Saturday, April 29, 2006

ลมหายใจรวยรินของร้านหนังสือเล็กๆ ร้านหนึ่ง

ตามปกติผมเป็นพวกวงจรชีวิตซ้ำเดิม ทำอะไรก็จะทำแบบเดิม เที่ยวที่ไหนก็เที่ยวที่เดิม เดินทางเส้นไหน ก็จะใช้เส้นเดิม กินร้านไหนก็จะกินร้านเดิม

แลดูเป็นพฤติกรรมชีวิตที่น่าเบื่อ แต่สำหรับผม…มันก็น่าเบื่อจริงๆครับ

แต่ในความน่าเบื่อดังกล่าว หากมองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นความท้าทายนะครับ

นี่ผมบ้าหรือเพี้ยน ไอ้สิ่งที่ทำๆข้างต้นไม่เห็นมันจะน่าท้าทายตรงไหน

ก็เพราะไอ้วิถีชีวิตซ้ำเดิมนี่แหล่ะครับ หากวันใดขยับออกนอกวงรอบเดิมนิดเดียว มันก็ท้าทายแล้วนี่หน่า ถูกไหมครับ แล้วไอ้คนพรรค์อย่างผม หากลองจะก้าวเท้าออกนอกวงรอบซ้ำเดิมของตัวเอง แม้แต่เพียงเล็กน้อย มันก็คงต้องใช้ความกล้าหาญ มากกว่าคนอื่นๆ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่าท้าทายได้อย่างไรครับ

สถานที่บันเทิงใจ หรือพักผ่อนหย่อนใจของผม ก็คงหนีไม่พ้นสถานที่เดียวกันกับบรรดามนุษย์กระป๋อง ไร้ทางเลือก ไอ้พวกชอบสั่งเมนู “ข้าวผัดสิ้นคิด” หรือ “บะหมี่หมดหนทาง” หรือไม่ก็ไอ้พวก “เหมือนเดิมที่นึง” และ ไอ้พวก “เหมือนกัน” นี่แหล่ะ

นั่นก็คือ

ห้างสรรพสินค้าครับ โธ่ จะไม่ให้สิ้นคิดได้อย่างไร ก็มีทุกสิ่งให้คุณเลือกสรรนี่ แถมประหยัดไฟไม่ต้องเสียค่าแอร์ที่บ้าน ยามอากาศร้อนระเบิดระเบ้อขนาดนี้

กิจกรรมประจำที่ผมมักทำเสมอเวลาไปเยี่ยมเยือนเมกกะสโตร์อย่างเซ็นทรัลพระรามสอง (ห้างดังที่ตั้งตัวเองใกล้กับนิวาสถานของผมที่สุด) ก็หนีไม่พ้น กินข้าว (ที่ร้านเดิมๆ) ดูหนัง (โรงหนังเดิมๆ – มีอยู่โรงเดียว ) ซื้อของ (อันนี้เป็นข้อยกเว้นที่ไม่ค่อยซื้อร้านเดิม และไม่เคยซื้อชิ้นเดิม ฮ่าๆ) และที่ขาดไม่ได้คือ ซื้อหนังสือ และซีดีเพลง

ความผูกพันระหว่างผมกับหนังสือ ไม่ได้ลึกซึ้งยาวนานอะไร จึงไม่สามารถเรียกตัวเองได้ว่า “นักอ่าน” แค่ คน“ชอบอ่าน” เท่านั้น จำความได้ว่า สมัยเด็กๆ ผมชอบนั่งรถ (บัดนี้ก็ยังชอบอยู่ และพัฒนามาเป็นชอบขับรถด้วย) และก็ชอบมองป้ายโฆษณา แม่กับพ่อเล่าให้ฟังว่าผมชอบนั่งอ่านออกเสียงถึงบรรดาข้อความที่บรรจุอยู่ตามป้ายโฆษณาที่อยู่ตามข้างทางยามเราเดินทางผ่านมัน

หนังสือในวัยเด็กของผม ก็หนีไม่พ้นการ์ตูน จำพวกดาร์ก้อนบอล โดเรมอน อ่อ ที่ผมอ่านแบบจริงจัง คือ ขายหัวเราะ มหาสนุก เบบี้ และหนูจ๋าครับ สำหรับขายหัวเราะและมหาสนุก ผมจำได้ว่า ต้องอ้อนขอเงินพ่อปีละ 400 เพื่อสมัครเป็นสมาชิกของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นเลยทีเดียว เพียงเพราะต้องการเสื้อยืดสมาชิกที่เป็นลายเส้นของบรรดานักเขียนที่ผมชื่นชอบไม่ว่าจะเป็น นิค ต่าย ต้อม หมู นินจา เดีย เฟน อาวัฒน์ ฯลฯ จำได้ว่าเป็นสมาชิกรายปีเหนียวแน่นได้ประมาณสี่ปีจึงเลิกไป

เมื่อครั้นรู้เดียงสา ผมกับหนังสือก็เป็นอันแยกทางกันไป ผมจำไม่ได้ว่าผมอ่านหนังสือเล่มไหน หรือซี่รี่ย์ไหนจริงๆจังๆ อีกเลย หลังจากวัยประถมล่วงเลยมา วันๆผมใช้ชีวิตเล่นซนกับหมู่เพื่อน และลูกหนังกลมๆ มากกว่าที่จะมาจ่อมจมอยู่กับหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือเรียนของผม ขอโทษครับ กลีบโง้งทุกเล่ม ไม่เคยเปิดเลยสักหน้า

หนังสือที่อยู่ในความทรงจำของผมก่อนจบมัธยมปลาย มีอยู่เพียงไม่กี่เล่ม เช่น ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน แดร็กคิวล่า ของ บราม สโตร้กเกอร์ และบรรดาซีรีย์ของ “อีแร้ง” ในนาม “บินแหลก” อีกประมาณสองสามเล่มเท่านั้น นอกจากนั้นไม่อยู่ในความทรงจำของผมเลยครับ

ผมรู้สึกว่าโลกของหนังสือกับผมได้เวียนมาบรรจบกันอีกครั้ง เมื่อผมเรียนชั้นปริญญาตรี จุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ผมได้มีโอกาสเรียนวิชา “สหวิทยาการมนุษยศาสตร์” โอ้ พระเจ้า ชื่อวิชาไม่สามารถทำให้ผมคาดเดารูปโฉมโนมพรรณ หรือสารัตถะของวิชาดังกล่าวได้เลย

แต่เป็นวิชาดังกล่าว ที่พาให้ผมรู้จักกับ “เจ้าชายน้อย” และ “โลกของโซฟี” โดยเฉพาะเล่มหลัง น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมหลงเสน่ห์ของตัวอักษรบนกระดาษ

หลังจากนั้นผมก็ได้ก้าวเท้าเข้าสู่ศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตมากขึ้น บ่อยขึ้น ในช่วงเวลาต่างๆของแต่ละวัน แม้จะเป็นร้านหนังสือขนาดไม่ใหญ่มาก ปริมาณหนังสือยังไม่มากนักและการจัดชั้น หมวดหมู่หนังสือจะยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าไหร่ แต่แอร์ที่เย็น และหนังสือมากหน้าหลายตา ก็ได้ตรึงความสนใจให้ผมแวะเวียนไปรู้จักเพื่อนใหม่ และกระชากเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ผมได้ไม่น้อย

แต่ที่แอบอ่านฟรี แล้วไม่ได้ซื้อก็มีนะครับ ผมจำได้ว่าเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเซนเล่มหนึ่ง ทำนองนิทานภาพ เล่มไม่หนาไม่บาง อ่านจนจบเล่มเลย น่าจะเป็นเล่มแรกและเล่มเดียวที่ผมสามารถอ่านจบในร้านหนังสือโดยไม่หยิบฉวยออกมา

“เจ้าว่าพระจันทร์กับพระอาทิตย์ อะไรสำคัญต่อมนุษย์อย่างเรากว่ากัน” อาจารย์เซนถามศิษย์น้อย

“พระอาทิตย์สิครับอาจารย์ ในเมื่อทั้งเรา สรรพสิ่งในโลกล้วนอาศัยแสงจากอาทิตย์ ในการดำรงอยู่ทั้งนั้น” ศิษย์น้อยเอื้อนเอ่ยตอบคำถาม

“เจ้าผิดแล้ว” อาจารย์กระชากอารมณ์ “พระจันทร์ต่างหากเจ้าศิษย์น้อยเอ๋ย” อาจารย์เฉลยเอ่ยคำ

“เหตุใดขอรับอาจารย์” ศิษย์วิงวอนขอคำตอบ

“ก็เพราะเราต้องการแสงสว่างในยามค่ำคืนน่ะสิ” อาจารย์ตอบ แล้วหันหลังเดินไป

ตัวอย่างเดียวที่ติดหัวผมจากวันที่ยืนอ่าน จนถึงวันนี้

หลังจากวันนั้นชีวิตของผมก็มีโอกาสได้ต้อนรับหนังสือเล่มเล็กเล่มน้อย ยันไปถึงเล่มยักษ์ อยู่เสมอๆ แล้วแต่กำลังทรัพย์จะเอื้ออำนวย

งานสัปดาห์หนังสือ จึงเป็นอีกมหกรรมหนึ่งที่ผมมักไม่พลาด (แต่ปีนี้พลาดไปแล้ว)

แต่เดิมผมเคยมองญาติผู้พี่ ด้วยสายตาแห่งความสงสัยและไม่เข้าใจ ยามที่เห็นเขาเฝ้าคอยวิ่งตามหาแสตมป์ และเหรียญกษาปณ์ ลายแปลกๆ และหายาก มาสะสมอยู่เสมอๆ เก็บไปก็นั่งยิ้มนอนยิ้ม ลูบๆคลำๆ ไป รวมทั้งร้องไห้สะอึกสะอื้นจะเป็นจะตาย ยามสมุดสะสมของรักหายไปอย่างลึกลับ

ณ วันนี้ผมเข้าใจอาการเหล่านั้นแล้วครับ เมื่อยามที่ผมนั่งมองหนังสือที่อยู่ในตู้ ในชั้น บนโต๊ะทำงาน โต๊ะคอมพิวเตอร์ มุมห้อง ใต้โต๊ะรับแขก ในห้องน้ำ (ผมพกขายหัวเราะ มหาสนุกเล่มเก่าๆในอดีตไว้ในห้องน้ำครับ อ่านเป็นยาระบายอ่อนๆ) ความรู้สึกของผมคงไม่ต่างจากญาติผู้พี่คนนั้น

ดังนั้น ยามที่ผมเดินทางไปเยี่ยมเยือนห้างใหญ่ จึงไม่มีสักครั้งที่ผมจะไม่แวะเวียนไปผลุบโผล่ตามร้านหนังสือต่างๆที่มีอยู่ราว สี่ถึงห้าร้าน แม้ร้านนายอินทร์ จะเป็นร้านที่ผมคิดว่ามีหนังสือเยอะ และน่าสนใจที่สุด (ในบรรดาสี่ห้าร้านนั้น) แต่ร้านที่ผมแวะไปเยี่ยมบ่อยที่สุดกลับเป็นร้าน “Book Club” ซึ่งเป็นร้านหนังสือขนาดกระทัดรัด ปริมาณหนังสือไม่มากนัก แต่ที่นี่เป็นที่แรกและที่เดียวที่เชื้อเชิญให้ผมเป็นสมาชิก พร้อมมอบบัตรสมาชิกรายปีให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แม้บัตรจะหมดอายุไปแล้ว พี่เจ้าของร้านก็ต่ออายุให้อีกหนึ่งปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดิม

ครั้งละเล่ม สองเล่ม จึงมีให้เห็นประจำยามผมแวะไปเยี่ยมร้านนี้

วันนี้ก็เช่นกันครับ ผมแวะไปทำธุระเล็กน้อยที่ห้างใหญ่ และก็ไม่ลืมชวนตัวเองไปเยี่ยมเยือนร้านหนังสือเล็กๆ ร้านนี้เช่นเคย แวบแรกที่เห็น รู้สึกได้ถึงความไม่ปกติ เพราะมีกองหนังสือระเกะ ไร้ระเบียบมากมาย ในใจก็คิดแต่เพียงว่า พี่ๆน่าจะกำลังจัดหนังสือ หรือเช็คสต๊อกหนังสือ แต่เมื่อเดินเลือกหนังสือได้ไม่นาน ก็ได้ยินเสียงพี่เจ้าของร้านเชื้อเชิญแขกผู้มาเยี่ยมเยียนรีบหยิบฉวยหนังสือจากร้านในราคาพิเศษสุด พร้อมกับการกล่าวว่านี่คือ “โอกาสสุดท้าย” แล้วที่ท่านจะหาซื้อหนังสือจากร้านหนังสือเล็กๆแห่งนี้

ได้โอกาสก็เลยเดินเข้าไปสอบถามพูดคุยกับพี่เจ้าของร้าน ได้ความว่า สู้ค่าเช่าของห้างใหญ่ไม่ไหว รายรับแต่ละเดือนน้อยลงอย่างมาก ฟางเส้นสุดท้ายก็คืองานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา เพราะคนแห่ไปซื้อ หรือรอเพื่อที่จะซื้อหนังสือจากงานสัปดาห์หนังสือ โดยปล่อยให้ร้านเล็กๆนี้แห้งเหี่ยวอยู่ในห้างใหญ่เพียงลำพัง

ยอมรับว่าเสียดายนะครับ (เสียดายเพราะบัตรเพิ่งต่ออายุไปไม่กี่เดือน ฮ่าๆ – แม้ร้านหนังสือดังกล่าวจะเหลือสาขาอีกสาขาหนึ่ง และเป็นสาขาเดียว แต่โน่นครับ เซ็นทรัลลาดพร้าว คนละทิศคนละทางกับที่พักผมเลยครับ) แม้จะไม่ได้ผูกพันกันอย่างนับญาติ แต่การยุบตัว ปิดตัวไปของร้านหนังสือ มันแสดงให้เห็นถึงอะไรบางอย่าง ผมไม่ใช่คนทำหนังสือเป็นอาชีพจึงไม่อาจรับรู้ถึงเหตุผล อารมณ์และความรู้สึกของคนทำหนังสือและคนขายหนังสือ รวมทั้งความจำเป็นของการต่อสู้ เพื่อดำรงตนให้อยู่รอดได้ในบรรณพิภพ แต่เมื่อมองจากคนนอกแล้วก็รู้สึกเหี่ยวใจชอบกล

ความใฝ่ฝันของผมอย่างหนึ่ง ก็คือการเปิดร้านหนังสือเล็กๆของตัวเอง (ตอนแรกไม่เจียมตัวอยากเปิดโรงพิมพ์เลยครับ ฮ่าๆ แต่ท่าทางจะไปไม่รอด) ไม่ได้ทำเพื่อเน้นผลทางธุรกิจ โดยอาจจะเลือกหนังสือเฉพาะแนวที่ผมเองสนใจ หนังสือที่ดี (เนื้อหาดีไม่ดีนี้วัดยากเอาเป็นว่าแนวที่ผมชอบ ฮ่าๆ แต่ผมชอบรูปเล่มที่ดี ทน สวย เก็บไว้ได้นานๆ) โดยอาจจะเอาหนังสือที่ตัวเองสะสมมาตลอดชีวิต (จนถึงเวลานั้น) มาไว้อีกมุม ให้อ่านกันฟรี แต่คงไม่ถึงกับทำระบบยืมหนังสือหรอกครับ ไม่อยากปวดหัว

อาจจะมีคอฟฟี่ชอปเล็กๆ สักมุม ไว้ให้คอกาแฟ (ผมเชื่อเล็กๆว่า คอหนังสือมักเป็นคอกาแฟด้วย ไม่มากก็น้อยล่ะ) หรืออาจจะมีมุมดูหนังฟังเพลง อีกสักมุม ก็คงเหมือนกัน คือแนวที่ผมชอบ ฮ่าๆ เรียกได้ว่าจัดร้านตามใจเจ้าของร้านเป็นหลัก ไม่ง้อลูกค้า ผมเพียงต้องการเมื่อยามแก่ตัวแล้ว เราได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบ ได้คุยกับคนคอเดียวกัน เงียบๆ เล็กๆ ง่ายๆ ไม่ต้องทำกำไร แค่ดูแลตัวเองได้ก็พอ และผมสามารถเฝ้าร้านได้ทั้งวัน (เช่นเดียวกับลูกค้าผมก็คงนั่งอ่านได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องกลัวอาโกถือไม้ปัดแมงวันมาไล่) โดยไม่อนาทรร้อนใจเร่งรีบ เหมือนเปิดตึกทำการค้าอาหารตามสั่ง และไม่ต้องใช้ลูกจ้างมากมาย

กลับมาสู่โลกแห่งความจริงกันก่อนครับ

ตอนนี้ผมมีปัญหาหนักๆเกี่ยวกับการอ่านหนังสือหลายประการ

1. ผมอ่านหนังสือไม่ค่อยจะจบ ไม่ว่าจะเล่มเล็ก บาง ขนาดไหนก็ตาม
2. ผมอ่านหนังสือไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ทำนองขาดสมาธิอย่างสิ้นเชิง แม้จะพ้นจากข้อแรกมาแล้ว ก็มาเผชิญข้อสองนี่แหล่ะ
3. ผมไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ นอกจากไม่มีเวลาจริงๆแล้ว ผมว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ผมทำตัวให้ตัวเองไม่มีเวลามากกว่า เป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ แต่ผมก็ใช้มันตลอดมา
4. พักหลังผมอ่านหนังสือแบบจำเป็นต้องอ่าน มากกว่าเพราะอยากอ่าน
5. ผมซื้อหนังสือมากกว่าผมอ่านหนังสือ จนทุกวันนี้มีหนังสือที่นอนนิ่งอยู่ในห้องผมโดยที่ผมยังไม่เคยเปิดอ่านมันเลย อยู่เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของปริมาณหนังสือทั้งหมดที่ผมมีอยู่ แต่ผมก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า ผมอาจจะได้อ่านมันยามที่ผมมีเวลาว่างในชีวิตจริงๆ นั่นก็คือ 1) ตอนบวช กับ 2) หลังเกษียณ ข้อนี้น่าจะเป็นเหมือนคนอื่นๆที่ชอบหนังสือก็คือ ซื้อไว้ก่อน จะหาเวลาอ่านเมื่อไหร่อีกเรื่อง ทำนองมีแล้วอุ่นใจ เพราะกฎทองของการซื้อหนังสือข้อหนึ่ง ก็คือเมื่อผ่านมันไปแล้ว เวลาจะกลับมาหาอีก ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร

ว่าแต่ว่า เมื่อได้เวลาหง่อมกันแล้ว จะมีใครไม่กลัวลำบากตอนแก่หลวมตัวเป็นหุ้นส่วนกับผมบ้างล่ะเนี่ย

4 Comments:

Anonymous Anonymous said...

ทำไม บล๊อกนี้ มันผลุบ ๆ โผล่ ๆ ละครับ ท่านน้อง ....

12:30 AM

 
Blogger crazycloud said...

อยากเปิดร้านหนังสือ ที่ดูดกัญชาได้ ฮา ฮา
ว้าย พี่พล อยู่ข้างบน เดี๋ยวตำรวจจับ

12:39 AM

 
Anonymous Anonymous said...

ฝันจะมีมุมกาแฟ

และมุมร้านหนังสือ

เหมือนกับเจ้าของบล็อคเช่นกัน


เคยใกล้จะได้มีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง

และครอบครัว


พอลองศึกษา ดูจริงๆ

รู้เลยว่า

....

การบริหารร้านหนังสือ ให้ดี ให้มีคุณภาพ

ไม่ได้ง่ายเลย


ตอนนี้เลยอยาก ให้หนังสือเป็นเพื่อนสนิทของตัวเอง

ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆทองๆ


โปรเจคใหม่ตอนนี้คือ

สะสมหนังสือ

ทำห้องสมุดส่วนตัว...แถมมุมกาแฟ

และเปิดรับเพื่อนๆ ทุกคน ให้มาอ่านได้ตามสบาย...

9:36 PM

 
Blogger Thanyarat Doksone said...

จำได้ว่าเมื่อก่อน พวกขายหัวเราะ มหาสนุก เบบี้ หนูจ๋า ยังเป็นเล่มใหญ่ๆเท่าสมุดเลคเชอร์อยู่เลยค่ะ ...

เมื่อสองสามปีก่อน เดินข้ามสะพานลอยแล้วเห็นมีคนเอามาวางขาย ตื่นเตนดีใจแทบแย่ รีบซื้อกลับมา ... แต่ตอนนี้ดันทำหายไปอีกรอบแล้ว -_-"


ถ้าหากว่าอีกหลายปีข้างหน้ายังไม่ลืมความฝันเรื่องการทำร้านหนังสือ แล้วเกิดฟิตหาเรื่องใส่ตัวและใจขึ้นมา ก็อย่าลืมบอกเล่าผ่านทางบล็อกบ้างนะคะ


อยากลองแวะเข้าไปดูน่ะค่ะ :)

7:44 AM

 

Post a Comment

<< Home