Thursday, July 07, 2005

โศกนาฎกรรมแห่งกรุงลอนดอน

จริงๆที่หายไปนี่เพราะผมกำลังสับสนว่าจะหาเรื่องไหนมาเขียนลงบล็อกดี เนื่องจาก ณ นาทีมีหลากหลายเรื่องที่น่าสนใจเหลือเกินในมุมมองทางกฎหมายที่อยากจะเขียนและถ่ายทอดเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาคมบล็อกเกอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตนายแพทย์วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ที่ถูกข้อหาฆ่าหั่นแพทย์หญิงผัสพร ภรรยาตนเอง ซึ่งเป็นคดีโด่งดังเมื่อ ประมาณ 4 ปีก่อน หรือว่าจะเป็นประเด็นที่ได้จากการถกเถียงแลกเปลี่ยนผ่านหัวข้อ “นักเรียนหนีทุน” ของพี่ปริเยศ เกี่ยวกับประเด็นขอบเขตของกฎหมายอาญา ที่ผมมักจะมีแนวคิดโอนเอียงในการ “จำกัด” บริบทของกฎหมายอาญา โดยเฉพาะการจะบัญญัติให้การกระทำใดการกระทำหนึ่งเป็นความผิดอาญานั้น ผมมีแนวคิดในการ “ปฏิเสธ” ไว้ก่อน เพราะผมมีสมมติฐานที่ว่า โลกในยุคปัจจุบันควรจำกัดบริบทของกฎหมายอาญาให้มากที่สุด และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากมันผลิดอกออกผลออกมาในรูปของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เด็กหนีทุน” ข้างต้น หรือประเด็นการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กเมื่อปี 2546 ในการเอาโทษผู้ปกครองที่ “เลี้ยงลูกไม่ดี” หรือปล่อยปละละเลยบุตรของตน ซึ่งผมขออนุญาตตั้งคำถามว่า ปัจจุบันการเลี้ยงลูกไม่ดีเป็นความผิดอาญาไปแล้วหรืออย่างไร

หรืออาจจะเป็นเรื่องการจับแม่ชีเบญจวรรณ เสมาชัยในข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชทายาท” ซึ่งผมคาดว่าน่าจะเป็นข้อหาใน มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญานี่แหล่ะ น่าคิดครับว่า การแสดงตนว่าเป็นทายาท หรือเป็นพระราชวงศ์เบื้องสูง ตามข่าวนี่ จะถือว่าเป็นการ “ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” หรือไม่ อย่างไร

หรือว่า ข้อหาดังกล่าวจะกลายเป็น “หลุมดำ” ของประมวลกฎหมายอาญา เหมือนกับ คดี “สติ๊กเกอร์” อันโด่งดังในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นี่ยังไม่รวมปัญหาที่ปวดกระโหลกผมและผองเพื่อนในสำนักงานกฎหมาย เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองในเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบละเมิดเจ้าหน้าที่ ที่ผมและเพื่อนๆไม่เข้าใจว่าทำไมเมื่อหัวหน้าส่วนราชการถูกร้องเรียนและได้รับการชี้มูลจากสตง.ว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนทางละเมิด กฎหมายดันกำหนดให้เฉพาะหัวหน้าส่วนราชการนั้นเป็นคนตั้ง แล้วแมวน้ำที่ไหนจะตั้งกรรมการสอบตัวเองล่ะครับ แค่คิดก็ผิดแล้ว เมื่อสตง.แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้กำกับดูแลเหนือ หัวหน้าส่วนราชการที่ถูกร้องเรียน และมีการตั้งกรรมการโดยผู้บังคับบัญชาหมอนั่นแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ศาลท่านกลับพิพากษาให้การตั้งกรรมการโดยผู้บังคับบัญชานั้นไม่ชอบ ซึ่งส่งผลถึงคำสั่งเรียกเงินคืนทางละเมิดต่อหัวหน้าส่วนราชการคนนั้นไม่ชอบไปด้วย ไว้จะมาเขียนให้อ่านให้ฟังกันครับ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องหลีกทางให้เรื่องนี้ก่อนครับ

โศกนาฎกรรมแห่งกรุงลอนดอน

วันนี้ทั้งวันผมไม่ได้เข้าอินเตอร์เนต ไม่ได้เปิดวิทยุ และไม่ได้ดูทีวีแต่อย่างใด

หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจในการลงสนามปูนเตะฟุตบอล กับพรรคพวกที่ทำงาน ผมก็ขับรถกลับบ้าน ยังไม่ทันเดินผ่านประตูบ้านเลย ก็ได้ยินเสียงรายงานข่าวจากทีวี อื้ออึงไปหมด อารมณ์คล้ายกับการสัมภาษณ์สดรายงานจากที่เกิดเหตุ ครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

หลังจากได้สอบถามกับผู้เป็นมารดาว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น ก็ได้คำตอบกลับมาว่า มีการก่อการร้ายโดยการระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน ถึง 7 แห่ง และที่สำคัญมีการสูญเสียมากมายทั้งเจ็บและตาย

ทั้งๆที่เมื่อวานก่อนยังเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิค ในปี 2012 รวมทั้งการจัดคอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อยู่กลิ่นยังไม่ทันจาง

ที่ผมวิตกมากกว่าปกติเพราะว่าในกรุงลอนดอนมีคนใกล้ชิดของผมร่ำเรียนวิชาอยู่ที่นั่น ผมรีบเปิดคอมพิวเตอร์และออนไลน์ เมื่อได้พบว่าเธอได้ออนไลน์อยู่ และปลอดภัยดี ก็คลายกังวล เราคุยกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสักพัก พร้อมกับความรู้สึกว่าอย่างน้อยช่างเป็นโชคดีของเธอจริงๆที่เมื่อวานเธอเม้าท์กับเพื่อนเพลินไปหน่อย จึงทำให้ตื่นสายและไม่สามารถออกไปทำธุระอย่างที่วางแผนได้ในเช้าวันต่อมา ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดเมื่อเวลา 8.50 น. และสองในเจ็ดจุดที่เกิดเหตุนั้น ห่างจากที่เรียนและที่พักอาศัยของเธอเพียงสองป้ายรถเมล์

ไม่รู้ว่าหากวันนี้เธอแอ๊คทีฟออกไปทำธุระตามแผน ซึ่งน่าจะราว เก้าโมงแล้ว ป่านนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ไม่อยากจะคิด

ไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์ กลุ่มอัลไกดาในยุโรปก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งผมก็ยังติดใจเช่นเดียวกับหลายๆคนที่เคยตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว มันต้องมีคนออกมาแสดงหรืออ้าง “ความรับผิดชอบ” วะ อารมณ์มันเหมือนแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะแก้ไขเยียวยาความเสียหายยังไงไม่รู้

เป็นธรรมดาเมื่อ “หมู่บ้านโลก” แห่งนี้ ถูกรุกราน แม้เป็นเพียงการโจมตี “บ้าน” หลังหนึ่ง ในจำนวนเป็นร้อยๆ ก็ตาม แต่ก็ย่อมกระเทือนถึงความสงบสุขของบรรดาบ้านหลังอื่นๆ ในหมู่บ้านด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวัดจาก “ขนาด” ของบ้านหลังนี้

มิพักต้องกล่าวถึง (สำนวนติดนิ้วของนิติรัฐ) “บ้านเรา” ซึ่งเป็นสมาชิกอันเหนียวแน่นของประชาคมหมู่บ้านโลกแห่งนี้เหมือนกัน ต้องจับตาดูครับว่าหลังจากนี้ คลื่นทุกข์โศก คับแค้น และเกลียดชังลูกนี้ จะกระทบบ้านเราอย่างไร

และจะเกิดอะไรขึ้นกับ บ้านใหญ่หลังนี้ต่อไป พ่อบ้านจะลุกมาตอบโต้การกระทำดังกล่าวหรือไม่ และในรูปแบบใด แต่หากลองไปเคาะประตูเพื่อนบ้านแสนสนิทหลังใหญ่ (กว่า) ผู้มีประสบการณ์ช่ำชองต่อเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อน คงไม่ต้องเดาให้เมื่อยครับว่าจะได้รับคำตอบแบบใด

1 Comments:

Anonymous Anonymous said...

นั่นดิ..
อะไรกันนักหนาไม่รู้เนอะ ไม่สงบซักที
เฮ้อ..
เวรของกรรม
แย่ เซ็ง
เบื่อ
ไม่เข้าใจคนชอบก่อโสกนาฎกรรมเลย
จริงๆนะ

3:06 PM

 

Post a Comment

<< Home