๑๑ พฤษภาคม วันปรีดี
อาลัยอาจารย์ปรีดี
คือวิญญาณเสรี ชื่อปรีดี พนมยงศ์
คือดาวที่ดำรง อยู่คู่ฟ้าสถาวร
คือเทียนที่ลาร้าง แต่ส่องทางไว้สุนทร
คือเกียรติที่กำจร และจารใจผู้ใฝ่ธรรม
คือแสงธรรมที่นำฉาย คือความหมายที่เลิศล้ำ
คือผู้ประศาสน์คำ “ธรรมศาสตร์และการเมือง”
ผู้พลิกประวัติศาสตร์ ประชาราษฎร์ให้โลกเลื่อง
คือเสรีรองเรือง ระยับอยู่คู่ฟ้าดิน
อาลัยท่านอำลา จากประชาทั่วธานินทร์
แต่เจตนาจินต์ จักสืบล่วงเป็นพลัง
คือหรีดและมาลัย จากดวงใจชนรุ่นหลัง
สายใยไม่หยุดยั้ง แต่ยังอยู่อย่างยืนยง
แม่โดมจักผงาด ธรรมศาสตร์จักดำรง
ปรีดี พนมยงศ์ ประดับไว้ในใจชน
(ประพันธ์โดย “เฉินซัน” ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖)
"พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี
แต่คนดีเมืองไทย ไม่ต้องการ"
หากท่านปรีดียังคงมีลมหายใจอยู่ ในวันนี้จะเป็นวันที่ท่านมีอายุครบ ๑๐๖ ปี
ผมจำได้เลาๆว่า เมื่อย้อนไปสัก ๙ ปีก่อน ช่วงนี้เป็นเวลาที่ผมกำลังเนื้อเต้น กับสถานะ “เพื่อนใหม่” ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื้อเต้นจนจำไม่ได้ว่าได้ผ่านกิจกรรมอะไรมาบ้างในช่วงเวลานั้น ซึ่งก็น่าจะรวมถึงงานรำลึกท่านปรีดี ผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ด้วย
อย่าว่าแต่ในห้วงเวลาของความเป็นเพื่อนใหม่เลยครับ แม้แต่ในสถานะของนักศึกษาเต็มตัวในปีต่อๆมา งานรำลึกท่านปรีดีทุกวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ของทุกปี ก็ไม่ได้อยู่ในความทรงจำของผมเลย กระทั่งเมื่อท่านได้รับการยกย่องจากจากองค์การยูเนสโก (โดยข้อมติที่ ๕๘ ของการประชุมใหญ่เรื่องการฉลองวันครบรอบ (Celebration of Anniversaries) ของบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของโลก) โดยประกาศให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก และทำการฉลองในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของท่าน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓(นอกจากท่านปรีดีแล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก็ทรงได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปีดังกล่าวด้วยเช่นกัน) นั่นล่ะ งานรำลึก “วันปรีดี” จึงได้กลับมาอยู่ในความทรงจำของผมอีกครั้ง
แต่หลังจากนั้นแล้ว เดือนพฤษภาคม ก็หลงเหลือแต่วันพืชมงคล และวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันหยุดนอนยาวราชการเท่านั้น ที่ผมคุ้นชิน
ปีนี้จึงถือเป็นโชคของผมจริงๆที่ได้กลับมาร่วมงานวันปรีดี เพื่อรำลึกถึงและ แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่านอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผมได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในตัวแทน (ด้วยวิธีสากลตามกฎหมาย คือ จับสลาก) ของสำนักงาน เพื่อมาร่วมงานดังกล่าว
รายละเอียดของงานในวันนี้ นอกจากจะมีการวางพานพุ่มเพื่อแสดงความรำลึกของหน่วยงานราชการต่างๆแล้ว ก็ยังมีไฮไลท์อยู่ที่การปาฐกถาพิเศษของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วิพากษ์เกี่ยวกับทางเลือกทางรอด ของระบอบการปกครองไทย และความบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ก่อให้เกิดระบอบเผด็จการด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียว รายละเอียดเกี่ยวกับปาฐกถาไปหาอ่านกันเอาเองครับ (ฮาๆ สารภาพว่าแอบสัปปะหงกครับ ไม่ปะติดปะต่อและไม่รู้เรื่องพอจะถ่ายทอด … หัวไม่ถึงครับ)
แต่ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ในส่วนตัวของผม สำหรับงานวันนี้มีอยู่ ๒ เรื่องครับ
๑. ผมได้ควักกระเป๋าตังค์ ซื้อโปสการ์ดรูปเก่าๆของธรรมศาสตร์ ของหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ที่เค้ารวบรวมเป็นเล่ม มาขายในสนนราคา เล่มละ ๑๕๐ บาท (วางขายทั่วไปตามศูนย์หนังสือจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ครับ) พร้อมกับแถมฟรีโปสการ์ด (ที่ไม่ได้เอารวมไว้ในเล่ม … ไม่รู้เพราะอะไร) อีก ๔ ใบ ใครอยากได้แบบไม่ตีตราไปรษณียากร ก็ไปหาซื้อเองตามแหล่งข้างต้น ส่วนใครอยากได้แบบตีตราไปรษณียากร พร้อมทั้งข้อความลายมือขยุกขยุย ของผม ก็ทิ้งที่อยู่ไว้ครับ (ฮาๆ)
สองสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และปรีดี พนมยงศ์ ที่อิมพีเรียล คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๑๘
นอกจากโปสการ์ดแล้ว ผมยังได้เสื้อยืดคอกลม สกรีนภาพ “นกปรีดี” หรือ Chloropsis aurifrons pridii (เป็นชื่อนกชนิดย่อยหนึ่งของนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ที่สถาบันสมิธโซเนียนแห่งสหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายปรีดี พนมยงศ์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย) อีก ๒ หน่วย
และ หนังสือชื่อ “มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ” ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมข้อเขียนการเมืองในฐานะหนังสือพิมพ์ของ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อีกหนึ่งหน่วย
“…นักศึกษาและบัณฑิตของ ม.ธ.ก. มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา
มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้
เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้
เพราะว่ามีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่นๆ
รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักกันเขาไว้ในอุปาทาน
และความคิดที่จะเอาแต่ตัวเองรอดเท่านั้น
ชาว ม.ธ.ก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”
กุหลาบ สายประดิษฐ์
ข้อความจารึกบริเวณทางเข้าหอประชุม “ศรีบูรพา”
จากบทความ “ดู นักศึกษา ม.ธ.ก. ด้วยแว่นขาว”
พิมพ์ครั้งแรก วารสารธรรมจักร
สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
ข้อความข้างต้นปรากฏบนปกด้านหลังของหนังสือดังกล่าวครับ
๒. ผมได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม “หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” บริเวณชั้น ๓ ของอาคารโดม ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
หอประวัติศาสตร์ฯ นี้เป็นสถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์และเกียรติยศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น ๘ พื้นที่ แต่ละพื้นที่นั้นได้บอกเล่าความเป็นธรรมศาสตร์ ผ่านเหตุการณ์ ห้วงเวลา ตั้งแต่อดีตยุคตลาดวิชา ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงบรรดาศิษย์เก่าคนสำคัญๆของมหาวิทยาลัยด้วย
อ้อ บอกก่อนว่าหอประวัติศาสตร์ฯ นี้เปิดบริการให้ทุกท่านเข้าเยี่ยมชม ในวันอังคาร และ พฤหัสของแต่ละสัปดาห์ เวลา ตั้งแต่ ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๔.๐๐ น. โดยจะมีน้องๆนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์อาสาเป็นไกด์และปฏิคม นำชมและเล่าเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ครับ
เป็นที่น่าเสียดายว่าวันนี้ด้วยความเหลวไหลของผม ทำให้ผมลืมกล้องไว้บนยานพาหนะ จนทำให้ไม่สามารถบันทึกภาพภายในหอประวัติศาสตร์ฯ มาให้ชมกันได้ ถ้ามีโอกาสในคราวหน้ารับรองว่าไม่พลาดครับ และนอกจากนั้นคงจะหาโอกาสเข้าไปบันทึกภาพในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ที่อยู่ใกล้ๆกันด้วย อยากได้ภาพรูปจำหลักครึ่งตัวของ โรแลงค์ ยัคแมงค์น่ะครับ (ส่วนตัวๆ)
นอกจากนั้นวันนี้ผมยังถือโอกาสแอบเก็บภาพมุมต่างๆของมหาวิทยาลัย ที่ ณ พ.ศ. นี้ภายใต้การนำของ อธิการบดีที่ชื่อ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้พยายามปรับปรุงภูมิทัศน์ภายใน และโดยรอบมหาวิทยาลัย จนกระทั่งบางมุมจำไม่ได้เลยครับ
ฟากฟ้าครามงามประกายเฉิดฉายโดม
รับแสงโสมส่องหล้ารุ่งราศี
เหนือลำน้ำเจ้าพระยาพาชีวี
เริงฤดีคลื่นขับกล่อมยิ่งน้อมใจ
“แม่โพธิ์ร่มห่มพื้นแผ่นดินธรรม
ร่มประจำธรรมศาสตร์ทุกสมัย
แม่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเท่าไร
เป็นแม่ใหญ่ร่มเหย้าเจ้าพระยา
หลายสิบปีธรรมศาสตร์ประกาศศักดิ์
ลูกแม่โดมประจักษ์ตระหนักค่า
คิดถึงร่มโพธิ์พสุธา
จะกลับมาเยี่ยมบ้าน เยี่ยมลานโพธิ์”
ปล. ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผมด้วยครับ ตอนนี้ต้องเรียกท่านว่า “ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส” แล้วครับ
5 Comments:
พี่ต้องง ...
จานเต่าขอโปสการ์ดอ่ะ แต่ส่งให้ก้อยนะ ( เอาเขาอ้างอ่ะ 555 )
8:19 AM
อะไร...
แกอ่านะ ไม่มีฟามรัก
แกน่ะ... ฟามรักรายล้อม แต่ยังเรื่องมากไม่เลือกสักคน
แบร่ๆ :P
11:03 PM
สนามบอลยังเหลือเท่าเดิมครับพี่ เพราะไอ้ตรงที่ผมถ่าย มันเป็นเวิ้ง ตรงหน้าตึกโดม เค้าตัดเอาพื้นที่หลังประตูฟุตบอลมาทำเป็นลานจอดรถน่ะครับ สนามบอลจากวงรีรูปไข่ ก็เลยกลายเป็น สี่เหลี่ยมผืนผ้าเด๊ะๆ แล้วก็ทำเป็นลานหน้าโดม ไว้ให้นักศึกษาทำกิจกรรมกัน ก็สวยดีนะครับ
ส่วนตึกโดมก็บูรณะใหม่เกือบหมด ทาสีซะเหลืองอ๋อยเลย (ตามรูปน่ะครับ) ซึ่งผมก็มีข้อสงสัยว่า สมัยสร้างโดมใหม่ๆ ตึกโดมของธรรมศาสตร์มันสีอย่างนี้หรือเปล่า พออธิการบดีคนปัจจุบันจะปรับปรุงก็เลย พยายามรักษาไว้ด้วยการทาสีเดิม (เพราะผ่านเวลามานาน มันเลยกลายเป็นเหลืองซีด?) พอดีเกิดไม่ทันครับ ใครเกิดทันๆ มาเฉลยหน่อย
8:26 PM
ธรรมศาสตร์ เปลี่ยนไปเยอะมากจริง ๆ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันแห่งนี้ครับ
9:20 PM
ธรรมศาสตร์เปลี่ยนไป
โดยเฉพาะเหตุการณ์การเมืองปัจจุบัน
เปลี่ยนไปๆ
เศร้า
3:04 AM
Post a Comment
<< Home