Thursday, December 29, 2005

นิติศาสตร์ในฝัน (ของผม)

ในปัจจุบันนักศึกษาในคณะนิติศาสตร์หลายต่อหลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงบทบาทของคณะนิติศาสตร์ที่ประสิทธิประสาทความรู้ทางกฎหมายให้แก่ตน ทำนองว่าเนื้อหากฎหมายที่สอนกันอยู่ในคณะนั้นไม่สามารถนำไปใช้ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง กฎหมายบางบทบางมาตรา เมื่อยามต้องนำไปใช้ในทางปฏิบัติดันเป็นหมันไม่สามารถใช้ได้จริงอย่างที่ร่ำเรียนมา

พร้อมกับเรียกร้องให้คณะนิติศาสตร์ปรับบทบาท ทิศทาง รวมทั้งปรัชญาในการเรียนการสอนของตนเสียที


ก่อนอื่นผมว่าเราต้องเข้าใจปรัชญาในการเรียนการสอนกฎหมายในชั้นปริญญาตรีเสียก่อน ก่อนที่จะบอกว่ามันทำหน้าที่ได้ดีหรือยัง

ผมเห็นด้วยว่าการเรียนการสอนกฎหมายในชั้นปริญญาตรี นั้น ไม่ได้ลงลึกในภาคปฏิบัติ และแม้จะจบนิติศาสตร์บัณฑิตไปแล้วใช่ว่ารุ่งขึ้นจะสวมครุยทำงาน ว่าความในโรงในศาลได้เลย

เรียกง่ายๆว่า ไม่สามารถไปหากินในทาง "วิชาชีพ" ได้อย่างทันทีเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ท้องทะเล มหาสมุทรกฎหมาย มันกว้างขวางยิ่งใหญ่เกินกว่าเด็กที่ร่ำเรียนรู้จักกฎหมายมาเพียงแค่ 4 ปี (ตามมาตรฐาน) จะเรียนรู้ทุกซอกหลืบของมันได้อย่างแจ่มแจ้ง โดยเฉพาะในแง่มุมของ "ทางปฏิบัติ" ที่ต้องอาศัย "ประสบการณ์" มากไปกว่า "ทฤษฎี"

แล้วอย่างนี้บทบาทของมหาวิทยาลัย หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปคือ “คณะนิติศาสตร์” ควรจะตั้งทิศทางไปในทางไหน ควรจะบ่มเพาะนักศึกษาของตน ให้เจริญเติบโตไปในทางใด?

“คุณยังไม่ใช่นักกฎหมายที่สมบูรณ์ เมื่อคุณจบปริญญาตรี คุณเพียงแค่มีศักยภาพที่จะเป็นนักกฎหมายที่สมบูรณ์เท่านั้น”

“ศักยภาพที่จะเป็นนักกฎหมายที่ดี” จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญอย่างยิ่งในบทบาทหน้าที่ดังกล่าว

ซึ่งก็เป็นคำถามเดียวกันกับคำถามที่ว่า “นักกฎหมายที่ดี” เป็นอย่างไร?

จิตใจแห่งนักกฎหมาย และนิติวิธี : เมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นนักกฎหมายที่ดี

อะไรคือนิยามของนักกฎหมายที่ดี?

นักกฎหมายที่ดีคือนักกฎหมายที่รู้จักและจดจำกฎหมายหมาย ทั้งระดับพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบังคับ คำสั่ง เรียกได้ว่าเป็นตู้กฎหมายเคลื่อนที่

นักกฎหมายที่ดีคือนักกฎหมายที่ท่องจำรู้ฎีกาทุกฎีกาที่สำคัญ พร้อมที่จะงัดออกมาใช้เทียบเคียงกับข้อเท็จจริงที่ตนมี แม่นขนาดโยนประมวลทิ้งได้ แล้วยึดไว้แต่รวมคำพิพากษาฎีกาเท่านั้นก็เพียงพอ

นักกฎหมายที่ดีคือทนายความผู้ยิ่งยง ว่าความมาแล้วทั่วราชอาณาจักร โดยมีสถิติที่สวยหรู ไม่เคยพบกับคำว่า “แพ้”

นักกฎหมายที่ดีคือนักกฎหมาย หรือที่ปรึกษากฎหมายในลอว์ เฟิร์ม ยักษ์ใหญ่ เงินเดือนเรือนแสน มีโภคทรัพย์มากมาย หรูหรา ผู้ใช้เทคนิคทางกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่บริษัทได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเทคนิคเหล่านั้นจะยืนอยู่บนพื้นฐานของ “ความถูกต้อง” หรือไม่

นักกฎหมายที่ดีคือผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้คร่ำหวอดกับบัลลังก์ จนกระทั่งมีญาณหยั่งรู้ผิดถูกดีชั่วได้ โดยเพียงแค่มองด้วยหางตา ฟังแค่หางหู แค่เห็นหน้าพยานก็รู้ว่า อ้ายนี่โกหก โป้ปด แค่เห็นหน้าโจทก์ จำเลย ก็รู้เช่นเห็นชาติ ว่าอ้ายนี่พกลม มาศาลมือดำปี๋ ไม่จำเป็นต้องฟังใคร ประสบการณ์เป็นสิบปีบนบัลลังก์สั่งสมมันสั่งสอน

นักกฎหมายที่ดีคือ “เนติบริกร” รับจัดทำกฎหมายตามใบสั่ง ใช้เทคนิคในการร่างกฎหมาย การใช้และการตีความ ประดิษฐ์นวัตกรรมทางกฎหมายใหม่ๆ สนองผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เอาเป้าหมายเป็นที่ตั้ง แต่ไม่สนใจที่มาหรือหลักการ มองหลักการเป็นอุปสรรคที่จำเป็นต้องยกเว้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการบังคับใช้

นักกฎหมายที่ดีคือ ศาสตราจารย์ระดับ 11 ในมหาวิทยาลัย ชื่อเสียงกระฉ่อน งานวิจัยล้นห้องสมุด ตำราล้นชั้นวาง พูดอะไรใครก็น้อมรับ มีลูกศิษย์ทั่วบ้านทั่วเมือง อาศัยอยู่ในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า “หอคอยงาช้าง”

แล้วศักยภาพของนักกฎหมายที่ดีคืออะไร?

ในห้วงคำนึงของผม ผมเข้าใจว่า “ศักยภาพของนักกฎหมายที่ดี” ก็คงคล้ายกับเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ในวันข้างหน้า

เราจะฝังเมล็ดพันธุ์นักกฎหมายแบบไหนให้แก่ลูกหลานเราดี? เอาแบบนักกฎหมายทั้งหลายหลากที่เกรี่นมาข้างต้นดีไหม?

ในส่วนตัวของผม สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดที่เสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ควรต้องปลูกฝัง สร้างสมให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในระยะเวลาสี่ปีก็คือ

“จิตใจแห่งนักกฎหมาย” (Legal Mind) นั่นแลครับ

จิตใจแห่งนักกฎหมาย จะก่อกำเนิดเกิดขึ้นได้ หาใช่การนำนักศึกษาไปนั่งวิปัสสนากรรมฐาน หรือถือศีลกินเจ หรือการบรรจุวิชา “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” “จริยธรรมนักกฎหมาย” “นักกฎหมายในอดุมคติ” “กฎหมายกับธรรมะ” ฯลฯ ลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ เพียงเท่านั้นไม่

จิตใจแห่งนักกฎหมายสามารถก่อกำเนิดเกิดขึ้นผ่าน “ตัวบทกฎหมาย” ที่ร้อยเรียงกันอยู่ในชื่อว่า “ประมวลกฎหมาย”

สงสัยกันหรือไม่ ว่าประมวลกฎหมายแตกต่างกับกฎหมายที่อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดอย่างไร

แล้วทำไมหลักสูตรทั้งหลายจึงต้องเน้นจัดวิชาให้สอดคล้องกับเนื้อหาในประมวลกฎหมายหลักๆที่เราเรียกว่า “กฎหมายสี่มุมเมือง” อันได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ชาวโรมันยกย่องประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียนว่าเป็น “คัมภีร์แห่งสติปัญญา” หรือ (Ratio Scripta) เหตุเพราะในประมวลกฎหมายได้ร้อยเรียงนำเอาเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางศีลธรรม เหตุผลของนักกฎหมาย หรือแม้แต่เหตุผลทางเทคนิค (ทฤษฎีกฎหมายสามชั้นของ ศาสตราจารย์ ปรีดี เกษมทรัพย์) มาจัดวาง แบ่งหมวดหมู่ ลักษณะ อย่างชัดเจน ท้าวถึงกัน และสอดประสานสัมพันธ์กัน

ไม่ง่ายเลยนะครับที่จะร้อยเรียงเหตุผลมากมาย ผ่านตัวบทลายลักษณ์อักษร แสดงออกมาให้เราใช้และตีความกว่าพันมาตรา

เหตุใดเจ้าของที่ดินที่ต่ำกว่าจำต้องยอมรับน้ำที่ไหลตามธรรมชาติจากที่ดินที่อยู่สูงกว่า และเหตุใดเจ้าของที่ดินที่อยู่สูงกว่าจึงจำต้องยอมปล่อยให้น้ำที่ไหลผ่านที่ดินตน ไหลตามธรรมชาติไปสู่ที่ดินที่อยู่ต่ำกว่าตนด้วย

เหตุใดผู้ที่ปล่อยอาวุธไปต้องสัตว์ไม่มีเจ้าของ แล้วติดตามไป แม้สัตว์นั้นจะล้มตายอยู่ในอาณาบริเวณที่ดินของผู้อื่น กฎหมายก็ยังกำหนดให้ผู้ยิงและติดตามสัตว์มีสิทธิเหนือสัตว์ตัวนั้น

ฯลฯ

กว่าร้อยกว่าพันเหตุผล ถ่ายทอดผ่านตัวบทลายลักษณ์อักษร ขัดเกลาและกล่อมเกลา และแทรกฝังตัวอยู่ในจิตใจของบรรดานักศึกษา ผ่านระยะเวลายาวนานกว่าสี่ปี

นอกจากจิตใจแห่งนักกฎหมายแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “นิติวิธี” (Juristic Method)

ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในบล็อกตอนหนึ่งของผม ยังไงขอคัดเอาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวมาให้อ่านกันนะครับ

“สำหรับนิติวิธีนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ตำนานทางกฎหมายที่ยังมีชีวิตอยู่ อีกท่านหนึ่ง ให้นิยามไว้อย่างนี้ครับ“นิติวิธีนั้นเป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่กับตัวกฎหมาย ไม่จำต้องบัญญัติและถึงแม้จะได้บัญญัติถึงนิติวิธีไว้กฎหมายก็มิได้บัญญัติหลักนิติวิธีไว้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะนิตวิธีมีลักษณะเป็นแนวความคิดที่ฝังตัวอยู่ในระบบกฎหมาย จนเป็นแบบฉบับในทางกฎหมายของระบบกฎหมายนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้าตัวบทกฎหมายเป็นร่างกายนิติวิธีก็เป็นวิญญาณของกฎหมาย”

อ่านนิยามข้างต้นแล้ว ให้ละเหี่ยใจเพราะผมคงไม่สามารถคิดอะไรได้ลึกซึ้งแบบท่านล่ะครับ ลำพังถ้าจะมาเอานิยงนิยามคำว่านิติวิธีกับผม ผมจะทำได้แค่เพียงเปรียบเทียบ สิ่งที่เรียกว่า “นิติวิธี” ให้เป็น “กล่องเครื่องมือ” และเปรียบเทียบ “ตัวบทกฎหมาย” ให้เป็น “หีบมหาสมบัติ” โดยไอ้หีบนั้น มันถูกพันธะนาการไว้ด้วย โซ่ตรวนขนาดล่ามช้าง ล็อกด้วยแม่กุญแจลูกเท่าแม่ไก่ มัดด้วยเชือกล่ามควายสามร้อยหกสิบห้าทบภายในกล่องเครื่องมือใบเขื่องนั้น มีเครื่องมือหลากหลาย ตั้งแต่มีดคัตเตอร์ มีดตอนควาย ไขควง เหล็กขูดชาร์ป ยันระเบิดนิวเคลียร์

หากไอ้เด็กน้อยคนหนึ่ง หลงมาเจอหีบสมบัติ พร้อมกับกล่องเครื่องมือใบเขื่องนั้น มันคงทำหน้างุนงง ไม่รู้ว่าจะใช้อะไรแงะงัดหีบสมบัติใบนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งล้ำค่าภายใน มันคงพยายามเอาไขควงตัดเชือก เอามีดแงะรูกุญแจ แล้วเอาฟันแทะโซ่ตรวน และถ้ามันบ้ากว่านั้น มันอาจจะยิงนิวเคลียร์ทำลายล้างโลกเพียงเพราะต้องการเปิดหีบมหาสมบัติใบนั้น

ท้ายสุด ก็มานั่งร้องไห้ พร้อมกับฟันที่ร่วงหมดปาก มีดบาดไม้บาดมือ แผลเหวอะหวะ

เมื่อหมดความพยายาม มันก็เลิกล้มความตั้งใจที่จะค้นหาสิ่งเลอค่าอมตะ ในหีบสมบัติ พร้อมกับวิ่งมีดไม้ ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนต่อแต่วันดีคืนดี

เมื่อมีใครสักคน ถามมันว่า “ไอ้หนูเอ๋ย ในหีบสมบัติใบนั้น มีอะไรซ่อนอยู่ภายในเล่า” มันก็จะเล่าเป็นฉากๆ ว่ามัน สามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้น ได้อย่างวิเศษ และเปิดหีบใบนั้นได้อย่างง่ายดาย พร้อมกับเล่าเป็นคุ้งเป็นแควว่า ภายในหีบลึกลับใบนั้น ประกอบด้วยทรัพย์สมบัตินานัปการ เพชรนิลจินดามากมายมหาศาล ทองนพเก้าระยิบระยับบาดตาแทบบอดหลายคนรุมล้อมมานั่งฟังขี้ปาก (ที่ไร้ฟันอีกต่อไปหลังจากการทะลึ่งแทะโซ่ที่ล่ามหีบนั้นไว้นั่นแหล่ะ) ของไอ้เด็กเวรนั่น พร้อมกับพลอยพยักเพยิด เชื่อขี้ฟันมันไป ทั้งโดยไม่รู้เลยว่า มันเคยแม้แต่พยายามเอาไขควงไปตัดเชือกล่ามควายด้วย
ซ้ำ

ฉันใดก็ฉันนั้น

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

การเรียนการสอนนักเรียนกฎหมายนั้น ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งจึงเป็นการทำให้นักเรียนตาดำๆเหล่านั้น เรียนรู้การใช้กล่องเครื่องมือกล่องนั้นได้เป็นอย่างดี รู้ว่าไขควง ไม่ได้มีไว้ตัดเชือก และรู้ว่าฟันของเคนเรามันหักง่ายหากใช้ผิดวิธี

จะว่าไปไอ้นิทานกำมะลอของผมเรื่องข้างบนก็ไม่สามารถจะสื่อให้เห็นถึงความสำคัญ ของ “นิติวิธี” ได้อย่างสมบูรณ์แต่อย่างใดหรอกครับ เพราะมันยังขาดมิติของวิญญาณของกฎหมาย ดังที่อาจารย์ปรีดี ท่านว่าไว้

เรื่องเล่าข้างบนของผม มันจำกัดวงอยู่เพียงแค่ เทคนิคการค้นหาความหมายที่แท้จริง ของตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษร โดยต้องผสานความหมายของถ้อยคำ รวมไปถึง “เจตนารมณ์” ของกฎหมายที่อยู่เบื้องหลัง ถ้อยคำอักษรเหล่านั้นให้ได้อย่างพอดิบพอดี นั่นเท่ากับการเปิดหีบมหาสมบัติ และได้สิ่งของทรัพย์สินอันล้ำค่า

เหมือนอ่านกลอน แล้วสัมผัสได้ถึงอารมณ์กวีผู้รจนาให้ได้อย่างไรอย่างนั้นแหล่ะ

เมื่อนักเรียนกฎหมายมีนิติวิธี หรือมีเทคนิคการใช้เครื่องมือดังกล่าว เป็นอย่างดี และสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง เพื่อค้นหาความหมายที่ถูกต้องแท้จริง เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวหนังสืออันแข็งกระด้างตายตัวเหล่านั้น ได้เท่าเทียมกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใดในระบบ ก็สามารถค้นหา ใช้ และตีความกฎหมายฉบับเหล่านั้น ได้อย่างถูกต้อง และเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว (เหมือนกับที่อาจารย์คณิตแกเคยพูดติดตลกหน่อยๆว่า การตีความกฎหมาย ใครว่าตีความได้หลายนัย มันมีนัยเดียว ก็คือ นัยที่ถูกต้องนั่นแหล่ะ)

เหมือนคุยภาษาเดียวกัน เมื่อประกอบกับ “จิตใจแห่งนักกฎหมาย” แล้ว แหม…โลกนี้สีชมพูเหลือเกิน

แต่โลกแห่งความจริงมันไม่ใช่ มันยังมีนักกฎหมายแบบเด็กน้อยฟันหลอที่พูดเพ้อเจ้อ เรื่อยเปื่อย และบิดเบือนอยู่อีกมากมายอย่างไรก็ตามครับ แม้จะมีกล่องที่มีเครื่องมือสดเอี่ยม ใหม่ ใสกิ๊ก ดีเลิศ คุณภาพดีเพียงใด แต่หากหีบสมบัติใบนั้นหาได้มีมหาสมบัติใดซ่อนอยู่ภายใต้ หากมีแต่หยากไย่ คร่ำครึ กลิ่นเหม็นอบอวล ชวนอาเจียน ก็ไร้ซึ่งความหมายที่เราจะทุ่มเทเครื่องไม้เครื่องมือ และสรรพกำลัง ไปงัดและแงะมันออกมา

มหาสมบัติอันยิ่งใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ หีบล่ำสัน อันเป็นสัญลักษณ์แทนถ้อยคำลายลักษณ์อักษรนั้น หาใช่สิ่งอื่นใด มันคือสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” เหตุและผลของเรื่อง “Nature of Things” เป็นสิ่งที่มันต้องเป็นไปตามเหตุและผลที่กำกับเรื่องราวนั้นอยู่ ตัวอย่างก็เช่นเรื่องการรับน้ำจากที่ดินสูงต่ำนั่นแหล่ะครับ”


ลำพังแค่เพียง การปลูกฝังจิตใจแห่งนักกฎหมาย และนิติวิธีที่แม่นยำ ให้แก่บรรดานักศึกษากฎหมาย ก็เป็นงานที่ยากยิ่ง (แต่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน) ของเหล่าพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ทางนิติศาสตร์มากโขแล้วล่ะครับ

สำหรับองค์ความรู้ในทางปฏิบัติคงต้องยกยอดให้เป็นภาระหน้าที่ของสถาบันอื่นช่วยๆกันหน่อย ไม่ว่าจะเป็น “เนติบัณฑิตยสภา” “สภาทนายความ” หรือแม้แต่ บรรดาองค์กรทั้งหลายในภาคปฏิบัติ

นอกจากจะไม่ทับซ้อนแย่งกลุ่มลูกค้าเดียวกันแล้ว ยังประสานกันเติมเต็มความรู้ความสามารถให้นักศึกษาและนักกฎหมายได้เป็นอย่างดีด้วย (เหมือนกับที่ศาสตราจารย์จิตติ เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่า อาจารย์ที่สอนที่เนติบัณฑิต กับที่ธรรมศาสตร์ ควรจะเป็นคนละกลุ่มกัน เพราะสอนกันคนละอย่าง)

ภาวการณ์ปัจจุบัน : วิชาชีพครอบงำวิชาการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตส่วนใหญ่ย่อมต้องก้าวกระโจนสู่ถนนแห่งวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นิติกรประจำส่วนราชการ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย อัยการ ผู้พิพากษา แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัย (สำหรับการประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยอาจใช้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อกิจการ การค้าของตัวเอง คงไม่จัดเป็น “วิชาชีพกฎหมาย” ตามความหมายดั้งเดิม)

และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ในด้านหนึ่งของคำว่า “วิชาชีพ” ก็คือ คำว่า “อาชีพ” นั่นเอง และสองข้างทางของถนนรนแคมแห่ง “วิชาชีพ” นั้นมักเต็มไปด้วย “ชื่อเสียง เกียรติยศ ลาภยศสรรเสริญ และเงินทอง”

ดังนั้นไม่น่าประหลาดใจเมื่อเดินทางไกลบนถนนสายนี้ หลายคนจึงมักสะดุดและหยุดอยู่ เพื่อชื่นชมกับสิ่งของข้างทางเหล่านั้น โดยหลงลืมละเลยที่จะมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง หรือแม้แต่ละทิ้งเส้นทางเดิน ลงรกพงไพรลำคลองหนองคู เสียผู้เสียคนไปก็มาก และมากไปกว่านั้นหลายคนไม่เคยทราบเลยว่า จุดหมายปลายทางแห่งถนนสายนี้คืออะไรมาตั้งแต่ต้นมือเริ่มเรียนเลยด้วยซ้ำ ได้แต่เดินเอื่อยไปวันๆแบบไม่รู้จุดหมายปลายทาง

หลายคนความคิดกว้างไกลกว่านั้น วางแผนเตรียมพร้อมที่จะออกเดินทางไกลตั้งแต่ยังเรียนอยู่ และมักผิดหวังกับการจัดหลักสูตรที่มักจะไม่มีวิชา หรือมีแต่ก็มักจะไม่ได้เน้นองค์ความรู้ทางปฏิบัติสักเท่าไหร่ ทำนองกลัวจะออกตัวช้ากว่าชาวบ้านยามเสียงปืนดังขึ้น

หนักข้อกว่านั้น ผู้บริหารคณะนิติศาสตร์ทั้งหลาย ด้วยตระหนักว่าศิษย์ของตนอาจวิ่งแข่งสู้เขาไม่ได้บนถนนแห่งวิชาชีพ จึงพยายามปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับ และเน้นการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติให้มากขึ้น โดยพยายามตัดวิชาในเชิง “นิติศาสตร์เชิงคุณค่า” เช่น นิติปรัชญา หรือแม้แต่ “นิติศาสตร์เชิงข้อเท็จจริง” อย่างเช่น ประวัติศาสตร์กฎหมาย กฎหมายกับสังคม หรือความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศาสตร์อื่น ทำนองศาสตร์เปรียบเทียบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่กฎหมายภาคปฏิบัติ ซึ่งมักเป็น “นิติศาสตร์โดยแท้” มากขึ้น

แม้แต่ค่านิยมการใช้สนามสอบเนติบัณฑิตมาเป็นเครื่องชี้วัดความดีเด่นของคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศก็อยู่ในวงวนนี้ด้วยเช่นกัน

เหมือนกับที่อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล แห่งนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ท่านว่าไว้ ว่าคณะนิติศาสตร์หลายสถาบันกำลังประพฤติตนเป็นแค่เพียง “โรงเรียนเตรียมเนติฯ” หรือเป็นแค่เพียง “สาขาย่อย” นั่นเอง

ผมไม่ได้ปฏิเสธมิติแห่งวิชาชีพ และไม่ได้เรียกร้องให้นักเรียนกฎหมายทุกท่านต้องมีความเป็นนักวิชาการ บนหอคอยงาช้าง ผมเพียงแต่เรียกร้องให้ทุกท่านคำนึงถึงมิติแห่งความสอดคล้องประสาน เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ระหว่าง “วิชาชีพ” และ “วิชาการ” หรือกล่าวให้ง่ายก็คือ “ทางปฏิบัติ” กับ “หลักทฤษฎี” ก็คงไม่คลาดเคลื่อนนัก

การที่เรามองเห็นถึงความสำคัญรวมไปถึงความสัมพันธ์ของแต่ละมิติดังกล่าว ย่อมทำให้เรากำหนดบทบาทหรือกรอบภารกิจของแต่ละภาคส่วนในสายพานการสร้างนักกฎหมายที่ดีให้แก่สังคมได้พอสมควร และกำหนดทิศทางรวมทั้งปรัชญาในการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ได้บ้างไม่มากก็น้อย

แม้การเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ โดยเฉพาะในชั้นปริญญาตรีอาจจะไม่ได้เน้นองค์ความรู้ทางปฏิบัติที่เหล่านิติศาสตรบัณฑิตจะนำไปประกอบการหาเลี้ยงชีพมากมายนัก แต่มันก็น่าสร้างเกราะป้องกันทางความคิดและจิตใจของเหล่าบัณฑิต ให้ต้านทานกระแสแห่งความโหดร้าย ของการใช้กฎหมายในภาคปฏิบัติรวมทั้งโลกแห่งความเป็นจริงได้บ้าง

12 Comments:

Anonymous Anonymous said...

จิตมนุษย์ยากแท้หยั่งถึงค่ะ

3:24 PM

 
Blogger logakoo said...

เลื่อมใสๆ

12:12 AM

 
Anonymous Anonymous said...

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่า

11:10 AM

 
Anonymous Anonymous said...

หวัดดีปีใหม่นะคะน้องต้อง
หวังอะไรไว้ ก็ขอให้สมหวังทุกอย่างนะคะ

6:34 AM

 
Anonymous Anonymous said...

จะได้นำไปคิดไตร่ตรองและปรับใช้กับชีวิตตัวเองดูครับ....ขอบคุณที่เขียนสิ่งดีๆให้อ่านนะครับ

1:01 AM

 
Anonymous Anonymous said...

ชอบงานเขียนชิ้นนี้มาก

pattaya

6:10 PM

 
Anonymous Anonymous said...

สวัสดีปีใหม่ครับพี่ต้อง
ขอให้ปีนี้พี่ต้อง ผอมขึ้น ผอมขึ้น ผอมขึ้น หุหุหุ
พูดผิดครับ ผอมลง อิอิ
ขอให้ทำงานสำเร็จราบรื่นดังที่มุ่งหวังนะครับ
ปล.เป็นผู้ว่าสตง.คนต่อไปเลยดีกว่า หุหุ

อยากไปงานสัมมนางานวิจัยอะครับ แต่ อยุธยา... เศร้าเลย ไว้รอฟังเล่าใน blog นี้ หรือ โอเพ่นดีกว่า ตั้งแต่โกร๋นบาร์เบอร์มารอนานแล้วนะครับ

อ่อ ลืมอวยพรไปอย่างหนึ่งครับ
ขอให้พี่ต้องมีแฟนไวไวนะครับ อิอิอิ
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๔๙ ครับ

นิติศาสตร์ในฝันขออนุญาตพี่ต้องปรินท์อ่านนะครับ อ่านหน้าคอมพ์นานๆ มันเบลอ

2:43 AM

 
Blogger crazycloud said...

เยี่ยมยุทธ

5:35 AM

 
Blogger sweetnefertari said...

สงสารต้องจัง เรารู้ว่าต้องเหนื่อยมาก

สู้ๆเข้านะ...

แล้วก็รักษาสุขภาพด้วยเน้อ

กลัวไม่มีคนไปส่งบ้าน อิ อิ

9:24 AM

 
Blogger felice farfalla said...

เข้ามาเยี่ยมค่า
เอาไว้จะมาเยี่ยมใหม่ :)

7:05 PM

 
Blogger Soulseeker said...

เห็นด้วยในหลากมุมมองครับผม บางทีการมองอย่างบูรณการวิลัยเช่นนี้ตัวกระผมโหยหาให้มีอยู่ในทุกผู้ทุกคนที่เป็นมิแต่เพียงนักกม. แต่ในทุกสาขาที่มีความเป็น"วิชาชีพ" มิแต่เพียง "อาชีพ"

เพราะในวิชาชีพเหล่านี้ยิ่งก้าวไปข้างหน้าเท่าไหร่ การเด็ดดอกไม้ยิ่งสะเทือนถึงดวงดาวได้มากขึ้นเท่านั้น

ตัวกระผมในมุมมองของอดีตนักศึกษาผู้เพิ่งจะถูกถีบก้นออกมาจากมหาลัยที่ใกล้พระจันทร์ที่สุดอย่างโชคเลือดและเหนื่อยล้า ผมเห็นทั้งตัวกระผมเองและเพื่อนรุ่นเดียวกับกระผมทั้งหลาย ต่างเหน็ดเหนื่อย สับสน งุนงง ทางความคิด

มิได้ปลอดโปร่งมองทะลุ

ทั้งในความเหนื่อยล้าในการศึกษาที่มักจะกล่าวกันว่าคณะอะไรก็ไม่รู้ ไม่น่าเข้ามาเรียนเลย ยากฉิบเป๋ง ทำไมถึงอาจไม่เข้าใจ ทำไมมันมีมาตรามากมาย

ทั้งในความเงี่ยนง่าน ทะนงตน ว่าข้าพเจ้าคือพอบรรลุฎีกานิพพานหรือประมวลนิพพาน... แต่สุดท้ายยังงุนงงโดยปราศจากโลกแห่ง "Legal mind" และ "juristic method"

ทั้งในวัฒนธรรมหาธงคำตอบที่อาจารย์จะบอกใบ้ในชั่วโมงสุดท้ายก่อนสอบ ทั้งการถ่ายเอกสารเล็คเชอร์ของเพื่อนผู้เรียนเก่ง ทั้งในการท่องเพื่อจำ

คณะนิติศาสตร์ปัจจุบันกำลังเดินทางไปที่ใดหรือ

และส่วนใหญ่หลงลืม รังเกียจ รำคาญ หรือรู้จักแต่เพียงเพื่อผ่าน ในวิชา "นิติปรัชญา"

หลายคนหัวเราะกับคำสอนของอาจารย์สมยศ ที่ว่า เก้าอี้คืออะไร เพื่อนำมาสู่คำว่ากม.คืออะไร

ในกรอบเดียวกัน

ความสุขคืออะไร ชีวิตคืออะไร

หรือคณะนิติศาตร์ปัจจุบันกำลังนิยามคำว่ากม.คืออะไร
คือ การทำคะแนนสูงสุด การทำเงินสูงสุดและหรือครองอำนาจสูงสุด สร้างเกียรติประวัติสูงสุด

ขอบคุณพี่อีกครั้งที่เขียนบทความนี้ ขอให้การเด็ดดอกไม้ครั้งนี้ของพี่สะเทือนถึงดวงดาว

3:03 AM

 
Blogger ratioscripta said...

พอดีเพื่อนผมอ่านบล็อกตอนนี้ของผมแล้ว แอบหลังไมค์คอมเมนต์มายังอีเมลของผม อ่านแล้วไม่อยากเก็บไว้คนเดียวผมขออนุญาตถือวิสาสะ มาโพสในนี้ให้หลายคนได้อ่านกันครับ

"อ่านแล้วก็นึกถึงคำพูดของคุณตาของเรา ซึ่งแม่เราบอกมาอีกทีว่า นักศึกษาที่จบปริญญาตรีรู้วิธีเรียนเท่านั้น ที่เหลือคือการเรียนในชีวิตทำงาน ฉะนั้น บัณฑิตปริญญาตรีควรมีความรู้ในการเรียนรู้ เพราะไม่ว่าวิชาชีพใด ต้องเริ่มต้นเมื่อจบและทำงานเหมือนกันทั้งนั้น

ถ้าให้เราเปรียบ เราคงเปรียบกับการสั่งสอนบุตรธิดา เราเคยถามแม่เราว่าในโลกแห่งความชั่วร้ายนี้ แม่วางใจได้อย่างไรว่าลูกของแม่จะไม่ยอมตนแก่ฝ่ายต่ำ คือไม่เลี้ยวไปในทางที่ผิด แม่ตอบว่า แม่เลี้ยงมาได้เท่านี้ โดยเชื่อว่าที่เลี้ยงที่ปลูกฝังมาลูกมันจะมีปัญญาและวิจารณญาณพอ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ฯลฯ เช่นเดียวกัน เราคิดว่านักศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่ว่าสาขาใด ก็ควรจะได้รับการปลูกฝัง ในฐานะที่จะออกไปเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมได้และในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะทางแต่ละทาง ให้มีความรับผิดชอบ ให้มีคุณธรรม และให้มี legal mind หรือวิญญาณของสาขาอื่นที่เรียนมา เพื่อจะได้มีวิจารณญาณในการประกอบอาชีพและดำรงตนในสังคมเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การสร้างวิจารณญาณก็เปรียบเสมือนการปลูกจิตสำนึกนั่นเอง ส่วนการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติเป็นการฝึกฝน ซึ่งต้องปฏิบัติต้องสั่งสมจากหน้าที่การงาน

เราจึงเห็นด้วยที่ว่าองค์ความรู้ทางปฏิบัติให้เป็นภาระหน้าที่ของสถาบันอื่นช่วยๆ กัน (ซึ่งก็ไม่ได้ทำกันเพราะไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่านึกว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร ผลาญเงินประเทศชาติไปวันๆ สร้างความร่ำรวยให้พวกพ้อง เป็นต้นสงสัย) ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย นักกฎหมายรุ่นพี่ก็ต้องมีหน้าที่ฝึกฝนนักกฎหมายรุ่นน้องให้รู้จักใช้กฎหมาย ว่าความ ให้คำปรึกษา ต่างๆ นานา กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานราชการมีบทบาทรับใช้ประชาชนตามขอบเขตแห่งหน้าที่ ก็ควรต้องฝึกฝนอบรมนิติกรของตนให้สามารถรับใช้ประชาชนในกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ บัณฑิตที่จบมาจะต้องมีความพร้อมในการรับการฝึกฝนดังกล่าว นั่นคือ เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่มหาวิทยาลัยหรือคณะต้องตั้งเป้าต่างหาก คณะไม่ได้มีหน้าที่ไปคิดเองในทางปฏิบัติว่านักศึกษาต้องรู้อะไร ทำอะไรเป็น มีหน้าที่วางพื้นฐาน legal mind ที่ว่าให้ดี แค่นี้ก็ยากเย็นแสนเข็ญแล้ว ไปนั่งเข้าฌาณการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติมันจะเกินหน้าที่ไป"

ว่าแล้ว เมื่อไหร่พลอยจะเขียนบล็อกสักทีล่ะครับ

9:43 PM

 

Post a Comment

<< Home