Thursday, December 29, 2005

นิติศาสตร์ในฝัน (ของผม)

ในปัจจุบันนักศึกษาในคณะนิติศาสตร์หลายต่อหลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงบทบาทของคณะนิติศาสตร์ที่ประสิทธิประสาทความรู้ทางกฎหมายให้แก่ตน ทำนองว่าเนื้อหากฎหมายที่สอนกันอยู่ในคณะนั้นไม่สามารถนำไปใช้ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง กฎหมายบางบทบางมาตรา เมื่อยามต้องนำไปใช้ในทางปฏิบัติดันเป็นหมันไม่สามารถใช้ได้จริงอย่างที่ร่ำเรียนมา

พร้อมกับเรียกร้องให้คณะนิติศาสตร์ปรับบทบาท ทิศทาง รวมทั้งปรัชญาในการเรียนการสอนของตนเสียที


ก่อนอื่นผมว่าเราต้องเข้าใจปรัชญาในการเรียนการสอนกฎหมายในชั้นปริญญาตรีเสียก่อน ก่อนที่จะบอกว่ามันทำหน้าที่ได้ดีหรือยัง

ผมเห็นด้วยว่าการเรียนการสอนกฎหมายในชั้นปริญญาตรี นั้น ไม่ได้ลงลึกในภาคปฏิบัติ และแม้จะจบนิติศาสตร์บัณฑิตไปแล้วใช่ว่ารุ่งขึ้นจะสวมครุยทำงาน ว่าความในโรงในศาลได้เลย

เรียกง่ายๆว่า ไม่สามารถไปหากินในทาง "วิชาชีพ" ได้อย่างทันทีเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ท้องทะเล มหาสมุทรกฎหมาย มันกว้างขวางยิ่งใหญ่เกินกว่าเด็กที่ร่ำเรียนรู้จักกฎหมายมาเพียงแค่ 4 ปี (ตามมาตรฐาน) จะเรียนรู้ทุกซอกหลืบของมันได้อย่างแจ่มแจ้ง โดยเฉพาะในแง่มุมของ "ทางปฏิบัติ" ที่ต้องอาศัย "ประสบการณ์" มากไปกว่า "ทฤษฎี"

แล้วอย่างนี้บทบาทของมหาวิทยาลัย หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปคือ “คณะนิติศาสตร์” ควรจะตั้งทิศทางไปในทางไหน ควรจะบ่มเพาะนักศึกษาของตน ให้เจริญเติบโตไปในทางใด?

“คุณยังไม่ใช่นักกฎหมายที่สมบูรณ์ เมื่อคุณจบปริญญาตรี คุณเพียงแค่มีศักยภาพที่จะเป็นนักกฎหมายที่สมบูรณ์เท่านั้น”

“ศักยภาพที่จะเป็นนักกฎหมายที่ดี” จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญอย่างยิ่งในบทบาทหน้าที่ดังกล่าว

ซึ่งก็เป็นคำถามเดียวกันกับคำถามที่ว่า “นักกฎหมายที่ดี” เป็นอย่างไร?

จิตใจแห่งนักกฎหมาย และนิติวิธี : เมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นนักกฎหมายที่ดี

อะไรคือนิยามของนักกฎหมายที่ดี?

นักกฎหมายที่ดีคือนักกฎหมายที่รู้จักและจดจำกฎหมายหมาย ทั้งระดับพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบังคับ คำสั่ง เรียกได้ว่าเป็นตู้กฎหมายเคลื่อนที่

นักกฎหมายที่ดีคือนักกฎหมายที่ท่องจำรู้ฎีกาทุกฎีกาที่สำคัญ พร้อมที่จะงัดออกมาใช้เทียบเคียงกับข้อเท็จจริงที่ตนมี แม่นขนาดโยนประมวลทิ้งได้ แล้วยึดไว้แต่รวมคำพิพากษาฎีกาเท่านั้นก็เพียงพอ

นักกฎหมายที่ดีคือทนายความผู้ยิ่งยง ว่าความมาแล้วทั่วราชอาณาจักร โดยมีสถิติที่สวยหรู ไม่เคยพบกับคำว่า “แพ้”

นักกฎหมายที่ดีคือนักกฎหมาย หรือที่ปรึกษากฎหมายในลอว์ เฟิร์ม ยักษ์ใหญ่ เงินเดือนเรือนแสน มีโภคทรัพย์มากมาย หรูหรา ผู้ใช้เทคนิคทางกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่บริษัทได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเทคนิคเหล่านั้นจะยืนอยู่บนพื้นฐานของ “ความถูกต้อง” หรือไม่

นักกฎหมายที่ดีคือผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้คร่ำหวอดกับบัลลังก์ จนกระทั่งมีญาณหยั่งรู้ผิดถูกดีชั่วได้ โดยเพียงแค่มองด้วยหางตา ฟังแค่หางหู แค่เห็นหน้าพยานก็รู้ว่า อ้ายนี่โกหก โป้ปด แค่เห็นหน้าโจทก์ จำเลย ก็รู้เช่นเห็นชาติ ว่าอ้ายนี่พกลม มาศาลมือดำปี๋ ไม่จำเป็นต้องฟังใคร ประสบการณ์เป็นสิบปีบนบัลลังก์สั่งสมมันสั่งสอน

นักกฎหมายที่ดีคือ “เนติบริกร” รับจัดทำกฎหมายตามใบสั่ง ใช้เทคนิคในการร่างกฎหมาย การใช้และการตีความ ประดิษฐ์นวัตกรรมทางกฎหมายใหม่ๆ สนองผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เอาเป้าหมายเป็นที่ตั้ง แต่ไม่สนใจที่มาหรือหลักการ มองหลักการเป็นอุปสรรคที่จำเป็นต้องยกเว้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการบังคับใช้

นักกฎหมายที่ดีคือ ศาสตราจารย์ระดับ 11 ในมหาวิทยาลัย ชื่อเสียงกระฉ่อน งานวิจัยล้นห้องสมุด ตำราล้นชั้นวาง พูดอะไรใครก็น้อมรับ มีลูกศิษย์ทั่วบ้านทั่วเมือง อาศัยอยู่ในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า “หอคอยงาช้าง”

แล้วศักยภาพของนักกฎหมายที่ดีคืออะไร?

ในห้วงคำนึงของผม ผมเข้าใจว่า “ศักยภาพของนักกฎหมายที่ดี” ก็คงคล้ายกับเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ในวันข้างหน้า

เราจะฝังเมล็ดพันธุ์นักกฎหมายแบบไหนให้แก่ลูกหลานเราดี? เอาแบบนักกฎหมายทั้งหลายหลากที่เกรี่นมาข้างต้นดีไหม?

ในส่วนตัวของผม สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดที่เสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ควรต้องปลูกฝัง สร้างสมให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในระยะเวลาสี่ปีก็คือ

“จิตใจแห่งนักกฎหมาย” (Legal Mind) นั่นแลครับ

จิตใจแห่งนักกฎหมาย จะก่อกำเนิดเกิดขึ้นได้ หาใช่การนำนักศึกษาไปนั่งวิปัสสนากรรมฐาน หรือถือศีลกินเจ หรือการบรรจุวิชา “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” “จริยธรรมนักกฎหมาย” “นักกฎหมายในอดุมคติ” “กฎหมายกับธรรมะ” ฯลฯ ลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ เพียงเท่านั้นไม่

จิตใจแห่งนักกฎหมายสามารถก่อกำเนิดเกิดขึ้นผ่าน “ตัวบทกฎหมาย” ที่ร้อยเรียงกันอยู่ในชื่อว่า “ประมวลกฎหมาย”

สงสัยกันหรือไม่ ว่าประมวลกฎหมายแตกต่างกับกฎหมายที่อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดอย่างไร

แล้วทำไมหลักสูตรทั้งหลายจึงต้องเน้นจัดวิชาให้สอดคล้องกับเนื้อหาในประมวลกฎหมายหลักๆที่เราเรียกว่า “กฎหมายสี่มุมเมือง” อันได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ชาวโรมันยกย่องประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียนว่าเป็น “คัมภีร์แห่งสติปัญญา” หรือ (Ratio Scripta) เหตุเพราะในประมวลกฎหมายได้ร้อยเรียงนำเอาเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางศีลธรรม เหตุผลของนักกฎหมาย หรือแม้แต่เหตุผลทางเทคนิค (ทฤษฎีกฎหมายสามชั้นของ ศาสตราจารย์ ปรีดี เกษมทรัพย์) มาจัดวาง แบ่งหมวดหมู่ ลักษณะ อย่างชัดเจน ท้าวถึงกัน และสอดประสานสัมพันธ์กัน

ไม่ง่ายเลยนะครับที่จะร้อยเรียงเหตุผลมากมาย ผ่านตัวบทลายลักษณ์อักษร แสดงออกมาให้เราใช้และตีความกว่าพันมาตรา

เหตุใดเจ้าของที่ดินที่ต่ำกว่าจำต้องยอมรับน้ำที่ไหลตามธรรมชาติจากที่ดินที่อยู่สูงกว่า และเหตุใดเจ้าของที่ดินที่อยู่สูงกว่าจึงจำต้องยอมปล่อยให้น้ำที่ไหลผ่านที่ดินตน ไหลตามธรรมชาติไปสู่ที่ดินที่อยู่ต่ำกว่าตนด้วย

เหตุใดผู้ที่ปล่อยอาวุธไปต้องสัตว์ไม่มีเจ้าของ แล้วติดตามไป แม้สัตว์นั้นจะล้มตายอยู่ในอาณาบริเวณที่ดินของผู้อื่น กฎหมายก็ยังกำหนดให้ผู้ยิงและติดตามสัตว์มีสิทธิเหนือสัตว์ตัวนั้น

ฯลฯ

กว่าร้อยกว่าพันเหตุผล ถ่ายทอดผ่านตัวบทลายลักษณ์อักษร ขัดเกลาและกล่อมเกลา และแทรกฝังตัวอยู่ในจิตใจของบรรดานักศึกษา ผ่านระยะเวลายาวนานกว่าสี่ปี

นอกจากจิตใจแห่งนักกฎหมายแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “นิติวิธี” (Juristic Method)

ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในบล็อกตอนหนึ่งของผม ยังไงขอคัดเอาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวมาให้อ่านกันนะครับ

“สำหรับนิติวิธีนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ตำนานทางกฎหมายที่ยังมีชีวิตอยู่ อีกท่านหนึ่ง ให้นิยามไว้อย่างนี้ครับ“นิติวิธีนั้นเป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่กับตัวกฎหมาย ไม่จำต้องบัญญัติและถึงแม้จะได้บัญญัติถึงนิติวิธีไว้กฎหมายก็มิได้บัญญัติหลักนิติวิธีไว้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะนิตวิธีมีลักษณะเป็นแนวความคิดที่ฝังตัวอยู่ในระบบกฎหมาย จนเป็นแบบฉบับในทางกฎหมายของระบบกฎหมายนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้าตัวบทกฎหมายเป็นร่างกายนิติวิธีก็เป็นวิญญาณของกฎหมาย”

อ่านนิยามข้างต้นแล้ว ให้ละเหี่ยใจเพราะผมคงไม่สามารถคิดอะไรได้ลึกซึ้งแบบท่านล่ะครับ ลำพังถ้าจะมาเอานิยงนิยามคำว่านิติวิธีกับผม ผมจะทำได้แค่เพียงเปรียบเทียบ สิ่งที่เรียกว่า “นิติวิธี” ให้เป็น “กล่องเครื่องมือ” และเปรียบเทียบ “ตัวบทกฎหมาย” ให้เป็น “หีบมหาสมบัติ” โดยไอ้หีบนั้น มันถูกพันธะนาการไว้ด้วย โซ่ตรวนขนาดล่ามช้าง ล็อกด้วยแม่กุญแจลูกเท่าแม่ไก่ มัดด้วยเชือกล่ามควายสามร้อยหกสิบห้าทบภายในกล่องเครื่องมือใบเขื่องนั้น มีเครื่องมือหลากหลาย ตั้งแต่มีดคัตเตอร์ มีดตอนควาย ไขควง เหล็กขูดชาร์ป ยันระเบิดนิวเคลียร์

หากไอ้เด็กน้อยคนหนึ่ง หลงมาเจอหีบสมบัติ พร้อมกับกล่องเครื่องมือใบเขื่องนั้น มันคงทำหน้างุนงง ไม่รู้ว่าจะใช้อะไรแงะงัดหีบสมบัติใบนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งล้ำค่าภายใน มันคงพยายามเอาไขควงตัดเชือก เอามีดแงะรูกุญแจ แล้วเอาฟันแทะโซ่ตรวน และถ้ามันบ้ากว่านั้น มันอาจจะยิงนิวเคลียร์ทำลายล้างโลกเพียงเพราะต้องการเปิดหีบมหาสมบัติใบนั้น

ท้ายสุด ก็มานั่งร้องไห้ พร้อมกับฟันที่ร่วงหมดปาก มีดบาดไม้บาดมือ แผลเหวอะหวะ

เมื่อหมดความพยายาม มันก็เลิกล้มความตั้งใจที่จะค้นหาสิ่งเลอค่าอมตะ ในหีบสมบัติ พร้อมกับวิ่งมีดไม้ ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนต่อแต่วันดีคืนดี

เมื่อมีใครสักคน ถามมันว่า “ไอ้หนูเอ๋ย ในหีบสมบัติใบนั้น มีอะไรซ่อนอยู่ภายในเล่า” มันก็จะเล่าเป็นฉากๆ ว่ามัน สามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้น ได้อย่างวิเศษ และเปิดหีบใบนั้นได้อย่างง่ายดาย พร้อมกับเล่าเป็นคุ้งเป็นแควว่า ภายในหีบลึกลับใบนั้น ประกอบด้วยทรัพย์สมบัตินานัปการ เพชรนิลจินดามากมายมหาศาล ทองนพเก้าระยิบระยับบาดตาแทบบอดหลายคนรุมล้อมมานั่งฟังขี้ปาก (ที่ไร้ฟันอีกต่อไปหลังจากการทะลึ่งแทะโซ่ที่ล่ามหีบนั้นไว้นั่นแหล่ะ) ของไอ้เด็กเวรนั่น พร้อมกับพลอยพยักเพยิด เชื่อขี้ฟันมันไป ทั้งโดยไม่รู้เลยว่า มันเคยแม้แต่พยายามเอาไขควงไปตัดเชือกล่ามควายด้วย
ซ้ำ

ฉันใดก็ฉันนั้น

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

การเรียนการสอนนักเรียนกฎหมายนั้น ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งจึงเป็นการทำให้นักเรียนตาดำๆเหล่านั้น เรียนรู้การใช้กล่องเครื่องมือกล่องนั้นได้เป็นอย่างดี รู้ว่าไขควง ไม่ได้มีไว้ตัดเชือก และรู้ว่าฟันของเคนเรามันหักง่ายหากใช้ผิดวิธี

จะว่าไปไอ้นิทานกำมะลอของผมเรื่องข้างบนก็ไม่สามารถจะสื่อให้เห็นถึงความสำคัญ ของ “นิติวิธี” ได้อย่างสมบูรณ์แต่อย่างใดหรอกครับ เพราะมันยังขาดมิติของวิญญาณของกฎหมาย ดังที่อาจารย์ปรีดี ท่านว่าไว้

เรื่องเล่าข้างบนของผม มันจำกัดวงอยู่เพียงแค่ เทคนิคการค้นหาความหมายที่แท้จริง ของตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษร โดยต้องผสานความหมายของถ้อยคำ รวมไปถึง “เจตนารมณ์” ของกฎหมายที่อยู่เบื้องหลัง ถ้อยคำอักษรเหล่านั้นให้ได้อย่างพอดิบพอดี นั่นเท่ากับการเปิดหีบมหาสมบัติ และได้สิ่งของทรัพย์สินอันล้ำค่า

เหมือนอ่านกลอน แล้วสัมผัสได้ถึงอารมณ์กวีผู้รจนาให้ได้อย่างไรอย่างนั้นแหล่ะ

เมื่อนักเรียนกฎหมายมีนิติวิธี หรือมีเทคนิคการใช้เครื่องมือดังกล่าว เป็นอย่างดี และสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง เพื่อค้นหาความหมายที่ถูกต้องแท้จริง เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวหนังสืออันแข็งกระด้างตายตัวเหล่านั้น ได้เท่าเทียมกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใดในระบบ ก็สามารถค้นหา ใช้ และตีความกฎหมายฉบับเหล่านั้น ได้อย่างถูกต้อง และเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว (เหมือนกับที่อาจารย์คณิตแกเคยพูดติดตลกหน่อยๆว่า การตีความกฎหมาย ใครว่าตีความได้หลายนัย มันมีนัยเดียว ก็คือ นัยที่ถูกต้องนั่นแหล่ะ)

เหมือนคุยภาษาเดียวกัน เมื่อประกอบกับ “จิตใจแห่งนักกฎหมาย” แล้ว แหม…โลกนี้สีชมพูเหลือเกิน

แต่โลกแห่งความจริงมันไม่ใช่ มันยังมีนักกฎหมายแบบเด็กน้อยฟันหลอที่พูดเพ้อเจ้อ เรื่อยเปื่อย และบิดเบือนอยู่อีกมากมายอย่างไรก็ตามครับ แม้จะมีกล่องที่มีเครื่องมือสดเอี่ยม ใหม่ ใสกิ๊ก ดีเลิศ คุณภาพดีเพียงใด แต่หากหีบสมบัติใบนั้นหาได้มีมหาสมบัติใดซ่อนอยู่ภายใต้ หากมีแต่หยากไย่ คร่ำครึ กลิ่นเหม็นอบอวล ชวนอาเจียน ก็ไร้ซึ่งความหมายที่เราจะทุ่มเทเครื่องไม้เครื่องมือ และสรรพกำลัง ไปงัดและแงะมันออกมา

มหาสมบัติอันยิ่งใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ หีบล่ำสัน อันเป็นสัญลักษณ์แทนถ้อยคำลายลักษณ์อักษรนั้น หาใช่สิ่งอื่นใด มันคือสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผล” เหตุและผลของเรื่อง “Nature of Things” เป็นสิ่งที่มันต้องเป็นไปตามเหตุและผลที่กำกับเรื่องราวนั้นอยู่ ตัวอย่างก็เช่นเรื่องการรับน้ำจากที่ดินสูงต่ำนั่นแหล่ะครับ”


ลำพังแค่เพียง การปลูกฝังจิตใจแห่งนักกฎหมาย และนิติวิธีที่แม่นยำ ให้แก่บรรดานักศึกษากฎหมาย ก็เป็นงานที่ยากยิ่ง (แต่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน) ของเหล่าพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ทางนิติศาสตร์มากโขแล้วล่ะครับ

สำหรับองค์ความรู้ในทางปฏิบัติคงต้องยกยอดให้เป็นภาระหน้าที่ของสถาบันอื่นช่วยๆกันหน่อย ไม่ว่าจะเป็น “เนติบัณฑิตยสภา” “สภาทนายความ” หรือแม้แต่ บรรดาองค์กรทั้งหลายในภาคปฏิบัติ

นอกจากจะไม่ทับซ้อนแย่งกลุ่มลูกค้าเดียวกันแล้ว ยังประสานกันเติมเต็มความรู้ความสามารถให้นักศึกษาและนักกฎหมายได้เป็นอย่างดีด้วย (เหมือนกับที่ศาสตราจารย์จิตติ เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่า อาจารย์ที่สอนที่เนติบัณฑิต กับที่ธรรมศาสตร์ ควรจะเป็นคนละกลุ่มกัน เพราะสอนกันคนละอย่าง)

ภาวการณ์ปัจจุบัน : วิชาชีพครอบงำวิชาการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตส่วนใหญ่ย่อมต้องก้าวกระโจนสู่ถนนแห่งวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นิติกรประจำส่วนราชการ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย อัยการ ผู้พิพากษา แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัย (สำหรับการประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยอาจใช้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อกิจการ การค้าของตัวเอง คงไม่จัดเป็น “วิชาชีพกฎหมาย” ตามความหมายดั้งเดิม)

และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ในด้านหนึ่งของคำว่า “วิชาชีพ” ก็คือ คำว่า “อาชีพ” นั่นเอง และสองข้างทางของถนนรนแคมแห่ง “วิชาชีพ” นั้นมักเต็มไปด้วย “ชื่อเสียง เกียรติยศ ลาภยศสรรเสริญ และเงินทอง”

ดังนั้นไม่น่าประหลาดใจเมื่อเดินทางไกลบนถนนสายนี้ หลายคนจึงมักสะดุดและหยุดอยู่ เพื่อชื่นชมกับสิ่งของข้างทางเหล่านั้น โดยหลงลืมละเลยที่จะมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง หรือแม้แต่ละทิ้งเส้นทางเดิน ลงรกพงไพรลำคลองหนองคู เสียผู้เสียคนไปก็มาก และมากไปกว่านั้นหลายคนไม่เคยทราบเลยว่า จุดหมายปลายทางแห่งถนนสายนี้คืออะไรมาตั้งแต่ต้นมือเริ่มเรียนเลยด้วยซ้ำ ได้แต่เดินเอื่อยไปวันๆแบบไม่รู้จุดหมายปลายทาง

หลายคนความคิดกว้างไกลกว่านั้น วางแผนเตรียมพร้อมที่จะออกเดินทางไกลตั้งแต่ยังเรียนอยู่ และมักผิดหวังกับการจัดหลักสูตรที่มักจะไม่มีวิชา หรือมีแต่ก็มักจะไม่ได้เน้นองค์ความรู้ทางปฏิบัติสักเท่าไหร่ ทำนองกลัวจะออกตัวช้ากว่าชาวบ้านยามเสียงปืนดังขึ้น

หนักข้อกว่านั้น ผู้บริหารคณะนิติศาสตร์ทั้งหลาย ด้วยตระหนักว่าศิษย์ของตนอาจวิ่งแข่งสู้เขาไม่ได้บนถนนแห่งวิชาชีพ จึงพยายามปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับ และเน้นการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติให้มากขึ้น โดยพยายามตัดวิชาในเชิง “นิติศาสตร์เชิงคุณค่า” เช่น นิติปรัชญา หรือแม้แต่ “นิติศาสตร์เชิงข้อเท็จจริง” อย่างเช่น ประวัติศาสตร์กฎหมาย กฎหมายกับสังคม หรือความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศาสตร์อื่น ทำนองศาสตร์เปรียบเทียบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่กฎหมายภาคปฏิบัติ ซึ่งมักเป็น “นิติศาสตร์โดยแท้” มากขึ้น

แม้แต่ค่านิยมการใช้สนามสอบเนติบัณฑิตมาเป็นเครื่องชี้วัดความดีเด่นของคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศก็อยู่ในวงวนนี้ด้วยเช่นกัน

เหมือนกับที่อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล แห่งนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ท่านว่าไว้ ว่าคณะนิติศาสตร์หลายสถาบันกำลังประพฤติตนเป็นแค่เพียง “โรงเรียนเตรียมเนติฯ” หรือเป็นแค่เพียง “สาขาย่อย” นั่นเอง

ผมไม่ได้ปฏิเสธมิติแห่งวิชาชีพ และไม่ได้เรียกร้องให้นักเรียนกฎหมายทุกท่านต้องมีความเป็นนักวิชาการ บนหอคอยงาช้าง ผมเพียงแต่เรียกร้องให้ทุกท่านคำนึงถึงมิติแห่งความสอดคล้องประสาน เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ระหว่าง “วิชาชีพ” และ “วิชาการ” หรือกล่าวให้ง่ายก็คือ “ทางปฏิบัติ” กับ “หลักทฤษฎี” ก็คงไม่คลาดเคลื่อนนัก

การที่เรามองเห็นถึงความสำคัญรวมไปถึงความสัมพันธ์ของแต่ละมิติดังกล่าว ย่อมทำให้เรากำหนดบทบาทหรือกรอบภารกิจของแต่ละภาคส่วนในสายพานการสร้างนักกฎหมายที่ดีให้แก่สังคมได้พอสมควร และกำหนดทิศทางรวมทั้งปรัชญาในการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ได้บ้างไม่มากก็น้อย

แม้การเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ โดยเฉพาะในชั้นปริญญาตรีอาจจะไม่ได้เน้นองค์ความรู้ทางปฏิบัติที่เหล่านิติศาสตรบัณฑิตจะนำไปประกอบการหาเลี้ยงชีพมากมายนัก แต่มันก็น่าสร้างเกราะป้องกันทางความคิดและจิตใจของเหล่าบัณฑิต ให้ต้านทานกระแสแห่งความโหดร้าย ของการใช้กฎหมายในภาคปฏิบัติรวมทั้งโลกแห่งความเป็นจริงได้บ้าง

Saturday, December 24, 2005

กฎหมายตราสามดวง : แว่นส่องสังคมไทย ครั้งที่ 6


ผ่านไปไวเหมือนโกหก

สามปีกับการวนเวียนเป็นหนึ่งในคณะวิจัยของโครงการ “กฎหมายตราสามดวง : ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก”

สามปีกับงานวิจัยที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเพียงชิ้นเดียว…

ไม่อยากคิดค่าเฉลี่ยเป็นตัวเลข…คงอดสูน่าดู

ครั้งนี้ไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีแก้ตัว เพราะเป็นการจัดงานเพื่อรายงานผลการวิจัยเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการในเฟสแรก (ไม่ได้ใจหายหรอกนะ…แต่หนักใจมากกว่าเพราะแสดงว่ามันจะมีเฟสสอง)

ไม่มีที่ให้ถอยอีกต่อไป

งานครั้งนี้จึงต้องมีผลงานของผมรวมอยู่ด้วย อย่างจำเป็น

จำนวนสองชิ้นควบ…(ฉายควบเหมือนโรงหนังแถวดาวคะนองบ้านนิติรัฐ)

……………………………………..

ขอใช้เนื้อที่บล็อกประชาสัมพันธ์งานในโครงการที่ผมเป็นนักวิจัยหน่อยครับ

ผมจำได้ว่า เคยประชาสัมพันธ์งานในทำนองอย่างนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อกาลเก่าก่อน หากจะกรุณาจำกันได้

คราวนี้เวียนมาบรรจบครบรอบที่จะต้องจัดอีกครั้งแล้วครับ และครั้งนี้ถึงคิวผมที่จะต้องขึ้นเวทีรายงานผลการวิจัย (ที่ยังลอยอยู่ในอากาศขณะนี้ กำลังเอาสวิงสวายช้อนอยู่)
คราวนี้ไม่ธรรมดาครับ เพราะจัดนอกกรุงเทพเป็นครั้งแรก

เราเน้นคอนเซ็ปต์ “พากฎหมายตราสามดวงกลับบ้าน”

ใช่ครับ งานครั้งนี้เราจัดกันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเก่าของเราครับ

ณ โรงแรม กรุงศรีริเวอร์ ถนนโรจนะ (มีคนบอกว่าผีดุมาก…เวรแล้วครับ ผมยิ่งเป็นพวกขี้เกรงใจกับสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่)

งานจัดสองวันครับ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 20 ถึงเสาร์ที่ 21 มกราคม 2549

รายการที่น่าสนใจครับ

1. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง กฎหมายตราสามดวงในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ โดย อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร หัวหน้าโครงการวิจัยของผมเองครับ

2. รายงานผลการวิจัยเรื่อง การใช้คำภาษาบาลีสันสกฤตในกฎหมายตราสามดวง โดย อาจารย์ สยาม ภัทรานุประวัติ นักวิชาการหนุ่มรูปงามอีกคนในวงวิชาการ (สูสีกับกระต่ายน้อย) หน้าตาไม่น่าเชื่อว่าจะมาเอาดีทางนี้

ภาษาบาลีสันสกฤตถือได้ว่ามีนัยสำคัญในกฎหมายตราสามดวงอยู่พอสมควรนะครับ การอ้างคาถาภาษาบาลีอยู่ในส่วนของพระธรรมศาสตร์ และพระอัยการลักษณะสำคัญที่สืบเนื่องจากหลักการของพระธรรมศาสตร์นั้นมีให้พบเห็นการดาษดื่น ทำนองว่าเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ และอิงหลักการแห่งพระพุทธศาสนาน้อมนำเข้ามาแทรกแฝงอยู่ในกฎหมายบ้านเมือง

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่คัดลอกคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาแต่ครั้งกระโน้น (เมื่อไหร่นักประวัติศาสตร์ยังระบุจุดของเวลาให้ชัดเจนยังไม่ได้ แต่พบว่าสมัยสุโขทัยก็มีการกล่าวถึงพระธรรมศาสตร์กันแล้ว) ก็ได้ความว่าต้นฉบับนั้นเป็นภาษา “มคธ” (ก็น่าจะเป็นภาษาบาลีนี่แหล่ะครับ) แล้วจึงแปลงมาเป็นภาษาไทย

การชำระสะสางกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านก็ทรงโปรดฯให้ลูกขุน อาลักษณ์ จำนวน 11 คน ร่วมกันชำระกฎหมาย โดยยึดเอาคาถาบาลีนี่แหล่ะครับเป็นหลัก เพ่งเล็งดูเนื้อความว่าต้องตรงตามบาลีหรือไม่ นอกเหนือไปจากการที่จะต้องตรงตามเหตุผลและความยุติธรรมอยู่แล้วนะครับ

ไปรายการต่อไปดีกว่านะครับ

3. เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ภูมิสถานพระราชวังหลวงอยุธยา” โดย อาจารย์ จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ สุดยอดแห่งรายการที่ไม่ควรพลาด นอกจากความน่าสนใจในตัวภูมิสถานของพระราชวังหลวงในตัวอยู่แล้ว เมื่อประกอบการบรรยายโดยอาจารย์จุลทัศน์ เข้าให้แล้ว

มันส์หยดติ๋งครับ…เสมือนข้าราชบริพารในวังหลวงสมัยอยุธยากลับชาติมาเกิดอย่างไรอย่างนั้น

4. รายการนี้โปรโมชั่นครับ…ผู้เข้าร่วมสัมมนาพร้อมกันที่ท่าเรือโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ เพื่อล่องเรือชมเกาะเมืองอยุธยา โดยมีวิทยากรเจ้าเก่า อาจารย์จุลทัศน์ คนข้างบนนั่นแหล่ะครับ…วิ้ววววววววววววววววว

หมดวันแรกครับ…นอน….ก่อนนอน

สวดมนต์หนักๆครับ

ตื่นเช้าขึ้นมา พบว่าตัวเองหลับสนิท สบาย ไม่ฝันไม่เห็น ไม่รู้สึกอะไร ฮ่าๆๆๆๆ สาาาาาาาาาาาาาาาาธุ

มากันที่โปรแกรมวันแรก

1. ไม่ใช่ใครที่ไหนอื่น รายการของผมเองครับ…เรื่องนี้เลย “หน้าที่และจริยธรรมของตระลาการและกระบวนการอุทธรณ์ ศึกษาจากพระไอยการลักษณะตระลาการและพระไอยการลักษณอุธร”

สองเรื่องควบ คือ พระไอยการลักษณะตระลาการ สนธิกับ พระไอยการลักษณะอุธร (เขียนตามของเดิม) ความน่าสนใจของพระไอยการ (อัยการ) ทั้งสองคือ การให้ความสำคัญกับผู้ตัดสินคดีความอย่างยิ่งในสังคมโบราณ เราจะพบได้ว่า ทั้งในพระธรรมศาสตร์ และหลักอินทภาษ อันถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในโครงสร้างของกฎหมายตราสามดวง ต่างก็ให้ความสำคัญและกล่าวเน้นย้ำถึงคุณสมบัติของผู้พิพากษาตระลาการ (ตุลาการนั่นเองครับ แต่คำที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงมักเขียนว่า “กระลาการ” ไม่ต้องตกใจครับ ตอเต่า กับ กอไก่ มันเพี้ยนเสียงกันได้ เหมือนที่ก๋งผมชอบพูดคำว่า “เตรียม” เป็น “เกียม” ประจำ…อีกตัวอย่างก็คำว่า “กระทรวง” แต่เดิมที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงคือ “ตระทรวง” ครับ)

การกระทำใจให้ปราศจากอคติทั้งสี่ประการ คือ รัก กลัว โกรธ หลง นั้นเป็นหัวใจของผู้ที่จะทำหน้าที่ตัดสินคดี นอกเหนือจากความเฉลียวฉลาดในเชิงบทกฎหมาย และสติปัญญา สัมปชัญญะ และวิจารณญาณในการพิเคราะห์ปัญหาทั้งหลายในคดีที่ต้องมีอยู่แล้วด้วย

สมัยโบราณของเราเลยไม่ค่อยกังวล หรือต้องกำหนดกระบวนพิจารณาให้มันซับซ้อนยุ่งยาก เทคน่ง เทคนิคลึกล้ำมากมายดั่งปัจจุบันวันนี้ครับ

เน้นไปที่ตัวผู้พิพากษาตระลาการกันอย่างเดียว แล้ววางแค่กรอบกว้าง และขั้นตอนกระบวนการต่างๆเป็นลำดับเท่านั้นเป็นพอ อย่างมากก็ต้องคอยปิดช่องโหว่กรณีบรรดาคู่ความรู้มาก ชอบเอาเปรียบกันในทางคดี เช่น ประวิงความให้ล่าช้าไป เพราะเห็นว่าตัวจะแพ้ จนกระทั่งทำคุณไสยกันในศาลระหว่างที่กำลังพิจารณาก็มีนะครับ (ฮา)
และด้วยเหตุที่การพิจารณาสอบสวนทวนความคดี ต้องกระทำ ณ บ้านตระลาการเอง โดยต้องจำลูกความทั้งคู่ไว้ด้วย ไม่ให้ไปไหนมาไหนตามใจชอบ เหตุผลที่พอจะสันนิษฐานได้ก็คือ ต้องการให้การค้นหาความจริง และการพิจารณาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง (สุดโต่งยิ่งกว่าการบังคับให้ศาลต้องพิจารณาคดีต่อเนื่องที่ยังให้ศาลปวดกบาลในัปัจจุบันนี้อีกนะครับ) เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรมนั่นเอง
อีกประการหนึ่งคือ การป้องกันลูกความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปกระทำการยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐาน ขู่พยาน อุ้มพยานนั่นแหล่ะครับ และรวมไปถึงการทำร้ายทำลายระหว่างคู่ความกันเอง รวมไปถึงญาติมิตรครอบครัวของทั้งสองฝ่ายด้วย

และเมื่อต้องมาอาศัยอยู่ในบ้านเรือนตระลาการ ความใกล้ชิดก็บังเกิด ยิ่งลูกความเป็นสาวเป็นนาง มีความเป็นไปได้สูงที่ตระลาการ (รวมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับต้นทั้งหลายที่เรียกว่า ภูดาษ และพะทำมะรง) จะกระทำการ “แพละโลม” (ทำนองแทะโลมในปัจจุบันนั่นแหล่ะครับ) สาวเจ้า

นอกจากนั้น เมื่อคู่ความต้องถูกเกาะกุมจำอยู่ในบ้านเรือนตระลาการ ก็ต้องร้อนถึงบรรดาญาติพี่น้องต้องนำข้าวปลาอาหารมาส่ง รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ด้วย ซึ่งก็แน่ล่ะตามนิสัยคนไทย ไปถึงเรือนชานใครก็มักต้องมีของติดไม้ติดมือไปฝากไปฝัง แล้วอย่างยิ่ง เป็นบ้านตระลาการขุนนางผู้ใหญ่ด้วย แถมยังให้คุณให้โทษลูกหลานตนที่อยู่ในความควบคุมของท่านอีก

มันก็ต้องมีการ “จิ้มกล้อง” กันหน่อย

ระบบวาณิชอุปถัมภ์แบบไทยๆ ผสมผสานกับความจำเป็นในการอยู่อาศัยที่ข้าราชการสมัยโบราณไม่มีเงินดาวน์เงินเดือนใช้ ได้รับแต่เบี้ยหวัดประจำปีซึ่งก็น้อยเหลือหลาย ก็ต้องอาศัยว่าความเก็บค่าฤชาธรรมเนียม พิไนยหลวงกินประทังไปได้ เมื่อมีพ่อค้ามาเลี้ยงถึงที่ จะปฏิเสธก็กระไรอยู่

เหตุการณ์ข้างต้น ย่อมนำมาสู่การตัดสินคดีลำเอียงโดยอคติของตระลาการ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม…

การตัดสินคดีโดยเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยผิดไปจากพระธรรมศาสตร์ราชศาสตร์ ย่อมเป็นเหตุที่คู่ความฝ่ายที่แพ้ หรือเสียเปรียบ สามารถฟ้องอุทธรณ์ตระลาการผู้พิจารณาความได้

การอุทธรณ์สมัยโบราณ ไม่เหมือนกับปัจจุบันทีเดียว เนื่องจาก การอุทธรณ์ในปัจจุบันถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาของศาล ประหนึ่งยังอยู่ในสายพานที่โจทก์จำเลยสามารถเดินเกมส์กันต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

แต่การอุทธรณ์ในสมัยก่อนโน้น หมายถึงความวิวาท ระหว่าง “คู่ความที่เสียประโยชน์ หรือพ่ายแพ้จากคำตัดสิน” กับ ตัวตระลาการผู้พิจารณา เลยทีเดียว เรียกง่ายๆว่า ฟ้องตระลาการให้รับผิดเนื่องจากตัดสินคดีหรือพิจารณาคดีตนผิดพลาดนั่นเอง ซึ่ง หากคู่ความที่อุทธรณ์ชนะแล้วล่ะก็ อาจส่งผลให้ตระลาการต้องชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับความผิดพลาด รวมไปถึงคดีเดิมที่ตัดสินไปแล้วอาจมีการรื้อฟื้นมาพิจารณากันใหม่ โดยส่งให้ตระลาการคนเก่าเป็นผู้พิจารณาแทน นอกจากนั้นหากเข้าด้วยความผิดในลักษณะอาชญาหลวงแล้วล่ะก็ มีหวังตระลาการได้โดนโทษทางอาญาอีกกระทงด้วย

เอาเป็นว่าจบการายงานพอสังเขปในหัวข้อของผมไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ (เห็นได้ชัดว่าผมมีความเที่ยงธรรมในการให้ข้อมูลในหัวข้อต่างๆเป็นอย่างยิ่ง ไม่เลือกที่รักมักที่ชังแต่อย่างใดเลย…ฮา)

2. เรื่องต่อจากผมครับ เรื่องนี้ก็น่าสนใจทีเดียว “โทษทัณฑ์ในกฎหมายตราสามดวง” อันนี้วิจัยโดยรุ่นพี่จากรั้วเดียวกัน ว่าที่ร้อยตรี มนตรี เงินสวัสดิ์ครับ ศิษย์ในที่ปรึกษาคนเดียวกันอีกต่างหาก

น่าสนใจทีเดียวครับ อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์ไทยในกฎหมายตราสามดวง (ในโอเพ่นออนไลน์) ว่าการใช้ทัณฑ์ให้ถูกต้องเหมาะสมนั้น ทัณฑ์นั่นแหล่ะคือเครื่องรักษา “ธรรม” เสมือนพ่อตาใช้ไม้ “ตะพด” เพ่นกบาลเพื่อรักษาไว้ซึ่งลูกสาวคนสวยของตัวเองนั่นแล

ทั้งยังน่าสนใจมากขึ้นไปอีกเมื่อเราพบว่า รูปแบบของการลงโทษต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความผิดที่รุนแรงนั้น สังคมบ้านเรามักชอบเขียนเสือให้วัวกลัว โดยยกเอาโทษทัณฑ์ หรือบาปเคราะห์ต่างๆที่สัตว์นรกจะต้องได้รับ มาบัญญัติไว้ในกฎหมาย ทำนองจะให้คนกลัว อย่างในพระอัยการกบฏศึก แต่ในความเป็นจริงกลับปรากฏว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าโทษที่จำลองมาจากการลงโทษสัตว์นรกในอบายภูมินั้นได้ใช้จริงๆ เช่น การเลาะกะโหลกออก แล้วเอาถ่านไฟร้อนๆเคี่ยวให้มันสมองเฟื่องฟู หรือการตัดเนื้อให้เป็นริ้วๆ แล้วให้นักโทษเดินเหยียบเนื้อตัวเอง โอ้จอร์จ…

จะมีบางโทษที่มีปรากฏในพงศาวดารอยู่บ้างเช่น การใช้มีดผ่าตัดกลางตัวให้ขาดเป็นสองท่อนอะไรเทือกนั้น ซึ่งก็ยังห่างไกลจากดีกรีความสยดสยองที่ตราไว้ในกฎหมายข้างต้น

3. รายการสุดท้ายของงานครับ “การจัดการมรดกของไทยสมัยอยุธยา ศึกษาจากกฎหมายตราสามดวง” นี่ก็น่าสนอีก โอย น่าสนไปหมด

การแบ่งมรดกแม้จะเป็นเรื่องในครัวเรือน ในมุ้ง แต่ถ้ากฎหมายไม่กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนไว้แล้ว เชื่อแน่ว่า บ้านแตกครับ โดยเฉพาะบรรดาคหบดีเศรษฐีทั้งหลาย (ดูตัวอย่างได้ในยุคปัจจุบันครับ ไม่ได้แตกต่าง ความโลภของมนุษย์เป็นสัจจะเสมอ)

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า การแบ่งมรดกในสมัยก่อนนั้นมีแนวคิดในเรื่องครอบครัว สายสัมพันธ์ ความกตัญญู อย่างละเอียดลึกซึ้งแทรกแฝงไว้อยู่เสมอ ต่างจากปัจจุบันที่แบ่งกันหยาบๆ กล่าวคือ ถ้าเป็นทายาทอยู่ลำดับเดียวกัน ก็หารเท่า ทำนองนั้น แต่ถ้าสมัยก่อน ลูกคนโต กับคนเล็กนี่ได้ไม่เท่ากันนะครับ ลูกคนโตได้มากกว่า เพราะอะไรครับ เขาถือว่าเป็น “ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก” ของพ่อแม่ มันเกิดมาตอนที่พ่อแม่ยังลำบากต้องมาช่วยพ่อแม่ทำงานสร้างตัว ไม่เหมือนไอ้คนหลังๆ เกิดมาตอนที่พ่อแม่ครอบครัวสบายแล้ว

หรือเงื่อนไขในการรับมรดก มีเอาเรื่องการทดแทนคุณและความกตัญญูกตเวทีมาพิจารณาด้วยเสมอ ผู้เนรคุณย่อมถูกตัดขาดจากกองมรดก และยังมีรายละเอียดอื่นที่น่าสนใจอีกหลายประการครับ เมียผัว เมียใหม่ ผัวเก่า จิปาถะ

เป็นอันว่าจบครับ

การสัมมนาครั้งนี้ก็มีการจัดทำเอกสารงานวิจัยของผู้นำเสนอทุกคนรวมเล่มเป็นกระดาษอัดสำเนาเช่นเคยเหมือน 5 ครั้งที่ผ่านมา เอาเป็นว่าพี่ๆน้องๆคนใดสนใจก็ลองแสดงความจำนงกันมาครับ เผื่อจะได้กันไว้ให้ (ถ้าเหลือ … คิดว่าเหลือแน่ๆ ฮา) แต่ของฟรีไม่มีในโลกครับ…ผมยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจอยู่

เงินน่ะซื้อผมไม่ได้หรอกครับ

ถ้าไม่มากพอ

Friday, December 09, 2005

เมื่อไม่มีวันพรุ่งนี้


จะเป็นอย่างไรหากทุกๆเช้าที่ตื่นขึ้นมาคุณพบว่าตัวเองยังอยู่วันเดิม

ไม่ใช่พรุ่งนี้ ไม่มีเมื่อวาน

มีแต่วันนี้ วันนี้ และวันนี้

ทุกอย่างเหมือนเดิม พบผ่านคนเดิมๆ พูดจาและได้ยินประโยคเดิม

เสมือนอยู่ในกรงขัง พันธนาการแห่งความคิด และชีวิต

อยากจะหนีไปก็ไม่สามารถ ขนาดตายแล้วก็ยังฟื้นมาเจอวันเดิม เรียกได้ว่าไม่มีทางหนี ไม่มีทางออก

มีอยู่ทางเดียว อยู่กับมัน อยู่กับวันเดิมๆ ซ้ำซาก

จะอยู่ได้อย่างไร?

อยู่อย่างซังกะตายไปวันๆ จ่อมจมอยู่กับชีวิตเดิมๆ ไร้ชีวา ปล่อยให้มันผ่านพ้นไป แล้วฝันถึงวันพรุ่งนี้ที่มันอาจจะมีจริง

แสวงหากับความสุขอย่างตะกละตะกรามกับวันนี้ เสมือนว่ามันเป็นวันสุดท้ายของชีวิต เพราะมันจะต่างอะไรในเมื่อลืมตาตอนเช้ามันก็ยังคงเป็นวันเก่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเว้นแต่เรื่องราวในความทรงจำที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันของตัวเอง

และไม่ยากที่การแสวงหาความสุขอย่างบ้าคลั่งนั้นจะสร้างภยันตรายอันหนักหน่วงให้แก่ผู้คนรอบข้าง ไม่ต่างจากเรามียางลบวิเศษที่สามารถลบล้างความทรงจำของผู้คนรอบข้างได้อย่างสะอ้าน โดยเฉพาะความทรงจำที่เลวร้าย

นั่นหมายถึงเรามีสิ่งวิเศษที่เราจะลบล้างความเลวร้ายของเราด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการกลายพันธุ์ หรือเร่งเชื้อชั่วในจิตใจของเราให้งอกเงยวัฒนา (เมือง…)

หรือจะใช้โอกาสนั้น สร้างวันหนึ่งวันของเราให้เป็นวันที่แสนสมบูรณ์ที่สุด

ใช้โอกาสที่มีในการย้อนกลับมาแก้ไข ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อ โดยเฉพาะกับผู้อื่น หากเราย้อนกลับไปทำอะไรให้คนอื่นได้มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ไม่น้อย…มิพักต้องกล่าวถึงถ้าสิ่งเหล่านั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเราเองด้วย

แม้จะดูสวยงาม แต่ผมว่ามันยากยิ่ง และต้องใช้ความมุ่งมั่น และความอดทนมหาศาล หากเราจะสร้างวันที่สมบูรณ์ที่สุดของเราขึ้นสักวันหนึ่ง

ตั้งแต่ตื่นยันหัวถึงหมอน คุณต้องใช้ทุกชั่วโมง นาที อาจจะต้องเป็นวินาทีด้วย ให้สมบูรณ์อย่างใจคิด หากผิดพลาดไป ต้องรอจนตื่นขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ไข แม้จุดเล็กน้อยนั้น

ไม่ง่ายเลยนะครับ

ในขณะที่เราต้องการแก้ไขจุดใด เราอาจจะต้องละทิ้งอีกจุดหนึ่ง เพื่อรอการแก้ไขในเช้าของตื่นต่อไป

หยอดกระปุก เก็บเล็กผสมน้อย ทุกวันๆ (วันเดิมนั่นแหล่ะ)

กว่าจะถึงวันที่สมบูรณ์ วันที่เราไม่คิดอยากจะย้อนกลับไปแก้ไขอะไรอีกแล้ว ไม่อยากเพิ่มเติมอะไรอีกแล้ว

แต่…

เมื่อถึงวันนั้น เราก็ไม่อาจเก็บมันไว้อีกต่อไป เหตุเพราะเมื่อถึงวันพรุ่งนี้ ทุกอย่างก็จะกลายเป็นเหมือนเดิม การจะรักษาวันสมบูรณ์วันนั้นต่อไป นั่นหมายถึง เราต้องทำทุกวินาทีให้เหมือนเดิม เหมือนวันแสนสมบูรณ์ของเรา

ผมว่ายากกว่าว่ะ (ฮา)

แรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้ครับ (เชื่อว่าเป็นเรื่องโปรดของใครหลายคนแถวนี้ด้วย)

Groundhog Day

ดูหนังเรื่องนี้แล้ว เห็นคุณค่าของวันพรุ่งนี้จริงๆให้ตาย

Wednesday, December 07, 2005

เมื่อแขกมาเยือน


ตามปกติผมเป็นคนมีแขกมาเยี่ยมเยือนอยู่เป็นประจำ ไม่เคยขาด ด้วยเพราะอาจจะเป็นคนที่มีอัธยาศรัยดี เป็นคนสม่ำเสมอ ไม่รู้สิ อาจจะมีอย่างอื่นดึงดูดเขาอีกก็ได้

อันนี้ก็จนปัญญาจะคาดเดาที่สำคัญ แขกพวกนี้มาเป็นเวลาด้วยนะครับ จะตรงเวลาหรือช้าสายอันนี้แล้วแต่การประพฤติตัวของผม ถ้าผมทำตัวดี เค้าก็มากันตรงเวลา ถ้าผมทำตัวแย่ ก็ไม่ค่อยเป็นเวลาแล้ววันนี้ผมดันนิสัยเสียพอดี...

ดันทำอะไรประหลาดแตกต่างจากปกติ ซึ่งน่าจะทำให้พวกเค้าไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่

คราวนี้พุ่งมาต่อว่าต่อขานผมดุจดั่งสายน้ำเชี่ยวกรากเลยครับ เรียกว่าหาเรื่องกันทั้งวัน จนผมไม่เป็นอันไปทำงานเลย สุดท้ายก็มานั่งปวดหัวอยู่บ้าน ก็ยังดีที่ได้ถือโอกาสสางงานไปบ้าง แม้จะยังห่างไกลจากคำว่าเสร็จสมบูรณ์แต่อย่างน้อยก็ทำให้มันไม่จมลึกไปในก้นบึ้งแห่งความขี้เกียจไปมากกว่านี้

แต่ละคนมาไม่ธรรมดา มากันทีละหลายๆรอบ มาไม่มามือเปล่า พกเอาความแสบสันต์มาด้วย นี่มาเคาะประตูบ้านผมเอาพริกเอาเกลือมาเขวี้ยงตั้งแต่สายๆแล้ว กระทั่งตอนนี้ปาไปจะตีหนึ่งแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับกันไปง่ายๆ

สงสัยวันนี้จะไม่ได้นอน มัวแต่คอยต้อนรับขับไล่เค้าเหล่านั้นแน่ๆ

ไอ้ผู้ช่วยต้อนรับแขกของผมก็ดันขอลาพักร้อนไปเสียก่อน จะหาคนมาแทนก็ไม่ทัน ก็ใครจะไปรู้ล่ะครับ ว่าจะมากันวันนี้ เล่นไม่ยอมประกาศล่วงหน้าแบบพวกเสื้อเหลืองกันบ้างเลย ใครจะมาเตรียมรับมือทัน

ไอ้ทีแรกว่าจะทำทีเป็นข่มตาหลับๆไปจะได้พ้นความรำคาญ ไม่ได้ผลครับ พวกเล่นเคาะ เขวี้ยงกันแรงเหลือกำลังรับ จนผมต้องเผ่นพรวดพราดลงจากเตียงวิ่งมาเปิดประตูต้อนรับไม่ทัน

มาก็ไม่พูดพล่ามทำเพลงหรอกครับ กระหน่ำด่าทอต่างๆมากมาย แต่ละคำแสบๆทั้งนั้น พวกด่าเสร็จสมก็เดินจากไป

พอหัวจะถึงหมอนคิดว่าหมดแล้ว อีกชุดมาเคาะและเขวี้ยงรอให้ผมลงมาเปิดประตูเพื่อกระหน่ำด่าทออีก เวียนไปเวียนมา ไม่รู้กี่ดอกแล้วเลยอดรนทนไม่ไหว

ระหว่างที่พวกเค้ายังไม่มา ผมเลยตัดสินใจลงมาเปิดคอมฯ รอข้างล่างเลย จะได้วิ่งไปเปิดประตูต้อนรับให้ทันอกทันใจพระเดชพระคุณท่านเหล่านั้น เผื่อท่านทั้งหลายจะกรุณาลดดีกรีความแสบที่กระหน่ำถาโถมใส่ผมลงบ้าง

แหน่ะๆ ไม่ทันขาดคำ มากันอีกแล้วครับขออนุญาตท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านไปเปิดประตูรับแขกบ้านแขกเมืองผมก่อนนะครับชักเอะอะโวยวายกันแล้วครับ

...........................

เวรเอ๊ย สงสัยจะเพราะเมนูพิสดาร มาม่าต้มยำกุ้งสนธิกับปลากระป๋องตรานมหกเต้าตอนสายแน่เลยว่ะ

แขกตี้เลยกรู