ขอคิดด้วยคนเรื่องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน : ตอนที่ 2
มาเริ่มตอนใหม่ด้วย ความคิดเห็นส่วนตัวกับการแก้ไขปัญหาคาราคาซัง ที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้กันครับ
เริ่มนะครับ...
กฎหมายเขียนอย่างไร ออกแบบอย่างไร ก็คงต้องเป็นไปอย่างนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข ก็ฝันลมๆแล้งๆเหงือกแห้งกันไปก่อน
วันนี้เราจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรในปัจจุบัน ผมว่าเร่งด่วนกว่า
อย่างที่ผมว่า เมื่อมันเป็นความผิดพลาดในขั้นตอนที่สำคัญแล้ว ก็ชอบที่จะต้องมีการยกเลิกเพิกถอนกระบวนการนั้นเสีย แล้วแก้ไขให้มันถูกต้อง
แล้วการแก้ไขนั้นมีขอบเขต หรือข้อจำกัดอย่างใดหรือไม่
ผมคิดว่ามี
ผมเชื่อในคำสอนโบราณ ที่ว่า “อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ไม่ใช่ว่าผมจะล้อสำนวนโบราณ มาเป็นข้ออ้างในการแก้ปัญหาอย่างข้างๆคูๆ เพราะดูเหมือนวิธีคิดแบบนี้ น่าจะแฝงอยู่ในวิธีคิดของกฎหมายเช่นกัน
สิ่งที่เป็นเรื่องของ “ขั้นตอน” หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเกิดปัญหาที่ว่า เมื่อขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ผิดพลาดคลาดเคลื่อน แล้วจะส่งผลต่อขั้นตอนอื่นๆอย่างไร โดยเฉพาะหากปล่อยให้มันล่วงเลยไปยาวนาน หรือเกิดขั้นตอนใหม่ๆ ที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ตามก้นมาติดๆแล้ว
เมื่อผมคิดได้ถึงตรงนี้ ผมก็พยายามที่จะเหลือบมอง บรรดากฎหมายที่มีอยู่ดั่งกองภูเขา ว่าไอ้วิธีคิดแบบนี้เนี่ย มันซ่อนอยู่ ณ ตรงไหน ของมหาสมุทรกฎหมาย
ไม่รู้อะไรดลใจทำให้ผมนึกถึง วิชาที่ผมถือว่าเป็นของแสลงที่สุด นั่นได้แก่ วิชา”กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” อันเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยใช้ศาลเป็นเวทีเรียกร้องความยุติธรรมของคู่กรณี
เช่นกัน กระบวนพิจารณาของศาล ตาม วิฯแพ่ง (ผมเรียกย่อๆนะครับ ตามภาษาที่พวกเรานักกฎหมายใช้กันอยู่ทั่วไปดาษดื่น) ก็เป็นเรื่องของขั้นตอน เริ่มต้นที่การยื่นฟ้อง รับฟ้อง ตรวจฟ้อง ชี้สองสถาน กำหนดประเด็นข้อพาท และหน้าที่ในการนำสืบพิสูจน์ความผิด การพิจารณา โดยคู่ความ ทั้งสองฝ่าย อ้างพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของแต่ละคน ตามหน้าที่หรือภาระการพิสูจน์ที่กำหนด เมื่อศาลรับฟังพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว ก็จะเริ่มชั่งน้ำหนักพยาน เชื่อหรือไม่เชื่อฝ่ายใด ข้างใดพิสูจน์ได้มีน้ำหนักมากกว่า เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่ทั้งคู่ถกเถียงกันอยู่ ยุติลง ยุติยังไง ก็ยุติในข้อเท็จจริงที่ว่า “ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร” เมื่อข้อเท็จจริงยุติลงแล้ว ศาลก็จะเปิดบทกฎหมายดูสิว่า ข้อเท็จจริงเหล่านั้น เข้ากับบทกฎหมายอย่างไร และก่อให้เกิดผลทางกฎหมายตามกฎหมายนั้นๆอย่างไร และนำไปสู่การพิพากษา อันเป็นการจบกระบวนการพิจารณาคดี (ขั้นตอนหลังจากนี้ก็ยังมีอีกที่เรียกว่าขั้นตอนการบังคับคดี หรือบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาต่อไป อันนี้ไม่กล่าวถึงล่ะครับ ยืดยาวเสียเปล่าๆ)
จะเห็นได้ว่า ในกระบวนการพิจารณาหลักๆของศาลตั้งแต่ยื่นฟ้อง รับฟ้อง จนกระทั่ง มีคำพิพากษา มันก็เป็นกระบวนการที่เริ่มตั้งแต่หนึ่งยันสิบ (แม้จะมีช่องทางที่จะถีบคดีออกจากพิจารณาของศาลโดยไม่ต้องรอให้ถึงสุดสายปลายทางโดยมีคำพิพากษาคดีก็ตามที) มันก็ต้องมี ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งที่มิชอบ หรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
แล้ววิฯแพ่ง แก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร
พลันผมเหลือบไปเห็น มาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิฯแพ่งดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่ความ หรือศาล ท่าน สามารถแก้ไขสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ” ผมสรุปเนื้อหาย่อๆ และแปลงให้มันเป็นภาษาของมนุษย์โลก ดังนี้ครับ
1. กระบวนพิจารณาใด ที่ผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดจริง แต่เป็นกระบวนการผิดหลงเล็กน้อย เท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อความยุติธรรมในการพิจารณาคดี หรือ ไม่ส่งผลให้เกิดความได้เสียกันระหว่างคู่ความ และไม่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของสังคมนั้น กฎหมายปล่อยให้มันผ่านเลยไป ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร เสียเวลาเปล่าๆ
2. กระบวนการพิจารณาที่ผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งคราวนี้เป็นเรื่องสำคัญ คือ เป็นกรณีที่ผิดกฎหมายอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความยุติธรรม เกี่ยวกับการได้เสียของคู่ความ ความได้เปรียบในเชิงการต่อสู้คดี หรือเป็นการขัดต่อกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยแล้วนั้น อันนี้กฎหมายอนุญาตให้คู่ความ ริเริ่มเสนอขอแก้ไขกระบวนการนั้นต่อศาลได้
แต่การแก้ไขนั้น ต้องอยู่ในเงื่อนไขทางกฎหมายด้วยครับ หาใช่นึกอยากจะแก้ได้โดยอิสระเสรี เงื่อนไขในการแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม วิฯแพ่ง มาตราดังกล่าว มีดังนี้ครับ
1. คู่ความที่เสียหายจากกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ต้องยื่นคำค้านต่อศาลนับแต่วันที่ทราบถึงขั้นตอนที่ผิดระเบียบนั้น ภายใน 8 วัน และต้องก่อนมีคำพิพากษาด้วย นั่นหมายถึง การขอยกเลิกเพิกถอนหรือการแก้ไข ย่อมต้องอยู่ในระยะเวลาพอสมควร และที่สำคัญ ต้องกระทำก่อนที่อะไรๆมันจะสายเกินไป คือ ก่อนที่กระบวนการนั้นมันจะสิ้นสุด ก็คือ ก่อนมีคำพิพากษานั่นเอง
2. คู่ความที่จะยกกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นมาอ้างขอแก้ไข หรือยกเลิกเพิกถอนได้นั้น ต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบนั้นแล้ว หมายความว่า รู้ทั้งรู้ว่าผิด แทนที่จะเรียกร้องให้มีการยกเลิกเพิกถอน หรือแก้ไข ความผิดพลาดนั้น แต่กลับไปดำเนินการในขั้นตอนใหม่ ภายหลังขั้นตอนที่ผิดพลาดนั้น คือ ผิดที่ 1 แทนที่จะหยุดและร้องแรกให้แก้ไข แต่ดันเงียบแล้ว ไปเริ่มนับ 2 , 3 , 4, ... อันนี้กฎหมายถือว่า คุณให้สัตยาบัน แก่กระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นแล้ว
กฎหมายปิดปากนั่นเองครับ
ผมไม่ทราบว่าในทางบริบทของกฎหมายมหาชนนั้น มีหลักคิดและตรรกะเช่นนี้หรือไม่ ผมเชื่อว่ามี เพราะในความคิดของผม กฎหมายมหาชนน่าจะมีเรื่องเทคนิค ขั้นตอน ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำคำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำทางปกครองต่างๆ คงต้องรบกวนขอความรู้นักกฎหมายมหาชน ช่วยให้ความกระจ่างแก่ผมด้วยเถอะครับ
แล้วเหตุผลรวมถึงวิธีคิดดังกล่าว มันเกี่ยวกับเรื่องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของผมยังไง หลายท่านอาจสงสัย
จำได้ไหมครับ ที่ผมบอกว่า ผมมองเรื่องราว หรือปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นเรื่องของ “ขั้นตอน” และผมก็คิดว่า เหตุผลในการแก้ไขในเรื่องกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบของ วิฯแพ่ง น่าจะเป็นสิ่งที่เทียบเคียงเหตุผล หรือวิธีคิดนั้นมาพิจารณาได้
เบื้องแรก ถามว่า ขั้นตอนที่ผิดพลาดในการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ นั้น ถือเป็นชั้นตอนที่สำคัญหรือไม่
คำตอบอยู่ที่ตอนที่แล้ว ... สำคัญครับ
เมื่อสำคัญแล้วส่งผลอย่างไร
คำตอบคือ
สามารถยกเลิกเพิกถอน หรือแก้ไขได้ครับ
แล้วเมื่อสามารถยกเลิกเพิกถอนได้แล้ว มีข้อจำกัดใดหรือไม่
มีครับ ตามที่ผมว่าไว้ข้างต้น แล้วกรณีกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ อยู่ในข้อจำกัดหรือไม่ครับ
อยู่ครับ ผมมองว่า เมื่อชอบที่จะต้องยกเลิกเพิกถอนหรือแก้ไขขั้นตอนนั้น คตง. เอง หรือตัววุฒิฯ ต้องริเริ่ม ทำการแก้ไข โดยหยุดกระบวนการที่จะต้องดำเนินต่อไปตามกฎหมายเสียก่อน และต้องรีบทำก่อนที่กระบวนการมันจะสิ้นสุด นั่นก็คือ ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ซึ่งผมถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็เหมือนกับ หากจะแก้กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ต้องทำซะ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
ถามว่า ทั้งคตง เอง และวุฒิ ได้ไปทำอะไรอันเป็นการให้สัตยาบัน ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้น หรือไม่ครับ
จมหูเลยครับ
ประเด็นความผิดพลาดนี้ ได้ถูกหยิบยกมาอภิปราย แล้วด้วยซ้ำ โดยวุฒิสมาชิกเอง และก็มีมติไปแล้วว่า ไม่มีปัญหา วุฒิเลือกจากสามคนได้ แถมยังได้เลือกคุณหญิงจารุวรรณ ซึ่งมีคะแนนเป็นอันดับสองของการคัดเลือกโดยคตง. และนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้โปรดเกล้าฯ
ในหลวงท่านก็ทรงโปรดเกล้าฯแล้วเรียบร้อย
ฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือไม่ครับ
แล้ว ณ วันนี้เราจะทำอย่างไร??
ผมยอมรับว่า กรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น หมุนไปทางไหนก็ล้วนแต่เจอปัญหาข้อกฎหมายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาการตีความระเบียบ พระราชบัญญัติ ปัญหาการบังคับตามคำพิพากษาของศาล ปัญหาพระบรมราชโองการโปรดเกล้า และมันยิ่งทับซ้อนซ่อนเงื่อนกันไปใหญ่อีก เมื่อ คตง.สบช่องรีบอนุวัตรตามคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯคนใหม่ ส่งให้วุฒิฯ และวุฒิฯก็เห็นชอบไปแล้ว กำลังรอทูลเกล้าอีก
ท้ายสุด สว.เสรีฯ ยังอุตสาห์ปูดประเด็นว่า ระเบียบคตงฯ ว่าด้วยการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ นั้น ไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะทำให้ยังไม่มีผลบังคับใช้อีก เท่ากับกระบวนการสรรหาของคตง.ตามระเบียบนี้มีปัญหาทั้งคราวคุณหญิงจารุวรรณ และล่าสุดของนายวิสุทธิ์ ด้วย
เอาเข้าไป
ผมว่าปัญหาต่างๆเหล่านี้มันพันกันยั้วเยี้ย จนจับต้นชนปลายไม่ถูก
แต่ถึงแม้จะพันกันเป็นปมเขื่องขนาดไหน มันก็เลยมาแล้วอยู่ดี ตอนนี้ขั้นตอนที่มันโผล่พ้นน้ำพ้นดินขึ้นมา ให้เราได้เห็นหัวกัน ก็คือ ขั้นตอนที่คุณสุชน จะต้องนำชื่อคุณวิสุทธิ์ฯ ทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปราภิไธย ส่วนขั้นตอนอื่นที่ผมร่ายยาวทั้งหมด จมอยู่ใต้น้ำ หรือใต้ดินหมดแล้ว
และถ้าตรรกะของผมที่ได้จากการอ่าน วิฯแพ่ง มาตรา 27 นั้นถูก ถ้าผมคิดว่าขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมายภายหลังไม่ควรเสียไปเพราะขั้นตอนที่มิชอบด้วยกฎหมายบางประการก่อนหน้านั้น
และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ต้องใช้ตรรกะนี้กับการเสนอชื่อคุณวิสุทธิ์ฯด้วย โดยปล่อยให้ประเด็นที่ผมคิดนั้น เป็นเรื่องทางวิชาการต่อไป โดยเฉพาะ เมื่อมันมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผูกพันการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรของรัฐทุกองค์กร
เมื่อสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายต้องมีความชัดเจนแน่นอน การบังคับตามกฎหมายก็ต้องชัดเจนด้วย รวมทั้งการเคารพคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิดตามหลักการ หรือ ที่ศัพท์ในทางกฎหมายมหาชนเรียกว่า “ความมั่นคงแห่งนิติฐานะ” ที่ผมไม่คุ้นหูเอาเลย แม้ว่าจะเรียนห้องเดียวกับนายนิติรัฐ ก็เหอะ
หากทุกอย่างมันเบลอ มันไม่ชัดเจน กระบวนการต่างๆมันก็หยุดชะงัก เดินต่อไม่ได้ บ้านเมืองเสียหาย สังคมสับสน
ปรมาจารย์ทางกฎหมายหลายคนเสนอให้คุณหญิงลาออก ซึ่งผมก็งง ว่า จะลาออกได้ไง เมื่อมันตั้งรูปเรื่องมาแล้วว่า เข้ามามิชอบ เป็นโมฆะบ้าง ถือว่าไม่เคยดำรงตำแหน่งบ้าง
บางคนก็หาว่าคุณหญิงดื้อแพ่ง ไม่ยอมรับคำพิพากษาศาล ผมกลับเห็นว่า ไม่ใช่หรอก เค้าก็เรียกร้องในสิ่งที่เค้าคิดว่าถูก ถามว่า คุณหญิงทำอย่างนี้แล้ว กระบวนการมันเดินหน้าต่อไม่ได้เหรอครับ ไม่หรอกครับ มันเดินต่อได้ แต่ทำไมคุณสุชน ไม่เดินต่อล่ะครับ ถ้ามันดื้อแพ่งแล้วได้ผลจริง มันควรต้องชะงักตั้งแต่มีคำพิพากษาใหม่ๆแล้ว คตง ก็คงไม่สรรหาคนใหม่ วุฒิฯก็คงไม่เลือกคนใหม่ ที่รอจ่อทูลเกล้าฯ อยู่รอมร่อเนี่ย
ต้องไปถามคุณสุชนครับ ว่ารออะไร
หากคุณสุชน ทูลเกล้าฯ ชื่อคุณวิสุทธิ์ฯ แล้วทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งเรียบร้อย กระบวนการทุกอย่างควรจะจบลง ผมไม่อยากเห็นหลายคนที่ไม่เห็นด้วย (ผมก็ไม่เห็นด้วยวะ) กับการเสนอชื่อคุณวิสุทธิ์ ใช้วิธีการเดิมๆ เหมือนตอนที่ยื่นเรื่องคุณหญิงให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวินิจฉัยเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอีก มันไม่จบไม่สิ้น เมื่อต้องการจะขุดเอาปมเดิมๆมาเล่นกัน มันก็ไม่มีวันจบ
ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นรอยด่างแห่งอดีตของวงการกฎหมายเถิดครับ เป็นรอยด่างที่เหมือนแผลเป็น ที่ไม่ลบไม่จาง คอยเตือนให้เราระลึกถึงเสมอว่า การเล่นแร่แปรธาตุกับสิ่งที่เรียกว่า “กฎหมาย” มันส่งผลให้เกิดความ “เจ็บปวด” เพียงใด
กฎหมายที่เกี่ยวข้องครับ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 27 วรรคแรก ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐานหรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร
วรรคสอง ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นๆ
2 Comments:
ข่าวล่าสุด
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้นายวิสุทธิ์ฯ ดำรงตำแหน่งผู่ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว
คาดว่าเราคงรู้ข่าวตามหน้าสื่ออีกไม่นาน
เฮ่อ หวังว่าทุกอย่างจะจบสิ้นเสียที
ได้นายใหม่แล้วครับ
4:07 AM
แม้แต่ข้าราชการอย่างผม ยังโดนข่าวลวงเล่นงาน
พอได้ข่าวว่าโปรดเกล้าฯ ผู้ว่าการฯ คนใหม่แล้ว ก็ตื่นเต้น พร้อมกับเป่าปากว่าทุกอย่างคงจะสงบลงเสียที
แต่ เอ... วันก็แล้ว สองวันก็แล้ว ทำไมข่าวยังเงียบ วันนี้เลยลองคุยกับข้าราชการรุ่นพี่อีกท่าน ท่านก็กรุณาบอกว่า ตอนนี้มีกระแสข่าวเรื่องนี้เยอะมาก (แม้ว่าจะเจอซีทีเอ็กซ์ กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจกลบเสียมิด)
เรียกได้ว่า หากคุณสุชน ขับรถออกนอกเส้นทางปกติหน่อย ก็มีข่าวว่า เอาชื่อคุณวิสุทธิ์ ไปถวาย เพื่อทรงโปรดเกล้าฯ
เอากะมัน
สรุปตอนนี้ ที่ผมกล่าวว่า ได้ผู้ว่าการฯคนใหม่แล้ว
ก็ยังโคมลอยอยู่ดี
ผมเป็นเหยื่อของเลห์ข่าวการเมืองเสียแล้วครับ
เอาเป็นว่าหากผมได้ข้อมูลจริง จะมาบอกกล่าวกันอีกครั้ง
คราวนนี้ต้องรอบคอบหน่อยแล้วครับ
10:17 AM
Post a Comment
<< Home