Saturday, January 14, 2006

นิติศาสตร์ในฝัน (ของผม) ตอนที่ 2


นอกจากปัญหาการลักลั่น เกยทับ ผิดหลงในบทบาทของ “วิชาชีพ” และ “วิชาการ” ข้างต้นแล้ว

คำถามอีกคำถามหนึ่งที่มักจะถูกตั้งโดยนักศึกษากฎหมายว่า ทำไมคณะนิติศาสตร์จึงไม่เปิดให้นักเรียนกฎหมาย ได้ศึกษากฎหมายอย่างเป็นการ “เฉพาะทาง” เหมือนกับสาขาอื่นๆ ทำไมถึงบังคับให้เขาต้องเรียนวิชาที่เขาไม่อยากเรียน ไม่สนใจ ไม่คิดจะใช้ในการประกอบวิชาชีพในอนาคต

เขาอยากเป็นนักกฎหมายธุรกิจ ทำไมจึงต้องมานั่งเรียนกฎหมายปกครอง หรือกฎหมายอาญา

เขาอยากเป็นนักกฎหมายปกครอง ทำไมถึงต้องบังคับให้เขาเรียนกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือแม้แต่กฎหมายระหว่างประเทศ

เขาอยากเป็นนักกฎหมายอาญาทำไมถึงต้องบังคับให้เขาเรียนกฎหมายระหว่างประเทศ

เขาอยากเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศทำไมถึงต้องบังคับให้เขาเรียนกฎหมายอาญา


ทำไมคณะถึงไม่ใส่ใจที่จะสร้างผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางขึ้นมาให้เขาเชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ

ทำไมคณะถึงไม่จัดวิชาเอก ให้บรรดานักศึกษากฎหมายได้เลือกเรียนในสิ่งที่เขาคิดว่าเขาสนใจ คะแนนจะได้ออกมาดี มีฉันทะในการศึกษา

ผมมองว่า การที่เรากำลังศึกษา แปลความ หรือทำความเข้าใจกฎหมาย แม้กระทั่งมาตราเดียว นั่นหมายถึงเรากำลังเรียนรู้กฎหมาย “ทั้งระบบ”

การที่เรากำลังใช้กฎหมายแม้มาตราเดียว นั่นย่อมหมายถึงเรากำลังใช้กฎหมาย “ทั้งระบบ” (ทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน “ระบบกฎหมาย” ในที่นี้ของผม หมายความเพียงถึงระบบกฎหมายอันเป็นสาขาที่สามารถจะแยกได้เป็นสายหลักในการเรียนการสอนนะครับ หาใช่ ระบบกฎหมายสำคัญของโลก ที่แบ่งเป็น คอมมอนลอว์ ซีวิลลอว์ กฎหมายศาสนา ฯลฯไม่)เช่นกัน

“นิติวิธี” ของกฎหมายแต่ละระบบย่อมแตกต่างกันออกไป นิติวิธีแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศนั้นไม่มี สิ่งที่เรียกว่า “ลำดับศักดิ์ (hierarchy)” ของกฎหมาย นั่นทำให้ กฎหมายจารีตประเพณีมีค่ามีความสำคัญในลำดับเดียวกับบรรดาสนธิสัญญาที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่ในขณะเดียวกัน ในกฎหมายภายในกลับมาแนวคิดในเรื่อง hierarchy ของศักดิ์กฎหมายอย่างชัดเจน โดยปรากฏรับรองไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 4 ที่กำหนดให้ใช้กฎหมายในรูปแบบ คือ กฎหมายที่ได้รับการตราเป็นลายลักษณ์อักษร หากไม่มีบทกฎหมายใดปรับกับกรณีนั้นได้ ก็ให้ใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นนั้น (ซึ่งแน่นอนการใช้จารีตประเพณีในกรณีนี้ก็ไม่ง่ายเพราะต้องมีการพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของจารีตฯนั้น และต้องพิสูจน์ถึงการยอมรับค่าจารีตฯนั้นดั่งเช่นกฎหมายด้วย) หากไม่มีจารีตฯเช่นว่า ก็ให้ใช้การเทียบเคียงกฎหมายที่ใกล้เคียงกับกรณีนั้น และหากหาอะไรมาปรับไม่ได้แล้ว จะยกฟ้อง ปล่อยให้บังคับกันตามยถากรรมย่อมไม่ใช่วิสัย เหตุเพราะกฎหมายนั้นคือเหตุผล เมื่อเป็นเหตุผล ย่อมไร้ช่องโหว่ กฎหมายจึงกำหนดให้ใช้ “หลักกฎหมายทั่วไป” ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับ ความแม่นใน “นิติวิธี” ของนักกฎหมาย ที่จะ “สกัด” หลักกฎหมายทั่วไป ที่สอดคล้องต้องกับเหตุผล ถูกต้องตามนิติวิธี มาปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

สำหรับกฎหมายอาญานั้น แม้จะไม่มีกำหนดชัดเจนดั่งมาตรา 4 แต่เป็นที่เข้าใจว่า บรรดากฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญานั้น ต้องเป็นกฎหมายระดับ “พระราชบัญญัติ” เท่านั้น เนื่องจาก การกำหนดให้การกระทำผิดใดเป็นความผิดอาญา ย่อมหมายความว่า รัฐสามารถบังคับใช้โทษทางอาญาที่รุนแรงกับบุคคลผู้กระทำการนั้นด้วย ดังนั้น ควรต้อง “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” ให้ฉันทานุมัติเสียก่อน

ธรรมนูญแห่งกฎหมายอาญาก็ถือเป็นนิติวิธีในการใช้กฎหมายอาญาอย่างหนึ่ง เช่น มาตรา 2 และ 3

กฎหมายมหาชนเองก็มีนิติวิธีแตกต่างกันออกไป หลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชน หลายหลักการที่ถือเป็น dogma ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ฯลฯ

แม้แต่ละระบบกฎหมาย จะมีนิติวิธี หรือหลักการพื้นฐานแห่งกฎหมายที่แยกต่างหากจากกันได้ แต่…

ส่วนที่ร่วมกันกลับมีมากกว่า แล้วแม้จะแยกได้ มันก็เป็นการแยกทางทฤษฎีเพื่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลมีนัยสำคัญในทางกฎหมาย หาได้จำกัดตัวอยู่ในบริบทของกฎหมายระบบใดระบบหนึ่งเท่านั้น

เหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง พฤติการณ์ใดพฤติการณ์หนึ่ง อาจกินพื้นที่มีผลทั้งในมิติแห่งกฎหมายแพ่ง อาญา มหาชน ธุรกิจ หรือแม้แต่ ระหว่างประเทศ

การแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายเพียงมิติใดมิติเดียว อาจจะได้ผลเพียงชั่วแล่น หรือเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่า การแก้ปัญหาเฉพาะจุดโดยใช้ความรู้เฉพาะทางนั้นๆ จะส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อระบบกฎหมายอื่นที่อิงอาศัยกันเพียงไร หรือหนักกว่านั้น มันอาจจะทำลายระบบกฎหมายหลักที่เราแสดงตนสังกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคอมมอนลอว์ ซีวิลลอว์ หรือลูกผสม Hybrid ทั้งระบบเสียเลยก็ได้

ในความคิดของผม ผมจึงค่อนข้างจะมีความสุข หากเราจะสร้างพื้นฐานให้นักเรียนกฎหมายมีความรู้รอบในหลักการพื้นฐาน มีความรู้รอบใน “นิติวิธี” และมองเห็นถึง “ธรรมชาติ” ของกฎหมายแต่ละระบบ มองเห็นถึงความเหมือนความแตกต่าง มองเห็นถึงความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน

ดั่งคำของ ผศ.สมยศ เชื้อไทย ที่ชอบพูดให้เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆในวิชา นิติปรัชญาว่า “as whole” หรือแม้แต่ที่รุ่นพี่ที่เคารพของผม (เมฆาคลั่งท่านนี้นี่เองงงงงงงง) ชอบกล่าวเตือนสติน้องๆเสมอว่า “เข้าป่าให้เห็นไพร อย่าเห็นแค่พฤกษ์” หมายความว่า จะเข้าป่าเดินป่าไม่ให้หลง ให้เห็นทั้งป่า อย่าเพียงจดจำแต่ต้นแต่ใบละลานตาเท่านั้น

ท้ายสุดผมอยากจะยกเอาคำสอนของท่านพระธรรมปิฎก (ขณะนี้ท่านเป็นพระพรหมคุณากรแล้วครับ) ที่ได้แสดงปาฐกถาในหัวเรื่อง “การแพทย์แนวพุทธ” เอาไว้ ลองอ่านดู แล้วเปรียบเทียบว่า คำสอนของท่านเกี่ยวกับการแพทย์แนวพุทธ สอนอะไรให้นักเรียนกฎหมายอย่างเราบ้าง

“ยุคที่เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะยุคอุตสาหกรรมที่เป็นมานี้ เป็นยุคของ specialization คือยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง แพทย์ซึ่งอยู่ในยุคสมัยเช่นนี้ก็มีความโน้มเอียงในทางเดียวกันด้วย คือการที่จะเป็นผู้มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องการรักษาโรคแล้ว แม้แต่ในการรักษาโรคนั้นเองก็จะเจาะลงไปเฉพาะอย่าง แคบลงไปๆ จนกระทั่งรักษาเฉพาะชิ้นส่วนคืออวัยวะชิ้นนั้นชิ้นนี้ แม้แต่ในอวัยวะชิ้นเดียวกัน เดี๋ยวนี้ก็เริ่มจะแบ่งและแยกกันว่าใครจะรักษาด้านโน้นด้านนี้ หรือแง่นั้นแง่นี้ของอวัยวะชิ้นนั้น การปฏิบัติอย่างนี้ในแง่หนึ่งก็ทำให้แพทย์เก่งจริงๆ ในเรื่องนั้น และการรักษาเฉพาะส่วนนั้น โดยมากก็จะได้ผลเป็นพิเศษ แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เกิดความแคบกลายเป็นการแยกชีวิตเป็นเสี่ยงๆ…

ในความเป็นจริงนั้น พอเป็นโรคหนึ่งแล้วบางทีก็โยงไปหลายโรคหลายอวัยวะ เช่น เป็นโรคนี้ที่อวัยวะส่วนนี้ แล้วเกิดโรคโน้นแทรกซ้อนที่อวัยวะโน้น บางทีรักษาโรคติดเชื้อที่หัวเข่า เกิดโรคปอดบวมแทรกซ้อนขึ้นมา และระหว่างรักษาอยู่นั้น ยาที่หมอให้ทำให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร ยังแก้ไขปัญหากันไม่ตก ไตเกิดจะวายขึ้นมาอีก แพทย์ที่ชำนาญต่างโรคต่างอวัยวะกัน พบโรคแทรกซ้อนนั้น บางทีก็ไม่ยอมรักษาหรือเกรงใจกันไม่กล้ารักษา หรือไม่สามารถรักษา เสร็จแล้วก็ต้องหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาหลายคน สำหรับโรคแต่ละโรคและอวัยวะแต่ละอวัยวะที่จะต้องแก้ไข…

ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องของยุคแห่งความชำนาญพิเศษ ซึ่งเป็นความเจริญที่สืบเนื่องต่อมาในยุคอุตสาหกรรม แต่พวกนักรู้เขาบอกว่า ต่อไปนี้เรากำลังสิ้นสุดยุคอุตสาหกรรมแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้แต่ในประเทศที่เจริญมากเหล่านั้น ก็รู้ตระหนักกันแล้วว่าแนวความคิดแบบนี้ไม่ได้ผลดีเพียงพอ จึงได้คิดหาทางออกกันและจึงได้มีแนวความคิดใหม่ๆ เช่นที่เรียกว่าแนวความคิดแบบ holistic หรือแนวความคิดแบบ “องค์รวม” นี้เกิดขึ้น และให้ใช้วิธีปฏิบัติแบบที่เรียกกันว่า บูรณาการหรือ intergration…

ความจริงนั้น การศึกษาแบบแยกส่วนให้ชำนาญเฉพาะด้านเฉพาะเรื่องนั้น ก็เป็นเรื่องที่มีคุณประโยชน์มาก พอพบแง่ไม่ดี หรือความไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ควรถึงกับจะไปดูถูก คือควรจะเตือนสติกันไว้ คนเรานี้มีความโน้มเอียงในทางสุดโต่ง พอเจริญไปข้างหนึ่ง ก็ไปเสียเต็มที่ ไปทางแยกส่วนชำนาญพิเศษก็ไปเสียจนเต็มที่ เห็นไปแต่ว่าต้องอย่างนี้ทำแต่ทางนี้แล้วจะสำเร็จหมด การเชื่อมการโยงกับส่วนอื่นก็ไม่เอาเลย ทีนี้ พอมาถึงอีกจุดหนึ่ง เห็นว่าการแยกส่วนเป็นการเฉพาะด้านนี่มีปัญหา บางคนก็ทำท่าว่าไม่เอาแล้ววิธีนี้ไม่ได้ผล จะต้องเป็นการรักษาแบบองค์รวม หันไปหาวิชาแพทย์แผนโบราณ บอกว่าต้องแผนเก่าจึงจะถูก…

ว่าที่จริง เราควรถือเอาประโยชน์จากความเจริญก้าวหน้ามาใช้ด้วยเพราะความเจริญก้าวหน้าแบบปัจจุบันที่หนักไปทางแยกส่วนเป็นเฉพาะด้านนี้ก็มีผลดีในทางที่ทำให้เกิดความชัดเจน มองเห็นอะไรต่ออะไรเจาะลึกลงไปละเอียดลงไป แต่ข้อบกพร้องของมันก็คือการลืมตัว พอไปเจาะลึกแต่ละอย่างจนชำนาญพิเศษในด้านของตนแล้ว ก็เลยตัดขาดแยกตัวจากส่วนอื่นๆไม่มาเชื่อมโยงประสานกัน…

เพราะฉะนั้นการแยกที่จะเกิดผลดีก็คือ การแยกเพื่อให้การโยงนั้นชัดเจนได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นแยกแล้วต้องโยง พวกเดิมนั้นได้แต่โยงโดยไม่แยก ส่วนพวกใหม่ก็แยกโดยไม่โยง ด้วยเหตุนั้นจึงอย่าดูถูกกันเลย ควรจะถือเอาประโยชน์จากทั้งสองอย่าง รวมความว่า ตามหลักพระพุทธศาสนา แยกแล้วต้องโยง”

2 Comments:

Blogger Soulseeker said...

เห็นด้วยกับทั้งพี่ ratioscripta และพี่ lawholland

การเห็นด้วยที่เกิดขึ้นคือเห็นด้วยกับทางที่เราจะเดิน ในหลักการใหญ่ ไม่ซิ,หลักการมโหฬารเลยะนะฮะ

เพราะการเห็นไพร แยกแล้วโยง หรือโยงแล้วแยก ทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะเป็นมโนคติหรืออุดมคติก็แล้วแต่ มันคือการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ของการศึกษานิติศาสตร์ในชั้นปริญญาตรี(หากผมเข้าใจเจตนาพวกพี่ๆถูก)ในระบบอย่างยิ่ง และจะสร้างประสิทธิภาพและผลิตภาพเป็นอย่างยิ่ง

แต่บางทีอาจต้องขยายจำนวนเวลาที่เรียนไปอีกสักสองปีเห็นจะได้ เช่น หลักการพื้นฐานสองปีและความเชียวชาญเฉพาะทางอีกสามปีเป็นต้น(ความจริงเรื่องความเชี่ยวชาญของอเมริกันจะโดดเด่นด้วยความที่ law schoolต้องจบปริญญาตรีสาขาใดสาขาหนึ่งเสียก่อน)แต่สุดท้ายมันเป็นการมองแต่เกมส์มองแต่ระบบเพื่อจะมากำกับเท่านั้น

ผมเห็นว่าเป็นไปได้ยากเหลือเกินครับ

ผมยังเห็นประโยชน์เดิมและข้อความที่พี่กล่าวมันยังเป็นไปได้ในระบบเดิมคือ พื้นฐานในปริญญาตรี คือการศึกษาถึงความเข้าใจทั่วไป และเพื่อการใช้ทั่วไป (หากไปทำงานก็ค่อยไปศึกษาต่อกันเองให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น)

ปริญญาโทศึกษาเพื่อความถ่องแท้ยิ่งขึ้นในการใช้และความเข้าใจ(ในทุกแง่ทั้งทางเข้าใจกม.หรือเข้าใจในความเชี่ยวชาญอื่นที่ต้องการศึกษา)

ปริญญาเอกมีขึ้นเพื่อรู้แทงตลอดเพื่อสร้างระบบมากำกับโดยใช้มุมองเชิงอุตสาหกรรมและหลักเศรษฐศาสตร์เรื่อง Rule of the game สร้างรูปแบบใหม่หรือนวัตกรรมเชิงวิชาการขึ้นมา (ไม่ว่าจะขุดหลุมความเชี่ยวชาญกันไปมากเท่าไหร่ แต่โดยกรอบก็นับว่าจำเป็น)

อย่างที่ผมเข้าใจคือปัจจุบันวิชานิติศาสตร์ที่รำเรียนกันอยู่ในระดับปริญญาตรี(โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ธรรมศาสตร์)คือการท่องเที่ยวไปทั่วปริมณฑลของกม.ที่มีอยู่ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดของพี่ ratioscripta ในเชิงระบบ และสนับสนุนช่องว่างที่จะพัฒนาของพี่lawhollandในเรื่องเราต้องสร้างความเชี่ยวชาญ

อีกอย่างที่ผมมองและเห็นเป็นประเด็นซึ่งผมมองและปรึกษากับพี่ๆบ่อยครั้งคือ เรื่องการแปรอุดมคติหรือมโนคติที่เชื่อว่าดีเหล่านั้นให้เป็นจริง(implementation)


ทั้งในแง่ผู้สอน ในตัววิชาที่สอน ในแง่ผู้ศึกษา

ผมว่าน้อยคนในทั้งสามส่วนนี้จะรับเอาความคิดเหล่านี้ไปโดยถือปฏิบัติอย่างเต็มที่

เพราะในเมื่อผู้สอน ผู้ศึกษารู้ข้อความคิดข้อนี้แล้ว แต่มันจะเป็นความตายทางวิชาความรู้ คือเช่นฉันสอนแล้วฉันรับรู้แล้วฉันสอบแล้วฉันผ่านแล้วฉันตรวจข้อสอบแล้วฉันเห็นว่าเขาผ่านแล้วฉันเลยให้ผ่าน

บางทีปัญหามันอาจจะอยู่ที่นิยามความเป็นอาจารย์และเป็นนักศึกษา มันอ่อนแอหรือเบี่ยงเบน,ผมไม่แน่ใจ (หมายถึงโดยภาพรวมเพราะสุดท้ายเราก็จะเห็นได้ว่ามีบุคลากรคุณภาพเกิดขึ้นเสมอ แต่หากเป็นการมองแบบอุตสาหรรม(industrial approach)ที่ต้องการสินค้าในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด ในที่นี้คือนักกม. ถือว่ายังไม่ตอบโจทย์)


โดยสรุปคือผมเห็นว่าระบบเดิมหากเรายังใช้มันอยู่ ผมเห็นว่าดีแล้ว แต่โจทย์ใหญ่คือ การที่มีผู้อยากให้ความรู้แล้วจึงคิดกลวิธีที่หลากหลายในการที่จะให้ผู้ศึกษาเข้าใจในบทเรียน(โดยพื้นฐานที่ว่านักศีกษามีความหลากหลายทั้งทางจริต,ค่านิยม,นิสัย) และการอยากศึกษาและเมื่ออยากแล้วจึงคิดหากลวิธีที่หลากหลายที่จะเข้าใจบทเรียนให้มากที่สุด(ในความคิดที่จะเข้าใจถ่องแท้,แตกต่อ,ค้นคว้า,ความอยากศึกษาเปรียบเทียบเองโดยธรรมชาตื)

นั่นคือนิยามการเป็นอาจารย์โดยแท้ และการเป็นนักศึกษาโดยแท้

เพราะปัจจุบันมันมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปแต่ทางนักผลิตภาพผลิตผลนิยม(productivism)ซึ่งสอดคล้องกับทุนนิยมแต่เพียงเท่านั้น

คำว่า"โดยแท้"ในกรอบทั้งหลายมันเบลอร์ๆนะครับหรือเราจะต้องทำใจยอมรับกับความคิดวาบิ-ซาบิ -ความสมบูรณ์ของระบบคือความสมบูรณ์รวมหลวมกับความไม่สมบูรณ์จนแบ่งแยกไม่ออกแล้วปฏิเสธความต้องการเชิงอุตสาหรรมไป

ขอได้รับคำชี้แนะนะครับ

จากรุ่นน้องที่ชอบและหลงใหลในวิชาความรู้เชิงคุณค่าเพื่อความถ่องแท้ในเฃิงปฏิบัติ แต่ไม่เคยเข้าใจโดยถ่องแท้และไม่เคยยอดเยี่ยมในเชิงปฏิบัติเสียที ๕๕๕๕!

11:40 PM

 
Blogger crazycloud said...

มาช่วยผลักดันร่าง พรบ นักกฎหมายแห่งประเทศไทยกันดีกว่า

5:57 PM

 

Post a Comment

<< Home