"ชมพูงามแข่ง เหลืองแดงพริ้วเคียงใกล้"

วันนี้อยากจะบันทึกไว้สักหน่อยว่า เป็นวันแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา – ธรรมศาสตร์ (เอ...ธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพต้องเปลี่ยนเป็น ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ – จุฬา หรือเปล่า อันนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน??) ซึ่งจัดกันมาอย่างยาวนานกว่า 70 ปี แล้ว โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 63 ครับ
ความทรงจำของผมเกี่ยวกับฟุตบอลประเพณีที่เก่าแก่รายการหนึ่งของประเทศไทย รายการนี้ ไม่ค่อยแจ่มชัดนักในวัยเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากในบรรดาวงศาคณาญาติโกโหติกาของผมไม่มีใครเรียนจุฬา หรือ ธรรมศาสตร์เลย ดังนั้นการรับชมฟุตบอลประเพณีของทั้งสองสถาบันของผม จึงไม่ค่อยจะต่างจากการดูฟุตบอลรายการอื่นๆที่มีการถ่ายทอดทางทีวีเท่าไหร่นัก
แถมยังแอบหมั่นไส้อยู่เล็กๆ ว่าทำไมถึงมีอภิสิทธิ์ถ่ายออกทีวีด้วยฟะ
แม้จะไม่มีส่วนได้เสียในทั้งสองสถาบันแต่อย่างใดในเวลานั้น แต่ไม่รู้เป็นไร ผมมักเลือกข้างเชียร์ธรรมศาสตร์มากกว่าจุฬา อยู่หน่อยๆ เสมอ
ฟุตบอลประเพณีฯ ได้เข้ามาในชีวิตผม (หรือผมเข้าไปในชีวิตของมัน?) อย่างแจ่มชัด ก็เมื่อผมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะนักศึกษา เมื่อ ปี พ.ศ. 2540 นั่นแหล่ะ (รู้รุ่นรู้อายุกันโหม้ดดด)
คราวนี้ชัดเจนเลย ว่าจะเลือกเชียร์ข้างไหน ยามที่ทั้งสองสถาบันต้องเผชิญหน้ากัน
ตลอดเวลาสี่ปีของผมในธรรมศาสตร์ ผมมีส่วนร่วมกับฟุตบอลประเพณีมากที่สุด แค่เพียงเป็นผู้ชม (แต่มีอยู่ปีนึง ไม่แน่ใจว่าปีอะไร ระหว่าง ปี 42 หรือ 43 ที่ผมมีโอกาสเข้าไปใกล้ชิดวงในงานบอลฯ มากที่สุด ด้วยการไปช่วยน้องๆชุมนุมบอลฯ คิดคำขวัญเขียนป้ายผ้าขนาดยาว ซึ่งจะเอาไปผูกตรงบริเวณสแตนด์เชียร์ฝั่งธรรมศาสตร์ ... แต่จำข้อความไม่ได้แล้วแฮะ )
จำได้ว่า ในช่วงสี่ปีแห่งชีวิตนักศึกษา ผมไม่เคยพลาดการไปดูบอล ที่สนามศุภชลาศัยเลยแม้แต่ปีเดียว
นั่นไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่หรอก ใครๆเค้าก็ทำกันอย่างนี้
แต่สี่ปีแห่งการเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ของผม ธรรมศาสตร์ไม่เคยชนะจุฬาเลยแม้แต่ครั้งเดียว อย่างดีทำได้แค่เสมอ นอกจากนั้น หลังจากที่ผมจบมาแล้วก็ยังอาการไม่ดีขึ้น สถิติมันบ่งบอกว่า ธรรมศาสตร์สามารถเอาชนะจุฬาได้เพียงแค่ครั้งเดียว คือในการแข่งขันครั้งที่ 61 เมื่อปี 2548 นอกจากนั้นไม่เสมอก็แพ้
แม้สถิติโดยรวมธรรมศาสตร์จะถือว่าเหนือกว่าจุฬาค่อนข้างมาก
แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอดีต ผมไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน ทำไม เวลาที่ผมเลือกที่จะเชียร์ฟุตบอลสักทีม ทีมนั้นมักจะมีอดีตที่ยิ่งใหญ่ ต่างจากฟอร์มในปัจจุบันเสมอ
ใจจริงวันนี้ผมตั้งใจว่าจะไปชมฟุตบอลประเพณี สดๆที่สนามศุภฯ ครั้งแรกในรอบ 6 ปี แต่สุดท้ายก็อีหรอบเดิม คือ นอนดูทีวีอยู่บ้านเหมียนเดิม เมื่อไม่สามารถต้านทานความขี้เกียจของตนเองได้
ดูจบได้ครึ่งนึง ก็มานั่งเขียนบล็อกด้วยอารมณ์ ไม่เชิงเซ็ง แต่ไม่ค่อยสบอารมณ์เท่าไหร่ กับฟอร์มการเล่นของทีมลูกโดมทั้งหลาย เป็นฟอร์มเดิมๆที่ผมเห็นมาตลอดในช่วงหลายปีหลังสุด เล่นเหมือนไม่ค่อยได้ซ้อมด้วยกัน ทีมเวิร์คนี่สู้จุฬาไม่ได้เลยมาหลายปีแล้ว แม้บางที (หลายปีด้วย) ในกระดาษธรรมศาสตร์จะดูเป็นต่อ เมื่อผมเห็นรายชื่อนักฟุตบอลทีมชาติเรียงรายอยู่เต็มพรืดไปหมด แต่ถึงเวลาแข่งจริง ไม่รู้เข่าอ่อนให้กับความจิ้มลิ้มของเชียร์ลีดเดอร์ฝั่งจามจุรีหรือเปล่า ฟอร์มการเล่นเลยไปตกคาอยู่แถมริมสนามซะหมด ไม่เอาลงไปด้วยเลย
หรืออาจจะเป็นเพราะความเอาจริงเอาจัง (มากถึงมากที่สุด) ของบรรดาสตาฟฟ์โค้ชฝั่งสีชมพู ที่มีหัวเรือใหญ่ อย่าง ดร.จุฑา ติงศภัทิย์ ฮะแฮ่ม “ครับ...ตามสูตรครับ ไปถึงเส้นหลังแล้วหักเข้ากลาง โอกาสได้ประตูมากครับ...ถ้าจะโหม่งต้องกดลงพื้นครับ...กองหน้าที่ดีต้องยิงทุกจังหวะครับ... “รวมไปถึง “โอ้ว ลูกตรงกรอบครับ ถ้าประตูไม่ปัดนี่เข้าแน่นอนครับ” คนนั้นแหล่ะ
โดยมีอยู่ปีนึง ผมเห็นแกระเบิดอารมณ์ข้างสนามเลย แถมตะโกนด่าธรรมศาสตร์โกงอีกตะหาก เมื่อตอนที่นักฟุตบอลฝั่งธรรมศาสตร์เข้าทำฟลาว์ผู้เล่นฝั่งจุฬาอย่างรุนแรง จนเป็นใบเหลืองที่สอง กรรมการเลยชักใบแดงให้ด้วยความเคยชิน โดยกรรมการน่าจะลืมข้อตกลงของฟุตบอลประเพณีฯ ว่าจะไม่มีการให้ใบแดงผู้เล่น นั่นก็คือจะไม่มีการไล่ผู้เล่นออกจากสนาม หากแต่ถ้ากรรมการเห็นว่าผู้เล่นคนใดทำฟลาว์รุนแรง และเล่นฟุตบอลโดยไม่คำนึงถึง “มิตรภาพ” ตาม “ประเพณี” ที่ดีงามของทั้งสองสถาบัน ก็จะมาปรึกษาบรรดาผู้จัดการทีมหรือหัวหน้าโค้ชทีมนั้น ให้เปลี่ยนผู้เล่นคนนั้นออกซะ
กรรมการอาจจะตัดสินด้วยความเคยชินสักหน่อย แต่เมื่อให้ใบแดงไปแล้วก็ต้องถือว่าแดง ถ้าผมจำไม่ผิด ดร.เหลือง แกฉุนมาก โวยวายน่าดูเลย สุดท้าย ธรรมศาสตร์เหลือสิบคนหรือเปล่าอันนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน
ท่าทางปีนี้ สถิติในช่อง “ชนะ” ก็ของจุฬาก็คงเพิ่มอีกปี ปล่อยให้ศิษย์เก่าอย่างผมต้องไปรอลุ้นใหม่ปีหน้าอีกแล้ว
สิ่งที่แน่นอนไม่แพ้การที่ปีหน้าจะเป็นการแข่งครั้งที่ 64 ก็คือ ปีหน้าจะไม่มีนักฟุตบอลที่ชื่อ “ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล” เล่นให้กับทีมธรรมศาสตร์อีกแล้ว หลังจากที่รับใช้มหาวิทยาลัยมายาวนานกว่า 12 ปี (ครั้ง) โดย “เจ้าวัง” ธวัชชัย เล่นบอลประเพณีครั้งแรก ในฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 49 ครับ
แม้ในเวทีบอลประเพณี พี่แกจะไม่ค่อยโชว์ฟอร์มจนติดตาติดใจอะไรก็ตาม
แต่ในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ไม่มีใครลืมภาพที่ธวัชชัยกดฟรีคิก ระยะ 30 หลา ฟุ่งวาบเสียบคาน ทำให้ทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ ยักษ์ใหญ่แห่งฟุตบอลเอเชียไปอย่างช็อกอารมณ์คนเกาหลีทั้งประเทศ ทั้งที่ทีมชาติไทยมีผู้เล่นเหลือในสนามแค่ 9 คนเท่านั้น (โดนใบแดงไล่ออกไปสองหน่อ)
สาธุ... ขออีกสักลูกก่อนลาเหอะพี่
ก่อนจบ ผมขออนุญาตนำเนื้อเพลงเชียร์ เพลงหนึ่งในบรรดาหลายเพลงของงานบอลฯ มาแปะไว้ โดยส่วนตัวเพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่ผมชอบมากครับ
“ชั่วดินฟ้า”
ธรรมศาสตร์ – จุฬา เราสามัคคี
เราต่างผูกไมตรีกันมั่นไว้
เช่นพี่ เช่นน้อง เราร้องเริงใจ
เรารักกันไว้ ชั่วดินฟ้า
ใครอาจ มาหยาม ความสามัคคีเรา
เรายืน เคียงเข้า ร่วมฟันฝ่า
เกียรติเรา เชิดชู ให้รู้กันทั่วหน้า
ธรรมศาสตร์ – จุฬา ลือชื่อไกล
เราคล้องแขนมั่น รักกันเหมือนน้องพี่
รักษาไมตรี กันมั่นไว้
ชมพูงามแข่ง เหลืองแดง พริ้วเคียงใกล้
ธงชัย พาใจ เราคู่กัน
ปล. เหมือน “เฮียวัง” แกจะได้ยินเสียงแป้นพิมพ์ผม นาทีที่ 80 กว่าๆ ตะกี้นี้ ธรรมศาสตร์ได้จุดโทษ “เฮียวัง” ธวัชชัย ดำรงอ่องฯ ด้วยฉันทามติจากเพื่อนๆน้องๆในทีม ลุกมายิงจุดโทษไม่พลาด ทำให้ธรรมศาสตร์ตีเสมอจุฬาแว้ววว
เป็นการอำลาสนามฟุตบอลประเพณีที่น่าจดจำครับ