Sunday, February 19, 2006

วัฒนธรรมทางลัด



ถ้าเปรียบชีวิตเป็นการเดินทาง แต่ละคนก็คงมีประสบการณ์หรือมุมมองในการเดินทางที่แตกต่างกันออกไป สำหรับบางคนเส้นทางเดินช่างทอดยาวจนไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุด ณ จุดไหน ในขณะที่บางคนนั้นก็แสนสั้น เส้นทางของบางคนนั้นโรยด้วยกลีบกุหลาบ หอมหวน ชวนพิศ สงบร่มรื่น วิวทิวทัศน์ข้างทางช่างสวยสดงดงาม จนแทบจะหลงลืมที่จะย่างเท้าเดิน

แต่บางคนก็ประสบเส้นทางที่ขรุขระ รกชัฎ มืดมน หนาวเหน็บ อ้างว้าง เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม จนทดท้อ ถอดใจ ไม่อยากแม้แต่จะก้าวเท้าไม่ว่าจะเขยื้อนเดินไปข้างหน้า หรือเหลียวหลังกลับเช่นกัน

สำหรับเส้นทางเดิน บางคนก็เป็นฝ่ายเลือกเส้นทางที่จะเดินด้วยตนเอง บางคนก็ไม่ได้เลือก ด้วยเพราะมีคนเลือก (บังคับ) ให้ หรืออาจเพราะหลงเดินตามทางที่คนส่วนใหญ่เขาเลือกเดินกันเท่านั้น

ปัจจัยที่มีผลต่อความหนาแน่นของประชากรบนเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งนั้น จุดหมายปลายทางน่าจะมีอิทธิพลต่อการเลือกเส้นทางเดินของนักเดินทางมากที่สุด

จุดหมายปลายทางซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ความคาดหวัง” หรือ “ความฝัน” นั่นเอง
บางจุดหมายก็อาจบรรลุได้ด้วยหลายทางเดิน

หากจุดหมายนั้นเป็นที่หมายปองของบุคคลมากมาย การแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายนั้นก็คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากเดินหรือวิ่งให้เร็วกว่าชาวบ้านแล้ว การวางแผนการเดินทางและการเลือกเส้นทางเดินก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน
เมื่อเส้นทางหลักคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แออัดยัดเยียด เบียดเสียด ก็คงมีจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจบุกรกถางพงเพื่อเปิดเส้นทางใหม่ๆ ที่สะดวก และอาจรวดเร็วกว่า โดยเรียกกันว่า “เส้นทางลัด”

การบุกเบิกเส้นทางลัดดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัยเสียด้วย เมื่อทางหลักแออัด ทางลัดก็กำเนิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนการเกิดขึ้นของหัวสิวยามแตกเนื้อหนุ่ม

ตราบใดที่เส้นทางลัดเหล่านั้นไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ไม่ได้ไปบุกรุกบนที่ดิน บ้านเรือนของผู้อื่น ก็คงไม่มีใครไปว่าอะไรได้ เต็มที่ผู้นิยมเส้นทางหลักก็คงก่นด่าได้แต่ทางสายตาและในใจ ทำนองว่า พวกนี้ลำบากไม่เป็น ชอบอะไรลัดๆและง่ายๆ ก็เพียงเท่านั้น

ผู้บุกเบิกเส้นทางลัดหลายคนอาจเริ่มต้นด้วยเจตนาอันเป็นเมตตา ต้องการให้สัตว์โลกได้เดินเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่แออัด และบรรลุถึงเป้าหมายด้วยอาการที่แช่มชื่นไม่อ่อนล้า หรือถึงกับล้มตายระหว่างที่เดินทางบนเส้นทางหลัก หลายคนกระทำตนเป็นผู้นำทาง นำเอาเหล่าสาวกและสานุศิษย์รวมทั้งตนเองข้ามผ่านห้วงทุกข์ทรมานไปสู่จุดหมายปลายทางที่สวยงามดุจสรวงสวรรค์

แต่หลายคนฉลาดกว่านั้น แทนที่จะกระทำตนเป็นผู้ร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายที่อยู่ปลายเส้นทางที่ตนบุกเบิก เรื่องอะไรจะเดินให้เหนื่อย สู้เป็นผู้เบิกเส้นทางแล้วนั่งเก็บค่าผ่านทาง หรือเรียกได้ว่ายึดเอา “เส้นทาง” ที่ตนบุกเบิก เป็นจุดหมายปลายทางของตนเสียเลยดีกว่า

อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมทางลัดนี้เอง เป็นหลักฐานของความคิดที่ให้ความสำคัญ หรือให้น้ำหนักของ “เป้าหมาย” หรือ “จุดหมาย” มากกว่า “เส้นทาง” หรือ “วิธีการเดินทาง”
ในทางอาชญวิทยา มีทฤษฎีเล็กๆทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า “ทฤษฎีสภาพไร้บรรทัดฐาน” หรือ Anomie ซึ่งได้รับการคิดค้นและนำเสนอโดย “เอมิล เดิร์ค ไฮม์” (Emile Durkheim) ทฤษฎีดังกล่าวได้อธิบายพฤติกรรม หรือทัศนคติที่มีต่อ “เป้าหมาย” และ “วิธีการ หรือเส้นทางเดิน” ของคนในสังคม ไว้อย่างน่าสนใจ โดยทฤษฎีนี้ได้จำแนกทัศนคติของบุคคลที่มีต่อ “เป้าหมาย” และ “วิธีการ” ไว้ ๕ ประเภท ดังนี้

๑. พวกคล้อยตามเป้าหมาย และยอมรับที่จะเดินตามทางหลักที่สังคมกำหนดไว้ (พวกคล้อยตาม)

๒. พวกคล้อยตามเป้าหมาย แต่ไม่ยอมรับที่จะเดินตามทางหลักที่สังคมกำหนดไว้ (พวกชอบความเปลี่ยนแปลง)

๓. พวกไม่ยอมรับเป้าหมาย แต่ก็ยังยินยอมที่จะเดินตามทางที่สังคมกำหนด (พวกเช้าชามเย็นชาม)

๔. พวกไม่ยอมรับทั้งเป้าหมายและเส้นทางของสังคม (พวกหลบตัว, ล้าทางวัฒนธรรม)

๕. เหมือนพวกที่ ๔ แต่ต้องการปฏิวัติทั้งเป้าหมายและสร้างเส้นทางใหม่ (พวกล้มล้างปฏิวัติ)

โดย เดิร์ค ไฮม์ สรุปว่า พวกที่ ๒ ๔ และ ๕ มีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมที่ก่ออาชญากรรมได้มากกว่าที่เหลือ

สำหรับกรณี “วัฒนธรรมทางลัด” นั้น ผมโมเมเอาเองว่าน่าจะจัดอยู่ได้ในพวกที่ ๒ คือ ยังยึดเป้าหมาย หรือความฝัน หรือมาตรฐานของสังคมไว้ เช่น ยังอยากรวย อยากประสบความสำเร็จ อยากเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่ไม่ต้องการเดินตามทางหลักที่คนส่วนใหญ่เดินกัน อันนี้แล้วแต่เหตุผล ชักช้า เสียเวลา เสียแรงเสียเหงื่อมากกว่า

อยากรวย อยากประสบความสำเร็จ หากต้องทำงานหนัก เก็บหอมรอมริบ อาจใช้เวลาทั้งชีวิต สู้เล่นหวยรวยเบอร์ ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจ หรือเลยเถิดไปจนกระทั่งกระทำการผิดกฎหมาย ปล้น จี้ ยักยอก ฉ้อโกง หรือแม้แต่เลี่ยงภาษี ไม่ได้ ลัดและเร็วกว่าเยอะ รวยเหมือนกัน

อยากเก่ง อยากสอบแข่งขันทั้งเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เข้าทำงาน หากต้องหลังขดหลังแข็งอ่านหนังสือ เตรียมพื้นฐานให้แน่น คิดวิเคราะห์เป็น ตกผลึกทางปัญญา อาจใช้เวลานาน และอาจใช้ฟาดฟันในสนามสอบที่เน้นแต่เทคนิคการเก็งข้อสอบ และเทคนิคการตอบคำถามไม่ได้ สู้ไปติว ไปเข้าคอร์สเรียนพิเศษดีกว่า ประเภทเห็นผลในเจ็ดวัน คอร์สเร่งรัด ไม่ติดคืนตังค์

อย่างไรก็ตามทฤษฎีดังกล่าวก็มิได้บ่งบอก หรือตัดสินว่า ระหว่าง “เป้าหมาย” กับ “เส้นทาง” สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน

ในยุคปัจจุบันที่มีแต่การแก่งแย่ง จนลืมหายใจ แน่นอนจุดหมายปลายทาง หรือเป้าหมายย่อมมาก่อนวิธีการหรือเส้นทางเดิน จนบางครั้งเราลืมคิดไปว่าจุดหมายปลายทางบางอย่างก็ไร้ค่าอย่างสิ้นเชิงหากขาดซึ่งวิธีการ หรือเส้นทางเดินที่เหมาะสม บางทีคุณค่าของจุดหมายปลายทางอาจอยู่ที่เส้นทางหรือวิธีการได้มามากกว่าตัวสารัตถะของจุดหมายนั้นก็เป็นได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าคุณค่าของจุดหมายปลายทางบางอย่างอาจอยู่ที่วิธีการได้มาหรือเส้นทางเดิน ถ้าหากขาดซึ่งเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม หรือวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม แม้จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ แต่ก็หาได้มีคุณค่าใดไม่

บางครั้งเส้นทางเดิน หรือวิธีการได้มาอาจมีค่าในฐานะ “หนทางแห่งการฝึกตน” เพื่อให้พร้อมยามเมื่อเดินทางถึงดินแดนแห่งปลายฝันก็เป็นได้ เหตุเพราะชีวิตการเดินทางนั้นบางปลายทางอาจเป็นเพียงการเริ่มต้น หาใช่การสิ้นสุด

อดคิดไม่ได้ว่าวัฒนธรรมทางลัดนี้อาจเป็นผลผลิตหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “ทุนนิยม” เพราะทางลัดส่วนใหญ่มักมีค่าผ่านทางเสมอๆ เรียกง่ายๆว่าคนที่มี “ทุน” เท่านั้นที่จะสามารถใช้เส้นทางลัดเส้นนี้ได้

และที่น่าห่วงกว่านั้นคือการที่ระบบของสังคมทุกวันนี้มันชักจะเอื้อต่อทางลัดเสียยิ่งกว่าทางหลักไปเสียแล้ว ไม่อยากคิดว่ารูปแบบของเป้าหมายและเส้นทางเดินของสังคมจะผันแปรไปในรูปแบบใด โดยเฉพาะในระบบการศึกษา

แม้การกวดวิชาที่เห็นๆกันมาหลายสิบปี กระทั่งในปัจจุบันแลจะเป็นสิ่งปกติเป็นหนึ่งในรูปแบบการศึกษาที่ควบคู่กับการศึกษาในระบบในสถานศึกษาแล้ว แต่ก็มักจำกัดวงอยู่แต่หมู่ “กระโปรงบาน ขาสั้น” วัยมัธยมทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อเตรียมเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งในความคิดของผม ผมว่ามันอาจจะยังไม่สั่นสะเทือนสังคมมากนักเหตุเพราะ วิชาที่ใช้ติวหรือกวดวิชานั้น ยังเป็นเพียงพื้นฐานที่จะต้องไปเรียนรู้และขัดเกลา หรือเจียรไนยต่อในระดับอุดมศึกษาต่อ ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ สังคม หรือภาษาไทย เรียกว่าจะเอาไปใช้งานทันทีไม่ได้ (ยังไม่มีมิติของอาชีพหรือวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก เว้นแต่จะกวดไปเพื่อไปเป็นผู้ติวต่ออีกทอดหนึ่ง)

(แม้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะพยายามหาทางแก้ด้วยการเปิดรับนักศึกษาโดยตรง ด้วยข้อสอบของตนเอง (บางส่วน) หรือที่เรียกว่า “รับตรง” ด้วยคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยหรือคณะ จะได้ผู้ที่มีความสนใจ และมีความรู้พื้นฐาน หรือมีคุณสมบัติพื้นฐานในการร่ำเรียนในคณะต่างๆจริงๆ โดยไม่ต้องแข่งขันและพึ่งระบบการกวดวิชาเหมือนการเอนทรานซ์สนามใหญ่ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าระบบกวดวิชา ก็ยังติดตามไปอย่างเหนียวแน่น ลองอ่านกระทู้ดังต่อไปนี้ครับ ขอแค่เพียงมีความต้องการ มีการแข่งขัน ผมว่าปิดกั้นยากเหลือเกิน)

แต่ปัจจุบันมันขยายวงไปมากกว่านั้นแล้ว การติวสอบในระดับอุดมศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี และหลังจบปริญญาตรีแล้วก็เริ่มปรากฏรูปทรงให้เห็น และกำลังจะแน่นแฟ้นขึ้นจนเป็นหลักแหล่งและเป็นระบบ เรียกได้ว่า จากทางรกชัฏ กำลังจะกลายเป็น ถนน คสล. (คอนกรีตเสริมเหล็ก)

ที่ผมว่ามันหนักข้อสุด คือการติวเพื่อเข้าสู่องค์กรวิชาชีพ

และจะหนักหน่วงกว่านั้น หากพิจารณาด้วยว่า “องค์กรวิชาชีพ” นั้นคืออะไร

บริษัท ห้างร้าน ในภาคเอกชน

ส่วนราชการ ในภาครัฐ

แม้แต่การสอบคัดเลือกผู้เข้าดำรงตำแหน่ง “อัยการผู้ช่วย” หรือ “ผู้ช่วยผู้พิพากษา” ก็หนีมะเร็งตัวนี้ไม่พ้น

มะเร็งเกิดขึ้น และดำรงอยู่ อีกทั้งพัฒนาขยับขยายกลายเป็นเนื้อร้ายกัดกร่อนร่างกาย ด้วยอาหารขยะ มลภาวะ และการดูแลร่างกายที่บกพร่องฉันใด

วัฒนธรรมทางลัด ก็อาจเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และพัฒนาขยับขยายกัดกร่อนคุณค่าดั้งเดิมของสังคม ด้วย เงิน ทรัพย์สิน และผลประโยชน์ และความอ่อนแอของสังคมฉันนั้น

สุดท้ายผมก็ยังอยากจะนั่งยัน ยืนยัน และนอนยันว่า

“บางครั้งจุดหมายปลายทางก็ไม่ได้สำคัญไปกว่าสิ่งที่ค้นพบระหว่างทางเดิน”

และ

“การมาถึงก็อาจด้อยค่าหากเทียบกับการรอคอยอย่างอดทน” ก็ได้ครับ


6 Comments:

Anonymous Anonymous said...

เห็นด้วยค่ะ

หรือบางทีจุดหมายปลายทางอาจจะสำคัญน้อยกว่าด้วยซำ เพราะมันเป็นจุดสิ้นสุดของความสนุกสนานที่ได้ระหว่างทาง

และบางทีก็คิดว่า จะเป็นไปได้ไหมและจะดีกว่าไหม ถ้าจะทำให้ทางเดินกับเป้าหมาย อยู่จุดเดียวกัน

1:38 AM

 
Blogger ratioscripta said...

เมื่อกี้คุยกับสาวเหลี่ยม ถึงประเด็น

นักกฎหมายที่ดี กับนักกฎหมายที่เก่ง โดยอาจถือได้ว่าเป็นประเด็นต่อเนื่องกับเรื่องที่ผมเขียนตอนนี้ด้วย เหตุเพราะ มีคนอวดอ้างตัวเองว่า ตนนั้นเชี่ยวชาญทางกฎหมายเพียงพอที่จะตั้งตนเป็นเจ้าสำนักการกวดวิชา ถึงขนาดสามารถเนรมิตให้หนุ่มสาวชาวมัธยม ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักนิติศาสตร์ในอนาคต แม้ยังไม่มีความรู้ทางกฎหมายเลย ก็สามารถมีความรู้เฉกเช่น เทียบเท่า หรืออาจเหนือกว่าบรรดานักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ที่ร่ำเรียนมาเป็นแรมปีเสียอีก

โดยคนพวกนี้มักยอมรับว่า ตนทำเพื่อเงิน แม้จะอยากอุทิศตนเพื่อสังคมเพียงไร แต่ไม่อาจต้านทานกิเลสแห่งตนได้

และเรียกร้องให้แยก "ความเก่ง" ออกจาก "ความดี"

ผมขอค้านครับ

สำหรับผมแล้ว นักกฎหมายที่เก่งและดี ต้องเป็นคนเดียวกัน ผมไม่นับถือคนที่เกียรตินิยม กล่องรางวัล หรือคะแนนที่สูงลิบลิ่ว

ผมไม่นับถือนักกฎหมายที่มีเงินล้นฟ้า ลูกความล้นสำนักงาน ว่าความ ทำคดีไม่เคยแพ้

ถ้าคำตอบ หรือผลผลิตในทางกฎหมายของเขาไม่ตรงไปตาม หลักการที่ถูกต้อง ไม่สอดรับกับบุพการีของกฎหมายอย่างศีลธรรม จริยธรรม และความยุติธรรมเสียแล้ว

ผมถือว่า "ไม่เก่ง"

เพราะคำตอบที่ได้มันไม่ถูกเสียแล้ว ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะรู้ว่าคำตอบที่ถูกคืออะไรก็ตาม ถ้าเขาตอบผิดเพราะความไม่รู้ นั่นก็คือ โง่ ถ้ามันตอบผิดเพราะรู้ ก็คือเลว คำตอบคือผิดทั้งคู่ ไม่ว่าเขาจะรู้หรือไม่ก็ตาม

ฉะนั้น

ไม่เก่งครับ

4:12 AM

 
Anonymous Anonymous said...

ขอโต๊ดนะต้องนะ
ยังไม่ได้ "ถก" อะไรขึ้นมาคุยเลย (ถกไรวะ ทำไมต้องถก ฮ่าๆ)เพราะเจ้าของบ้านเรามา เราเลยไปเจรจาต๊าอ๊วยเรื่องการจ่ายค่าเช่าบ้าน และหาบ้านให้พี่ บิชชุน ไปในตัว เลยจำต้องออฟไลน์โดยไม่ได้บอกกล่าว
ประเด็นนี้จึงขอพับไปก่อน แล้วจะมา"ถก" ใหม่ในวันที่ออนไลน์ตรงกัน
ขอโต๊ดอีกที และ เป็นเกียรติที่ได้รับการกล่าวถึงในขณะเดียวกัน

10:43 AM

 
Blogger Unknown said...

เรื่องคุณธรรม กับ วิชาชีพกฎหมายนี่ ...มันแยกกันไม่ได้แน่ ๆ ...ใครเสนอให้แยก คงจะเพี้ยนที่สุดในโลก ตั้งแต่มีโลกนี้เกิดขึ้นแน่ ๆ

4:26 PM

 
Blogger Tanusz said...

ว่าจะเข้ามาแย้งเพราะสะดุ้งกับคำว่า "มะเร็ง"
แต่อ่านไปอ่านมาก็ยอมจำนนด้วยเหตุผล

ส่วนกรณีนักกฎหมายที่ดี กับนักกฎหมายที่เก่ง
ผมว่าคำว่า "เก่ง" กับคำว่า "ดี" มีความหมายในเชิงยกย่อง ชมเชย เมื่อนำมารวมกับบุคคล ก็จะได้ความหมายว่า เป็นคนเก่ง เป็นคนดีที่ "สังคมควรยกย่อง"

ฉะนั้น เมื่อบุคคลคนนั้น เก่งทางด้านโกงภาษี หรือเก่งทางด้านฟอกสีดำให้เป็นสีขาวแล้วไซร้ ควรหรือที่สังคมจะยกย่องบุคคลคนนั้นว่า "เก่ง"

สรุปว่า "เก่งแล้วต้องดี" แต่ถ้า "ไม่ดีก็แปลว่าไม่เก่ง"

ไม่รู้ว่าคิดง่ายไปหรือป่าว แหะๆ

1:39 AM

 
Blogger logakoo said...

อ่านแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ ผมก็อยากให้เด็กไทย รวมถึงผู้ใหญ่ และวัยรุ่น(อย่างผม)ขจัดไอ้มะเร็งบ้าออกไปเหมือนกัน แต่ทำไงได้ล่ะครับก็ไอ้การสอบทั้งหลายแหล่กะไอ้การสมัครงานทั้งของรัฐและเอกชนมันก็เป็นซะอย่างงี้ทั้งภาค ก ความถนัด วัดไอคิว ดูบุคลิก ซึ่งผมก็ไม่เคยเห็นด้วยกะมันเลยไหนจะเจอระบบพวกเส้นอีก
ผมก็คล้ายพี่แหละครับว่าจะทำอะไรต้องรู้ตั้งกะฐานก่อนข้อสอบคำนวนๆคิดเร้วๆวัดไอคิวผมก็ทำไม่ได้ แน่นอนอีกหลายๆคนก็ทำไม่ได้ มะเร็งมันก็เกิดขึ้นมาว่า เอาล่ะไปติวกันดีกว่าเราไหนๆก็ทำไม่ได้แล้ว
ติวเข้ม
ติวเข้มมาก
ติวเข้มตลอดติดแหงๆโดยพี่ปึ้ก
เหอะ เหอะ

1:23 AM

 

Post a Comment

<< Home