Thursday, June 16, 2005

ขอคิดด้วยคนเรื่องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน : ตอนที่ 1

ว่าจะเขียนถึงเรื่องนี้นานแล้ว แต่ด้วยความเหลวไหลส่วนตัว ทำให้ผมทิ้งเวลามาเนิ่นนาน นานจนมันอาจจะตกขบวนการถกเถียงกับประชาคมไปแล้วก็ได้

แถมเขียนไปเขียนมายาวเหยียด และมากมายหลายประเด็น ผมเลยขออนุญาตที่จะแบ่งขาย แบ่งตอนเอาลงบล็อกเพื่อมิให้เป็นการทรมานสายตา ผู้ที่หลงมาอ่าน

ตอนนี้ผมจะว่าถึง กระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามกฎหมายที่มีอยู่และเป็นอยู่ก่อนนะครับ ส่วนประเด็นความเห็นของผมในการแก้ไขปัญหากฎหมายที่เกิดขึ้น ที่คาราคาซังอยู่ จะทำอย่างไร ขออนุญาต เอาไปไว้ในตอนหน้า

เริ่มนะครับ...

ในประเด็นเกี่ยวกับ การนำพระบรมราชโองการมาเป็นเหตุผลหลักในการดื้อแพ่ง ของบรรดากองเชียร์คุณหญิงจารุวรรณนั้น ผมเห็นพ้องทุกประการกับทุกท่าน โดยเฉพาะ พี่บุญชิตฯ และ นายนิติรัฐ รวมทั้งเรื่องเครื่องราชย์ฯด้วย ผมไม่เห็นประเด็นอะไรสักเท่าไหร่ นอกจากจะเป็นการถกเถียงที่ไร้ข้อสรุป เพราะเรื่องแบบนี้เหมือนเอาศรัทธา ความเชื่อมาทุ่มเถียงกัน

ประเด็นที่ผมมอง ก็คงหนีไม่พ้นประเด็นข้อกฎหมาย แต่ก็ต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่นักกฎหมายมหาชน และมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนเทียบเท่าหางของอึ่งน้อยตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ดังนั้นหากข้อเขียนอันนี้ผิดพลาดประการใดในบริบทของกฎหมายมหาชน วอนผู้รู้ทั้งหลายชี้แนะด้วยขอรับ

แต่อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาที่ผมขอคิดด้วยคน ก็ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการทำหน้าที่ หรือเรื่องคุณภาพของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุที่ความรู้ไม่ถึง และน่าจะเป็นผู้อ่านมากกว่าผู้เขียน

ดังนั้นเรื่องของผมจริงๆ จึงเป็นเรื่องของ “เนื้อหา” ของ “กระบวนการสรรหา“ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มากกว่า ซึ่งผมมองเรื่องนี้เป์นสายพาน หรือเป็นกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ การสรรหาชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม โดย คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อจากนั้น ก็เสนอชื่อบุคคลดังกล่าว สู่การพิจารณา เพื่อให้ “ความเห็นชอบ” โดย องค์กรวุฒิสภา เมื่อเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ แล้ว ก็จะนำชื่อบุคคลนั้น ทูลเกล้าฯ เพื่อให้ในหลวงท่านทรงลงพระปรมาภิไธย ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

ประเด็นปัญหาก็คือการทำงานของสายพานเส้นนี้ มันสะดุดตรงไหน?

มันมาสะดุดในขั้นตอนของการสรรหาบุคคลของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อนำชื่อของบุคคลดังกล่าวเสนอต่อวุฒิสภา

มันมาสะดุดเพราะระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการสรรหาบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ นั้นดันระบุให้ “เสนอชื่อผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด” เพียงรายเดียว เพื่อให้วุฒิฯ “เห็นชอบ” แต่เอาเข้าจริง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกลับ เสนอชื่อขึ้นไปสู่การพิจารณาของวุฒิฯ พร้อมกันถึง สามชื่อ แล้ว ผู้ที่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิฯให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ดันมาเป็นคุณหญิงจารุวรรณ ซึ่ง ได้คะแนนเป็นอันดับสอง ไม่ใช่นายปัญญา ดาบเพชร ที่ได้คะแนนสูงสุดตามระเบียบฯ

หลายท่านตีความว่า ระเบียบดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 30 เพราะ มาตรานั้นบัญญัติให้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จัดทำเป็น “บัญชีรายชื่อ” เสนอต่อวุฒิฯ นั่นหมายความว่า พระราชบัญญัติดังกล่าว อนุญาตให้ คตง. เสนอรายชื่อหลายรายชื่อได้ เพราะให้ทำเป็นบัญชี (โปรดนึกภาพบัญชีหางว่าว ทะเบียนไพร่พลสมัยโบราณที่ต้องมีรายชื่อยั้วเยี้ย) ดังนั้นการที่ระเบียบคตง. กลับกำหนดให้ คตง. เสนอชื่อบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุดนั้น ย่อมหมายถึง ให้ส่งได้แค่ “คนเดียว” นั่นก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า ระเบียบดังกล่าวนั้นขัดต่อพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปว่า กฎหมายลำดับสูงกว่าย่อมมาก่อน หรือ ตัด กฎหมายในลำดับต่ำกว่า หากเนื้อหาของกฎหมายทั้งสองขัดหรือแย้งกัน

ในเรื่องนี้ ผมกลับเห็นต่างครับ จากการที่ผมสำรวจ บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ในมาตรา 30 และ 31 ซึ่งเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการเสนอชื่อของบุคคลที่มีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ต่อวุฒิสภานั้น ผมพบว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการให้ คตง. เสนอรายชื่อบุคคลนั้น เพียง “ชื่อเดียว” จริงๆ

ผมไม่ได้นั่งเทียนเขียนครับ สาบานได้

สังเกตได้จากถ้อยคำลายลักษณ์อักษรของ มาตรา 30 และ 31 โดยเฉพาะใน มาตรา 31 ครับ (ใครไม่มีพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่เป็นไรครับ ผมคัดลอกมาไว้ด้านล่างของข้อเขียนนี้ไว้แล้ว) แม้ มาตรา 30 จะให้ส่งเป็นบัญชีรายชื่อ ซึ่งหลายท่านมองภาพเป็นบัญชีหางว่าวอย่างที่ได้ว่ามาแล้ว แต่กระนั้น บัญชีรายชื่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าส่งเพียงคนเดียวไม่ได้นะครับ

ลองมาดู มาตรา 31 กันดีกว่าครับ ว่าอ่านยังไงถึงหมายถึง “คนเดียว”

ถ้อยคำที่เป็นคำสำคัญของมาตราดังกล่าวได้แก่คำว่า…

1. เห็นชอบ ในวรรคแรก
2. คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่ง ในวรรคสอง
3. ถ้าไม่เห็นชอบให้คณะกรรมการฯ คัดเลือกคนใหม่ขึ้นไป จนกว่า วุฒิฯจะเห็นชอบ ซึ่งเป็นเนื้อความหลักในวรรคที่สี่

ขยายความได้ดังนี้ครับ

1. เมื่อคตง.ได้สรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายและเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ก็จะต้องส่งรายชื่อบุคคลนั้นต่อไปให้ วุฒิสภา “ให้ความเห็นชอบ” ถ้อยคำคำว่า “เห็นชอบ” นี้เป็นคำสำคัญที่ต้องพิจารณาเหตุเพราะ หากพิจารณาบทบัญญัติในกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวกับการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น กรณีของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือแม้แต่ กรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเองแล้ว...

ผมพบว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นๆ กลับบัญญัติให้ วุฒิฯ “เลือก” ไม่ใช่ “เห็นชอบ”

การที่เรื่องเดียวกัน กฎหมายบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำต่างกัน นั่นย่อมหมายความว่า ประสงค์ให้ความหมายมันต่างกันด้วยน่ะครับ

บางคนตีความอีกว่า ก็ส่งสามเห็นชอบหนึ่งก็ได้นี่หว่า

ครับ…แต่แถวฝั่งธนบ้านผมเค้าเรียกว่า “เลือก” ครับ อีแบบนั้นน่ะ

2. นอกจากความแตกต่างแห่งถ้อยคำของคำว่า “เลือก” กับ “เห็นชอบ” ที่ผมโปรยไว้แล้วนั้น การลงคะแนนของวุฒิฯในการเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ก็น่าคิด เนื่องจาก กรณีการเลือกองค์กรอิสระอื่นๆที่กฎหมายกำหนดให้ส่งเป็นบัญชีรายชื่อโดยปรากฏรายชื่อบุคคลมากกว่าหนึ่งให้วุฒิไปเลือกเอาเองนั้น กฎหมายจะบัญญัติเกี่ยวกับเกณฑ์คะแนนไว้โดยใช้เกณฑ์คะแนน “สูงสุด” และ ต้อง”ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิ” เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ชนะ นั่นหมายถึง ในบรรดาหลายหน่อนั้น ใครได้คะแนนสูงสุดและคะแนนสูงสุดนั้นเกินกึ่งหนึ่ง ก็เป็นผู้ที่ได้รับชัยเหนือคู่แข่งร่วมบัญชีรายชื่อนั้น

แต่หากสังเกตกรณีการลงคะแนนเห็นชอบผู้ว่าการฯ กฎหมาย กำหนดแต่ คะแนนที่จะเห็นชอบนั้น ต้อง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” เท่านั้น หาได้บัญญัติถึงกรณีคะแนนสูงสุด เหมือนกรณีอื่นแต่อย่างใด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อไม่มีเกณฑ์คะแนนสูงสุด ก็ย่อมหมายความได้ว่า มันไม่มีการแข่งขันของบุคคลในบัญชีหลายคน หากแต่เพราะมันเป็นคนๆเดียวแค่นั้นแหล่ะ ถึงให้การเห็นชอบด้วยคะแนนเกินกึ่งแค่นั้น

ผมว่ามันจะง่ายกว่านั้นนะ ถ้ากฎหมายหันไปใช้คำว่า “รับรอง” แทน “เห็นชอบ”

3. มาถึงเหตุผลสุดท้าย วรรคท้ายของ มาตรา 31 บอกกล่าวถึงกรณีที่วุฒิฯ ไม่เห็นชอบกับบุคคลที่ คตง. สรรหามา ผลก็คือ คตง.ต้องไปดำเนินการสรรหา และเสนอขึ้นมาใหม่ จนกว่า วุฒิฯจะเห็นชอบ หมายความว่าไงครับ ก็หมายความว่า คตง.คัดมาทีละคน ส่งไปให้วุฒิฯดูสเป็ค ไม่ชอบ ก็เด้งกลับลงมา ให้ คตง. จัดไปให้ใหม่ ทีละคนๆไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ที่ตรงสเป็ค วุฒิฯ โดยได้คะแนน “เห็นชอบ” เกินกึ่งหนึ่งนั่นแหล่ะครับ จึงจะเสร็จสิ้น


จากเหตุผลทั้งหลายแหล่ที่ผมยกมา ผมจึงเห็นว่า ระเบียบคตง ที่กำหนดให้ต้องส่งคนที่ได้คะแนนสูงสุดเพียงคนเดียวจาก คตง. ไปสู่ วุฒิฯ ให้เห็นชอบนั้น หาได้ขัดกับ รัฐธรรมนูญ หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินไม่ ออกจะสอดคล้องต้องกันด้วยครับ

นั่นเท่ากับผมยอมรับว่าการส่งชื่อไปทั้งสามท่าน คือ นายประธาน ดาบเพชร นางจารุวรรณ เมณฑกา (ก่อนได้คุณหญิง) และ นายนนทพล นิ่มสมบูรณ์ นั้น ขัดต่อระเบียบฯ และพระราชบัญญัติ แม้จะวงเล็บไปว่า นายประธานฯ ได้คะแนนมากที่สุด รองลงมาคือ นางจารุวรรณ และนายนนทพล ก็ตามที

มาถึงตรงนี้แล้ว หลายคน อาจจะเกาหัวแล้วตั้งคำถามว่า แล้วคุณมรึงจะเขียนหาอาวุธด้ามยาวใช้แทงทำไม ในเมื่อก็ยอมรับแล้วว่ามันขัด มันก็ต้องพังราบเรียบไปทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการโปรดเกล้าแล้วหรือไม่

หรือ “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” นั่นเองครับ

มิได้ครับ…การที่มีขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งบกพร่อง ผมไม่ได้มองว่ามันจะทำให้ขั้นตอนที่ชอบภายหลังจากนั้น ต้องพังไปด้วย หรือต้องมีการยกเลิกเพิกถอนขั้นตอนที่ชอบภายหลังในทุกกรณี

บ้านแม้ไม่ได้ตอกเสาเข็ม ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องรื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว เพื่อตอกเสาเข็มใหม่ หากดินที่ก่อสร้างแข็งแรงดีเพียงพอแล้ว และไม่มีผลต่อความมั่นคงของบ้านหลังดังกล่าว

ผมเห็นว่า มันต่างจาก เรื่องการ ขาด “คุณสมบัติ” ที่ไม่ว่า จะได้รับการโปรดเกล้าแล้วนานกี่ปี เมื่อค้นพบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งขาดคุณสมบัติบางประการ เช่น ไปปลอมวุฒิการศึกษา อันนี้ไปหมดครับ ล้มเป็นโดมิโนกันเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่าขั้นตอนที่บกพร่องนั้น หากจะส่งผลให้ต้องมีการยกเลิกเพิกถอนขั้นตอนที่ “ชอบด้วยกฎหมาย” ที่เกิดขึ้นมาภายหลังนั้นได้ มันต้องเป็นขั้นตอนที่ “สำคัญ” จริงๆ

แล้วที่ว่า สำคัญ ไม่สำคัญ จะเอาอะไรมาวัด??

ผมคิดอย่างนี้ครับ

เริ่มที่ความสำคัญและสถานะขององค์กรที่เรียกว่า “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” กันก่อน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จะว่าไปถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีสถานะพิเศษ เหตุเพราะได้รับการบัญญัติเคียงคู่กับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในภารกิจการตรวจเงินแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นเพียงแม่บ้านคอยปัดกวาดเช็ดถู เหมือน เลขาธิการสำนักงานขององค์กรอิสระทั้งหลายเท่านั้น (ผมเคยเขียนภารกิจและบทบาทในการคานและดุลอำนาจระหว่างผู้ว่าการฯกับ คตง.ไว้แล้วในบล็อกแห่งนี้ครับ ลองเลื่อนลงไปดูในเรื่องยุ่งๆเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินครับ)

ด้วยสถานะและภารกิจที่ค่อนข้างพิเศษ การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งนี้ จึงต้องพิเศษตามไปด้วย คือ

ไม่หลวมเหมือนกับการเลือกคนมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานขององค์กรอิสระทั้งหลาย และขณะเดียวกัน ก็ไม่แน่นขนาด บรรดาองค์กรกลุ่มที่เป็นคณะกรรมการองค์กรอิสระทั้งหลาย ที่ขนาดต้องมีการตั้งกรรมการสรรหามากมาย และวุ่นวาย เดี๋ยวจะเอาการเมือง เดี๋ยวไม่เอาการเมือง ปวดกบาล

ด้วยเหตุที่ต้องทำงานร่วมกันกับ คตง. และขณะเดียวกัน ต้องดำรงบทบาทแห่งการ ดุลและคานอำนาจกับ คตง. ด้วย การสรรหาจึงต้องเปิดโอกาสให้ คตง. และ วุฒิสภา ในการใช้อำนาจร่วมกันในการเลือกบุคคลดังกล่าว ไม่ให้ตกอยู่ในอาณัติของ คตง.เกินไป ขณะเดียวกัน ก็ยังผูกด้ายแดงโยงกับ คตง.ไว้ไม่ให้หลุดลอยไป

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 31 ที่ผมยกขึ้นมาข้างต้นแล้วนั้น แสดงให้เห็นถึงการออกแบบ ดุลอำนาจระหว่าง คตง. และ วุฒิฯ ในการร่วมกันสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้คตง.เป็นคนเสนอชื่อ แล้วให้วุฒิฯ เห็นชอบ (คงไม่ผิดนักหากผมจะเปลี่ยนเป็น ให้คตง.เป็นคนเลือก และวุฒิฯเป็นผู้รับรอง)

ดังนั้นการส่งชื่อที่ผิดพลาดดังกล่าว จะถือว่าสำคัญหรือไม่สำคัญ ผมมองว่า เราน่าจะวัดได้จาก การกระทำดังกล่าว ทำให้ดุลอำนาจในการเลือกผู้ว่าการฯ ตามที่กฎหมายออกแบบไว้ ระหว่าง คตง. กับ วุฒิฯ เปลี่ยนไปหรือไม่

ในความเห็นของผม ผมเห็นว่า “เปลี่ยน” ครับ เปลี่ยนอย่างไรครับ?

เพราะมันจะต่างอะไร หากกฎหมายบัญญัติให้ คตง.สามารถส่งชื่อผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ได้สามคน เพื่อให้วุฒิฯเลือก แต่ คตง.กลับหลับหูหลับตาส่งไปเพียง “ชื่อเดียว” ฉันใดก็ฉันนั้นแล

เท่าที่ร่ายยาวมาทั้งหมด เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า บทบัญญัติในกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวกับการคัดเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีอยู่อย่างไร กระบวนการทั้งหลายแหล่เป็นอย่างไร และ โดยเฉพาะ เรื่อง “ดุลอำนาจ”ในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ระหว่าง “คตง” กับ “วุฒิสภา” ตามกฎหมายเป็นอย่างไร

ผมยังไม่ได้แสดงความเห็นว่า มันเหมาะสมหรือไม่เลย

จริงอยู่กฎหมายวางโครงสร้าง และวางดุลอำนาจในกรณีนี้ไว้อย่างข้างต้น แต่ถามผมว่า ผมเห็นด้วยหรือไม่?

ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับมันสักเท่าไหร่

ทำไมหรือครับ

ก็เพราะความเป็นองค์กรที่ต้องร่วมกัน “ตรวจเงินแผ่นดิน” และ ความเป็นองค์กรที่ต้อง “ดุลและคาน” อำนาจระหว่างกันในการตรวจเงินแผ่นดิน ของ “คตง” และ “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” น่ะสิครับ

น้ำหนักที่ได้ดุล ในการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ก็ควรต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับภาระหน้าที่และบทบาทขององค์กรดังกล่าวข้างต้นด้วย

ผมมองว่า น้ำหนักที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และระเบียบคตงว่าด้วยการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ค่อนข้างจะโอนเอียง มาทาง คตง. จนยากจะเรียกว่า “ได้ดุล”

เพราะอะไรครับ

หากเราพิจารณาจากการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นๆตามรัฐธรรมนูญนั้นจะเห็นว่า กฎหมายกำหนดให้มีการ “เสนอชื่อ” ผู้ที่เหมาะสมและมีคุณสมบัติครบถ้วน โดย องค์กรที่เรียกว่า “กรรมการสรรหา” ซึ่งมักจะออกแบบให้มีองค์ประกอบอันหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่คล้ายกันคือ ประธานศาลทั้งสามศาล อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ และผู้แทนพรรคการเมือง เทือกๆนี้

สังเกตได้ว่า กรรมการสรรหา มักมาจากภาคส่วนที่มีต้นทุนทางสังคม “ค่อนข้างสูง” (แม้ว่าจะมีข้อถกถียงเรื่องตัวแทนพรรคการเมืองในปัจจุบัน)

หากพิจารณาอำนาจหน้าที่ของกรรมการสรรหาเหล่านี้ จะพบว่า ไม่ใช่เป็นแค่เพียงองค์กรตรายาง ไว้สำหรับรับสมัคร บรรดาผู้ต้องการแข่งขันเพื่อดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ประเภท หรือเป็นแค่เพียง “บุรุษไปรณีย์” ในการรับส่งเอกสารการสมัคร และรวบรวมรายชื่อ ส่งวุฒิฯแค่นั้น ไม่อย่างงั้นคงไม่ต้องขนาดลากเอาคนอย่างประธานศาลสามศาล อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ หรือผู้แทนพรรคการเมือง หรอกครับ ลำพังข้าราชการรัฐสภาก็น่าจะพอแล้ว

กรรมการสรรหาสามารถพิจารณาคัดบรรดาผู้สมัครทั้งหลาย ให้เหลือจำนวนที่กฎหมายกำหนด (ซึ่งมักจะเป็นจำนวนสองเท่าของตำแหน่งที่จะดำรงได้ ) นั่นหมายถึง ในกระบวนการสรรหานั้น มีกระบวนการ “คัดเลือก” เบื้องต้น เพื่อหาผู้ที่ มีคุณสมบัติครบถ้วน และ “มีความเหมาะสม” แล้วด้วย ก่อนจะส่งให้ วุฒิฯ เลือกอีกที

ผมได้กลิ่นการดุลและคานอำนาจกันระหว่าง “กรรมการสรรหา” กับ “วุฒิสภา” แล้วครับ

ผมไม่ต้องการขนาดให้ดุลอำนาจในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นได้ดั่งกรณีข้างต้นหรอกครับ เพราะอย่างที่ผมว่า อย่างไรเสีย ผู้ว่าการฯ กับ คตง ท่านก็ต้องทำงานด้วยกัน และในฐานะหนึ่ง ผู้ว่าการฯ ท่านก็เป็นเสมือนแม่บ้าน คอยดูแลงานทางธุรการของ คตง. ท่านด้วยน่ะครับ

ไม่จำเป็นต้องไปตั้ง กรรมการสรรหา จากบุคคลภายนอก องค์กรภายนอก ในการสรรหาผู้ว่าการฯ ให้วุ่นวาย ผมมองว่า ให้ คตง. เป็นผู้สรรหาน่ะก็พอแล้ว

เพราะเมื่อเป็นผู้สรรหา ก็ย่อมหมายความว่า ท่าน “คัดเลือก” คนที่จะมาทำงานกับท่านได้ในเบื้องต้นแล้ว

การให้ คตง. อันเป็นผู้คัดเลือก เพียง รายชื่อเดียว เพื่อเสนอให้แก่วุฒิสภา ผมว่ามันล้ำเส้นเกินไป หรือกล่าวอีกนัยหนี่งก็คือ มันเป็นการบีบเปลือกตาของวุฒิให้หรี่ลงมองแต่เฉพาะคนๆเดียว แทนที่จะเบิกตาให้กว้าง แล้วได้มีโอกาสเทียบกับหลายๆคน ซึ่งผมมองว่ามันไม่ค่อยจะได้ดุลสักเท่าไหร่ (เพราะอย่างน้อยไอ้หลายๆคนที่ส่งไป ก็มาจากคนที่ท่านสรรหามากับมือทั้งนั้นแหล่ะ)

ผมไม่อยากเห็นภาพ “คนๆเดียวๆ” ที่ท่านเลือก จะต้องมาสำนึกกตัญญู กับ คตง. ในการทำหน้าที่ที่ต้องมีทั้งการดุลและคานอำนาจกัน

สรุปก็คือ ผมมองว่า แค่กฎหมายกำหนดให้ คตง.เป็นองค์กร “สรรหา” เพื่อเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เกิดดุลอำนาจอันเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องขนาด ให้ คตง.เลือกเหลือเพียง “คนเดียว”

หากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน จะได้รับโอกาสแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ผมว่าประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรได้รับการพิจารณา

ไว้ต่อตอนหน้าครับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องครับ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542

มาตรา 30 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชียายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 28 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 29 เพื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา

เมื่อคณะกรรมการได้สรรหาบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้นก่อนเสนอชื่อไปยังประธานวุฒิสภา

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 31 เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับรายชื่อบุคคลตามมาตรา 30 แล้วให้เสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ในการให้ความเห็นชอบผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ให้วุฒิสภาลงมติโดยต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ในการออกเสียงลงคะแนนเพื่อให้ความเห็นชอบ ให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ

เมื่อวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานวุฒิสภานำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตาม มาตรา 28 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 29 เสนอวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไปจนกว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบ

ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2543

ข้อ 6 การสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
....
(5) การเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ถือตามมติคณะกรรมการโดยวิธีลงคะแนนลับ ในการนี้ให้ผู้ซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดไม่เกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงมติอีกครั้งหนึ่งต่อเนื่องกันไปและในกรณีนี้ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ

2 Comments:

Anonymous Anonymous said...

Dear Blog Neighbor:

We at the Mandrew collective are troubled. One of our members reports:
I work up dreaming about girls and then I had this weird song stuck in my head for like 10 min
it went somethin like
"because saddam stole my turkey
oh that dirty haji stole my turkey
because saddam stole my turkey
he took the refrigerator too."
The Mandrew collective has decided to make this song into our new theme song but we need help. That is where you our blog neighbor come in. Please help us with more lyrics in the words of Princess Leia- you ratio scripta are our only hope . . .

Mandrew is:
Forrrest at www.mindlessblather.net
Walter at www.fortheboredones.blogspot.com
and
Soviet at sovietinamerica.blogspot.com

Feel free to comment anywhere and thank you for your help.

6:46 AM

 
Anonymous Anonymous said...

มาอ่านครับ ไม่มีความรู้เรื่องกฏหมาย จึงไม่อาจจะให้ความเห็นใดๆได้

1:19 AM

 

Post a Comment

<< Home