กระแส อารมณ์ และเหตุผล
เมื่อวานดูเยาวชนของชาติ มาร่วมเสวนาอภิปราย เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังเป็นกระแสฮอตติดชาร์ตในเวลานี้ บนเวทีของ “ป๋าเสี้ยม” ถึงลูกถึงคน พร้อมกับการตั้งคำถามในบทบาท และความสนใจของเหล่านิสิต นักศึกษายุคปัจจุบันกับปัญหาของชาติบ้านเมือง หลังจากที่ปล่อยให้ภาคประชาชน และอาจารย์โชว์สเต็ปมาพักใหญ่แล้ว ได้เวลาพลังหนุ่มสาว ปัญญาชนหรือยัง ทำนองนั้น จากที่ได้ดูแล้ว (และการสำรวจตามเว็บบอร์ดบางเล็กน้อยถึงปานกลาง) บางคน บางความเห็น ก็พยายามตั้งข้อสงสัยว่า นี่เป็นเพียงกระแสหรือเปล่า เหตุเพราะยังติดภาพสายลมแสงแดด กระเป๋าหลุยส์ การชักดิ้นชักงอตามแหล่งเริงรมย์ต่างๆ ของเหล่าปัญญาชนในยุคนี้ กระทั่งการร่วมชุมนุมเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อถอดถอนนายกฯ ณ ลานโพธิ์ มธ. เมื่อวานก็ไม่พ้นครหานี้เช่นกัน ผมเห็นด้วยนะกับกรณีที่กล่าวว่า หลายคนเซ็นเพราะกระแส คงคล้ายๆกับตอนตัดสินใจไปดูหนังเรื่องเพื่อนสนิท หรือแฟนฉัน ตอนนั้นใครไม่ไปดูนี่เชยระเบิด ผมว่าการเมืองหนีไม่พ้นเรื่องกระแสหรอกครับ ไม่ว่าจะเป็นกระแสเอาหรือไม่เอาทักษิณ มันอยู่ที่ว่าเราใช้กระแสอย่างไร ปรากฏการณ์หลายต่อหลายครั้งแสดงให้เราเห็นว่า ผู้จับกระแสเก่ง ใช้กระแสเป็น มักเป็นผู้ได้เปรียบ (ท่านผู้นำก็ทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างมากมาย ไมว่าจะเป็นกรณีสึนามิ นโยบายประชานิยม อาจสามารถเลีย เอ้ย เรียลิตี้โชว์ ฯลฯ) คำว่าได้เปรียบหาใช่การที่สามารถโหนกระแสนั้นไปตลอดรอดฝั่ง หรือทำให้ทุกคนเชื่อฟังจนโงหัวไม่ขึ้น ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ เพราะหากขาดไร้ซึ่งความจริงและเนื้อหา กระแสก็ไม่ต่างจากคลื่นกระทบฝั่ง แม้จะเป็นคลื่นยักษ์ระดับสึนามิก็ตาม ผมมองว่าปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่นี้ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกร่วมกันบางอย่างของหลายๆภาคส่วนในสังคม และภาคส่วนอาจารย์นักศึกษาก็เป็นหนึ่งในนั้น ความรู้สึกร่วมกันของการ "อยากค้น" "อยากรู้" ความจริงในสิ่งที่เป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบ ความคลุมเครือ และสีเทาๆ แห่งผลประโยชน์ทับซ้อน รวมไปถึงประสิทธิภาพของการบริหารภายใต้รัฐบาลชุดนี้ที่ดูเหมือนจะมีเครื่องไม้เครื่องมือลงตัวไปเสียหมด การเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เหมือนการสู้คดี หรือการเรียกร้องความยุติธรรมในศาลหรือในกระบวนการยุติธรรมนะครับ ทางการเมืองไม่สามารถใช้หลัก "พิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง" ตรงกันข้าม “แค่สงสัย” และ “ไร้คำตอบที่สมเหตุสมผล” บางครั้งก็เพียงพอแล้วที่จะก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ผิดที่หลายคนจะ “เชื่อ” และเลือกที่จะยึดหลัก “การนิ่งคือการยอมรับ” ไปเสียแล้ว ทั้งนี้เนื่องจาก ในทางการเมืองนั้นเราไม่ได้ใช้หลัก “ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นนำสืบ” เสมอไป บางครั้งผู้กล่าวอ้างก็เป็นเพียงผู้ตั้งคำถาม ตั้งคำถามแทนคนในสังคม เพราะแน่ล่ะ ไม่มีใครสามารถทำหน้าที่ social watch กันได้ทุกคนและทุกเวลา เมื่อคำถามถูกตั้งบนข้อมูลที่สมเหตุสมผล ในปริมาณที่มากพอ (แต่ก็ไม่ถึงปราศจากข้อสงสัย) แค่นี้ก็ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะเรียกร้องให้ผู้ถูกถาม ต้องเคลียร์ตัวเอง หรือตอบคำถามให้สังคมหายคาใจ มาตรฐานของคำตอบก็เช่นกัน ลำพังแค่การตอบเลี่ยงๆ หรือตอบเพื่อทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของผู้ตั้งคำถาม ตอบนอกเรื่องนอกประเด็นถึงกระแสความสนใจไปเรื่องอื่น หรือแม้แต่ตอบเพื่อปิดปากไม่ให้ถามอีก นั้นไม่เป็นการเพียงพอที่จะดับกระแสความสงสัย หรือความอยากรู้อยากเห็นในทางการเมืองได้ หนักข้อกว่านั้น อาจเป็นการเพิ่มกระแสดุจราดน้ำมันลงบนกองเพลิงแห่งความสงสัยให้ลุกโชติขึ้นไปอีก อีกข้อหนึ่งที่เป็นความแตกต่างระหว่างการเมืองกับการศาลก็คือ แม้จะมีคำพิพากษาศาลออกมาแล้ว ก็ใช่ว่าจะดับกระแสการเมืองได้นะครับ (ดูจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในหลายๆกรณี) เนื่องจากคนเลือกที่จะปักใจ “เชื่อ” ในผลอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว พร้อมกับการตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ในการดำเนินคดีในชั้นศาลนั้น อาจมีเล่ห์สนกลในอะไรหรือเปล่าทำให้ผลในทางคดีออกมาประหลาดไม่ตรงใจเช่นนั้น เพราะในการดำเนินคดีในชั้นศาลนั้นการ “ยกฟ้อง” สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ใช่เพียงเพราะ “จำเลยบริสุทธิ์ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องจริง” เท่านั้น ทั้งนี้อาจเกิดจากการที่โจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเอง หรือเพราะเพียงศาลยังสงสัยพยานหลักฐานของโจทก์บางประการ โดยเฉพาะคดีอาญาที่ยึดหลัก “ต้องปราศจากข้อสงสัยอันสมควร” หรือ “โจทก์ต้องเป็นผู้นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด” ซึ่งแตกต่างจากทางการเมืองดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น การ “ยกฟ้อง” ของศาลจึงยังไม่ใช่ตราอาญาสิทธิ์ที่จะปิดปากไม่ให้ถาม ปิดตาไม่ให้มอง และปิดสมองไม่ให้สงสัย หรือปิดใจไม่ให้เชื่อได้อย่างชะงัด มันต้องขึ้นอยู่กับว่าที่ “ยกฟ้อง” น่ะ เพราะอะไร ที่ยื่นไปให้ถอดถอนแล้วไม่ยอมถอดถอนเนี่ย เพราะอะไร สิ่งที่จะดับกระแสได้ คือ “เวลา” และ “เหตุผล” ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการดับไปของ “อารมณ์” และไม่ใช่จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้นะครับ หาก “กระแส” จะนำไปสู่ “เหตุผล” อย่างที่กล่าวข้างต้น ก็ด้วยเพราะ “กระแส” นำไปสู่การ “ตั้งคำถาม” และหากคำตอบ หรือผลลัพธ์ที่ได้มัน “ไม่สมเหตุสมผล” ล่ะก็ นั่นคือ “เชื้อไฟ” ดีๆนี่เอง มาคอยจับตาดูกันดีกว่าครับว่า “กระแสทางการเมือง” หนนี้จะดับไปเพราะอะไร “เวลา” หรือ “เหตุผล” หรือ มันจะยิ่งกลายไปไฟที่ลุกโชนเผาผลาญท่านผู้นำจนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ต้องบันทึกไว้ในอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยกันแน่ โปรดติดตามดูด้วยความระทึกในหทัยพลัน! |
4 Comments:
ปัญหาคือท่านผู้นำไม่ยอมตอบด้วยเหตุผล แต่ใช้หลักการแปลกๆมาตอบ ทำให้ประชาชนยิ่งไม่เข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆน่ะสิ
ก็เลยดูเหมือนว่าเหตุการณ์ไม่น่าจบลงด้วยเหตุผล อยากรู้เหมือนกันว่าจะจบยังไง
9:03 PM
แนะนำให้อ่านบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ครับ น่าสนใจมากๆ ต่อปรากฏการณ์ กระแสทางการเมืองทุกวันนี้
เราอาจจะเห็นอะไรมากไปกว่าการไม่เอาทักษิณ และอาจจะเข้าใจว่า "ทักษิณ" เป็นแค่เพียงอาการหนึ่งของ "โรคร้าย" ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่
ชอบประโยคนี้จริงเชียว
"ตอนนี้มีแต่คนบอกว่า ทักษิณเป็นปัญหาของแผ่นดิน ผมว่าเก่งจริงทำให้แผ่นดินเป็นปัญหาของคุณทักษิณสิ"
และ
"จะรีบร้อนไปไหน มีคนบอกเขาอยู่เป็นปัญหา เขาอยู่มีความเป็นอันตราย แต่กระบวนการที่จะเอาเขาออกก็อันตรายเหมือนกัน หากไม่ระมัดระวัง"
และ
"ถ้านิยามชัยชนะว่า ไม่มีใครตายแม้แต่คนเดียวในความขัดแย้งทางการเมืองนี้ สังคมไทยค้นพบการเปลี่ยนผ่านจากระบอบทักษิณ ไปสู่อย่างอื่นโดยไม่มีใครตาย ระหว่างที่สังคมไทยผ่านวิกฤต ได้เรียนรู้ เข้าใจตัวเอง และเข้าใจเงื่อนไขที่ล้อมสังคมดีขึ้น กระจ่างขึ้น อันนี้เป็นชัยชนะที่ยั่งยืน"
โปรยน้ำจิ้มให้แล้ว ที่เหลือไปอ่านกันเองครับ
ที่นี่ครับ
http://www.norsorpor.com/go.php?u=%3C7%3B%3CBindx%7CjsDumu36%3C7%3B%3Cd%3E55h4564754%3B5574863%3C%3E39%3A6385744%3Fuyym1
10:33 PM
เมื่อวานผมได้ถามคำถามรุ่นน้องในคณะผมคนนึงว่า
"ลงชื่อกะเค้าป่ะวะเนี่ย?"
คำตอบที่ได้คือ
"ยังพี่ คิดว่าไม่ลงด้วยแหล่ะ"
ผมก็เลยถามต่อ
"ทำไมวะ?" (ต้องการได้คำตอบจริงๆนะไม่ได้กดดันว่าเอ็งต้องลง...บังคับให้ลงนี่จะทำให้ชื่อที่ลงเป็นโมฆียะป่ะเนี่ย? ฮาๆๆๆ)
คำตอบที่น่าสนใจก็หลุดออกมา
"กลัวลงไปแล้วจะไม่เป็นกลางพี่"
น่าสนใจมากครับ
ถ้าลงชื่อถอดถอนทักษิณแล้วย่อมถือว่าไม่เป็นกลาง เลือกเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง
เป็นอย่างนั้นหรือไม่?
ผมเลยอยากหยิบเอาคำตอบของรุ่นน้องผมคนนี้มาตั้งคำถามครับ อยากรู้จริงๆให้ตาย
1. การลงชื่อถอดถอนทักษิณ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นกลางหรือไม่ หากใครสักคนต้องการที่จะตรวจสอบทักษิณโดยอาศัยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้สนว่าจะยืนอยู่ข้างใคร ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นกลางหรือไม่
2. ความเป็นกลางคืออะไร การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่ง นั่งอยู่บนภูดู...มันกัดกัน เป็นคนเชียร์มวยมันส์ๆ เชียร์ทั้งสองข้าง ขึ้นอยู่กับจังหวะนั้นใครตีเข่า เขย่าศอกได้ถึงใจพระเดชพระคุณกว่ากัน
รอพิเคราะห์ข้อมูลเพราะไม่อยากเป็นเครื่องมือให้ใคร นัยว่าตอนนี้ข้อมูลที่มีอยู่ยังมีไม่มากพอว่าใครผิดใครถูก หรือ
กระทำตนแบบผู้พิพากษา (ประเภทหนึ่ง) ที่กำหนดตรงเองอยู่ตรงกลางเป๊ะ ปล่อยให้ทนายความสองฝ่ายโจ้กันไป แม้จะเห็นว่ามีพิรุธ ก็ต้องยอมปล่อยไป ด้วยเหตุหากลงไปจับพิรุธเสียเอง จะกลายเป็นการกระทำตนที่ไม่เป็นกลาง
นัยว่า "กลางทางการเมือง" กับ "นิ่งเฉยทางการเมือง" เหมือนหรือต่างกันหรือไม่ แค่ไหน เพียงไร
3. เป็นกลางถือว่าเป็นการกระทำที่ถูก? เป็นความหมายเดียวกับ "ทางสายกลาง" ? เป็นทางที่ทุกคนควรเดินในทางการเมือง? โดยเฉพาะประชาชนคนเดินดินอย่างเราๆ
นอกจากการผลักให้ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งแล้ว ตอนนี้ยังมีการผลักให้ไปยืนอยู่ตรงกลางแล้วครับ
การเมืองยุคนี้นี่มัน มันส์จริงๆ
8:50 PM
อืม แนวคิดของท่าน รศ.ดร. เกษียร ฯ น่าประทับใจจริง ๆ พี่เห็นว่ากระบวนการ ถวายคืนพระราชอำนาจนี่ ไม่ชอบด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวง สนธิฯ กำลังโยนอุจาระให้พระองค์ท่าน .... เพราะจริง ๆ กระบวนการพิจารณาฎีกา เท่าที่ทราบ ก็คือ ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนนั้นไปพิจารณาเสียก่อน หากไม่ร้ายแรงจริง ๆ แบบสุดจะเยียวยาแล้ว ฎีกา ย่อมตกไปอย่างไม่ต้องสงสัย สนธิฯ และพวก ก็จะว่า ตนได้ทำหน้าที่สมบูรณ์ในการปกป้องประโยชน์แล้ว แต่พระองค์ไม่ทรงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยฯ
อีกทางหนึ่ง หากพระองค์ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยไปในทางที่สนธิฯ และพวกต้องการ ก็อาจจะมีกลุ่มคนจำนวนมาก เห็นว่า เป็นกระบวนการที่ไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นไปได้เช่นกัน และเป็นสภาวะที่น่าห่วงใยในอนาคตระยะยาว ก็เป็นไปได้เช่นกัน
กระบวนการทางรัฐสภา เช่น การอภิปรายทั่วไป ในรัฐสภา ซึ่งฝ่ายค้าน ทำได้ โดยไม่อาจจะอ้างเรื่องเสียงไม่ครบ อะไรเทือกนั้น น่าจะเป็นกระบวนที่น่าพิสมัยที่สุด แต่ไม่ทราบว่าทำไม ฝ่ายค้านไม่ทำ เพราะจริง ๆ แม้จะมีเสียงครบ เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็ไม่เคยปรากฎว่า มีครั้งใดที่ สส. ฝ่ายรัฐบาล จะยกมือไม่ไว้วางใจด้วยเลย
การอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา ที่มีหลักฐานหนักแน่น นับว่ามีผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ประชาชน ย่อมได้ประโยชน์ ได้เรียนรู้กระบวนการทางการเมือง และดำเนินรอยตามกระบวนการที่พึงประสงค์ทุกประการ แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมฝ่ายค้าน เงียบ ไม่ดำเนินการ ตามที่ควรจะกระทำตามระบบรัฐสภา
ปล. พี่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา และกระบวนการทางรัฐสภาครับ ส่วนการลงชื่อ เพื่อถอดถอน นับว่าเป็นแนวทางที่ชอบธรรม เช่นกัน แต่พี่จะร่วมลงชื่อด้วย เพราะเห็นว่ากระบวนการรัฐสภาถึงทางตันแล้วเท่านั้น แต่ในกรณีปัจจุบัน ปรากฎว่าฝายค้าน ไม่ดำเนินการให้ครบถ้วนเท่านั้น
11:28 AM
Post a Comment
<< Home