไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ อ่านไม่รู้เรื่อง

สมดุลระหว่างหลักการที่ถูกต้อง ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และความสบายใจของผู้ปฏิบัติงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องค้นหา และปรับให้ได้ดุลกันให้ได้

ในระหว่างพายุทะเลฝุ่นสองลูกที่กำลังโรมรันพันตูอยู่นี้ ก็ปรากฏมีพายุฝุ่นลูกย่อมๆบ้าง เล็กๆบ้าง แทรกแซมเข้ามาสู่สมรภูมิอยู่ตลอดเวลา บรรดาเจ้าหนี้บทความทั้งหลายยืนกอดอก ถือเคียว ถือขอ รอบังคับหนี้กันสลอน หนึ่งในนั้นก็ไม่ใช่ใคร คนกันเอง เฮียป.ป. ณ โอเพ่นนี่แหล่ะครับ

เดือนมกราคมกำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว

พร้อมๆกับฝุ่นที่เริ่มจางหาย

บาดแผล จากพายุฝุ่นยังปรากฏริ้วรอยตามเนื้อตัวอยู่อย่างเด่นชัด และคอยย้ำเตือนให้เห็นถึงผลของการเสวยวิบาก อันเกิดจากความเกียจคร้านของตัวเอง

หนี้เก่า กรรมเก่ากำลังจะหมดไป หนี้ใหม่ กรรมใหม่ ก็กำลังจะผ่านเข้ามา ข้อดีของการหมดหนี้เก่าคือ ไม่ต้องพะวงหลัง สามารถเพ่งสมาธิอยู่กับหนี้ใหม่ภายหน้า แต่หากเผลอไผล ไม่ระวังตัว ปล่อยให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำอีกครั้ง จากหนี้ใหม่ก็จะกลายสภาพเป็นหนี้เก่า และวิ่งไล่หลังเราให้ต้องพะวงหลัง ทั้งยังต้องห่วงหน้า
ภาวะเช่นนี้ไม่เป็นที่ปรารถนาแก่ผมเลยครับ

อยากบอกว่าเข็ดแล้วครับ (ผมพูดงี้มาตั้งแต่ผมจำได้แล้วนะ แต่ก็ไม่เคยทำได้สักที)
ยุทธภูมิพายุทะเลฝุ่นครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนสอนให้ผมรู้ว่า

“ไม่ลงมือทำ ไม่มีวันเสร็จ”

โปรดอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างเชียวครับ

ด้วยความปรารถนาดี

Saturday, January 14, 2006

นิติศาสตร์ในฝัน (ของผม) ตอนที่ 2


นอกจากปัญหาการลักลั่น เกยทับ ผิดหลงในบทบาทของ “วิชาชีพ” และ “วิชาการ” ข้างต้นแล้ว

คำถามอีกคำถามหนึ่งที่มักจะถูกตั้งโดยนักศึกษากฎหมายว่า ทำไมคณะนิติศาสตร์จึงไม่เปิดให้นักเรียนกฎหมาย ได้ศึกษากฎหมายอย่างเป็นการ “เฉพาะทาง” เหมือนกับสาขาอื่นๆ ทำไมถึงบังคับให้เขาต้องเรียนวิชาที่เขาไม่อยากเรียน ไม่สนใจ ไม่คิดจะใช้ในการประกอบวิชาชีพในอนาคต

เขาอยากเป็นนักกฎหมายธุรกิจ ทำไมจึงต้องมานั่งเรียนกฎหมายปกครอง หรือกฎหมายอาญา

เขาอยากเป็นนักกฎหมายปกครอง ทำไมถึงต้องบังคับให้เขาเรียนกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือแม้แต่กฎหมายระหว่างประเทศ

เขาอยากเป็นนักกฎหมายอาญาทำไมถึงต้องบังคับให้เขาเรียนกฎหมายระหว่างประเทศ

เขาอยากเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศทำไมถึงต้องบังคับให้เขาเรียนกฎหมายอาญา


ทำไมคณะถึงไม่ใส่ใจที่จะสร้างผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางขึ้นมาให้เขาเชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ

ทำไมคณะถึงไม่จัดวิชาเอก ให้บรรดานักศึกษากฎหมายได้เลือกเรียนในสิ่งที่เขาคิดว่าเขาสนใจ คะแนนจะได้ออกมาดี มีฉันทะในการศึกษา

ผมมองว่า การที่เรากำลังศึกษา แปลความ หรือทำความเข้าใจกฎหมาย แม้กระทั่งมาตราเดียว นั่นหมายถึงเรากำลังเรียนรู้กฎหมาย “ทั้งระบบ”

การที่เรากำลังใช้กฎหมายแม้มาตราเดียว นั่นย่อมหมายถึงเรากำลังใช้กฎหมาย “ทั้งระบบ” (ทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน “ระบบกฎหมาย” ในที่นี้ของผม หมายความเพียงถึงระบบกฎหมายอันเป็นสาขาที่สามารถจะแยกได้เป็นสายหลักในการเรียนการสอนนะครับ หาใช่ ระบบกฎหมายสำคัญของโลก ที่แบ่งเป็น คอมมอนลอว์ ซีวิลลอว์ กฎหมายศาสนา ฯลฯไม่)เช่นกัน

“นิติวิธี” ของกฎหมายแต่ละระบบย่อมแตกต่างกันออกไป นิติวิธีแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศนั้นไม่มี สิ่งที่เรียกว่า “ลำดับศักดิ์ (hierarchy)” ของกฎหมาย นั่นทำให้ กฎหมายจารีตประเพณีมีค่ามีความสำคัญในลำดับเดียวกับบรรดาสนธิสัญญาที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่ในขณะเดียวกัน ในกฎหมายภายในกลับมาแนวคิดในเรื่อง hierarchy ของศักดิ์กฎหมายอย่างชัดเจน โดยปรากฏรับรองไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 4 ที่กำหนดให้ใช้กฎหมายในรูปแบบ คือ กฎหมายที่ได้รับการตราเป็นลายลักษณ์อักษร หากไม่มีบทกฎหมายใดปรับกับกรณีนั้นได้ ก็ให้ใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นนั้น (ซึ่งแน่นอนการใช้จารีตประเพณีในกรณีนี้ก็ไม่ง่ายเพราะต้องมีการพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของจารีตฯนั้น และต้องพิสูจน์ถึงการยอมรับค่าจารีตฯนั้นดั่งเช่นกฎหมายด้วย) หากไม่มีจารีตฯเช่นว่า ก็ให้ใช้การเทียบเคียงกฎหมายที่ใกล้เคียงกับกรณีนั้น และหากหาอะไรมาปรับไม่ได้แล้ว จะยกฟ้อง ปล่อยให้บังคับกันตามยถากรรมย่อมไม่ใช่วิสัย เหตุเพราะกฎหมายนั้นคือเหตุผล เมื่อเป็นเหตุผล ย่อมไร้ช่องโหว่ กฎหมายจึงกำหนดให้ใช้ “หลักกฎหมายทั่วไป” ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับ ความแม่นใน “นิติวิธี” ของนักกฎหมาย ที่จะ “สกัด” หลักกฎหมายทั่วไป ที่สอดคล้องต้องกับเหตุผล ถูกต้องตามนิติวิธี มาปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

สำหรับกฎหมายอาญานั้น แม้จะไม่มีกำหนดชัดเจนดั่งมาตรา 4 แต่เป็นที่เข้าใจว่า บรรดากฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญานั้น ต้องเป็นกฎหมายระดับ “พระราชบัญญัติ” เท่านั้น เนื่องจาก การกำหนดให้การกระทำผิดใดเป็นความผิดอาญา ย่อมหมายความว่า รัฐสามารถบังคับใช้โทษทางอาญาที่รุนแรงกับบุคคลผู้กระทำการนั้นด้วย ดังนั้น ควรต้อง “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” ให้ฉันทานุมัติเสียก่อน

ธรรมนูญแห่งกฎหมายอาญาก็ถือเป็นนิติวิธีในการใช้กฎหมายอาญาอย่างหนึ่ง เช่น มาตรา 2 และ 3

กฎหมายมหาชนเองก็มีนิติวิธีแตกต่างกันออกไป หลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชน หลายหลักการที่ถือเป็น dogma ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ฯลฯ

แม้แต่ละระบบกฎหมาย จะมีนิติวิธี หรือหลักการพื้นฐานแห่งกฎหมายที่แยกต่างหากจากกันได้ แต่…

ส่วนที่ร่วมกันกลับมีมากกว่า แล้วแม้จะแยกได้ มันก็เป็นการแยกทางทฤษฎีเพื่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลมีนัยสำคัญในทางกฎหมาย หาได้จำกัดตัวอยู่ในบริบทของกฎหมายระบบใดระบบหนึ่งเท่านั้น

เหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง พฤติการณ์ใดพฤติการณ์หนึ่ง อาจกินพื้นที่มีผลทั้งในมิติแห่งกฎหมายแพ่ง อาญา มหาชน ธุรกิจ หรือแม้แต่ ระหว่างประเทศ

การแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายเพียงมิติใดมิติเดียว อาจจะได้ผลเพียงชั่วแล่น หรือเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่า การแก้ปัญหาเฉพาะจุดโดยใช้ความรู้เฉพาะทางนั้นๆ จะส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อระบบกฎหมายอื่นที่อิงอาศัยกันเพียงไร หรือหนักกว่านั้น มันอาจจะทำลายระบบกฎหมายหลักที่เราแสดงตนสังกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคอมมอนลอว์ ซีวิลลอว์ หรือลูกผสม Hybrid ทั้งระบบเสียเลยก็ได้

ในความคิดของผม ผมจึงค่อนข้างจะมีความสุข หากเราจะสร้างพื้นฐานให้นักเรียนกฎหมายมีความรู้รอบในหลักการพื้นฐาน มีความรู้รอบใน “นิติวิธี” และมองเห็นถึง “ธรรมชาติ” ของกฎหมายแต่ละระบบ มองเห็นถึงความเหมือนความแตกต่าง มองเห็นถึงความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน

ดั่งคำของ ผศ.สมยศ เชื้อไทย ที่ชอบพูดให้เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆในวิชา นิติปรัชญาว่า “as whole” หรือแม้แต่ที่รุ่นพี่ที่เคารพของผม (เมฆาคลั่งท่านนี้นี่เองงงงงงงง) ชอบกล่าวเตือนสติน้องๆเสมอว่า “เข้าป่าให้เห็นไพร อย่าเห็นแค่พฤกษ์” หมายความว่า จะเข้าป่าเดินป่าไม่ให้หลง ให้เห็นทั้งป่า อย่าเพียงจดจำแต่ต้นแต่ใบละลานตาเท่านั้น

ท้ายสุดผมอยากจะยกเอาคำสอนของท่านพระธรรมปิฎก (ขณะนี้ท่านเป็นพระพรหมคุณากรแล้วครับ) ที่ได้แสดงปาฐกถาในหัวเรื่อง “การแพทย์แนวพุทธ” เอาไว้ ลองอ่านดู แล้วเปรียบเทียบว่า คำสอนของท่านเกี่ยวกับการแพทย์แนวพุทธ สอนอะไรให้นักเรียนกฎหมายอย่างเราบ้าง

“ยุคที่เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะยุคอุตสาหกรรมที่เป็นมานี้ เป็นยุคของ specialization คือยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง แพทย์ซึ่งอยู่ในยุคสมัยเช่นนี้ก็มีความโน้มเอียงในทางเดียวกันด้วย คือการที่จะเป็นผู้มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องการรักษาโรคแล้ว แม้แต่ในการรักษาโรคนั้นเองก็จะเจาะลงไปเฉพาะอย่าง แคบลงไปๆ จนกระทั่งรักษาเฉพาะชิ้นส่วนคืออวัยวะชิ้นนั้นชิ้นนี้ แม้แต่ในอวัยวะชิ้นเดียวกัน เดี๋ยวนี้ก็เริ่มจะแบ่งและแยกกันว่าใครจะรักษาด้านโน้นด้านนี้ หรือแง่นั้นแง่นี้ของอวัยวะชิ้นนั้น การปฏิบัติอย่างนี้ในแง่หนึ่งก็ทำให้แพทย์เก่งจริงๆ ในเรื่องนั้น และการรักษาเฉพาะส่วนนั้น โดยมากก็จะได้ผลเป็นพิเศษ แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เกิดความแคบกลายเป็นการแยกชีวิตเป็นเสี่ยงๆ…

ในความเป็นจริงนั้น พอเป็นโรคหนึ่งแล้วบางทีก็โยงไปหลายโรคหลายอวัยวะ เช่น เป็นโรคนี้ที่อวัยวะส่วนนี้ แล้วเกิดโรคโน้นแทรกซ้อนที่อวัยวะโน้น บางทีรักษาโรคติดเชื้อที่หัวเข่า เกิดโรคปอดบวมแทรกซ้อนขึ้นมา และระหว่างรักษาอยู่นั้น ยาที่หมอให้ทำให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร ยังแก้ไขปัญหากันไม่ตก ไตเกิดจะวายขึ้นมาอีก แพทย์ที่ชำนาญต่างโรคต่างอวัยวะกัน พบโรคแทรกซ้อนนั้น บางทีก็ไม่ยอมรักษาหรือเกรงใจกันไม่กล้ารักษา หรือไม่สามารถรักษา เสร็จแล้วก็ต้องหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาหลายคน สำหรับโรคแต่ละโรคและอวัยวะแต่ละอวัยวะที่จะต้องแก้ไข…

ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของยุคแห่งความชำนาญพิเศษ ซึ่งเป็นความเจริญที่สืบเนื่องต่อมาในยุคอุตสาหกรรม แต่พวกนักรู้เขาบอกว่า ต่อไปนี้เรากำลังสิ้นสุดยุคอุตสาหกรรมแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้แต่ในประเทศที่เจริญมากเหล่านั้น ก็รู้ตระหนักกันแล้วว่าแนวความคิดแบบนี้ไม่ได้ผลดีเพียงพอ จึงได้คิดหาทางออกกันและจึงได้มีแนวความคิดใหม่ๆ เช่นที่เรียกว่าแนวความคิดแบบ holistic หรือแนวความคิดแบบ “องค์รวม” นี้เกิดขึ้น และให้ใช้วิธีปฏิบัติแบบที่เรียกกันว่า บูรณาการหรือ intergration…

ความจริงนั้น การศึกษาแบบแยกส่วนให้ชำนาญเฉพาะด้านเฉพาะเรื่องนั้น ก็เป็นเรื่องที่มีคุณประโยชน์มาก พอพบแง่ไม่ดี หรือความไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ควรถึงกับจะไปดูถูก คือควรจะเตือนสติกันไว้ คนเรานี้มีความโน้มเอียงในทางสุดโต่ง พอเจริญไปข้างหนึ่ง ก็ไปเสียเต็มที่ ไปทางแยกส่วนชำนาญพิเศษก็ไปเสียจนเต็มที่ เห็นไปแต่ว่าต้องอย่างนี้ทำแต่ทางนี้แล้วจะสำเร็จหมด การเชื่อมการโยงกับส่วนอื่นก็ไม่เอาเลย ทีนี้ พอมาถึงอีกจุดหนึ่ง เห็นว่าการแยกส่วนเป็นการเฉพาะด้านนี่มีปัญหา บางคนก็ทำท่าว่าไม่เอาแล้ววิธีนี้ไม่ได้ผล จะต้องเป็นการรักษาแบบองค์รวม หันไปหาวิชาแพทย์แผนโบราณ บอกว่าต้องแผนเก่าจึงจะถูก…

ว่าที่จริง เราควรถือเอาประโยชน์จากความเจริญก้าวหน้ามาใช้ด้วยเพราะความเจริญก้าวหน้าแบบปัจจุบันที่หนักไปทางแยกส่วนเป็นเฉพาะด้านนี้ก็มีผลดีในทางที่ทำให้เกิดความชัดเจน มองเห็นอะไรต่ออะไรเจาะลึกลงไปละเอียดลงไป แต่ข้อบกพร้องของมันก็คือการลืมตัว พอไปเจาะลึกแต่ละอย่างจนชำนาญพิเศษในด้านของตนแล้ว ก็เลยตัดขาดแยกตัวจากส่วนอื่นๆไม่มาเชื่อมโยงประสานกัน…

เพราะฉะนั้นการแยกที่จะเกิดผลดีก็คือ การแยกเพื่อให้การโยงนั้นชัดเจนได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นแยกแล้วต้องโยง พวกเดิมนั้นได้แต่โยงโดยไม่แยก ส่วนพวกใหม่ก็แยกโดยไม่โยง ด้วยเหตุนั้นจึงอย่าดูถูกกันเลย ควรจะถือเอาประโยชน์จากทั้งสองอย่าง รวมความว่า ตามหลักพระพุทธศาสนา แยกแล้วต้องโยง”