Tuesday, February 28, 2006

เมื่อแนวหน้าก่นด่าแนวหลัง

หลายคนคงไม่ทราบว่าจริงๆแล้วผมมีสิทธิใช้คำนำหน้าชื่อว่า “ว่าที่ร้อยตรี” (ผู้หมวด) เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรนอกประจำการแห่งกองทัพบกไทย

ถูกต้องนะคร๊าบ ผมเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่บ้าพลังเรียน ร.ด. (นักศึกษาวิชาทหารนั่นแล) จนถึงชั้นปีที่ห้า ไม่ได้เรียนแค่ปีที่สามเพื่อให้ได้ สด. ๘ และไม่ต้องไปเกณฑ์ทหารเท่านั้น

โดยมากพวกเรียน ร.ด. มักสังกัดกองทัพบกเหล่าทหารราบ (แม้ว่าตอนปีสี่และปีห้าผมจะเรียนวิชาทหารในกองพันทหารม้าที่ ๓ และ ๔ ตามลำดับ และรู้สึกถูกอกถูกใจคำขวัญของทหารม้าที่ว่า “ชักปืนช้า แก้ผ้าไว” เป็นอย่างยิ่ง ฮาๆๆๆ ก็ตาม ... กองทัพบกแบ่งออกเป็นหลายเหล่าครับ รู้สึกว่าจะ ๑๗ เหล่าเข้าไปโน่น) เขาถือกันว่า “ทหารราบนั้นคือราชินีแห่งสนามรบ” ส่วนราชาน่ะหรือครับ ทหารปืนใหญ่ครับ ที่ปืนใหญ่เขาเป็นราชาก็เพราะเขาไม่ต้องทำอะไร นั่งอยู่ ณ ที่ตั้ง รอทหารราบและทหารม้าที่ต้องรบเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ออกไปทะลวงฟัน และส่งพิกัดมาให้ปืนใหญ่ยิงสนับสนุน ไอ้ที่ตายโหงตายห่าน่ะราบกับม้าทั้งนั้น (ส่วนใหญ่จะเป็นราบเพราะม้ามันยังมี “ยานเกราะ” จำพวกจีเอ็มซี หรือฮัมวี่ย์คอยกำบังให้ตายช้า ตายยากสักหน่อย)

ในหมู่ทหารบกด้วยกันจึงมักมีโจ๊กประจำกองทัพเกี่ยวกับฉายาดังกล่าวว่า ราชานั่งรอในวัง ปล่อยให้ราชินีกับม้าเร็วไปรบด้วยกัน สุดท้าย ราชินีกับม้าเร็วนี่แหล่ะที่ร่วมกันสวมเขาให้ราชา ฮาๆๆ

ตอนที่ผมไปเข้าค่ายประจำปี ณ เขาชนไก่ ยุทธวิธีการฝึกทั้งหลาย ล้วนเป็นกลยุทธ์ของทหารราบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการ “เข้าตี” “ตั้งรับ” หรือ “ร่นถอย” ก็ตาม

ก็ไอ้พวกเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยวิถีโผ หมอบ คลานสูง คลานต่ำ นั่นแหล่ะ

การเข้าตีในฐานะแนวหน้าคือภารกิจหลักของเหล่าราชินีแห่งสนามรบ ไปเปิดพื้นที่ ไปยึดฐานฝ่ายตรงข้าม และไปตายก่อน (โปรดนึกภาพชายหาดนอร์มังดีในละครแบรนด์ ออฟ บราเธอร์ส หรือไอ้พวกทหารราบในเรื่อง สตาร์ชิพ ทรูปเปอร์)

จิตวิทยาในการรบจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในยามปฏิบัติภารกิจในฐานะแนวหน้า การปลุกเร้ากำลังใจ การเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ความองอาจห้าวหาญ การออกคำสั่งและการลงโทษผู้ขัดคำสั่งในสนามรบอย่างเด็ดขาด ซึ่งอาจหมายถึงการ “จำหน่าย” ออก จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

และไม่แปลกที่บรรดาแนวหน้ากล้าตายทั้งหลาย จะภาคภูมิใจในภารกิจของตนเป็นอย่างยิ่ง

เหรียญตรากล้าหาญ รวมไปถึงธงชาติที่คลุมบนโลงศพ การได้รับจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ ในนามวีรบุรุษ ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของคนกล้า

และไม่น่าแปลกใจที่จะมีเสียงก่นด่าจากบรรดาผู้กล้าทั้งหลายต่อบรรดาทหารเหล่าอื่นซึ่งอยู่ในฐานะหน่วยสนับสนุน หรือเป็นกองหนุน รวมไปถึงฝ่ายเสนาธิการผู้วางแผนการรบ แม้กระทั่งกำลังพลในกองทัพอื่นที่ปฏิบัติภารกิจแตกต่างไปจากตน ซึ่งดูเหมือนจะเสี่ยง(ชีวิต) และเสียสละ (ชีวิต)น้อยกว่า (เห็นในหนังบ่อยๆที่ทหารราบแนวหน้า ก่นด่าบรรดานักบินในกองทัพอากาศทำนองแค่โฉบไปโฉบมาทิ้งระเบิดตูมๆแล้วก็เปิดตูดหนี ดีไม่ดีทิ้งใส่กบาลพวกเดียวกันอีก)

ในยามนั้นผมเองก็เป็นหนึ่งในบรรดาแนวหน้าก่นด่าแนวหลังข้างต้นเหมือนกันนั่นแหล่ะ พาลสำคัญตนไปเสียไกลด้วยว่า เป็นผู้กล้า ผู้เสียสละอย่างแท้จริง เป็นผู้กุมชะตาแพ้ชนะทั้งหมดของการรบ หรือเป็นศูนย์กลางของการรบทำนองนั้น

อาจจะเพราะช่วงนั้น ภารกิจของทหารราบดังกล่าวค่อนข้างจะถูกจริตของผมที่เป็นพวกดื้อด้าน ใจร้อนด่วนเร็ว และเจ้าอารมณ์ (ขี้โมโห) กอรปกับเป็นพวกนิยมแนวถึงไหนถึงกัน การซื้อใจกัน ความเป็นพี่น้องกอดคอร่วมเป็นร่วมตาย (ซึ้งใจวัยรุ่นจริงๆ) ด้วยนั่นเอง

เอาเป็นว่าถ้าให้มีหมายเรียกรวมพลให้ไปร่วมรบในกรณีฉุกเฉิน ณ นาทีนั้นผมคงรีบยกมือแนบหูเพื่อขอเข้าร่วมเป็นนายทหารในเหล่าราบ เพื่อวิ่งตะบัน เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ในแนวรบด้านหน้าเป็นแน่ พร้อมกับตะโกนก้องฟ้าว่า “ตายในสนามรบ...เป็นศพของทหาร” เอ๊ยยยยไม่ใช่ “ตายในสนามรบ เป็นเกียรติสูงสุดของทหาร” ต่างหาก

แต่พอกาลเวลาผ่านไป พร้อมกับการเติบโตขึ้นทั้งภายในและภายนอกของตัวผมเอง ทำให้ผมรู้ว่าผมมีข้อจำกัดมากมายในการปฏิบัติภารกิจในนาม “แนวหน้า” ผมไม่มีความกล้าบ้าบิ่นขนาดหิ้วปืนประจำกายกระบอกเดียววิ่งฝ่าฝูงข้าศึก ผมไม่มีความกล้าขนาดจะยิงอาวุธประจำกายเด็ดหัวฆ่าศึกในระยะประชิด แล้วไม่ยินดียินร้ายกับภาพอันสยดสยองขมองระเบิดที่เกิดตรงหน้า ผมไม่กล้าขนาดจะเด็ดหัวผู้หญิงและเด็กยามล่วงรู้ว่าคนเหล่านี้คือไส้ศึกของฝ่ายตรงข้ามมาล้วงความลับ

ผมไม่เด็ดเดี่ยวพอที่จะทิ้งทุกอย่างอยู่ ณ เบื้องหลัง พ่อ แม่ ครอบครัว และคนที่รัก เพื่อแลกกับเกียรติยศ เหรียญตรากล้าหาญ และธงไตรรงค์คลุมโลงศพ พร้อมกองทหารเกียรติยศที่เป่าแตรรอรับร่างอันไร้วิญญาณของผมคืนสู่มาตุภูมิ

หากผมจะเข้าประจำการในกองทัพ ผมคงเลือกเป็นนายทหารพระธรรมนูญตามวิชาที่ผมถนัด หรือไม่ก็ไปเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในโรงเรียนนายร้อยซะ

ผมเริ่มรับรู้ในภายหลังมานี้ว่าผมชอบนั่งโต๊ะ อยู่กับกองเอกสาร มากกว่าลงพื้นที่ห้ำหั่น ซึ่งถึงทำได้ก็คงไม่ดี

จริงๆจะให้เป็นเสนาธิการทหารวางแผนการรบก็ใช่ที่ เพราะผมเองก็ขาดสิ่งที่เรียกว่าไหวพริบ และกลยุทธ์อย่างแรง กว่าจะวางแผนเสร็จคงตายห่ะ กันทั้งกองทัพแล้ว (ตกลงแล้วเป็นไรดีวะเนี่ย เหลือบกองทัพนี่หว่า ฮาๆๆ)

ผมยังคงเชื่อเสมอว่า แม้ภารกิจในแนวรบส่วนใหญ่จะผูกพันและตั้งความหวังไว้ที่เหล่าผู้กล้าทหารราบ “ราชินี” แห่งสนามรบ แต่หากขาดไร้การวางแผนและการสนับสนุนที่ดีของบรรดาเหล่าอื่น ไม่ว่าจะเป็น เหล่าแพทย์ สื่อสาร ปืนใหญ่ ม้า เสนาธิการ หรือแม้แต่พระธรรมนูญ การรบให้ชนะก็คงยากเย็นหรืออาจเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้รวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพอื่นไม่ว่าจะเป็น เรือ อากาศ แม้แต่ตำรวจ (โดยเฉพาะต.ช.ด หรือ ตำรวจตระเวนคอนโด เอ๊ย...ตำรวจตระเวนชายแดน) หรือแนวหลังอย่างประชาชน ญาติพี่น้อง พ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง (ซึ่งทุกคนก็พร้อมจะกลายเป็นกองหนุนจับปืนวิ่งเข้าสนามรบยามถึงคราวจำเป็นเมื่อแนวหน้าลาโลกไปหมด)

ในชีวิตจริงมันไม่มีหรอกครับ ไอ้ทหารเดนตายพวกแรมโบ้ หรือคนเหล็ก คนเดียวตะลุยเดี่ยวถล่มข้าศึกฝ่ายตรงข้ามเป็นร้อยเป็นพัน พร้อมกับเก็บเกี่ยวอารมณ์เป็นปมข้างในทำนองน้อยใจ ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครเห็นถึงความสำคัญและความเสียสละที่ตนมีต่อบ้านเมือง ขอกำลังสนับสนุนมันก็ไม่ให้ ขอเครื่องบินมันก็เงียบ ขอปืนใหญ่มันก็ให้หล่อเอง ชะเอิงเงิงเงย

ไอ้พวกนั่งห้องแอร์ สั่งคนให้ไปตาย ตัวเองไม่เคยคิดจะเสี่ยง ไอ้ชาตินก ไอ้ fly a kite ทางปัญญา ไอ้หน้าตั่วเฮีย ไอ้พวกเห็นแก่ตัว ไอ้ ฯลฯ

ผมเชื่อว่าในการรบสมรภูมิหนึ่ง ชัยชนะหาใช่พึ่งพาแต่การปฏิบัติภารกิจของเหล่าทหารราบ ผู้เสียเลือดเสียเนื้อในแนวหน้าไม่

ต่างคนต่างมีบทบาท มีภาระหน้าที่เพื่อนำพากองทัพไปสู่ชัยชนะต่างกัน เสนาธิการนั่งห้องแอร์ยันไอ้เณรพลขับก็มีส่วนรับผิดชอบในการแพ้และชนะในสนามรบเช่นกัน และใช่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีความกล้าหาญ และความสามารถน้อยไปกว่าทหารราบผู้เสี่ยงชีวิตในแนวหน้าแต่อย่างใด

ความแตกต่างในธรรมชาติของการทำหน้าที่จึงมิใช่ข้ออ้างในการกล่าวโทษซึ่งกันและกัน ในสนามรบ จะเรียกร้องให้ทหารราบที่ต้องพบเห็นและต้องทักทายความตายอยู่ตลอดวินาที ต้องกระทำตนอย่างสุภาพ เวลาสั่งการอย่าตะโกนอย่าตะคอก อย่าดุด่า อย่าออกคำสั่ง ให้ขอความร่วมมือก็คงเป็นไปไม่ได้

การรู้จักบทบาทหน้าที่ และกาลเทศะ จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในสนามรบหรือสนามรัก (แหว่ะ อ้วก)

ผมเชื่อว่าในจุดมุ่งหมายเดียวกัน หลายคนมีแนวคิด มีวิถีทางที่ต่างกัน

และในความเป็น “ทหาร” และ “เลือด” “ชีวิต” “จิตใจ” แห่งความเป็นทหาร แม้จะอยู่เหล่าไหน แต่หากจำเป็นและถึงเวลาทุกคนก็พร้อมแปลงสภาพ จากหมอ นักกฎหมาย นักสื่อสาร นักยิงปืนใหญ่ นักบิน กัปตันเรือ ก็กลายเป็นทหารราบจับปืนวิ่งสู่แนวหน้าเช่นได้เช่นกันครับ

หนทางสู่ชัยชนะในสนามรบ หาใช่จำกัดอยู่เพียงภารกิจของทหารราบฉันใด

เส้นทางสู่ความรักชาติ ก็หาใช่ผูกขาดเพียงเส้นทางเดียวฉันนั้น

Tuesday, February 21, 2006

สื่บเนื่องจากวัฒนธรรมทางลัดและข้อจำกัด (ของผม)

ผมก็เคยตกเป็นเหยื่อของมะเร็งตัวนี้เหมือนกัน และผมเชื่อว่าในตอนเด็กวัยเยาว์ เราเกือบจะทุกคนมักข้องแวะกับมะเร็งตัวนี้มาแล้วทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างตามจังหวะชีวิตและเหตุปัจจัยเกื้อหนุน

ในวัยเยาว์ ผมเคยผ่านกระบวนการติว หรือกวดวิชามาสารพัด กวดกันตั้งแต่ประถม ยันช่วงชีวิตแห่งการเอนทรานซ์(ซึ่งสมัยนี้ล่วงไปในระดับเตรียมอนุบาลกันแล้วครับ)ตามประสาของระบบการศึกษาแบบทุนนิยม ที่เน้นการแข่งขัน และผลกำไร เอ๊ย ผลการเรียนเป็นตัวชี้วัดหรือกำหนด

สำหรับคนอื่นผมไม่ทราบนะครับ แต่สำหรับผมแล้วมันไร้ผลอย่างสิ้นเชิงครับ อาจเป็นไปได้ด้วยหลายเหตุผล

ผมไม่มีฉันทะในการเรียนขณะกวดวิชาอย่างแท้จริง อารมณ์ตามเพื่อน กลัวไม่ทันเพื่อน กระทั่งคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ หากไม่กระทำตามแล้วจะเกิดความรู้สึกผิดในใจ (ทำนองเดียวกันกับการเกิดขึ้นของกฎหมายจารีตประเพณีกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายประเภทแรกของมวลมนุษยชาติ)

หรือแม้แต่เพื่อเปิดกะลาตามประสานักเรียนชานเมือง สู่โลกกว้าง ตามสถานที่กวดวิชาที่มักตั้งตัวเองอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "ศิวิไลซ์" เช่น สยาม ฯลฯ

นอกจากนั้นการเรียนแบบกวด อัด ลัด นั้นอาจได้ผลสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานแน่นพร้อมแล้ว แค่เพียงฝึกให้แหลม ลับให้คมเพื่อลงสนามสอบ (ตามกติกา และระบบการศึกษาที่เน้นเทคนิคการสอบมากกว่าการรู้จริงของไหแลนด์) แต่สำหรับผมผู้มีอัตราเร่งในการทำความเข้าใจประมาณสี่เต่าคลานนั้น...ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมทางการศึกษาของผมอย่างเด่นชัด หากไม่กลับมาทำความเข้าใจ ย่อย วิเคราะห์ และเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น เข้าทางไหน ก็ออกทางนั้นครับ

ชีวิตการเรียนของผมเข้ารูปเข้ารอยเมื่อผมจับจังหวะในการเรียนของตัวเองได้ และเรียนรู้ถึงขีดจำกัดของตัวเอง (ซึ่งนั่นก็ปาเข้าไปในช่วงชีวิตที่สุนัขเลียทวารไม่ถึงแล้วครับ) ผมเรียนรู้ว่าในชีวิตการเรียนของผมไม่เคยได้อะไรมาง่ายๆ และผมก็ไม่ใช่คนที่เข้าใจอะไรง่ายๆด้วย ผมไม่สามารถมองภาพได้ทะลุปรุโปร่งเพียงแค่เปิดจิ๊กซอว์เพียงสองสามชิ้น

ผมไม่สามารถเล่นเกมส์ทายปัญหาเชาว์ หรือทายความสัมพันธ์ของตัวเลขในเชิงอนุกรมแบบเกมส์ไอคิวร้อยแปดสิบของปูนซีเมนต์ไทยได้เลย อีกทั้งเกมส์หมากกระดานทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่ผมเบือนหน้าหนีทุกครั้งยามมีผู้กวักมือเรียกให้ร่วมวง แม้แต่เล่นโอเอ๊กซ์ก็ถือว่ามหาหินสำหรับผม มิพักต้องคิดไกลไปถึงหมากล้อม

ผมจึงเป็นคนที่ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น หากต้องการผลลัพธ์ที่เท่ากันเสมอโดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา

การเดินทางไกล และการทำงานหนัก อีกทั้งการสูญเสียเวลาที่มากกว่าชาวบ้านนั้น พอทำบ่อยเข้ามันก็เริ่มชิน (เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์และจิตเดิม...สันดานน่ะครับ ของผม) เหนื่อยน่ะเหนื่อย แต่รู้ตัวว่าหากไม่ทำเยี่ยงนั้น เราไม่มีวันเข้าใจได้เลย และจะไร้ความมั่นใจอย่างสิ้นเชิงยามต้องวัดผล หรือสอบแข่งขัน หรือแสดงผลงาน ฯลฯ

มันเลยกลายเป็นโรคจิตชนิดติดตัวถาวร ไม่ว่าวิชาที่ร่ำเรียนจะมีค่าหน่วยกิตกระจิดริดเพียงใด เป็นวิชาบังคับหรือเลือก ง่ายหรือยาก ผมจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมันเท่ากัน ใช้วงรอบในการทำความเข้าใจเท่ากัน รูปแบบในการทำความเข้าใจเดียวกัน

หรือแม้แต่การทำความเข้าใจเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งนั้น ผมจำเป็นต้องนั่งอ่านตั้งแต่หลักการพื้นฐานไล่มาจนถึงประเด็นที่ผมต้องการศึกษาทีเดียว ถ้าข้ามขั้นเมื่อไหร่ ทุกอย่างเป็นอันพังทลาย นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมทำงาน หรือผลิตงานได้ช้ามาก (เรื่องนี้เจ้าหนี้ของผมทุกรายล้วนทราบดี ไล่เรียงตั้งแต่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เฮียป.ป.บรรณาธิการจำเป็นโอเพ่นออนไลน์ ผู้บังคับบัญชาที่ทำงาน เลขาฯโครงการวิจัย แม้แต่คณะบรรณาธิการของวารสารตรวจเงินแผ่นดินก็โดนแล้วเช่นกัน...หรือนี่อาจเป็นเพียงข้ออ้างของผู้ที่มี ”จิตเดิม” แห่งความเฉื่อยและขี้เกียจอย่างผมเท่านั้น)

อาจด้วยเหตุผลแห่งอัตตาของผมดังกล่าวก็ได้ จึงทำให้ผมมีอคติค่อนข้างไปทางชิงชัง วัฒนธรรมทางลัดดังกล่าว

เมื่อวัฒนธรรมทางลัดนั้นเปรียบได้ดั่งมะเร็งร้ายของระบบการศึกษา รวมไปถึงค่านิยม หรือวัฒนธรรมในการดำรงตนของคนในสังคม การกำกับควบคุมหรือรักษาให้ทุเลาเบาบางลงจึงอาจเทียบเคียงได้กับการรักษามะเร็งอันเป็นเนื้อร้ายของร่างกายเช่นกัน

มะเร็งอันเป็นเนื้อร้ายกัดกร่อนร่างกายมนุษย์นั้น เกิดขึ้นได้กับทุกผู้ทุกนาม เมื่อเหตุและปัจจัยเหมาะสมสำหรับมัน การไม่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพ อุปนิสัยการบริโภคที่ย่ำแย่ มลภาวะที่เสื่อมทรามล้วนเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเหลือเกินสำหรับมะเร็ง และมะเร็งก็กินอาหารเหมือนที่เรากิน เรากินหมูย่างมันเยิ้มไหม้เกรียม อาหารขยะทั้งหลาย มะเร็งชอบนัก

มะเร็งทางการศึกษามักวิ่งเข้าหา ดูดกิน และเติบโตในสภาวะที่ต้องมีการแก่งแย่งแข่งขัน โดยเฉพาะระบบการศึกษาแบบทุนนิยม เงินแลกความรู้นั้นมะเร็งตัวนี้ชอบนัก การดูแลสุขภาพทางการศึกษาที่ย่ำแย่ ชอบเดินทางลัด เรียนรู้อะไรแยกส่วน เน้นเทคนิคการสอบ ไม่ได้เน้นเนื้อหาแก่นแท้ความรู้ (ทำนองทนายความ “เหลี่ยม” จัดที่ชอบเอาชนะคะคานกันที่เทคนิคในวิธีพิจารณาความ โดยไม่สนว่าแท้จริงแล้วในทางแก่นแท้เนื้อหาลูกความของตนสมควรที่จะชนะหรือไม่...โยงกันเข้าไปได้ยังไงฟระ)

การรักษามะเร็งทางกาย นอกจากการผ่าตัด ฉายแสง แล้ว การดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เหตุและปัจจัยใดที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง หรือที่มะเร็งชื่นชอบนั้น เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เพื่อควบคุมให้มันไม่ส่งผลร้ายต่อร่างกายให้ได้

ในทางการแพทย์นั้น มีความพยายามที่จะคิดค้นเทคนิคการรักษาใหม่ๆ โดยการตัดสายใยแห่งอาหารที่ไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เมื่อมะเร็งเติบโตจากอาหารที่มนุษย์เจ้าของร่างกายเสพเข้าไป การตัดเส้นทางลำเลียงอาหารไม่ให้เดินทางถึงเซลล์มะเร็งก็น่าจะยุติหรือชะลอการเติบโตของเซลล์ร้ายนั้นได้ แต่ผมไม่ได้ตามข้อมูลต่อว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ใครทราบหากวานบอกจะเป็นพระคุณครับ

การรักษามะเร็งในระบบการศึกษานั้น ณ เวลานี้ผมว่า มันเป็นผลผลิตที่ติดแน่นยึดโยงอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไปเสียแล้ว การจะผ่าตัด หรือฉายแสงเซลล์มะเร็งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เปรียบได้กับการเขยื้อนกองภูเขาขยะ ณ บริเวณซอยอ่อนนุช อย่างไรอย่างนั้น

เป็นหน้าที่โดยตรงของบรรดาผู้รับผิดชอบที่มีอำนาจในบ้านเมือง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องสร้างสภาพเอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างจริงจังมิใช่เพียงฉาบฉวย ระบบการสอบคัดเลือกหรือการแข่งขันนั้นต้องเปิดโอกาสในการที่จะใช้เทคนิคในการสอบ การเก็งข้อสอบ การจำมาตอบให้น้อยที่สุด แม้จะยากในการออกแบบข้อสอบหรือแบบทดสอบที่จะเข้าถึงความเข้าใจหรือภูมิรู้ของผู้เข้าแข่งขันคัดเลือก รวมทั้งมาตรฐานการให้คะแนนก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะไม่คิดและไม่ทำ เพราะตราบใดที่ระบบการสอบ การคัดเลือก (ถ้าพูดในภาพกว้างมันรวมไปถึงระบบการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าสู่วงวิชาชีพด้วยนะครับ ไม่อยากจำแนกว่าอะไรบ้าง โดยเฉพาะในภาครัฐ) ยังเปิดช่อง สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่บรรดาการกวดวิชา และการเรียนรู้แบบลัดๆ ฉาบฉวยแล้ว มะเร็งตัวนี้ย่อมต้องเติบโตต่อไป จนกระทั่งวันหนึ่งมันจะเป็นวัฒนธรรมหลักเข้ามาแทนที่คุณค่าเดิม และหากระบบการศึกษาเองยังฤพ่ายแพ้แก่มะเร็งตัวนี้แล้ว ผมเชื่อแน่ว่าในอีกทุกภาคส่วนของสังคมนี้ ย่อมหนีไม่พ้นมะเร็งร้ายตัวนี้เช่นกัน

มะเร็งที่ชอบอะไรง่ายๆ ลัดๆ ฉาบฉวย

มะเร็งที่ชื่อว่า “วัฒนธรรมทางลัด”

Sunday, February 19, 2006

วัฒนธรรมทางลัด



ถ้าเปรียบชีวิตเป็นการเดินทาง แต่ละคนก็คงมีประสบการณ์หรือมุมมองในการเดินทางที่แตกต่างกันออกไป สำหรับบางคนเส้นทางเดินช่างทอดยาวจนไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุด ณ จุดไหน ในขณะที่บางคนนั้นก็แสนสั้น เส้นทางของบางคนนั้นโรยด้วยกลีบกุหลาบ หอมหวน ชวนพิศ สงบร่มรื่น วิวทิวทัศน์ข้างทางช่างสวยสดงดงาม จนแทบจะหลงลืมที่จะย่างเท้าเดิน

แต่บางคนก็ประสบเส้นทางที่ขรุขระ รกชัฎ มืดมน หนาวเหน็บ อ้างว้าง เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม จนทดท้อ ถอดใจ ไม่อยากแม้แต่จะก้าวเท้าไม่ว่าจะเขยื้อนเดินไปข้างหน้า หรือเหลียวหลังกลับเช่นกัน

สำหรับเส้นทางเดิน บางคนก็เป็นฝ่ายเลือกเส้นทางที่จะเดินด้วยตนเอง บางคนก็ไม่ได้เลือก ด้วยเพราะมีคนเลือก (บังคับ) ให้ หรืออาจเพราะหลงเดินตามทางที่คนส่วนใหญ่เขาเลือกเดินกันเท่านั้น

ปัจจัยที่มีผลต่อความหนาแน่นของประชากรบนเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งนั้น จุดหมายปลายทางน่าจะมีอิทธิพลต่อการเลือกเส้นทางเดินของนักเดินทางมากที่สุด

จุดหมายปลายทางซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ความคาดหวัง” หรือ “ความฝัน” นั่นเอง
บางจุดหมายก็อาจบรรลุได้ด้วยหลายทางเดิน

หากจุดหมายนั้นเป็นที่หมายปองของบุคคลมากมาย การแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายนั้นก็คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากเดินหรือวิ่งให้เร็วกว่าชาวบ้านแล้ว การวางแผนการเดินทางและการเลือกเส้นทางเดินก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน
เมื่อเส้นทางหลักคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แออัดยัดเยียด เบียดเสียด ก็คงมีจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจบุกรกถางพงเพื่อเปิดเส้นทางใหม่ๆ ที่สะดวก และอาจรวดเร็วกว่า โดยเรียกกันว่า “เส้นทางลัด”

การบุกเบิกเส้นทางลัดดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัยเสียด้วย เมื่อทางหลักแออัด ทางลัดก็กำเนิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนการเกิดขึ้นของหัวสิวยามแตกเนื้อหนุ่ม

ตราบใดที่เส้นทางลัดเหล่านั้นไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ไม่ได้ไปบุกรุกบนที่ดิน บ้านเรือนของผู้อื่น ก็คงไม่มีใครไปว่าอะไรได้ เต็มที่ผู้นิยมเส้นทางหลักก็คงก่นด่าได้แต่ทางสายตาและในใจ ทำนองว่า พวกนี้ลำบากไม่เป็น ชอบอะไรลัดๆและง่ายๆ ก็เพียงเท่านั้น

ผู้บุกเบิกเส้นทางลัดหลายคนอาจเริ่มต้นด้วยเจตนาอันเป็นเมตตา ต้องการให้สัตว์โลกได้เดินเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่แออัด และบรรลุถึงเป้าหมายด้วยอาการที่แช่มชื่นไม่อ่อนล้า หรือถึงกับล้มตายระหว่างที่เดินทางบนเส้นทางหลัก หลายคนกระทำตนเป็นผู้นำทาง นำเอาเหล่าสาวกและสานุศิษย์รวมทั้งตนเองข้ามผ่านห้วงทุกข์ทรมานไปสู่จุดหมายปลายทางที่สวยงามดุจสรวงสวรรค์

แต่หลายคนฉลาดกว่านั้น แทนที่จะกระทำตนเป็นผู้ร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายที่อยู่ปลายเส้นทางที่ตนบุกเบิก เรื่องอะไรจะเดินให้เหนื่อย สู้เป็นผู้เบิกเส้นทางแล้วนั่งเก็บค่าผ่านทาง หรือเรียกได้ว่ายึดเอา “เส้นทาง” ที่ตนบุกเบิก เป็นจุดหมายปลายทางของตนเสียเลยดีกว่า

อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมทางลัดนี้เอง เป็นหลักฐานของความคิดที่ให้ความสำคัญ หรือให้น้ำหนักของ “เป้าหมาย” หรือ “จุดหมาย” มากกว่า “เส้นทาง” หรือ “วิธีการเดินทาง”
ในทางอาชญวิทยา มีทฤษฎีเล็กๆทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า “ทฤษฎีสภาพไร้บรรทัดฐาน” หรือ Anomie ซึ่งได้รับการคิดค้นและนำเสนอโดย “เอมิล เดิร์ค ไฮม์” (Emile Durkheim) ทฤษฎีดังกล่าวได้อธิบายพฤติกรรม หรือทัศนคติที่มีต่อ “เป้าหมาย” และ “วิธีการ หรือเส้นทางเดิน” ของคนในสังคม ไว้อย่างน่าสนใจ โดยทฤษฎีนี้ได้จำแนกทัศนคติของบุคคลที่มีต่อ “เป้าหมาย” และ “วิธีการ” ไว้ ๕ ประเภท ดังนี้

๑. พวกคล้อยตามเป้าหมาย และยอมรับที่จะเดินตามทางหลักที่สังคมกำหนดไว้ (พวกคล้อยตาม)

๒. พวกคล้อยตามเป้าหมาย แต่ไม่ยอมรับที่จะเดินตามทางหลักที่สังคมกำหนดไว้ (พวกชอบความเปลี่ยนแปลง)

๓. พวกไม่ยอมรับเป้าหมาย แต่ก็ยังยินยอมที่จะเดินตามทางที่สังคมกำหนด (พวกเช้าชามเย็นชาม)

๔. พวกไม่ยอมรับทั้งเป้าหมายและเส้นทางของสังคม (พวกหลบตัว, ล้าทางวัฒนธรรม)

๕. เหมือนพวกที่ ๔ แต่ต้องการปฏิวัติทั้งเป้าหมายและสร้างเส้นทางใหม่ (พวกล้มล้างปฏิวัติ)

โดย เดิร์ค ไฮม์ สรุปว่า พวกที่ ๒ ๔ และ ๕ มีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมที่ก่ออาชญากรรมได้มากกว่าที่เหลือ

สำหรับกรณี “วัฒนธรรมทางลัด” นั้น ผมโมเมเอาเองว่าน่าจะจัดอยู่ได้ในพวกที่ ๒ คือ ยังยึดเป้าหมาย หรือความฝัน หรือมาตรฐานของสังคมไว้ เช่น ยังอยากรวย อยากประสบความสำเร็จ อยากเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่ไม่ต้องการเดินตามทางหลักที่คนส่วนใหญ่เดินกัน อันนี้แล้วแต่เหตุผล ชักช้า เสียเวลา เสียแรงเสียเหงื่อมากกว่า

อยากรวย อยากประสบความสำเร็จ หากต้องทำงานหนัก เก็บหอมรอมริบ อาจใช้เวลาทั้งชีวิต สู้เล่นหวยรวยเบอร์ ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจ หรือเลยเถิดไปจนกระทั่งกระทำการผิดกฎหมาย ปล้น จี้ ยักยอก ฉ้อโกง หรือแม้แต่เลี่ยงภาษี ไม่ได้ ลัดและเร็วกว่าเยอะ รวยเหมือนกัน

อยากเก่ง อยากสอบแข่งขันทั้งเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เข้าทำงาน หากต้องหลังขดหลังแข็งอ่านหนังสือ เตรียมพื้นฐานให้แน่น คิดวิเคราะห์เป็น ตกผลึกทางปัญญา อาจใช้เวลานาน และอาจใช้ฟาดฟันในสนามสอบที่เน้นแต่เทคนิคการเก็งข้อสอบ และเทคนิคการตอบคำถามไม่ได้ สู้ไปติว ไปเข้าคอร์สเรียนพิเศษดีกว่า ประเภทเห็นผลในเจ็ดวัน คอร์สเร่งรัด ไม่ติดคืนตังค์

อย่างไรก็ตามทฤษฎีดังกล่าวก็มิได้บ่งบอก หรือตัดสินว่า ระหว่าง “เป้าหมาย” กับ “เส้นทาง” สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน

ในยุคปัจจุบันที่มีแต่การแก่งแย่ง จนลืมหายใจ แน่นอนจุดหมายปลายทาง หรือเป้าหมายย่อมมาก่อนวิธีการหรือเส้นทางเดิน จนบางครั้งเราลืมคิดไปว่าจุดหมายปลายทางบางอย่างก็ไร้ค่าอย่างสิ้นเชิงหากขาดซึ่งวิธีการ หรือเส้นทางเดินที่เหมาะสม บางทีคุณค่าของจุดหมายปลายทางอาจอยู่ที่เส้นทางหรือวิธีการได้มามากกว่าตัวสารัตถะของจุดหมายนั้นก็เป็นได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าคุณค่าของจุดหมายปลายทางบางอย่างอาจอยู่ที่วิธีการได้มาหรือเส้นทางเดิน ถ้าหากขาดซึ่งเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม หรือวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม แม้จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ แต่ก็หาได้มีคุณค่าใดไม่

บางครั้งเส้นทางเดิน หรือวิธีการได้มาอาจมีค่าในฐานะ “หนทางแห่งการฝึกตน” เพื่อให้พร้อมยามเมื่อเดินทางถึงดินแดนแห่งปลายฝันก็เป็นได้ เหตุเพราะชีวิตการเดินทางนั้นบางปลายทางอาจเป็นเพียงการเริ่มต้น หาใช่การสิ้นสุด

อดคิดไม่ได้ว่าวัฒนธรรมทางลัดนี้อาจเป็นผลผลิตหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “ทุนนิยม” เพราะทางลัดส่วนใหญ่มักมีค่าผ่านทางเสมอๆ เรียกง่ายๆว่าคนที่มี “ทุน” เท่านั้นที่จะสามารถใช้เส้นทางลัดเส้นนี้ได้

และที่น่าห่วงกว่านั้นคือการที่ระบบของสังคมทุกวันนี้มันชักจะเอื้อต่อทางลัดเสียยิ่งกว่าทางหลักไปเสียแล้ว ไม่อยากคิดว่ารูปแบบของเป้าหมายและเส้นทางเดินของสังคมจะผันแปรไปในรูปแบบใด โดยเฉพาะในระบบการศึกษา

แม้การกวดวิชาที่เห็นๆกันมาหลายสิบปี กระทั่งในปัจจุบันแลจะเป็นสิ่งปกติเป็นหนึ่งในรูปแบบการศึกษาที่ควบคู่กับการศึกษาในระบบในสถานศึกษาแล้ว แต่ก็มักจำกัดวงอยู่แต่หมู่ “กระโปรงบาน ขาสั้น” วัยมัธยมทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อเตรียมเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งในความคิดของผม ผมว่ามันอาจจะยังไม่สั่นสะเทือนสังคมมากนักเหตุเพราะ วิชาที่ใช้ติวหรือกวดวิชานั้น ยังเป็นเพียงพื้นฐานที่จะต้องไปเรียนรู้และขัดเกลา หรือเจียรไนยต่อในระดับอุดมศึกษาต่อ ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ สังคม หรือภาษาไทย เรียกว่าจะเอาไปใช้งานทันทีไม่ได้ (ยังไม่มีมิติของอาชีพหรือวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก เว้นแต่จะกวดไปเพื่อไปเป็นผู้ติวต่ออีกทอดหนึ่ง)

(แม้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะพยายามหาทางแก้ด้วยการเปิดรับนักศึกษาโดยตรง ด้วยข้อสอบของตนเอง (บางส่วน) หรือที่เรียกว่า “รับตรง” ด้วยคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยหรือคณะ จะได้ผู้ที่มีความสนใจ และมีความรู้พื้นฐาน หรือมีคุณสมบัติพื้นฐานในการร่ำเรียนในคณะต่างๆจริงๆ โดยไม่ต้องแข่งขันและพึ่งระบบการกวดวิชาเหมือนการเอนทรานซ์สนามใหญ่ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าระบบกวดวิชา ก็ยังติดตามไปอย่างเหนียวแน่น ลองอ่านกระทู้ดังต่อไปนี้ครับ ขอแค่เพียงมีความต้องการ มีการแข่งขัน ผมว่าปิดกั้นยากเหลือเกิน)

แต่ปัจจุบันมันขยายวงไปมากกว่านั้นแล้ว การติวสอบในระดับอุดมศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี และหลังจบปริญญาตรีแล้วก็เริ่มปรากฏรูปทรงให้เห็น และกำลังจะแน่นแฟ้นขึ้นจนเป็นหลักแหล่งและเป็นระบบ เรียกได้ว่า จากทางรกชัฏ กำลังจะกลายเป็น ถนน คสล. (คอนกรีตเสริมเหล็ก)

ที่ผมว่ามันหนักข้อสุด คือการติวเพื่อเข้าสู่องค์กรวิชาชีพ

และจะหนักหน่วงกว่านั้น หากพิจารณาด้วยว่า “องค์กรวิชาชีพ” นั้นคืออะไร

บริษัท ห้างร้าน ในภาคเอกชน

ส่วนราชการ ในภาครัฐ

แม้แต่การสอบคัดเลือกผู้เข้าดำรงตำแหน่ง “อัยการผู้ช่วย” หรือ “ผู้ช่วยผู้พิพากษา” ก็หนีมะเร็งตัวนี้ไม่พ้น

มะเร็งเกิดขึ้น และดำรงอยู่ อีกทั้งพัฒนาขยับขยายกลายเป็นเนื้อร้ายกัดกร่อนร่างกาย ด้วยอาหารขยะ มลภาวะ และการดูแลร่างกายที่บกพร่องฉันใด

วัฒนธรรมทางลัด ก็อาจเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และพัฒนาขยับขยายกัดกร่อนคุณค่าดั้งเดิมของสังคม ด้วย เงิน ทรัพย์สิน และผลประโยชน์ และความอ่อนแอของสังคมฉันนั้น

สุดท้ายผมก็ยังอยากจะนั่งยัน ยืนยัน และนอนยันว่า

“บางครั้งจุดหมายปลายทางก็ไม่ได้สำคัญไปกว่าสิ่งที่ค้นพบระหว่างทางเดิน”

และ

“การมาถึงก็อาจด้อยค่าหากเทียบกับการรอคอยอย่างอดทน” ก็ได้ครับ


Friday, February 10, 2006

กระแส อารมณ์ และเหตุผล


เมื่อวานดูเยาวชนของชาติ มาร่วมเสวนาอภิปราย เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังเป็นกระแสฮอตติดชาร์ตในเวลานี้ บนเวทีของ “ป๋าเสี้ยม” ถึงลูกถึงคน พร้อมกับการตั้งคำถามในบทบาท และความสนใจของเหล่านิสิต นักศึกษายุคปัจจุบันกับปัญหาของชาติบ้านเมือง หลังจากที่ปล่อยให้ภาคประชาชน และอาจารย์โชว์สเต็ปมาพักใหญ่แล้ว

ได้เวลาพลังหนุ่มสาว ปัญญาชนหรือยัง ทำนองนั้น

จากที่ได้ดูแล้ว (และการสำรวจตามเว็บบอร์ดบางเล็กน้อยถึงปานกลาง) บางคน บางความเห็น ก็พยายามตั้งข้อสงสัยว่า นี่เป็นเพียงกระแสหรือเปล่า เหตุเพราะยังติดภาพสายลมแสงแดด กระเป๋าหลุยส์ การชักดิ้นชักงอตามแหล่งเริงรมย์ต่างๆ ของเหล่าปัญญาชนในยุคนี้

กระทั่งการร่วมชุมนุมเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อถอดถอนนายกฯ ณ ลานโพธิ์ มธ. เมื่อวานก็ไม่พ้นครหานี้เช่นกัน

ผมเห็นด้วยนะกับกรณีที่กล่าวว่า หลายคนเซ็นเพราะกระแส คงคล้ายๆกับตอนตัดสินใจไปดูหนังเรื่องเพื่อนสนิท หรือแฟนฉัน ตอนนั้นใครไม่ไปดูนี่เชยระเบิด

ผมว่าการเมืองหนีไม่พ้นเรื่องกระแสหรอกครับ ไม่ว่าจะเป็นกระแสเอาหรือไม่เอาทักษิณ
มันอยู่ที่ว่าเราใช้กระแสอย่างไร

ปรากฏการณ์หลายต่อหลายครั้งแสดงให้เราเห็นว่า ผู้จับกระแสเก่ง ใช้กระแสเป็น มักเป็นผู้ได้เปรียบ (ท่านผู้นำก็ทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างมากมาย ไมว่าจะเป็นกรณีสึนามิ นโยบายประชานิยม อาจสามารถเลีย เอ้ย เรียลิตี้โชว์ ฯลฯ)

คำว่าได้เปรียบหาใช่การที่สามารถโหนกระแสนั้นไปตลอดรอดฝั่ง หรือทำให้ทุกคนเชื่อฟังจนโงหัวไม่ขึ้น ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ เพราะหากขาดไร้ซึ่งความจริงและเนื้อหา กระแสก็ไม่ต่างจากคลื่นกระทบฝั่ง แม้จะเป็นคลื่นยักษ์ระดับสึนามิก็ตาม

ผมมองว่าปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่นี้ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกร่วมกันบางอย่างของหลายๆภาคส่วนในสังคม และภาคส่วนอาจารย์นักศึกษาก็เป็นหนึ่งในนั้น

ความรู้สึกร่วมกันของการ "อยากค้น" "อยากรู้" ความจริงในสิ่งที่เป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบ ความคลุมเครือ และสีเทาๆ แห่งผลประโยชน์ทับซ้อน รวมไปถึงประสิทธิภาพของการบริหารภายใต้รัฐบาลชุดนี้ที่ดูเหมือนจะมีเครื่องไม้เครื่องมือลงตัวไปเสียหมด

การเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เหมือนการสู้คดี หรือการเรียกร้องความยุติธรรมในศาลหรือในกระบวนการยุติธรรมนะครับ

ทางการเมืองไม่สามารถใช้หลัก "พิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง" ตรงกันข้าม “แค่สงสัย” และ “ไร้คำตอบที่สมเหตุสมผล” บางครั้งก็เพียงพอแล้วที่จะก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ผิดที่หลายคนจะ “เชื่อ” และเลือกที่จะยึดหลัก “การนิ่งคือการยอมรับ” ไปเสียแล้ว

ทั้งนี้เนื่องจาก ในทางการเมืองนั้นเราไม่ได้ใช้หลัก “ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นนำสืบ” เสมอไป บางครั้งผู้กล่าวอ้างก็เป็นเพียงผู้ตั้งคำถาม ตั้งคำถามแทนคนในสังคม เพราะแน่ล่ะ ไม่มีใครสามารถทำหน้าที่ social watch กันได้ทุกคนและทุกเวลา เมื่อคำถามถูกตั้งบนข้อมูลที่สมเหตุสมผล ในปริมาณที่มากพอ (แต่ก็ไม่ถึงปราศจากข้อสงสัย) แค่นี้ก็ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะเรียกร้องให้ผู้ถูกถาม ต้องเคลียร์ตัวเอง หรือตอบคำถามให้สังคมหายคาใจ

มาตรฐานของคำตอบก็เช่นกัน ลำพังแค่การตอบเลี่ยงๆ หรือตอบเพื่อทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของผู้ตั้งคำถาม ตอบนอกเรื่องนอกประเด็นถึงกระแสความสนใจไปเรื่องอื่น หรือแม้แต่ตอบเพื่อปิดปากไม่ให้ถามอีก นั้นไม่เป็นการเพียงพอที่จะดับกระแสความสงสัย หรือความอยากรู้อยากเห็นในทางการเมืองได้ หนักข้อกว่านั้น อาจเป็นการเพิ่มกระแสดุจราดน้ำมันลงบนกองเพลิงแห่งความสงสัยให้ลุกโชติขึ้นไปอีก

อีกข้อหนึ่งที่เป็นความแตกต่างระหว่างการเมืองกับการศาลก็คือ แม้จะมีคำพิพากษาศาลออกมาแล้ว ก็ใช่ว่าจะดับกระแสการเมืองได้นะครับ (ดูจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในหลายๆกรณี) เนื่องจากคนเลือกที่จะปักใจ “เชื่อ” ในผลอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว พร้อมกับการตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ในการดำเนินคดีในชั้นศาลนั้น อาจมีเล่ห์สนกลในอะไรหรือเปล่าทำให้ผลในทางคดีออกมาประหลาดไม่ตรงใจเช่นนั้น เพราะในการดำเนินคดีในชั้นศาลนั้นการ “ยกฟ้อง” สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ใช่เพียงเพราะ “จำเลยบริสุทธิ์ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องจริง” เท่านั้น ทั้งนี้อาจเกิดจากการที่โจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเอง หรือเพราะเพียงศาลยังสงสัยพยานหลักฐานของโจทก์บางประการ โดยเฉพาะคดีอาญาที่ยึดหลัก “ต้องปราศจากข้อสงสัยอันสมควร” หรือ “โจทก์ต้องเป็นผู้นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด” ซึ่งแตกต่างจากทางการเมืองดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น

การ “ยกฟ้อง” ของศาลจึงยังไม่ใช่ตราอาญาสิทธิ์ที่จะปิดปากไม่ให้ถาม ปิดตาไม่ให้มอง และปิดสมองไม่ให้สงสัย หรือปิดใจไม่ให้เชื่อได้อย่างชะงัด มันต้องขึ้นอยู่กับว่าที่ “ยกฟ้อง” น่ะ เพราะอะไร

ที่ยื่นไปให้ถอดถอนแล้วไม่ยอมถอดถอนเนี่ย เพราะอะไร

สิ่งที่จะดับกระแสได้ คือ “เวลา” และ “เหตุผล” ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการดับไปของ “อารมณ์”

และไม่ใช่จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้นะครับ หาก “กระแส” จะนำไปสู่ “เหตุผล” อย่างที่กล่าวข้างต้น ก็ด้วยเพราะ “กระแส” นำไปสู่การ “ตั้งคำถาม” และหากคำตอบ หรือผลลัพธ์ที่ได้มัน “ไม่สมเหตุสมผล” ล่ะก็ นั่นคือ “เชื้อไฟ” ดีๆนี่เอง

มาคอยจับตาดูกันดีกว่าครับว่า “กระแสทางการเมือง” หนนี้จะดับไปเพราะอะไร

“เวลา”

หรือ

“เหตุผล”

หรือ

มันจะยิ่งกลายไปไฟที่ลุกโชนเผาผลาญท่านผู้นำจนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ต้องบันทึกไว้ในอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยกันแน่

โปรดติดตามดูด้วยความระทึกในหทัยพลัน!