Thursday, June 30, 2005

รัฐอะไรเอ่ยบริโภคแอลกอฮอล์มากที่สุดในโลก

หากจะถามว่าประเทศไทยนำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับที่เท่าไหร่ของโลก ผมว่ามันธรรมดาไป

ชั่วโมงนี้ของผม ต้องเป็นคำถามนี้

รัฐอะไรบริโภคแอลกอฮอล์มากที่สุดในโลก...

ไม่ใกล้ไม่ไกล แต่ก่อนอาจไกล แต่เดี๋ยวนี้เขยื้อนมาอยู่ใกล้...

นึกไม่ออกเดี๋ยวบอกให้

รัฐที่บริโภคแอลกอฮอล์มากที่สุดในโลกของผมคือ

"นิติรัฐ"

หรือ "etat de droit"

มากในที่นี้ นอกจาก "ปริมาณ" แล้ว ยังหมายถึง "ความถี่" อีกด้วย

ไม่ต้องไปเปิดแผนที่โลก แล้วนั่งเพ่งให้เมื่อยลูกกะตาหรอกครับ มันไม่อยู่ในแผนที่โลกหรอก ไอ้รัฐนี้เนี่ย

แต่ตอนนี้มันอยู่ในกรุงเทพ ใกล้ๆบ้านผม

ตั้งแต่มันกลับมาจากฝรั่งเศสนี่ ยังไม่มีวันไหนที่แอลกอฮอล์ ไม่ตกถึงท้องมันเลย รวมถึงวันนี้ (และพรุ่งนี้ด้วย)

ที่อนาถคือ ในจำนวนวันดังกล่าว มีกว่าครึ่งที่ผมเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วย

ผมไม่ใช่เป็นคนนิยมแอลกอฮอล์เท่าไหร่ เพราะเป็นคนดื่มได้ไม่ทน ประเภทคอแป๊ปเดียว แต่ชอบนั่งในวง (ซัดแต่กับและมิกเซอร์) มากกว่า แต่ในช่วงสี่ห้าวันที่ผ่านมาปรากฏว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ไหลผ่านกระแสเลือดผมนั้น น่าจะมากกว่าปริมาณแอลกอฮอล์ในอีกสิบปีข้างหน้าที่ผมจะบริโภค หรือเรียกได้ว่า เพราะมันทำให้ผมกินแอลกอฮอล์ล่วงหน้าไปถึงสิบปี (เว่อร์ดีมะ)

นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ยานพาหนะลดลงแล้ว มันยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของผมหดหายไปด้วย ผมไปทำงานสายมาสองวันแล้ว และคาดว่าจะเป็นวันที่สามติดต่อกันในวันพรุ่งนี้

ขอฟ้องตรงนี้เลยครับ ถ้าผมอัพบล็อกไม่ได้ในอาทิตย์นี้...

ความผิดมันคนเดียวเลยครับ (ฮา)

อย่างไรก็ตามนักดื่มอย่างนิติรัฐมีความรับผิดชอบเสมอ เราสองคนตกลงกันว่าภายในอาทิตย์นี้มันกับผมจะอัพบล็อกกันคนละหนึ่งหน่วย

ได้เลยเพื่อน...

ว่าแต่ อันนี้นับมั๊ยวะ

Monday, June 27, 2005

ตะหลิวรีเทิร์น

เปล่าครับ มันไม่ได้ลอยจากมือใคร และตกลงบนหัวของใคร แต่ผมหมายถึง ป้าฟาสต์ฟู้ด ตะหลิวในตำนานเบอร์หนึ่งของวงการขายอาหารตามสั่ง อาณาจักรหน้ากระทรวงการคลัง

กลับมาแล้วครับ

ตลอดเวลาเป็นเดือนที่ป้าหายไปจากวงการ ผมและเพื่อนผมความยากลำบากอย่างยิ่งในการเติมพลังตอนเที่ยง เพราะปัญหาที่คอยกวนสมองพวกเราตลอดเวลาคือ

“เที่ยงนี้จะกินอะไร”

แม้จะมีร้านอาหารรายรอบกระทรวงการคลังมากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งเราสามารถเลือกกินได้ไม่ซ้ำร้านกันเป็นเวลาหลายอาทิตย์ หรืออาจจะเป็นเดือนก็ตาม

แต่ร้านอาหารที่ถูกจริตพวกผมมากที่สุด คือ ร้านป้าฟาสต์ฟู้ดนี่แหล่ะ

แต่กลับมาครั้งนี้ ป้าเปี๊ยนไป๋

อธิปไตยทางดินแดนของป้า ถูกคร่าหายไปกว่าครึ่ง เนื่องจากการรุกรานของอริศัตรูผู้ทรงพลานุภาพ ครับ เซเว่นอีเลฟเว่น แผ่ขยายอาณาจักร จากเดิม สองคูหา มาเป็น สาม นั่นย่อมหมายความว่า อาณาจักรตะหลิวทองคำของป้า ร่อยหรอเหลือเพียงหนึ่งคูหา (จริงๆไม่ถึงด้วยซ้ำ เพราะท้ายร้านของป้า เป็นร้านเสริมสวย ซึ่งผมกับพรรคพวกสงสัยเหลือเกินว่า ไฉนมาเปิดร้านเสริมสวย ท้ายร้านขายอาหารตามสั่งฟะ งี้เกิดคุณนายทำผมตีฟูใส่สเปรย์ มาเรียบร้อย เดินผ่านหน้าเตาป้า ไม่เปลี่ยนเป็นกลิ่นกระเพราไก่ไข่ดาวสุกๆเหรอ)

แม้ขนาดจะเล็กลง แต่ป้าไม่ท้อ ขอยึดเอาไอ้ไม่ถึงคูหาเดียวเป็นที่มั่น และประกอบสัมมาอาชีพของป้าต่อไป

วันนี้จึงเป็นวันแรกที่ผมและพรรคพวกได้ลิ้มรสฝีมือป้าอีกครั้ง (น้ำตาจะไหล)

เพื่อนบ้านของป้ากลับมาครบครัน นั่นคือ พี่ข้าวมันไก่และข้าวขาหมู เว้นเสียแต่พี่ข้าวหน้าเป็ดที่ไปแล้วไปลับ ตั้งนมนานกาเล
แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิม นอกจากขนาดของอาณาจักรของป้านั้น ก็คือ…

ป้าถูกริดรอนวรยุทธ …

ป้าถูกประกาศิต ห้ามสะบัดตะหลิว

ผมแทบไม่เชื่อสายตา และหูของตัวเอง ยามเดินไปสั่งกับข้าว ซึ่งตอนแรกว่าจะคิดเมนูพิสดารต้อนรับการกลับมาของป้า แต่กลับต้องผิดหวัง เพราะป้าบอกว่า

“เค้าห้ามผัดกับข้าว” เหตุเพราะ กลัวควันกับข้าวมันฟุ้งกระจาย (ผมคาดว่าน่าจะเกิดจากการกดดันจากร้านเสริมสวยหลังร้านด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นนั่นแหล่ะครับ)

ทำอาหารตามสั่ง แต่ถูกสั่งห้ามผัดกับข้าว … ท่านผู้ชม มันอะไรกันครับ

ทางออกที่ป้าพอจะคิดได้ หากต้องการรักษาอาชีพนี้ต่อไปก็คือ ป้าต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง จากที่เคย “สั่ง” แล้ว “ทำ” กลายเป็น
“ทำ” ก่อน “สั่ง”

ป้าผัดกับข้าวมาก่อน ใส่หม้อ กะละมังมา รอเวลาลูกค้าสั่ง แล้วจึงตักกับข้าวเหล่านั้น ใส่จานแล้วเสิร์ฟ

ความเร็วอาจไม่ลดลง

แต่เสน่ห์หายไป

เสน่ห์จากการสะบัดตะหลิว รวมไปถึงความหลากหลายของเมนูอาหาร ก็หดหายไปด้วย

ทุกวันนี้ป้าทำได้เพียงแต่ “ต้ม” วรยุทธของป้าหดหายไปมาก

แม้ป้าจะพยายามหาอาวุธใหม่ๆ มาเสริมเขี้ยวเล็บให้ยังพอมีอยู่ เช่น การนำเอาข้าวหมูแดงมาขายเพิ่มความหลากหลายในเมนูร้าน แต่ผมเชื่อว่ามันก็เทียบไม่ได้กับ ของเดิมๆที่ป้าเคยมี

ลูกค้าหลายคนหายหน้าไปเพราะ ร้านป้าเล็กลง ไม่มีที่ว่างพอให้นั่ง

แม้ขาประจำบางรายจะสั่งกับข้าวป้าใส่กล่อง ขึ้นไปกินบนสำนักงาน แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ป้าเคยได้รับมา

ผมสังเกตเห็นชีวิตชีวาบนใบหน้าของป้าหายไป ตลอดเวลาที่มือเป็นระวิง ตักกับข้าวเสิร์ฟลูกค้า สายตาและใบหน้าของป้าดูกังวลๆยังไงไม่รู้สิครับ อาจจะเป็นเพราะยังไม่คุ้นชินกับวรยุทธที่หดหายไป และต้องดำรงอยู่บนความเปลี่ยนแปลงในวันแรก

อย่างไรก็ตาม...

แม้ร้านป้าจะเล็กลง วรยุทธอาจถดถอย

แต่สิ่งที่ป้าจะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม คือ

ลูกค้าประจำอย่างผมและผองเพื่อนครับ

Sunday, June 19, 2005

ขอคิดด้วยคนเรื่องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน : ตอนที่ 2

มาเริ่มตอนใหม่ด้วย ความคิดเห็นส่วนตัวกับการแก้ไขปัญหาคาราคาซัง ที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้กันครับ

เริ่มนะครับ...

กฎหมายเขียนอย่างไร ออกแบบอย่างไร ก็คงต้องเป็นไปอย่างนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข ก็ฝันลมๆแล้งๆเหงือกแห้งกันไปก่อน

วันนี้เราจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรในปัจจุบัน ผมว่าเร่งด่วนกว่า

อย่างที่ผมว่า เมื่อมันเป็นความผิดพลาดในขั้นตอนที่สำคัญแล้ว ก็ชอบที่จะต้องมีการยกเลิกเพิกถอนกระบวนการนั้นเสีย แล้วแก้ไขให้มันถูกต้อง

แล้วการแก้ไขนั้นมีขอบเขต หรือข้อจำกัดอย่างใดหรือไม่

ผมคิดว่ามี

ผมเชื่อในคำสอนโบราณ ที่ว่า “อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ไม่ใช่ว่าผมจะล้อสำนวนโบราณ มาเป็นข้ออ้างในการแก้ปัญหาอย่างข้างๆคูๆ เพราะดูเหมือนวิธีคิดแบบนี้ น่าจะแฝงอยู่ในวิธีคิดของกฎหมายเช่นกัน

สิ่งที่เป็นเรื่องของ “ขั้นตอน” หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเกิดปัญหาที่ว่า เมื่อขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ผิดพลาดคลาดเคลื่อน แล้วจะส่งผลต่อขั้นตอนอื่นๆอย่างไร โดยเฉพาะหากปล่อยให้มันล่วงเลยไปยาวนาน หรือเกิดขั้นตอนใหม่ๆ ที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ตามก้นมาติดๆแล้ว

เมื่อผมคิดได้ถึงตรงนี้ ผมก็พยายามที่จะเหลือบมอง บรรดากฎหมายที่มีอยู่ดั่งกองภูเขา ว่าไอ้วิธีคิดแบบนี้เนี่ย มันซ่อนอยู่ ณ ตรงไหน ของมหาสมุทรกฎหมาย

ไม่รู้อะไรดลใจทำให้ผมนึกถึง วิชาที่ผมถือว่าเป็นของแสลงที่สุด นั่นได้แก่ วิชา”กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” อันเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยใช้ศาลเป็นเวทีเรียกร้องความยุติธรรมของคู่กรณี

เช่นกัน กระบวนพิจารณาของศาล ตาม วิฯแพ่ง (ผมเรียกย่อๆนะครับ ตามภาษาที่พวกเรานักกฎหมายใช้กันอยู่ทั่วไปดาษดื่น) ก็เป็นเรื่องของขั้นตอน เริ่มต้นที่การยื่นฟ้อง รับฟ้อง ตรวจฟ้อง ชี้สองสถาน กำหนดประเด็นข้อพาท และหน้าที่ในการนำสืบพิสูจน์ความผิด การพิจารณา โดยคู่ความ ทั้งสองฝ่าย อ้างพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของแต่ละคน ตามหน้าที่หรือภาระการพิสูจน์ที่กำหนด เมื่อศาลรับฟังพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว ก็จะเริ่มชั่งน้ำหนักพยาน เชื่อหรือไม่เชื่อฝ่ายใด ข้างใดพิสูจน์ได้มีน้ำหนักมากกว่า เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่ทั้งคู่ถกเถียงกันอยู่ ยุติลง ยุติยังไง ก็ยุติในข้อเท็จจริงที่ว่า “ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร” เมื่อข้อเท็จจริงยุติลงแล้ว ศาลก็จะเปิดบทกฎหมายดูสิว่า ข้อเท็จจริงเหล่านั้น เข้ากับบทกฎหมายอย่างไร และก่อให้เกิดผลทางกฎหมายตามกฎหมายนั้นๆอย่างไร และนำไปสู่การพิพากษา อันเป็นการจบกระบวนการพิจารณาคดี (ขั้นตอนหลังจากนี้ก็ยังมีอีกที่เรียกว่าขั้นตอนการบังคับคดี หรือบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาต่อไป อันนี้ไม่กล่าวถึงล่ะครับ ยืดยาวเสียเปล่าๆ)

จะเห็นได้ว่า ในกระบวนการพิจารณาหลักๆของศาลตั้งแต่ยื่นฟ้อง รับฟ้อง จนกระทั่ง มีคำพิพากษา มันก็เป็นกระบวนการที่เริ่มตั้งแต่หนึ่งยันสิบ (แม้จะมีช่องทางที่จะถีบคดีออกจากพิจารณาของศาลโดยไม่ต้องรอให้ถึงสุดสายปลายทางโดยมีคำพิพากษาคดีก็ตามที) มันก็ต้องมี ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งที่มิชอบ หรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

แล้ววิฯแพ่ง แก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร

พลันผมเหลือบไปเห็น มาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิฯแพ่งดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่ความ หรือศาล ท่าน สามารถแก้ไขสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ” ผมสรุปเนื้อหาย่อๆ และแปลงให้มันเป็นภาษาของมนุษย์โลก ดังนี้ครับ

1. กระบวนพิจารณาใด ที่ผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดจริง แต่เป็นกระบวนการผิดหลงเล็กน้อย เท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อความยุติธรรมในการพิจารณาคดี หรือ ไม่ส่งผลให้เกิดความได้เสียกันระหว่างคู่ความ และไม่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของสังคมนั้น กฎหมายปล่อยให้มันผ่านเลยไป ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร เสียเวลาเปล่าๆ

2. กระบวนการพิจารณาที่ผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งคราวนี้เป็นเรื่องสำคัญ คือ เป็นกรณีที่ผิดกฎหมายอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความยุติธรรม เกี่ยวกับการได้เสียของคู่ความ ความได้เปรียบในเชิงการต่อสู้คดี หรือเป็นการขัดต่อกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยแล้วนั้น อันนี้กฎหมายอนุญาตให้คู่ความ ริเริ่มเสนอขอแก้ไขกระบวนการนั้นต่อศาลได้
แต่การแก้ไขนั้น ต้องอยู่ในเงื่อนไขทางกฎหมายด้วยครับ หาใช่นึกอยากจะแก้ได้โดยอิสระเสรี เงื่อนไขในการแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม วิฯแพ่ง มาตราดังกล่าว มีดังนี้ครับ

1. คู่ความที่เสียหายจากกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ต้องยื่นคำค้านต่อศาลนับแต่วันที่ทราบถึงขั้นตอนที่ผิดระเบียบนั้น ภายใน 8 วัน และต้องก่อนมีคำพิพากษาด้วย นั่นหมายถึง การขอยกเลิกเพิกถอนหรือการแก้ไข ย่อมต้องอยู่ในระยะเวลาพอสมควร และที่สำคัญ ต้องกระทำก่อนที่อะไรๆมันจะสายเกินไป คือ ก่อนที่กระบวนการนั้นมันจะสิ้นสุด ก็คือ ก่อนมีคำพิพากษานั่นเอง

2. คู่ความที่จะยกกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นมาอ้างขอแก้ไข หรือยกเลิกเพิกถอนได้นั้น ต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบนั้นแล้ว หมายความว่า รู้ทั้งรู้ว่าผิด แทนที่จะเรียกร้องให้มีการยกเลิกเพิกถอน หรือแก้ไข ความผิดพลาดนั้น แต่กลับไปดำเนินการในขั้นตอนใหม่ ภายหลังขั้นตอนที่ผิดพลาดนั้น คือ ผิดที่ 1 แทนที่จะหยุดและร้องแรกให้แก้ไข แต่ดันเงียบแล้ว ไปเริ่มนับ 2 , 3 , 4, ... อันนี้กฎหมายถือว่า คุณให้สัตยาบัน แก่กระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นแล้ว

กฎหมายปิดปากนั่นเองครับ

ผมไม่ทราบว่าในทางบริบทของกฎหมายมหาชนนั้น มีหลักคิดและตรรกะเช่นนี้หรือไม่ ผมเชื่อว่ามี เพราะในความคิดของผม กฎหมายมหาชนน่าจะมีเรื่องเทคนิค ขั้นตอน ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำคำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำทางปกครองต่างๆ คงต้องรบกวนขอความรู้นักกฎหมายมหาชน ช่วยให้ความกระจ่างแก่ผมด้วยเถอะครับ

แล้วเหตุผลรวมถึงวิธีคิดดังกล่าว มันเกี่ยวกับเรื่องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของผมยังไง หลายท่านอาจสงสัย

จำได้ไหมครับ ที่ผมบอกว่า ผมมองเรื่องราว หรือปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นเรื่องของ “ขั้นตอน” และผมก็คิดว่า เหตุผลในการแก้ไขในเรื่องกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบของ วิฯแพ่ง น่าจะเป็นสิ่งที่เทียบเคียงเหตุผล หรือวิธีคิดนั้นมาพิจารณาได้

เบื้องแรก ถามว่า ขั้นตอนที่ผิดพลาดในการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ นั้น ถือเป็นชั้นตอนที่สำคัญหรือไม่

คำตอบอยู่ที่ตอนที่แล้ว ... สำคัญครับ

เมื่อสำคัญแล้วส่งผลอย่างไร

คำตอบคือ

สามารถยกเลิกเพิกถอน หรือแก้ไขได้ครับ

แล้วเมื่อสามารถยกเลิกเพิกถอนได้แล้ว มีข้อจำกัดใดหรือไม่

มีครับ ตามที่ผมว่าไว้ข้างต้น แล้วกรณีกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ อยู่ในข้อจำกัดหรือไม่ครับ

อยู่ครับ ผมมองว่า เมื่อชอบที่จะต้องยกเลิกเพิกถอนหรือแก้ไขขั้นตอนนั้น คตง. เอง หรือตัววุฒิฯ ต้องริเริ่ม ทำการแก้ไข โดยหยุดกระบวนการที่จะต้องดำเนินต่อไปตามกฎหมายเสียก่อน และต้องรีบทำก่อนที่กระบวนการมันจะสิ้นสุด นั่นก็คือ ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ซึ่งผมถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็เหมือนกับ หากจะแก้กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ต้องทำซะ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
ถามว่า ทั้งคตง เอง และวุฒิ ได้ไปทำอะไรอันเป็นการให้สัตยาบัน ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้น หรือไม่ครับ

จมหูเลยครับ

ประเด็นความผิดพลาดนี้ ได้ถูกหยิบยกมาอภิปราย แล้วด้วยซ้ำ โดยวุฒิสมาชิกเอง และก็มีมติไปแล้วว่า ไม่มีปัญหา วุฒิเลือกจากสามคนได้ แถมยังได้เลือกคุณหญิงจารุวรรณ ซึ่งมีคะแนนเป็นอันดับสองของการคัดเลือกโดยคตง. และนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้โปรดเกล้าฯ
ในหลวงท่านก็ทรงโปรดเกล้าฯแล้วเรียบร้อย

ฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือไม่ครับ

แล้ว ณ วันนี้เราจะทำอย่างไร??

ผมยอมรับว่า กรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น หมุนไปทางไหนก็ล้วนแต่เจอปัญหาข้อกฎหมายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาการตีความระเบียบ พระราชบัญญัติ ปัญหาการบังคับตามคำพิพากษาของศาล ปัญหาพระบรมราชโองการโปรดเกล้า และมันยิ่งทับซ้อนซ่อนเงื่อนกันไปใหญ่อีก เมื่อ คตง.สบช่องรีบอนุวัตรตามคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯคนใหม่ ส่งให้วุฒิฯ และวุฒิฯก็เห็นชอบไปแล้ว กำลังรอทูลเกล้าอีก

ท้ายสุด สว.เสรีฯ ยังอุตสาห์ปูดประเด็นว่า ระเบียบคตงฯ ว่าด้วยการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ นั้น ไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะทำให้ยังไม่มีผลบังคับใช้อีก เท่ากับกระบวนการสรรหาของคตง.ตามระเบียบนี้มีปัญหาทั้งคราวคุณหญิงจารุวรรณ และล่าสุดของนายวิสุทธิ์ ด้วย

เอาเข้าไป

ผมว่าปัญหาต่างๆเหล่านี้มันพันกันยั้วเยี้ย จนจับต้นชนปลายไม่ถูก

แต่ถึงแม้จะพันกันเป็นปมเขื่องขนาดไหน มันก็เลยมาแล้วอยู่ดี ตอนนี้ขั้นตอนที่มันโผล่พ้นน้ำพ้นดินขึ้นมา ให้เราได้เห็นหัวกัน ก็คือ ขั้นตอนที่คุณสุชน จะต้องนำชื่อคุณวิสุทธิ์ฯ ทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปราภิไธย ส่วนขั้นตอนอื่นที่ผมร่ายยาวทั้งหมด จมอยู่ใต้น้ำ หรือใต้ดินหมดแล้ว

และถ้าตรรกะของผมที่ได้จากการอ่าน วิฯแพ่ง มาตรา 27 นั้นถูก ถ้าผมคิดว่าขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมายภายหลังไม่ควรเสียไปเพราะขั้นตอนที่มิชอบด้วยกฎหมายบางประการก่อนหน้านั้น

และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ต้องใช้ตรรกะนี้กับการเสนอชื่อคุณวิสุทธิ์ฯด้วย โดยปล่อยให้ประเด็นที่ผมคิดนั้น เป็นเรื่องทางวิชาการต่อไป โดยเฉพาะ เมื่อมันมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผูกพันการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรของรัฐทุกองค์กร

เมื่อสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายต้องมีความชัดเจนแน่นอน การบังคับตามกฎหมายก็ต้องชัดเจนด้วย รวมทั้งการเคารพคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิดตามหลักการ หรือ ที่ศัพท์ในทางกฎหมายมหาชนเรียกว่า “ความมั่นคงแห่งนิติฐานะ” ที่ผมไม่คุ้นหูเอาเลย แม้ว่าจะเรียนห้องเดียวกับนายนิติรัฐ ก็เหอะ

หากทุกอย่างมันเบลอ มันไม่ชัดเจน กระบวนการต่างๆมันก็หยุดชะงัก เดินต่อไม่ได้ บ้านเมืองเสียหาย สังคมสับสน
ปรมาจารย์ทางกฎหมายหลายคนเสนอให้คุณหญิงลาออก ซึ่งผมก็งง ว่า จะลาออกได้ไง เมื่อมันตั้งรูปเรื่องมาแล้วว่า เข้ามามิชอบ เป็นโมฆะบ้าง ถือว่าไม่เคยดำรงตำแหน่งบ้าง

บางคนก็หาว่าคุณหญิงดื้อแพ่ง ไม่ยอมรับคำพิพากษาศาล ผมกลับเห็นว่า ไม่ใช่หรอก เค้าก็เรียกร้องในสิ่งที่เค้าคิดว่าถูก ถามว่า คุณหญิงทำอย่างนี้แล้ว กระบวนการมันเดินหน้าต่อไม่ได้เหรอครับ ไม่หรอกครับ มันเดินต่อได้ แต่ทำไมคุณสุชน ไม่เดินต่อล่ะครับ ถ้ามันดื้อแพ่งแล้วได้ผลจริง มันควรต้องชะงักตั้งแต่มีคำพิพากษาใหม่ๆแล้ว คตง ก็คงไม่สรรหาคนใหม่ วุฒิฯก็คงไม่เลือกคนใหม่ ที่รอจ่อทูลเกล้าฯ อยู่รอมร่อเนี่ย

ต้องไปถามคุณสุชนครับ ว่ารออะไร

หากคุณสุชน ทูลเกล้าฯ ชื่อคุณวิสุทธิ์ฯ แล้วทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งเรียบร้อย กระบวนการทุกอย่างควรจะจบลง ผมไม่อยากเห็นหลายคนที่ไม่เห็นด้วย (ผมก็ไม่เห็นด้วยวะ) กับการเสนอชื่อคุณวิสุทธิ์ ใช้วิธีการเดิมๆ เหมือนตอนที่ยื่นเรื่องคุณหญิงให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวินิจฉัยเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอีก มันไม่จบไม่สิ้น เมื่อต้องการจะขุดเอาปมเดิมๆมาเล่นกัน มันก็ไม่มีวันจบ
ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นรอยด่างแห่งอดีตของวงการกฎหมายเถิดครับ เป็นรอยด่างที่เหมือนแผลเป็น ที่ไม่ลบไม่จาง คอยเตือนให้เราระลึกถึงเสมอว่า การเล่นแร่แปรธาตุกับสิ่งที่เรียกว่า “กฎหมาย” มันส่งผลให้เกิดความ “เจ็บปวด” เพียงใด

กฎหมายที่เกี่ยวข้องครับ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 27 วรรคแรก ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐานหรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร

วรรคสอง ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นๆ

Thursday, June 16, 2005

ขอคิดด้วยคนเรื่องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน : ตอนที่ 1

ว่าจะเขียนถึงเรื่องนี้นานแล้ว แต่ด้วยความเหลวไหลส่วนตัว ทำให้ผมทิ้งเวลามาเนิ่นนาน นานจนมันอาจจะตกขบวนการถกเถียงกับประชาคมไปแล้วก็ได้

แถมเขียนไปเขียนมายาวเหยียด และมากมายหลายประเด็น ผมเลยขออนุญาตที่จะแบ่งขาย แบ่งตอนเอาลงบล็อกเพื่อมิให้เป็นการทรมานสายตา ผู้ที่หลงมาอ่าน

ตอนนี้ผมจะว่าถึง กระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามกฎหมายที่มีอยู่และเป็นอยู่ก่อนนะครับ ส่วนประเด็นความเห็นของผมในการแก้ไขปัญหากฎหมายที่เกิดขึ้น ที่คาราคาซังอยู่ จะทำอย่างไร ขออนุญาต เอาไปไว้ในตอนหน้า

เริ่มนะครับ...

ในประเด็นเกี่ยวกับ การนำพระบรมราชโองการมาเป็นเหตุผลหลักในการดื้อแพ่ง ของบรรดากองเชียร์คุณหญิงจารุวรรณนั้น ผมเห็นพ้องทุกประการกับทุกท่าน โดยเฉพาะ พี่บุญชิตฯ และ นายนิติรัฐ รวมทั้งเรื่องเครื่องราชย์ฯด้วย ผมไม่เห็นประเด็นอะไรสักเท่าไหร่ นอกจากจะเป็นการถกเถียงที่ไร้ข้อสรุป เพราะเรื่องแบบนี้เหมือนเอาศรัทธา ความเชื่อมาทุ่มเถียงกัน

ประเด็นที่ผมมอง ก็คงหนีไม่พ้นประเด็นข้อกฎหมาย แต่ก็ต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่นักกฎหมายมหาชน และมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนเทียบเท่าหางของอึ่งน้อยตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ดังนั้นหากข้อเขียนอันนี้ผิดพลาดประการใดในบริบทของกฎหมายมหาชน วอนผู้รู้ทั้งหลายชี้แนะด้วยขอรับ

แต่อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาที่ผมขอคิดด้วยคน ก็ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการทำหน้าที่ หรือเรื่องคุณภาพของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุที่ความรู้ไม่ถึง และน่าจะเป็นผู้อ่านมากกว่าผู้เขียน

ดังนั้นเรื่องของผมจริงๆ จึงเป็นเรื่องของ “เนื้อหา” ของ “กระบวนการสรรหา“ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มากกว่า ซึ่งผมมองเรื่องนี้เป์นสายพาน หรือเป็นกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ การสรรหาชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม โดย คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อจากนั้น ก็เสนอชื่อบุคคลดังกล่าว สู่การพิจารณา เพื่อให้ “ความเห็นชอบ” โดย องค์กรวุฒิสภา เมื่อเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ แล้ว ก็จะนำชื่อบุคคลนั้น ทูลเกล้าฯ เพื่อให้ในหลวงท่านทรงลงพระปรมาภิไธย ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

ประเด็นปัญหาก็คือการทำงานของสายพานเส้นนี้ มันสะดุดตรงไหน?

มันมาสะดุดในขั้นตอนของการสรรหาบุคคลของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อนำชื่อของบุคคลดังกล่าวเสนอต่อวุฒิสภา

มันมาสะดุดเพราะระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการสรรหาบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ นั้นดันระบุให้ “เสนอชื่อผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด” เพียงรายเดียว เพื่อให้วุฒิฯ “เห็นชอบ” แต่เอาเข้าจริง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกลับ เสนอชื่อขึ้นไปสู่การพิจารณาของวุฒิฯ พร้อมกันถึง สามชื่อ แล้ว ผู้ที่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิฯให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ดันมาเป็นคุณหญิงจารุวรรณ ซึ่ง ได้คะแนนเป็นอันดับสอง ไม่ใช่นายปัญญา ดาบเพชร ที่ได้คะแนนสูงสุดตามระเบียบฯ

หลายท่านตีความว่า ระเบียบดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 30 เพราะ มาตรานั้นบัญญัติให้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จัดทำเป็น “บัญชีรายชื่อ” เสนอต่อวุฒิฯ นั่นหมายความว่า พระราชบัญญัติดังกล่าว อนุญาตให้ คตง. เสนอรายชื่อหลายรายชื่อได้ เพราะให้ทำเป็นบัญชี (โปรดนึกภาพบัญชีหางว่าว ทะเบียนไพร่พลสมัยโบราณที่ต้องมีรายชื่อยั้วเยี้ย) ดังนั้นการที่ระเบียบคตง. กลับกำหนดให้ คตง. เสนอชื่อบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุดนั้น ย่อมหมายถึง ให้ส่งได้แค่ “คนเดียว” นั่นก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า ระเบียบดังกล่าวนั้นขัดต่อพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปว่า กฎหมายลำดับสูงกว่าย่อมมาก่อน หรือ ตัด กฎหมายในลำดับต่ำกว่า หากเนื้อหาของกฎหมายทั้งสองขัดหรือแย้งกัน

ในเรื่องนี้ ผมกลับเห็นต่างครับ จากการที่ผมสำรวจ บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ในมาตรา 30 และ 31 ซึ่งเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการเสนอชื่อของบุคคลที่มีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ต่อวุฒิสภานั้น ผมพบว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการให้ คตง. เสนอรายชื่อบุคคลนั้น เพียง “ชื่อเดียว” จริงๆ

ผมไม่ได้นั่งเทียนเขียนครับ สาบานได้

สังเกตได้จากถ้อยคำลายลักษณ์อักษรของ มาตรา 30 และ 31 โดยเฉพาะใน มาตรา 31 ครับ (ใครไม่มีพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่เป็นไรครับ ผมคัดลอกมาไว้ด้านล่างของข้อเขียนนี้ไว้แล้ว) แม้ มาตรา 30 จะให้ส่งเป็นบัญชีรายชื่อ ซึ่งหลายท่านมองภาพเป็นบัญชีหางว่าวอย่างที่ได้ว่ามาแล้ว แต่กระนั้น บัญชีรายชื่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าส่งเพียงคนเดียวไม่ได้นะครับ

ลองมาดู มาตรา 31 กันดีกว่าครับ ว่าอ่านยังไงถึงหมายถึง “คนเดียว”

ถ้อยคำที่เป็นคำสำคัญของมาตราดังกล่าวได้แก่คำว่า…

1. เห็นชอบ ในวรรคแรก
2. คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่ง ในวรรคสอง
3. ถ้าไม่เห็นชอบให้คณะกรรมการฯ คัดเลือกคนใหม่ขึ้นไป จนกว่า วุฒิฯจะเห็นชอบ ซึ่งเป็นเนื้อความหลักในวรรคที่สี่

ขยายความได้ดังนี้ครับ

1. เมื่อคตง.ได้สรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายและเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ก็จะต้องส่งรายชื่อบุคคลนั้นต่อไปให้ วุฒิสภา “ให้ความเห็นชอบ” ถ้อยคำคำว่า “เห็นชอบ” นี้เป็นคำสำคัญที่ต้องพิจารณาเหตุเพราะ หากพิจารณาบทบัญญัติในกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวกับการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น กรณีของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือแม้แต่ กรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเองแล้ว...

ผมพบว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นๆ กลับบัญญัติให้ วุฒิฯ “เลือก” ไม่ใช่ “เห็นชอบ”

การที่เรื่องเดียวกัน กฎหมายบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำต่างกัน นั่นย่อมหมายความว่า ประสงค์ให้ความหมายมันต่างกันด้วยน่ะครับ

บางคนตีความอีกว่า ก็ส่งสามเห็นชอบหนึ่งก็ได้นี่หว่า

ครับ…แต่แถวฝั่งธนบ้านผมเค้าเรียกว่า “เลือก” ครับ อีแบบนั้นน่ะ

2. นอกจากความแตกต่างแห่งถ้อยคำของคำว่า “เลือก” กับ “เห็นชอบ” ที่ผมโปรยไว้แล้วนั้น การลงคะแนนของวุฒิฯในการเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ก็น่าคิด เนื่องจาก กรณีการเลือกองค์กรอิสระอื่นๆที่กฎหมายกำหนดให้ส่งเป็นบัญชีรายชื่อโดยปรากฏรายชื่อบุคคลมากกว่าหนึ่งให้วุฒิไปเลือกเอาเองนั้น กฎหมายจะบัญญัติเกี่ยวกับเกณฑ์คะแนนไว้โดยใช้เกณฑ์คะแนน “สูงสุด” และ ต้อง”ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิ” เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ชนะ นั่นหมายถึง ในบรรดาหลายหน่อนั้น ใครได้คะแนนสูงสุดและคะแนนสูงสุดนั้นเกินกึ่งหนึ่ง ก็เป็นผู้ที่ได้รับชัยเหนือคู่แข่งร่วมบัญชีรายชื่อนั้น

แต่หากสังเกตกรณีการลงคะแนนเห็นชอบผู้ว่าการฯ กฎหมาย กำหนดแต่ คะแนนที่จะเห็นชอบนั้น ต้อง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” เท่านั้น หาได้บัญญัติถึงกรณีคะแนนสูงสุด เหมือนกรณีอื่นแต่อย่างใด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อไม่มีเกณฑ์คะแนนสูงสุด ก็ย่อมหมายความได้ว่า มันไม่มีการแข่งขันของบุคคลในบัญชีหลายคน หากแต่เพราะมันเป็นคนๆเดียวแค่นั้นแหล่ะ ถึงให้การเห็นชอบด้วยคะแนนเกินกึ่งแค่นั้น

ผมว่ามันจะง่ายกว่านั้นนะ ถ้ากฎหมายหันไปใช้คำว่า “รับรอง” แทน “เห็นชอบ”

3. มาถึงเหตุผลสุดท้าย วรรคท้ายของ มาตรา 31 บอกกล่าวถึงกรณีที่วุฒิฯ ไม่เห็นชอบกับบุคคลที่ คตง. สรรหามา ผลก็คือ คตง.ต้องไปดำเนินการสรรหา และเสนอขึ้นมาใหม่ จนกว่า วุฒิฯจะเห็นชอบ หมายความว่าไงครับ ก็หมายความว่า คตง.คัดมาทีละคน ส่งไปให้วุฒิฯดูสเป็ค ไม่ชอบ ก็เด้งกลับลงมา ให้ คตง. จัดไปให้ใหม่ ทีละคนๆไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ที่ตรงสเป็ค วุฒิฯ โดยได้คะแนน “เห็นชอบ” เกินกึ่งหนึ่งนั่นแหล่ะครับ จึงจะเสร็จสิ้น


จากเหตุผลทั้งหลายแหล่ที่ผมยกมา ผมจึงเห็นว่า ระเบียบคตง ที่กำหนดให้ต้องส่งคนที่ได้คะแนนสูงสุดเพียงคนเดียวจาก คตง. ไปสู่ วุฒิฯ ให้เห็นชอบนั้น หาได้ขัดกับ รัฐธรรมนูญ หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินไม่ ออกจะสอดคล้องต้องกันด้วยครับ

นั่นเท่ากับผมยอมรับว่าการส่งชื่อไปทั้งสามท่าน คือ นายประธาน ดาบเพชร นางจารุวรรณ เมณฑกา (ก่อนได้คุณหญิง) และ นายนนทพล นิ่มสมบูรณ์ นั้น ขัดต่อระเบียบฯ และพระราชบัญญัติ แม้จะวงเล็บไปว่า นายประธานฯ ได้คะแนนมากที่สุด รองลงมาคือ นางจารุวรรณ และนายนนทพล ก็ตามที

มาถึงตรงนี้แล้ว หลายคน อาจจะเกาหัวแล้วตั้งคำถามว่า แล้วคุณมรึงจะเขียนหาอาวุธด้ามยาวใช้แทงทำไม ในเมื่อก็ยอมรับแล้วว่ามันขัด มันก็ต้องพังราบเรียบไปทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการโปรดเกล้าแล้วหรือไม่

หรือ “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” นั่นเองครับ

มิได้ครับ…การที่มีขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งบกพร่อง ผมไม่ได้มองว่ามันจะทำให้ขั้นตอนที่ชอบภายหลังจากนั้น ต้องพังไปด้วย หรือต้องมีการยกเลิกเพิกถอนขั้นตอนที่ชอบภายหลังในทุกกรณี

บ้านแม้ไม่ได้ตอกเสาเข็ม ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องรื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว เพื่อตอกเสาเข็มใหม่ หากดินที่ก่อสร้างแข็งแรงดีเพียงพอแล้ว และไม่มีผลต่อความมั่นคงของบ้านหลังดังกล่าว

ผมเห็นว่า มันต่างจาก เรื่องการ ขาด “คุณสมบัติ” ที่ไม่ว่า จะได้รับการโปรดเกล้าแล้วนานกี่ปี เมื่อค้นพบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งขาดคุณสมบัติบางประการ เช่น ไปปลอมวุฒิการศึกษา อันนี้ไปหมดครับ ล้มเป็นโดมิโนกันเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่าขั้นตอนที่บกพร่องนั้น หากจะส่งผลให้ต้องมีการยกเลิกเพิกถอนขั้นตอนที่ “ชอบด้วยกฎหมาย” ที่เกิดขึ้นมาภายหลังนั้นได้ มันต้องเป็นขั้นตอนที่ “สำคัญ” จริงๆ

แล้วที่ว่า สำคัญ ไม่สำคัญ จะเอาอะไรมาวัด??

ผมคิดอย่างนี้ครับ

เริ่มที่ความสำคัญและสถานะขององค์กรที่เรียกว่า “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” กันก่อน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จะว่าไปถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีสถานะพิเศษ เหตุเพราะได้รับการบัญญัติเคียงคู่กับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในภารกิจการตรวจเงินแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นเพียงแม่บ้านคอยปัดกวาดเช็ดถู เหมือน เลขาธิการสำนักงานขององค์กรอิสระทั้งหลายเท่านั้น (ผมเคยเขียนภารกิจและบทบาทในการคานและดุลอำนาจระหว่างผู้ว่าการฯกับ คตง.ไว้แล้วในบล็อกแห่งนี้ครับ ลองเลื่อนลงไปดูในเรื่องยุ่งๆเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินครับ)

ด้วยสถานะและภารกิจที่ค่อนข้างพิเศษ การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งนี้ จึงต้องพิเศษตามไปด้วย คือ

ไม่หลวมเหมือนกับการเลือกคนมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานขององค์กรอิสระทั้งหลาย และขณะเดียวกัน ก็ไม่แน่นขนาด บรรดาองค์กรกลุ่มที่เป็นคณะกรรมการองค์กรอิสระทั้งหลาย ที่ขนาดต้องมีการตั้งกรรมการสรรหามากมาย และวุ่นวาย เดี๋ยวจะเอาการเมือง เดี๋ยวไม่เอาการเมือง ปวดกบาล

ด้วยเหตุที่ต้องทำงานร่วมกันกับ คตง. และขณะเดียวกัน ต้องดำรงบทบาทแห่งการ ดุลและคานอำนาจกับ คตง. ด้วย การสรรหาจึงต้องเปิดโอกาสให้ คตง. และ วุฒิสภา ในการใช้อำนาจร่วมกันในการเลือกบุคคลดังกล่าว ไม่ให้ตกอยู่ในอาณัติของ คตง.เกินไป ขณะเดียวกัน ก็ยังผูกด้ายแดงโยงกับ คตง.ไว้ไม่ให้หลุดลอยไป

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 31 ที่ผมยกขึ้นมาข้างต้นแล้วนั้น แสดงให้เห็นถึงการออกแบบ ดุลอำนาจระหว่าง คตง. และ วุฒิฯ ในการร่วมกันสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้คตง.เป็นคนเสนอชื่อ แล้วให้วุฒิฯ เห็นชอบ (คงไม่ผิดนักหากผมจะเปลี่ยนเป็น ให้คตง.เป็นคนเลือก และวุฒิฯเป็นผู้รับรอง)

ดังนั้นการส่งชื่อที่ผิดพลาดดังกล่าว จะถือว่าสำคัญหรือไม่สำคัญ ผมมองว่า เราน่าจะวัดได้จาก การกระทำดังกล่าว ทำให้ดุลอำนาจในการเลือกผู้ว่าการฯ ตามที่กฎหมายออกแบบไว้ ระหว่าง คตง. กับ วุฒิฯ เปลี่ยนไปหรือไม่

ในความเห็นของผม ผมเห็นว่า “เปลี่ยน” ครับ เปลี่ยนอย่างไรครับ?

เพราะมันจะต่างอะไร หากกฎหมายบัญญัติให้ คตง.สามารถส่งชื่อผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ได้สามคน เพื่อให้วุฒิฯเลือก แต่ คตง.กลับหลับหูหลับตาส่งไปเพียง “ชื่อเดียว” ฉันใดก็ฉันนั้นแล

เท่าที่ร่ายยาวมาทั้งหมด เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า บทบัญญัติในกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวกับการคัดเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีอยู่อย่างไร กระบวนการทั้งหลายแหล่เป็นอย่างไร และ โดยเฉพาะ เรื่อง “ดุลอำนาจ”ในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ระหว่าง “คตง” กับ “วุฒิสภา” ตามกฎหมายเป็นอย่างไร

ผมยังไม่ได้แสดงความเห็นว่า มันเหมาะสมหรือไม่เลย

จริงอยู่กฎหมายวางโครงสร้าง และวางดุลอำนาจในกรณีนี้ไว้อย่างข้างต้น แต่ถามผมว่า ผมเห็นด้วยหรือไม่?

ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับมันสักเท่าไหร่

ทำไมหรือครับ

ก็เพราะความเป็นองค์กรที่ต้องร่วมกัน “ตรวจเงินแผ่นดิน” และ ความเป็นองค์กรที่ต้อง “ดุลและคาน” อำนาจระหว่างกันในการตรวจเงินแผ่นดิน ของ “คตง” และ “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” น่ะสิครับ

น้ำหนักที่ได้ดุล ในการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ก็ควรต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับภาระหน้าที่และบทบาทขององค์กรดังกล่าวข้างต้นด้วย

ผมมองว่า น้ำหนักที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และระเบียบคตงว่าด้วยการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ค่อนข้างจะโอนเอียง มาทาง คตง. จนยากจะเรียกว่า “ได้ดุล”

เพราะอะไรครับ

หากเราพิจารณาจากการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นๆตามรัฐธรรมนูญนั้นจะเห็นว่า กฎหมายกำหนดให้มีการ “เสนอชื่อ” ผู้ที่เหมาะสมและมีคุณสมบัติครบถ้วน โดย องค์กรที่เรียกว่า “กรรมการสรรหา” ซึ่งมักจะออกแบบให้มีองค์ประกอบอันหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่คล้ายกันคือ ประธานศาลทั้งสามศาล อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ และผู้แทนพรรคการเมือง เทือกๆนี้

สังเกตได้ว่า กรรมการสรรหา มักมาจากภาคส่วนที่มีต้นทุนทางสังคม “ค่อนข้างสูง” (แม้ว่าจะมีข้อถกถียงเรื่องตัวแทนพรรคการเมืองในปัจจุบัน)

หากพิจารณาอำนาจหน้าที่ของกรรมการสรรหาเหล่านี้ จะพบว่า ไม่ใช่เป็นแค่เพียงองค์กรตรายาง ไว้สำหรับรับสมัคร บรรดาผู้ต้องการแข่งขันเพื่อดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ประเภท หรือเป็นแค่เพียง “บุรุษไปรณีย์” ในการรับส่งเอกสารการสมัคร และรวบรวมรายชื่อ ส่งวุฒิฯแค่นั้น ไม่อย่างงั้นคงไม่ต้องขนาดลากเอาคนอย่างประธานศาลสามศาล อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ หรือผู้แทนพรรคการเมือง หรอกครับ ลำพังข้าราชการรัฐสภาก็น่าจะพอแล้ว

กรรมการสรรหาสามารถพิจารณาคัดบรรดาผู้สมัครทั้งหลาย ให้เหลือจำนวนที่กฎหมายกำหนด (ซึ่งมักจะเป็นจำนวนสองเท่าของตำแหน่งที่จะดำรงได้ ) นั่นหมายถึง ในกระบวนการสรรหานั้น มีกระบวนการ “คัดเลือก” เบื้องต้น เพื่อหาผู้ที่ มีคุณสมบัติครบถ้วน และ “มีความเหมาะสม” แล้วด้วย ก่อนจะส่งให้ วุฒิฯ เลือกอีกที

ผมได้กลิ่นการดุลและคานอำนาจกันระหว่าง “กรรมการสรรหา” กับ “วุฒิสภา” แล้วครับ

ผมไม่ต้องการขนาดให้ดุลอำนาจในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นได้ดั่งกรณีข้างต้นหรอกครับ เพราะอย่างที่ผมว่า อย่างไรเสีย ผู้ว่าการฯ กับ คตง ท่านก็ต้องทำงานด้วยกัน และในฐานะหนึ่ง ผู้ว่าการฯ ท่านก็เป็นเสมือนแม่บ้าน คอยดูแลงานทางธุรการของ คตง. ท่านด้วยน่ะครับ

ไม่จำเป็นต้องไปตั้ง กรรมการสรรหา จากบุคคลภายนอก องค์กรภายนอก ในการสรรหาผู้ว่าการฯ ให้วุ่นวาย ผมมองว่า ให้ คตง. เป็นผู้สรรหาน่ะก็พอแล้ว

เพราะเมื่อเป็นผู้สรรหา ก็ย่อมหมายความว่า ท่าน “คัดเลือก” คนที่จะมาทำงานกับท่านได้ในเบื้องต้นแล้ว

การให้ คตง. อันเป็นผู้คัดเลือก เพียง รายชื่อเดียว เพื่อเสนอให้แก่วุฒิสภา ผมว่ามันล้ำเส้นเกินไป หรือกล่าวอีกนัยหนี่งก็คือ มันเป็นการบีบเปลือกตาของวุฒิให้หรี่ลงมองแต่เฉพาะคนๆเดียว แทนที่จะเบิกตาให้กว้าง แล้วได้มีโอกาสเทียบกับหลายๆคน ซึ่งผมมองว่ามันไม่ค่อยจะได้ดุลสักเท่าไหร่ (เพราะอย่างน้อยไอ้หลายๆคนที่ส่งไป ก็มาจากคนที่ท่านสรรหามากับมือทั้งนั้นแหล่ะ)

ผมไม่อยากเห็นภาพ “คนๆเดียวๆ” ที่ท่านเลือก จะต้องมาสำนึกกตัญญู กับ คตง. ในการทำหน้าที่ที่ต้องมีทั้งการดุลและคานอำนาจกัน

สรุปก็คือ ผมมองว่า แค่กฎหมายกำหนดให้ คตง.เป็นองค์กร “สรรหา” เพื่อเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เกิดดุลอำนาจอันเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องขนาด ให้ คตง.เลือกเหลือเพียง “คนเดียว”

หากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน จะได้รับโอกาสแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ผมว่าประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรได้รับการพิจารณา

ไว้ต่อตอนหน้าครับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องครับ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542

มาตรา 30 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชียายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 28 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 29 เพื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา

เมื่อคณะกรรมการได้สรรหาบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้นก่อนเสนอชื่อไปยังประธานวุฒิสภา

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 31 เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับรายชื่อบุคคลตามมาตรา 30 แล้วให้เสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ในการให้ความเห็นชอบผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ให้วุฒิสภาลงมติโดยต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ในการออกเสียงลงคะแนนเพื่อให้ความเห็นชอบ ให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ

เมื่อวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานวุฒิสภานำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตาม มาตรา 28 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 29 เสนอวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไปจนกว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบ

ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2543

ข้อ 6 การสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
....
(5) การเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ถือตามมติคณะกรรมการโดยวิธีลงคะแนนลับ ในการนี้ให้ผู้ซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดไม่เกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงมติอีกครั้งหนึ่งต่อเนื่องกันไปและในกรณีนี้ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ

Tuesday, June 07, 2005

เมื่อเจ้าหน้าที่ทำละเมิด

เมื่อตะกี้นั่งดูข่าวไอทีวี พร้อมๆกับการทานมื้อเย็น โชคดีที่รสมือแม่ผมมันอร่อยเหลือหลาย มิฉะนั้นอาจจะพาลกินไม่ลง

แม่ลูกคู่หนึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชน เมื่อนานหลายปีมาแล้ว จากอุบัติเหตุครั้งนั้นส่งผลให้เธอต้องกำพร้าแม่ และต้องใช้ชีวิตอยู่กับพ่อบุญธรรม

ทางฝั่งผู้ก่อเหตุศาลแพ่งพิพากษาให้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้เธอเป็นจำนวนห้าแสนบาท แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเธอยังเป็นผู้เยาว์ ประกอบกับ ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองแล้วตามกฎหมายเนื่องจากแม่ของเธอเสียชีวิตในอุบัติเหตุครั้งนั้น (เนื้อหาในข่าวไม่บอกว่า พ่อแท้ๆของเธออยู่ไหน และสำหรับพ่อบุญธรรมของเธอ ผมว่าน่าจะหมายถึง "พ่อเลี้ยง" หรือสามีใหม่แม่เธอมากกว่า ที่จะเป็นบิดาบุญธรรมตามกฎหมาย เพราะไม่งั้นก็คงเป็นบิดาบุญธรรมของเธอนี่แหล่ะที่ใช้อำนาจปกครองได้ และไม่ปรากฏว่ามีญาติพี่น้อง ที่พอจะขอให้ศาลตั้งเป็นผู้ปกครอง ได้อีกหรือเปล่า) สถานพินิจในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของเธอจึงต้องเป็นผู้ดูแลเงินก้อนนั้นแทนเธอ (เห็นว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่ขออภัยจริงๆผมยังนึกไม่ออกว่ากฎหมายไหน อาจจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานพินิจ ติดไว้ก่อนแล้วจะหาข้อมูลมาเสริมครับ) และวางกำหนดการเบิกจ่ายไว้ ให้เธอเบิกจ่ายได้ไม่เกินเดือนละ 2,500 บาท โดยจะต้องมีการตรวจสอบและอนุมัติจากเจ้าหน้าที่มากมาย

และมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บุคคลหนึ่งเป็นผู้ดูแลการเบิกจ่ายเงินก้อนนี้แก่เธอ

การเบิกจ่ายดำเนินเรื่อยมาหลายปี จากห้าแสน เหลือสองแสน

จากนั้นเป็นต้นไป สถานพินิจปฏิเสธการเบิกจ่ายให้เธอ โดยอ้างเหตุว่า

“เงินสองแสนที่เหลือนั้น เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเงินให้เธอผู้นั้น เบียดบังเอาไปพร้อมกับเงินของเด็กอีก 6 ราย หนีไปกับสายลมแล้วเรียบร้อย”

ทางหน่วยงานต้นสังกัด ได้ตั้งกรรมการสอบ และมีมติว่า

“เนื่องจากเป็นการกระทำผิดอาญา ซึ่งเป็นความผิดโดยส่วนตัว จึงไม่มีการชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว แต่เสนอให้เธอ ไปดำเนินการฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเป็นการส่วนตัวด้วยตนเอง”

……………….

เธอต้องดั้งด้นมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จนเป็นข่าวให้ผมนั่งดูพร้อมกับมื้อเย็นของผม

พาลให้ต่อมสงสัยผมทำงาน ว่า เหตุใดจึงไม่มีการชดใช้จากหน่วยงานต้นสังกัด เนื่องจากเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตน แต่ดันเลี่ยงให้เธอไปเรียกร้องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเอาเอง ซึ่งก็ไม่รู้แล้วว่าไปซุกซ่อนอยู่ที่ไหน และไม่แน่ว่า จะได้รับการชดใช้เมื่อใด และ เท่าไหร่

ถ้าผมจำไม่ผิด เคยมีหนังสือจากสำนักงานอัยการสูงสุดส่งเวียนมาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ว่า “กรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ประพฤติทุจริตต่อหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นนั้น ไม่อยู่ในขอบเขตของพระราชบัญญัติละเมิดเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการทุจริตนั้นไม่ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่”

นั่นหมายความว่า หากเจ้าหน้าที่ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่เสียแล้ว ผู้เสียหายต้องดำเนินการทางแพ่งเพื่อเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายเอง

ผมเข้าใจว่า สำนักงานอัยการสูงสุดคงเห็นว่า หากปล่อยให้มีการใช้มาตรการต่างๆในกฎหมายดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความไม่เหมาะสม เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีมาตรการที่เป็นคุณประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดมากมาย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น การไล่เบี้ยโดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความผิด และตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยอาจจะไม่ต้องไล่เบี้ยตามความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ และอาจจะให้ผ่อนชำระได้อีกต่างหาก โดยเฉพาะกรณีการทุจริตยักยอกเงินหลวง แต่การที่ท่านดันเหมารวมหมดว่า หากเป็นการทุจริตอันเป็นความผิดอาญานี่ถือเป็นเรื่องส่วนตัวหาใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่นั้น มันอาจจะกระทบชิ่งไปถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ทุจริตแต่ความเสียหายกระเด็นไปถึงบุคคลภายนอกเหมือนดังกรณีนี้

ท่านคงลืมไปว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้นอกจากจะออกมาเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ทั้งนี้เนื่องจาก การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ถูกพันธนาการ ไว้ด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี วินัยข้าราชการ หนังสือสั่งการ ฯลฯ มากมาย บานตะเกียง เรียกได้ว่า ขยับไปทางไหน ก็มีความเสี่ยงที่จะละเมิดกฎอันหยุมหยิมได้เสมอ รวมทั้งในบางกรณีอาจเสี่ยงที่ต้องก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้น ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่หน่วยงานของรัฐเอง หรือบุคคลภายนอก หากความเสียหายนั้น ไม่ได้เกิดจากความจงใจ หรือถึงขั้นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้วล่ะก็ หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดจะรับผิดชอบชดใช้ให้ โดยไม่มีการไล่เบี้ยเอาคืนทีหลังจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นแต่อย่างใด

หากสังเกตดูจะพบว่า นอกจากมาตรการในการปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวแล้ว กฎหมายยังมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้ได้รับการชดใช้อย่างรวดเร็วและเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย เนื่องจาก หากไปฟ้องร้องกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเอง ไหนจะต้องเสียเวลาขึ้นศาล ไหนจะต้องเสียค่าทนายและค่าธรรมเนียมศาลจิปาถะ แถมแม้จะชนะ แต่จะเอาแน่เอานอนอะไรกับเงินเดือนข้าราชการ โอกาสที่จะได้รับการชดใช้เต็มความเสียหายนี่ ผมว่า ให้กระเด้าลมแดงของผมเถลิงแชมป์ยุโรปสองสมัยซ้อนในปีหน้ายังง่ายกว่า เช่นนี้เอง หน่วยงานของรัฐจึงต้องลงมาชดใช้ความเสียหายให้ แล้วไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดทีหลัง (ถ้าร้ายแรงขนาดจงใจทำละเมิด หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง)

ซึ่งก็เป็นแนวคิดเดียวกันกับ การชดใช้ความเสียหายโดยนายจ้างเพื่อการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ในการปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายเช่นกัน หากไปปล่อยให้ไปเรียกเอากับลูกจ้าง ผมว่าเหงือกแห้งตายพอดี แถมยังเป็นแนวคิดให้นายจ้างลงมาร่วมรับผิด เนื่องจากอย่างน้อยลูกจ้างเองที่ทำละเมิดนั้นก็ทำไปในทางการที่จ้าง เพื่อประโยชน์ของนายจ้าง และถ้าคิดลึกกว่านั้น ก็อาจจะเป็นความผิดของนายจ้างเอง ที่บกพร่องเลือกลูกจ้างสะเพร่าเข้ามาทำงาน (แต่กฎหมายดันให้นายจ้างไล่เบี้ยได้เต็มจำนวนที่ตนชดใช้ไป ทั้งๆที่หากคิดในแง่ว่าอาจจะเป็นความบกพร่องในการคัดคนเข้าทำงาน ก็น่าจะให้ไล่ได้แค่บางส่วน)

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว

น่าสงสัยว่า หากทุกหน่วยงานปฏิบัติตามหนังสือเวียนของสำนักงานอัยการสูงสุดฉบับนั้นอย่างเคร่งครัดแล้วล่ะก็

มันยังจะสมเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในด้านของการคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้ถูกละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือไม่

รบกวนท่านผู้รู้ช่วยแถลงไขทีเถิดครับ

นึกว่าเอาบุญ

Saturday, June 04, 2005

ตัวประกันกำมะลอ

ห่างหายไปกว่าสัปดาห์ หลังจากที่ผมเสร็จสิ้นการโรมรันพันตูกับวิทยานิพนธ์ ที่แสนยาวนานของผม

ตั้งใจว่าอยากจะอัพบล็อก แต่ด้วยตะคริวที่ขึ้นสมอง ทำให้ผมไม่รู้จะหาอะไรมาขึ้นบล็อกของผม หากสักแต่ว่าให้มันมี ก็อาจจะกลายเป็นขยะทางสายตาของผู้ผ่านมาพบเห็น และอาจจะติดตาพาลให้เสียอารมณ์ไม่อยากไปอ่านบล็อกของท่านอื่นๆอีก ผมจะบาปเปล่าๆ

วันนี้เลยตั้งใจเอาข่าวมาคุยกันเบาๆ เพื่อเรียกขวัญตัวเองกลับมา หลังจากที่เสียขวัญไปก่อนหน้านี้มาพอสมควร

เมื่อวานนั่งปล่อยอารมณ์ในโลกไซเบอร์ พลันโสตประสาทของผมก็ได้ยินผู้ประกาศข่าวส่งเสียงหวานๆ อ่านข่าวอาชญากรรม (ดีเหมือนกันนะครับ ข่าวอาชญากรรม การเมืองที่ว่าเครียด พอจะผ่อนคลายอุณหภูมิไปได้บ้าง เมื่อมีผู้ประกาศข่าวหน้าแฉล่ม เสียหวานๆ แทนบรรดานักข่าวรุ่นใหญ่ที่กร้านโลกด้วยประสบการณ์ ประโยคเดียวกัน ข่าวเดียวกันแท้ๆ แต่ฟังแล้วคนละอารมณ์จริงๆ) เนื้อหาในข่าวเกี่ยวกับการซ้อมชิงตัวประกัน ในใจผมก็คิดว่าข่าวธรรมดา คงคล้ายๆกับการซ้อมหนีเพลิงตามอาคารสูง หรือซ้อมล้อมคอกแถวๆหาดป่าตอง จากสัญญาณเตือนพิบัติภัย

โดยตำรวจสมมติเหตุการณ์ปลอมตัวเป็นคนร้าย บุกเข้าจับตัวหญิงคนหนึ่งเป็นตัวประกัน แล้วจับตัวเธอเข้าไปในบ้านสองชั้นที่เตรียมไว้ ชาวบ้านเริ่มมามุงดู เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการต่อไปตามแผนการซ้อมที่เตรียมไว้ แต่มันไม่ธรรมดาก็อีตรงที่ การซ้อมครั้งนี้ ตัวประกันคือหญิงชาวบ้าน คนหนึ่ง ดันไม่รู้เรื่องราว หรือข้อเท็จจริงว่าเป็นการซ้อมแต่อย่างใด และไม่ใช่แค่ตัวประกัน รวมไปถึงบรรดาไทยมุงน้อยใหญ่ในจังหวัดชลบุรี ทั้งหลายเหล่านั้นด้วย

เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างตึงเครียด ไม่ต่างจากบรรดาไทยมุงหลายร้อยรายในบริเวณนั้น เนื่องจากหญิงตัวประกันผู้เคราะห์ร้าย ออกอาการสั่นกลัวอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับร้องขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา

เวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงตำรวจก็ยังคลี่คลายสถานการณ์ไม่ได้ ชาวบ้านบางคนถึงขนาดตัดสินใจจะเอามีดฟันไปที่มือของคนร้าย (ซึ่งก็คือตำรวจนี่แหล่ะ) เพื่อช่วยเหลือตัวประกันด้วยซ้ำ

การซ้อมเหมือนจริงมาก ตำรวจดำเนินการไปตามคู่มือ และหลักวิชาตามที่เรียนไว้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยการเกลี้ยกล่อมคนร้าย พร้อมทั้งส่งของกินและน้ำดื่มให้ แต่คนร้ายปฏิเสธเนื่องจากเกรงว่าจะมีการวางยา (มันจะไม่รู้ได้ไง)

เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผน และได้เวลาอันพอสมควรแล้ว เหตุการณ์ก็พลันสงบลงโดยตำรวจสามารถเข้าจัดการจับกุมคนร้ายกำมะลอได้โดยละม่อม (อีกแล้ว)
เรื่องมันก็น่าจะจบลงตรงนี้…แต่ไม่

เพราะระหว่างที่นำตัวคนร้ายกำมะลอไปขึ้นรถสายตรวจ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ถูกบิ้วอารมณ์มาตั้งแต่ตอนที่ตัวประกันถูกจับกุม ได้พยายามแหวกวงล้อม (อันแน่นหนา) ของตำรวจ เพื่อรุมกระทืบแก้แค้นให้แก่หญิง (เหยื่อ) ตัวประกันรายนั้น ผลก็รับประทานขนมตุ๊บตั๊บกันไปพอหอมปากหอมคอ

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันขึ้นมาว่า วิธีการซักซ้อมโดยใช้ประชาชนผู้ไม่รู้เรื่องราวและไม่ได้ยินยอมเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งนั้น สมควรหรือไม่

ถ้ามองในแง่ความสมจริง ก็แน่ล่ะ เหมือนจริงมากๆ ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงเลยว่านี่คือการซ้อม ยกเว้นเจ้าหน้าที่ อ้อ ลืมไป สามีของหญิงที่ตกเป็นตัวประกันจำเป็นก็รู้ไปกะเค้าด้วย (น่ารักจริงๆ ไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว มีวาระซ่อนเร้น ในการยืมมือตำรวจแก้แค้นเมียหรือไม่) นั่นย่อมทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงเหตุการณ์ในการชิงตัวประกัน โดยไทยมุงล้อมกรอบได้อย่างถึงแก่น อันจะเป็นประสบการณ์ที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาต่อไปในอนาคต และอาจจะทำให้ตัวประกันมีพลานามัยและสวัสดิภาพที่ดีขึ้นหากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ผมไม่แน่ใจว่า ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจอะไรไปจับตัวหญิงผู้นั้นมาเพื่อซ้อมเป็นตัวประกัน ประหนึ่งเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งในการซักซ้อม ผมว่าไม่น่าจะมีนะครับ โดยเฉพาะเมื่อเธอไม่ยินยอม (ใครทราบว่า เจ้าหน้าที่สามารถอ้างอำนาจในกฎหมายบทใด มาจับตัวประชาชนผู้บริสุทธิ์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการซักซ้อมได้บ้าง บอกกล่าวกันหน่อยครับผม จักเป็นพระคุณ)

งานนี้ไม่รู้ว่า หลังจากเหตุการณ์นี้เธอจะเข้าใจ พร้อมกับทำหน้าเหรอหราเหมือน พวกดาราจำเป็นในรายการทีวียอดฮิตเมื่อหลายปีก่อนหรือไม่ … ประมาณว่า “ยิ้มหน่อยครับ ลองมองไปตรงนั้นดิครับ ฮ่าๆๆๆ คุณออกทีวีอยู่”

ถ้าเธอจะเอาเรื่องขึ้นมาจริงๆล่ะก็ น่าสนครับ เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการบุกจับตัวเธอไปเป็นตัวประกัน นี่มันความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพในร่างกายชัดๆ แล้วมันก็คงไม่ผิดอะไรหาก ชาวบ้านรายล้อมจะแพ่นกบาลเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือหญิงคนนั้น เนื่องจากนั่นจะเป็นการกระทำโดยป้องกันสิทธิของผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย

รวมทั้งไอ้สามีตัวดีของเธอที่ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ด้วย แต่ในเนื้อหาข่าวไม่ได้บอกรายละเอียดว่า สามีเธอเป็นธุระในเรื่องนั้นขนาดไหน ถ้าขนาดที่ร่วมกันวางแผน ชวนเมียไปใส่บาตรตอนเช้า เพื่อให้ตำรวจจับ นั่นอาจจะเป็นการกระทำในฐานะตัวการในความผิดดังกล่าวด้วย มีคุกล่ะครับ เพราะไม่ใช่ความผิดต่อทรัพย์ระหว่างผัวเมียที่กฎหมายไม่อยากยุ่ง ขโมยเงินกันไปมา ผิดแต่กฎหมายไม่เอาโทษ ถือว่าเป็นเรื่องในมุ้ง แต่ถ้าเรื่องอื่นเช่น ร่างกาย หรือ เสรีภาพอย่างนี้ กฎหมายมุดเข้าไปในมุ้งด้วยครับ

กรณีจะต่างไปจาก การที่กองถ่ายละคร กำลังดำเนินการถ่ายทำละครกันอยู่ เป็นเหตุการณ์ที่พระเอกกับตัวร้ายกำลังดวลปืนกัน และพระเอกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ พลเมืองดี ผ่านมาแถวนั้นไม่รู้เรื่อง คิดว่าของจริง ก็เลยเอาปืนที่ตัวพกติดตัวมา (ไม่รู้ว่ามันเอามาได้ไงช่างหัวมันเหอะ) ยิงไปที่ผู้ร้าย เพื่อช่วยเหลือชีวิตของพระเอกขณะกำลังโดนปืนจ่อกบาล นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิคที่เรียนและสอนกันในมหาวิทยาลัย เช่นนี้ผลทางกฎหมายคือ พลเมืองดีท่านนั้นจะไม่มีความผิดทางกฎหมาย เนื่องจากการสำคัญผิดคิดว่าเหตุการณ์ที่ปรากฏตรงหน้าเป็นของจริง แต่หากการยิงของเขาเกิดจากความประมาท เช่น ก็มีชาวบ้านอีกตั้งหลายสิบยืนเชียร์พระเอกกันอยู่ มีกล้อง มีฉาก มีไฟ อยู่โทนโท่ ประมาณว่า เด็กสิบขวบก็รู้ว่ามันถ่ายละครกันอยู่ แล้วยังอุตสาห์บ้าพลัง ขี่ม้าขาวอีก นั่นก็อาจจะทำให้เขาต้องรับผิดในฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ (ในเรื่องดังกล่าวผมมีประเด็นถกเถียงในทางวิชาการที่น่าสนใจยิ่ง แต่คงละไว้ เพราะไม่งั้นเสียความหมดแน่ๆ ไว้หลังไมค์ดีกว่าเนอะ)

กรณีข้างต้นพลเมืองม้าขาว อ้างการสำคัญผิดเป็นประโยชน์ต่อเขาได้ แต่กรณีตัวประกันกำมะลอของเรา ไม่ต้องอ้างสำคัญผิดใดๆเลยแหล่ะครับ เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ไร้ซึ่งอำนาจอันชอบธรรมที่จะทำได้ ซึ่งก็เป็นความผิดที่ปรากฏลงต่อหน้าของพลเมืองมุงทั้งหลายนั้นอยู่แล้ว

งานนี้เสียวนะครับ

เกิดพลเมืองมุงท่านนั้น ตัดสินใจเอาพร้าที่หยิบติดมือมาด้วย ฟันฉับลง ณ ข้อมือของคนร้ายกำมะลอ ขาดกระจุยขึ้นมา

นักกฎหมายอาญาอย่างผมคงได้วินิจฉัยกันสนุกสนาน (พร้อมรอยน้ำตา)

และไม่แน่ เจ้าหน้าที่ท่านนั้นที่ลงทุนยอมเป็นตัวร้ายในสายตาประชาชี อาจต้องเสียแขนไปฟรีๆครับ