คุณจะเลือกทางไหน?
เนื่องในโอกาสที่บล็อกเกอร์หลายคนหวนกลับคืนสู่ ชุมชนอีกครั้ง วันนี้ผมจึงไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ และคิดว่าต้องขยับนิ้ว มาอัพเดทบล็อกกับเขาบ้าง ถือเป็นการต้อนรับหลายท่าน และในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นการกระตุ้น แหย่ บีบ และอีกหลายกิริยาในทำนองอาการเดียวกัน ให้บรรดาบล็อกเกอร์อีกหลายหน่วย ที่ยังคง “นิ่งสนิท” เกิดอาการคันไม้คันมือ กลับคืนสู่ยุทธจักรกันบ้าง (ไม่มากก็น้อย) ปัญหาของผมคือ ไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร และที่สำคัญ เมื่อคิดออกว่าจะเขียนเรื่องอะไร ก็ไม่รู้ว่าจะเขียนออกมาอย่างไร เหมือนการกลับมาเดินใหม่หลังจากที่นั่งนานๆ แม้จะเป็นการเดินในเส้นทางเดิมๆที่คุ้นเคยก็ตาม แต่การเดินแต่ละก้าวย่างกับรู้สึกแปลกๆและแปร่งๆ พาลจะล้ม นิ้วจะพัน บล็อกของผมในวันนี้จึงขอเริ่มด้วย การนำเอา Forward Mail ที่เคยได้รับมาเมื่อหลายปีก่อนมาให้อ่านกันครับ (นอกจากจะหากินกับของเก่าแล้ว ยังไม่ลงทุนว่างั้นเถอะ) ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้อ่านเรื่องราวในเมลฉบับนี้มาแล้ว แต่ก็เชื่อว่าอีกหลายคนก็คงยัง มาถึงบรรทัดนี้ไม่ว่าคุณจะเคยหรือยังไม่เคย ไม่ทันแล้วล่ะครับ เริ่มนะครับ ………………………………………………………………… “คุณจะเลือกทางไหน”มีเด็กกลุ่มหนึ่งเล่นกันใกล้รางรถไฟ 2 รางรางหนึ่งอยู่ในระหว่างการใช้งาน ในขณะที่อีกรางหนึ่งไม่ได้ใช้งานแล้วมีเพียงเด็กคนเดียวเท่านั้นที่เล่นบนรางที่ไม่ได้ใช้งานส่วนเด็กที่เหลือนั่งเล่นอยู่บนรางที่ยังใช้งานอยู่เมื่อรถไฟแล่นมา คุณอยู่ใกล้ๆที่สับรางรถไฟคุณสามารถเปลี่ยนทางรถไฟไปยังรางที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อช่วยชีวิตเด็กส่วนใหญ่แต่นั่นหมายถึงการเสียสละชีวิตของเด็กคนที่เล่นอยู่บนรางที่ไม่ได้ใช้งานหรือคุณเลือกจะปล่อยให้รถไฟวิ่งทางเดิม? ลองหยุดคิดสักนิด มีทางเลือกใดที่เราสามารถตัดสินใจได้คุณต้องทำการตัดสินใจก่อนที่จะอ่านต่อไปรถไฟไม่สามารถหยุดรอให้คุณไตร่ตรองได้คนส่วนมากอาจเลือกที่จะเปลี่ยนทางรถไฟ และยอมสละชีวิตของเด็กคนนั้น ผมคิดว่า คุณก็อาจจะคิดเช่นเดียวกันแน่นอน ตอนแรกผมก็คิดเช่นนี้เพราะการช่วยชีวิตเด็กส่วนมากด้วยการเสียสละชีวิตเด็กหนึ่งคนนั้นดูสมเหตุผลทั้งทางศีลธรรมและความรู้สึก แต่คุณเคยคิดบ้างไหมว่าเด็กที่เลือกเล่นบนรางที่ไม่ได้ใช้งานแล้วที่จริงเขาได้ตัดสินใจถูกต้อง ที่จะเล่นในสถานที่ๆปลอดภัยแล้วต่างหากแต่ทว่า เขากลับต้องเสียสละชีวิตให้กับเพื่อนที่ไม่ใส่ใจ และเลือกที่จะเล่นในที่อันตรายสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นรอบตัวเราทุกวันในสถานที่ทำงาน ย่านชุมชน การเมืองโดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยคนกลุ่มน้อยมักจะถูกเสียสละให้กับผลประโยชน์ของคนหมู่มากแม้ว่าคนกลุ่มน้อยจะฉลาด มองการณ์ไกล และคนหมู่มากจะโง่เง่า ไม่ใส่ใจก็ตาม เด็กคนที่เลือกที่จะไม่เล่นบนรางที่อยู่ในการใช้งานตามเพื่อนๆของเขาและคงไม่มีใครเสียน้ำตาให้หากเขาต้องสละชีวิตก็ตาม เพื่อนที่ส่งต่อเรื่องนี้มาบอกว่า เขาจะไม่พยายามเปลี่ยนเส้นทางรถไฟเพราะเขาเชื่อว่าเด็กที่เล่นอยู่บนรางที่อยู่ในการใช้งานย่อมรู้ดีว่ารางนั้นยังอยู่ในระหว่างการใช้งานและพวกเขาควรจะหลบออกมาเมื่อพวกเขาได้ยินเสียงหวูดรถไฟถ้าทางรถไฟถูกเปลี่ยน เด็กหนึ่งคนนั้นต้องตายอย่างแน่นอนเพราะเขาไม่เคยคิดว่ารถไฟจะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางนั้นนอกจากนั้น รางที่ไม่ได้ถูกใช้งานอาจเป็นเพราะรางนั้นไม่ปลอดภัยถ้ารถไฟถูกเปลี่ยนเส้นทางมาที่รางนี้เราทำให้ชีวิตของผู้โดยสารทั้งหมดตกอยู่ในอันตรายในขณะที่คุณพยายามช่วยชีวิตเด็กจำนวนหนึ่งโดยการสละชีวิตเด็กหนึ่งคนอาจกลายเป็นการสังเวยชีวิตผู้คนนับร้อยก็เป็นได้เรารู้ว่าชีวิตเต็มไปด้วยการตัดสินใจอันยากลำบาก บางครั้งเราอาจลืมไปว่าการตัดสินใจอันรวดเร็วใช่จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป จำไว้ว่า สิ่งที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่นิยมปฎิบัติและสิ่งที่เป็นที่นิยม ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป ทุกๆคนสามารถทำสิ่งผิดพลาดได้ และนั่นคือเหตุผลที่เขาใส่ยางลบไว้ที่ปลายของดินสอ ……………………………………………….. พลันผมอ่านเรื่องดังกล่าวจบ นอกจากอารมณ์ครุ่นคิดตาม ต่อเนื่องจากเนื้อหาสาระของเรื่องราวดังกล่าวแล้ว ต่อมสักต่อมในสมอง (น้อยๆ) ของผม ก็ได้แหวกว่าย แทรกตัวขึ้นท่ามกลางกอง “ขี้เลื่อย” ที่ฟูฟ่อง ล่องลอยอยู่เต็มกบาลในขณะนี้ เพื่อเคาะประตูกะโหลก และได้ตั้งคำถามตามสันดานคนเรียนกฎหมาย ว่าหากเหตุการณ์ข้างต้นดันเกิดขึ้นจริง แล้วหากองคาพยพทั้งหมดทั้งมวลในกระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดอาญา แก่ผู้ทำหน้าที่สับรางรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นการสับเพื่อเปลี่ยนเส้นทางให้รถไฟสายมรณะ แล่นทะลุทะลวงวิ่งเข้าไปบดขยี้ร่างเด็กน้อยที่เล่นอยู่บนรางรถไฟสายเก่า หรือไม่ว่าจะการ “งดเว้น” ไม่สับรางเพื่อเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ โดยปล่อยให้เด็กน้อยแต่กลุ่มใหญ่ ได้เผชิญหน้าท้าทายมฤตยู โดยไม่ทราบชะตากรรม หากเกิดความสูญเสียขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนูน้อยรายไหน ในการกระทำ ด้วยการตัดสินใจครั้งนั้น เราผู้อ่านเรื่องราวนี้ รวมทั้งผม จะทำอย่างไร จะคิดอย่างไร เพื่อการปกป้องชีวิต เรามีอำนาจที่จะทำลายอีกชีวิตได้หรือไม่ อย่างไร? จำนวนของชีวิต มีผลต่อการพิจารณาหรือไม่? ชีวิตของคนหลายคน มีค่ามากกว่าของคนๆเดียว? โอกาสรอดของชีวิตที่มีมากกว่า ใช้เป็นเหตุอ้างที่จะทำลายชีวิตของคนอื่นที่มีโอกาสรอดในชีวิตน้อยกว่าหรือไม่? ………………ฯลฯ…………………….. เพลาเดียวกันหน่วยความจำที่ยังทำงานได้ของผม ก็เตือนสติให้ผมย้อนวันวานกลับไป สมัยนั่งเรียนคอร์สเวิร์ค ครั้งยังคลุกฝุ่นอยู่กับยุทธการทำโท กฎหมายยอมให้คนกระทำการอันเป็นการทำร้ายหรือทำลาย คุณค่าของการอยู่ร่วมกันได้ ในบางสถานการณ์ เพราะการเรียกร้องให้คนไม่ทำลายสิ่งเหล่านั้นเลย เป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายเพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนเองหรือผู้อื่น เพื่อให้พ้นแก่ภัยหรือภยันตรายอันบังเกิดอยู่ตรงหน้า และไม่มีมนุษย์หน้าไหนจะมาช่วยเราจากสถานการณ์นั้นได้ นอกจากตัวเราเอง หรือที่เราคุ้นชินกันในนาม “การป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย” จริงๆจะว่ากฎหมายยอมรับ หรืออนุญาตก็ไม่ใคร่จะถูกสักเท่าไหร่ ในความคิดของผม เหตุเพราะผมเชื่อว่าที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะมันสอดคล้องกับมโนสำนึก หรือเหตุผลทางศีลธรรมอันเป็นคุณสมบัติอันประเสริฐสุดของ สิ่งที่เรียกว่า ”มนุษย์” กฎหมายแค่ทำหน้าที่ของมัน ที่จะร้อยเรียง ผูกเงื่อนแห่งเหตุผลเหล่านั้น ให้เป็นระบบระเบียบ มีวิธีคิด วิธีพิจารณาที่ชัดเจนแน่นอนในระดับที่ยอมรับได้ และสอดคล้องต้องกับบรรดามโนสำนึกเหล่านั้น โดยไม่ขาดซึ่งความชัดเจนแน่นอนไป แค่นั้น กลับมาที่เรื่องข้างต้น หลายคนอาจต้องการเปลี่ยนโจทย์ โดยสมมติให้ตนเป็น “คนขับรถไฟ” ขบวนมรณะนั้น แทนที่จะเป็นเพียง “คนสับราง” เท่านั้น เพราะเข้าใจว่า การที่เป็นคนขับ น่าจะช่วยหยุดรถไฟขบวนนั้นได้ทันเวลา และไม่เกิดการสูญเสียขึ้นทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มไหน คนไหนก็ตาม นั่นย่อมเป็นทางออกที่สวยงามที่สุด แต่โลกในความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น หากเราสามารถสมมติให้เหตุการณ์ทุกอย่างยุติได้โดยไม่เสียอะไรไปเลยนั่นย่อมเป็นอุดมคติอันสูงส่งที่พึงมีและพึงกระทำ และถ้าเป็นได้อย่างใจจริง ผมคงสมมติให้ตัวเองเป็นซุปเปอร์แมน เหาะไปยกขบวนรถไฟนั้น เพื่อมิให้ใครต้องสูญเสีย ซะเลยดีกว่า ฉะนั้นในเบื้องต้น คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทุกบรรทัดต่อจากนี้เป็นต้นไป เป็นมุมมองของผม ผ่านแว่นที่ประดิษฐ์ขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย จ้องพินิจไปยังเนื้อหาที่มีปริมณฑลจำกัดเพียงข้อเท็จจริงตามเรื่องราวดังกล่าวเท่านั้นนะครับ ผมเห็นภาพนั้นอย่างไร ยามมองมันผ่านแว่นแห่งกฎหมายของผม… มีทฤษฎีทางอาญาอยู่ทฤษฎีหนึ่งที่ถูกคิดค้นและออกแบบ โดยนักกฎหมายชาวเยอรมัน ที่ผมคิดว่ามัน (ดูเหมือน) น่าจะใช้เป็นฐานอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ ทฤษฎีๆนั้นเรียกว่า “ความจำเป็นที่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งสารัตถะของทฤษฎีดังกล่าวคือการเลือกที่จะทำลายสิ่งๆหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งอีกสิ่งหนึ่ง โดยการทำลายนั้นเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะรักษาสิ่งนั้นไว้ได้ เขาเลือกที่จะทำลายหรือรักษาบนพื้นฐานของอะไร การชั่งครับ… “ชั่งน้ำหนักประโยชน์” ระหว่างสิ่งสองสิ่ง ความชอบธรรมของการกระทำอันเป็นการทำลายนั้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เป็นการทำลายสิ่งที่มีค่าน้อยกว่า เพื่อรักษาสิ่งที่มีค่าสูงกว่า คราวนี้มาถึงปัญหาที่เคยโปรยไว้แล้วล่ะครับ การจะวัดว่าสิ่งใดมีค่าสูงกว่าหรือต่ำกว่า เอาเกณฑ์อะไรมาชี้วัด? และมั่นใจได้อย่างไรว่าเกณฑ์เหล่านั้นถูกต้อง ชอบด้วยเหตุด้วยผล ใครตัดสิน? โดยเฉพาะกรณีนี้นั้น จำนวนชีวิตที่เลือกทำลายหรือเลือกที่จะรักษา มีผล มีอิทธิพล ต่อการให้ค่าหรือไม่? ในส่วนตัวผม แม้จะค่อนข้างชื่นชอบในแนวคิดของทฤษฎีดังกล่าว แต่ก็เห็นว่า การปรับใช้ทฤษฎีดังกล่าวด้วยการปล่อยให้มีการให้ค่า หรือ ชั่งน้ำหนักประโยชน์ โดยขาดความชัดเจนและไร้ขอบเขตนั้น อาจเป็นอันตรายมากว่าประโยชน์สุขที่จะได้รับ โดยเฉพาะการวัดหรือชั่งน้ำหนักระหว่าง ชีวิตของมนุษย์ด้วยกันเอง โดยเอาจำนวนหรือปริมาณเป็นที่ตั้ง เพราะสภาพการณ์มันคงไม่ต่างจากระบอบการปกครองแบบประชาธิไปไตยเสียงข้างมากที่ไม่ไยดีเสียงข้างน้อย และยิ่งหากพิจารณาว่าบรรดาเด็กเหล่านั้นเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ลูกนักการเมือง หรือลูกชาวไร่ชาวนา และเอนเอียงที่จะช่วยเหลือเด็กสมบูรณ์ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ย่อมยิ่งเป็นสิ่งที่ผมยอมรับได้ยากยิ่ง เหมือนกับกรณี 11 ล้านเสียงนั่นแหล่ะ เพราะแท้จริงแล้ว แก่นของทฤษฎีดังกล่าว หาได้กว้างขวางดั่งมหาสมุทรไม่ และมิใช่เป็นเพียงการชั่ง ตวง วัด ไปซะตะพึดตะพือแค่นั้น ทฤษฎีนี้ ถูกสร้างขึ้น และปรากฏตัวอยู่ในสารบบของกฎหมาย ครั้งแรกในเยอรมัน โดยคำพิพากษาของศาลสูงสุดของอาณาจักรไรช์ (Reichsgericht) โดยคดีดังกล่าวเป็นคดีที่แพทย์ได้ทำแท้งให้แก่หญิงคนหนึ่ง ซึ่งประสบอันตรายจากการตั้งครรภ์นั้นเอง กล่าวคือ หากปล่อยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป ชีวิตของหญิงนั้นย่อมตกอยู่ในอันตราย และมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตลง ดังนั้น แพทย์ในคดีดังกล่าวจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ “จำเป็นต้องเลือก” เลือกที่จะรักษาชีวิตใดชีวิตหนึ่งเอาไว้ นั่นคือ ชีวิตของมารดา หรือชีวิตน้อยๆในครรภ์ของมารดานั้น แพทย์ไตร่ตรองแล้ว และตัดสินใจเลือกรักษาชีวิตมารดาไว้ โดยหนทางเดียวที่จะรักษาได้ นั่นคือต้องยุติการมีชีวิต และขัดขวางกระบวนการคลอดเพื่อเป็นมนุษย์อย่างบริบูรณ์ของชีวิตในครรภ์มารดานั้น หลังจากตัดสินใจและลงมือกระทำการยุติชีวิตน้อยๆนั้นแล้ว แพทย์ผู้นั้นก็ถูกจับดำเนินคดี ในฐานทำให้หญิงแท้งลูก แม้ว่าหญิงผู้นั้นจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดของอาณาจักรไรช์แห่งนั้น ก็ได้วางหลักอันถือเป็นการสร้าง และพัฒนาแนวคิดในเรื่อง “อำนาจกระทำ” หรือ “สิทธิอันชอบธรรม” ของบุคคล คนหนึ่งที่สามารถทำลายคุณค่าบางอย่างได้ ภายใต้สถานการณ์อันจำเป็นที่กฎหมายยอมรับ โดยได้วางหลักไว้ว่า “เมื่อกรณีทำแท้งเป็นกรณีที่คุณธรรมทางกฎหมายสองอันเกิดขัดแย้งกัน ทำให้บุคคลจำเป็นต้องทำลายคุณธรรมทางกฎหมายที่ด้อยกว่า คือ ชีวิตลูกในครรภ์ เพื่อรักษาคุณธรรมทางกฎหมายที่สูงค่ากว่า คือ ชีวิตมารดา และเป็นกรณีที่ผู้กระทำไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว การกระทำนั้นเป็น ความจำเป็นที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำไม่มีความผิด” ในทางตำรานิติศาสตร์ ส่วนใหญ่ (ที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดจากทฤษฎีกฎหมายเยอรมัน) สรุป แก่นของหลักที่สกัดได้จากคำพิพากษาดังกล่าว และนำไปปรับใช้กับกรณีอื่นอย่างแพร่หลาย โดยไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะกรณีทำแท้งเท่านั้น โดยสิ่งที่จะทำให้การทำลายคุณค่า หรือคุณธรรมทางกฎหมาย ในกรณีดังกล่าวได้นั้น เกิดความชอบธรรมขึ้นมาได้ ต้องเป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้ข้อบ่งชี้ หรือสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้ 1. ต้องเป็นกรณีคุณค่า หรือประโยชน์สองอย่างเกิดขัดแย้งกัน กล่าวคือ การมีอยู่ของสิ่งหนึ่งเป็นการขัดขวางหรือทำลายการมีอยู่หรือการดำรงอยู่ของอีกสิ่งหนึ่งนั่นแหล่ะครับ 2. ผู้กระทำ จำเป็นต้องกระทำการอันเป็นการทำลายคุณค่า หรือประโยชน์อย่างหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางให้ประโยชน์ที่เหลือคงอยู่ต่อไปได้ โดยไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการ “ทำลาย” อีกแล้ว 3. การตัดสินใจที่จะทำลาย หรือรักษาคุณค่าหรือประโยชน์ใดนั้น ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักว่า สิ่งใดมีคุณค่าสูงกว่ากัน ในการณ์นั้น สิ่งที่มีคุณค่าสูงกว่าย่อมได้รับการพิทักษ์รักษา สำหรับสิ่งที่ถูกทำลายย่อมต้องเป็นสิ่งที่ด้อยค่ากว่านั่นเอง แต่สำหรับความเข้าใจของผม ผมว่ามันไม่พอ การที่วางความชอบธรรมแห่งการทำลายอะไรบางอย่าง ไว้บนตาชั่งวัดคุณค่าว่าสิ่งใดสูงกว่าด้อยกว่า แล้วเอาปืนเล็งยิงไปที่คุณค่าที่ห้อยอยู่ในตาชั่งข้างที่ลอยเด่นขึ้นนั้น ไม่น่าจะเป็นวิธีคิดทั้งหมดที่สกัดได้จากหลักคำพิพากษาดังกล่าว เหตุเพราะหากเราพิจารณาย้อนกลับไปที่แหล่งกำเนิดของทฤษฎีดังกล่าว เราจะพบว่า บรรดาคุณธรรม หรือคุณค่า หรือประโยชน์ทั้งหลายแหล่ ทั้งที่เราเลือกที่จะรักษามัน และเลือกที่จะทำลายมันนั้น ต่างสถิตย์อยู่ในร่างกาย หรือล้วนเป็นของ “ผู้ทรง” หรือ “เจ้าของ” เดียวกัน ชีวิตในครรภ์มารดา ก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมารดา การทำแท้งจึงถือเป็นการทำร้ายร่างกายหญิงผู้ (กำลังจะ) เป็นมารดาด้วยในอีกโสดหนึ่งด้วยเสมอ การทำร้ายหญิงนั้น (การทำแท้ง) ก็เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อรักษาชีวิตของหญิงนั้นเอง กล่าวโดยง่ายคือ ทำร้ายเขาก็เพื่อรักษาเขานั่นเอง ไม่ต่างจากการที่คุณหมอทำการตัดขาของทหารนายหนึ่งทิ้ง เนื่องจากเกรงว่าบาดแผลจะติดเชื้อและลุกลามไปกัดกินส่วนอื่นของร่างกายทำให้ยากต่อการเยียวยาและส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่ของทหารหาญผู้นั้น หรือแม้แต่การที่คุณหมอเจี๋ยนไส้ติ่ง ที่กำลังจะกลายเป็นไส้แตก เพื่อรักษาสุขภาพ และในบางกรณีอาจหมายถึงชีวิตของผู้ป่วยนั้นด้วย ผมเชื่อ (ของผมเอง) ว่าข้อเท็จจริงที่ถูกละเลย ไม่ได้รับการสกัดให้เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบในการสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำดังกล่าวนั้น เป็นสารัตถะที่สำคัญประการหนึ่ง ของทฤษฎีดังกล่าวด้วย ไม่ต่างจากวิธีคิดของหลักการป้องกันสิทธิโดยชอบ ที่ยอมรับให้ ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้ภยันตรายสักอย่างที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อ หรือโดยที่เราไม่จำเป็นต้องยอมรับ ซึ่งโดยมากก็มักเป็นภยันตราย หรืออันตราย ที่เกิดจากการที่มีผู้อื่นก่อขึ้นโดยผิดกฎหมายนั่นเองครับ “ธรรมะย่อมไม่อ่อนข้อต่ออธรรมฉันใด เราก็ไม่จำเป็นต้องยอมให้ผู้อื่นคุกคามเราโดยเราไม่ยอมที่จะลุกขึ้นปัดป้องหรือตอบโต้ฉันนั้น” นั่นเอง การตอบโต้ หรือป้องกัน เพื่อให้ตนพ้นจากอันตรายที่เกิดจากการคุกคามที่ละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นการตอบโต้ไปยังผู้ที่เป็นต้นเหตุของภัยนั้น ย่อมเป็นแกนหลักอันทำให้การกระทำอันเป็นการป้องกันนั้น มีความชอบธรรมตามกฎหมาย ผู้กระทำการดังกล่าวย่อมไม่มีความผิด เนื่องจากสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ “ชอบด้วยกฎหมาย หรือชอบธรรม” เสียแล้ว แล้วถามว่า การที่ผู้สับราง ตัดสินใจที่จะสับหรือไม่สับ และการกระทำนั้นก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ขึ้น การกระทำนั้น ผู้สับรางมี “ความชอบธรรม” ที่จะสับหรือไม่สับรางหรือไม่ ไม่ว่าจะพินิจพิเคราะห์ จากทั้งทฤษฎีความจำเป็นชอบด้วยกฎหมาย หรือ การป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นแล้ว อ้างไม่ได้สักกะทฤษฎีเดียว เหตุเพราะ ไม่ว่าจะสับเพื่อให้เด็กน้อยที่เล่นอยู่บนรางเก่าๆเพียงผู้เดียว หรือ ไม่สับราง เพื่อให้หนูๆทั้งหลายที่กำลังเพลิดเพลินกับการละเล่นบนรางรถไฟที่ยังใช้งานอยู่ ไปพบยมบาลก่อนเวลาอันควร ก็ล้วนแต่ไม่มีความชอบธรรมในการกระทำทั้งสองกรณีทั้งสิ้น เหตุเพราะไม่ควรมีเด็กคนไหน บนรางรถไฟรางไหน จำต้องยอมรับความตายโดยดุษณีทั้งสิ้น มิพักต้องกล่าวถึงปัญหาว่าชีวิตมนุษย์แต่ละคนจะชั่งตวงวัดกันอย่างไร หรือการวัดจากปริมาณมากน้อย ซึ่งประเด็นนี้ผมเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ “วัด” กันไม่ได้อีกต่างหาก แล้วจะอย่างไรครับ จับยัดเข้าซังเต ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาดอกหรือ (การสับหรือไม่สับ เราถือว่ามีการกระทำ แล้วและการที่รู้อยู่ว่าการสับหรือไม่สับนั้นย่อมก่อให้เกิดผลคือความตายเกิดขึ้น และยังกระทำการนั้นต่อไป ก็ย่อมครบองค์ประกอบฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแล้วขอรับ…เอ่อ มาถึงบรรทัดนี้ผมขอละเมิดกติกาที่ผมเองทำความตกลงกับทุกท่านไว้ตั้งแต่ตอนต้นครับ ผมขอเพิ่มเป็นว่า ไอ้หมอนี่คือ เจ้าพนักงานสับราง อันมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องสับรางรถไฟ เพื่อป้องกันอันตราย หรือเพื่อให้เป็นไปตามแผนการเดินรถน่ะครับ เพราะการมีหน้าที่ของไอ้หมอนี่ส่งผลอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยความผิดตามกฎหมายน่ะครับ การที่จะถือว่าการ “ไม่สับราง” นั้นเป็นการกระทำอันเป็นการฆ่าได้นั้น จำกัดเฉพาะกรณีที่ไอ้หมอนั่นต้องมีหน้าที่พิเศษในการสับรางด้วยน่ะครับ ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ผ่านเหตุการณ์มาเห็น แม้เขาจะไม่กระโดดไปสับราง ก็คงไม่ถือว่าเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันถือเป็นการฆ่าน่ะครับ) ทั้งๆที่ไม่ว่าหมอนี่จะสับ หรือไม่สับ ผลก็เท่ากัน นั่นคือ ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาอยู่ดี อะไรมันจะซวยอย่างนั้นครับ “แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม” หมอนั่นคงรำพึงเป็นเพลงสามสาวซาซ่า หรืออาจจะเป็น “อย่าเลย อย่าบอกให้ฉันเลือกเลย เพราะฉันไม่เคยรู้เลย ไม่รู้ว่าจะเลือกใคร” เพลงของสาวดูมๆ ผู้ซึ่งชีวิตนี้ไม่คิดจะมีระเบียบ (รัตน์) อะไรกับใครเขา จริงอยู่แม้ไอ้หนุ่มดวงซวย จะไม่มี “อำนาจ” หรือ ไม่มี “ความชอบธรรม” ใดๆที่จะสับหรือไม่สับรางรถไฟ เพื่อไปทับหัวลูกชาวบ้านรายใดได้ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ใช่ว่า ที่เขาตัดสินใจสับ หรือไม่สับ เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนความเป็นอิสระแห่งการคิดและการเลือก บ่อยครั้งไปครับ ที่เราตัดสินใจเลือกที่จะกระทำผิด ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าผิด แต่เป็นเพราะสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้ามันบีบบังคับ เช่น การที่ปี๊ดตีกบาลปื๊ด ตามคำสั่งของปู๊ดที่ถือลูกซองแฝด จ่ออยู่ที่กบาลของปี๊ด โดยขู่ว่า หากปี๊ด ไม่ยอมตีกบาลปื๊ด แล้ว สมองน้อยๆของปี๊ดจะต้องกระเด็นกระดอน สาดกระจาย เปรอะเสื้อเวอร์ซาเช่ราคาหลายหมื่นกีบของปี๊ดจนซักไม่ออกแน่ๆ ด้วยความที่ปี๊ดกลัวว่าเปาเอ็มวอชจะไม่สามารถซักคราบมันสมองของตัวเองที่สาดกระจายอยู่บนเสื้อสุดหรูได้ ปี๊ดจึงจำใจต้องหยิบเอาหน้าสามตีไปที่กบาลของปื๊ด พอเลือดอาบแก้ม เย็บสักเจ็ดแปดเข็ม ท้วมๆ ถามว่าการกระทำของปี๊ด มีความชอบธรรมหรือไม่ครับ การเอาตัวรอดโดยโยนความซวยไปให้คนอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะเรียกว่าเป็นความชอบธรรมก็คงไม่ถนัดปากนัก (ในทางกลับกันรถน้อยคล่องตัว หากปี๊ดใจกล้าสักนิด อาศัยจังหวะที่ปู๊ดเผลอ เอาหน้าสามที่อยู่ในมือนั่นแหล่ะ กระแทกไปที่กล่องดวงใจของปู๊ดแทน การกระทำของปี๊ดย่อมถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนจากอันตรายที่ปู๊ดก่อ และเป็นการกระทำต่อผู้ที่เป็นต้นเหตุแห่งอันตรายนั้นเอง ย่อมทำให้การกระทำของปี๊ดต่อปู๊ดนั้น มีความชอบธรรมที่จะทำได้ตามกฎหมายโดยไม่เป็นความผิดขึ้นมาทันที) ใช่ครับ ผมกำลังจะบอกว่าการกระทำของปี๊ดนั้น เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเต็มๆครับ แต่การที่ปี๊ดตีกบาลปื๊ดนั้น ไม่ได้เกิดจากเจตจำนงอิสระของปี๊ดเอง พูดแบบบ้านๆก็คือ ปี๊ดไม่ได้เต็มใจ ที่จะตีกบาลปื๊ด แต่เป็นเพราะอันตรายจากปืนลูกซองบีบบังคับให้เขาต้องทำเช่นนั้น ในทางทฤษฎีเยอรมันเรียกว่า การกระทำดังกล่าวนั้น ขาดสิ่งที่เรียกว่า “ความชั่ว” (ไว้ผมจะมาขยายความ “ความชั่ว” นี้อีกทีครับ ติดไว้ก่อน แต่เกริ่นไว้หน่อยว่า “ความชั่ว” ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องของสำนึกชั่วดีที่เป็นอัตตะวิสัยของคนแต่ละคนที่มีระดับหรือปริมาณไม่เท่ากันแต่อย่างใดนะครับ แต่มันเป็นเรื่อง เงื่อนไขหรือข้อจำกัดของจิตมนุษย์ที่ในบางครั้งการที่เขาทำผิดไปเพราะเขาไม่มีโอกาสได้เลือก หรือเพราะความบกพร่องหรือผิดพลาดของการทำงานจิตทำให้เขาไม่สามารถที่จะเลือกที่จะทำความผิดได้อย่างเสรีนัก…ดูกรณีจิตรลดาครับ) และ “ความชั่ว” นี้เองครับ ที่เป็นเนื้อหาสาระประการหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่า “อาชญากรรม” ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับการบังคับใช้โทษทางอาญากับผู้กระทำ การลงโทษบุคคลที่ขาดซึ่งความชั่ว ย่อมเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์และไร้ค่า แถมอาจจะส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อบุคคลนั้น และอาจลามไปถึงความสงบสุขของสังคมอีกต่างหาก (ด้วยเหตุนี้จึงมีนักกฎหมายไม่น้อย เหมาเอาว่า กรณีที่ผู้กระทำไม่มีความชั่วดังกล่าว เป็นเหตุที่กฎหมาย “ยกเว้นโทษ” ให้นั่นเอง กล่าวคือ ไอ้ที่ทำน่ะผิดนะ แต่กฎหมายไม่เอาโทษแค่นั้น ) ดังนั้นเมื่อขาดซึ่งความชั่วแล้ว การกระทำนั้นย่อมไม่สามารถเรียกได้ว่า เป็นอาชญากรรม และเมื่อไม่เป็นอาชญากรรมแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถลงโทษอาญากับบุคคลนั้นได้นั่นเอง ย้อนกลับมาดู กรณีเจ้าพนักงานสับรางดวงซวยรายนี้กันครับ แม้การกระทำของเขาจะไม่มีความชอบธรรม แต่ก็ไม่อาจพูดได้ว่าการกระทำของเขานั้นเป็น “อาชญากรรม” หรืออาจกล่าวได้ว่า การกระทำของเขาขาดซึ่ง “ความชั่ว” ไม่ต่างจากการกระทำของปี๊ดดังกล่าว การบังคับใช้โทษทางอาญาที่มีลักษณะของโทษที่ค่อนข้างรุนแรง รวมทั้งการนำตัวเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันเหน็บหนาว จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเท่าใดนัก เพราะชีวิตมันไม่ใช่ดินสอครับ ที่จะมียางลบติดอยู่ ณ ปลายสุด และไม่ใช่เปาเอ็มวอชที่จะฟอกผ้าให้กลับขาวใสดังเดิมยามเมื่อมีรอยมลทินเปื้อนปื้น |
7 Comments:
เอ่อ คือว่าคือ
ผมกระทำการโพสบล็อกตอนนี้มาแล้วสามถึงสี่ครั้ง
ทุกครั้งที่โพสมันก็ติดนะครับ แต่มีปัญหาคือ ไม่สามารถทิ้งคอมเมนต์ไว้ได้
ไอ้กระผมก็เลยตามไปดูในรายการ edit post ปรากฏว่า ไม่มีชื่อบล็อกตอนนี้อยู่ในรายการบล็อกทั้งหมดที่ผมโพสมา
ผีอินเตอร์เนตหลอกผมเป็นครั้งที่เท่าไหร่จำไม่ได้แล้ว
ว่าแล้วจึงตัดสินใจโพสแล้ว โพสอีก
คราวนี้ดีใจที่ทิ้งคอมเมนต์ไว้ได้สักกะที
ซึ่งน่าจะเป็นอาการเดียวกันกับที่ คุณการ์เรต์ ประสบพบเจอ จนก่อให้เกิดอาการ "เบื่อบล็อก" ขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน (แต่หวังว่าจะไม่ใช่อาการเรื้อรังนะมิ้มนะ)
งี้แหล่ะครับ
เป็นบล็อกเกอร์ต้องอดทน
12:15 AM
ช่าย
ต้องอดทนพอๆกะเป็นแฟนป๊อก (ฮา)
11:22 AM
ป๊อกไหนเหรอครับ
6:00 PM
แล้วหากหนุ่มต้องต้องเืลือกที่จะเป็นคน "สับราง" ล่ะครับ
จะสับราง "พุ่งเข้าชน" ใคร ระหว่าง น้องบอลลูน กับหนู่อั้ม
ได้ความรู้ใหม่มากครับ อ่านสบายครับ
9:50 PM
เลือกลำบากจรงๆท่อก
เอาเป็นว่า
ผมเลือกที่จะยอมให้รถไฟมฤตยู วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด บดขยี้ร่างผมให้แหลกละเอียด เพียงคนเดียว เพื่อแลกกับความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของสองสาวที่เอ่ยมา
กร๊ากกกกกกกกกกกกกก
จะอ้วกมุขตัวเองว่ะ
10:03 PM
เดี๋ยวจะไปฟ้องทวีเกียรติ ฮา ฮา
1:06 AM
ท่อกเปลี่ยนโจทย์เป็นอั้มกะติ๊กเจษฎา หรือไม่ก็บอลลูนกะวิลลี่ ดูสิจ๊ะ
คุณเรทิโอฯเค้าจะได้เลือกง่ายๆหน่อย
1:43 PM
Post a Comment
<< Home