ผู้หญิง "ริง" เรือ ไม่ใช่ ผู้หญิง "ยิง" เรือ
ผมเชื่อเหลือเกินว่า
หลายคนคงคุ้นชินกับสำนวนไทยว่า "ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ"
แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมครับว่า มันหมายความว่าอย่างไร?
ทำไมผู้หญิงต้อง "ยิง" เรือด้วย
มาวันนี้ผมมาพบบางอ้อแล้วครับ เมื่อผมได้เข้าร่วมประชุมนักวิจัยโครงการกฎหมายตราสามดวงประจำเดือน (ประชุมกันเดือนละหนครับ เลยเรียกว่า "ประจำเดือน" หรือจะใช้ "รอบเดือน" ดีหว่า)
แล้วมีผู้รู้หลายท่านยกเรื่องการออกเสียงในภาษาไทยมาวิพากษ์กัน พร้อมกับยกตัวอย่างการเกลื่อนกลืนกันของเสียง
จากสำนวนข้างต้น ของแท้แต่เดิมมันคือ "ผู้หญิงริงเรือ" ครับ หมายความประมาณว่า "ผู้หญิงนั่งหัวเรือ และผู้ชายนั่งท้ายเรือไว้คอยพาย" ไม่ใช่ผู้หญิงต้องถือปืนหรือหน้าไม้ไปส่องเล็งยิงเรือให้ล่มแต่อย่างใด
แต่มันเพี้ยนกันมาจนเป็นผู้หญิงยิงเรือก็เพราะอิทธิพลของเสียง ยอ ของพยัญชนะ ญ นั่นเอง พูดไปพูดมาจาก ริง มันเลยเป็น ยิง ไปเสีย
ยังมีอีกหลายคำที่น่าสนใจครับ
ไว้มีโอกาสข้างหน้าจะมาเล่าสู่กันฟัง
ปล.ช่วงนี้หลายคนคงสงสัยว่าผมยังอยู่บนโลกใบนี้หรือไม่
ยังอยู่ครับ ยังสบายดี
แต่ตอนนี้ขอปลาปรับตัวกับน้ำใหม่ก่อน ตอนนี้ยังมึนครับ
ไว้เจอกันใหม่ครับ
11 Comments:
โอ้ เพิ่งจะรู้ความหมายวันนี้เอง
ขอให้ปรับตัวได้เร็วๆนะคะ แล้วกลับมาเขียนบล้อคอีก
แฟนๆคิดถึงแย่แล้ว
7:33 AM
โอ้ มันเป็นเช่นนี้นี่เอง
เราก็นึกว่าสมัยก่อนเค้าสัญจรกันทางน้ำ
ทีนี้ หนุ่มๆ ก็พายเรือมาจีบสาว
หากสาวเจ้าไม่ชอบใจไผ ก็เอาปืนส่องเลยซะอีก
3:09 AM
อื๋ม น่าสนใจมากครับ
ผมเอง(เคย)ภาษาไทย(ในทางวิชาการ)อยู่ระยะหนึ่งแต่ตอนนี้ห่าง ๆ ไปบ้าง
10:30 PM
แฮ่ ๆ ตกคำว่า "ศึกษา" ไปครับ
ผมเองเคยศึกษาภาษาไทยอยู่บ้างครับ
10:32 PM
ไม่มา update ซะตั้งนาน ขอบใจมากนะเดช!
12:44 AM
สงสัยอีกคำนึงครับคือ "มรรคนายก" ทำไมถึงออกเสียง มัก-คะ-ทา-ยก เอ่ย?
12:54 AM
จริง ๆ ใช้ได้ทั้งมรรคนายกและมรรคทายกครับ
มรรค แปลว่า ทาง
นายก แปลว่า ผู้นำ (Leader)
ทายก แปลว่า ผู้ให้ (benefactor)
มรรคนายก แปลว่า ผู้นำทาง (บุญ)
มรรคทายก แปลว่า ผู้ให้ทาง (บุญ)
ใกล้เคียงกันครับ
คำว่า "นายก" ที่เรานำมาใช้ในภาษาไทย เช่น นายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัย นายกเทศมนตรี นายกสมาคม ฯลฯ เป็นคำที่เราเอามาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะคำ "นายก" เป็นคำบาลี มาจาก นี ธาตุ ในความนำ ลง ณวุ ปัจจัย แปลง ณวุ เป็น "อก" (อะ - กะ) ด้วยอำนาจ ณ ที่ ณวุ ปัจจัย สามารถพฤติ (พรึด) อี ที่นีธาตุเป็น ย แล้วทีฆะ อ เป็น อา จึงเป็น นายก แปลว่า "ผู้นำ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ " น. ผู้นำ, ผู้เป็นหัวหน้า, เช่น นายกราชบัณฑิตยสถาน นายกสมาคม นายกสโมสร." และมีลูกคำอยู่ 2 คำ ด้วยกัน คือ
1. นายกเทศมนตรี น. ตำแหน่งหัวหน้าคณะเทศมนตรี.
2. นายกรัฐมนตรี น. ตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐมนตรี.
คำว่า "มรรคนายก" ชาวบ้านมักเรียกกันว่า "มรรคทายก" นั้น พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ผู้นำทาง คือ ผู้จัดการทางกุศล หรือผู้ชี้แจงทางบุญ." ตามปรกติในชนบท มักจะเลือกผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้บวชเรียนมาแล้ว และเป็นคนมีคุณธรรมเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน เป็น "มรรคนายก" และตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งไม่มีวาระ คือเป็นได้เรื่อยไปจนทำหน้าที่ไม่ไหวหรือตายไป ก็จะเลือกมรรคนายกใหม่ครับ
11:52 PM
ขอบคุณ คุณ tick skywalker มากครับ ในความรู้ทางด้านภาษาไทย
ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิชาที่ผม "อ่อน" ที่สุด อีกหนึ่งในหลายๆวิชา (ได้แก่ ภาษาศาสตร์ คำนวณ สถิติ ชีวะ ฟิสิกส์ เคมี ฯลฯ)
ความรู้ทางนิรุกติศาสตร์ที่ได้มาบ้างนิดหน่อย ก็ได้มาจากการเข้าร่วมประชุม ไปนั่งฟังผู้รู้เค้าวิพากษ์ วิเคราะห์กันเท่านั้นแหล่ะครับ
ที่ว่ามีอีกหลายคำ ผมก็เก็บเอามาจากการประชุมบ้าง หรือไม่ก็หนังสือที่หัวหน้าโครงการผมท่านแต่งขึ้นมาบ้าง ชื่อว่า "ภาษาอัชฌาไศรย" โดย ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ท่านแต่งร่วมกับ อาจารย์ศศิกานต์ คงศักดิ์
หนังสือเล่มนี้มีเกร็ดทางนิรุกติศาสตร์ สองภาษานั่นคือ ภาคภาษาไทย และภาคภาษาอังกฤษ
ใครสนใจไปหาอ่านกันได้ครับ ซื้อติดไม้ติดมือบ้างก็ดี ถือว่าอุดหนุนโครงการวิจัยผมก็แล้วกันครับ
เฟสสอง สกว. ท่านต้องลดทุนตามระเบียบลงครึ่งนึง ตอนนี้นักวิจัยไส้แห้งกันหมดแล้วครับ (ปกติไส้มักจะชื้นๆเพราะน้ำย่อยหน่อย ปัจจุบันน้ำย่อยก็เหือดแห้งไปแล้วครับ)
ไว้แลกเปลี่ยนกันครับ
7:48 AM
ผ่านมาทักทาย .. นึกว่าเลิกเขียนไปเสียแล้วครับ : )
12:21 PM
ว่างมาเขียนด้วยเหรอน้อง ...นึกว่า อบรมอย่างเดียว
5:33 PM
ตอนนี้ผมมาฝึกที่ศาลครับ เลยได้กลับมานอนบ้านทุกวัน ฝึกงานก็ทำในเวลาราชการครับพี่พล
แต่ตอนนี้ก็ยังต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะเลย โดยเฉพาะการใช้กฎหมายในภาคปฏิบัติที่ไม่คุ้นเคยเอาเลยครับ
แถมความรู้ที่มันมีอยู่ ก็ไม่พอ เพราะเวลาเอาไปใช้จริงๆ มันมีหลายแง่มุมที่ต้องลับให้คมกว่าที่มีอยู่ (ทื่อไปหมดแล้วครับ)
ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเลยครับ กว่าจะลงตัว
7:23 PM
Post a Comment
<< Home