Tuesday, June 07, 2005

เมื่อเจ้าหน้าที่ทำละเมิด

เมื่อตะกี้นั่งดูข่าวไอทีวี พร้อมๆกับการทานมื้อเย็น โชคดีที่รสมือแม่ผมมันอร่อยเหลือหลาย มิฉะนั้นอาจจะพาลกินไม่ลง

แม่ลูกคู่หนึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชน เมื่อนานหลายปีมาแล้ว จากอุบัติเหตุครั้งนั้นส่งผลให้เธอต้องกำพร้าแม่ และต้องใช้ชีวิตอยู่กับพ่อบุญธรรม

ทางฝั่งผู้ก่อเหตุศาลแพ่งพิพากษาให้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้เธอเป็นจำนวนห้าแสนบาท แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเธอยังเป็นผู้เยาว์ ประกอบกับ ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองแล้วตามกฎหมายเนื่องจากแม่ของเธอเสียชีวิตในอุบัติเหตุครั้งนั้น (เนื้อหาในข่าวไม่บอกว่า พ่อแท้ๆของเธออยู่ไหน และสำหรับพ่อบุญธรรมของเธอ ผมว่าน่าจะหมายถึง "พ่อเลี้ยง" หรือสามีใหม่แม่เธอมากกว่า ที่จะเป็นบิดาบุญธรรมตามกฎหมาย เพราะไม่งั้นก็คงเป็นบิดาบุญธรรมของเธอนี่แหล่ะที่ใช้อำนาจปกครองได้ และไม่ปรากฏว่ามีญาติพี่น้อง ที่พอจะขอให้ศาลตั้งเป็นผู้ปกครอง ได้อีกหรือเปล่า) สถานพินิจในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของเธอจึงต้องเป็นผู้ดูแลเงินก้อนนั้นแทนเธอ (เห็นว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่ขออภัยจริงๆผมยังนึกไม่ออกว่ากฎหมายไหน อาจจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานพินิจ ติดไว้ก่อนแล้วจะหาข้อมูลมาเสริมครับ) และวางกำหนดการเบิกจ่ายไว้ ให้เธอเบิกจ่ายได้ไม่เกินเดือนละ 2,500 บาท โดยจะต้องมีการตรวจสอบและอนุมัติจากเจ้าหน้าที่มากมาย

และมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บุคคลหนึ่งเป็นผู้ดูแลการเบิกจ่ายเงินก้อนนี้แก่เธอ

การเบิกจ่ายดำเนินเรื่อยมาหลายปี จากห้าแสน เหลือสองแสน

จากนั้นเป็นต้นไป สถานพินิจปฏิเสธการเบิกจ่ายให้เธอ โดยอ้างเหตุว่า

“เงินสองแสนที่เหลือนั้น เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเงินให้เธอผู้นั้น เบียดบังเอาไปพร้อมกับเงินของเด็กอีก 6 ราย หนีไปกับสายลมแล้วเรียบร้อย”

ทางหน่วยงานต้นสังกัด ได้ตั้งกรรมการสอบ และมีมติว่า

“เนื่องจากเป็นการกระทำผิดอาญา ซึ่งเป็นความผิดโดยส่วนตัว จึงไม่มีการชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว แต่เสนอให้เธอ ไปดำเนินการฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเป็นการส่วนตัวด้วยตนเอง”

……………….

เธอต้องดั้งด้นมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จนเป็นข่าวให้ผมนั่งดูพร้อมกับมื้อเย็นของผม

พาลให้ต่อมสงสัยผมทำงาน ว่า เหตุใดจึงไม่มีการชดใช้จากหน่วยงานต้นสังกัด เนื่องจากเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตน แต่ดันเลี่ยงให้เธอไปเรียกร้องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเอาเอง ซึ่งก็ไม่รู้แล้วว่าไปซุกซ่อนอยู่ที่ไหน และไม่แน่ว่า จะได้รับการชดใช้เมื่อใด และ เท่าไหร่

ถ้าผมจำไม่ผิด เคยมีหนังสือจากสำนักงานอัยการสูงสุดส่งเวียนมาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ว่า “กรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ประพฤติทุจริตต่อหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นนั้น ไม่อยู่ในขอบเขตของพระราชบัญญัติละเมิดเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการทุจริตนั้นไม่ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่”

นั่นหมายความว่า หากเจ้าหน้าที่ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่เสียแล้ว ผู้เสียหายต้องดำเนินการทางแพ่งเพื่อเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายเอง

ผมเข้าใจว่า สำนักงานอัยการสูงสุดคงเห็นว่า หากปล่อยให้มีการใช้มาตรการต่างๆในกฎหมายดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความไม่เหมาะสม เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีมาตรการที่เป็นคุณประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดมากมาย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น การไล่เบี้ยโดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความผิด และตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยอาจจะไม่ต้องไล่เบี้ยตามความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ และอาจจะให้ผ่อนชำระได้อีกต่างหาก โดยเฉพาะกรณีการทุจริตยักยอกเงินหลวง แต่การที่ท่านดันเหมารวมหมดว่า หากเป็นการทุจริตอันเป็นความผิดอาญานี่ถือเป็นเรื่องส่วนตัวหาใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่นั้น มันอาจจะกระทบชิ่งไปถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ทุจริตแต่ความเสียหายกระเด็นไปถึงบุคคลภายนอกเหมือนดังกรณีนี้

ท่านคงลืมไปว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้นอกจากจะออกมาเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ทั้งนี้เนื่องจาก การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ถูกพันธนาการ ไว้ด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี วินัยข้าราชการ หนังสือสั่งการ ฯลฯ มากมาย บานตะเกียง เรียกได้ว่า ขยับไปทางไหน ก็มีความเสี่ยงที่จะละเมิดกฎอันหยุมหยิมได้เสมอ รวมทั้งในบางกรณีอาจเสี่ยงที่ต้องก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้น ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่หน่วยงานของรัฐเอง หรือบุคคลภายนอก หากความเสียหายนั้น ไม่ได้เกิดจากความจงใจ หรือถึงขั้นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้วล่ะก็ หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดจะรับผิดชอบชดใช้ให้ โดยไม่มีการไล่เบี้ยเอาคืนทีหลังจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นแต่อย่างใด

หากสังเกตดูจะพบว่า นอกจากมาตรการในการปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวแล้ว กฎหมายยังมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้ได้รับการชดใช้อย่างรวดเร็วและเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย เนื่องจาก หากไปฟ้องร้องกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเอง ไหนจะต้องเสียเวลาขึ้นศาล ไหนจะต้องเสียค่าทนายและค่าธรรมเนียมศาลจิปาถะ แถมแม้จะชนะ แต่จะเอาแน่เอานอนอะไรกับเงินเดือนข้าราชการ โอกาสที่จะได้รับการชดใช้เต็มความเสียหายนี่ ผมว่า ให้กระเด้าลมแดงของผมเถลิงแชมป์ยุโรปสองสมัยซ้อนในปีหน้ายังง่ายกว่า เช่นนี้เอง หน่วยงานของรัฐจึงต้องลงมาชดใช้ความเสียหายให้ แล้วไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดทีหลัง (ถ้าร้ายแรงขนาดจงใจทำละเมิด หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง)

ซึ่งก็เป็นแนวคิดเดียวกันกับ การชดใช้ความเสียหายโดยนายจ้างเพื่อการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ในการปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายเช่นกัน หากไปปล่อยให้ไปเรียกเอากับลูกจ้าง ผมว่าเหงือกแห้งตายพอดี แถมยังเป็นแนวคิดให้นายจ้างลงมาร่วมรับผิด เนื่องจากอย่างน้อยลูกจ้างเองที่ทำละเมิดนั้นก็ทำไปในทางการที่จ้าง เพื่อประโยชน์ของนายจ้าง และถ้าคิดลึกกว่านั้น ก็อาจจะเป็นความผิดของนายจ้างเอง ที่บกพร่องเลือกลูกจ้างสะเพร่าเข้ามาทำงาน (แต่กฎหมายดันให้นายจ้างไล่เบี้ยได้เต็มจำนวนที่ตนชดใช้ไป ทั้งๆที่หากคิดในแง่ว่าอาจจะเป็นความบกพร่องในการคัดคนเข้าทำงาน ก็น่าจะให้ไล่ได้แค่บางส่วน)

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว

น่าสงสัยว่า หากทุกหน่วยงานปฏิบัติตามหนังสือเวียนของสำนักงานอัยการสูงสุดฉบับนั้นอย่างเคร่งครัดแล้วล่ะก็

มันยังจะสมเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในด้านของการคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้ถูกละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือไม่

รบกวนท่านผู้รู้ช่วยแถลงไขทีเถิดครับ

นึกว่าเอาบุญ

2 Comments:

Blogger ratioscripta said...

เมื่อผมเขียนบล็อกเรื่องนี้เสร็จสิ้น ผมก็ได้มีโอกาสสนทนากับนักกฎหมายมหาชนชั้นยอดคนหนึ่ง ซึ่งก็ไอ้เพื่อนตัวดีผมนี่แหล่ะ

ได้อะไรเยอะเชียวครับ มันบอกว่า แท้จริงแล้ว พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่ผมอ้างนั้น มีเจตนารมณ์เพียงเจตนาเดียวคือ การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ได้ "กระทำตามหน้าที่" เพื่อ "ประโยชน์ของรัฐ" และ ผิดพลาดไปเพราะความ "ประมาทเลินเล่อธรรมดา" ที่บุคคลทั่วไปย่อมเกิดขึ้นได้

ดังนั้น การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นความผิดอาญา จึง "หาใช่การปฏิบัติหน้าที่" แต่อย่างใดไม่ นอกจากนั้น การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวยัง "ไม่ได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ" แต่อย่างใด

หรือพูดกันง่ายๆคือ กรณีดังกล่าว"ไม่อยู่ในขอบเขตเจตนารมณ์ของกฎหมายข้างต้น" นั่นเอง

ผลก็อย่างที่ว่าไว้แล้วคือ ผู้เสียหาย อันอาจหมายถึงหน่วยงานของรัฐเอง หรือ บุคคลภายนอก ต้องเรียกร้องดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญากับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำนั้นเอง

นอกจากนั้น การที่หน่วยงานของรัฐต้องออกตังค์ให้เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตต่อหน้าที่ไปก่อนแล้วไปไล่เบี้ยทีหลังก็อาจไม่เป็นธรรมต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งใช้เงินภาษีประชาชนมาจ่าย ผมนั่งฟัง (อ่าน) ก็คล้อยตาม

แต่ผมก็ยังคงเห็นว่า...

จริงอยู่แม้เจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องการปกป้องเจ้าหน้าที่ตามเงื่อนไขที่กล่าวมาแล้วเป็นหลัก (และดูจะเป็นเพียงเหตุผลเดียวด้วยซ้ำ) แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น คือ "จิตวิญญาณ"แห่งกฎหมายฉบับนั้นเอง

เมื่อกฎหมายประกาศใช้ มันย่อมมีชีวิตจิตใจ ต่างหากจากผู้ร่าง ผู้ร่างกฎหมายวันหนึ่งก็ต้องตาย แต่กฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว ยืนยงสถาพรตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิก

กฎหมายหลายฉบับอยู่โยงยาวกว่าชีวิตผู้ร่าง

ผมนึกถึงคำกล่าวที่ว่า "กฎหมายฉลาดกว่าผู้ร่าง...และควรต้องเป็นเช่นนั้นด้วย"

นั่นหมายความว่า แม้เจตนารมณ์ในตอนร่างผู้ร่างอาจจะมองแค่ในด้านการปกป้องเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ แต่สำหรับผม ผมเห็นว่าวิธีคิดในการดึงหน่วยงานของรัฐลงมาร่วมรับผิดดังกล่าว หาใช่เรื่องใหม่ แต่มันมีวิธีคิดแบบนี้อยู่แล้ว ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด เหมือนดั่งกรณีที่ผมยกตัวอย่างเรื่องนายจ้างและลูกจ้าง

หรือความรับผิดละเมิดจากการกระทำของบุคคลอื่น (vicarious liability) ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายด้วย เป็นการการันตีว่าอย่างน้อย กองทรัพย์สินที่ประกันหนี้ของคุณนั้นแน่นหนาพอ เพราะเป็นกองทรัพย์สินของนายจ้าง หาใช่กองกะจิดริดของลูกจ้างแต่เพียงโทนๆ

แล้วหากพิจารณาในตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในพระราชบัญญัติละเมิดเจ้าหน้าที่ฯ ดังกล่าว ผมไม่พบถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อเจตนารมณ์ในการคุ้มครองผู้เสียหายข้างต้นนั้นแต่อย่างใด

คำว่าละเมิดที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็เป็นคำเดียวและมีความหมายเช่นเดียวกันกับ "ละเมิด"ที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั่นหมายถึง กระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ (รวมหมดทั้งธรรมดาและอย่างร้ายแรง)

และคำว่า "จงใจ" ย่อมหมายถึงกระทำโดยเจตนา และแน่นอน ย่อมรวมถึง ด้วยมูลเหตุจูงใจในการทุจริตด้วย

การทุจริตของเจ้าหน้าที่โดยอาศัยที่ตนมีตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว จึงเป็นการทำ "ละเมิด" อย่างไม่ต้องสงสัย

แม้จะกล่าวว่า มันเป็นการทุจริต ย่อมไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ผมขออนุญาตโต้แย้งว่า ฉะนั้นย่อมต้องหมายความว่า การปฏิบัติหน้าที่นั้น ต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างเดียวหรือ

การที่เขายักยอกเงินไป โดยเพราะเขามีหน้าที่ดูแลเงินนั้น ใช้โอกาสนั้น เบียดบังเอาไป ผมถือว่า เขาปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่เป็นการ "ปฏิบัติหน้าที่ที่มิชอบ" ซึ่งก็เป็นธรรมดา เพราะการปฏิบัติหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ย่อมไม่เป็นละเมิดอยู่แล้ว

สอง หากจะบอกว่า การยักยอกครั้งนั้น ไม่ได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานแต่อย่างใด ผมก็ขออนุญาตโต้แย้งว่า ไม่มีการทำละเมิดใดหรอกครับ ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ การกระทำละเมิดก็คือการก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลภายนอกอยู่แล้ว

แล้วหากย้อนถามผมว่า แล้วจะให้กฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตอย่างนั้นหรือ???

มิได้ครับ... ผมไม่นิยมเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต กินเงินหลวง ไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมโลก ร่วมปฐพีเดียวกับมันด้วยซ้ำ

ผมมองว่ากลไกทางกฎหมายมันก็ยังสอดรับได้ นั่นหมายถึง หากการทุจริตดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานราชการ หน่วยงานนั้นก็ชอบที่จะตั้งกรรมการ เรียกเงินคืน โดยอาจเรียกเต็มตามจำนวน โดยไม่มีการผ่อนผัน หรือใช้มาตรการอันเป็นประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่เหมือนกรณีปกติทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องไปฟ้องศาล ซึ่งย่อมรวดเร็วและไม่เสี่ยงต่อการขาดอายุความละเมิดซึ่งสั้นมากด้วย

หากความเสียหายเกิดแก่บุคคลภายนอกเหมือนดั่งกรณีนี้ หน่วยงานของรัฐอาจชดใช้ให้บุคคลภายนอกไป แล้วไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ผู้นั้น อย่างเต็มตามจำนวน เหมือนข้างต้น

ถามว่าใครเสียอะไร

ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ โดยไม่โดดเดี่ยว รวดเร็ว และเป็นธรรมกว่าการผลักไสให้ไปเรียกร้องเอากับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเอง ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน และไม่ทราบว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่

หน่วยงานที่ออกเงินไปก่อน ใช่ว่าจะต้องแทงหนี้สูญ ก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ย ซึ่งผมคิดว่า แม้จะแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะต้องดำเนินการไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่แทนผู้เสียหาย แต่ด้วยกลไกของรัฐ น่าจะทำได้ดีกว่า และง่ายกว่าให้เอกชนทำ และที่สำคัญ ถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบ จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของตน ความบกพร่องในการบังคับบัญชา การควบคุมภายในของหน่วยงานรัฐ ปฏิเสธความรับผิดตรงนี้ไม่ได้หรอกครับ

ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด บั้นปลายก็ยังคงต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนได้กระทำ โดยการต้องชดใช้ให้แก่หน่วยงานที่ออกเงินไปให้ก่อน

ไม่รวมที่ต้องติดคุกอีกดอกจากคดีอาญา

ผมเห็นว่า นี่ก็เป็นทางหนึ่งที่สามารถปรับใช้กฎหมายละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้จะไม่ใช่เจตนารมณ์ดั้งเดิม แต่ก็หาใช่การยัดเยียดเจตนารมณ์ใหม่ให้แต่อย่างใด เพราะมันแทรกแฝงไปกับสิ่งที่เรียกว่าการเยียวยาความเสียหายจากละเมิดนั่นเอง ประกอบกับเจตนารมณ์นี้ก็หาได้เป็นปฏิปักษ์ต่อบทลายลักษณ์อักษรของกฎหมายฉบับนั้นแต่อย่างใดไม่

นี่เป็นอีกหนึ่งทางออก และอีกหนึ่งวิธีคิดที่ผมคิดว่าน่าจะใช้ได้ แบบไม่ใช่การถูลู่ถูกังโดยไม่สนใจหลักการแห่งกฎหมาย เหมือนดั่งที่เนติบริกรทั้งหลายกระทำ อีกทั้งการปรับใช้ดังกล่าว หาใช่เพื่อสนองอำนาจรัฐแต่อย่างใด

แต่เป็นการเยียวยาทางกฎหมายแก่ผู้เสียหาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปร้องแรก และแก้ปัญหาเป็นรายกรณีที่ฝากไว้กับโชค และ สื่อ

4:44 AM

 
Anonymous Anonymous said...

เป็นดังที่ “ต้อง” เข้าใจเลย พี่ไม่เคยเห็นด้วยกับแนวความเห็นดังกล่าวเลย แนวคิดนี้ เกิดจากการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ นะ ถ้าจำไม่ผิดฯ เขาบอกว่า ข้าราชการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่การกระทำผิดกฎหมายไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการฯ กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ จึงไม่ครอบคลุมถึงฯ ทำให้ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย ไม่อาจร้องขอต่อหน่วยงานของรัฐฯ ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน แล้วหน่วยงานของรัฐฯ ไปไล่เบี้ย (ไม่ใช่ไล่หอยนะครับ) เอาจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้ ชาวบ้านแย่เลยฯ ต้องฟ้องเอาเอง จะคุ้มกับค่าทนายความฯ และค่าติดตามยึดทรัพย์หรือไม่ และจะสามารถปลดเปลื้องภาระการพิสูจน์ ตามมาตรา ๘๔ ป.วิ.แพ่งฯ ได้อย่างยากลำบากเพียงใด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเงินทองที่ “ต้อง” ยกมา หลักฐานอยู่ที่ไหนฯ หรือถ้าจะเป็นผู้ชนะ ก็จะเป็นแค่ผู้ชนะในนามเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริง ไม่อาจติดตามทวงถามทรัพย์สินอะไรได้

8:57 AM

 

Post a Comment

<< Home