Saturday, December 24, 2005

กฎหมายตราสามดวง : แว่นส่องสังคมไทย ครั้งที่ 6


ผ่านไปไวเหมือนโกหก

สามปีกับการวนเวียนเป็นหนึ่งในคณะวิจัยของโครงการ “กฎหมายตราสามดวง : ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก”

สามปีกับงานวิจัยที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเพียงชิ้นเดียว…

ไม่อยากคิดค่าเฉลี่ยเป็นตัวเลข…คงอดสูน่าดู

ครั้งนี้ไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีแก้ตัว เพราะเป็นการจัดงานเพื่อรายงานผลการวิจัยเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการในเฟสแรก (ไม่ได้ใจหายหรอกนะ…แต่หนักใจมากกว่าเพราะแสดงว่ามันจะมีเฟสสอง)

ไม่มีที่ให้ถอยอีกต่อไป

งานครั้งนี้จึงต้องมีผลงานของผมรวมอยู่ด้วย อย่างจำเป็น

จำนวนสองชิ้นควบ…(ฉายควบเหมือนโรงหนังแถวดาวคะนองบ้านนิติรัฐ)

……………………………………..

ขอใช้เนื้อที่บล็อกประชาสัมพันธ์งานในโครงการที่ผมเป็นนักวิจัยหน่อยครับ

ผมจำได้ว่า เคยประชาสัมพันธ์งานในทำนองอย่างนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อกาลเก่าก่อน หากจะกรุณาจำกันได้

คราวนี้เวียนมาบรรจบครบรอบที่จะต้องจัดอีกครั้งแล้วครับ และครั้งนี้ถึงคิวผมที่จะต้องขึ้นเวทีรายงานผลการวิจัย (ที่ยังลอยอยู่ในอากาศขณะนี้ กำลังเอาสวิงสวายช้อนอยู่)
คราวนี้ไม่ธรรมดาครับ เพราะจัดนอกกรุงเทพเป็นครั้งแรก

เราเน้นคอนเซ็ปต์ “พากฎหมายตราสามดวงกลับบ้าน”

ใช่ครับ งานครั้งนี้เราจัดกันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเก่าของเราครับ

ณ โรงแรม กรุงศรีริเวอร์ ถนนโรจนะ (มีคนบอกว่าผีดุมาก…เวรแล้วครับ ผมยิ่งเป็นพวกขี้เกรงใจกับสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่)

งานจัดสองวันครับ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 20 ถึงเสาร์ที่ 21 มกราคม 2549

รายการที่น่าสนใจครับ

1. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง กฎหมายตราสามดวงในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ โดย อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร หัวหน้าโครงการวิจัยของผมเองครับ

2. รายงานผลการวิจัยเรื่อง การใช้คำภาษาบาลีสันสกฤตในกฎหมายตราสามดวง โดย อาจารย์ สยาม ภัทรานุประวัติ นักวิชาการหนุ่มรูปงามอีกคนในวงวิชาการ (สูสีกับกระต่ายน้อย) หน้าตาไม่น่าเชื่อว่าจะมาเอาดีทางนี้

ภาษาบาลีสันสกฤตถือได้ว่ามีนัยสำคัญในกฎหมายตราสามดวงอยู่พอสมควรนะครับ การอ้างคาถาภาษาบาลีอยู่ในส่วนของพระธรรมศาสตร์ และพระอัยการลักษณะสำคัญที่สืบเนื่องจากหลักการของพระธรรมศาสตร์นั้นมีให้พบเห็นการดาษดื่น ทำนองว่าเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ และอิงหลักการแห่งพระพุทธศาสนาน้อมนำเข้ามาแทรกแฝงอยู่ในกฎหมายบ้านเมือง

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่คัดลอกคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาแต่ครั้งกระโน้น (เมื่อไหร่นักประวัติศาสตร์ยังระบุจุดของเวลาให้ชัดเจนยังไม่ได้ แต่พบว่าสมัยสุโขทัยก็มีการกล่าวถึงพระธรรมศาสตร์กันแล้ว) ก็ได้ความว่าต้นฉบับนั้นเป็นภาษา “มคธ” (ก็น่าจะเป็นภาษาบาลีนี่แหล่ะครับ) แล้วจึงแปลงมาเป็นภาษาไทย

การชำระสะสางกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านก็ทรงโปรดฯให้ลูกขุน อาลักษณ์ จำนวน 11 คน ร่วมกันชำระกฎหมาย โดยยึดเอาคาถาบาลีนี่แหล่ะครับเป็นหลัก เพ่งเล็งดูเนื้อความว่าต้องตรงตามบาลีหรือไม่ นอกเหนือไปจากการที่จะต้องตรงตามเหตุผลและความยุติธรรมอยู่แล้วนะครับ

ไปรายการต่อไปดีกว่านะครับ

3. เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ภูมิสถานพระราชวังหลวงอยุธยา” โดย อาจารย์ จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ สุดยอดแห่งรายการที่ไม่ควรพลาด นอกจากความน่าสนใจในตัวภูมิสถานของพระราชวังหลวงในตัวอยู่แล้ว เมื่อประกอบการบรรยายโดยอาจารย์จุลทัศน์ เข้าให้แล้ว

มันส์หยดติ๋งครับ…เสมือนข้าราชบริพารในวังหลวงสมัยอยุธยากลับชาติมาเกิดอย่างไรอย่างนั้น

4. รายการนี้โปรโมชั่นครับ…ผู้เข้าร่วมสัมมนาพร้อมกันที่ท่าเรือโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ เพื่อล่องเรือชมเกาะเมืองอยุธยา โดยมีวิทยากรเจ้าเก่า อาจารย์จุลทัศน์ คนข้างบนนั่นแหล่ะครับ…วิ้ววววววววววววววววว

หมดวันแรกครับ…นอน….ก่อนนอน

สวดมนต์หนักๆครับ

ตื่นเช้าขึ้นมา พบว่าตัวเองหลับสนิท สบาย ไม่ฝันไม่เห็น ไม่รู้สึกอะไร ฮ่าๆๆๆๆ สาาาาาาาาาาาาาาาาธุ

มากันที่โปรแกรมวันแรก

1. ไม่ใช่ใครที่ไหนอื่น รายการของผมเองครับ…เรื่องนี้เลย “หน้าที่และจริยธรรมของตระลาการและกระบวนการอุทธรณ์ ศึกษาจากพระไอยการลักษณะตระลาการและพระไอยการลักษณอุธร”

สองเรื่องควบ คือ พระไอยการลักษณะตระลาการ สนธิกับ พระไอยการลักษณะอุธร (เขียนตามของเดิม) ความน่าสนใจของพระไอยการ (อัยการ) ทั้งสองคือ การให้ความสำคัญกับผู้ตัดสินคดีความอย่างยิ่งในสังคมโบราณ เราจะพบได้ว่า ทั้งในพระธรรมศาสตร์ และหลักอินทภาษ อันถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในโครงสร้างของกฎหมายตราสามดวง ต่างก็ให้ความสำคัญและกล่าวเน้นย้ำถึงคุณสมบัติของผู้พิพากษาตระลาการ (ตุลาการนั่นเองครับ แต่คำที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงมักเขียนว่า “กระลาการ” ไม่ต้องตกใจครับ ตอเต่า กับ กอไก่ มันเพี้ยนเสียงกันได้ เหมือนที่ก๋งผมชอบพูดคำว่า “เตรียม” เป็น “เกียม” ประจำ…อีกตัวอย่างก็คำว่า “กระทรวง” แต่เดิมที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงคือ “ตระทรวง” ครับ)

การกระทำใจให้ปราศจากอคติทั้งสี่ประการ คือ รัก กลัว โกรธ หลง นั้นเป็นหัวใจของผู้ที่จะทำหน้าที่ตัดสินคดี นอกเหนือจากความเฉลียวฉลาดในเชิงบทกฎหมาย และสติปัญญา สัมปชัญญะ และวิจารณญาณในการพิเคราะห์ปัญหาทั้งหลายในคดีที่ต้องมีอยู่แล้วด้วย

สมัยโบราณของเราเลยไม่ค่อยกังวล หรือต้องกำหนดกระบวนพิจารณาให้มันซับซ้อนยุ่งยาก เทคน่ง เทคนิคลึกล้ำมากมายดั่งปัจจุบันวันนี้ครับ

เน้นไปที่ตัวผู้พิพากษาตระลาการกันอย่างเดียว แล้ววางแค่กรอบกว้าง และขั้นตอนกระบวนการต่างๆเป็นลำดับเท่านั้นเป็นพอ อย่างมากก็ต้องคอยปิดช่องโหว่กรณีบรรดาคู่ความรู้มาก ชอบเอาเปรียบกันในทางคดี เช่น ประวิงความให้ล่าช้าไป เพราะเห็นว่าตัวจะแพ้ จนกระทั่งทำคุณไสยกันในศาลระหว่างที่กำลังพิจารณาก็มีนะครับ (ฮา)
และด้วยเหตุที่การพิจารณาสอบสวนทวนความคดี ต้องกระทำ ณ บ้านตระลาการเอง โดยต้องจำลูกความทั้งคู่ไว้ด้วย ไม่ให้ไปไหนมาไหนตามใจชอบ เหตุผลที่พอจะสันนิษฐานได้ก็คือ ต้องการให้การค้นหาความจริง และการพิจารณาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง (สุดโต่งยิ่งกว่าการบังคับให้ศาลต้องพิจารณาคดีต่อเนื่องที่ยังให้ศาลปวดกบาลในัปัจจุบันนี้อีกนะครับ) เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรมนั่นเอง
อีกประการหนึ่งคือ การป้องกันลูกความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปกระทำการยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน ขู่พยาน อุ้มพยานนั่นแหล่ะครับ และรวมไปถึงการทำร้ายทำลายระหว่างคู่ความกันเอง รวมไปถึงญาติมิตรครอบครัวของทั้งสองฝ่ายด้วย

และเมื่อต้องมาอาศัยอยู่ในบ้านเรือนตระลาการ ความใกล้ชิดก็บังเกิด ยิ่งลูกความเป็นสาวเป็นนาง มีความเป็นไปได้สูงที่ตระลาการ (รวมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับต้นทั้งหลายที่เรียกว่า ภูดาษ และพะทำมะรง) จะกระทำการ “แพละโลม” (ทำนองแทะโลมในปัจจุบันนั่นแหล่ะครับ) สาวเจ้า

นอกจากนั้น เมื่อคู่ความต้องถูกเกาะกุมจำอยู่ในบ้านเรือนตระลาการ ก็ต้องร้อนถึงบรรดาญาติพี่น้องต้องนำข้าวปลาอาหารมาส่ง รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ด้วย ซึ่งก็แน่ล่ะตามนิสัยคนไทย ไปถึงเรือนชานใครก็มักต้องมีของติดไม้ติดมือไปฝากไปฝัง แล้วอย่างยิ่ง เป็นบ้านตระลาการขุนนางผู้ใหญ่ด้วย แถมยังให้คุณให้โทษลูกหลานตนที่อยู่ในความควบคุมของท่านอีก

มันก็ต้องมีการ “จิ้มกล้อง” กันหน่อย

ระบบวาณิชอุปถัมภ์แบบไทยๆ ผสมผสานกับความจำเป็นในการอยู่อาศัยที่ข้าราชการสมัยโบราณไม่มีเงินดาวน์เงินเดือนใช้ ได้รับแต่เบี้ยหวัดประจำปีซึ่งก็น้อยเหลือหลาย ก็ต้องอาศัยว่าความเก็บค่าฤชาธรรมเนียม พิไนยหลวงกินประทังไปได้ เมื่อมีพ่อค้ามาเลี้ยงถึงที่ จะปฏิเสธก็กระไรอยู่

เหตุการณ์ข้างต้น ย่อมนำมาสู่การตัดสินคดีลำเอียงโดยอคติของตระลาการ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม…

การตัดสินคดีโดยเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยผิดไปจากพระธรรมศาสตร์ราชศาสตร์ ย่อมเป็นเหตุที่คู่ความฝ่ายที่แพ้ หรือเสียเปรียบ สามารถฟ้องอุทธรณ์ตระลาการผู้พิจารณาความได้

การอุทธรณ์สมัยโบราณ ไม่เหมือนกับปัจจุบันทีเดียว เนื่องจาก การอุทธรณ์ในปัจจุบันถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาของศาล ประหนึ่งยังอยู่ในสายพานที่โจทก์จำเลยสามารถเดินเกมส์กันต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

แต่การอุทธรณ์ในสมัยก่อนโน้น หมายถึงความวิวาท ระหว่าง “คู่ความที่เสียประโยชน์ หรือพ่ายแพ้จากคำตัดสิน” กับ ตัวตระลาการผู้พิจารณา เลยทีเดียว เรียกง่ายๆว่า ฟ้องตระลาการให้รับผิดเนื่องจากตัดสินคดีหรือพิจารณาคดีตนผิดพลาดนั่นเอง ซึ่ง หากคู่ความที่อุทธรณ์ชนะแล้วล่ะก็ อาจส่งผลให้ตระลาการต้องชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับความผิดพลาด รวมไปถึงคดีเดิมที่ตัดสินไปแล้วอาจมีการรื้อฟื้นมาพิจารณากันใหม่ โดยส่งให้ตระลาการคนเก่าเป็นผู้พิจารณาแทน นอกจากนั้นหากเข้าด้วยความผิดในลักษณะอาชญาหลวงแล้วล่ะก็ มีหวังตระลาการได้โดนโทษทางอาญาอีกกระทงด้วย

เอาเป็นว่าจบการายงานพอสังเขปในหัวข้อของผมไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ (เห็นได้ชัดว่าผมมีความเที่ยงธรรมในการให้ข้อมูลในหัวข้อต่างๆเป็นอย่างยิ่ง ไม่เลือกที่รักมักที่ชังแต่อย่างใดเลย…ฮา)

2. เรื่องต่อจากผมครับ เรื่องนี้ก็น่าสนใจทีเดียว “โทษทัณฑ์ในกฎหมายตราสามดวง” อันนี้วิจัยโดยรุ่นพี่จากรั้วเดียวกัน ว่าที่ร้อยตรี มนตรี เงินสวัสดิ์ครับ ศิษย์ในที่ปรึกษาคนเดียวกันอีกต่างหาก

น่าสนใจทีเดียวครับ อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์ไทยในกฎหมายตราสามดวง (ในโอเพ่นออนไลน์) ว่าการใช้ทัณฑ์ให้ถูกต้องเหมาะสมนั้น ทัณฑ์นั่นแหล่ะคือเครื่องรักษา “ธรรม” เสมือนพ่อตาใช้ไม้ “ตะพด” เพ่นกบาลเพื่อรักษาไว้ซึ่งลูกสาวคนสวยของตัวเองนั่นแล

ทั้งยังน่าสนใจมากขึ้นไปอีกเมื่อเราพบว่า รูปแบบของการลงโทษต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความผิดที่รุนแรงนั้น สังคมบ้านเรามักชอบเขียนเสือให้วัวกลัว โดยยกเอาโทษทัณฑ์ หรือบาปเคราะห์ต่างๆที่สัตว์นรกจะต้องได้รับ มาบัญญัติไว้ในกฎหมาย ทำนองจะให้คนกลัว อย่างในพระอัยการกบฏศึก แต่ในความเป็นจริงกลับปรากฏว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าโทษที่จำลองมาจากการลงโทษสัตว์นรกในอบายภูมินั้นได้ใช้จริงๆ เช่น การเลาะกะโหลกออก แล้วเอาถ่านไฟร้อนๆเคี่ยวให้มันสมองเฟื่องฟู หรือการตัดเนื้อให้เป็นริ้วๆ แล้วให้นักโทษเดินเหยียบเนื้อตัวเอง โอ้จอร์จ…

จะมีบางโทษที่มีปรากฏในพงศาวดารอยู่บ้างเช่น การใช้มีดผ่าตัดกลางตัวให้ขาดเป็นสองท่อนอะไรเทือกนั้น ซึ่งก็ยังห่างไกลจากดีกรีความสยดสยองที่ตราไว้ในกฎหมายข้างต้น

3. รายการสุดท้ายของงานครับ “การจัดการมรดกของไทยสมัยอยุธยา ศึกษาจากกฎหมายตราสามดวง” นี่ก็น่าสนอีก โอย น่าสนไปหมด

การแบ่งมรดกแม้จะเป็นเรื่องในครัวเรือน ในมุ้ง แต่ถ้ากฎหมายไม่กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนไว้แล้ว เชื่อแน่ว่า บ้านแตกครับ โดยเฉพาะบรรดาคหบดีเศรษฐีทั้งหลาย (ดูตัวอย่างได้ในยุคปัจจุบันครับ ไม่ได้แตกต่าง ความโลภของมนุษย์เป็นสัจจะเสมอ)

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า การแบ่งมรดกในสมัยก่อนนั้นมีแนวคิดในเรื่องครอบครัว สายสัมพันธ์ ความกตัญญู อย่างละเอียดลึกซึ้งแทรกแฝงไว้อยู่เสมอ ต่างจากปัจจุบันที่แบ่งกันหยาบๆ กล่าวคือ ถ้าเป็นทายาทอยู่ลำดับเดียวกัน ก็หารเท่า ทำนองนั้น แต่ถ้าสมัยก่อน ลูกคนโต กับคนเล็กนี่ได้ไม่เท่ากันนะครับ ลูกคนโตได้มากกว่า เพราะอะไรครับ เขาถือว่าเป็น “ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก” ของพ่อแม่ มันเกิดมาตอนที่พ่อแม่ยังลำบากต้องมาช่วยพ่อแม่ทำงานสร้างตัว ไม่เหมือนไอ้คนหลังๆ เกิดมาตอนที่พ่อแม่ครอบครัวสบายแล้ว

หรือเงื่อนไขในการรับมรดก มีเอาเรื่องการทดแทนคุณและความกตัญญูกตเวทีมาพิจารณาด้วยเสมอ ผู้เนรคุณย่อมถูกตัดขาดจากกองมรดก และยังมีรายละเอียดอื่นที่น่าสนใจอีกหลายประการครับ เมียผัว เมียใหม่ ผัวเก่า จิปาถะ

เป็นอันว่าจบครับ

การสัมมนาครั้งนี้ก็มีการจัดทำเอกสารงานวิจัยของผู้นำเสนอทุกคนรวมเล่มเป็นกระดาษอัดสำเนาเช่นเคยเหมือน 5 ครั้งที่ผ่านมา เอาเป็นว่าพี่ๆน้องๆคนใดสนใจก็ลองแสดงความจำนงกันมาครับ เผื่อจะได้กันไว้ให้ (ถ้าเหลือ … คิดว่าเหลือแน่ๆ ฮา) แต่ของฟรีไม่มีในโลกครับ…ผมยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจอยู่

เงินน่ะซื้อผมไม่ได้หรอกครับ

ถ้าไม่มากพอ

6 Comments:

Blogger ratioscripta said...

อ้อ ลืมแนะนำไปครับ

ผู้วิจัยผลงานชิ้นสุดท้ายที่จะนำเสนอ (มรดกนั่นแหล่ะครับ) ได้แก่ สาวเสียงพิณ อาจารย์บัวริน วังคีรี

เสียงแกฟังเพลินเกินห้ามใจจริงๆ

แต่หนึ่งในกฎทองของการเหล่สาว สอนไว้ว่า

"ห้ามฟังจากเสียง" ครับ

10:10 AM

 
Blogger crazycloud said...

ขอให้ประสบผลสำเร็จมากๆ

1:43 AM

 
Anonymous Anonymous said...

มาอวยพรด้วยอีกคนค่า ขอให้สำเร็จมากๆ ^^

8:11 AM

 
Anonymous Anonymous said...

ขอให้สำเร็จเร็ว ๆ นะครับ ท่านน้อง สำหรับปีใหม่นี้ ขอให้พรหน่อยแล้วกัน พี่ขอให้ต้องมีความสุข ความเจริญ ๆ ยิ่ง ๆขึ้นไปนะครับ

9:40 PM

 
Blogger sweetnefertari said...

อยากได้หนาม้ามั๊ยจ๊ะ

จะไปกรี๊ดชิดขอบเวทีเลย

2:06 AM

 
Anonymous Anonymous said...

อยากได้ครับ
สนใจทางด้านโบราณคดีเหมือนกัน
เว้ากันซื่อๆ "ซื้อได้ที่ไหนครับ" แฮ่ๆๆ

10:56 AM

 

Post a Comment

<< Home