Tuesday, August 30, 2005

ทำบุญกระดูกคุณตาที่วัดเบญฯ

คุณตาผมเสียไปกว่าสิบแปดปีแล้วมั๊งครับ

ด้วยอาการหัวใจไม่ประสบความสำเร็จ (หัวใจล้มเหลวนั่นเองครับ)

จำได้ว่า ผมชอบไปหาคุณตาที่บ้านที่ราชประสงค์ ทั้งๆที่คุณตาออกจะดุ แต่เวลาไปหาผมกับน้องมักจะได้แบงค์สิบสีน้ำตาลๆ ติดไม้ติดมือกลับมาทุกครั้ง

แม้ว่าครั้งหนึ่งเกือบทำปลาทองตัวโปรดคุณตาตายคามือด้วย การยัดทะนานอาหารปลาให้มันกินอย่างจุใจ จนพุงแทบแตกตายก็ตาม

จากวันที่คุณตาจากลูกหลานไปอย่างไม่มีวันกลับ จนถึงวันนี้ วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม บรรดาลูกหลานจะพากันไปทำบุญกระดูกคุณตาที่วัดเบญจมบพิตร เป็นประจำสม่ำเสมอทุกปีไม่เคยขาด

ปีนี้ วันกำหนดนัดของพวกเรา ก็คือ วันอาทิตย์ที่ผ่านมาครับ

การทำบุญกระดูกคุณตาทุกๆปี เราก็จัดกันเรียบง่าย มีการทำบุญเลี้ยงพระ ฉันเพลกันเท่านั้น ส่วนอาหารการกินก็ง่ายๆครับ แรกๆเราก็จ้างป้าที่แกทำอาหารขายอยู่ข้างหลังวัดทำให้ แต่คงไม่ค่อยถูกใจ (ปากด้วย) บรรดาลุงๆป้าๆทั้งหลาย เราก็เลยตกลงกัน ทำกันมาเอง บ้านละเมนู สองเมนูทั้งคาวหวาน และขอหยิบยืมจานชามอุปกรณ์จากทางวัดเอา เป็นอันว่าลงตัว เพราะสะดวกสบาย และถูกปากของพวกเราเป็นอย่างดี เพราะเมื่อพระท่านฉันเสร็จ ก็ได้เวลาพวกผมรับไม้ต่อ

ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาเราทำบุญกระดูกคุณตาโดยที่ไม่มีแม้แต่เครื่องช่วยบันทึกความทรงจำใดๆมาช่วยสมองของเราเก็บกอดบรรยากาศนั้นไว้เลย

แต่ปีนี้ไม่ครับ นอกจากกล้องวีดีโอของคุณลุง ก็มีกล้องของผมที่ทำหน้าที่กล่องบันทึกความทรงจำ ให้กับผมและหมู่ญาติ

ผมขออนุญาตนำรูปบางส่วน โดยเฉพาะมุมบางมุมของวัดเบญจมบพิตรที่สวยสดงดงาม มาลงให้ได้ชมกันครับ




มุมนี้ เป็นลานกว้าง บริเวณโบสถ์ จำได้ว่าเป็นลานที่ผมชอบวิ่งไถลลื่นตอนเด็กๆ ไม่หายจนกระทั่งโตจนเลียตูดหมาไม่ถึงอย่างทุกวันนี้ครับ

นี่น่าจะเป็นพระพุทธเจ้าปางในวัดเบญฯที่มีคนรู้จักมากที่สุดแล้วมั๊งครับ ขณะที่ท่านบำเพ็ญทุกขกิริยา พระวรกายผ่ายผอม แต่ก็นำมาซึ่ง "หลักทางสายกลาง" ให้พวกเราคำนึงถึง "ความพอดี" (แต่มักจะทำไม่ค่อยจะได้) ในทุกวันนี้

บริเวณด้านข้างของโบสถ์ครับ สังเกตให้ดีจะเห็นรอยร้าวพาดบริเวณตอนกลาง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร และรุนแรงแค่ไหน ไม่มีความรู้น่ะครับ แต่อย่างน้อย ก็น่าห่วงเนอะ วัดสวยสดอย่างนี้ ต้องช่วยกันดูแล และบูรณะครับ


มุมนี้เป็นมุมธรรมดาๆ ในวัด บริเวณถนนทางเดิน ข้างทางเข้าโบสถ์ใหญ่ ธรรมดาๆแต่ดูสงบดีนะครับ

สำหรับมุมนี้ ไม่ธรรมดาครับ เพราะปรากฏอยู่หลังเหรียญห้าบาทปัจจุบันนี่แหล่ะครับ


อันนี้เป็นมุมบริเวณ ท่าเรือสาทร ใต้สะพานสาทร หรือสะพานตากสิน ที่ข้างบนรถติดเป็นตังเม พร้อมบรรยากาศที่แออัดร้อนรน แต่ด้านล่างกลับเอื่อยเฉื่อยและเย็นสบายด้วยสายลมสะท้อนผิวน้ำ ถ่ายขณะที่ผมข้ามเรือกลับไปผจญภัยฝั่งธนฯ เพราะพ่อกับแม่หนีกลับบ้านไปก่อนแล้ว

8 Comments:

Blogger sweetnefertari said...

จำได้ว่าตอนเรียนวิชารัตนโกสินทร์ ต้องไปถ่ายรูปถ่ายสไลด์ทำรายงาย เดินกันขาลาก ตั้งแต่เช้าจนเย็นยังไม่ทั่วเลย เหลืออีกเกือบครึ่ง ทำให้รู้ว่ากรุงเทพฯมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย อย่างที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน

และเมื่อไม่นานมานี่ก็ไปไหว้พระ 9 วัดศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเทพฯมา

9 วัดเอง...น้อยกว่าเดิมตั้งเยอะ ที่สุดก็ไปไม่ทันอยู่ดี วัดพระแก้ว ปิด 4.30 น. วัดฝั่งธนฯเช่น วัดพระอรุณฯโบสถ์ แปะป้ายไว้ว่า ปิด 6 โ มงเย็น แต่ไหงปิดตั้งแต่ยังไม่ 5.30 น.ก็ไม่รู้ เลยพลาดไป 4 วัดเลย แต่เอาเถอะ แค่ได้ยืนไหว้อยู่หน้าโบสถ์ก็อิ่มใจแล้ว

ถ้ามีเวลาเพื่อนๆพี่ๆน้องๆลองไปดูนะคะ แล้วคุณจะรู้สึกรักกรุงเทพฯ รักเมืองไทยขึ้นอีกเยอะเลย ภูมิใจจัง

11:06 AM

 
Blogger ratioscripta said...

ขอบคุณครับ

อันนี้ต้องยกความดีความชอบให้ตัววัตถุที่ถูกถ่ายก็คือ วัดเบญฯนี่แหล่ะครับ

วัดนี้สวยสดงดงามชนิด ตากล้องอุบาทว์อย่างผมถ่ายยังออกมาได้อย่างนี้ ไม่มีหลักการใดๆ มั่วล้วนๆ

ใครมีคำแนะนำในการถ่ายรูป ยินดี และขอบพระคุณล่วงหน้าเลยครับ มือใหม่หัดถ่ายน่ะ

11:13 AM

 
Anonymous Anonymous said...

สวยมากค่ะ เห็นแล้วอยากไปวัดเบญเลย

คุณตาน้องต้องคงดีใจที่ลูกหลานไม่เคยลืมท่านเลย ดีจริงๆค่า

10:59 PM

 
Anonymous Anonymous said...

ถ่ายรูปดี ถ่ายรูปดี ถ่ายรูปดี มาก มาก

5:46 PM

 
Blogger crazycloud said...

เห็นโบสถ์ ช่อฟ้า ใบระกาแล้วของขึ้น อยากกินเหล้า

2:57 AM

 
Blogger crazycloud said...

แต่งกลอนให้สดๆแฉะๆ
นิราศวัดเบญจฯ
"ไปวัดเบญจฯเห็นแสงทองทาบทอ
หยอกละล้อกระจกมุขประดับ
สาดแสงธรรมแสงเทียนเวียนวาววับ
สงบรำงับจับจิตติดดวงแด

คุณตาRatio ลาลับล่วง
หมดหดห่วงสู่ความจริงแห่งกระแส
ธรรมชาติใช่พิฆาตอินทรีย์ดวงแด
จึงเหลือแต่ความรำลึกสำนึกคุณ"

3:05 AM

 
Blogger sweetnefertari said...

คิดถึงคุณตา... T_T

11:42 AM

 
Anonymous Anonymous said...

วัดสวยครับ
อยากรู้ว่ามันเป็นศิลปะสมัยไหนกันแน่
ขอบคุณครับ ที่นำมาให้ชมกัน

9:46 AM

 

Post a Comment

<< Home