Sunday, May 04, 2008

กำลังใช้ความพยายามเพื่อจะกลับมาครับ

เรื้อสนามไปนาน มันฝ่อไปหมดแล้วครับ (ผมหมายถึงสมรรถภาพในการคิดและเขียน ไม่ใช่อย่างอื่นนะครับ อิอิ) นับดูแล้ว บล็อกตอนล่าสุดที่ผมได้ใช้ความพยายามในการปลุกปั้นมันขึ้นมา ก็ผ่านไปเกือบๆ 1 ปีแล้ว จนไม่รู้ว่าตอนนี้จะไม่ใครแวะเวียนเข้ามาในบล็อกผมอยู่บ้างอีกหรือเปล่า

นานแค่ไหน เอาเป็นว่า ผมหาทางเข้าบ้านไม่เจออ่ะ ไม่รู้ไปโยนกุญแจทิ้งไปไหน กว่าจะนึก กว่าจะควานหาจนเจอ หมดไปเกือบวันเหมือนกัน

ตลอดเวลาปีกว่าๆที่ผ่านมา ตั้งแต่ผมย้ายโรงงานใหม่นี่ ผมห่างหายจากการคิด การเขียน และการแลกเปลี่ยน กับเพื่อนๆ โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นชุมชนอุดมปัญญาไปเลย ไม่แม้แต่การทักทายพูดคุยกับเกลอเก่าอย่างนิติรัฐด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า ผมถูกหน้าที่การงานใหม่ลักพาตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่ใช่แต่เวลาที่ผมถูกลักพาไป แม้แต่ความรับผิดชอบ (หากเดิมมันจะพอมีเหลืออยู่บ้าง) และจินตนาการของผม ก็ถูกพ่วงลักไปด้วยเช่นกัน

แม้การย้ายโรงงานใหม่ของผม ดูเหมือนเป็นความก้าวหน้าและความสำเร็จ ในสายตาคนอื่น แต่สำหรับผมแล้ว มันยังห่างไกลกับคำว่า “สำเร็จ” อยู่อีกหลายล้านปีแสง จะว่าเป็นทุกขลาภก็ไม่ผิดนัก โรงงานเก่าของผม ขนาดเล็กแต่อบอุ่น งานในหน้าที่ความรับผิดชอบของผมมีอยู่ไม่หลากมิตินัก และผมก็รู้ว่าจะจัดการกับงานตรงหน้าอย่างไร ระบบงานทั้งหมดของโรงงานเก่าก็ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนจนเกินไปกว่าสมองของเด็กฝึกหัดอย่างผมจะพอรับไหว ความสัมพันธ์ระหว่างคนงานด้วยกันก็เป็นไปด้วยดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันเหมือนกับคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนกที่ผมทำงานอยู่ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ผมประทับใจมากสิ่งหนึ่งในชีวิตการทำงานของผม และรู้สึกโชคดีอย่างยิ่งที่ได้เริ่มชีวิตการทำงานที่โรงงานนี้

แต่กับโรงงานใหม่ ....

ทักษะฝีมือของคนงานเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่า “งานฝีมือ” และ “งานละเอียด”

ด้วยเนื้องานที่ต้องอาศัยทักษะฝีมือดังกล่าวข้างต้น เลยทำให้คนงานในโรงงานนี้ ค่อนข้างเคร่งเครียด และมีสมาธิกับงานมาก ไม่ค่อยผ่อนคลาย ด้วยกลัว “พลาด”

ไอ้ที่กลัวพลาดเนี่ย มันมีเหตุเพราะ การพลาด ในงานสำหรับคนงานในโรงงานนี้ ดูเหมือนจะเป็นตราบาปตลอดชีวิตการทำงานในโรงงานแห่งนี้เลยทีเดียว

คนงานรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นลุง รุ่นปู่ มักจะหยิบยกกรณีความผิดพลาดของคนงานรุ่นก่อนๆ มาสอนคนงานใหม่เสมอ ฉะนั้น ความผิดพลาดจึงไม่เคยตายไปจากความทรงจำของคนงานในโรงงานแห่งนี้เลย

ไอ้ตอนฟังเนี่ย ก็ไม่เท่าไหร่หรอกครับ แต่ถ้าความผิดพลาดของเรากลายเป็นบทเรียนให้คนต่อไปตราบชั่วกัลปาวสานล่ะก็ นึกภาพไม่ออก ดูไม่จืดเหมือนกันนะ

ผมแค่รู้สึกว่า สำหรับทักษะฝีมือตอนนี้ของผม ไม่ยังไม่สมดุลกับขนาดของงานที่ผมกำลังรับผิดชอบอยู่

ยังไม่พอดีคำเลย

ทุกวันนี้ผมยังคงทำงานแบบระแวง (แม้ว่าจะคนงานใหม่อย่างผมยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของผลงานก็ตาม ตอนนี้ผมเป็นเพียงลูกมือคนงานซีเนียร์) ด้วยความที่มันกลัว “พลาด” ไม่ใช่แค่เพียงเหตุผลข้างต้น แต่เพราะแท้จริงแล้ว “ความผิดพลาด” ในงานของโรงงานนี้ มันส่งผลกระทบในวงกว้าง

มันเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพ มันเกี่ยวกับความศรัทธาและความคาดหวังของผู้รอรับผลิตภัณฑ์ ต่อโรงงาน ซึ่งมีชื่อเสียงยืนยงคงกระพันมานับร้อยปี (แม้ว่าช่วงหลังๆรู้สึกว่าโรงงานนี้เริ่มหางาน sideline แตกไลน์ขยายงานไป จนเริ่มมีเสียงท้วงติงจากโรงงานอื่นๆ ที่เริ่มรู้สึกว่ากำลังถูก “ก้าวก่าย” หรือ “ล้วงลูก” )

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวล จึงเป็นข้ออ้างในความเสื่อมสมรรถภาพในการคิดและเขียนของผมในช่วงเวลานี้

ผมรู้สึกว่า ผมอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ล่ะครับ เห็นทีจะแย่ ผมต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว

มองซ้ายก็แล้ว มองขวาก็แล้ว

เมื่อมองถ้วนแล้ว ผมก็พบจุดเปลี่ยนเล็กๆ ของผม อันเป็นความหวังแสงไฟปลายอุโมงค์

บล็อกเล็กๆ แห่งนี้ไงครับ

ผมพยายามจะกลับมา

เหมือนนักฟุตบอลที่เจ็บเรื้อรังไปนาน จนเกือบจะหันหลังให้กับสนาม แขวนสตั๊ดไปก่อนกำหนดอายุขัยในฟลอร์หญ้าจะหมดลงอย่างที่มันควรจะเป็น

ตอนนี้สภาพร่างกายก็ยังต้องได้รับการฟื้นฟู แต่ที่ควรทำยิ่งกว่าคือสภาพจิตใจ

ไม่รู้จะทำได้แค่ไหน

แต่ผมกลับมาลงซ้อมกับทีมแล้วครับ

การเริ่มต้นอาจจะยาก แต่การกลับมาจากอาการบาดเจ็บหนักๆ ผมว่ายากกว่า

ผมกำลังจะทำในสิ่งที่ยากกว่าครับ

ก็หวังว่าจะไม่เจ็บซ้ำ เจ็บเพิ่มอีกแล้วกัน ฮ่าๆๆ

Wednesday, May 23, 2007

ถึงคราวกำแพงพัง


ช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวทุกข่าวบนหน้าสื่อทุกแขนง ดูจะเป็นข่าวใหญ่ไปเสียหมด เรียกได้ว่าไม่เห็นจะมีข่าวเล็กๆ ให้อ่านกันบ้างเลย

แต่ข่าวที่ผมเลือกที่จะเขียนถึงในวันนี้คือ ข่าวการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) กรัณฑ์ อรชร นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่สอง ซึ่งเกิดจากการ “ซ่อม” หรือที่เรียกงามๆว่า “ปรับปรุงวินัย” จากรุ่นพี่ซึ่งเป็นนักเรียนบังคับบัญชาชั้นปีที่สาม

แท้จริงแล้ว ดินแดน “จักรดาว” แห่งนี้ ถือเป็นสถานศึกษาอันเป็นความใฝ่ฝันของผมเลยทีเดียว ด้วยความที่ผมมีพื้นเพมาจากครอบครัวราชการ ทำให้ความฝันในวัยเด็กของผม เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการเดินตามรอยเท้าพ่อและตา นั่นคือการเป็นตำรวจ

แต่อะไรที่เราตั้งใจหวังไว้ มักไม่ค่อยสำเร็จ ชีวิตของผมก็เช่นกัน จุดเปลี่ยนชีวิตของผมที่สำคัญครั้งหนึ่ง ก็คือการที่ผมสอบเข้า “เตรียมทหาร” ไม่ติด และเบนเข็มมาลงสนามเอนทรานซ์กะเค้า จนเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่ถึงทุกวันนี้

นอกจากความเท่ห์ของเครื่องแบบแล้ว ความเข้มแข็งและมีระเบียบวินัย ตลอดจนถึงความรักและสามัคคีระหว่างบรรดาเพื่อนร่วมรุ่น และระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นสิ่งที่ดึงดูด หรือจะเรียกได้ว่าเป็น “เสน่ห์” ของบรรดานักเรียนเตรียมทหารและบรรดานักเรียนเหล่าทั้งหลาย ที่ทำให้ปีๆหนึ่ง เด็กชายวัยมัธยมกว่าหมื่นคนต้องแย่งชิงโควตาในโรงเรียนแห่งนี้ แน่นอนสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่คุณสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ หากแต่มันเกิดจาก “ระบบ” และการ “ฝึกฝน” ตลอดจนถึง “การปลูกฝัง” ในโรงเรียนแห่งนี้ต่างหาก

แต่จะมีสักกี่คนครับ ที่ล่วงรู้ว่า สถานที่ผลิตบุคลากรระดับผู้นำหน่วย เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร ไปจนถึงโรงเรียนเหล่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เค้าเรียน เค้าฝึก เค้ามีกระบวนการผลิตบุคลากรเหล่านี้อย่างไร แตกต่างจากสถาบันระดับอดุมศึกษาทั่วไปอย่างไร

ถ้าจะกล่าวว่าสถานที่ดังกล่าวเป็น “สังคมปิด” ก็เป็นได้

ปรากฏการ “ซ่อม” จน “เศร้า” ที่เกิดขึ้นนั้น ผมมองว่าเหมือนเป็นการเอา “ท่อนซุงยักษ์” กระทุ้ง “กำแพง” ที่ปิดกั้นสถาบันอันทรงเกียรติเหล่านี้ให้ทะลายลง และมันไม่ใช่กำแพงของโรงเรียนเตรียมทหารเท่านั้นหรอกครับ มันสะเทือนซางไปถึง เขาชะโงก ดอนเมือง สมุทรปราการ และสามพรานด้วย เมื่อสังคมเริ่มตั้งคำถามถึง “ระบบ” และ “มาตรฐาน” ในการผลิตบุคลาการระดับ “ผู้นำหน่วย” ในเหล่าทัพทั้งสามเหล่า (และอีกหนึ่งสำนักงาน)

หลายคนเริ่มอยากรู้อยากเห็น ระบบการปกครองระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง การเรียน การกิน การอยู่ และเบื้องหลังการถ่ายทำของ “สุภาพบุรุษ” แสนเท่ห์ของเค้ามากกว่าที่เคยรู้เคยเห็นซะแล้ว จากสังคมปิด กำลังจะถูกเปิด ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม

ผมไม่คิดว่าวิธีซ่อมพิเรนทร์ๆ เช่น การให้ดื่มน้ำจนร่างกายรับไม่ไหวก่อนจะช็อคตายในครั้งนี้ รุ่นพี่นักเรียนเตรียมทหารทั้งหกคนจะเพิ่งคิดได้สดๆ แล้วใช้กับ นตท.กรัณฑ์ ผู้โชคร้ายเป็นครั้งแรก ผมเชื่อว่ามันทำกันมานานแล้ว แต่ไม่เคยหนักมือจนถึงตายมากกว่า แม้แต่ผู้บัญชาการโรงเรียน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่กล้าปฏิเสธ ได้แต่เพียงพูดว่า “ยืนยันว่าการทำโทษด้วยวิธีดื่มน้ำดังกล่าวไม่มีอยู่ในระเบียบหรือข้อบังคับของโรงเรียน” ก็แหงแซะ ใครจะเขียนวิธีการลงโทษพิเรนทร์ๆแบบนี้ไว้โต้งๆในระเบียบล่ะครับท่าน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ามันเขียนหรือไม่เขียนไว้ในระเบียบ แต่มันอยู่ที่ มันมีจริงหรือเปล่า ถ้ามีนั่นหมายความว่า “หวย” มันออก ที่นักเรียนเตรียมฯ รุ่นพี่ทั้ง 6 คน และแม้ถ้าคราวนี้โชคดีรุ่นน้องไม่ตาย ไม่ว่าจะเพราะรุ่นพี่ยั้งมือทัน หรือรุ่นน้องอึดเกินพิกัด ก็เชื่อว่าหวยมันก็ต้องไปออกกับรุ่นพี่รายอื่นๆ ในปีต่อๆไปอยู่ดีล่ะครับ เหมือนระเบิดเวลาที่รอวันระเบิดแค่นั้นแหล่ะ แล้วอย่างนี้ถ้าผมจะบอกว่า นอกจาก นตท.กรัณฑ์ ผู้ตายแล้ว นักเรียนเตรียมทหารอีก 6 คน ที่เป็นผู้ก่อเหตุ ก็เป็น “เหยื่อ” ของ “ระบบ” ด้วย จะเกินไปหรือไม่

นักเรียนเตรียมทหาร แม้จะถูกฝึกให้เข้มแข็งสักเพียงใด แต่อย่าลืมว่าพวกเค้าก็ยังเป็น “เยาวชน” อยู่ เกือบทั้งหมดอายุยังไม่เกิน 20 ทั้งนั้น (รับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 4 ไปเรียนต่อในโรงเรียนเตรียมฯ 2 ปี อายุเฉลี่ยก็น่าจะอยู่ราวๆ 16 ไม่เกิน 18 พวกรุ่นพี่อย่างเก่งก็ไม่น่าจะเกิน 19 หรือ 20) ระเบียบวินัย ความเข้มแข็งทางวุฒิภาวะ ยังเป็นเรื่องที่ปล่อยหรือวางใจไม่ได้ ยิ่งเป็นโรงเรียนทหาร ระบบรุ่นเข้มแข็ง มีการฝึกที่กระทบต่อร่างกายและจิตใจเช่นนี้ ยิ่งควรต้องจับตาดู

บรรดานายทหารปกครอง ผู้มีหน้าที่ดูแล นักเรียนเตรียมทหารในกองร้อย กองพัน ตลอดจนท่านผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหาร ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพราะมันไม่ใช่แค่เพียงกรณีนี้เท่านั้น แต่มันเป็นความบกพร่องหรือผิดพลาดในเชิง “ระบบ” อีกด้วย การฟ้องร้องให้บาปเคราะห์ตกอยู่กับนักเรียนเตรียมฯรุ่นพี่ทั้งหกคนถือว่าโหดร้ายเกินไป

บรรดานายทหารผู้ดูแล จนถึงผู้บัญชาการโรงเรียน ควรต้องมีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์น่าเศร้าในครั้งนี้ด้วย และความรับผิดชอบของท่านคงไม่ใช่แค่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง หรือการรับผิดชอบโดยการขอโยกย้ายตัวเองไปดำรงตำแหน่งอื่น แต่ท่านคงต้องรับผิดชอบในการปรับปรุง “ซ่อม” แซม “ระบบ” การปกครอง รวมไปถึงมาตรฐานในการผลิตบุคลาการระดับผู้นำหน่วยเหล่านี้ เพื่อลดสายตาแห่งความเคลือบแคลงระแวงสงสัย และลดแรงกดดันอันเสมือน “ท่อนซุงยักษ์” ที่กำลังกระทุ้งกำแพงอันใหญ่โตของท่านลง และไม่ให้ใครตกเป็นเหยื่อของความผิดพลาดเช่นนี้อีก ไม่ว่าจะคนเป็นหรือคนตาย

สำหรับประเด็นในทางคดีนั้น ได้ข่าวล่าสุดว่า นักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่ที่ก่อเหตุทั้ง 6 คน ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับตำรวจ และทางพนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งข้อหานักเรียนเตรียมทหารทั้ง 6 คน ไว้ โดย กล่าวหาว่า “ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย” ตามข่าวบอกว่า โทษในความผิดฐานดังกล่าวนั้น กฎหมายมีระวางตั้งแต่ 3 ปี ถึง 5 ปี แต่แท้จริงแล้ว ข้อหานี้ค่อนข้างหนักเหมือนกันครับ กล่าวคือ ถ้าเป็นกรณีทั่วไป โทษจะอยู่ที่ 3 ปี ถึง 15 ปี ครับ แต่หากมีกรณีที่เป็นการทำร้ายอย่าง “ฉกรรจ์” เข้าตามกรณีมาตรา 289 ด้วยแล้ว โดยมาตรา 289 ดังกล่าว เป็นกรณีบท “ฉกรรจ์” ของข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาครับ เช่น การฆ่าบุพการี ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และที่สำคัญ “ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย”

สรุปให้เป็นภาษามนุษย์โลกก็คือ หากการ “ทำร้าย” จนถึงตายนั้น เป็นการ “ทำร้ายบุพการี” จนถึงตาย เป็นการทำร้ายผู้อื่น “โดยไตร่ตรองไว้ก่อน” จนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย เช่นเดียวกัน ย่อมหมายถึง การทำร้าย “โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย” จนผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยนั่นเอง

และหากพิจารณาจากพฤติการณ์ การ “ซ่อม” โหด ของรุ่นพี่ทั้งหกแล้ว หากทางการสอบสวนได้ความดังที่สื่อทั้งหลายนำเสนอแล้ว หากจะกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการ ทำร้ายโดย “ทรมาน” หรือ กระทำโดย “ทารุณโหดร้าย” นั้น ก็ไม่น่าจะห่างไกลนัก

โดยหากเป็นกรณีข้างต้นที่บอก โทษจำคุกจาก 3 ปี ถึง 15 ปี จะขยายตอนปลายออกเป็น 20 ปี นั่นหมายความว่า โทษตามกฎหมายที่นักเรียนเตรียมฯผู้โชคร้ายอาจจะต้องได้รับ ก็คือ จำคุกอย่างน้อย 3 ปี อย่างมากที่สุด 20 ปี ทีเดียว ไม่น้อยเลยครับ

แต่การตั้งข้อกล่าวหาข้างต้น ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนเท่านั้น คงต้องรอดูดุลพินิจของพนักงานอัยการอีกครั้งว่า ท่านจะใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องในข้อหาใด และต้องสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ หนังเรื่องยาวครับ เพราะคดีต่อชีวิตพวกนี้ มันเป็นอาญาแผ่นดิน ยอมความกันไม่ได้ ก็ต้องดำเนินคดีจนสิ้นกระแสความนั่นแหล่ะครับ

คราวนี้พอไปถึงชั้นศาล อันนี้มีอีกหลายปัจจัยครับ เพราะต้องดูว่าพนักงานอัยการสั่งฟ้องในข้อหาไหน ถ้าฟ้องข้อหาตามข่าว ก็ถือว่ายังโชคดีนะครับ แต่ถ้าฟ้องเข้าเหตุฉกรรจ์มาก็หนักหน่อย และหนักกว่านั้นคือ หากท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าว รุ่นพี่น่าจะเล็งเห็นผลได้ว่า มันน่าจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตด้วยนั้น มันจะบานปลายกลายเป็น ข้อหา “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” โดย มีพฤติการณ์ แห่ง การฆ่าโดย “ทรมาน” หรือ ฆ่าโดย “กระทำทารุณโหดร้าย” ล่ะก็ ตัวใครตัวมันครับ เพราะระวางโทษในข้อหาดังกล่าวมีสถานเดียวครับ “ประหารชีวิต”

แต่ผมคิดว่าคงไม่เล่นกันแรงขนาดนั้น เพราะอย่างที่บอก เด็กทั้งหกคนก็ถือว่าเป็นเหยื่อของระบบเหมือนกัน รุ่นพี่ก็ทำกันมาตั้งหลายรุ่น ไม่ยักกะตาย หวยมาออกที่พวกเค้า

ที่เขียนมานี่ไม่ได้ตั้งใจจะมาขู่ หรือทำให้เหตุการณ์มันเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่หรอกนะครับ แค่อยากฝากเตือนเป็นอุทธาหรณ์ว่า ความพลาดพลั้ง บางอย่างเพียงเสี้ยวเดียว มันก่อให้เกิดผลเสียหายที่เกินคาดเดามากน้อยแค่ไหน และกฎหมายนั้นมันไม่จำกัดขอบเขตการใช้แค่เพียงขอบรั้วของพลเรือนเท่านั้น แม้ในค่ายทหารที่ปิดมิดชิดมันก็เข้าไปถึงได้ เหมือนแสงอาทิตย์แสงจันทร์นั่นแหล่ะครับ

ไม่ว่าทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมือง เช่นเดียวกับการต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้แสงอาทิตย์แสงจันทร์ล่ะครับ ไม่ใช่แค่อยู่ภายใต้ระเบียบวินัยทหารเพียงอย่างเดียว

Monday, May 07, 2007

สวัสดีครับ

ผมหายหน้าไป ยิ่งกว่าประจำเดือนของสาววัยทอง เพราะไม่ใช่แค่มาๆหายๆ แต่หายขาดไปเลยกว่าสองเดือน

อะไรที่เราไม่ได้ทำมาเป็นเวลานานๆ พอกลับมาทำอีก ต้องยอมรับครับว่า “สนิม” มันเกาะเกรอะกรังไปหมด เหมือนงานเขียน พอไม่ได้คิด ไม่ได้เขียนนานๆ แล้วมันฝืด ซึ่งปกติแล้วก็ใช่ว่าจะรื่นนัก

ด้วยหน้าที่ใหม่ การปรับตัวใหม่ ของผมยังไม่ค่อยจะดำเนินไปด้วยดีนัก มันทำให้ผมไม่มีสมาธิพอที่จะทำอย่างอื่นเลย เหมือนคนกำลังหัดว่ายน้ำ ขั้นแรกจะทำยังไงให้ไม่ตายก่อนดีกว่า อย่าเพิ่งไปคิดเลยว่า จะออกสเต็ปว่ายท่าไหน ทำเวลาเท่าไหร่ ลำพังแค่พยุงตัวให้จมูก ปาก ลอยเหนือน้ำก็แย่แล้ว

แต่มันก็ต้องกระเสือกกระสนครับ ถ้ายอมปล่อยตัวนิ่งๆ ก็รังแต่จะรอเวลาจมสู่ก้นบึ้ง ตายเปล่า วันนี้ถือเป็นฤกษ์ดีที่ผมจะทุรนทุรายขึ้นเหนือน้ำเพื่อหายใจสักเฮือกหนึ่ง

แต่ผมจะเขียนเรื่องอะไรดี

คราวที่แล้วตั้งใจอย่างยิ่ง ที่จะเขียนแง่มุมกฎหมายของ ปรากฏการณ์ “น้องเปกะหมอเผ่า” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจของศาลในการไต่สวนเพื่อปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผมยังคลางแคลงใจในกระบวนการขั้นตอน รวมทั้งอำนาจของศาลบางประการ แต่ก็เข้าอีหรอบเดิม จมข้อมูล สมมติฐานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนต้นเริ่มตีบตันไปทีละด้านๆ จนครบทั้งแปดด้านแล้ว เลยคิดว่าหยุดดีกว่า ก็ได้แต่หวังว่า คงจะมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นไม่มาก เพราะถ้าใครที่คิดว่าตนถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วมาขอศาลไต่สวนอย่างนี้ทุกราย ก็น่าสงสัยว่า เรามีตำรวจไว้ทำไม โดยเฉพาะในกรณีของความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว ที่เป็นความผิดอาญาอยู่แล้ว ใครก็ได้ ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษกับตำรวจ ตำรวจก็สืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐาน หากเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดจริง ก็เสนอพยานหลักฐานนั้นขอศาลเพื่อออกหมายค้นเพื่อเข้าช่วยบุคคลดังกล่าวได้อยู่แล้ว ไฉนเลยต้องวิ่งมาขอศาลเพื่อไต่สวน ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเร็วกว่านะครับ โดยเฉพาะหากเป็นกรณีใหญ่ๆแบบนี้ แล้วศาลท่านอาจจะต้องใช้เวลาหลายวันในการพิจารณา ซึ่งก็ต้องใช้เวลาไต่สวนหลายนัด กินเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

แล้วปัญหาต่อไปที่ผมเคยตั้งสมมติฐานไว้ก็คือ ศาลท่านมีอำนาจขนาดไหนที่จะสั่งให้นำผู้ที่อ้างว่าถูกคุมขังโดยมิชอบ (กรณีนี้คือหมอประกิตเผ่า) ไปควบคุมไว้ในสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ระหว่างที่มีการไต่สวน

ผมอาจจะเข้าใจผิด แต่อำนาจที่จะสั่งให้ใครไปอยู่ในความควบคุมดูแลในสถานที่ใดๆ หรือของบุคคลใด มันก็น่าจะมีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งเท่าที่ผมรู้ กฎหมายให้อำนาจศาลหรือพนักงานสอบสวน ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้แพทย์ตรวจสภาพทางจิตได้หากสงสัยว่าผู้นั้นมีปัญหาทางจิต ซึ่งอาจจะไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ หากรายงานของแพทย์ปรากฏว่า ผู้นั้นมีอาการผิดปกติทางจิตจนไม่อาจต่อสู้คดีได้ ก็อาจจะต้องงดการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีแล้วส่งตัวบุคคลนั้นไปบำบัดรักษา จนกว่าจะหาย หรือ จนกว่าจะสามารถต่อสู้คดีได้ แล้วมาว่ากันใหม่

แต่เคสของคุณหมอไม่ใช่ คุณหมอไม่ใช่ผู้ป่วยคดี ไม่ใช่ผู้ต้องหา ไม่ใช่จำเลย คุณหมอเป็นผู้ป่วย

แล้วกฎหมายเกี่ยวกับสุขภาพจิต ที่จะให้อำนาจรัฐ เอาตัวบุคคลที่เชื่อว่ามีอาการผิดปกติทางจิตแล้วอาจจะทำอันตรายต่อผู้อื่น ไปถูกควบคุมไว้ในสถาบันหรือหน่วยงานทางการแพทย์เพื่อรักษา บำบัด ทั้งนี้ไม่ว่าจะแบบ สมัครใจหรือบังคับ ก็ยังไม่ออก (ในอังกฤษมีกฎหมายประเภทนี้เรียกว่า Mental Health Act)

ผมก็เลยไม่แน่ใจว่า การที่ศาลสั่งให้หมอประกิตเผ่าไปอยู่ในความดูแลของสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ท่านสั่งโดยอาศัยกฎหมายข้อไหน

ตอนแรกเลย ผมตั้งข้อสงสัยว่า การร้องขอให้ปล่อยตัวบุคคลที่อ้างว่าถูกควบคุมตัวโดยมิชอบนั้น น่าจะจำกัดปริมณฑลอยู่แค่เพียง “การถูกควบคุมตัวโดยอำนาจรัฐ” อย่างที่ประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้มันดำเนินมา แต่ผมเข้าใจผิด เพราะไม่ว่าจะเป็นหลักกฎหมายต่างประเทศที่เรานำมาใช้ในเรื่อง Habeas Corpus หรือ แม้กระทั่งในคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลไทยเอง ก็ยอมรับว่า การร้องขอดังกล่าว ไม่จำกัดอยู่แค่เพียงการถูกควบคุมตัวโดยอ้างอำนาจรัฐเท่านั้น แม้เป็นกรณีเอกชนกระทำต่อเอกชนด้วยกันก็สามารถมาร้องขอต่อศาลก็ได้ ดังเช่น กรณีหมอประกิตเผ่านี่เอง

ความกว้างขวางของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยหลายประการ ดังที่เขียนไว้ข้างต้นแล้ว

ผมไม่แน่ใจว่า หากทุกคดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการกักขังหน่วงเหนี่ยว ใช้วิธีนี้กันหมด ศาลจะมีเวลาไปพิจารณาคดีอื่นๆหรือไม่ ทั้งๆที่เรามีกระบวนการยุติธรรมที่สามารถจัดการเกี่ยวกับทุกฐานความผิดอยู่แล้ว ก็คือ แจ้งความต่อตำรวจ ตำรวจก็รวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลออกหมายค้น เข้าไปช่วยเหลือ แล้วก็จับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี

หรือคิดว่านี่คือทางลัด

อย่าลืมว่าทางลัด ใช้กันบ่อยๆมันก็ไม่ลัดนะครับ

หรือคิดว่ายุคนี้ ถ้าถึงมือศาลแล้ววางใจได้ (สังเกตจากปฏิกิริยาของผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายของหนูเปมิกา หรือทางครอบครัวทมทิตชงค์เอง ที่น้อมรับคำสั่งศาลทุกรูปแบบ)

ผมไม่ใช่พวกอำนาจนิยม ไม่สนใจต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกคุมขังนะครับ แต่ผมคิดว่าเราน่าจะมีระบบจัดการที่มันชัดเจน บางทีกว้างเกินไปจนหาขอบเขตไม่ได้ มันก็ไม่ใช่จะมีแต่ข้อดี

ลองคิดเล่นๆนะครับ หากศาลไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยบุคคลที่ถูกคุมขังโดยอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วศาลบอกว่า เฮ้ย ชอบแล้ว มีอำนาจที่จะควบคุมได้ เท่ากับว่าศาลได้ตัดสินไปเลยหรือเปล่าว่า การกระทำของผู้ที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ ไม่เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลอื่นให้เสื่อมเสียเสรีภาพ

ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็น่าแปลก เพราะเท่ากับศาลตัดสินคดีโดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และไม่ต้องผ่านดุลพินิจสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ จะเห็นได้ว่า นี่คือทางลัดของแท้เลย

ก็หวังว่า คดีหน่วงเหนี่ยวกักขังทั้งหลาย วิ่งมาใช้ทางลัดทางนี้หมดนะครับ

เดี๋ยวศาลไม่มีเวลาไปสรรหาองค์กรอิสระกับแก้วิกฤตชาติกันพอดี

พยายามจะกระตุ้นตัวเองอยู่เหมือนกันครับ ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน อะไรๆที่ตั้งใจจะทำมักไม่เคยได้ทำ คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามจังหวะครับ แต่ก็มีเรื่องคิดๆไว้ว่าจะเขียนสักเรื่องสองเรื่อง ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน

หัดเดิน หัดว่ายกันใหม่ครับ

Sunday, March 04, 2007

หลักกิโลที่ 27

วันนี้เมื่อปีที่แล้ว ผมก็มานั่งหน้าคอม จิ้มคีย์บอร์ดรำลึก 1 ปี แห่งการมีอายุ 26 เป็นครั้งแรกในชีวิต

ปีนี้ก็เช่นกัน เพียงแต่หมุดหมาย หรือหลักกิโล เลื่อนเคลื่อนไปอีก 1 หน่วยบรรจุแล้วเรียบร้อย

เวลาช่างติดปีกบินผ่านไปไวเหมือนโกหก เผลอเพียงหน่อยเดียว เลข 3 มารออยู่ตรงหน้า เรียกได้ว่าไม่ต้องชะเง้อก็เห็นแล้ว

ปี 2549 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงในชีวิตผมที่สุดปีหนึ่ง

หลังจากที่ผมอาศัย "โรงงานใหญ่" เป็น อู่ข้าวอู่น้ำ มาเป็นเวลา 2 ปี กับอีก 9 เดือน ผมก็มีความจำเป็นต้องย้ายออกจาก "โรงงานใหญ่" จากเด็กน้อยที่มีส่วนร่วมผลิต "เม็ดอมแห่งความประหยัด" ผมต้องกลายร่างเป็น "ผู้ช่วยกุ๊ก" ในร้านอาหารใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศ

เพื่อนในโรงงานเก่า รวมทั้งคนรอบข้าง พร่ำบอกกับผมเสมอว่า นี่คือความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตผม

เพราะมีคนหลายหมื่นคน ฝันอยากจะเป็น "ผู้ช่วยกุ๊ก" ในร้านอาหารแห่งนี้ เช่นเดียวกับที่ผมเป็นอยู่ ณ ตอนนี้

แต่ผมขอพิสูจน์ด้วยตัวเองก่อนว่า มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ด้วยเนื้อหาของมันเอง หาใช่คำพร่ำบอกจากคนรอบข้าง

งานผู้ช่วยกุ๊ก หน้าที่ใหม่ของผม จะว่าไปมันก็แตกต่างกับการเป็นเด็กน้อยในโรงงานทำเม็ดอมแห่งความประหยัดบ้านหลังเก่าของผมไม่มากนัก เพียงแต่ความเข้มข้นของรสชาติ รวมทั้งปริมาณลูกค้า และขนาดของร้านมันผิดกันลิบ

ร้านอาหารที่ผมทำงานอยู่ ถือเป็นร้านอาหารใหญ่ มีอายุอานามเก่าแก่นับเป็นร้อยปี มีลูกค้ามากมาย เรียกได้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของแทบจะทุกคนในประเทศนี้ต้องเคยใช้บริการร้านอาหารของผมบ้างล่ะ ไม่ว่าจะสาขาไหนก็ตาม

เป็นธรรมดาที่ร้านเก่าแก่ ลูกจ้างมากมาย การบริหารจัดการจึงต้องสลับซับซ้อน หลากหลายตามไปด้วย

บุคลากรที่สำคัญที่สุดในร้านอาหารของผม ไม่ใช่ใครอื่น

"กุ๊ก" นั่นแหล่ะ กุ๊กที่นี่แบ่งออกเป็นหลายชั้น ไล่เรียงตั้งแต่ "ผู้ช่วยกุ๊ก" "กุ๊กชั้น 1" ไล่ไปจนถึง "กุ๊กชั้น 5" ซึ่งนับว่าเป็นระดับ "โคตรเซียน" ซึ่ง "กุ๊กชั้น 5" นั้น จะได้รับตำแหน่งประธานกรรมการของร้านไปด้วยในตัว

กุ๊กแต่ละคนแม้จะปรุงอาหารเมนูเดียวกัน แต่ก็มีอิสระที่จะใช้สูตรเด็ดของตัวเอง รสชาติจึงไม่ค่อยซ้ำกันนัก

ความเป็นอิสระของการใช้สูตรประกอบอาหารของกุ๊กร้านผม นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่

ใหญ่พอๆกันกับ การเคารพอาวุโส ระหว่างกุ๊กด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะเก่งมาจากไหน เคยเป็นกุ๊กใหญ่ในร้านอื่นมาก่อน แต่เมื่อคุณก้าวเข้ามาสู่ร้านอาหารแห่งนี้แล้ว ถ้าเข้ามาทีหลัง ก็ต้องให้ความเคารพกุ๊กรุ่นพี่เสมอ โดยไม่สนวัยวุฒิ

อย่างไรก็ตาม ความเป็นอิสระในการเลือกสูตรการปรุงอาหารของกุ๊ก ก็ก่อให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง ในเมื่ออาหารเมนูเดียวกัน วัตถุดิบ เครื่องปรุงก็ชนิดเดียวกัน แต่กุ๊กที่รับผิดชอบคนละคน รสชาติอาจจะต่างกันราวฟ้ากับเหว ยังผลให้ลูกค้าค่อนข้างสับสน เพราะบางครั้งกินที่สาขาเดิมแต่เปลี่ยนกุ๊กทำรสชาติยังไม่เหมือนเดิมเลย

ดังนั้น ประธานกรรมการจึงมักจะต้องมีการทำคู่มือการปรุงอาหาร ออกมาแจกจ่ายให้ผู้จัดการสาขา นำไปแจ้งแก่บรรดากุ๊กในสังกัดตัวเอง โดยหวังว่ากุ๊กแต่ละคนจะปรุงอาหารเมนูเดียวกัน ออกมารสชาติไม่แตกต่างกันระดับ 180 องศา มากนัก ซึ่งก็ได้ผลบ้าง และไม่ได้ผลบ้าง โดยเฉพาะกับบรรดา "กุ๊กรุ่นใหญ่" หรือ "กุ๊กอาวุโส" ที่มักจะเชื่อมั่นในฝีมือการปรุงอาหารของตนเอง ด้วยประสบการณ์ที่ยืนอยู่บนถนนยุทธการกระทะเหล็กมาไม่น้อยกว่า 30 ปี

จึงไม่น่าแปลกใจที่คนภายนอกมักมองว่าร้านอาหารของผม กุ๊กแต่ละคนรู้สึกว่า "อีโก้" จะสูง และเป็นพวก "อนุรักษ์" นิยม

แม้ยุคปัจจุบัน การปรุงอาหารจะมีความเป็นหลักการและทฤษฎีมากขึ้น แต่กุ๊กร้านผมยังเชื่อในประสบการณ์นิยมอยู่ค่อนข้างแน่นหนา จนบางครั้งก่อให้เกิดช่องว่างทางความคิดระหว่าง "นักวิชาการคหกรรม" ผู้ผลิตหลักการและทฤษฎีที่ทดลองและพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์การอาหาร กับ "กุ๊ก" หรือ ผู้เน้นในประสบการณ์ยาวนานในการปรุงอาหารเลี้ยงลูกค้ามาอย่างช่ำชอง

ช่วงปีที่ผ่านมา ร้านอาหารของผม ค่อนข้างจะเป็นจุดสนใจของลูกค้าและประชาชนทั่วไป เพราะ นอกจากจะทำอาหารประเภท "อาหารตามสั่ง" เมนูดั้งเดิม บริการลูกค้ามากว่าร้อยปีแล้ว ภาระกิจของร้านอาหารของผมได้ขยับขยายออกไปมาก

ทั้งนี้เนื่องจาก บรรดาร้านอาหารจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฝรั่งเศส อิตาเลียน ที่พาเหรดมาเปิดตัวในหมู่บ้านของเรานั้น ถูกจับได้ว่ามีความไม่โปร่งใสในการจัดการบริหารงาน เหตุก็เพราะบรรดาผู้จัดการร้านอาหารเหล่านั้นทุจริต ยักยอกเอาเงินที่ได้จากการประกอบการ ไปเป็นของตัวเอง บ้างก็ให้เครือญาติผูกขาดรับสัมปทานส่งวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารให้ร้านเหล่านั้นแต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารที่เป็นที่สุดแห่งความภาคภูมิใจของหมู่บ้านเรา ที่เพิ่งเปิดตัวต่อโลกไปไม่นาน กลับมีกลิ่นโชยแห่งความเน่าเหม็นข้างในอีกตะหาก

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าหมู่บ้าน ประมาณ เดือนกันยายนที่ผ่านมา

คณะกรรมการหมู่บ้านชุดใหม่ จึงมีมติให้ร้านอาหารเก่าแก่อย่างร้านของผม เข้าไปดูแลจัดการ กิจการร้านอาหารที่มีปัญหาเหล่านั้นแทน โดยโอนย้ายกุ๊กฝีมือดีจากร้านผมไปหลายคน

ปัญหาก็คือ แม้กุ๊กร้านผมจะเป็นอรหันต์ หรือยอดเซียน ขนาดไหนก็ตาม แต่ก็เป็นยอดเซียนในเมนูประจำเช่น กระเพราะไก่ไข่ดาว หมูผัดพริกแกง แกงเขียวหวานไก่ ข้าวผัดปู แกงจืดเต้าหู้หมูสับ ทำนองนั้น แต่เมื่อต้องไปรับผิดชอบ ผลิตอาหารตามเมนูของร้านใหม่ๆ ชื่อก็เรียกยาก วัตถุดิบ กรรมวิธีการทำก็ไม่คุ้นเคย ทำให้กุ๊กใหญ่หลายคนจากร้านของผม "เสียกุ๊ก" ไปก็มาก บ้างก็ออกแนวเพี้ยนไปเลยก็มี

ก็ได้แต่หวังว่า คณะกรรมการหมู่บ้านจะจัดระเบียบการบริหารงานหมู่บ้านให้เข้าที่เข้าทางโดยเร็วเสียที

กุ๊กใหญ่ๆของร้านผม จะได้กลับมาปรุงอาหารตามที่ท่านๆถนัดเหมือนเดิม จะได้จรรโลงกระเพาะอาหาร อันถูกปากถูกลิ้นคนในหมู่บ้าน อย่างที่เคยๆมาต่อไป

อ่อ ลืมไป ตอนนี้ผมเป็นผู้ช่วยกุ๊ก อยู่ "ร้านอาหารไคฟง สาขาธนบุรี" ครับ ใครว่างๆก็แวะไปใช้บริการกันได้ครับ แต่ถ้าหวังจะได้ลิ้มชิมรสฝีมือการปรุงอาหารของผมล่ะก็ ต้องบอกว่าเร็วไปสองปีล่ะครับ ตอนนี้ผมหั่นผักยังเบี้ยวเลยครับ

Thursday, February 22, 2007

ดูโอไม้กอล์ฟ!


ใครเป็นแฟน "หงส์แดง" ลิเวอร์พูล อย่างผมเมื่อวานคงหลับสบาย และตื่นไปทำงานตอนเช้าแบบอิ่มอกอิ่มใจ (แม้จะได้นอนไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม)


ก่อนหน้าบิ๊กแมตซ์แห่งรอบ 16 ทีมสุดท้ายของถ้วยหูยานจะบังเกิดขึ้น ไม่มีใครคิดว่าน้องหงส์ของผมจะรอดสันดอนออกมาจากคัมป์ นู โดยเฉพาะเมื่อเทียบฟอร์มล่าสุดของทั้งสองทีม


แถมก่อนเกมส์สื่อโปรตุเกสยังกระพือข่าวความแตกร้าวระหว่างผู้เล่นหงส์แดง อย่าง "เคร็ก เบลลามี่" กองหน้าหนูถีบจักร ตัวป่วน กับ "ยอห์น อาร์เน รีเซ่" แบ็กซ้ายตีนผี โดยเต้าข่าวว่าเบลลามี่ เอาไม้กอล์ฟหวดหลังรีเซ่ ยามที่สติสตังไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเพราะร่ำแอลกอฮอลล์มากไปหน่อย ระหว่างทีมเก็บตัวอยู่ ณ เมืองฝอยทอง


แฟนหงส์อย่างผม บอกได้คำเดียวว่า อย่าเละกลับมาก็พอแล้ว


เกมเริ่มไป 10 นาที น้องหงส์ดูดีกว่าที่คาด ตัดบอล ต่อบอล และครองบอล เหนือกว่าทีมเทพจุติอย่างบาร์ซ่า แต่นาทีที่ 14 ทั้งสองทีมก็เข้าฟอร์ม หงส์แดงยืนตำแหน่งกันสะเปะสะปะ เชื่องช้า เข้าหาบอลช้ากว่าผู้เล่นบาร์ซ่าก้าวนึงเสมอ หลังจากนวดเพียงสองสามหมัด ประตูแรกของเกม ก็เกิดขึ้น เดโก้ โขกเหน่งๆ เสียบเสาแรกไปอย่างเฉียบขาด จากลูกเปิดอย่างพอดิบพอดีด้วยอีซ้ายของซามบรอตต้า แบคซ้ายทีมแชมป์โลก (แถมก่อนเปิด พวกหลอกสตีวี่ซะหลังหักอีกตะหาก)


จากนั้นหงส์แดงก็เป๋ไปเป๋มา ผ่านไปสามสิบนาที บาร์ซ่าคิดว่าสกอร์จะไหล จึงเล่นติดประมาท ผ่อนเกมและปล่อยให้หงส์แดงเริ่มจับจังหวะเกมของตัวเองได้เรื่อยๆ นาทีที่ 43 หายนะก็เกิดขึ้นกับทีมแห่งแคว้นคาตาลัน เมื่อบิคตอร์ เบาเดส ประตูน้ำ ทีมเจ้าถิ่น รับลูกโขกที่เหมือนจะแรงของเบลลามี่ เข้าซอง แต่พ่อคุณดันหลักไม่ดี กระโดดรับลูกเข้าซองได้แล้วเชียว แต่ตัวกำลังไถลเข้าไปในเขตประตู จึงรีบปล่อยลูกออกมาจากการครอบครอง มัจจุราชดัชต์ผมทอง เดิร์ค เค้าท์ แปซ้ำเข้าไปไม่เหลือ


แต่เมื่อรีเพลย์จากภาพช้าแล้ว บอลมันข้ามเส้นตั้งแต่ลูกโขกของกองหน้าหนูถีบจักรไปแล้น


แถมเบลลามี่ผู้ทำสกอร์ได้ งัดเอาท่าสวิงกอล์ฟสุดสวย มาเย้ยข่าวฉาวอีกตะหาก พ่อเจ้าประคุณ การได้ประตูตีเสมอ ก็เหมือนกับการปลุกลิเวอร์พูลออกจากภวังค์ เนื่องจากถ้วยใหญ่ที่สุดแห่งยุโรปในเกมเหย้าเยือนนั้น นับลูกอะเวย์ โกลล์ด้วย (ไม่เหมือนบอลอาเซี่ยนคัพแถวบ้านเรา) ใครยิงประตูนอกบ้านได้ ก็ได้เปรียบ


นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะจริงๆที่ได้ประตูช่วงท้ายเกม ไม่เปิดโอกาสให้บาร์ซ่า ทวงคืนได้ในครึ่งแรก ต้องไปรอต่อไปในครึ่งหลัง เกมใน


ครึ่งหลังเหมือนหนังคนละม้วน เพราะตัวละครเอกอย่าง "เหยินน้อย" โรนัลดิญโญ่ "ต่ายน้อย" ซาบิโอล่า และ "หนูน้อยมหัศจรรย์" (ไม่ใช่ทาทายังแน่นอน) ลีโอเนล เมสซี่ พร้อมใจกันไปเปิดวงแชร์ หายไปจากเกม


อันนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับกุนซือหัวใส หุ่นนกเพนกวิน เอล ราฟา โยกเอาอาร์เบลัว ที่ถนัดขวามายืนซ้ายเพื่อประกบ เมสซี่ สลับเอาเจอร์ราร์ดมาปิดโรนัลดิญโญ่ และใช้แผนดักล้ำหน้าเล่นงานต่ายน้อย ส่วนกองกลางพันธุ์ระห่ำ อย่างซิสโซโก้ ก็เล่นแบบถึงลูกถึงคน แทนนสรยุทธ จนซาบี เฮอร์นันเดซ และอินนิเอสต้า แขยงขยาด


เมื่อเกมรุกบาร์ซ่า เดินหน้าไม่ได้ ทีมเทพจุติ ก็เหมือนกับทารกน้อยแรกเกิด ยิ่งธรรมชาติของทีมที่ชอบเกมรุกมักมีจุดอ่อนอยู่ที่เกมรับด้วยแล้ว หงส์แดงเหมือนซื้อหวยใต้ดิน ถูกทั้งเต็งและโต๊ด เมื่อกองหลังบาร์ซ่าเฟอะฟะอีก ในจังหวะที่เจอร์ราร์ด ตักบอลเข้าไปในเขตโทษ เดิร์ค เค้าท์ โฉบหน้ากองหลัง แตะบอลเพื่อหาจังหวะยิง แม้จะยิงติดเบาเดส ลูกลอยเด่นเป็นสง่า แต่มาเกส ที่ปกติเหนียวแน่นทนนาน ยิ่งกว่ายิปซั่มบอร์ดตราช้าง แต่ช็อตนี้เสียราคา เป็นเพียงกระดาษชำระเซลลอค เมื่อโหม่งด้วยความแรงประมาณปัสสาวะเด็กห้าขวบ


ลูกลอยมาเข้าทางเบลลามี่ ที่วันนี้ฟ้ากำกับให้เล่นบทพระเอก ตาไว เห็นคู่หูดูโอไม้กอล์ฟ ยืนกางมุ้งรอ อยู่เสาสอง จึงเปิดถวายใส่พานทองแท้ ไปให้ รีเซ่ก็มั่นใจ ทั้งๆที่มีเวลาแต่งบอลให้เข้าเท้าซ้ายข้างถนัด เผื่อจะได้ยิงตาข่ายให้กระจุย แต่กลับยิงด้วยขวา ถ้าเป็นเกมอื่นมันต้องแป๊ก ลูกค่อยๆเลื้อยออกหลังแน่นอน แต่วันนี้คนมันจะดัง ลูกออกจากเท้าขวาข้างไม่ถนัด แต่ความแรงไม่ต่างจากอีซ้าย พุ่งวาบเสียบคานไปอย่างสวยงาม ทำให้หงส์แดงกระพือตีปีกขึ้นนำ 1 - 2 ทำไปได้


ช่วงท้ายเกมบาร์ซ่าทดสอบเกมรับหงส์แดงอย่างหนัก แต่ก็ได้แค่เฉี่ยวไปมา จากลูกหลุดเดี่ยวของต่ายน้อย ซาบิโอล่า แต่เรน่า ออกมาไวตัดไว้ได้ และลูกเปิดไซด์โค้งลักไก่ ของเดโก้เจ้าเก่า ลูกชนเสาสองจังเบ้อเร่อ ก็ได้แค่เกือบ หงส์แดงจึงออกจากคัมป์ นู ด้วยชัยชนะที่หลายคนทำหน้าตาไม่เชื่อ พร้อมกับพกความได้เปรียบในอีกนัดข้างหน้าที่แอนฟิลด์ เพราะว่าแม้จะแพ้ 0 - 1 ก็ยังได้เข้ารอบอยู่ดี


ยังจำนัดที่บาร์ซ่ามาเยือนหงส์แดงเมื่อหลายปีก่อนในถ้วยใบเดียวกันนี้ได้ แพทริค ไคต์เวิร์ต ให้ของขวัญหงส์แดงเมื่ออยู่ดีๆ ก็เอามือไปปะทะลูกฟุตบอลขณะกำลังเทคตัวขึ้นโหม่งในเขตโทษตัวเองซะงั้น ขออีกสักลูกเถอะ อีแบบนี้

Saturday, February 17, 2007

ทัศนะศึกษา แบบพุทธศิลป์ (แบบฉบับมือใหม่) ตอน ๑ (ขออีกที)

เนื่องจากครั้งที่ผมโพสไปเมื่อคราวก่อนนั้น น่าจะอยู่ในช่วงสุกดิบของการปรับเปลี่ยนของ blogspot จึงทำให้เกิดความผิดพลาด

บล็อกตอนที่แล้วของผมจึงอันตรธานหมายไปอย่างไร้สาเหตุ คราวนี้จึงขอมาโพสใหม่ครับ
สำหรับตอนสอง ขอติดไว้ก่อน ยังไร้พลังครับ ฮ่าๆ (ข้ออ้างเดิมๆ)
........................
ท่าทางศกนี้ผมจะถูกโฉลกกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพิเศษ พ้นมาเพียงเดือนเศษของปีหมูไฟ ผมไปเยือนกรุงเก่ามาแล้วสองหน

เป็นสองครั้งสองคราที่ได้อรรถรสแตกต่างกันจริงๆ

ครั้งแรกผมและผองเพื่อน ไปทำบุญไหว้พระเก้าวัด (นับจริงๆคือแปดวัดครึ่ง เพราะไหว้บนรถซะหนึ่งวัด)

อรรถรสที่ได้คือ การได้เวียนทำบุญ (แบบทำเวลา) ได้บุญ ได้เที่ยว บรรยากาศสนุกสนานเพราะไปกับเพื่อน ...สบายใจ ได้บุญ

ครั้งที่สอง นี่สาระล้วนๆครับ ผมมีโอกาสไปอยุธยาแบบ “ทัศนะศึกษา” แท้ๆ ยิ่งกว่าช่วงวัยเรียนช่วงใดในชีวิตผม

ครั้งนี้ผมมีโอกาสติดตามน้องๆคณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร ไปทัศนะศึกษาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นความคุ้มที่ยิ่งกว่าคุ้ม (นอกจากพักฟรี และนั่งรถฟรี...ด้วยความอนุเคราะห์จากโครงการวิจัยกฎหมายตราสามดวงเช่นเดิม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มีโอกาสรับความรู้จากไกด์กิติมาศักดิ์ ว่าที่ด๊อกเตอร์ จากโปรตุเกส ผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถในการบรรยายถ่ายทอด ให้เรื่องราวที่หลายคนส่ายหน้ายามอยู่ในห้องเรียนอย่างวิชาประวัติศาสตร์ เท่านั้นยังไม่พอ ดันเป็น “ประวัติศาสตร์” สนธิกับ “พุทธศิลป์”

ถ้าจำต้องเรียนวิชาพรรค์นี้ ผมคงง่วงตั้งแต่เห็นชื่อวิชาแล้วครับ พร้อมกับเตรียมหมอนมุ้ง เข้าไปในห้องบรรยายด้วยแน่นอน

แต่อาจารย์ท่านนี้สามารถบรรยายให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์อยุธยาผสมพุทธศิลป์ เป็นเรื่องราวที่น่าสนุก น่าติดตาม และน่าตื่นเต้น ไม่แพ้การดูซีรี่ย์อเมริกาอย่าง CSI อย่างไรอย่างนั้น

บล็อกตอนนี้ของผม วัตถุประสงค์แรกคือ พยายามเก็บเอาความรู้และความทรงจำในการไปทัศนะศึกษาครั้งนี้ไว้ ด้วยเกรงว่ามันจะเลือนหายไปตามกาลเวลา และผมคงรู้สึกเสียดายอย่างมาก หากมันต้องเป็นเช่นนั้น ดังนั้นตอนนี้จึงไม่จำกัดความยาวครับ และถ้าเป็นไปได้ ผมจะพยายามเขียนอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่ความทรงจำ และการบันทึกในสมุดโน้ตเล็กๆตลอดสองวันเต็มๆ จะช่วยได้

ประกอบกับการเอารูปมาลงให้เยอะที่สุด งวดนี้ผมถ่ายรูปไปเยอะเลย แต่เป็นการถ่ายแบบมีวัตถุประสงค์ หรือมีจุดมุ่งหมาย หากเป็นก่อนหน้านี้ผมคงแปลกใจตัวเองไม่น้อย เพราะรูปบางรูปนี่ผมจะถ่ายมาทำอาวุธด้ามยาวใช้แทงทำไม ดูไม่เห็นจะรู้เรื่อง

แต่ ณ วันนี้ จุดเล็กๆ บางจุด ร่องรอยบางรอย แม้แต่เศษปูนเศษอิฐ บางรูป มันสื่ออะไรให้เห็นได้เยอะเชียวครับ

ภาพรวมของการไปทัศนะศึกษาครั้งนี้ พวกเราเดินย้อนรอยตามคำให้การของ “ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ครับ ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา นอกจากการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีอยู่มากมายดาษดื่น ทำนอง พงศาวดาร หลายเวอร์ชั่น หลายสำนัก หลายผู้แต่ง หรือเอกสารของชาวต่างชาติที่มีโอกาสเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเก่าของเราร่วมสมัยนั้น ซึ่งฝรั่งตาน้ำข้าวพวกนี้ช่างจด ช่างจำ และช่างบันทึก (แต่ถูกผิด เชื่อถือได้ไม่ได้ ว่ากันอีกเรื่อง) แล้ว ยังมีเอกสารบางประเภทที่เราเรียกหรือเราได้ยินกันทำนอง “คำให้การ” ต่างๆ ซึ่งเท่าที่ผมคุ้นชื่อ ก็มี “คำให้การชาวกรุงเก่า” “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” “คำให้การขุนหลวงหาวัด”

สำหรับเที่ยวนี้แล้ว เราตามรอยตามคำให้การ “ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” หรือ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” กันครับ

คำให้การฉบับดังกล่าว (ออกตัวดังเอี๊ยดดดด ว่าผมยังไม่ได้อ่านเอกสารฉบับนี้เลย) ส่วนใหญ่จะเป็นการอธิบายถึง “ภูมิสถาน” หรือ “ตำแหน่งแห่งที่” สถานที่สำคัญๆ ทั้งหลาย ในสมัยอยุธยา ซึ่งน่าจะรวมไปถึง วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนชาวอโยธยาในสมัยนั้นด้วย

สำหรับผมแล้ว แน่นอนครับ ผมยังถือว่าเป็นมือใหม่ในทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง!! ดังนั้นข้อมูลทั้งหลายที่ผมนำมาเขียนลงบล็อกนั้น จึงเป็นความรู้ที่ผมพยายามเก็บ จากผู้รู้ทั้งหลายที่อยู่ในคณะ ดังนั้นจึงอาจจะมีการตกหล่น ถูกๆผิดๆ อยู่บ้าง เพราะผมเองก็เป็นพยานบอกเล่ามาอีกทอด ไม่มีเวลาและความสามารถพอที่จะไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมด้วยน่ะครับ ดังนั้นอย่าถือเป็นข้อมูลเชิงวิชาการเลยนะครับ เอาแค่เล่าสู่กันฟัง สนุกๆ

เริ่มกันเลยดีกว่าครับ

หลังจากที่รถบัสขนาดย่อม ล้อหมุนออกจากหน้ากรมศิลปากร สนามหลวง คณะของเราก็มุ่งหน้าไปรับเหล่าอนาคตของชาติในทางภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาศิลปากร ทับแก้ว จังหวัดนครปฐม ก่อนจะมุ่งหน้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สถานที่แรกที่เรามุ่งมาขุดความรู้กัน ณ กรุงเก่า คือ “วัดมเหยงคณ์” ครับ ลำพังที่แรก ก็จดกันกระดาษปลิวนับหน้าไม่ถ้วนแล้ว

ใครจะทราบครับ ว่าในสมัยนั้น ชื่อเก่าของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาของเรานั้น ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะปรากฏเป็นชื่อ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ...แปลกตรงไหน อยุธยา กับ อโยธา ก็น่าจะเหมือนๆกันแหล่ะ (คือแปลว่า เมืองที่ไม่มีทางเอาชนะได้ หรือไม่มีวันแตก ทำนองนั้น ) มันมาแปลกตรงการออกเสียงที่ผมได้ยินจากปากของไกด์กิติมาศักดิ์ของผมน่ะสิครับ

ได้ยินถึงสามคำรบ จึงต้องเชื่อว่ามันออกเสียงว่า “อะ – โยด – ทะ – ยา” ครับ (ถ้าท่านอำก็ถือว่าผมหลงเชื่อมาเต็มๆแล้วกันครับ)

การตั้งชื่อดังกล่าวสันนิษฐานว่าน่าจะสัมพันธ์กับอินเดียในทางใดทางหนึ่ง (แต่ทางใดไม่รู้)

ชื่อวัดก็น่าสนใจครับ มเหยงคณ์ มาจาก “มหิยังคณะ” (ไม่รู้ว่าสะกดถูกหรือเปล่านะครับ ถอดจากเสียงมา) ซึ่งน่าจะผูกกับทางลังกาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณพระเจดีย์องค์ใหญ่นั้น ฐานจะล้อมรอบด้วยรูปปั้น “ช้าง” ซึ่งถือเป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อชาวลังกา

ก้าวแรกก่อนที่จะย่างเข้าสู่บริเวณกำแพงแก้วของวัดนั้น ประตูวัดก็มีความรู้ให้เราขุดอีกแล้ว ประตูวัดแบบนี้เค้าเรียกกันว่าเป็นทรง “คฤห” ออกเสียงว่า “ครึ” ครับ ซึ่งมีความหมายว่า “ลด” ตามลักษณะประตูที่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ คล้ายกับศิลปะสมัยพระนารายณ์ หลายท่านอาจจะมองไม่เห็นภาพว่า แล้วส่วนยอดของประตูหน้าตาเป็นอย่างไร


โชคดีที่ทางหลังวัดยังมีประตูที่คล้ายกันอีกที่ และยังสมบูรณ์อยู่ จึงทำให้เราเทียบเคียงลักษณะของส่วนยอดประตูได้ว่า คงจะมีลักษณะคล้ายกันครับ


ขนาดของประตู ก็มีนัยนะครับ เพราะจะต้องสร้างให้มีขนาดช้างหนึ่งเชือกผ่าน ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็คงต้องสร้างพอที่รถจะเข้าออกได้นั่นเองครับ

เมื่อเราลอดประตูไปแล้ว สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ประการต่อไปก็คือ “ฉนวนทางเดิน” และ “การเรียงอิฐ” ครับ

วัดนี้เป็นวัดใหญ่ เป็นวัดสำคัญ ขนาดเป็นอารามหลวง ซึ่งจะมีการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์มาประกอบพิธีทางพุทธศาสนาอยู่เป็นนิจ ดังนั้นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน จึงมีร่องรอยของธรรมเนียมการถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์ครับ


ที่เห็นคือ “พระฉนวน” ซึ่งก็คือ “ทางเดินนั่นเองครับ เป็นทางเดินพิเศษสร้างขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ ฉนวนจะมีแนวกำแพงก่อกำแพงเป็นแนวทางเดิน ขนาดสูงท่วมหัว แต่แนวกำแพงดังกล่าว จะต้องเปิดช่องไว้ตอนหัวและท้าย ทั้งนี้สำหรับให้บรรดาขุนทหารองครักษ์ทั้งหลาย แยกดำเนินซ้ายขวา นอกแนวกำแพง ถวายอารักขา ก่อนที่จะเดินเข้ามาบรรจบเป็นรูปขบวนอีกครั้ง ในตอนท้ายแนวกำแพงครับ


การเสด็จพระราชดำเนิน นั้นลำดับการเสด็จก็น่าสนใจ บ้านเราเน้นระบบอาวุโสครับ การจัดวางตำแหน่งของคณะ จะเรียงลำดับก่อนหลังตามสิ่งที่เรียกว่า “โปเจียม”

คำว่า “โปเจียม” นั้น ยังไม่อาจสันนิษฐานได้ว่ามาจากรากศัพท์ หรือมีความเป็นมาทาง “นิรุกติประวัติ” อย่างไร อาจจะมาจากคำเขมรก็เป็นได้ แต่ใช้ในความหมายว่า “ลำดับ” ไม่ว่าจะเป็นการเดินทัพ การจัดเครื่องยศ หรือการเข้าเฝ้า ก็ต้องเป็นไปตาม “โปเจียม” ครับ

การก่อเรียงอิฐเป็นทางเดินสมัยอยุธยาก็น่าสนใจครับ การเรียงอิฐหรือปูอิฐ ไม่เหมือนสมัยปัจจุบันครับ การเรียงอิฐสมัยนั้น เป็นการเอาสันอิฐตั้งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้อิฐรับน้ำหนักได้มากขึ้น มีความทนทานมากกว่า การเรียงอิฐแบบเอาด้านกว้าง หรือด้านป้าน รองรับน้ำหนัก แบบที่ปูแผ่นซีแพคโมเนีย อย่างสมัยปัจจุบัน ที่เรียงแล้วแตก แตกแล้วของบประมาณมาเรียงใหม่ ทุกๆสิ้นปีนั่นแหล่ะครับ


การเรียงก็จะเรียงเป็นแนวเฉียงหรือเรียกว่า “ก้างปลา” มีบ้างเหมือนกัน ที่เรียกตรงๆสลับกัน แบบ “ลายสาน” ที่ผมพบที่วัดมงคลบพิตร

การเรียงอิฐแบบนี้ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลหรือแนวคิดมาจากทาง “เปอร์เซีย” ครับ

เมื่อพ้นแนวฉนวนแล้ว เบื้องหน้าเราจะพบกับ พระอุโบสถขนาดใหญ่ หลังหนึ่ง ถึงตรงนี้ไกด์กิติมาศักดิ์ของเรายิงคำถาม แบบที่คนนับถือพุทธตามบัตรประชาชนอย่างผม ต้องคิดคิ้วขมวด

ท่านถามว่า “โบสถ์” หรือ “อุโบสถ” กับ “พระวิหาร” ต่างกันอย่างไร

พอจะมีเค้าความจำอยู่บ้าง เลยตอบไปอย่างแผ่วเบาว่า โบสถ์ต้องมีขอบขัณฑ์พัทธสีมากั้นล้อมรอบ

ก็พอถูกล่ะครับ แต่ดูไม่ค่อยมีความรู้อะไร เลยต้องฟังไกด์ท่านอธิบายต่อ

เหตุที่ต้องมีแนวเขตพัทธเสมา หรือพัทธสีมาล้อมรอบก็เพราะ เป็นเครื่องบ่งบอกว่า บริเวณนี้นั้น เป็นบริเวณที่สงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งต้องกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนและแน่นอน

ใครจะเชื่อว่า (ผมคนหนึ่งล่ะ) จริงๆแล้ว ใบพัทธสีมาน่ะ ไมได้มีความสำคัญหรอก ที่สำคัญคือสิ่งที่อยู่ใต้ใบพัทธสีมานั่นต่างหาก เหตุด้วยข้างล่างจะเป็นที่บรรจุสิ่งที่เราเรียกว่า “ลูกนิมิต” ส่วนใบพัทธสีมานั้น เป็นเพียงเครื่องบ่งบอกว่า “ข้างล่างน่ะมีลูกนิมิตนะ”

หลักเขตที่เราเรียกว่าพัทธสีมานั้น อย่างน้อยต้องมี 4 ทิศ ครับ แต่สำหรับอุโบสถที่มีบริเวณกว้างมาก อาจจะเพิ่มทิศย่อยอีก 4 ทิศ เป็น 8 ทิศ ก็ได้ครับ

ในชั้นต้นนั้น โบสถ์ หรือ อุโบสถ ไม่ใช่สถานที่สลักสำคัญมากนัก เหตุเพราะ เป็นสถานที่ที่สงฆ์ใช้ประกอบพิธีทางสังฆกรรมเท่านั้น โบสถ์จะตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งใด ของวัดก็ได้ จะมีขนาดเท่าไหร่ก็ได้ ขอเพียงมีขนาดแค่พระภิกษุ 5 รูปนั่งขัดสมาธิแล้วก้มเอาศอกต่อกันได้ ก็พอ ในช่วงต่อมา โบสถ์จึงถูกยกให้มีความสำคัญขึ้น (ลองนึกภาพวัดตามต่างจังหวัด ที่มักปรากฏในฉากละครน้ำเน่าดู ที่พระเอกมักเข้าไปไหว้พระขอพร ตอนอกหัก หรือมีเรื่องราวเลวร้ายกระทบต่อชีวิต นั่นแหล่ะครับ )

บริเวณฐานพัทธสีมาที่ใบหายไปตามกฎไตรลักษณ์แล้วนั้น มีเศษกระเบื้องอยู่มากมาย ทันใดนั้น ไกด์ของผมก็หยิบเอาวัตถุเล็กๆ ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง พร้อมกับตั้งคำถามต่อมาว่า “มันคืออะไร”


โธ่พ่อคุณ ลำพังมันมาเต็มๆ ผมยังไม่รู้จัก แล้วนี่มันเหลือแค่เศษ

สุดท้ายทนไม่ไหว ท่านก็ต้องเฉลยล่ะครับ

มันคือ “ขอของกระเบื้อง” ครับ กระเบื้องวัดนี่แหล่ะ เราเรียกกระเบื้องประเภทนี้ว่า “กระเบื้องขอ” ซึ่งการปูกระเบื้องนั้น คนโบราณจะเอาส่วนที่เรียกว่า “ขอ” ไว้เกี่ยวกับแนวจาก ปูกระเบื้องซ้อนๆกันครับ ดูจากขนาดของขอแล้ว ก็สันนิษฐานได้ว่า ตัวกระเบื้องคงมีขนาด และรูปร่างประมาณ ใบจอบขุดดินนั่นล่ะ

ถัดจากเขตพัทธสีมาเข้าไป เราจะพบ มุขหน้าที่ยื่นออกมา เรียกว่า “มุขประเจิด” ที่ทำยื่นออกมาก็เพื่อเป็นที่ที่พระมหากษัตริย์จะทรงโปรยทานให้แก่บรรดาพสกนิกรที่มาเข้าเฝ้า


เดินเลยขึ้นไปนิดนึงก็จะพบตัวโบสถ์แล้วครับ ถึงตรงนี้ ไกด์ท่านก็ชี้ให้เราเห็นลักษณะศิลปะของอยุธยาในการสร้างโบสถ์ ก็คือ ช่างสมัยนั้นจะสร้างโบสถ์ให้มีลักษณะ “ตกท้องช้าง” “ตกท้องม้า” หรือ “ท้องสำเภา” นั่นคือ มีลักษณะแอ่น เหมือนท้องช้าง ท้องมา หรือเรือสำเภานั่นเอง ไม่ได้เกิดจากอาการทรุดตัวอย่างที่สมองน้อยๆของผมคิดแต่อย่างใด โดยมีความเชื่อที่ว่า “เรือ” จะเป็นพาหนะ ที่พาเราเหล่าหมู่มวลมนุษย์ข้ามพ้นวัฏสงสารนั่นเอง


ฐานของพัทธสีมา ก็มีสิ่งที่น่าสนใจครับ ฐานดังกล่าว เราเรียกว่า “ฐานสิงห์” ถ้าสังเกตดูดีๆ ก็จะพบว่า มันเหมือน “ขาสิงห์” จริงๆ ฐานสิงห์ จะประกอบด้วยสามส่วนครับ ได้แก่ ฐาน หรือเท้าสิงห์ น่องสิงห์ และนมสิงห์ โดยเฉพาะ “นม” นี่ บ่งบอกอายุได้ด้วยนะครับ

ถ้านมสั้นอายุก็ประมาณต้นอยุธยา ถ้านมยาว หรือนมยาน ก็จะประมาณปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ครับ นมนี่ยานมาจดฐานเลยครับ สังเกตดูครับ สามเหลี่ยมแหลมๆ ที่ "ยาน" มาจนจดกับเส้นฐานนั่นแหล่ะครับ เรียกว่า "นมสิงห์" อันนี้ยานมาจนจดฐาน จึงน่าจะเป็นวัดที่สร้างหรือบูรณะสมัยอยุธยาตอนปลาย ทำนองนั้นครับ

การวัดขนาดของวิหารหรือโบสถ์ เราจะนับหน่วยเป็น “ห้อง” ครับ ช่องระหว่างเสา 1 ช่อง เราเรียกว่า 1 ห้อง ครับ สำหรับวัดมเหยงคณ์แห่งนี้ นับได้ 9 ห้อง ถือว่าใหญ่พอตัวครับ


ถัดจากนั้น ไกด์ท่านก็มาอธิบายต่อในส่วนของ “เจดีย์”

ส่วนประกอบของเจดีย์นั้น มี 3 ส่วน ได้แก่ ชั้นฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอด


โดยส่วนที่เหนือเรือนธาตุขึ้นไปก่อนจะถึงส่วนยอดนั้น เราเรียกกันว่า “บัลลังก์” เหนือ “บัลลังก์” จะมีเสาที่เรียกว่า “แกนฉัตร” และเหนือ “แกนฉัตร” จะมีส่วนที่เรียกว่า “ปล้องไฉน” ซึ่งถ้าให้ผมวาดภาพเจดีย์จากความทรงจำของผม แน่นอนครับ ผมจะวาดรูประฆังคว่ำ ก่อนที่จะขีดคาดวงรีๆหลายๆวงซ้อนๆกันขึ้นไป แคบขี้นๆ ก่อนที่จะวาดส่วนยอดแบบสามเหลี่ยมแหลมเปี๊ยบ ไอ้วงๆซ้อนๆกันไป นั่นแหล่ะครับ เรียกว่า “ปล้องไฉน”

และปิดท้ายส่วนยอดด้วย ลูกกลมๆ ที่เรียกว่า “หยาดน้ำค้าง” (ไม่ใช่หยาดทิพย์แต่อย่างใด)

เลยผ่านอุโบสถแล้ว เราก็จะพบพระเจดีย์องค์ใหญ่องค์หนึ่ง ซึ่งยกพื้นสูง ทันทีที่เราก้าวขึ้นบันไดความสูงสี่ห้าขั้นก็จะพบกับ “ปล้องไฉน” ขนาดใหญ่ ที่ร่วงลงมาแอ้งแม้ง อยู่เบื้องหน้าเรา (จริงๆถ้าตาไม่บอด คงมองเห็นตั้งแต่ไกลแล้วล่ะครับ ก็ปล้องมันใหญ่ขนาด)




บริเวณฐานเจดีย์ เราพบสิ่งที่เรียกว่า “ซุ้มหน้านาง” ซึ่งรายล้อมด้วยพระพุทธรูป นั่งล้อมรอบฐานพระเจดีย์องค์ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์แล้วครับ แต่สิ่งที่ไกด์ท่านชี้ให้เห็นก็คือ รอยสีที่ยังเห็นได้ชัดเจนว่า ต้องมีการทาสีแดงหรือที่เรียกว่า “สีชาด” อยู่ แม้ว่าจะซีดๆลงไปบ้างแล้วตามเวลา


เหตุที่ต้องทาสีชาดก็เพราะ สีชาดนี้จะขับให้สีทองขององค์พระ หรือองค์พระเจดีย์เหลืองอร่ามขึ้น พลันให้นึกถึงบรรดาร้านทองตามเยาวราช ว่าทำไมถึงต้องจัดตู้ใส่ทอง และเฟอร์นิเจอร์ในร้านเป็นสีแดงสด มิน่าล่ะ

เหตุที่สีชาดติดแน่นทนนานขนาดนี้ ก็เพราะช่างสมัยโบราณ ท่านทาสีชาดในขณะที่ปูนยังไม่แห้ง ทำให้สีนั้นแทรกเข้าไปในเนื้อปูน เป็นเหตุผลที่ทำให้สีติดแน่นทนนานแบบนี้นั่นเองครับ

ก่อนที่จะเราจะเวียนทักษิณาไปยังด้านหลังองค์พระเจดีย์ ไกด์ก็พาเราม้วนมาดูด้านป้านของปล้องไฉน พร้อมตั้งคำถาม (อีกแล้ว) ว่า ทำไมปล้องไฉน ถึง “มีรู” มันไม่ใช่โดนัทสักหน่อย


รอเวลาสักพัก เมื่อเห็นว่า ไม่มีใครตอบได้ ท่านก็เฉลยว่า สมัยโบราณการก่อสร้างเจดีย์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ปั้นๆไปประกบกัน แต่ต้องสร้างโครงขึ้นมาก่อน นั่นก็คือ ตั้งไม้สูงชึ้นไปแล้วค่อยประกอบปูนปั้นต่างๆเป็นองค์พระเจดีย์ ในส่วนของปล้องไฉนก็เช่นกัน ก็เป็นการก่ออิฐถือปูน โปะๆๆๆ แกนที่เป็นไม้นั่นแหล่ะครับ ไม้จึงเป็นแกนกลาง หรือไส้กลางของเจดีย์ เวลาปล้องไฉนร่วงลงมา เลยปรากฏรูที่เป็นแกนกลางของไม้นั่นเองครับ (เหมือนไอติมแท่งเลยแฮะ)

พูดถึงปูนสมัยอยุธยา ก็มีลักษณะพิเศษ ที่ไม่ง่ายเหมือนผสมสำเร็จแบบโทรสั่งจากซีแพคได้ดังในปัจจุบัน แต่กรรมวิธีทำปูนของช่างอยุธยานั้น น่าทึ่งนัก

ช่างโบราณมีการนำเอาวัสดุบางอย่างที่เราคาดไม่ถึงมาเป็นส่วนผสมของปูน เช่น เปลือกหอยแครง โดยการนำเอาเปลือกหอยแครงมาเผาไฟให้ร้อน แล้วแช่น้ำทันที เปลือกหอยจะแตกสลาย แช่น้ำไปเรื่อยๆก็จะยุ่ย เมื่อนำมาผสมกับหนังควาย หญ้าแห้ง ฟางแห้ง ก็จะได้ปูนที่เหนียวแน่น ทนทาน

ลักษณะของปูนอยุธยาจึงมีความแข็งแกร่ง ต่างจากปูนทางแถบสุพรรณ ที่อ่อนตัวกว่า

ปูนจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ หายเค็มแล้ว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามันหายเค็ม เอาลิ้นเลีย?

ม่ายช่ายๆ

วิธีทดสอบว่าปูนหายเค็มหรือยัง คนโบราณเค้าใช้ ขมิ้น (ไม่รู้ว่าอ่อนหรือแก่นะ ฮ่าๆ) ขีดไปที่ปูน หากปูนยังเค็มอยู่ จะเกิดสีแดงตามรอยขีด (หรือนี่จะเป็นที่มาของคำเปรียบเปรยว่า “ขมิ้นกับปูน” ก็ไม่รู้แฮะ)

วิธีแก้ปูนเค็ม ภูมิปัญญาโบราณ เค้าใช้ ใบขี้เหล็กต้มน้ำ แล้วซัดใส่ปูน ซัดเข้าไป ซัดไปเรื่อยๆ ปูนมันจะหายเค็มเอง ... ว้าววว

ช่างโบราณจะมีกรรมวิธีการทำปูนเป็นเอกลักษณ์ของเอกบุรุษของใครของมัน แล้วมักจะโขลกปูน ทำปูนสด กันบริเวณ สถานที่ที่ก่อสร้างหรือบูรณะเลย ตามภูมิสถานทั่วไปของกรุงเก่าเราจึงอาจจะพบเห็นหลุมขนาดย่อมที่ช่างปูนใช้โขลกปูนอยู่ และพบเศษปูนเกรอะกรังอยู่บริเวณหลุมโขลกปูนด้วยครับ

คำถามมาอีกแล้วครับ รู้หรือไม่ ทำไมเวียนเทียนต้องเวียนขวามือ

การเวียนก็มีอยู่แค่สองทางเท่านั้นล่ะครับ ไม่เวียนขวาก็เวียนซ้าย การเวียนขวา เราเรียกว่า “ทักษิณาวัตร” เวียนซ้าย เราเรียกวา “อุตราวัตร”

แล้วการเวียนขวามันไปเกี่ยวอะไรกับ “ทักษิณ” ทั้งๆที่ทักษิณแปลว่าทิศใต้ ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับ “ขวา” สักหน่อย

เฉลยครับ

เวลาเราจะกำหนดทิศการเดินทางของเรา ทิศที่เราใช้เป็นหลักแล้วดูง่ายที่สุดก็เห็นจะเป็นทิศตะวันออกใช้มั๊ยครับ เมื่อเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้ว หากเราเลี้ยวขวา ทิศที่เราจะเจอเป็นทิศแรกก็คือ “ทิศใต้” ไงครับ ฉะนั้นหากเราต้องการจะเดินไปทิศใต้ ก็ควรต้องตั้งต้นจากทิศตะวันออกก่อน แล้วค่อยเลี้ยวขวา ทำนองใช้ทิศตะวันออกเป็นจุดตั้งต้นน่ะครับ การเวียนขวาจึงเรียกว่า “ทักษิณาวัตร” ด้วยประการฉะนี้

แล้วตามธรรมเนียมเราจะเดินให้สิ่งที่เราเคารพ เป็นมงคลอยู่ทางขวาของเรา ส่วนการเวียนซ้าย มักเป็นการเวียนเอาสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นมงคลอยู่ทางซ้าย เช่น การเวียนนำศพขึ้นเมรุครับ การเวียนขวาก็ทำนองเดียวกัน หันหน้าทางทิศตะวันออก แล้วเวียนทางซ้าย ก็จะเจอทิศเหนือครับ ที่เรียกว่า “อุดร” เราก็เลยเรียกการเวียนซ้ายว่า “อุตราวัตร” แล้วเราก็จะใส่แขนทุกข์ในงานศพ ทางแขนซ้ายด้วยนั่นเอง

เมื่อเราเดินเวียนครบรอบองค์พระเจดีย์แล้ว ก็มาถึงส่วนหลังวัดแล้วครับ ลงบันไดมาก็จะเจอรูปปั้นช้าง เรียงรายล้อมรอบฐานพระเจดีย์อยู่


ตอนแรกไม่คิดว่าเป็นช้างครับ ก็มันไม่มีงวง ไม่มีงานี่หว่า แต่ดูไปดูมา ช้างครับ ช้าง แต่งวงงาหักไปหมดแล้ว หากสังเกตให้ดี เรายังเห็นรอยสีชาติ เขียนลายอยู่ตามตัวช้างอยู่ครับ ท่าทางอดีตคงสวยงามน่าดูชมเลย


กำลังจะเดินกลับขึ้นรถเพื่อไปวัดประดู่ทรงธรรมต่อ ไกด์ตาไวก็หยิบเศษวัตถุขึ้นมา พร้อมกับคำถามว่า นี่คือารายยยย?

ตามฟอร์ม ไม่มีใครตอบได้ สุดท้ายก็ต้องเหนื่อยแรงเฉลยเอง ว่ามันคือ “ไห” พร้อมกับคำถามข้างเคียง ภาชนะทรงแบบใดจึงเรียกไห ท่านบอกว่า ไหนั้นปากต้องกว้างพอที่จะเอามือล้วงลงไปได้ ถ้าปากจู๋เล็กๆ แบบไว้ใส่น้ำปลา ใช้เหยาะๆ ไม่เรียกว่า “ไห” แต่เรียกว่า “จู๋” อันนี้จริงๆนะ คงเรียกตามลักษณะของปากมันที่ “จู๋ๆ”

ไหที่ดีต้องมีหู มีสี่หูได้ยิ่งดี ทำนอง คำเปรยที่ว่า “สาวไม่มีนม ขนมไม่มีไส้ ไหไม่มีหู” ทำนองนั้น พวกนี้ไม่ไหวๆ (จริงๆมีอีกยาวเลย แต่ผมจำคำไกด์แกมาได้แค่นี้จริงๆ)

คราวหน้ามาต่อวัดประดู่ทรงธรรมกันครับ

ค่ำคืนสีแดง

เมื่อวานฟุตบอลอังกฤษมีการแข่งขันก็จริง
แต่ไม่ยักกะมียอดทีมสีแดงแรงฤทธิ์ สองทีมจากเกาะอังกฤษโคจรมาเจอกัน
ดังนั้นจึงไม่อาจเรียกค่ำคืนที่ผ่านมาว่า "วันแดงเดือด" หรือ "ศึกแดงเดือด" ได้
แต่ทำไม ตามท้องถนนเมื่อวาน จึงมีแต่ แดง แดง แดง


นี่ก็แดง


นอกจากแดงแล้ว ยังหมวยอีก ฮ่าๆ

เริ่มจะไม่ได้บุญแล้วล่ะ

ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี้ ฮวดไช้ ครับ

สุขสันต์วันตรุษจีน และสวัสดีปีใหม่ทุกท่าน

เฮง เฮง เฮง./ (เพื่อเป็นการป้องกันใครมาเติมคำอื่นต่อท้ายลงไป แล้วความหมายมันจะเปลี่ยน)

Saturday, January 20, 2007

"ชมพูงามแข่ง เหลืองแดงพริ้วเคียงใกล้"



วันนี้อยากจะบันทึกไว้สักหน่อยว่า เป็นวันแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา – ธรรมศาสตร์ (เอ...ธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพต้องเปลี่ยนเป็น ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ – จุฬา หรือเปล่า อันนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน??) ซึ่งจัดกันมาอย่างยาวนานกว่า 70 ปี แล้ว โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 63 ครับ

ความทรงจำของผมเกี่ยวกับฟุตบอลประเพณีที่เก่าแก่รายการหนึ่งของประเทศไทย รายการนี้ ไม่ค่อยแจ่มชัดนักในวัยเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากในบรรดาวงศาคณาญาติโกโหติกาของผมไม่มีใครเรียนจุฬา หรือ ธรรมศาสตร์เลย ดังนั้นการรับชมฟุตบอลประเพณีของทั้งสองสถาบันของผม จึงไม่ค่อยจะต่างจากการดูฟุตบอลรายการอื่นๆที่มีการถ่ายทอดทางทีวีเท่าไหร่นัก

แถมยังแอบหมั่นไส้อยู่เล็กๆ ว่าทำไมถึงมีอภิสิทธิ์ถ่ายออกทีวีด้วยฟะ

แม้จะไม่มีส่วนได้เสียในทั้งสองสถาบันแต่อย่างใดในเวลานั้น แต่ไม่รู้เป็นไร ผมมักเลือกข้างเชียร์ธรรมศาสตร์มากกว่าจุฬา อยู่หน่อยๆ เสมอ

ฟุตบอลประเพณีฯ ได้เข้ามาในชีวิตผม (หรือผมเข้าไปในชีวิตของมัน?) อย่างแจ่มชัด ก็เมื่อผมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะนักศึกษา เมื่อ ปี พ.ศ. 2540 นั่นแหล่ะ (รู้รุ่นรู้อายุกันโหม้ดดด)

คราวนี้ชัดเจนเลย ว่าจะเลือกเชียร์ข้างไหน ยามที่ทั้งสองสถาบันต้องเผชิญหน้ากัน

ตลอดเวลาสี่ปีของผมในธรรมศาสตร์ ผมมีส่วนร่วมกับฟุตบอลประเพณีมากที่สุด แค่เพียงเป็นผู้ชม (แต่มีอยู่ปีนึง ไม่แน่ใจว่าปีอะไร ระหว่าง ปี 42 หรือ 43 ที่ผมมีโอกาสเข้าไปใกล้ชิดวงในงานบอลฯ มากที่สุด ด้วยการไปช่วยน้องๆชุมนุมบอลฯ คิดคำขวัญเขียนป้ายผ้าขนาดยาว ซึ่งจะเอาไปผูกตรงบริเวณสแตนด์เชียร์ฝั่งธรรมศาสตร์ ... แต่จำข้อความไม่ได้แล้วแฮะ )

จำได้ว่า ในช่วงสี่ปีแห่งชีวิตนักศึกษา ผมไม่เคยพลาดการไปดูบอล ที่สนามศุภชลาศัยเลยแม้แต่ปีเดียว

นั่นไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่หรอก ใครๆเค้าก็ทำกันอย่างนี้

แต่สี่ปีแห่งการเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ของผม ธรรมศาสตร์ไม่เคยชนะจุฬาเลยแม้แต่ครั้งเดียว อย่างดีทำได้แค่เสมอ นอกจากนั้น หลังจากที่ผมจบมาแล้วก็ยังอาการไม่ดีขึ้น สถิติมันบ่งบอกว่า ธรรมศาสตร์สามารถเอาชนะจุฬาได้เพียงแค่ครั้งเดียว คือในการแข่งขันครั้งที่ 61 เมื่อปี 2548 นอกจากนั้นไม่เสมอก็แพ้

แม้สถิติโดยรวมธรรมศาสตร์จะถือว่าเหนือกว่าจุฬาค่อนข้างมาก

แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอดีต ผมไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน ทำไม เวลาที่ผมเลือกที่จะเชียร์ฟุตบอลสักทีม ทีมนั้นมักจะมีอดีตที่ยิ่งใหญ่ ต่างจากฟอร์มในปัจจุบันเสมอ

ใจจริงวันนี้ผมตั้งใจว่าจะไปชมฟุตบอลประเพณี สดๆที่สนามศุภฯ ครั้งแรกในรอบ 6 ปี แต่สุดท้ายก็อีหรอบเดิม คือ นอนดูทีวีอยู่บ้านเหมียนเดิม เมื่อไม่สามารถต้านทานความขี้เกียจของตนเองได้

ดูจบได้ครึ่งนึง ก็มานั่งเขียนบล็อกด้วยอารมณ์ ไม่เชิงเซ็ง แต่ไม่ค่อยสบอารมณ์เท่าไหร่ กับฟอร์มการเล่นของทีมลูกโดมทั้งหลาย เป็นฟอร์มเดิมๆที่ผมเห็นมาตลอดในช่วงหลายปีหลังสุด เล่นเหมือนไม่ค่อยได้ซ้อมด้วยกัน ทีมเวิร์คนี่สู้จุฬาไม่ได้เลยมาหลายปีแล้ว แม้บางที (หลายปีด้วย) ในกระดาษธรรมศาสตร์จะดูเป็นต่อ เมื่อผมเห็นรายชื่อนักฟุตบอลทีมชาติเรียงรายอยู่เต็มพรืดไปหมด แต่ถึงเวลาแข่งจริง ไม่รู้เข่าอ่อนให้กับความจิ้มลิ้มของเชียร์ลีดเดอร์ฝั่งจามจุรีหรือเปล่า ฟอร์มการเล่นเลยไปตกคาอยู่แถมริมสนามซะหมด ไม่เอาลงไปด้วยเลย

หรืออาจจะเป็นเพราะความเอาจริงเอาจัง (มากถึงมากที่สุด) ของบรรดาสตาฟฟ์โค้ชฝั่งสีชมพู ที่มีหัวเรือใหญ่ อย่าง ดร.จุฑา ติงศภัทิย์ ฮะแฮ่ม “ครับ...ตามสูตรครับ ไปถึงเส้นหลังแล้วหักเข้ากลาง โอกาสได้ประตูมากครับ...ถ้าจะโหม่งต้องกดลงพื้นครับ...กองหน้าที่ดีต้องยิงทุกจังหวะครับ... “รวมไปถึง “โอ้ว ลูกตรงกรอบครับ ถ้าประตูไม่ปัดนี่เข้าแน่นอนครับ” คนนั้นแหล่ะ

โดยมีอยู่ปีนึง ผมเห็นแกระเบิดอารมณ์ข้างสนามเลย แถมตะโกนด่าธรรมศาสตร์โกงอีกตะหาก เมื่อตอนที่นักฟุตบอลฝั่งธรรมศาสตร์เข้าทำฟลาว์ผู้เล่นฝั่งจุฬาอย่างรุนแรง จนเป็นใบเหลืองที่สอง กรรมการเลยชักใบแดงให้ด้วยความเคยชิน โดยกรรมการน่าจะลืมข้อตกลงของฟุตบอลประเพณีฯ ว่าจะไม่มีการให้ใบแดงผู้เล่น นั่นก็คือจะไม่มีการไล่ผู้เล่นออกจากสนาม หากแต่ถ้ากรรมการเห็นว่าผู้เล่นคนใดทำฟลาว์รุนแรง และเล่นฟุตบอลโดยไม่คำนึงถึง “มิตรภาพ” ตาม “ประเพณี” ที่ดีงามของทั้งสองสถาบัน ก็จะมาปรึกษาบรรดาผู้จัดการทีมหรือหัวหน้าโค้ชทีมนั้น ให้เปลี่ยนผู้เล่นคนนั้นออกซะ

กรรมการอาจจะตัดสินด้วยความเคยชินสักหน่อย แต่เมื่อให้ใบแดงไปแล้วก็ต้องถือว่าแดง ถ้าผมจำไม่ผิด ดร.เหลือง แกฉุนมาก โวยวายน่าดูเลย สุดท้าย ธรรมศาสตร์เหลือสิบคนหรือเปล่าอันนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน

ท่าทางปีนี้ สถิติในช่อง “ชนะ” ก็ของจุฬาก็คงเพิ่มอีกปี ปล่อยให้ศิษย์เก่าอย่างผมต้องไปรอลุ้นใหม่ปีหน้าอีกแล้ว

สิ่งที่แน่นอนไม่แพ้การที่ปีหน้าจะเป็นการแข่งครั้งที่ 64 ก็คือ ปีหน้าจะไม่มีนักฟุตบอลที่ชื่อ “ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล” เล่นให้กับทีมธรรมศาสตร์อีกแล้ว หลังจากที่รับใช้มหาวิทยาลัยมายาวนานกว่า 12 ปี (ครั้ง) โดย “เจ้าวัง” ธวัชชัย เล่นบอลประเพณีครั้งแรก ในฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 49 ครับ

แม้ในเวทีบอลประเพณี พี่แกจะไม่ค่อยโชว์ฟอร์มจนติดตาติดใจอะไรก็ตาม

แต่ในเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ไม่มีใครลืมภาพที่ธวัชชัยกดฟรีคิก ระยะ 30 หลา ฟุ่งวาบเสียบคาน ทำให้ทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ ยักษ์ใหญ่แห่งฟุตบอลเอเชียไปอย่างช็อกอารมณ์คนเกาหลีทั้งประเทศ ทั้งที่ทีมชาติไทยมีผู้เล่นเหลือในสนามแค่ 9 คนเท่านั้น (โดนใบแดงไล่ออกไปสองหน่อ)

สาธุ... ขออีกสักลูกก่อนลาเหอะพี่

ก่อนจบ ผมขออนุญาตนำเนื้อเพลงเชียร์ เพลงหนึ่งในบรรดาหลายเพลงของงานบอลฯ มาแปะไว้ โดยส่วนตัวเพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่ผมชอบมากครับ

“ชั่วดินฟ้า”

ธรรมศาสตร์ – จุฬา เราสามัคคี
เราต่างผูกไมตรีกันมั่นไว้
เช่นพี่ เช่นน้อง เราร้องเริงใจ
เรารักกันไว้ ชั่วดินฟ้า

ใครอาจ มาหยาม ความสามัคคีเรา
เรายืน เคียงเข้า ร่วมฟันฝ่า
เกียรติเรา เชิดชู ให้รู้กันทั่วหน้า
ธรรมศาสตร์ – จุฬา ลือชื่อไกล

เราคล้องแขนมั่น รักกันเหมือนน้องพี่
รักษาไมตรี กันมั่นไว้
ชมพูงามแข่ง เหลืองแดง พริ้วเคียงใกล้
ธงชัย พาใจ เราคู่กัน

ปล. เหมือน “เฮียวัง” แกจะได้ยินเสียงแป้นพิมพ์ผม นาทีที่ 80 กว่าๆ ตะกี้นี้ ธรรมศาสตร์ได้จุดโทษ “เฮียวัง” ธวัชชัย ดำรงอ่องฯ ด้วยฉันทามติจากเพื่อนๆน้องๆในทีม ลุกมายิงจุดโทษไม่พลาด ทำให้ธรรมศาสตร์ตีเสมอจุฬาแว้ววว

เป็นการอำลาสนามฟุตบอลประเพณีที่น่าจดจำครับ