Tuesday, February 21, 2006

สื่บเนื่องจากวัฒนธรรมทางลัดและข้อจำกัด (ของผม)

ผมก็เคยตกเป็นเหยื่อของมะเร็งตัวนี้เหมือนกัน และผมเชื่อว่าในตอนเด็กวัยเยาว์ เราเกือบจะทุกคนมักข้องแวะกับมะเร็งตัวนี้มาแล้วทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างตามจังหวะชีวิตและเหตุปัจจัยเกื้อหนุน

ในวัยเยาว์ ผมเคยผ่านกระบวนการติว หรือกวดวิชามาสารพัด กวดกันตั้งแต่ประถม ยันช่วงชีวิตแห่งการเอนทรานซ์(ซึ่งสมัยนี้ล่วงไปในระดับเตรียมอนุบาลกันแล้วครับ)ตามประสาของระบบการศึกษาแบบทุนนิยม ที่เน้นการแข่งขัน และผลกำไร เอ๊ย ผลการเรียนเป็นตัวชี้วัดหรือกำหนด

สำหรับคนอื่นผมไม่ทราบนะครับ แต่สำหรับผมแล้วมันไร้ผลอย่างสิ้นเชิงครับ อาจเป็นไปได้ด้วยหลายเหตุผล

ผมไม่มีฉันทะในการเรียนขณะกวดวิชาอย่างแท้จริง อารมณ์ตามเพื่อน กลัวไม่ทันเพื่อน กระทั่งคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ หากไม่กระทำตามแล้วจะเกิดความรู้สึกผิดในใจ (ทำนองเดียวกันกับการเกิดขึ้นของกฎหมายจารีตประเพณีกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายประเภทแรกของมวลมนุษยชาติ)

หรือแม้แต่เพื่อเปิดกะลาตามประสานักเรียนชานเมือง สู่โลกกว้าง ตามสถานที่กวดวิชาที่มักตั้งตัวเองอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "ศิวิไลซ์" เช่น สยาม ฯลฯ

นอกจากนั้นการเรียนแบบกวด อัด ลัด นั้นอาจได้ผลสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานแน่นพร้อมแล้ว แค่เพียงฝึกให้แหลม ลับให้คมเพื่อลงสนามสอบ (ตามกติกา และระบบการศึกษาที่เน้นเทคนิคการสอบมากกว่าการรู้จริงของไหแลนด์) แต่สำหรับผมผู้มีอัตราเร่งในการทำความเข้าใจประมาณสี่เต่าคลานนั้น...ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมทางการศึกษาของผมอย่างเด่นชัด หากไม่กลับมาทำความเข้าใจ ย่อย วิเคราะห์ และเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น เข้าทางไหน ก็ออกทางนั้นครับ

ชีวิตการเรียนของผมเข้ารูปเข้ารอยเมื่อผมจับจังหวะในการเรียนของตัวเองได้ และเรียนรู้ถึงขีดจำกัดของตัวเอง (ซึ่งนั่นก็ปาเข้าไปในช่วงชีวิตที่สุนัขเลียทวารไม่ถึงแล้วครับ) ผมเรียนรู้ว่าในชีวิตการเรียนของผมไม่เคยได้อะไรมาง่ายๆ และผมก็ไม่ใช่คนที่เข้าใจอะไรง่ายๆด้วย ผมไม่สามารถมองภาพได้ทะลุปรุโปร่งเพียงแค่เปิดจิ๊กซอว์เพียงสองสามชิ้น

ผมไม่สามารถเล่นเกมส์ทายปัญหาเชาว์ หรือทายความสัมพันธ์ของตัวเลขในเชิงอนุกรมแบบเกมส์ไอคิวร้อยแปดสิบของปูนซีเมนต์ไทยได้เลย อีกทั้งเกมส์หมากกระดานทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่ผมเบือนหน้าหนีทุกครั้งยามมีผู้กวักมือเรียกให้ร่วมวง แม้แต่เล่นโอเอ๊กซ์ก็ถือว่ามหาหินสำหรับผม มิพักต้องคิดไกลไปถึงหมากล้อม

ผมจึงเป็นคนที่ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น หากต้องการผลลัพธ์ที่เท่ากันเสมอโดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา

การเดินทางไกล และการทำงานหนัก อีกทั้งการสูญเสียเวลาที่มากกว่าชาวบ้านนั้น พอทำบ่อยเข้ามันก็เริ่มชิน (เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างอัตลักษณ์และจิตเดิม...สันดานน่ะครับ ของผม) เหนื่อยน่ะเหนื่อย แต่รู้ตัวว่าหากไม่ทำเยี่ยงนั้น เราไม่มีวันเข้าใจได้เลย และจะไร้ความมั่นใจอย่างสิ้นเชิงยามต้องวัดผล หรือสอบแข่งขัน หรือแสดงผลงาน ฯลฯ

มันเลยกลายเป็นโรคจิตชนิดติดตัวถาวร ไม่ว่าวิชาที่ร่ำเรียนจะมีค่าหน่วยกิตกระจิดริดเพียงใด เป็นวิชาบังคับหรือเลือก ง่ายหรือยาก ผมจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมันเท่ากัน ใช้วงรอบในการทำความเข้าใจเท่ากัน รูปแบบในการทำความเข้าใจเดียวกัน

หรือแม้แต่การทำความเข้าใจเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งนั้น ผมจำเป็นต้องนั่งอ่านตั้งแต่หลักการพื้นฐานไล่มาจนถึงประเด็นที่ผมต้องการศึกษาทีเดียว ถ้าข้ามขั้นเมื่อไหร่ ทุกอย่างเป็นอันพังทลาย นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมทำงาน หรือผลิตงานได้ช้ามาก (เรื่องนี้เจ้าหนี้ของผมทุกรายล้วนทราบดี ไล่เรียงตั้งแต่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เฮียป.ป.บรรณาธิการจำเป็นโอเพ่นออนไลน์ ผู้บังคับบัญชาที่ทำงาน เลขาฯโครงการวิจัย แม้แต่คณะบรรณาธิการของวารสารตรวจเงินแผ่นดินก็โดนแล้วเช่นกัน...หรือนี่อาจเป็นเพียงข้ออ้างของผู้ที่มี ”จิตเดิม” แห่งความเฉื่อยและขี้เกียจอย่างผมเท่านั้น)

อาจด้วยเหตุผลแห่งอัตตาของผมดังกล่าวก็ได้ จึงทำให้ผมมีอคติค่อนข้างไปทางชิงชัง วัฒนธรรมทางลัดดังกล่าว

เมื่อวัฒนธรรมทางลัดนั้นเปรียบได้ดั่งมะเร็งร้ายของระบบการศึกษา รวมไปถึงค่านิยม หรือวัฒนธรรมในการดำรงตนของคนในสังคม การกำกับควบคุมหรือรักษาให้ทุเลาเบาบางลงจึงอาจเทียบเคียงได้กับการรักษามะเร็งอันเป็นเนื้อร้ายของร่างกายเช่นกัน

มะเร็งอันเป็นเนื้อร้ายกัดกร่อนร่างกายมนุษย์นั้น เกิดขึ้นได้กับทุกผู้ทุกนาม เมื่อเหตุและปัจจัยเหมาะสมสำหรับมัน การไม่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพ อุปนิสัยการบริโภคที่ย่ำแย่ มลภาวะที่เสื่อมทรามล้วนเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเหลือเกินสำหรับมะเร็ง และมะเร็งก็กินอาหารเหมือนที่เรากิน เรากินหมูย่างมันเยิ้มไหม้เกรียม อาหารขยะทั้งหลาย มะเร็งชอบนัก

มะเร็งทางการศึกษามักวิ่งเข้าหา ดูดกิน และเติบโตในสภาวะที่ต้องมีการแก่งแย่งแข่งขัน โดยเฉพาะระบบการศึกษาแบบทุนนิยม เงินแลกความรู้นั้นมะเร็งตัวนี้ชอบนัก การดูแลสุขภาพทางการศึกษาที่ย่ำแย่ ชอบเดินทางลัด เรียนรู้อะไรแยกส่วน เน้นเทคนิคการสอบ ไม่ได้เน้นเนื้อหาแก่นแท้ความรู้ (ทำนองทนายความ “เหลี่ยม” จัดที่ชอบเอาชนะคะคานกันที่เทคนิคในวิธีพิจารณาความ โดยไม่สนว่าแท้จริงแล้วในทางแก่นแท้เนื้อหาลูกความของตนสมควรที่จะชนะหรือไม่...โยงกันเข้าไปได้ยังไงฟระ)

การรักษามะเร็งทางกาย นอกจากการผ่าตัด ฉายแสง แล้ว การดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เหตุและปัจจัยใดที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง หรือที่มะเร็งชื่นชอบนั้น เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เพื่อควบคุมให้มันไม่ส่งผลร้ายต่อร่างกายให้ได้

ในทางการแพทย์นั้น มีความพยายามที่จะคิดค้นเทคนิคการรักษาใหม่ๆ โดยการตัดสายใยแห่งอาหารที่ไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เมื่อมะเร็งเติบโตจากอาหารที่มนุษย์เจ้าของร่างกายเสพเข้าไป การตัดเส้นทางลำเลียงอาหารไม่ให้เดินทางถึงเซลล์มะเร็งก็น่าจะยุติหรือชะลอการเติบโตของเซลล์ร้ายนั้นได้ แต่ผมไม่ได้ตามข้อมูลต่อว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ใครทราบหากวานบอกจะเป็นพระคุณครับ

การรักษามะเร็งในระบบการศึกษานั้น ณ เวลานี้ผมว่า มันเป็นผลผลิตที่ติดแน่นยึดโยงอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไปเสียแล้ว การจะผ่าตัด หรือฉายแสงเซลล์มะเร็งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เปรียบได้กับการเขยื้อนกองภูเขาขยะ ณ บริเวณซอยอ่อนนุช อย่างไรอย่างนั้น

เป็นหน้าที่โดยตรงของบรรดาผู้รับผิดชอบที่มีอำนาจในบ้านเมือง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องสร้างสภาพเอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างจริงจังมิใช่เพียงฉาบฉวย ระบบการสอบคัดเลือกหรือการแข่งขันนั้นต้องเปิดโอกาสในการที่จะใช้เทคนิคในการสอบ การเก็งข้อสอบ การจำมาตอบให้น้อยที่สุด แม้จะยากในการออกแบบข้อสอบหรือแบบทดสอบที่จะเข้าถึงความเข้าใจหรือภูมิรู้ของผู้เข้าแข่งขันคัดเลือก รวมทั้งมาตรฐานการให้คะแนนก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะไม่คิดและไม่ทำ เพราะตราบใดที่ระบบการสอบ การคัดเลือก (ถ้าพูดในภาพกว้างมันรวมไปถึงระบบการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าสู่วงวิชาชีพด้วยนะครับ ไม่อยากจำแนกว่าอะไรบ้าง โดยเฉพาะในภาครัฐ) ยังเปิดช่อง สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่บรรดาการกวดวิชา และการเรียนรู้แบบลัดๆ ฉาบฉวยแล้ว มะเร็งตัวนี้ย่อมต้องเติบโตต่อไป จนกระทั่งวันหนึ่งมันจะเป็นวัฒนธรรมหลักเข้ามาแทนที่คุณค่าเดิม และหากระบบการศึกษาเองยังฤพ่ายแพ้แก่มะเร็งตัวนี้แล้ว ผมเชื่อแน่ว่าในอีกทุกภาคส่วนของสังคมนี้ ย่อมหนีไม่พ้นมะเร็งร้ายตัวนี้เช่นกัน

มะเร็งที่ชอบอะไรง่ายๆ ลัดๆ ฉาบฉวย

มะเร็งที่ชื่อว่า “วัฒนธรรมทางลัด”

3 Comments:

Anonymous Anonymous said...

อืม วิธีลัดนี่มันเป็นวิธีของคนมักง่าย ที่อยากได้อะไรมาแต่ไม่อยากลงทุนลงแรงมากนัก เวลาไปเรียนพิเศษก็เพราะอยากได้แนวข้อสอบ อยากสอบได้ แต่ไม่อยากรู้ หรือ แม้อยากรู้ แต่ไม่อยากเข้าใจในแก่นของมัน เพราะไม่เห็นสำคัญ

แต่ทีนี้จะโทษคนเรียนอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องโทษระบบด้วย เพราะระบบมันบีบคนให้ทำอย่างนี้ ข้อสอบมันออกมาแบบมีแนว ให้คนรู้แนวมาทำ ไม่ได้ออกมาให้คนรู้จริงทำ บางทีคนรู้จริงแต่ไม่รู้แนวกลับทำไม่ได้ซะงั้น

ถ้าจะเปลี่ยนหรือรักษามะเร็งอย่างที่น้องต้องบอก อาจจะต้องเปลี่ยนที่ตัวค่านิยม คืออย่าไปนิยมและนับถือความฉาบฉวย แต่นิยมและนับถือความลึกซึ้งถึงแก่นแทน

ซึ่งมันก็อาจจะไปคล้ายๆกับความอยากจะเปลี่ยนค่านิยมความฟุ้งเฟ้อ ให้มานิยมอยู่อย่างพอเพียง เข้าใจในคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต--ทำยากอ่ะค่ะ เพราะใครๆก็ชอบความสบายด้วยกันทั้งนั้น

เขียนยาวไปแฮะ

9:29 PM

 
Blogger LekParinya said...

ฉันใดฉันนั้น

กินอาหาร"แดกด่วน"มาก ๆ
ก็เป็นโรคอ้วน เส้นเลือดอุดตัน

ไม่ได้บอกให้ไม่กินนะครับ

กินได้ แต่ต้องรู้เท่าทัน ว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพ
เลี่ยงได้ก็เลี่ยง
เลี่ยงไม่ได้ก็ออกกำลังกาย บ่อยขึ้น

เทคโนโลยี มองมุมหนึ่งอาจเป็นมะเร็งเช่นกัน
ทุกอย่างรวดเร็ว ทำให้ทำอะไรได้เร็วขึ้น
ต้องถามตัวเองบ่อย ๆ
เมื่อเราประหยัดเวลา
แล้วเอาเวลาเหล่านั้นไปทำอะไรกันหนอ?

สรุปง่าย ๆ ว่า "อย่ามักง่าย"

5:51 AM

 
Blogger Oakyman said...

ไม่ได้กวด (แต่จริงๆ เคยกวดตอนประถมปลายจนถึงป. 6)
ไม่ได้สอบเทียบ
รู้สึกว่าหลุดแนวของเพื่อนๆ อยู่ไม่น้อย
(อดเจอสาวๆ โรงเรียนอื่นตามสถานกวดฯ ด้วย)

แต่ก็เอาเวลาไปเรียนภาษาญี่ปุ่นแทน

7:25 PM

 

Post a Comment

<< Home