Saturday, January 28, 2006

มกราคม เดือนที่ "หมูคลุกฝุ่น"


หากใครได้ลองมาเดินแหล่งช้อปปิ้งบริเวณตลาดนัดที่ตั้งตัวเองอยู่หลังกระทรวงการคลัง ก็จะพบกับบรรดาแหล่งละลายทรัพย์มากมาย อันปรากฏกายในรูปแบบที่หลากหลายทั้งแบบแผงลอย (ผมเห็นภาพจริงๆว่าทำไมเค้าถึงเรียกว่า “แผงลอย” ก็อีตอนที่เทศกิจวิ่งไล่จับพ่อค้าแม่หาบทั้งหลายน่ะสิครับ ละลิ่วล่องลมกันเลยทีเดียว)ขายตั้งแต่ขนมขบเคี้ยว (โดยเฉพาะ “ปั้นสิบ” หลังกระทรวง “ของเค้าดีจริงๆค่ะ” ฮาๆๆ) เสื้อผ้า เทป ซีดี เครื่องใช้ไฟฟ้า กระทั่งเครื่องเพชร รวมทั้งร้านอาหารประเภทกางเต็นท์ขายก็มากมาย ทั้งก๋วยเตี๋ยวเรือน้าชู ที่ถูกบันทึกให้เป็นก๋วยเตี๋ยวเรือที่โอชารสที่สุดหนึ่งในห้าอันดับของกรุงเทพเมืองฟ้าอมร ไล่มาจนถึงก๋วยเตี๋ยวไก่และหมูตุ๋นมะระเจ้าประจำที่ผมและเพื่อนๆมาฝากท้องอยู่เสมอยามมาเยี่ยมเยือนหลังกระทรวง (เพราะถ้าวันไหนกินข้าวบริเวณหน้ากระทรวงก็หนีไม่พ้นต้องอุดหนุน “ป้าฟาสต์ฟู้ด” ของผมน่ะแหล่ะครับ เดี๋ยวแกโกรธเอา)

ประเภทเป็นร้านห้องแอร์ก็มีนะครับ แต่ไม่ค่อยได้กินเงินพวกผมเท่าไหร่ ยกเว้นวันไหนครึ้มอกครึ้มใจ และมักจะต้องเป็นวันที่อากาศร้อนเป็นพิเศษ และเหนือสิ่งอื่นใด

ต้องเป็นช่วงต้นเดือนด้วยครับ

บรรดาร้านประเภทนี้ มีอยู่ร้านนึงที่ผมและพรรคพวกเข้าไปใช้บริการบ่อยที่สุดกว่าเจ้าอื่น อันมีนามกรต้องกับวงดนตรีวงหนึ่งที่ชื่อว่า “มิสเตอร์ทีม” พิกัดของร้านก็ตั้งอยู่ติดเซเว่นฯ หลังกระทรวง (เอ ร้านประจำของผมทุกร้านจะต้องมีเวรมีกรรมกับเซเว่นฯ ทุกทีไปหรืออย่างไรกันนี่) การตกแต่งร้านก็สไตล์คันทรี มีของกระจุกกระจิกเก่าๆ คลาสสิกๆ น่ารักๆจัดวางอยู่ตามมุมต่างๆของร้าน พอให้สอดส่ายสายตาเพลินๆ ระหว่างรออาหารตามเมนูที่สั่งไป

รสชาติของอาหารก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว และเมนูที่พวกผมมักจะสั่งเป็นประจำที่ไปนั่งร้านนี้ก็คือ “หมูคลุกฝุ่น” มันคือ หมูชิ้นผัดกับพริกไทยดำนี่แหล่ะครับ แต่รู้สึกว่าจะใส่แป้งมันตีเข้าไปหน่อยมันเลยเยิ้มๆ น่ากินดี

แล้วบล็อกตอนนี้ของผมเกี่ยวอย่างไรกับเมนูข้างต้น จึงต้องตั้งชื่อบล็อกตอนนี้ว่า “หมูคลุกฝุ่น”

คำตอบคือมันไม่เกี่ยวอะไรกันเลยครับ

ก็แค่เห็นว่าชื่อเมนูมันคล้องจองกับสภาวะชีวิตของผมตอนนี้พอดี เลยหยิบยืมมาตั้งเป็นชื่อบล็อกตอนนี้ก็แค่นั้น ประมาณว่าอ่านแล้วมันเห็นภาพ ได้ยินแล้วมันนึกถึง
เดือนมกราคมที่กำลังจะผ่านไปนี้ ถือได้ว่าเป็นเดือนที่ผมอยู่ในสภาพ “คลุกฝุ่น” อีกครั้ง หลังจากที่เคยอยู่ในสภาพนี้มาแล้วช่วงผจญวิบากกรรมกับวิทยานิพนธ์ไปเมื่อกลางปีกลาย

เป็นวิบากกรรมที่ผมเป็นผู้ก่อขึ้นมาเอง ด้วยความขี้เกียจและไม่รับผิดชอบในหน้าที่การงานทั้งสองครั้งสองครา

ตามเซนเด้น (สันดาน) ของผม ผมเป็นพวก “วินาทีสุดท้าย” อย่าให้รู้ว่ามีเวลาเหลือเชียวนะครับ แม้หน่วยเป็นนาทีผมก็ยังนิ่งนอนใจอยู่ กระทั่งรู้ตัวว่ามันไม่ทันแน่ๆแล้ว นั่นแหล่ะจึงจะขยับกายมาปั่นงาน พร้อมกับบ่น ไม่ทันแล้วโว๊ย ๆ ไม่มีเวลาแล้วโว๊ยๆ เหนื่อยจังโว๊ยๆ… ทุเรศตัวเองชะมด

เดือนนี้ถือได้ว่า ผมเสวยวิบากจากการก่อกรรมคือกระทำกิริยา “สันหลังยาว”
(จริงๆอาจจะเป็นเพราะความฝังใจวัยเด็กที่ผมเป็นคนรูปร่างเล็ก มีความสูงค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย เมื่อได้ยินประโยคที่ว่า “ขี้เกียจสันหลังยาว” จึงพยายามจะทำตัวให้ขี้เกียจน่ะครับ เผื่อจะเพิ่มส่วนสูงได้บ้าง…ขุ่นขลั่ก)

วิบากกรรมแรกที่ผมต้องเผชิญ ไม่ใช่อื่นใด ก็โครงการกฎหมายตราสามดวงของผมนี่แหล่ะครับ โดยผมมีคิวที่ต้องส่งงานวิจัยที่ผมได้รับมาทั้งสิ้นสองชิ้น และได้ขึ้นเวทีรายงานผลการวิจัย เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคมที่ผ่านมา

ไม่ใช่ว่าหัวหน้าโครงการฯ จะโหดร้ายกับผมเลยนะครับ ที่ให้ผมทำงานรวดเดียวถึงสองชิ้น ก็ไอ้หนึ่งในสองนั้นผมได้รับมอบหมายมากว่าปีเข้าให้แล้ว! แต่ก็ยังนิ่งสนิทอยู่บนกองเอกสารบนโต๊ะทำงานผม ซึ่งเป็นหลักปักแน่น เขยื้อนได้ยากยิ่งกว่าเขาพระสุเมรุหลักแห่งโลกย์เสียอีก ส่วนอีกชิ้นมันก็มาตามวงรอบของมันล่ะครับ

ผมรู้ตัวล่วงหน้าว่าจะต้องขึ้นเวทีรายงานผลการวิจัยสักประมาณ ๓ เดือน ซึ่งระยะเวลาเพียงเท่านั้น ก็ถือว่าน้อยมากแล้วนะครับ สำหรับการทำงานหนึ่งชิ้น (ซึ่งควรจะมีเวลาสัก ๕ เดือนขึ้นไป) ฉะนั้นสำหรับงานสองชิ้น ก็น่าอยู่ราวเกือบๆปี

แต่พี่น้องครับ ไอ้ตัวขี้เกียจอย่างผม มาปั่นเอาอาทิตย์เดียวครับ

คำว่า “ลวก” ยังน้อยเกินไป

คำว่า “เผา” ยังห่างไกล

ไฟมันไม่ได้ลนทวารหนักผมหรอกครับ

มันสุมยัดเข้าไปเลยต่างหาก

ความเร่งรีบดังกล่าว ทำให้ผมต้องตัดบางส่วนที่ตั้งใจจะเขียน ตั้งใจจะหาข้อมูลในงานวิจัยทั้งสองชิ้นไปบ้างพอสมควร แถมยังต่อรองตัดเนื้อหาส่วนที่สามซึ่งเป็นการอธิบายศัพท์แสงในเอกสารวัตถุแห่งการวิจัยไปเสียอีก โดยสัญญาว่าจะจัดส่งให้ในภายหลัง
ความเร่งรีบดังกล่าวทำให้ผมต้องป่วย (การเมือง) หยุดงานที่ทำงานกว่าสี่วัน ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นการทำให้งานประจำของผมรวนเรไปอีก ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดวิบากลูกที่สองที่จะวิ่งมาชนผมในกาลภายหน้าอีกด้วย

ในช่วงนั้นผมมองไม่เห็นทางจริงๆที่จะทำงานสองชิ้นนี้ให้เสร็จ เสร็จแบบที่เอาไปรายงานให้ชาวบ้านเขาฟังแล้วไม่โดนโห่ไล่ลงจากเวทีน่ะครับ จะทำอย่างไรดี มืดสิบหกด้าน

แต่ไม่เสร็จมันก็ไม่ได้ คิดได้อย่างนั้นก็ก้มหน้าก้มตาเผชิญวิบากกันไป

ผมมีเวลานอนเฉลี่ยในช่วงคลุกฝุ่นลูกแรกนี้ ประมาณ ๒ ถึง ๓ ชั่วโมงต่อวัน หนึ่งในจำนวนวันหฤโหดดังกล่าว ผมจำได้ว่า ได้งีบตอน ๐๗.๐๐ น. เพราะร่างกายกำลังประท้วงและพังประตูทำเนียบเข้ามาแล้ว และต้องสะดุ้งตื่นด้วยความหวาดกลัวมาทำงานต่อตอน ๐๘.๓๐น.

ยอมรับว่าช่วงนั้นเครียดประหนึ่งต้องส่งวิทยานิพนธ์อีกเล่มจริงๆ

มันเป็นการสมควรและน่าสมน้ำหน้าแท้ๆครับ เพราะงานที่ควรเขียน ๑ ปี ผมมาย่นย่อเขียนเอา ๗ วัน เขียนวันละ ๒๔ ชั่วโมงไม่หยุดเลย ยังถือเป็นการชดใช้ที่ห่างไกลกับสิ่งที่สมควรจะทำตั้งแต่ต้นอยู่อีกโข แค่นี้ก็ถือว่าผมโชคดีมหาศาลแล้วครับ

และแล้วมันก็ผ่านไป ผมลงจากเวทีรายงานผลการวิจัยในวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคมที่ผ่านมา ด้วยอาการที่ปลอดโปร่ง โล่งเหมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย เหมือนยกภูเขาออกจากอกสามร้อยลูกพร้อมกัน การไปอยุธยาเที่ยวนี้ของผม จึงเป็นเหตุการณ์ที่ดีและน่าจดจำอีกช่วงหนึ่งในชีวิตของผม ตรงข้ามกับภาพ “ขุมนรกอเวจีทั้ง ๘ ขุม” รวมกัน ที่คาดเอาไว้ในวันก่อนออกเดินทาง

(ไว้จะนำภาพสองข้างทางริมฝั่งแม่น้ำป่าสักมาให้ชมกันนะครับ ไม่อยากจะนึกภาพสักสามสี่ร้อยปีก่อนเลยว่าอยุธยากรุงเก่าของเราจะมีหน้าตาอย่างไร เมื่อมีสถูปเจดีย์ วัดเป็นร้อยๆวัด เจดีย์ สถูปทองสถิตอยู่ทั่วปริมณฑล อร่ามเรื่องรองทั้งยามต้องแสงแดด และแสงจันทร์ ระยิบระยับแวววาว ด้วยเกล็ดกระเบื้องสีสวย เพชรนิลจินดา “เมืองทอง” แท้ๆ สังเกตได้จากสภาพโบราณสถานนั้นได้ผุดผาดขึ้นอยู่ท่ามกลางความเจริญของเมืองในยุคปัจจุบัน เรียกได้ว่ามีอยู่ทุกตารางนิ้ว อยู่ที่ว่าจะขุดเจอกันเมื่อไหร่)

เสร็จงานเขยื้อนภูผาหินลูกแรกไปแล้ว ลูกต่อมาก็ตระหง่านให้ผมทั้งผลักทั้งดัน ทั้งดุน ทำทุกวิถีทางอีกอย่างต่อเนื่อง

งานนี้งานประจำครับ โดยผมและทีมร่วมกันรับผิดชอบดูแลแก้ไข และยกร่าง “ข้อบังคับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการสืบสวนสอบสวน” ฉบับใหม่ แทนที่ฉบับเก่าที่ประกาศใช้เมื่อปี ๔๕ เพื่อให้มันเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถ้าข้อบังคับชิ้นนี้เปรียบได้ดั่งหญิงสาว ผมคงได้ลูกแฝดสามแล้วล่ะครับ ก็ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาผมกินนอนอยู่กับเธอมาตลอด ประชุมกันอย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์ แก้กลับไปกลับมา เพิ่มตรงนั้น ตัดตรงนี้ วุ่นวายแท้ๆ ตามประสาบรรยายกาศของการร่างกฎหมาย ถ้อยคำเพียงคำเดียว ก็ให้เราถกเถียงกันได้เป็นวันๆ

งานตรวจสอบสืบสวนถือได้ว่าเป็นภารกิจหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานตรวจเงินแผ่นดินเลยนะครับ แต่ตรงกันข้ามกลับไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเท่าไหร่ อาจเพราะแต่เดิมองค์กรตรวจเงินแผ่นดินนี้เน้นหนักไปที่ภารกิจในการตรวจงบดุลและบัญชี อาจเรียกได้ว่าองค์กรนี้แต่เดิมเป็นองค์กรของบรรดา “นักบัญชี” ซึ่งมีเครื่องมือในการตรวจอย่าง “นักบัญชี”

แม้กระทั่งงานตรวจสอบสืบสวน ที่มีแหล่งที่มาจากบรรดาเรื่องร้องเรียนนต่างๆ ต้องใช้เทคนิคในการเข้าถึงพยานหลักฐาน การสอบถ้อยคำผู้ที่เกี่ยวข้อง การลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล การเขียนรายงานสำนวน ซึ่งเหล่านี้มันเป็นเทคนิคของ “นักกฎหมาย” หรือ อย่างน้อยก็ต้อง “มีความรู้ทางกฎหมาย” อยู่บ้างพอสมควร

แถมยังเหนื่อยและเสี่ยงต่ออันตรายเพราะร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าๆๆๆๆๆๆๆๆๆ มันคือการร้องเรียนว่าทุจริต ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งบางครั้งก็เกี่ยวพันกับ “อิทธิพล” ท้องถิ่น และอาจระดับชาติด้วย

ในขณะที่เงินเดือนหรือค่าตอบแทนนั้น

ก็เท่ากับเจ้าหน้าที่ที่นั่งทำงานตรวจเอกสารเป็นหลักนั่นล่ะครับ

ไม่แปลกที่งานตรวจสอบสืบสวนจะมี “คนวัน” สำหรับทำงานน้อยมาก แถมยังมีแต่คนอยากวิ่งหนีเสียอีก สวนกับกระแสของการร้องเรียนมายังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้นๆ และเนื้อหาที่ร้องเรียนนั้น “ใหญ่” ขึ้นๆ

นี่จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินครับ โดยไม่นานนี้จะมีการ “ปรับโครงสร้าง” แบบพลิกโฉมหน้า ทั้งตัวองค์กรภายใน ในส่วนของสำนักงานย่อยทั้งหลายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งการขยายอัตรากำลังพล ทั้งข้าราชการและลูกจ้าง

และรวมถึง “ข้อบังคับฯ” นี้ที่สำนักงานกฎหมายของผมรับผิดชอบอยู่ด้วย

โดยหลังจากตรากตรำกับมัน จนออกมาเป็น “ร่าง” แล้ว เพื่อความรอบคอบ เราจำเป็นต้องส่งร่างข้อบังคับที่เราร่างขึ้นไปให้บรรดาพี่ๆเพื่อนๆที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริง ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นด้วย (ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการเวียนหนังสือให้แต่ละสำนักที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสืบสวนส่งตัวอย่างปัญหาจากการบังคับใช้ข้อบังคับเก่ามาแล้วหนึ่งครั้งเพื่อประกอบการยกร่างฯ)

โดยการจัดสัมมนาใหญ่ ที่ส่วนกลาง โดยรวมเอาข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในกลุ่มงานตรวจสอบสืบสวนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกว่าสามร้อยคน มาร่วมประชุมกันในวันที่ ๒๖ มกราคมที่ผ่านมา โดยผมมีส่วนต้องขึ้นนำเสนอร่างข้อบังคับด้วย

คิดดูครับ ต่อหน้าข้าราชการระดับ ๖ ถึง ๘ ที่ทำงานมาไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี เขี้ยวลากดิน ประสบการณ์ชั่วโมงบินสูง

แล้วผมใครครับ นิติกรที่เพิ่งได้ระดับ ๔ มาไม่ถึง ๔๘ ชั่วโมง ประสบการณ์ทำงานสั้นจู๋ แค่ ๒ ปีกับอีก ๒ เดือน และ ๒ วัน (ณ เวลานั้น) และที่สำคัญ

ไม่เคยออกตรวจ ลงพื้นที่เลยสักครั้งเดียว!

แต่ด้วยการประสบการณ์ของเจ้านายผม ที่ทำการบ้านสำรวจปัญหาที่ส่งกลับมาแต่เนิ่นๆ ก็ทำให้การสัมมนาในวันนั้นผ่านพ้นไปด้วยดี ด้วยบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่การมานั่งจับผิด และตั้งกำแพงกรอบความคิดว่า “คนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง” ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับ “นักวิชาการบนหอคอยงาช้าง” นั่นแหล่ะครับ

เมื่อปรับทัศนคติเข้าหากันได้ ทุกอย่างก็ง่ายและดูสร้างสรรค์

เรามาช่วยกันเติมเต็ม เพื่อประโยชน์ในงานตรวจสอบ ไม่ใช่การเสนอผลงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ที่ต้องมานั่งป้องกันงานของตัวเอง บางอย่างเราก็เขียนร่างไว้เพื่อขุดบ่อล่อปลา เปิดประเด็นให้ถกเถียง ก็รู้อยู่ว่าโดนแน่ แต่ก็ต้องเขียนทิ้งไว้ บางอย่างก็ต้องยัดเปลี่ยนหลักการแบบ ๑๘๐ องศา บางครั้งจำเป็นต้องเขียนเกินเพื่อให้ตัด ตั้งราคาเพื่อให้ต่อ เพราะนี่คือข้อบังคับ ไม่ใช่คู่มือปฏิบัติ ข้อบังคับมีส่วนของหลักการที่ต้องดำรงไว้ ไม่ใช่เพื่อความสะดวกเอาแต่ได้ของผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน ข้อบังคับก็ไม่ใช่หลักการที่สถิตบนหอคอยงาช้าง สวยหรู แต่ใช้บังคับไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ อ่านไม่รู้เรื่อง

สมดุลระหว่างหลักการที่ถูกต้อง ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และความสบายใจของผู้ปฏิบัติงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องค้นหา และปรับให้ได้ดุลกันให้ได้

ในระหว่างพายุทะเลฝุ่นสองลูกที่กำลังโรมรันพันตูอยู่นี้ ก็ปรากฏมีพายุฝุ่นลูกย่อมๆบ้าง เล็กๆบ้าง แทรกแซมเข้ามาสู่สมรภูมิอยู่ตลอดเวลา บรรดาเจ้าหนี้บทความทั้งหลายยืนกอดอก ถือเคียว ถือขอ รอบังคับหนี้กันสลอน หนึ่งในนั้นก็ไม่ใช่ใคร คนกันเอง เฮียป.ป. ณ โอเพ่นนี่แหล่ะครับ

เดือนมกราคมกำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว

พร้อมๆกับฝุ่นที่เริ่มจางหาย

บาดแผล จากพายุฝุ่นยังปรากฏริ้วรอยตามเนื้อตัวอยู่อย่างเด่นชัด และคอยย้ำเตือนให้เห็นถึงผลของการเสวยวิบาก อันเกิดจากความเกียจคร้านของตัวเอง

หนี้เก่า กรรมเก่ากำลังจะหมดไป หนี้ใหม่ กรรมใหม่ ก็กำลังจะผ่านเข้ามา ข้อดีของการหมดหนี้เก่าคือ ไม่ต้องพะวงหลัง สามารถเพ่งสมาธิอยู่กับหนี้ใหม่ภายหน้า แต่หากเผลอไผล ไม่ระวังตัว ปล่อยให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำอีกครั้ง จากหนี้ใหม่ก็จะกลายสภาพเป็นหนี้เก่า และวิ่งไล่หลังเราให้ต้องพะวงหลัง ทั้งยังต้องห่วงหน้า
ภาวะเช่นนี้ไม่เป็นที่ปรารถนาแก่ผมเลยครับ

อยากบอกว่าเข็ดแล้วครับ (ผมพูดงี้มาตั้งแต่ผมจำได้แล้วนะ แต่ก็ไม่เคยทำได้สักที)
ยุทธภูมิพายุทะเลฝุ่นครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนสอนให้ผมรู้ว่า

“ไม่ลงมือทำ ไม่มีวันเสร็จ”

โปรดอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างเชียวครับ

ด้วยความปรารถนาดี

2 Comments:

Anonymous Anonymous said...

อาการเดียวกันเลย แต่ของพี่ ฝุ่นยังไม่จาง ตอนนี้ข้นคลั่กเพราะหมักไว้นาน ฮ่าๆ

ยินดีด้วยที่ฝุ่นน้องต้องเริ่มจางลงแล้ว คราวหน้าขอให้ขยันสมำเสมอได้สำเร็จนะคะ เดี๋ยวจะช่วยเตือนด้วยค่ะ (พร้อมๆกับเตือนตัวเองไปด้วย)

2:33 PM

 
Anonymous Anonymous said...

มิน่าอยู่เป็นเพื่อนผมได้ถึงเช้า เพราะช่วงนั้นผมเองก็ต้องปั่นงานส่งอาจารย์เหมือนกันในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันคือสัปดาห์เดียวเสร็จ(อย่างลวก ๆ)

11:27 AM

 

Post a Comment

<< Home