Friday, April 07, 2006

แมวสีอะไรให้จับหนูได้เป็นพอ



วาทะอมตะของ “เติ้ง” ข้างต้น ถูกใช้ อ้างอิง ทำซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน ในหลายกาละและเทศะ ต้องสารภาพตามตรงอย่างไม่อาย (ไม่รู้ว่าทำไมต้องอาย) ว่าผมมาได้ยินประโยคข้างต้นจริงๆเมื่ออ่านหนังสือ “วาทะเติ้ง” เมื่อสักประมาณหกเจ็ดปีที่ผ่านมานี้เอง อ่านแล้วก็อ่านเลย ผ่านตาไปแล้วก็มลายหายไปกับสายลมและกาลเวลา

มาสะดุดตา และหัวอีกครั้งเมื่อได้อ่านหนังสือของคุณประภาส ชลศรานนท์ ผมจำชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว และผมไม่ได้เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ด้วย เพราะขโมยเพื่อนมาอ่าน อ่านเสร็จก็คืน ไม่ได้ติดตามไปซื้อหาไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองแต่อย่างใด

แม้จะคืนเพื่อนไปนานหลายปีแล้ว และแม้รูปร่างหน้าตาของหนังสือดังกล่าวจะเริ่มจางหายไปจากความทรงจำของผมไปมากแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวเกี่ยวกับ “วาทะเติ้ง” ดังกล่าว ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนั้นกลับไม่ได้จางหายตามไปด้วย มันกลับเด่นชัด และตอกย้ำถึงความคิดเกี่ยวกับการ “ให้ความหมาย” หรือจะเรียกตามภาษานักกฎหมายว่าการ “ตีความ” วาทะดังกล่าวอยู่เสมอมา และมาช่วงหลังๆผมได้ยินการกล่าวอ้างถึงวาทะดังกล่าว พร้อมกับการสำทับความหมาย บ่อยครั้งขึ้น รวมถึงวันนี้ (๗ เม.ย. ๔๙) ด้วย

การตอกย้ำถึงความหมายของวาทะดังกล่าวอีกครั้งในวันนี้ทำให้ผมตัดสินใจเขียนบล็อกตอนนี้ขึ้น เพื่อหวังว่าจะเป็นการเก็บบันทึกความทรงจำส่วนตัว ประกอบกับได้ทำการแลกเปลี่ยนความเห็นกับชุมชนบล็อกเกอร์แห่งนี้ และผู้มาเยี่ยมเยือนไม่ว่าจะเปิดเผยนามหรือไม่ก็ตาม (อันเป็นธรรมชาติและธรรมดาของสังคมอินเตอร์เน็ต) เกี่ยวกับความหมายของวาทะเติ้งดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าเมื่อครั้งที่พูด เติ้ง เสี่ยว ผิง จะตั้งใจให้ความหมายไว้อย่างไรก็ตาม

ครั้งแรกที่ผมสัมผัสถึงการแปลความ หรือตีความ หรือการให้ความหมายของวาทะดังกล่าวนั้น ก็เมื่อตอนที่ผมได้อ่านหนังสือของคุณประภาส ข้างต้นนั่นแหล่ะครับ ผมจำได้ว่าในหนังสือเล่มนั้นได้รวบรวมเอาบทสนทนาผ่านจดหมายระหว่างคุณประภาส กับแฟนคลับของเขาไว้ ซึ่งในจดหมายฉบับหนึ่งได้เขียนมาถามทัศนคติของคุณประภาสเกี่ยวกับความหมายของวาทะดังกล่าว

จำได้เลาๆอีกเช่นกันว่าคุณประภาสตอบเจ้าของจดหมายกลับไปประมาณนี้

“ประโยคที่ว่าแมวสีอะไรขอให้จับหนูได้เป็นพอ นั้นหมายถึง การกระทำใดๆที่มุ่งต่อเป้าหมายเป็นสำคัญ โดยไม่จำกัดหรือไม่สนใจวิธีการ” โดยถ้าความจำผมดีพอ ผมจำได้ว่าคุณประภาสได้ยกตัวอย่างเทียบเคียงให้ความหมายวาทะดังกล่าวว่า

“เหมือนคุณอยากเก็บมะม่วง คุณสามารถหาวิธีในการเก็บมะม่วงได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การปีนไปเก็บ การใช้ตระกร้อสอย เอาหินเขวี้ยง หรือแม้แต่เอาระเบิดนิวเคลียร์ยิง ทุกวิธีสามารถทำให้มะม่วงร่วงหล่นจากต้นได้ทั้งหมด” แต่ผมจำไม่ได้ว่าคุณประภาสมีความเห็นในความหมายที่ตัวตีความ รวมทั้งการยกตัวอย่างดังกล่าวต่อไปเป็นประการใดอีก เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใด

ผมจำได้ว่าหลังจากปิดหนังสือเล่มนั้นลง ความคิดผมมันระส่ำ วิ่งไปทางซ้ายที วิ่งกลับมาทางขวาที อาการแบบนี้ผมนิยามว่า “สับสน” ซึ่งผมมักมีอาการแบบนี้ทุกครั้งเมื่อได้เจอ ได้ยิน และได้เห็นอะไรที่มันยังไม่สามารถยัดเข้าหัวได้อย่างสนิทเข้ารูปเข้ารอย ทำนองต้องเขย่าหลังบริโภคเสียก่อน

นอกจากหนังสือดังกล่าว วันนี้ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการในวาระครบรอบ ๘ ปีของศาลรัฐธรรมนูญ เนื้อหาทางวิชาการไม่มีอะไรติดหัวผมออกมาเลยครับ สิ่งเดียวที่ติดออกมาก็คือการกล่าวอ้างถึงและการให้ความหมายของวาทะอมตะดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งในระหว่างการอภิปราย

นอกจากจะเห็นเป็นทำนองเดียวกับความหมายสากลโลกข้างต้นแล้ว ท่านยังก้าวไปไกลกว่านั้นครับ โดยท่านกล่าวว่าในทำนองว่า สีของแมวก็มีนัยต่อวาทะดังกล่าว การใช้แมวสีขาวยังหมายถึง “วิธีการที่ขาวสะอาด” การใช้แมวสีดำหมายถึง “วิธีการที่สกปรก” ด้วยครับ แล้วท่านก็แปลต่อไปว่า ภายใต้หลัก “นิติรัฐ” แล้ว ถ้าจะใช้แมวจับหนูต้องเลือกสีขาวเท่านั้น

เข้าทำนองเดียวกันกับหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า “The end does not justify the mean” หรือ สิ่งที่ได้มานั้นมิได้พิสูจน์ถึงความถูกต้องของวิธีการที่ได้มาด้วย

เช่น การค้นบ้านผู้ต้องสงสัยแล้วเจอยาเสพติด ไม่ได้หมายความว่า การค้นบ้านนั้นถูกต้องตามกฎหมาย (เช่นตำรวจอาจค้นบ้านผู้ต้องสงสัยนั้นโดยไม่มีหมายค้น และไม่มีเหตุแห่งการค้นโดยไม่มีหมายค้นตามที่กฎหมายอนุญาตด้วย)

หลังจากใช้เวลาคิดนานพอสมควร (ตามแรงม้าของสมองที่ค่อนข้างต่ำ) ผมสรุปกับตัวเองว่า ผมไม่เห็นด้วย (ทั้งหมด) กับการให้ความหมายทั้งสองดังกล่าวข้างต้น

ในห้วงคำนึงของผม ผมว่า (ถ้าตรรกะของผมไม่เพี้ยน) มันน่าจะหมายถึง

“ไม่สำคัญว่าท่านจะเป็นใคร (ผิวสีอะไร ลูกเต้าเหล่าใคร ฐานะอย่างไร) ขอเพียงท่านปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นคนให้ถูกต้องได้ก็พอ" แมวจะสีอะไรไม่สำคัญขอให้จับหนูได้ คนจะเป็นใครไม่สำคัญขอให้ทำหน้าที่ของตนได้ แค่นี้ก็น่าจะพอ วาทะอมตะดังกล่าว จึงไม่ได้หมายถึง "วิธีการ" แต่หมายถึง "ตัวผู้กระทำ" มากกว่า

ที่ออกมาข้างต้นนั้น ผมคิดจากพื้นฐานของการเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกัน คือท่านเปรียบเทียบระหว่าง “ความเป็นแมว” กับ “การจับหนู” เมื่อการ “จับหนู” คือ “หน้าที่ของแมว” ผมจึงไม่เห็นว่ามันจะเป็นเรื่องของเป้าหมายกับวิธีการแต่อย่างใด

ถ้าจะให้หมายถึงเป้าหมายและวิธีการ ควรจะเป็นอย่างนี้ เช่น “จะเป็นหมาหรือแมวก็ไม่สำคัญขอให้จับหนูได้เป็นพอ

เพียงเพื่อการจับหนู อาจใช้ “หมา” หรือ “แมว” ก็ย่อมได้ ไม่ได้แตกต่างกัน หรือแม้แต่ใช้คนก็ได้นะครับ เพราะมุ่งเน้นให้ได้หนู ไม่สนวิธีการ ทำนองเดียวกับการสอยมะม่วงตามตัวอย่างของคุณประภาสข้างต้นด้วย

ดังนั้นสำหรับผมในภารกิจของการจับหนู ต่อให้เป็นแมวแต่ไม่สามารถจับหนูได้ มันก็สู้หมา (ที่จับหนูได้) ไม่ได้ครับ ทั้งนี้ไม่ว่าแมวตัวนั้นมันจะชาติตระกูลสูงส่ง ขนสลวยสวยงามเพียงใดก็ตาม

เมื่อมันจับหนูไม่ได้มันก็เป็น “แมวที่ดี” ไม่ได้ครับ

ลองแลกเปลี่ยนกันดูครับ เผื่อจะเป็นการชี้วัดว่าผม “เพี้ยน” ไปเพราะเสพข่าวการเมืองช่วงนี้มากเกินไปหรือเปล่า ฮาๆๆ

10 Comments:

Anonymous Anonymous said...

ผมว่าอมตวาจาดังกล่าวยังคงเป็นอมตวาจาได้ ก็เพราะการตีความในแง่มุมต่าง ๆ นี่แหละครับ สิ่งใดที่เป็นปริศนาสิ่งนั้นย่อมควรค่าแก่การค้นหา เช่นเดียวกับภาพโมนาลิซ่าที่คงปริศนาอยู่ทำให้มันเป็นภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก

การตีความอมตวาจาดังกล่าวผมเห็นว่ามันขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้แปลที่จะแปลความไปในทางใด เลวหรือดี ใช้ได้หรือไร้ผล หรือบางท่านก็อาจจะแปลความโดยอิงจากทัศนคติของผู้กล่าวอมตวาจานี้ไปเลยก็ไม่เห็นว่าจะผิดกฎแต่อย่างใด

3:20 AM

 
Blogger ratioscripta said...

เห็นด้วยครับ

ผมจึงบอกว่า "ทั้งนี้ไม่ว่าเมื่อครั้งที่พูด เติ้ง เสี่ยว ผิง จะตั้งใจให้ความหมายไว้อย่างไรก็ตาม"

เพราะอย่างที่คุณว่าไว้น่ะครับ

มันเป็นอมตะไม่มีวันตาย เพราะการตีความของชนรุ่นหลัง ยิ่งแปลความให้ใช้ได้ ยิ่งงอกงาม

ผมแค่ลองในอีกมุมหนึ่ง

ขอบคุณครับ

3:35 AM

 
Blogger suthita said...

แมวที่ดีอาจยังไม่ต้องจับ..แต่หนูเห็นมันก็

"เผ่น" ไปเอง

ไม่ต้องทำหน้าที่ ยังไม่ได้ลงมือ...แต่สำเร็จแล้วด้วยเงาของตัวเอง


แบบนี้ก็มีนะคะ :)

5:42 AM

 
Blogger Unknown said...

นึกว่า ไม่ยอมอัพเดท ซะแล้ว ....นานมาก จะได้อ่านบทความของท่านอีกครั้ง

ปล. สบายดีเด้อ ....

1:22 PM

 
Anonymous Anonymous said...

เห็นด้วยว่ามันน่าจะเป็นวาทะที่ตีความได้หลายแง่มุมอย่างที่คุณไร้นามข้างบนบอกนะคะ

ทีนี้มันก็สนุกดี ว่าจะตีความยังไงได้บ้าง

แน่นอนว่า หนู น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ตีความให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก อย่างน้องต้องให้ความสำคัญกับ หน้าที่ ก็เลยตีความออกมาเป็นหน้าที่

แต่หนู ก็เป็นได้อีกหลายอย่างเหมือนกันนะ

อาจจะเป็น ความดี ก็ได้
(ไม่สำคัญว่าท่านจะเป็นใคร ขอให้ท่านเป็นคนดีก็พอ)
หรือ
เป็น ความจริง ก็ได้
(ไม่สำคัญว่าท่านจะใช้วิธีการอย่างไร ขอให้ท่านไปถึงความจริงได้ก็พอ)
หรือ ความเข้าใจ
(ไม่สำคัญว่าท่านจะยึดมั่นอยู่กับอะไร ขอให้ท่านมีความเข้าใจคนอื่นได้ก็เพียงพอ)

หรือ ถ้าไร้สาระ ก็อาจจะหมายถึง
ความสวย
(ไม่สำคัญว่าแฟนผมจะเป็นใคร ขอให้สวยก็พอ)
ความอร่อย
(ไม่สำคัญว่าจะเป็นอาหารร้านไหน ขอให้อร่อยเป็นพอ)

ตีความไปได้เรื่อยๆ สนุกดีค่า

12:50 AM

 
Blogger crazycloud said...

วาทะเติ้งเอิงเอย
การจับหนูเกิดก่อนแมว
หรือแมวเกิดก่อนการจับหนู
ทางการเมือง การจับหนู คือ ความสำเร็จประโยชน์
แมวต่างสีคือวิธีการ
หากติดตัววิธีการจนขาดความสำเร็จประโยชน์
แมวอาจกลายเป็นหนู
ที่ต้องถูกจับ

เท่าที่ผมเห็นนักกฎหมายสมัยนี้ส่วนนึง จะเป็นหนูนะ
เพราะหา การจับหนูได้น้อยมาก

มีแต่คนคุยเรื่องจับหนู แต่มีคนจับหนูน้อยจัง

คนนอกวงการอย่างผมแวะมาชม เผื่อจะเห็นหนูสักตัว

เบิกบาน เบิกบาน

8:06 AM

 
Blogger ratioscripta said...

การจับหนูคงแม้เป็นหน้าที่หลักของแมว (ตามที่เราสมมติเข้าใจ) แต่ก็คงไม่ใช่เมื่อมีแมวแล้วหนูจะหมดไปจากบ้านมั๊งครับ

หากเจ้าของบ้านขยันกิน ขยันบริโภค ขยันทิ้ง สกปรก เลอะเทอะ ไร้ระเบียบ ไร้วินัย ในกมลสันดาน

ต่อให้มีแมวกี่ร้อยตัว เชื่อว่าหนูก็จะมีมากกว่าหลายร้อยเท่า

แม้เหตุผลดังกล่าวจะไม่ใช่ข้อแก้ตัวสำหรับแมวเลว (ไม่ได้หมายถึงแมว "ธรรมดา" ดาดๆ แต่หมายถึง คุณภาพ "ชั้นเลว")

แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลของการกล่าวหาว่าระบบการจับหนูโดยแมวล้มเหลวสิ้นเชิงเช่นกัน

ถ้าคิดจะใช้แต่แมวจับหนู ก็ต้องรับสภาพข้อจำกัด หรือ"ธรรมชาติ" ของ "แมว" ให้ได้ด้วยครับ

หรือใครทนไม่ไหวจะเอาปืนไปไล่ยิงหนู แม้แต่ตั้งเวทีชุมนุมเรียกร้องให้หนู "เว้นวรรค" อุ้ย "ออกไป" ก็ตามใจครับ

ส่วนใครจะพูดเรื่องการจับหนูมากน้อยแค่ไหน ตามสบายครับ

ผมชอบฟัง

ฮาๆๆ

9:17 AM

 
Anonymous Anonymous said...

อ่า....... ผมเห็นด้วยกับคุณ ratioscripta ตามสมควร โดยไม่ทราบว่า "ท่านเติ้ง" จะหมายความเช่นนั้นหรือไม่

5:23 AM

 
Blogger Unknown said...

จริงๆอยากที่จะให้ comment ของล่าสุดค่ะ.. แต่เนื่องจากว่าเข้าไปไม่ได้เลย.. ต้องมา comment ในนี้แทน.. ขออนุญาตเข้ามาอ่านนะคะ.. พอดีlink เข้ามาค่ะ.. ก็เลยแวะเข้ามาอ่าน.. ไม่ได้อ่านงานเขียนอย่างนี้ในบล็อกมานาน..ทำให้รู้สึกว่าตัวเราเขียนไม่ได้ความเลยสักนิด..ร้านหนังสือที่มีมุมกาแฟ..อยากให้มีสักร้านค่ะ..คงจะได้แวะอ่านบ่อยๆเป็นแน่...

Lionard

11:37 AM

 
Blogger ratioscripta said...

สวัสดีครับ คุณ lionard

ต้องขออภัยครับ พอดีด้วยความซนแบบไม่เจียมตัวของผม ผมได้เข้าไปแก้ไข หรือตั้งค่าอะไรใหม่ๆ ในส่วนของการโพสต์ อย่างไรไม่ทราบครับ ทำให้บล็อกผมมีอาการไม่ปกติ

นั่นเป็นผลมาจาก "ความซน"

พอผลอันไม่ปกติเกิดขึ้น ครั้นผมจะทำการแก้ไขให้เป็นปกติ ก็ทำไม่ได้เพราะความสามารถไม่ถึง ทำนองโพสต์เป็นอย่างเดียว

ซึ่งนั่นก็เป็นผลมาจากความ "ไม่เจียม"

ผมทิ้งไว้เผื่อมันจะคลี่คลายด้วยตัวมันเอง (เข้าข้างตัวเองแบบขี้เกียจ) แต่ปรากฏว่าผ่านไปวันแล้ววันเล่า ก็ยังคงมีอาการเช่นเดิม

ผมเลยมีความคิดว่าจะไปเปิดบ้านหลังใหม่ (แต่อาจจะอยู่ในชายคาเดิมคือ blogspot นี่แหล่ะครับ เกรงว่าไปที่อื่นจะหนักกว่านี้)กำลังเล็งทำเล แล้วก็เรื่องชื่ออยู่น่ะครับ แล้วยังไงคงจะหัดทำลิงก์ เสียทีเพื่อเชื่อมระหว่างบ้านหลังเก่าแห่งนี้ และหลังใหม่ที่จะก่อร่างสร้างในวันหน้า

ถือเป็นการฉลองครบรอบหนึ่งปีแห่งการเขียนบล็อกเสียเลย

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียนครับ อยากบอกว่าผมเข้าไปอ่านบล็อกคุณแล้วเหมือนกัน น่าสนใจมากครับ ตอนทำปริญญาโท ผมเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะครับ

น่าจะเจอกันก่อนสองปี เผื่อได้เบียดเบียนทางความรู้

ขอบคุณและยินดีที่ได้รู้จักครับ

4:16 AM

 

Post a Comment

<< Home