Tuesday, July 12, 2005

ว่าด้วยกฎหมายตราสามดวง (อันเต็มไปด้วยการโฆษณา)

วันนี้เป็นอีกวันที่วิ่งวุ่นครับ

ไม่ได้ไปทำงาน แต่ต้องไปช่วยโครงการฯ เตรียมสถานที่ และนิทรรศการ เพื่อให้พร้อมสำหรับวันพรุ่งนี้

โครงการฯ อะไรหรือครับ…

เล่าย้อนหลังให้ฟังกันหน่อย

เมื่อราวปี 2545 ขณะที่ผมเป็นนักศึกษาอาชีพ อยู่ในปีที่สองของการเรียนปริญญาโท ในวันหนึ่งที่ผมเสร็จจากการทำธุระที่คณะ และกำลังมุ่งหน้ากลับบ้าน ก่อนที่จะลงจากอาคารเรียน ผมได้พบอาจารย์ท่านหนึ่ง ผู้ได้สอนผมในขวบปีแรก ซึ่งต่อมาท่านได้กลายเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผม และนำผมเข้าสู่โลกแห่งงานวิชาการและงานวิจัยอีกนานัปการ

หนึ่งในนั้นคือ การที่อาจารย์ผลักดันให้ผมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “กฎหมายตราสามดวงในฐานะมรดกโลก” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสกว. โดยมีดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส ของสกว. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

ความพิเศษของโครงการดังกล่าว คือ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นศึกษากฎหมายตราสามดวง อย่างจริงจัง และแบบสหสาขาวิชา โดยรวมเอานักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ (ไม่รู้นิยามโดยอะไร) จากหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอักษรศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และกฎหมาย (ไม่ต้องเอ่ยนะครับว่าผมไปอยู่ในโหมดไหน) นอกจากนั้น โครงการนี้ยังได้รับความกรุณาจากบรรดาเกจิอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นหนึ่งในตองอูในสายวิชาต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษาประจำโครงการ ซึ่งผมคิดว่าโครงการฯนี้น่าจะเป็นโครงการที่มีที่ปรึกษาโครงการมากที่สุด

ช่วงรุ่งๆ ปีแรกๆ นับดูแล้ว น่าจะอยู่ที่ 13 ถึง 15 ท่าน ในขณะที่นักวิจัยมีอยู่ไม่ถึง 20 คน เรียกได้ว่าประกบกันตัวต่อตัวยังได้

นักวิจัยส่วนใหญ่ ล้วนเป็นศิษย์เก่าจากรั้วศิลปากรเกือบจะทั้งนั้น บรรยากาศในการประชุมความก้าวหน้าประจำเดือน จึงเปรียบเสมือนการรวมรุ่นศิษย์เก่า

ส่วนผมก็อาศัย เออ ออ ห่อหมกไปกับเค้าด้วย ทั้งๆที่ไม่ได้รู้จักมักจี่อะไรกับใครเค้าเลย

ไปใหม่ๆที่มีเซ็งครับ จะคุยกับใครก็ไม่มีใครรู้จัก และที่สำคัญ ผมเป็นนักวิจัยที่มาจากสายกฎหมายคนเดียว (ถ้าไม่นับคุณกฤษฎา บุณยสมิต อัยการผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ท่านดำรงฐานะทั้งที่ปรึกษาและนักวิจัยในโครงการนี้ด้วย ซึ่งสำหรับคุณกฤษฎา หรือที่ผมเรียกติดปากว่าอาจารย์กฤษฎา ผมไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีคนแบบนี้อยู่ในโลก ในขณะที่ท่านมีภารกิจประจำในฐานะทนายของแผ่นดินอยู่แล้ว แต่ท่านสามารถจัดสรรทั้งสมองและเวลาในการศึกษาอย่างทุ่มเทให้กับกฎหมายตราสามดวง ขนาดที่ว่าท่านน่าจะเป็นดัชนีค้นคำเคลื่อนที่ได้เลย เพียงแค่บอกศัพท์ยากในตราสามดวง ท่านสามารถอ้างอิงถึงตัวพระอัยการที่เกี่ยวข้องที่ปรากฏศัพท์คำนั้นได้อย่างแม่นยำ…โอ้ จอร์จ )

และเป็นผมคนเดียวอีกแหล่ะครับ ที่มาจากรั้วท่าพระจันทร์

ช่วงแรกๆ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวของผมในโครงการนี้อย่างแท้จริง (ทุกวันนี้ยังต้องปรับอยู่เลยครับ) นี่ถ้าไม่เป็นเพราะฝีมือการทำกับข้าวของแม่ครัวประจำบ้านท่านผู้หญิง วรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หนึ่งในที่ปรึกษาประจำโครงการ ที่โครงการผูกปิ่นโตไว้กับท่านทุกวันที่มีประชุม ผมคงเผชิญความลำบากในการดำรงชีวิตอยู่ในโครงการฯ มากกว่านี้แน่เชียว

โครงการนี้วิจัยอะไรครับ…

แน่ครับ ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบหน้า (ผม) ก็คงต้องตอบว่า ก็วิจัยกฎหมายตราสามดวง สิครับ

หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อของ “กฎหมายตราสามดวง” มาตั้งแต่ครั้งเรียนประถม มัธยมขาสั้นกันแล้ว ในฐานะกฎหมายเก่าแก่โบราณที่ไม่มีผลใช้บังคับแล้วในปัจจุบัน หากแต่เป็นประมวล หรือเรียกได้ว่าคัมภีร์ในการปกครองบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา (หรืออาจเก่ากว่านั้น) กระทั่งถึงยุคปฏิรูปกฎหมายให้เป็นสมัยใหม่อย่างตะวันตกในยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าและหก

หน้าที่ของพวกเราในคณะวิจัย ในระยะเวลาสามปีเต็มของการทำวิจัยกฎหมายตราสามดวงคือ ทำอย่างไรให้คนทั่วไปอ่านกฎหมายตราสามดวงเข้าใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยากลำบากแรกสุดของการวิจัยคัมภีร์เก่าแก่เล่มนี้คือ “ภาษา” ที่ไม่เพียงแต่เก่า และยาก หากแต่เพราะมันพ้นกาละไปแล้วครับ แม้แต่ล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าท่านยังเคยทรงปรารภถึงความยาก ในการอ่านกฎหมายตราสามดวงนี้เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว แล้วมาถึงรุ่นเราจะเหลือหรือครับ

ตรงนี้ครับที่เราต้องพึ่งนักภาษาศาสตร์ทั้งหลาย มาช่วยไขคำให้กระจ่าง รวมทั้งนักบาลีศึกษาทั้งหลาย เนื่องจากในแต่บทพระอัยการที่สืบแต่คัมภีร์พระธรรมศาสตร์นั้น ล้วนแต่อ้างบาลีมาเป็นคาถานำเป็นปรารภ ก่อนเข้าสู่เนื้อหาของกฎหมายนั้นๆเสมอครับ

นอกจากนั้น คัมภีร์ดังกล่าว ยังมีส่วนของขนบจารีตประเพณีมากมาย ทั้งในระดับองค์พระมหากษัตริย์ ที่ปรากฏเนื้อหาหลักอยู่ใน “กฎมณเทียรบาล” และในระดับสามัญชนอย่างเราๆ

ผมเองก็ได้รับความรู้มากมายจากประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น การอยู่ไฟแบบโบราณ ประเพณีการละเล่น รวมไปถึงศิลปะทั้งจิตรกรรม และปฏิมากรรม โดยเฉพาะคราวที่พวกเราได้รับความรู้จาก “ภูมิสถานอยุธยา” ซึ่งเป็นการนำพวกเรากลับสู่พระราชวังโบราณสมัยยุคทองรองเรืองที่สุดแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย

แต่สำหรับผมคงไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจมากไปกว่าการได้ศึกษาและรับรู้ถึงภูมิปัญญาคนโบราณในการระงับข้อพิพาท ให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบและสันติ ทั้งสิทธิหน้าที่ผ่านตัวบทกฎหมาย และการบริหารกระบวนการยุติธรรมแบบโบราณๆ ไว้มีเวลาคงมาเล่ารายละเอียดสนุกๆให้ฟังกันครับ

นอกจากการแปลศัพท์ยากๆ เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจและกระตุ้นต่อมอยากให้ผู้ที่ได้เข้ามาอ่านงานวิจัยเหล่านี้ ได้ศึกษาและเรียนรู้ ต่อยอดคัมภีร์โบราณเล่มนี้ต่อไปแล้ว ภารกิจอีกประการในสามขวบแรกของเราคือ การสกัดประเด็นที่น่าสนใจที่ได้จากการอ่าน พระอัยการแต่ละบท มาวิเคราะห์วิจารณ์กัน เท่าที่เวลาและความสามารถจะอำนวย หรือที่หัวหน้าโครงการท่านเรียกว่ากระบวนการ “สารัตถะวิพากษ์”

แน่นอนครับ ของยากขนาดนี้ ไม่มีทางที่พวกเราจะทำมันได้เสร็จสิ้นกระแสความอย่างสมบูรณ์ได้ภายในสามปี ในส่วนตัวผมเอง หากเราต้องการศึกษาสังคมไทยผ่านแว่นกฎหมายตราสามดวงฉบับนี้อย่างสมบูรณ์ ผมเชื่อว่าต้องใช้เวลา “ทั้งชีวิต” แม้ว่าเนื้อหาของกฎหมายตราสามดวงที่ตกทอดสู่มือของเราจะเหลือเพียง แค่ 1 ใน 10 ของ กฎหมายเก่าสมัยกรุงเก่า แต่ผมก็ยังยืนยันว่า ต้อง “ทั้งชีวิต” ครับ

ไม่อยากคิดว่า หากเอกสารกฎหมายไม่ถูกทำลายครั้งเสียกรุง และเราได้รับมรดกทางปัญญานี้ตกทอดมาทั้งสิบส่วน เราจะเห็นสังคมไทยในสมัยนั้น ได้ “ชัด” และ “สมบูรณ์” เพียงใด ไม่อยากจะคิดว่ากฎหมายตราสามดวงของเรา กับประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียนแห่งอาณาจักรโรมัน ใครจะยิ่งหย่อนกว่ากัน ในฐานะคัมภีร์แห่งปัญญา

เสียดายครับ เสียดาย

ดังนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี (?) ที่สกว. จะสนับสนุนโครงการนี้ต่อไปอีก สามปี!!! แต่ด้วยความจำเป็นจึงต้องลดการสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ ลงเหลือ ร้อยละ 50 และผมเองยังต้องผูกพันอยู่กับโครงการนี้ต่อไปอีกสามปี……..

วันพรุ่งนี้มีอะไรหรือครับ…

แม้ว่ากฎหมายตราสามดวงจะมีเนื้อหาของกฎหมายดั้งเดิมที่ยืนยาวมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองปฐมบรมกษัตริย์ของอาณาจักรกรุงศรีอธุยา แต่คำว่า “ตราสามดวง” ที่ใช้เรียกชื่อกฎหมายดังกล่าวนี้ ปรากฏอยู่ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 ซึ่งทรงโปรดให้ชำระตัวบทกฎหมายเก่าๆที่หลงเหลือซากจากการเผาทำลายของอริราชศัตรูตลอดกาลของเรา โดยสอบกับคาถาบาลี เพราะทรงเห็นว่า ตัวบทเก่าที่ลอกกันมาแต่ครั้งตอนเสียกรุงนั้น มีส่วนที่วิปลาศคลาดเคลื่อนไปมาก เมื่อชำระเสร็จ (ใช้เวลาเพียง 11 เดือนเศษเท่านั้น) ก็ทรงประกาศใช้กฎหมายที่ทรงโปรดให้ชำระขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2348 และทรงโปรดให้นำตราคชสีห์ ราชสีห์ และบัวแก้ว มาประทับอยู่ ณ ปกของกฎหมายฉบับดังกล่าว และโปรดให้นายอาลักษณ์คัดลอกเป็นสามฉบับ แยกเก็บไว้ที่ ห้องเครื่อง หอหลวง และศาลหลวง โดยเมื่อมีอรรถคดีเกิดขึ้น ให้ผู้พิพากษาตระลาการทั้งหลาย นำเอากฎหมายดังกล่าว ออกมาพลิกตัดสิน โดยหากลูกขุนสังเกตเห็นว่า กฎหมายที่เชิญมาไม่มีตราทั้งสามประทับ ก็ให้รู้ว่านั่นของเก๊ อย่าเชื่อฟังแต่อย่างใด

กฎหมายฉบับชำระแล้วนี้ จึงได้รับการขนานนามมาตลอดจากอดีตครั้งนั้น ถึงปัจจุบันว่า “กฎหมายตราสามดวง” ครับ

ใช่แล้วครับ ปีนี้ พ.ศ. 2548 นั่นก็เท่ากับว่า กฎหมายตราสามดวงฉบับนี้มีอายุครบรอบสองร้อยขวบเข้าให้แล้ว ประกอบกับปีนี้เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันท่านทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 60 ด้วย ทางโครงการวิจัยจึงได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้น โดยใช้ชื่อการสัมมนาว่า

“กฎหมายตราสามดวง : แว่นส่องสังคมไทย ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในโอกาสที่กฎหมายตราสามดวงมีอายุครบ 200 ปี และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นที่ที่ 60 ใน พ.ศ.2548”

งานครั้งนี้จัดขึ้น ณ โรงแรมตวันนารามาดา บริเวณ ถนนสุรวงศ์ ครับ ในวันพรุ่งนี้แล้วครับ (13 กรกฎาคม 2548) โดยสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จพระดำเนินเป็นประธานในพิธี

ในงานจะมีทั้งการเปิดตัวหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ หนังสือ “กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งผมเห็นมาแล้วครับ…

ขอบอกว่าสวยมาก ทั้งภาพและเนื้อหา เราจะได้เห็นภาพพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งขนบธรรมเนียมที่ใช้ในพระราชวัง การรักษาปราสาทราชมณเทียร รวมทั้งวาทะกรรม ต่างๆที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ

รวมทั้งการบรรยายพิเศษ ที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น “พระราชประเพณี พิธีกรรม และขนบประเพณีไทยในกฎมณเทียรบาล” โดยอาจารย์ จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ นี่ก็ที่ปรึกษาในโครงการวิจัย หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจอยู่ครับ

โปรแกรมต่อเนื่องยังไม่จบครับ

ปลายเดือนนี้ (28 – 29 กรกฎาคม 2548) จะมีการสัมมนาและรายงานความก้าวหน้าของนักวิจัยในโครงการ ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการวิจัยนี้ในเฟสสามขวบแรก (ชาวบ้านชาวช่องเค้าขึ้นเวทีเล่าความก้าวหน้ากันแค่ปีละหน แต่โครงการนี้โดยท่านผู้นำที่ฟิตปั๋ง ท่านเล่นให้นักวิจัยขึ้นเวทีกันครึ่งปีครั้ง หรือปีละสองครั้ง มากกว่าคนอื่นสองเท่า ครั้งนี้เลยเป็นครั้งที่หกแล้วครับ…แต่ครั้งนี้ผมยังไม่ได้โอกาสขึ้นครับ เนื่องจากหนีทัพไปจัดการวิทยานิพนธ์ของตัวเองซะหกเดือน งานการในโครงการเลยพอกหางผมอยู่ ไม่มีสิทธิขึ้นล่ะครับ เพราะไม่มีความก้าวหน้าใดๆ หลังจากที่ได้ขึ้นไปหนแรกเมื่อปีมะโว้แล้ว)

มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมายครับ ในการสัมมนาซึ่งเป็นการรายงานความก้าวหน้าของงานวิจัยดังกล่าว โดยเฉพาะกลิ่นของงานครั้งนี้ ดูจะมีโทนที่ทันสมัยเข้ากับยุคคอรัปชั่นเบ่งบานเสียจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของ “พระไอยการกระบดศึก” ซึ่งว่าถึงฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร ที่น่าสนใจสุดๆคือ โทษที่ปรากฏในพระอัยการดังกล่าวครับ ผมเคยเกริ่นๆไปแล้วในบล็อกพี่ปริเยศ เกี่ยวกับ โทษที่เรียกว่า “ทวดึงษะกรรมกร 32 สถาน” เป็นโทษที่เลียนแบบมาจากโทษในไตรภูมิกถา หรือโทษที่จะใช้ลงกับสัตว์นรกนั่นแหล่ะครับ ได้อ่านแล้วสยองกินข้าวไม่ลงไปหลายวันทีเดียว

รวมทั้งพระไอยการอาชญาหลวงและพระไอยการอาชญาราษฎร์ จะว่าไปก็เกี่ยวกับการประพฤติมิชอบในวงราชการ บิดเบือนอำนาจหน้าที่ของบรรดาเจ้าขุนมูลนายทั้งหลาย รวมทั้งความผิดว่าด้วยการละเมิดพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์นั่นแหล่ะครับ และตบท้ายด้วยการอภิปรายพิเศษ เรื่อง “การฉ้อราษฎร์บังหลวงในสังคมไทย อดีต - ปัจจุบัน” โดย คุณกล้าณรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. และดำเนินรายการโดยที่ปรึกษาผมเองครับ รศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส รายละเอียดอุบไว้ดีกว่า ใครสนใจไปในงานเองครับ จัดที่ตวันนารามาดาเช่นเดิม นอกจากนั้นนิทรรศการที่จัดไว้ในงานพรุ่งนี้ ก็ยังคงอยู่โยงให้ท่านได้ยลในวันที่ 28 – 29 ด้วยครับ

ไว้จะนำรายละเอียดมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ

วันนี้ขอตัวไปพักผ่อนเตรียมตัวให้พร้อมกับภารกิจอันใหญ่หลวง (สำหรับผม) ก่อนนะครับ ไว้จะนำบรรยากาศในงานมาเล่าให้ฟัง ได้ข่าวว่า มีการนำเอาต้นฉบับตราสามดวงฉบับพิมพ์ ของหมอบรัดเล เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วมาแสดงไว้ด้วย และยังมีตำราเก่าๆทั้งฉบับพิมพ์ ฉบับเขียนมากมาย ที่เกี่ยวกับกฎหมายตราสามดวงอีกต่างหาก

…………………….

เอ๊ะ นี่ผมติดเขียนบล็อกแฝงโฆษณาประชาสัมพันธ์มาจากใครเนี่ย (ฮา)

9 Comments:

Blogger ratioscripta said...

พรุ่งนี้ หากใครได้ดูข่าวภาคค่ำ ในส่วนข่าวในพระราชสำนักแล้วล่ะก็

หากสายตาของท่านพลันเห็นไอ้หนุ่มหน้ามล รูปร่างสันทัด ผิวดำแดง คนที่ถวายหนังสือในพานทองให้แก่พระพี่นางเธอฯท่าน

ไอ้หมอนั่นล่ะครับ

ผมเอง

แหะๆๆๆ

กลัวเดินสะดุดอิ๊บอ๋าย

9:54 AM

 
Blogger pin poramet said...

น่าสนใจมาก ผมชอบอ่านงานพวกนี้ กึ่งประวัติศาสตร์กึ่งการเมืองเศรษฐกิจกฎหมาย

เก็บหนังสือไว้ให้มั่งดิ

11:42 AM

 
Anonymous Anonymous said...

Dear N' TONG'

I really would like to read the research about the "Three Great Seals." How can I got it? Could you please recommend me?

P'Pol

2:40 PM

 
Blogger ratioscripta said...

สำหรับพี่ๆที่สนใจงานวิจัยของโครงการทุกท่านครับ

ทีวีไดเร็กซ์ขอเสนอ...

คือในงานสัมมนาทุกครั้งที่จัดไป 5 ครั้ง (กำลังจะเป็นครั้งที่ 6 ในปลายเดือนนี้) จะมีการจัดพิมพ์หนังสือพิเศษ และเอกสารของนักวิจัยรวมเป็นเล่มทุกครั้ง แต่เป็นเพียงอัดสำเนาธรรมดาน่ะครับ ไม่ได้วางขาย เพราะฉะนั้นใครสนใจ ไว้เจอกันผมจะพกไปด้วย

แต่ต้องทำสำเนากันเองนะครับ

สำหรับหนังสือที่จัดพิมพ์เป็นพิเศษในแต่ละครั้ง ไม่ทราบว่าจะมีเหลืออยู่บ้างหรือไม่

แต่สำหรับหนังสือพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะอันได้แก่ "กฎมณเทียรบาลฉบับเฉลิมพระเกียรติ" และอีกเล่ม "ผมจำไม่ได้" ไม่ใช่ชื่อหนังสือนะครับ ผมจะไม่ได้จริงๆ ขออภัย

มีขายครับ

ขายควบด้วย คือถ้าซื้อสองเล่ม

ภายในสิบนาทีนี้ โอ้จอร์จ

700.- บาทครับ

ถ้าซื้อแยก รู้สึกจะเป็น 300.- กับ 500.- รวมเป็น 800.-บาท

โอ้ซื้อควบประหยัดไปถึง 100.- บาท โอ้ ซาร่าห์

แต่คิดว่าพ้นจากงานนี้ไป ก็ยังน่าจะมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปครับ

นอกจากนั้น งานวิจัยทั้งหลายที่อัดสำเนาไว้นั้น จะมีการปรับปรุงให้สมบูรณ์มากขึ้นและทยอยตีพิมพ์ ไม่ทราบว่าจะอยู่ในรูปของหนังสือรวมเล่มเลย หรือจะอยู่ในรูปบทความในวารสารต่างๆ แต่คิดว่ายังไงก็ต้องมีการพิมพ์เผยแพร่แน่ครับ

สำหรับในเฟสที่สอง จะเป็นการวิจัยเชิงลึกมากขึ้นและจะมีการทยอยตีพิมพ์ผลงานออกมา โดยหัวหน้าโครงการท่านวางไว้ที่ 12 เล่ม แต่ละเล่มจะเป็นการศึกษากฎหมายตราสามดวง ในแต่ละมิติอย่างครบถ้วน ทั้งทางด้านนิติปรัชญากฎหมาย และกฎหมายกับสังคมในแง่มุมต่างๆ 12 แง่มุมครับ

จะติดตามความคืบหน้ามาให้เรื่อยๆครับ

ratioscripta รายงานจากกรุงเทพเมืองฟ้าครึ้มๆในวันที่ฝนตกทั้งวัน

7:23 PM

 
Anonymous Anonymous said...

ราโชฯ

ผมมีข้อมูลการทุจริต และใช้เงินผิดประเภท ของหน่วยงานมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (ไม่เกี่ยวกับพวกเรา ที่ทำงานแฟนผมเอง)

ผมอยากให้ สตง. ตรวจสอบ ทำได้ไง

คือผมให้ได้แค่เบาะแส แต่ต้องอาศัยนักบัญชี หรือคนที่รู้เรื่องการตรวจเงินแผ่นดินช่วยน่ะ

เรื่องจริงนะ ไม่ได้มุข

เมล์หาผมหน่อยสิ ที่อยู่ก็ในเวบนั่น (เอาที่ยาฮูนะ)

8:44 AM

 
Anonymous Anonymous said...

Dear N'Tong:

Could you please contact me at: skusons2@law.uiuc.edu ?

P'Pol

2:41 PM

 
Blogger ratioscripta said...

ขออนุญาตแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดครับ

จริงๆทางโครงการเพิ่งจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อแสดงผลงานวิจัยของนักวิจัยในโครงการ ไปเพียง 4 ครั้ง ครั้งที่จะจัดขึ้นครั้งต่อไปคือ ครั้งที่ 5 ครับ ไม่ใช่ครั้งที่ 6 อย่างที่ผมเผลอไผลไป

นี่แหล่ะครับ ผลของการโดดงานบ่อยๆ

จำผิดจำถูก

เพื่อนๆพี่ๆบล็อกเกอร์ทั้งหลาย ใครต้องการติดต่อผมหลังไมค์ อาจจะเป็นเพราะมีวาระซ่อนเร้นอะไร 555 ติดต่อผมได้ที่นี่เลยครับ

atiruj_tong@hotmail.com

atiruj_tong@yahoo.com.hk

อีกอย่างที่ผิดพลาดครับ

ที่ถูกต้องคือ "สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ" ครับ ไม่ใช่ "สมเด็จพระพี่นางเธอ" อย่างที่ผมพิมพ์

8:14 PM

 
Blogger WH-Q said...

พี่ๆนักวิจัยคะ
หนูมีคำถามอยากเรียนให้ทราบ
ไม่ทราบว่าพี่ๆสามารถอ่านคบรรดาค่าธรรมเนียมที่มันเป็นรูปกางเขนแล้วมีตัวเลขเขียนไว้ได้ไหมคะ
หนูอ่านไม่ออก
(ภาษาโบราณพอจะแกะได้บ้างเล็กน้อย(มั่วเอา))
ขอความกรุณาอย่างสูง
พอดีหนูต้องใช้ทำโครงงานอ่ะค่ะ

5:01 AM

 
Blogger WH-Q said...

พี่ๆนักวิจัยคะ
หนูมีคำถามอยากเรียนให้ทราบ
ไม่ทราบว่าพี่ๆสามารถอ่านคบรรดาค่าธรรมเนียมที่มันเป็นรูปกางเขนแล้วมีตัวเลขเขียนไว้ได้ไหมคะ
หนูอ่านไม่ออก
(ภาษาโบราณพอจะแกะได้บ้างเล็กน้อย(มั่วเอา))
ขอความกรุณาอย่างสูง
พอดีหนูต้องใช้ทำโครงงานอ่ะค่ะ

5:02 AM

 

Post a Comment

<< Home