รู้จักกันหน่อย ratioscripta
จริงๆแล้ว บล็อกตอนนี้ของผม ควรจะต้องว่าด้วยเรื่องราวแห่งบรรยากาศในงานชุมนุมบล็อกเกอร์ ครั้งที่ 1 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ณ ร้านเฮมลอค แต่ด้วยความประหม่าที่จะต้องเขียนถึงบล็อกเกอร์ขวัญใจของผมจำนวนหลายคน ทำให้ผมเกิดปริวิตกว่าจะเขียนออกมาไม่ดี (แหม...ตัวการใหญ่น่าจะลงมือร่ายเองนะงานเนี๊ยะ) เลยขอเว้นวรรคไปเขียน พร้อมกับนำภาพบรรยากาศ รูปร่างหน้าตาผิวพรรณ โหงวเฮ้ง ของบล็อกเกอร์แต่ละคน มาให้ทุกท่านยลกัน ในอีกสักสองวันแล้วกันครับ
งานนี้ก็ลุ้นระทึกไปก่อน พร้อมกับวาดภาพ วาดฝันกันไปแล้วกันครับ ว่าบล็อกเกอร์แต่ละคนในจินตนาการของท่านเป็นอย่างไร เห็นเขียนหนังสือสวยๆ ภาษางามๆ แล้วจะคิดว่าใบหน้าต้องงดงามตามไปด้วยนี่...
เตรียมใจกันไว้ก่อนเลยครับ (ฮา)
สักสองวันครับ สักสองวัน จะมาเฉลยให้สยิวหัวใจเล่นครับ
สำหรับวันนี้ มารู้จักผมกันก่อนแล้วกันครับ...
หมดมุขแล้วครับ ขอหากินกับชื่อตัวเองก่อนก็แล้วกันวันนี้
...............................................................
กว่าสามเดือนแล้วนะที่บล็อกของผมเผยอหน้าขึ้นมาในชุมชนบล็อกเกอร์ ชุมชนในอุดมคติของใครหลายคน (รวมทั้งผมด้วย) หลายๆท่านคงตามลิงค์จากบล็อกเกอร์ท่านอื่นมาอ่านบ้าง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ขอต้อนรับอย่างเป็นทางการครับ
และขอขอบพระคุณที่ทุกท่านยังคงไม่เบื่อหน่าย และยังคงวนเวียนมาเป็นเพื่อนทางความคิด ทางตัวอักษรกับผมเสมอๆ ไม่ว่าท่านจะทิ้งความเห็นไว้หรือไม่ ขอบคุณจริงๆครับ (ถ้าเป็นไอ้เพื่อนผม มันต้องเอื้อนว่า “เพียงคุณแวะมาชม เราก็แอบนิยมอยู่ในใจ” แม่งสโลแกนร้านขายหนังสือ “ดอกป้า” นี่หว่า ไม่ได้คิดเองเร้ยยยย)
ขอแนะนำตัวอย่างเป็นทางการด้วยอีกครั้งครับ
เอากันที่ชื่อก่อนเลย ratioscripta (จริงๆถ้าจะเขียนให้ถูกตามหนังสืออาจารย์แกที่ผมลอกเอามาก็ต้อง Ratio Scripta แต่ด้วยความขี้เกียจ ก็ของ่ายๆงี้แหล่ะครับ) ชื่อดังกล่าว เป็นภาษาละตินครับ ถามว่าอ่านอย่างไร…
โอ๊ยยยยย ของแค่นี้….
ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ก็ในหนังสือของแกที่ผมขอลอกเอามาใช้ มันก็ไม่เขียนคำอ่านภาษาไทยนี่หว่า แต่เท่าที่ผมพอจะจำขี้ปากบรรดาอาจารย์ผู้พิสมัยในภาษาละตินที่ตายแล้ว ก็พอจะเดาได้ว่า มันน่าจะอ่านว่า “ราชิโอ สคริปต้า” ซึ่งใครจะถนัดเรียกผมในโลกแห่งบล็อกเกอร์นี้หว่า “ราโช” ก็ยินดีไม่มีปัญหาครับ ชื่อเหมือนพระเอกหนังอินเดียดี…ชอบ (ดูมๆ)
ชื่อกระแดะๆของผม ผมยกเอามาจากหนังสือเล่มนี้ครับ
“ความเป็นมา และหลักการใช้นิติวิธี ในระบบซิวิลลอว์ และคอมมอนลอว์” หนังสือเล่มโปรดอันมีขนาดกระทัดรัดบางจิ๋วของผม เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยวิ่งไล่ตามหาแก่นธรรม กับดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นั่นแหล่ะครับ ท่านเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะที่รักของผมเอง
ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือกฎหมาย แต่ไม่ใช่พวกนิติศาสตร์โดยแท้ ประมาณ คำอธิบายประมวลกฎหมาย ที่มีแต่เทคนิคการใช้และการตีความรายมาตรา ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา อ่านแล้วคลื่นเหียน นี่ไม่นับรวมพวกหนังสือฟาสต์ฟู้ดด่วนแดกของคนเตรียมสอบ อย่างพวก “วิแพ่งพิสดาร” “วิอาญามหัศจรรย์” อีกหน่อยมันคงมี “วิแพ่งวิตถาร” “วิอาญาอุบาทว์” ล่ะมั๊งครับ
ผมชอบอ่านหนังสือกฎหมายประเภท นิติศาสตร์เชิงคุณค่า หรือ พวกปรัชญากฎหมาย รวมไปถึงคุณค่าที่ได้จากการเปรียบเทียบกับศาสตร์อื่นๆ ไม่ใช่พวกโดยแท้ที่ใช้ทิ่มแทงฟาดฟันกันเท่านั้น
พลันที่ผมเห็นหนังสือเล่มนี้บนชั้นขายหนังสือของร้านประจำคณะ ผมแทบไม่ต้องคิดล่ะครับ บาง ถูก แถมชื่อมาสะดุดใจผมอีก
มันมาสะดุดตรงคำว่า “นิติวิธี” นี่แหล่ะครับ
หากใครเคยได้อ่านความเห็นที่ผมหล่นๆไว้ในบล็อกของเพื่อนบ้านไว้บ้าง คงพอจะจำกันได้ว่า ในความเห็นของผม สิ่งที่นักเรียนกฎหมายโดยเฉพาะในชั้นปริญญาตรี ควรที่จะต้องมีนั้น คือสิ่งที่เรียกว่า “นิติวิธี” และ “จิตใจแห่งนักกฎหมาย” ไอ้อย่างหลังคงเป็นนามธรรมมาก มากไปกว่าที่ผมจะหาขอบเขตมาอธิบายให้มันชัดเจนได้ สิ่งที่พอจะเทียบเคียงความหมายได้บ้าง ก็คงเป็นจิตใจที่รักความยุติธรรม เกลียดการเอาเปรียบ และมีวิญญาณ หรือมีความเป็นนักกฎหมายในสายเลือด พวกบ้าเหตุผล และช่างซักถาม บลาๆ
สำหรับนิติวิธีนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ตำนานทางกฎหมายที่ยังมีชีวิตอยู่ อีกท่านหนึ่ง ให้นิยามไว้อย่างนี้ครับ
“นิติวิธีนั้นเป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่กับตัวกฎหมาย ไม่จำต้องบัญญัติและถึงแม้จะได้บัญญัติถึงนิติวิธีไว้กฎหมายก็มิได้บัญญัติหลักนิติวิธีไว้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะนิตวิธีมีลักษณะเป็นแนวความคิดที่ฝังตัวอยู่ในระบบกฎหมาย จนเป็นแบบฉบับในทางกฎหมายของระบบกฎหมายนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้าตัวบทกฎหมายเป็นร่างกายนิติวิธีก็เป็นวิญญาณของกฎหมาย”
อ่านนิยามข้างต้นแล้ว ให้ละเหี่ยใจเพราะผมคงไม่สามารถคิดอะไรได้ลึกซึ้งแบบท่านล่ะครับ ลำพังถ้าจะมาเอานิยงนิยามคำว่านิติวิธีกะผม ผมจะทำได้แค่เพียงเปรียบเทียบ สิ่งที่เรียกว่า “นิติวิธี” ให้เป็น “กล่องเครื่องมือ” และเปรียบเทียบ “ตัวบทกฎหมาย” ให้เป็น “หีบมหาสมบัติ” โดยไอ้หีบนั้น มันถูกพันธะนาการไว้ด้วย โซ่ตรวนขนาดล่ามช้าง ล็อกด้วยแม่กุญแจลูกเท่าแม่ไก่ มัดด้วยเชือกล่ามควายสามร้อยหกสิบห้าทบ
ภายในกล่องเครื่องมือใบเขื่องนั้น มีเครื่องมือหลากหลาย ตั้งแต่มีดคัตเตอร์ มีดตอนควาย ไขควง เหล็กขูดชาร์ป ยันระเบิดนิวเคลียร์
หากไอ้เด็กน้อยคนหนึ่ง หลงมาเจอหีบสมบัติ พร้อมกับกล่องเครื่องมือใบเขื่องนั้น มันคงทำหน้างุนงง ไม่รู้ว่าจะใช้อะไรแงะงัดหีบสมบัติใบนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งล้ำค่าภายใน มันคงพยายามเอาไขควงตัดเชือก เอามีดแงะรูกุญแจ แล้วเอาฟันแทะโซ่ตรวน และถ้ามันบ้ากว่านั้น มันอาจจะยิงนิวเคลียร์ทำลายล้างโลกเพียงเพราะต้องการเปิดหีบมหาสมบัติใบนั้น
ท้ายสุด ก็มานั่งร้องไห้ พร้อมกับฟันที่ร่วงหมดปาก มีดบาดไม้บาดมือ แผลเหวอะหวะ
เมื่อหมดความพยายาม มันก็เลิกล้มความตั้งใจที่จะค้นหาสิ่งเลอค่าอมตะ ในหีบสมบัติ พร้อมกับวิ่งมีดไม้ ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนต่อ
แต่วันดีคืนดี เมื่อมีใครสักคน ถามมันว่า “ไอ้หนูเอ๋ย ในหีบสมบัติใบนั้น มีอะไรซ่อนอยู่ภายในเล่า” มันก็จะเล่าเป็นฉากๆ ว่ามัน สามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้น ได้อย่างวิเศษ และเปิดหีบใบนั้นได้อย่างง่ายดาย พร้อมกับเล่าเป็นคุ้งเป็นแควว่า ภายในหีบลึกลับใบนั้น ประกอบด้วยทรัพย์สมบัตินานัปการ เพชรนิลจินดามากมายมหาศาล ทองนพเก้าระยิบระยับบาดตาแทบบอด
หลายคนรุมล้อมมานั่งฟังขี้ปาก (ที่ไร้ฟันอีกต่อไปหลังจากการทะลึ่งแทะโซ่ที่ล่ามหีบนั้นไว้นั่นแหล่ะ) ของไอ้เด็กเวรนั่น พร้อมกับพลอยพยักเพยิด เชื่อขี้ฟันมันไป ทั้งโดยไม่รู้เลยว่า มันเคยแม้แต่พยายามเอาไขควงไปตัดเชือกล่ามควายด้วยซ้ำ
ฉันใดก็ฉันนู้นนนน
นิทานเรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า “เป็นเมียพี่ ต้องอดทน” …
จะบ้าเรอะ
…สอนให้รู้ว่า…การเรียนการสอนให้นักเรียนกฎหมายนั้น ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งจึงเป็นการทำให้นักเรียนตาดำๆเหล่านั้น เรียนรู้การใช้กล่องเครื่องมือกล่องนั้นได้เป็นอย่างดี รู้ว่าไขควง ไม่ได้มีไว้ตัดเชือก และรู้ว่าฟันของเคนเรามันหักง่ายหากใช้ผิดวิธี
จะว่าไปไอ้นิทานกำมะลอของผมเรื่องข้างบนก็ไม่สามารถจะสื่อให้เห็นถึงความสำคัญ ของ “นิติวิธี” ได้อย่างสมบูรณ์แต่อย่างใดหรอกครับ เพราะมันยังขาดมิติของวิญญาณของกฎหมาย ดังที่อาจารย์ปรีดี ท่านว่าไว้
เรื่องเล่าข้างบนของผม มันจำกัดวงอยู่เพียงแค่ เทคนิคการค้นหาความหมายที่แท้จริง ของตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษร โดยต้องผสานความหมายของถ้อยคำ รวมไปถึง “เจตนารมณ์” ของกฎหมายที่อยู่เบื้องหลัง ถ้อยคำอักษรเหล่านั้นให้ได้อย่างพอดิบพอดี นั่นเท่ากับการเปิดหีบมหาสมบัติ และได้สิ่งของทรัพย์สินอันล้ำค่า
เหมือนอ่านกลอน แล้วสัมผัสได้ถึงอารมณ์กวีผู้รจนาให้ได้อย่างไรอย่างนั้นแหล่ะ
เมื่อนักเรียนกฎหมายมีนิติวิธี หรือมีเทคนิคการใช้เครื่องมือดังกล่าว เป็นอย่างดี และสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง เพื่อค้นหาความหมายที่ถูกต้องแท้จริง เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวหนังสืออันแข็งกระด้างตายตัวเหล่านั้น ได้เท่าเทียมกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใดในระบบ ก็สามารถค้นหา ใช้ และตีความกฎหมายฉบับเหล่านั้น ได้อย่างถูกต้อง และเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว (เหมือนกับที่อาจารย์คณิตแกเคยพูดติดตลกหน่อยๆว่า การตีความกฎหมาย ใครว่าตีความได้หลายนัย มันมีนัยเดียว ก็คือ นัยที่ถูกต้องนั่นแหล่ะ) เหมือนคุยภาษาเดียวกัน เมื่อประกอบกับ “จิตใจแห่งนักกฎหมาย” แล้ว แหม…โลกนี้สีชมพูเหลือเกิน
แต่โลกแห่งความจริงมันไม่ใช่ มันยังมีนักกฎหมายแบบเด็กน้อยฟันหลอที่พูดเพ้อเจ้อ เรื่อยเปื่อย และบิดเบือนอยู่อีกมากมาย
อย่างไรก็ตามครับ แม้จะมีกล่องที่มีเครื่องมือสดเอี่ยม ใหม่ ใสกิ๊ก ดีเลิศ คุณภาพดีเพียงใด แต่หากหีบสมบัติใบนั้นหาได้มีมหาสมบัติใดซ่อนอยู่ภายใต้ หากมีแต่หยากไย่ คร่ำครึ กลิ่นเหม็นอบอวล ชวนอาเจียน ก็ไร้ซึ่งความหมายที่เราจะทุ่มเทเครื่องไม้เครื่องมือ และสรรพกำลัง ไปงัดและแงะมันออกมา
มหาสมบัติอันยิ่งใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ หีบล่ำสัน อันเป็นสัญลักษณ์แทนถ้อยคำลายลักษณ์อักษรนั้น หาใช่สิ่งอื่นใด มันคือสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” เหตุและผลของเรื่อง “Nature of Things” เป็นสิ่งที่มันต้องเป็นไปตามเหตุและผลที่กำกับเรื่องราวนั้นอยู่ เช่น การที่กำหนดให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ต่ำกว่าต้องรับน้ำที่ไหล่บ่าตามวิถีแห่งธรรมชาติจากที่ดินที่สูงกว่า โดยไม่สามารถไปกั้นมิให้น้ำไหลผ่านที่ตนได้ เนื่องจากการทำเช่นนั้นจะทำให้น้ำท่วมเอ่อที่ดินเหนือตน ในขณะเดียวกัน เจ้าของที่ดินสูงกว่าก็ย่อมไม่สามารถกักเก็บน้ำนั้นไว้ใช้เพียงคนเดียว จำต้องปล่อยให้มันไหลผ่านที่ดินตนตามธรรมชาติสู่ที่ดินที่อยู่ต่ำกว่าด้วย ตนเพียงกักเก็บไว้ได้เท่าที่จำเป็นแค่นั้น
นี่ก็เหตุผลครับ
เหตุผลของเพื่อนบ้านที่ดี เอื้ออาทรและพึ่งพิงกัน ถามว่ามันเป็นเช่นนั้นเพราะกฎหมายบัญญัติ หรือมันเป็นเหตุผลของเรื่องเพื่อนบ้านที่ดีอยู่แล้ว กฎหมายเพียงแต่รับรองให้มันชัดเจนและแน่นอน มีขอบเขตที่พิเคราะห์และพิจารณาได้
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่ง ในหลายร้อย หลายพันตัวอย่าง ที่ได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในสิ่งที่เรียกว่า “ประมวลกฎหมาย”
ประมวลกฎหมาย จึงเป็น “คัมภีร์” เล่มใหญ่ ที่รวบรวมวิธีคิด และวิถีแห่งเหตุผล โดยร้อยเรียงกันอย่างมีระบบระเบียบ
เป็นระบบระเบียบเพียงพอที่เอื้อต่อการใช้เทคนิคและเครื่องมือที่ถูกต้องเข้าไปค้นหา เข้าถึง และเข้าใจ เหตุผลเหล่านั้นได้ อย่างพอดิบพอดีและลงตัว
ด้วยเหตุเช่นเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้นักกฎหมายที่ศึกษากฎหมายโรมัน ศึกษากฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียนอย่างเชื่อมั่นศรัทธาว่ากฎหมายโรมันเป็นกฎหมายที่ถูกต้องและมีเหตุผล เป็น “คัมภีร์แห่งสติปัญญา”(Ratio Scripta) และก่อให้เกิดทัศนคติต่อกฎหมายสืบต่อกันไปเป็นดีเอ็นเอทางวัฒนธรรมในนักกฎหมายรุ่นต่อๆมา ว่า “ตัวอักษร” กับ “เหตุผล” เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก อันเป็นนิติวิธีสำคัญของนักกฎหมายซีวิลลอว์ (ที่ผมปวารณาตัวอยู่ แต่ก็ไม่วายที่จะเหลือบมองและศึกษานิติวิธีในระบบอื่นด้วย เพื่อสร้างความชัดเจนและสร้างคุณค่าในการเปรียบเทียบอีกทางครับ)
ด้วยความประทับใจส่วนตัว ในวิธีคิด และนิติวิธีเช่นนี้เองครับ
ที่ทำให้ผมกระแดะตั้งชื่อบล็อกแห่งนี้ว่า
Ratio Scripta
5 Comments:
รออ่านรายงานสด meet the bloggers ด้วยใจระทึก
ขอแอบบอกว่า เฮดใหญ่ มาบอกมิม้ในเอม เอส เอน ว่าเมื่อต้องเขียนในภาค "คนไปงาน" แล้ว มิ้มควรเขียนในภาค "คนอยากไปงาน" บ้าง
ขอไปศึกษาการเปิดบล๊อกก่อนนะ คงได้อ่านอยู่หรอก
....
คำว่า ratio มาจากภาษาละติน แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ว่า raison หรือ reason ในภาษาอังกฤษ หรือ เหตุผล ในภาษาไทย
มีลูกหลานเป็น ratio decendendi / ratio legis และ ratio scripta
....
ratio decendendi
แปลว่า เหตุผลในการตัดสิน หรือ raison de décider หรือ reason of decision
ตัวอย่างก็เช่น เหตุผลในคำพิพากษา ว่าผิด กม. บทใด อะไรประมาณนั้น
เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยเรื่อง ความผิดตามตัวบท
....
ratio legis
น่าจะทายถูก เพราะมีคำว่า legis ซึ่งเป็นญาติๆ กับคำว่า lex ซึ่งแปลว่า กฎหมาย
เป็นที่มาเดียวกับ législation ในภาษาฝรั่งเศส / legislation ในภาษาอังกฤษ และ นิติบัญญัติ ในภาษาไทย
ซึ่งหมายถึง อำนาจในการออกหรือตรากฎหมาย
ดังนั้น ratio legis จึงแปลว่า เหตุผลของกฎหมาย หรือ เหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีกฎหมายฉบับนั้นๆออกมา
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในกฎหมายไทย คือ "หมายเหตุ" หลังพระราชบัญญัติทุกฉบับ
....
ratio scripta
แปลได้อย่างที่บล๊อกเกอร์แปล
และแปลได้อีกว่า raison écrire / writing reason
มาจากการอธิบายของเหตุผลที่มีการเขียนไว้เป็นตัวอักษร เช่น ความเห็นของนักกฎหมายรุ่นเก่า หรือ บ่อเกิดตาม กม.โรมันที่จารึกเอาไว้ หรือ สัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศที่อาจจะยังไม่มีการบังคับใช้ รวมทั้ง การตีความต่างๆ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจในการตัดสิน
....
ในความเห็นส่วนตัว
เห็นว่า คำพิพากษาที่ดี ต้องประกอบไปด้วย ratio ทั้งสามตัว อย่างเท่าเทียมกัน
คือ มีความเข้าใจถึง ratio legis ก่อน แล้วจึงคิด โดยอ้าง ratio scripta ก่อนที่จะเขียน ratio decendendi
ratio ทั้งสามตัวเลยต้อง "รวมพลัง" กันอย่างไม่ต้องสงสัย
....
ส่วน ratio scripta ที่เป็นบล๊อกเกอร์น่ะ
คงไม่ต้องไปรวมพลังกะใคร
เพราะเห็นอัพบล๊อกได้สนุกๆทุกทีเลย
เลยอดไม่ได้ ที่จะค้นและหาคอมเม้นต์ยาวๆ
มาเติมแต่งในทุกครั้ง
....
อ่านจบแล้ว
ไม่ต้องหน้าบานเพราะชมหรอก
แต่ไปเขียนรายงานงานปาร์ตี้ซะนะ
อย่าอู้
....
11:57 AM
รออ่านรายงานมีตติ้งบล๊อกเกอร์อยู่ค่ะ
อย่าให้รอถึงสองสามวันเลยนะ
อย่าลืมรูปนา
7:45 PM
สมกับเป็นคัมภีร์แห่งเหตุผล แค่อธิบายชื่อก็มีเหตุผลโดยละเอียดซะแล้ว อย่างนี้เค้าเรียกว่า "อธิบายคัมภีร์แห่งเหตุผลด้วยเหตุผล"เห่อ นี่ละหนานักกฎหมาย สำหรับงานที่ร้านแฮมลอก สนุกดีครับ ร้านดี สุราเยี่ยม โดยเฉพาะ ไวน์ชาละวัน ปะทะกันกันกับ คอนยัค ของคุณน้องปิยะบุตร แต่ที่สำคัญ หากขาดไร้ซึ่งชาว Blog เสียแล้วรสสุราคงขมไปถนัด สวัสดี บุญรักษาชีวาสดชื่น
2:51 AM
ได้อ่านที่มาที่ไปของชื่อแบบเต็มๆ
ลึกซึ้งค่ะลึกซึ้ง เอิ้กๆ
5:59 AM
สมัยผมเรียน ผมโครตสงสัยเลย แพ่งพิสดาร อาญาพิสดารเป็นยังไง
ผมก็นึกว่า เป็นคดีพิลึกๆ เช่น คดีเช่าบ้านผีสิงแล้วฟ้องขอเลิกสัญญาเช่า หรือคดีขโมยหัวใจ (หัวใจจริงๆที่อยู่ในหน้าอกเด้อ) ฯลฯ
จินตนาการบรรเจิดจริงๆ
2:39 AM
Post a Comment
<< Home